|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มีนาคม 2527
|
 |
โลกของธุรกิจในทุกวันนี้ มีอยู่บ่อยครั้งที่เรามักจะได้ยินนักธุรกิจบ่นอยู่เสมอๆ ว่า “เออ! กิจการของคุณเป็นอย่างไรนะ?”
คำตอบที่ได้รับก็คือ “ปีนี้ยอดขายไม่ดีเลย...”
หรือ... “เจาะตลาดไม่ได้...แม้จะโหมโฆษณาอย่างเต็มที่แล้ว”
หรือไม่ก็...“แย่จัง ปีนี้ไม่รู้ข้อมูลการตลาดที่ได้ถูกต้องหรือเปล่า ขายไม่ได้”
ฯลฯ
ครับ จากคำตอบเหล่านี้นักบริหารธุรกิจบางท่านก็คลำหาทิศทางเพื่อจะแก้ไขก็เป็นธรรมดาของมันมืดจะให้คลำถูกทิศทางได้อย่างไร? บางครั้งหนักเข้าไปอีก จ้างผู้เชี่ยวชาญมาให้คำปรึกษา หนักๆ เข้าผู้เชี่ยวชาญก็บอกว่า...บริษัทคุณต้องพัฒนาพนักงานโดยการฝึกอบรม ผมเป็นที่ปรึกษาให้เอง (ก็สบายที่ปรึกษาล่ะ) หรือไม่ก็โหมโฆษณากันอย่างมิลืมหูลืมตา แต่ก็เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ เหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ (บริษัทโฆษณาเท่านั้นที่รวย) สำหรับพวกบริษัทธุรกิจที่ค่อนข้างมีทุนทรัพย์หน่อย ก็เอาเครื่องคอมพิวเตอร์มาใช้ ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าจะใช้มันให้คุ้มค่ากับเงินเป็นล้านๆ ได้อย่างไร
จากทั้งหมดจะเห็นอยู่อย่างว่าเราขาดและละเลยมาก ก็คือ การวิจัยตลาดที่ทำอย่างมีประสิทธิภาพ บางครั้งจากการที่ได้มีโอกาสถามบางบริษัทว่ามีการทำวิจัยหรือไม่ นักบริหารธุรกิจเหล่านั้นจะพูดเป็นเสียงเดียวกัน ก็คือ
“ผมทำนะ วิจัยตลาดน่ะ”
“ผมศึกษาความเป็นไปได้ก่อนด้วยซ้ำ”
“บริษัทผมมีฝ่ายวิจัยเลยคุณ”
“บริษัทผมใช้คอมพิวเตอร์เชียวนะ”
แต่เราก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมกิจการของเขาเหล่านั้น ไม่เห็นเจริญก้าวหน้าหรือมั่นคงสักที แต่ก็ยังดีกว่าพวกนักบริหารที่ชอบบริหารงานโดยการตัดสินใจด้วยสามัญสำนึกและคาดคะเนด้วยประสบการณ์ของตนที่ผ่านมา
และยิ่งธุรกิจแทบทุกวันนี้ จะเห็นว่ามักจะมีการจัดอันดับกิจการอยู่ค่อนข้างถี่ ซึ่งกล่าวอ้างว่าเป็นการทำวิจัยธุรกิจ แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าไปทำที่ไหน กับใคร อย่างไร เมื่อไหร่ เพราะการวิจัยที่จะเชื่อถือได้ต้องมีแหล่งข้อมูลให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงได้
เอาเป็นว่าในปัจจุบันนี้บริษัทต่างๆ เริ่มสนใจหรือเห็นความสำคัญของการวิจัยมากขึ้น
ดังนั้น ในบทความนี้จะกล่าวถึงเรื่องต่างๆ ต่อไปนี้คือ
ระบบวงจรธุรกิจ ข้อมูล-ความหมายและประโยชน์ การวิจัยรูปแบบการวิจัยตลาด ธุรกิจ กลยุทธ์ในการวิจัย และการประเมินคุณภาพงานวิจัย
ระบบวงจรธุรกิจ
เนื่องจากความสนใจของเรื่องนี้มุ่งมาที่การทำวิจัยตลาดธุรกิจ จึงอยากจะขอชี้ให้เห็นว่าระบบธุรกิจที่ดีนั้น น่าจะมีระบบดังนี้
