Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤษภาคม 2527








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤษภาคม 2527
จะจัดการกับลูกน้องยังไงดี? แต่ก่อนอื่นจะจัดการกับเจ้านายยังไงดีกว่า             
 


   
search resources

Consultants and Professional Services
Knowledge and Theory




คำถามที่ว่า จะจัดการกับลูกน้องชุ่ยๆ ยังไงดี ดูเป็นคำถามที่มีคำตอบเสร็จในตัวเรียบร้อยว่า:-

“ไล่ออก”

“ตัดเงินเดือน”

“พักงาน”

“ย้ายแผนก”

“แช่เย็น” (เลี้ยงให้เป็นบอนไซ)

แต่บางครั้งความที่เป็นผู้จัดการ เป็นผู้บริหารก็เลยไม่มีพินิจพิจารณาอย่างถ่องแท้ว่า ที่ลูกน้องชุ่ยนั้น

ชุ่ยเพราะใคร?

ครั้งหนึ่งของการประเมินผลการปฏิบัติงานของบริษัทแห่งหนึ่ง ผู้จัดการแผนกขายประเมินผลงานของพนักงานขายคนหนึ่งว่าแย่มาก

เหตุผลก็คือ:-

ยอดขายตก

ขาดงานบ่อย

ขาดความเคารพยำเกรงผู้บังคับบัญชา

และ...

มีปัญหาส่วนตัวด้านครอบครัว

แต่เมื่อพูดคุยกับพนักงานขายผู้นั้น กลับได้คำตอบเป็นอย่างหนึ่งว่า

ยอดขายตก...เพราะเจ้านายกำหนดยอดขายให้สูงขึ้นทุกเดือน และไม่เคยบอกให้ทราบล่วงหน้า

ขาดงานบ่อย...เพราะเจ้านายไม่เคยให้เข้าพบ เวลาเรียกไปพบ ก็ด่า และบางครั้งต่อว่าด้วยเสียงอันดังต่อหน้าคนอื่นๆ เลยเซ็ง ไม่อยากทำงานและที่ขายไม่ถึงเป้าที่กำหนดไว้ ส่วนหนึ่งมีผลมาจากการขาดงานจริงๆ

ขาดความเคารพยำเกรงผู้บังคับบัญชา...จริง เพราะไม่คิดว่าเจ้านายจะแย่ขนาดนี้ จึงไม่คิดที่จะให้ความเคารพยำเกรง หรือแม้แต่จะคิดยกมือไหว้

มีปัญหาส่วนตัวด้านครอบครัว...จริง เพราะมี 2 บ้าน แต่การมีสองบ้านก็ไม่ได้ทำให้การทำงานเสียแต่อย่างใด

และเมื่อถามต่อไปว่า เจ้านาย เคยเรียกไปพูดคุยชี้แจงให้ฟังถึงข้อผิดพลาดอื่นๆ หรือไม่ คำตอบก็คือ เคยเรียกเหมือนกัน เรียกไปด่าแต่ไม่เคยชี้แจง

จากเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ สะท้อนให้เห็นความจริงอย่างหนึ่งว่า ความชุ่ยที่เกิดขึ้นนั้น

เป็นความชุ่ยของผู้จัดการแผนกขาย

ชุ่ยยังไง?

ชุ่ยในแง่ที่ว่า เขาทำตัวเป็นนายเท่านั้นไม่เคยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาแก่ลูกน้องเลย

มักจะมีคนเข้าใจว่า การพบปะพูดคุยกับลุกน้องเพื่อให้คำปรึกษาหารือหรือแนะนำนั้น(Counseling)

ทำกันปีละครั้ง ตอนประเมินผลงานเพื่อพิจารณาขึ้นเงินเดือน และก็มีนักบริหารหลายต่อหลายต่อหลายคน นำเรื่องการขึ้นเงินเดือนไปผนวกเป็นเรื่องเดียวกับการประเมินผลงาน

ด้วยเหตุนี้ การเรียกลูกน้องเข้ามาพบ ก็มักจะเรียกไปพบเพื่อชี้แจงเรื่องการขึ้นเงินเดือนเท่านั้น

ความจริงแล้ว การให้คำปรึกษาและแนะนำ แก่ลูกน้องนี้ ไม่จำเป็นจะต้องทำในตอนพิจารณาผลงานเท่านั้น

สามารถทำได้ในทุกๆ โอกาส ที่เหมาะสม เช่น มีปัญหาในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือทำงานสำเร็จอย่างใดอย่างหนึ่ง

การให้คำปรึกษาและแนะนำก็คือ การนำเอาจุดเด่น จุดด้อย และจุดที่ควรจะแก้ไขของลูกน้องมาขยายความให้เขาฟัง พร้อมกับบอกเขาต่อไปว่า เราคาดหวังอะไรจากเขาบ้าง เพราะในฐานะของเจ้านายนั้น จะต้องเป็นทั้งที่ปรึกษาและผู้ฝึกสอน

ในฐานะที่ปรึกษา จะต้องพยายามช่วยลูกน้องให้มีทัศนคติที่พัฒนาไปในทางที่ดี และมีเป้าหมายที่เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณค่าซึ่งตัวเขาเองสามารถตัดสินใจด้วยความมั่นใจได้สำเร็จ จะต้องให้การสนับสนุน แนะนำชี้ทางให้ลูกน้องเดินทางไปสู่จุดที่เขาจะสามารถมองเห็นตัวเขาเอง จะต้องช่วยให้เขามีความมั่นใจในตัวเอง

และในฐานะของครูที่ฝึกสอน จะต้องสร้างแรงดลใจและรวบรวมความสามารถทุกๆ อย่างในตัวเขาให้รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

การจะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและชี้แนะแก่ลูกน้องนั้น อาจทำได้ในรูปแบบของการให้ลูกน้องเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่เขานึกคิดและข้องใจหรืออาจจะเรียกมาแนะนำตรงๆ เลยว่า

เขาควรปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขในเรื่องใด อย่างไร และทำไม?

