|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
เอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นรอบใหม่ เริ่ม 11-13 มิ.ย.นี้ จับตาการเจรจาภาคบริการลงทุน หวั่นธุรกิจสปาไทยส่อเค้าวืด ญี่ปุ่นยกมาตรฐานสูงตีกันไทย เบื้องหลังสภาอุตฯ เผยผลสำเร็จสกัด FTA ไทย-ญี่ปุ่น มีจุดยืนชัด ขณะที่เอ็นจีโอชี้แนวเคลื่อนไหวกลุ่มทุนภาคอุตสาหกรรม เพราะอิงการเมือง แฉผลประโยชน์ทับซ้อน และชูผลกระทบทางเศรษฐกิจ อ้างภาคเกษตรมาสร้างแต้มต่อหาความชอบธรรมต่อสังคม ด้านกลุ่ม FTA Watch สำทับญี่ปุ่นยอมไทยแน่เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเสียเปรียบมาตลอดอยู่แล้ว
แหล่งข่าวกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในวันที่ 11 - 13 มิถุนายนนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพการเจรจาความตกลง JTEPA ครั้งที่ 8 หนึ่งในประเด็นเจรจาจะหยิบยกประเด็นเปิดเสรีภาคบริการ และลงทุนในส่วนที่เกี่ยวกับสปาไทยที่ต้องการเข้าไป ประกอบกิจการในญี่ปุ่น เพื่อให้คนไทยไปเปิดกิจการ และให้คนจบปริญญาตรีไปเป็นผู้จัดการ หรือผู้ควบคุมการฝึกอบรมการให้บริการ ซึ่งจะมีการพูดคุยกันในรายละเอียดด้านมาตรฐานและกฎระเบียบ ที่ฝ่ายญี่ปุ่นกำลังพิจารณาอยู่ซึ่งเรื่องนี้ไทยอาจจะไม่ได้
"สปาเป็นอาชีพที่มีอยู่ในญี่ปุ่น ซึ่งเขาไม่อยากให้ไปซ้ำกับคนของตัวเองไปแย่งอาชีพ อาจจะหยิบยกมาตรฐานสูงๆ มาพูด" แหล่งข่าวกล่าว
นายเกียรติพงศ์ น้อยใจบุญ ในฐานะประธานสายงานพัฒนาอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เหตุผลหลักที่ทำให้รัฐบาลทักษิณ และฝ่ายรัฐบาลญี่ปุ่นยอมอ่อนท่าทีเพราะกลุ่มภาคอุตสาหกรรมมีจุดยืนชัดเจน ชี้จุดเสียเปรียบฝ่ายญี่ปุ่นที่กระทบเศรษฐกิจให้ภาครัฐได้เห็น เพราะรัฐบาลอ่อนเกมเทคนิคและลูกเล่นชั้นเชิงการเจรจาต่อรองกับญี่ปุ่นที่เน้นการบีบกดดัน เร่งรัดในสิ่งที่ขอให้มากไว้ก่อน แต่กลับไม่คำนึงถึงว่าญี่ปุ่นฉวยโอกาสที่เศรษฐกิจไทยต้องการเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ตัวญี่ปุ่นเองก็ต้องมาลงทุนในประเทศไทยอยู่แล้วเพราะมีข้อพิพาทกับจีนอยู่ จำต้องหนีเข้าไทยอยู่แล้ว จึงเอาเงินมาล่อใจรัฐบาลให้หลงเชื่อ
"สังเกตให้ดี สื่อและสังคมเล่นด้วยก็เพราะเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นใช้วิธีจับคู่แลกผลประโยชน์เป็นตัวๆโดยใช้ลูกเล่นการเจรจาทั้งล็อบบี้การเมืองส่งรมต. ตัวเองมาคุยเองทำให้ได้รับความสนใจสูง" สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกล่าว
หากเปรียบเทียบแนวเคลื่อนไหวคัดค้านของกลุ่มเอ็นจีโอต่อการเปิดเสรีกับสหรัฐฯ กลับได้รับความสนใจน้อยกว่าก็เพราะไทย-สหรัฐฯเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาเป็นประเด็นเฉพาะ แต่เชื่อว่าในการเปิดเสรีไทย-สหรัฐฯ จะไม่ใช้วิธีการเดียวกับญี่ปุ่นในการล็อบบี้ทางการเมือง แต่จะใช้พลังอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองที่ประเทศตัวเองมีอยู่บีบ วางกล้ามกดดันไทยให้ยอมรับ
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการองค์การความหลากหลายทางภูมิปัญญาไทย (ไบโอไทย) กล่าวถึงเหตุผลสำคัญที่ทำให้การเคลื่อนไหวคัดค้านการเปิดเขตการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่น มีแรงกดดันต่อรองให้รัฐบาลต้องชะงักและรับฟังในข้อเสนอ ทั้งยังได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่งต่อภาคประชาชนและสื่อมวลชน แตกต่างจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มเกษตรกร กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน กลุ่มเกษตรกร รายย่อย กลุ่มศึกษาผลกระทบการเปิดเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอวอซต์ โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวคัดค้านการเปิดเขตการค้าเสรีไทยกับสหรัฐฯ ที่จะส่งผลกระทบต่อทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิบัตรยา