|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มิถุนายน 2527
|
 |
เอ็นซีอาร์ (NCR) อักษรภาษาอังกฤษ 3 ตัวนี้ย่อมาจาก NATIONAL CASH REGISTERS ซึ่งนอกจากจะถูกใช้เป็นชื่อของผลิตภัณฑ์เครื่องคำนวณนานาชนิดไปจนถึงเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์แล้ว ก็ยังถูกใช้เป็นชื่อบริษัทของผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเหล่านี้ด้วย
เอ็นซีอาร์ คอเปอร์เรชั่น กำลังจะมีอายุการก่อตั้งครบ 100 ปีในอีกไม่นานนี้ จากกิจการเล็กๆ ที่ประกอบเครื่องจักรกลเก็บเงิน ขณะนี้เอ็นซีอาร์มีโรงงานผลิตเครื่องเก็บเงินอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เปี่ยมด้วยเทคโนโลยี 88 แห่ง มีสาขากระจายอยู่ทั่วสหรัฐอเมริกา 781 สาขา ทั่วโลกอีก 70 สาขา และมีตัวแทนจำหน่าย 23 แห่งเข้าไปแล้ว
ในปี 2526 ที่ผ่านมานี้ เอ็นซีอาร์มียอดขาย 3.9 พันล้านเหรียญและกำไรสุทธิ 290 ล้านเหรียญ
ดังนั้น ถ้าจะกล่าวว่าเอ็นซีอาร์เป็นกิจการที่ประสบความสำเร็จงดงามแห่งหนึ่งตลอดศตวรรษที่ผ่านมา ก็คงจะกล่าวได้อย่างเต็มปาก
และในด้านชื่อเสียงของผลิตภัณฑ์ก็คงเป็นเช่นเดียวกัน
เอ็นซีอาร์แบ่งข่ายงานของตนครอบคลุมภูมิภาคต่างๆ เป็น 5 ภูมิภาค คือ สหรัฐฯ ยุโรป แปซิฟิก ตะวันออกกลาง/แอฟริกา และละตินอเมริกา สำหรับประเทศไทยนั้นจัดอยู่ในภูมิภาคแปซิฟิก มีเอ็นซีอาร์สาขาฮ่องกงเป็นผู้ดูแลในฐานะที่เอ็นซีอาร์ประเทศไทยเป็นตัวแทนจำหน่ายแห่งหนึ่ง ซึ่งนอกจากตลาดเมืองไทยแล้วยังครอบคลุมไปถึงตลาดลาวและพม่าด้วย
เอ็นซีอาร์ประเทศไทย ว่าลงไปให้ลึกอีกชั้นก็เป็นแผนกสำคัญที่สุดในบริษัทเคี่ยนหงวนวิสาหกิจ (KIAN GWAN COMMERCIAL CO, LTD) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือข่ายของเคี่ยนหงวนประเทศไทยหรือเคี่ยนหงวน กรุ๊ป ถ้าจะมองจากความสัมพันธ์จากอดีตจนถึงปัจจุบัน
เคี่ยนหงวนบริษัทแรกนั้นก่อตั้งขึ้นที่ประเทศอินโดนีเซียเมื่อปี 2406 หรือล่วงมาแล้ว ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เคี่ยนหงวนได้เริ่มขยายสาขาออกไปต่างประเทศหลายๆ ประเทศ ธุรกิจหลักในช่วงแรกๆ ก็เป็นเรื่องค้าน้ำตาลเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ก็เป็นการค้าน้ำตาลแบบผูกขาดเบ็ดเสร็จ คือเริ่มตั้งแต่ปลูกอ้อยเอง มีโรงหีบเอง ผลิตและค้าเอง แม้แต่เรื่องการขนส่ง เคี่ยนหงวนก็ยังมีกิจการเรือเดินทะเลเป็นของตนเอง รวมถึงสถาบันการเงินที่จะช่วยค้ำจุนธุรกิจผลิตและขายน้ำตาลก็มีเป็นของตนเองอีกเช่นกัน