อย่างไรก็ตาม เมื่อจะเริ่มต้นพบพนักงานเพื่อให้คำปรึกษาหรือชี้แนะนั้น ควรจะให้ความเอาใจใส่ในเรื่องต่อไปนี้

1. จะต้องมีความจริงใจที่จะให้คำปรึกษาและแนะนำ

2. ต้องอดทนในการฟัง และเริ่มต้นสนทนาอย่างเป็นกันเอง (เพราะพนักงานบางคนจะไม่เคยปริปากพูดอะไรเลย นอกจากตอบว่า “ไม่มีปัญหาอะไรในการทำงาน”) การที่คนเราได้มีโอกาสพูดถึงเรื่องของตนเอง และมีคนตั้งใจฟัง จะทำให้เขาใจเปิดกว้างที่จะรับคำแนะนำ/ลดการต่อต้านมีความกล้าที่จะต้องตั้งคำถาม ขณะเดียวกันจะทำให้รู้จักตัวพนักงานได้มากขึ้น

3. สถานที่ที่จะใช้ในการสนทนา ควรจะเป็นห้องที่ไม่มีสิ่งรบกวน เช่น โทรศัพท์ หรือคนเดินพลุกพล่าน

4. เตรียมข้อมูลที่เป็นความสำเร็จและความก้าวหน้ารวมทั้งจุดที่จะให้เขาแก้ไข ปรับปรุงไว้ให้พร้อม

5. รู้จักงานที่เขาทำ เคยมีผู้จัดการบางคนที่ได้เลื่อนตำแหน่งจากหัวหน้าแผนก จึงพยายามที่จะให้ลูกน้องทำงานตามวิธีการของตน เพราะคิดว่านั่นเป็นวิธีที่ดีที่สุด

โปรดระลึกว่าถ้าไม่ใช่งานเดินเครื่องจักรแล้ว วิธีการทำงานของแต่ละคนจะต่างกันออกไป

ถามตัวเองว่า เขาทำงานให้เราได้ตามที่ต้องการและอยู่ในกรอบที่วางไว้หรือไม่?

ถ้าได้และไม่นอกกรอบ ก็ปล่อยเขาไป อย่าไปยุ่งกับเขามาก ยกเว้นเสียแต่ว่า ผลออกมาไม่ดีและชักจะออกนอกกรอบ

นั่นแหละ จึงได้ดำเนินการแก้ไข!

6. ควรรู้จักความสามารถพิเศษของลูกน้อง และเข้าใจในความต้องการของเขา

7. ควรให้เขาเห็นความก้าวหน้าหรือล้าหลังในงานปัจจุบัน อย่าไปเน้นโอกาสเรื่องตำแหน่ง/ขึ้นเงินเดือน/ดูงานต่างประเทศในอนาคต

8. ต้องยอมรับในความผิดพลาดของเขาบ้าง

9. กรณีที่เป็นเรื่องส่วนตัว หากเรื่องนั้นไม่เกี่ยวข้องหรือไม่ทำให้เสีย ก็ควรจะหลีกเหลี่ยงที่จะพูดถึง ควรแสดงออกในฐานะเพื่อนร่วมงานหรือพี่กับน้องไม่ใช่ฐานะของนาย

10. บอกเขาไปตรงๆ ว่า เขาควรจะแก้ไขในจุดไหนอย่างไร อย่าพูดแบบให้ไปคิดแล้วถอดสมการเอาเอง

การให้คำปรึกษาหารือและแนะนำนี้ เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของนักบริหารในการแก้ไขปรับปรุงพฤติกรรมและผลการทำงานของลูกน้อง และเป็นแนวทางหนึ่งในการส่งเสริมความเข้าใจอันดีที่มีต่อกันระหว่างนายกับลูกน้องพร้อมกับที่เป็นแนวทางในการส่งเสริมและการพัฒนาให้ลูกน้องก้าวหน้าในงานด้วย

ผู้จัดการหลายต่อหลายคนที่ล้มเหลวด้านการบริหาร มักจะมองข้ามความสำคัญของเรื่องนี้ ในขณะที่ผู้จัดการที่ประสบความสำเร็จในการทำงาน ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง

อย่างไรก็ตาม เคยมีคำถามว่า หากได้มีความพยายามในการให้คำปรึกษาและแนะนำแก่ลูกน้องแล้ว แต่ลูกน้องยังไม่ดีขึ้น ควรจะเรียกเข้ามาเพื่อแนะนำอะไรอีกหรือไม่

คำตอบก็คือ ควรอย่างยิ่ง

แต่ไม่ใช่เรียกมารับคำแนะนำ

แต่ควรเรียกมาพบเพื่อบอกเขาว่า

ให้ลาออกจากงานไปเสียดีกว่า

เพราะเขาอาจจะเหมาะและโตในที่ทำงานอื่นได้ดีกว่า   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us