จากระบบวงจรธุรกิจ จะขออธิบายตามวงจรเพียงคร่าวๆ คือ
1. การวางแผน (Planning)
- จะต้องคิดคำนึงถึงใน 2 เรื่อง คือ เรื่องที่ไม่รู้ (Unknow) กับเรื่องเหตุผล (Rational)
- จะต้องอาศัยข้อมูลจากสภาพแวดล้อมภาวการณ์แข่งขัน และสภาพภายในธุรกิจ
- จะต้องระลึกถึงลักษณะสำคัญ 3 เรื่อง แผนเรื่องอนาคต แผนเกี่ยวกับปฏิบัติ และแผนเกี่ยวกับการจัดองค์การธุรกิจ
2. วัตถุประสงค์ (Objective)
เป็นสิ่งที่ต้องการให้บริษัทธุรกิจนั้นเป็นไปในระยะสั้น และเฉพาะกิจกรรมหนึ่งๆ ของบริษัทธุรกิจ ทั้งนี้สามารถกำหนดเป็นลักษณะพฤติกรรมที่วัดได้ ประเมินได้
3. ยุทธวิธี (Strategy)
ยุทธวิธีในที่นี้ หมายถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมในตลาด (Market share) ภาวการณ์แข่งขัน (Competition) และการส่งเสริมการขาย (Promotion)
4. การจัดการ (Management)
หมายถึง 4 M คือ (Money) บุคลากร (Man) วัสดุ-อุปกรณ์ (Material) และวิธีจัดการ (Manage)
5. การประเมินและการติดตามผล (Evaluation & Follow-up)
เพื่อเป็นการตรวจสอบวงจรทุกขั้นตอนว่าบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้หรือไม่ และทั้งนี้จำต้องมีเกณฑ์ตัดสินว่า จะบรรลุแค่ไหนอีกทั้งต้องติดตามผลการผลิตและบริการของธุรกิจว่าเป็นที่ถูกใจของตลาดหรือไม่
จะเห็นว่าทั้ง 5 ขั้นตอนในวงจรธุรกิจนั้นจะเคลื่อนไหวไม่ได้ ถ้าปราศจากตัวป้อน ซึ่งก็คือข้อมูล (data) จะต้องเป็นข้อมูลที่มีประสิทธิภาพในการวางแผนเพื่อการวิเคราะห์วิจัยตลาดธุรกิจด้วย
ดังนั้น การที่จะทราบว่าจะวิจัยอย่างไร จึงจะมีประสิทธิภาพคงต้องรู้จักเกี่ยวกับข้อมูลที่มีประสิทธิภาพเสียก่อน
ข้อมูล: ความหมายและประโยชน์
ข้อมูล หมายถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ที่เราสนใจ ซึ่งอาจเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นตัวเลข เช่น จำนวน ปริมาณ ระยะทาง ราคา ฯลฯ ซึ่งเรียกกันว่า ข้อมูลเชิงปริมาณ (Quantitative data) หรืออาจเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ใช่ตัวเลข เช่น ที่อยู่ สถานภาพ ลักษณะนิสัย ฯลฯ ซึ่งเราเรียกว่า ข้อมูลเชิงคุณภาพ (Qualitative data)
ประโยชน์ของข้อมูล ข้อมูลที่ดีนั้นจะมีประโยชน์หรือมีคุณค่าต่อการใช้แค่ไหนเพียงไรก็ขึ้นอยู่กับว่า ข้อมูลนั้นๆ มีคุณสมบัติที่ดีตามลักษณะต่อไปนี้หรือไม่
คุณสมบัติของข้อมูลที่มีประสิทธิภาพคือ
1. ความถูกต้องแม่นยำ (Accuracy) ข้อมูลที่ดีควรจะมีความถูกต้องแม่นยำสูง หรือถ้ามีความคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นก็ควรจะได้รับการควบคุมให้มีอยู่น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