จากองค์กรที่มีลักษณะผูกขาดทุกขั้นตอนในกิจการน้ำตาลของประเทศอินโดนีเซียเช่นนี้เอง ในปี 2499 บริษัทเคี่ยนหงวนก็ถูกรัฐบาลซูการ์โนจัดการโอนกิจการทั้งหมดเข้าเป็นของรัฐ เคี่ยนหงวน กรุ๊ป ก็ยังคงหลงเหลือเฉพาะเครือข่ายในต่างประเทศเท่านั้น เช่น สาขาในบราซิล สิงคโปร์ ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ และในประเทศไทย เป็นต้น
เคี่ยนหงวนในบราซิลได้ชื่อว่าเป็น 1 ใน 10 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดด้านการพัฒนาทรัพยากรเนื่องจากธุรกิจหลักจะเป็นด้านการทำเหมือง ปลูกกาแฟ ป่าไม้ และขณะนี้ก็เริ่มเข้าสู่อุตสาหกรรมผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ตลอดจนอุปกรณ์ต่อพ่วงนานาประเภท ส่วนเคี่ยนหงวนในฮ่องกงเป็นบริษัทการค้าทั่วๆไป โดยเฉพาะการค้าข้าวซึ่งรัฐบาลฮ่องกงให้โควตาพิเศษสำหรับนำเข้าเมื่อ 15 ปีมาแล้ว
ปัจจุบันเคี่ยนหงวน กรุ๊ป มีทรัพย์สินรวมกันแล้วตกราว 250 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 5,750 ล้านบาท
เคี่ยนหงวนประเทศไทยก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2475 ธุรกิจเริ่มแรกก็คือการเป็นตัวแทนนำเข้าน้ำตาลจากบริษัทแม่ที่อินโดนีเซีย เหมือนๆ กับสาขาของเคี่ยนหงวนในประเทศอื่นๆ จนหลังปี 2499 เมื่อกิจการของบริษัทแม่ถูกยึดเข้าเป็นของรัฐ หุ้นส่วนใหญ่คนหนึ่งของเคี่ยนหงวนชื่อ ดร.อุย หรือที่ขณะนี้รู้จักกันในชื่อไทยว่า อุทัย อยุธวงศ์ ก็รวบรวมสมัครพรรคพวกที่เคยทำงานด้วยกันที่อินโดนีเซียเข้ามายึดหัวหาดสาขาประเทศไทยไว้อย่างมั่นคง
ดร.อุยหรืออุทัย ปัจจุบันป็นประธานบริษัทเคี่ยนหงวนประเทศไทยและบริษัทเคี่ยนหงวน วิสาหกิจ หรือถ้าจะพูดว่าเขาเป็นเจ้าของโดยสิ้นเชิงก็ไม่ผิด ส่วนใหญ่ด้านความสัมพันธ์กับเคี่ยนหงวนในประเทศต่างๆ นอกจากจะเป็นเรื่องของสายใยจากอดีตแล้วก็จะไม่มีอะไรลึกซึ้งไปมากกว่านั้น
เมื่อ 3-4 ปีมานี้เคี่ยนหงวนได้มีการยุบและก่อตั้งกิจการในเครือครั้งสำคัญ กิจการที่ถูกยุบทิ้งไปก็คือเคี่ยนหงวนมอเตอร์ซึ่งเคยเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์นั่งยี่ห้อโอลสโมบิล อัลฟ่า และฟอร์ด เฉพาะฟอร์ดนั้นนอกจากเคี่ยนหงวนแล้วก็ยังมีบริษัทแองโกล-ไทย เป็นตัวแทนจำหน่ายอีกแห่งด้วย ส่วนกิจการที่ถูกแยกตั้งออกมาก็คือเคี่ยนหงวนวิสาหกิจ
ดังนั้นในขณะนี้เคี่ยนหงวนจึงมี 2 บริษัทได้แก่เคี่ยนหงวนประเทศไทยกับเคี่ยนหงวนวิสาหกิจ โดยบริษัทแรกจะเป็นผู้ดูแลบริษัทอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดที่มี ไม่ว่าจะเป็นที่ดินหรือตัวอาคาร เช่น อาคารเคี่ยนหงวน ถนนวิทยุ ส่วนบริษัทหลังทำการค้าโดยเฉพาะขายผลิตภัณฑ์ของเอ็นซีอาร์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2497หรือเมื่อ 30 ปีที่แล้ว