หรือการเปิดเสรีพืชตัดแต่งพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) กลับเร่งกระตุ้นให้รัฐบาลเร่งเดินหน้าโดยไม่ใยดีในข้อเสนอของภาคประชาชน เพราะแม้ว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศจะเป็นเกษตรกรรายย่อย แต่คนเหล่านี้ไม่ได้ เป็นผู้ควบคุมห่วงโซ่ภาคการผลิตทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นทุนการผลิต การแปรรูป ส่งออก กำหนดราคาเหมือนกลุ่มทุนภาคการเกษตรขนาดใหญ่ เช่น บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด มหาชน (ซีพี) ที่สำคัญกลุ่มทุนเหล่านี้แอบอิงการเมืองเป็นผู้กำหนด นโยบายภาคการเกษตรโดยตรง จึงทำให้จุดยืนของกลุ่มเกษตรกรรายย่อยไม่ถูกสะท้อนทำให้รัฐบาลยอมรับได้ และที่สำคัญภาคเกษตรกรรายย่อยไม่มีตัวแทนทางการเมือง
ผอ.ไบโอไทย กล่าวว่า ถ้าสังเกตให้ดีว่าทำไมเรื่องผลประโยชน์เอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นจึงได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนทุกแขนง ก็เพราะสังคมไทยปัจจุบันเปลี่ยนไป ประชาชนสนใจเรื่องเศรษฐกิจและผลประโยชน์ทับซ้อน แม้แต่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนส่วนใหญ่ของประเทศที่เป็นเกษตรกรรายย่อย หากเปิด FTA กับสหรัฐฯ ก็ถูกเมินเฉย เพราะภาคเกษตรกรรมสร้างรายได้ทำตัวเลข GDP แค่ 10-15% ผิดกับภาคอุตสาหกรรมที่สูงกว่าครึ่ง
นายวิฑูรย์กล่าวว่ากลุ่มภาคอุตสาหกรรมยาน-ยนต์ เหล็กต่างๆ เหล่านี้มีอิทธิพลมาโดยตลอดในการกำหนดนโยบายของรัฐ ใกล้ชิดนักการเมือง แต่กลับไร้มารยาทดึงผลประโยชน์ที่ภาคการเกษตรไทย มาอ้างต่อรองเพื่อส่งผลสร้างน้ำหนักเพิ่มแรงกดกันแต้มต่อให้กับตัวเองสร้างความชอบธรรมต่อสาธารณชน
"พวกนี้อ้างเกษตรกรรายย่อย ผลักให้เป็นด่านหน้าว่าภาคเกษตรกรรมเสียประโยชน์ แต่จริงเป็นนัยการเมืองหวังต่อรองให้พรรคพวกตัวเองมากกว่า" ผอ.ไบโอไทยกล่าว
นายวิฑูรย์กล่าวว่า สุดท้ายรัฐบาลต้องยอมตามข้อเสนอของกลุ่มภาคอุตสาหกรรมอย่างแน่นอน เพราะรัฐบาลทักษิณไม่ต้องการสร้างศัตรูทางการเมืองเพิ่มที่จะต้องมาผนึกกำลังรวมต่อสายกันในกลุ่มทุนดังเดิมกันต้านรัฐบาลทักษิณ โดยเฉพาะกลุ่มทุนดั้งเดิมอย่าง กลุ่มภาคการเงินที่ถูกบีบให้เปิดเสรีทางการเงินกับประเทศสหรัฐอเมริกา
นายจักรชัย โฉมทองดี นักวิชาการกลุ่มศึกษา ผลกระทบการเปิดเขตการค้าเสรี (FTA Watch) กล่าวว่าถึงที่สุดแล้วในการเจรจาเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น ฝ่ายญี่ปุ่นจะเป็นฝ่ายยอมไทยอยู่แล้ว เพราะหากดูโครงสร้างทางเศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่นได้เปรียบดุลการค้าไทยอยู่แล้ว แต่คนในรัฐบาลโดยเฉพาะนักการเมืองกลับไปแบะท่าพูดเปิดทางให้ญี่ปุ่นรุกไล่บี้เพื่อจะเอาผลประโยชน์มากกว่าที่ควรจะได้
ในวันที่ 11-13 มิถุนายนนี้ที่จะมีการเจรจารอบใหม่ที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เชื่อได้ว่าสิ่งที่จะได้จากภาคการเกษตร เช่น สินค้าเกษตรและประมง ก็จะถูกจำกัดด้วยปริมาณโควตา มิได้เปิดเสรีอย่างแท้จริง จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ทางกลุ่ม FTA Watch ไม่ออกมาเคลื่อนไหวเพราะเห็นแล้วว่าไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อภาคการเกษตรอย่างแท้จริง ขณะที่ภาคบริการ โดยเฉพาะที่รัฐบาลอยากให้คนญี่ปุ่นมารักษาพยาบาลในประเทศไทยอย่างเสรี ก็จะเป็นการเข้ามาแย่งชิงทรัพยากรคนไทยมากกว่า แต่คนยากจนที่เป็นคนไทยเองก็ยังไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างทั่วถึงยังจะเปิดให้ญี่ปุ่นเข้ามาอีก
"กลุ่มพวกนี้ทนไม่ไหวจริงๆ เพราะคงเห็นว่ารัฐบาลทักษิณเล็งเห็นผลประโยชน์อะไรบางอย่าง โดยเฉพาะภาคบริการสุขภาพและสปา ที่ใครๆ ก็รู้กันดีว่าธุรกิจภาคบริการ เช่นโรงพยาบาลใหญ่ๆ ของเอกชนอยู่ในกำมือตระกูลใดที่อยู่ในรัฐบาล" นายจักรชัยกล่าว
|
|
|
|
|