2. ความทันเวลา (Timeliness) นอกจากความถูกต้องแม่นยำแล้ว ข้อมูลที่ดีควรเป็นข้อมูลที่ทันสมัย (Up to date) และได้มาอย่างทันความต้องการของผู้ใช้ (Timely) ไม่ใช่เป็นข้อมูลที่ได้มาอย่างล่าช้า ซึ่งอาจไม่มีคุณค่าอะไรเลย ถึงแม้จะเป็นข้อมูลที่มีความถูกต้องแม่นยำสูง
3. ความสมบูรณ์ครบถ้วน (Completeness) หมายความว่า เป็นข้อมูลที่ให้ข้อเท็จจริง หรือสารสนเทศ ที่ครบถ้วนทุกอย่างหรือทุกด้านที่ฝ่ายบริหารหรือผู้ใช้ต้องการ ไม่ใช่ส่วนใดส่วนหนึ่งขาดหายไปอย่างมากมาย
4. ความกะทัดรัด (Conciseness) หมายความว่า เป็นข้อมูลที่ได้รับการรวบรวมและจัดรูปให้อยู่ในลักษณะที่กะทัดรัดไม่เยิ่นเย้อจนไม่มีความสะดวกในการใช้ หรือค้นหา มากจนเกินไป
5. ความสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ (Relevancy) กล่าวคือ ข้อมูลนั้นควรจะเป็นข้อมูลที่จำเป็นต้องรู้หรือทราบ หรือเป็นประโยชน์ต่อการใช้ในการตัดสินปัญหาในเรื่องนั้นๆ ไม่ใช่เป็นข้อมูลที่อุตส่าห์ทำขึ้นมาแทบเป็นแทบตาย แต่ไม่มีใครต้องการใช้หรือไม่มีโอกาสได้ใช้เลย
หลังจากที่ได้ทราบความหมายและประโยชน์ของข้อมูลจนเป็นที่กระจ่างแล้ว จะขอวกเข้าสู่หัวใจของเรื่องเสียที คือ การวิจัยตลาดธุรกิจ จะวิจัยอย่างไรจึงจะมีประสิทธิภาพ
การทำวิจัยที่ดีนั้นไม่ใช่เป็นงานที่ง่ายนัก งานวิจัยนับว่าเป็นงานที่ทั้งยากทั้งลำบาก ซึ่งยังต้องใช้ทั้งสติปัญญา ความอดทน กำลังใจ เป็นอย่างสูง รวมถึงการสนับสนุนด้านกำลังเงิน แต่ก็จัดได้ว่าเป็นงานสร้างสรรค์ที่ท้าทายความสามารถ เสริมสร้างทัศนะของการต่อสู้แก้ปัญหาด้วยสมเหตุสมผล
ดังนั้น หนทางของการทำวิจัยจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจใฝ่รู้ เป็นประสบการณ์ที่แปลกหลากหลายในมิติใหม่ที่หาจากที่อื่นใดไม่ได้ นอกเสียจากจะลงมือทำเสียเอง
การวิจัย (Research) เป็นขบวนการประดิษฐ์หรือคิดค้นอย่างมีระบบ โดยวิธีการอันเป็นที่ยอมรับในศาสตร์แต่ละสาขา
ถ้าเราลองแบ่งงานวิจัยออกเป็น 2 ลักษณะคือ วิจัยมูลฐาน (Basic Research) หรือวิจัยบริสุทธิ์ (Pure Research) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจด้านทฤษฎีกับวิจัยประยุกต์ (Applied Research) ซึ่งเป็นการวิจัยที่ต้องการคำตอบคำถามเพื่อให้เกิดการนำไปใช้ ส่วนการวิจัยตลาดธุรกิจมีแนวโน้มที่จะค่อนไปทางวิจัยประยุกต์มากกว่าการวิจัยมูลฐาน เพราะระบบการตลาดเราเพ่งเล็งอยู่สองอย่างเช่นกัน คือ อุปสงค์-ความต้องการซื้อ และอุปทาน-ความต้องการขาย ถ้าเราทราบอุปสงค์ก็จะสามารถสนองความต้องการได้ แต่ในทางปฏิบัติจริงๆ ในปัจจุบันนี้ นักวิจัยกำลังมุ่งที่จะให้มีลักษณะเป็นแบบ สหวิทยาการ (Interdisciplinary) คือ ระดมนักวิชาการสาขาต่างๆ มาร่วมดำเนินการเสริมความรู้ความคิดแก่กัน ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่า การวิจัยตลาดธุรกิจควรจะเป็นลักษณะ การวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) ซึ่งเป็นการวิจัยที่จะพยายามสัมพันธ์ระหว่างทฤษฎีและการปฏิบัติเข้าด้วยกัน