ตัวเลขที่ประเมินกันล่าสุดนั้นระบุว่า ทั้ง2 บริษัทนี้มีทรัพย์สินรวม 450 ล้านบาทโดยประมาณ
ทรัพย์สินเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นที่ดินและตัวอาคาร ซึ่งก็เป็นธรรมดาของบริษัทที่ก่อตั้งมาช้านานที่จะต้องมีทรัพย์สินประเภทนี้สูง และเนื่องจากเคี่ยนหงวนเคยประกอบธุรกิจขายรถยนต์ที่ดินและตัวอาคารที่เคยเป็นโชว์รูมและอู่ซ่อมจึงต้องมีมากกว่ากิจการประเภทอื่นๆ อีกด้วย
แต่การมีทรัพย์สินเป็นพวกอสังหาริมทรัพย์มากเกินไป ก็เป็นดาบสองคมสำหรับเคี่ยนหงวนเหมือนกัน โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ที่เจ้าของเคี่ยนหงวนประเทศไทยเป็นนักธุรกิจหัวเก่า มีความเชื่อว่ากิจการจะดีหรือไม่ดีนั้นอยู่ที่จะเป็นเจ้าของทรัพย์สินพวกอสังหาริมทรัพย์ได้มากน้อยเท่าไร ความคิดเช่นนี้ทำให้บ่อยครั้งต้องละเลยโอกาสที่จะแปรสภาพทรัพย์สินที่มีเป็นการลงทุนขยายกิจการเพื่อให้ธุรกิจที่ทำอยู่เดินออกไปข้างหน้าอย่างมีอนาคต
ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของแผนกเอ็นซีอาร์ของเคี่ยนหงวนนั้นเริ่มขึ้นในช่วงปี 2517-2518 ซึ่งก็เป็นช่วงที่เครื่อง CASH REGISTERS ตัวรายได้หลักในอดีตเริ่มเปลี่ยนจากระบบเครื่องกลเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ และก็เป็นช่วงแรกๆ ของการนำผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์เข้าตลาด
ด้วยชื่อเสียงที่สั่งสมและตลาดที่เอ็นซีอาร์สร้างไว้เดิมนั้น ก็พอจะทำให้คู่แข่งทั้งหลายหวาดผวาจังหวะก้าวครั้งนี้ของเคี่ยนหงวนอย่างยิ่ง
คนเก่าแก่ในวงการขายเครื่องใช้สำนักงานเล่าให้ฟังว่า เนื่องจากเคี่ยนหงวนเริ่มต้นด้วยการขายพวกเครื่อง CASH REGISTERS และเครื่องจักรลงบัญชี ดังนั้นตลาดที่สำคัญของเคี่ยนหงวนจึงอยู่ที่แบงก์และสถาบันการเงินทั้งหลาย ซึ่งถ้าจะพูดถึงตัวคู่แข่งก็มีแต่ยี่ห้อเบอร์โร่ว์ของยิบอินซอยเท่านั้นที่พอจะหาญเทียบ ส่วนไอบีเอ็มช่วงปี 17-18 ก็ยังไม่ได้มีฤทธิ์เดชมากมายอะไรในวงการแบงก์หรือสถาบันการเงิน เพราะฉะนั้นผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และเครื่องเก็บเงินอิเล็กทรอนิกส์ ของเอ็นซีอาร์จึงน่าจะมีอนาคตไปไกล
แต่โชคก็คงยังไม่อยากจะเข้าข้างเคี่ยนหงวนมากนัก ในช่วงปีที่แผนกเอ็นซีอาร์กำลังจะ นำโปรดักส์ใหม่เข้าตลาดนั้น ก็เป็นช่วงเดียวกับที่ธุรกิจขายรถยนต์ของเคี่ยนหงวนต้องเจอวิกฤตที่หนักหน่วงเข้าอย่างจัง