รูปแบบการวิจัยตลาดธุรกิจ
1. กิจกรรมในการวิจัย
กิจกรรมในการวิจัยเทียบได้กับกิจกรรมในกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Method) ซึ่งถือว่าเป็นกิจกรรมที่ใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น การไปเที่ยว การสอน การปรุงอาหาร การดำเนินงาน เป็นต้น ในการทำวิจัยจะประกอบด้วยการวางแผนกิจกรรมที่สำคัญๆ ดังนี้
1) การตั้งปัญหา
2) การตั้งสมมุติฐาน
3) การสร้างเครื่องมือ และการสุ่มตัวอย่าง
4) การเก็บรวบรวมข้อมูล
5) การวิเคราะห์และแปลความหมายของข้อมูล
6) การสรุปผลการวิจัยและเสนอรายงานการวิจัย
2. เครื่องมือในการวิจัย
เครื่องมือที่นิยมใช้ในการวิจัยได้แก่
1) แบบสอบถาม แบบสำรวจ
2) แบบมาตราส่วนประมาณค่า
3) แบบตรวจสอบรายการ
4) แบบทดสอบ
5) การสัมภาษณ์
6) การสังเกต
7) อื่นๆ
ในการใช้เครื่องมือในการวิจัยนั้น มีคำถามเป็นข้อเตือนใจอยู่ 2 ข้อ คือ
- จะไปเก็บรวบรวมข้อมูลที่ไหน
- จะใช้วิธีการอย่างไร
สำหรับคำถามข้อแรกนั้น ปกติแหล่งของข้อมูลที่มีอยู่เรามักแบ่งเป็น 2 แหล่ง คือ ข้อมูลจากแหล่งปฐมภูมิ คือ ข้อมูลที่รวบรวมมาจากแหล่งหรือต้นตอจริงๆ โดยยังไม่มีการจัดกระทำใดๆ ให้ข้อมูลนั้นเป็นระเบียบขึ้นมา เช่น ข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ จากการสำรวจต่างๆ ส่วนข้อมูลจากแหล่งทุติยภูมิ หมายถึงข้อมูลที่ได้มีการจัดกระทำให้อยู่ในรูปที่สะดวกในการนำไปใช้ได้ทันที ซึ่งจัดทำขึ้นมาจากข้อมูลปฐมภูมิ เช่น ผลการจัดอันดับบริษัทธุรกิจชั้นนำ 50 อันดับแรก ส่วนคำถามข้อ 2 นั้น ก็มีอยู่ 2 ลักษณะคือ วิธีการที่จะใช้นั้นถ้าหน่วยงานของเราขาดบุคคลที่มีความรู้ด้านการเก็บรวบรวมข้อมูล ก็สามารถแก้ได้โดยปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ แต่ถ้าหน่วยงานของเรามีคนที่มีความรู้ที่จะดำเนินการได้แต่ไม่มีเทคนิคในการดำเนินการ สามารถแก้ได้โดยนำเทคนิคการสุ่มตัวอย่างมาใช้ ดังนั้น จะเห็นว่าวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลจะต้องมีคนที่รู้ทั้งการปฏิบัติและเทคนิควิธี จึงจะสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลได้อย่างมีคุณภาพ
3. สิ่งที่ต้องคำนึงในการเตรียมทำวิจัย
1) ผู้วิจัย จะต้องมี
- ความสนใจ และ/หรือ ความเชี่ยวชาญ
- เวลาที่จะใช้ดำเนินการ
2) มีทรัพยากร ด้าน
- ทุน
- กำลังคน
- เครื่องมือ/อุปกรณ์
- แหล่งค้นคว้าอ้างอิง
3) โครงร่างการวิจัย จะต้องมี
- การศึกษาเบื้องต้นหรือนำร่อง (Pilot Study)
- การศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility Study)