ปี 2518 เป็นปีที่ช่วงแรกๆ ที่ชาวโลกเริ่มรู้ถึงอิทธิพลของกลุ่มโอเปกและก็เริ่มรู้สึกว่าน้ำมันนั้นมีโอกาสที่จะแพงกว่าทองได้
ผู้ที่ซาบซึ้งมากที่สุดก็คือ ดร.อุย หรือ อุทัย อยุธวงศ์ ประธานเคี่ยนหงวน เพราะจะต้องรับกรรมในฐานะที่มีกิจการขายรถยนต์จากสหรัฐฯ และยุโรปซึ่งซดน้ำมันหนักกว่าญี่ปุ่นหลายเท่า
ผลที่ติดตามมาก็คือ แทนที่จะมีการลงทุนเพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดผลิตภัณฑ์เอ็นซีอาร์รุ่นใหม่ๆ ทางเคี่ยนหงวนจำต้องนำทุนในส่วนนั้นไปพยุงธุรกิจขายรถยนต์ ซึ่งยอดตกพรวดๆ แบบดิ่งนรก มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าขณะนั้น ดร.อุยประเมินสถานการณ์ตลาดรถยนต์ได้ถูกต้อง โดยเริ่มสละธุรกิจนี้ออกไปทันทีแทนที่จะปล่อยจนเรื้อรังต่อมาอีกหลายปีพร้อมกันนั้นก็ทุ่มไปที่แผนกเอ็นซีอาร์ ทุกอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ก็อาจจะพลิกเป็นตรงกันข้ามก็ได้
นั่นก็ประการหนึ่งล่ะ!
จากนั้นโชคชะตาก็ยังคงขออนุญาตเล่นงานเคี่ยนหงวนต่อไป กล่าวคือเมื่อมีการก่อตั้งฝ่ายขายเครื่องคอมพิวเตอร์ขึ้นมา ฝ่ายนี้ก็ถูกตั้งป้อมทันทีโดยคนของฝ่าย CASH REGISTERS ซึ่งถือว่าตนเคยเป็นตัวสินค้าหลักและบัดนี้กำลังจะค่อยๆ หมดบทบาทไป
ที่จริงเรื่องอย่างนี้ก็มีเกือบทุกแห่ง เพียงแต่ปัญหาของเคี่ยนหงวนนั้นมีลักษณะพิเศษตรงที่ผู้บริหารหรือแม้แต่ตัวเจ้าของต่างก็ทุ่มเทให้กับธุรกิจขายรถยนต์ที่กำลังวิกฤตมากเกินไปขาดความใส่ใจที่จะแก้ปัญหาภายในที่เกิดขึ้น
แม้ต่อมา ดร.อุย จะได้ดึงญาติสนิทชื่อ รอน เทอร์เนอร์ เข้ามารับผิดชอบแผนกเอ็นซีอาร์แต่รอนก็ต้องรีบวางมือในช่วงเวลาที่รวดเร็ว
“ปัญหาความขัดแย้งของพนักงานสำหรับรอนเห็นแล้วว่าเรื่องเล็ก แก้ไม่ยาก แต่ปัญหาใหญ่มันอยู่ที่ตัวเจ้าของเขาจะต้องทุ่มเทให้แผนกเอ็นซีอาร์มากกว่านี้ ช่วงที่ขายเครื่องแคชรีจิสเตอร์นั้นสบายแน่ เพราะคู่แข่งน้อย ตลาดมันก็ยังกว้างขวางเหลือเกิน แต่ถ้าจะขายคอมพิวเตอร์ คู่แข่งมันเยอะตลาดก็จำกัดลง ถ้าไม่ทุ่มเงินและความสามารถลงไปแล้วมันยาก รอนเขาเห็นปัญหานี้เขาก็เลยถอยเนื่องจากไม่อยากพูดตรงๆ กับ ดร.อุย” คนวงนอกที่บังเอิญรู้เรื่องดีเล่าให้ฟัง
ขณะนี้แผนกเอ็นซีอาร์แบ่งสายงวานออกเป็น 6 ฝ่าย เฉพาะฝ่ายขายซึ่งเป็นฝ่ายสำคัญที่สุดก็แยกเป็น 3 ฝ่ายด้วยกันคือ
- ฝ่ายระบบการเงิน ดูแลเครื่องคอมพิวเตอร์ระบบออนไลน์ของแบงก์และสถาบันการเงิน จอภาพที่ใช้กับแบงก์และเครื่องเอทีเอ็ม (ATM-AUTOMATIC TELLER MACHINE)