- การศึกษาหาความร่วมมือ
กลยุทธ์ในการวิจัย
ในการทำวิจัยใดๆ ก็ตาม ปัญหาที่จะทำวิจัยมักจะได้มาจากแหล่งต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. ทฤษฎี สมมุติฐาน แนวคิด หรือความเชื่อต่างๆ
2. สังเกตจากประสบการณ์ที่ผ่านมาในธุรกิจหรือกิจการนั้นๆ
3. หนังสือ วารสาร รายงานวิจัย รายงานประจำปี ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ดำเนินการอยู่
4. ผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจแขนงนั้นๆ
5. เจ้าของกิจการ หรือแหล่งเงินทุนที่สนับสนุนกิจการธุรกิจนั้นให้ทำการวิจัยจากแนวทางดังกล่าวสามารถที่จะให้กลยุทธ์ในการวิจัยได้ดังนี้
1. การตั้งหัวข้อหรือปัญหาในการวิจัย
ก่อนที่จะทำการตั้งหัวข้อวิจัย ควรจะได้ศึกษาค้นคว้าเบื้องต้นจากแหล่งของหัวข้อวิจัย เนื้อหา ทฤษฎี งานวิจัยที่เกี่ยวข้องมาพอสังเขป จากนั้นจึงถามตนเองว่า จะวิจัยเกี่ยวกับอะไร ตั้งชื่อเรื่องว่าอะไร
2. การวิเคราะห์ปัญหาในการวิจัย
การวิเคราะห์ปัญหาในการวิจัย จะเป็นการโฟกัสภาพปัญหาที่จะทำวิจัยให้มองเห็นชัดเจนยิ่งขึ้น ผู้วิจัยจะต้องทำการปรับปัญหาในการวิจัย (ซึ่งมีลักษณะต่างๆ) ให้เป็นชื่อเรื่องที่จะทำการวิจัยอย่างชัดเจน วิธีที่จะช่วยในการวิเคราะห์ปัญหาในการวิจัย แบ่งออกเป็น 3ขั้นตอนคือ
1) เขียนรายละเอียดเกี่ยวกับความจริงสภาพแวดล้อมที่สังเกตเห็น ซึ่งเกี่ยวกับปัญหาที่จะทำการวิจัย
2) เขียนรายละเอียดของคำอธิบาย ความน่าจะเป็นของสภาพต่างๆ ของปัญหาที่จะทำวิจัยโดยอาศัยประสบการณ์หรือการค้นคว้าอ้างอิง
3) พิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างข้อ 1 และ 2 ว่ามีอะไรที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ซึ่งน่าเป็นไปได้ รวบรวมมาเป็นองค์ประกอบในการตั้งหัวข้อวิจัย
หัวข้อหรือปัญหาวิจัยที่ดี มีลักษณะดังนี้
1. ควรมีองค์ประกอบของตัวแปร (Variable) ซึ่งก็คือสิ่งที่ไม่ทราบและเป็นปัญหาอยู่ และประชากร (population) ที่จะทำการศึกษา ตัวอย่างเช่น เราต้องการศึกษาสภาพความคงทนของยางรถยนต์ในการวิ่งระยะทาง 1,000 กิโลเมตร เราก็สุ่มตัวอย่างยางเส้นที่ผลิตได้ทุกๆ 10 เส้น มา 1 เส้น เพื่อศึกษาภายใน 1 สัปดาห์ ตัวแปรก็คือ สภาพความคงทน ประชากรก็คือยางเส้นทั้งหมด
2. ควรมีความเฉพาะเจาะจงตามขอบเขตเนื้อหาวิชาที่ทำการศึกษา
3. ควรแสดงให้เห็นแนวทางของการศึกษาจะต้องไม่กว้างจนครอบจักรวาล หรือไม่เห็นทิศทางและแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน
4. ควรจะเขียนด้วยศัพท์วิชาชีพที่เข้าใจกันแพร่หลาย
5. จะต้องเป็นเรื่องที่สามารถทำวิจัยได้
3.การวางแผนทำการวิจัย
การหาแนวทางปฏิบัติในการทำวิจัยจะต้องคำนึงถึงกระบวนการทำวิจัยตั้งแต่ต้นจบโดยการตอบคำถามหลักๆ ดังนี้
1) ทำวิจัยอะไร?