- ฝ่าย CI/MEG C คือ COMMERCIAL, I คือ INDUSTRIAL, M คือ MEDICAL, E คือ EDUCATION และ G คือ GOVERNMENT เป็นฝ่ายที่ดูแลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับวงการต่างๆ
- ฝ่ายระบบขายปลีก ฝ่ายนี้ควบคุมเครื่อง CASH REGISTERS และคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในโรงพยาบาล โรงแรม ภัตตาคารจนถึงห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ต
โครงสร้างของฝ่ายการตลาดเช่นนี้ดูไปแล้วก็น่าเกรงขามและคลุมตลาดที่กว้างขวางเอาการทีเดียว แต่นั่นก็จะต้องมีการลงทุนด้านบุคลากรที่พอเพียงและเหมาะสมด้วย
“ขาดแคลนเจ้าหน้าที่มากครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณกุญชร อรรถจินดา อดีตผู้จัดการเอ็นซีอาร์ ออกไปทำงานขายเครื่องไอบีเอ็ม พีซี ที่ค้าสากลซิเมนต์ แกก็ดึงคนระดับของเอ็นซีอาร์ไปร่วมงานที่ค้าสากลฯ ด้วยทันที 4 คนเพราะฉะนั้นบางฝ่ายจึงสร้างสรรค์งานลำบาก...” แหล่งข่าวในวงการคอมพิวเตอร์คนหนึ่งเล่าให้ฟัง
อย่างไรก็ตาม เอ็นซีอาร์ ก็ใช่จะจนตรอกเสียทีเดียว โดยสภาพนั้นก็คงพอสรุปได้ว่า ขายสินค้าได้เรื่อยๆ โดยเฉพาะกิจกรรมของฝ่ายระบบขายปลีกและฝ่าย CI/MEG แต่กระนั้นการเปรียบเทียบกับเอ็นซีอาร์ในย่านใกล้ๆ กันอย่าง เช่นในฮ่องกง ไต้หวัน และสิงคโปร์แล้ว บริษัทแม่ที่สหรัฐฯ ก็จำต้องเฝ้ามองเอ็นซีอาร์ประเทศไทยด้วยสายตาที่ไม่ค่อยจะสบอารมณ์นัก
ทั้งนี้ ก็เนื่องจากตลาดสำคัญของเอ็นซีอาร์ดังเช่นแบงก์และสถาบันการเงินนั้น ตลอดเวลาเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา เอ็นซีอาร์ประเทศไทยไม่ค่อยจะเข้าเท่าไหร่ ในขณะที่ตลาดฮ่องกงและสิงคโปร์กลับเติบโตจนสามารถครองสัดส่วนตลาดไว้ได้สูงสุดเหนือทุกยี่ห้อ
ว่ากันว่าถ้าประธานของเอ็นซีอาร์บริษัทแม่ไม่เคยเป็นผู้จัดการสาขาที่ฮ่องกงและบังเอิญเป็นเพื่อนสนิทกับประธานของเคี่ยนหงวน ฐานะการเป็นตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยก็คงเป็นเรื่องที่ยากลำบากอย่างยิ่งสำหรับเคี่ยนหงวน
แต่ไม่นานมานี้ประธานบริษัทแม่คนดังกล่าวก็ปลดเกษียณไป พร้อมๆ กับที่เอ็นซีอาร์ฮ่องกงก็ส่งเจ้าหน้าที่ของตน ที่เคี่ยนหงวนทันที
ยังไม่มีใครทราบชัดเจนว่าอนาคตในช่วงใกล้ๆ นี้ของเอ็นซีอาร์ประเทศไทยระหว่างการทำธุรกิจไปเรื่อยๆ ไม่โลดโผนเช่นเดิมกับการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่เพื่อให้ยืนอยู่อย่างเกรียงไกรในระยะยาว
|
|
 |
|
|