จะศึกษาเกี่ยวกับอะไร จะตั้งชื่อเรื่องว่าอะไร จะตั้งวัตถุประสงค์ในการวิจัยสมมุติฐาน วางขอบเขตของการวิจัย ข้อตกลงเบื้องต้น ความไม่สมบูรณ์ของการวิจัย กำหนดคำจำกัดความว่าอย่างไร และคาดว่าจะได้ประโยชน์อะไร
2) จะทำวิจัยอย่างไร?
ต้องการข้อมูลอะไรบ้าง จะใช้เครื่องมืออะไร จะเก็บข้อมูลอย่างไร จะเก็บได้ถูกต้องแค่ไหน จะวิเคราะห์ข้อมูลอย่างไร จำแนกตามตัวแปรใดบ้าง จะใช้สถิติอย่างไร
3) จะทำอย่างไรกับผลที่ออกมา?
จะแปลผล ตีความหมายอย่างไร ใช้อะไรเป็นเกณฑ์ตัดสิน จะเขียนรายงานอย่างไร โยงประเด็นจากจุดไหนไปจุดไหน จะเขียนสรุปว่าอย่างไร อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ จะเขียนในแนวไหน จะใช้หลักฐานอ้างอิงจากที่ใดบ้างมาประกอบการจัดพิมพ์อย่างไร
การประเมินคุณภาพงานวิจัย
เพื่อให้ลักษณะงานวิจัยมีผลลัพธ์ ทั้งปริมาณและคุณภาพที่ดีเยี่ยม จึงจำเป็นต้องมีการประเมินคุณภาพงานวิจัย ซึ่งควรจะมีลักษณะครอบคลุมทั้ง 25 ประการ ดังต่อไปนี้คือ
1. ชี้ปัญหาให้เห็นอย่างชัดเจน
2. ตั้งสมมุติฐานไว้ชัดเจน
3. ปัญหานั้นสำคัญ
4. ข้อตกลงเบื้องต้นกำหนดไว้ชัดเจน
5. บอกข้อจำกัดของการวิจัยไว้
6. ให้นิยามศัพท์ที่สำคัญๆ ไว้
7. ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างปัญหากับงานวิจัยครั้งก่อนๆ
8. บรรยายรูปแบบการวิจัยอย่างสมบรูณ์
9. รูปแบบการวิจัยที่ให้นั้นเหมาะสมกับการแก้ปัญหา
10. รูปแบบการวิจัยปราศจากข้อบกพร่อง
11. บอกประชากรและกลุ่มตัวอย่างไว้
12. วิธีการสุ่มตัวอย่างเหมาะสม
13. บอกวิธีเก็บข้อมูลไว้
14. วิธีการเก็บข้อมูลเหมาะกับการแก้ปัญหา
15. ใช้วิธีเก็บข้อมูลอย่างถูกต้อง
16. มีการหาความสมเหตุสมผลที่เป็นไปได้และความเชื่อมั่นของหลักฐานที่เก็บรวบรวมได้
17. มีการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเหมาะสม
18. ใช้วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างถูกต้อง
19. เสนอผลการวิเคราะห์อย่างชัดเจน
20. เสนอข้อสรุปอย่างชัดเจน
21. ข้อสรุปที่มีหลักฐานสนับสนุน
22. มีการขยายผลที่ได้ให้อยู่ในขอบเขตเฉพาะประชากรที่กำลังพิจารณาเท่านั้น
23. เขียนรายงานอย่างชัดเจน
24. เขียนรายงานอย่างเป็นระบบทางตรรกวิทยา
25. ไม่เขียนรายงานเอียงไปทางใดทางหนึ่ง (วางตนเป็นกลาง)
อ้างอิง
1. เอกสารโครงการประชุมปฏิบัติการเกี่ยวกับการวิจัยทางการศึกษา ครั้งที่ 3 เรื่อง “การปรับปรุงคุณภาพงานวิจัยทางการศึกษา” กองวิจัยทางการศึกษา กรมวิชาการ 2526.
2. ศิริชัย กาญจนวาสี “คุณลักษณะของการวิจัยและแนวโน้มของการวิจัยทางการศึกษาของไทยในอนาคต” (อัดสำเนา) 2526.
*กรรมการบริหารศูนย์วิจัยและพัฒนาวิชาชีพ (ศ.ว.พ.)
|
|
 |
|
|