|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มิถุนายน 2527
|
|
การขยายเครือข่ายทางธุรกิจการค้าได้อย่างสัมฤทธิผลนั้นเป็นความสามารถชั้นสูงอย่างหนึ่ง จึงน่าดูว่าผู้ที่มีกิจการค้าขนาดใหญ่ที่มีบริษัทในเครือมากมายนั้น มีข้อพิจารณาอะไรบ้างในการขยายธุรกิจไปสู่อาณาจักรใหม่ๆ การขายธุรกิจโดยการซื้อกิจการที่กำลังดำเนินอยู่เป็นการเรียนลัดบทหนึ่งที่นิยมกันมากจะกล่าวโดยละเอียด
การซื้อกิจการมักเริ่มด้วยการดูว่ากิจการที่ไปซื้อเข้ามาอยู่ในเครือข่ายนั้น
(1) สอดคล้องกับธุรกิจหลักของผู้ลงทุนมากน้อยเพียงใด
(2) ผู้ลงทุนต้องการให้พนักงานระดับบริหารอยู่ต่อไปหรือไม่หลังจากที่ซื้อแล้ว
(3) กิจกาจมีความ “สะอาด” แค่ไหนโดยดูจากระดับของความสับสนยุ่งยากที่เกิดขึ้นหรือทั้งภายในและที่เชื่อมโยงใยภายนอกผู้ลงทุนบางคนจะถือเป็นกฎตายตัวว่า กิจการที่เขาไปซื้อต้องไม่มีปัญหาในด้านกฎหมาย (เช่นกำลังเป็นความกันอยู่) และงานที่ดำเนินอยู่จะต้องไม่เละจนสางไม่ไหว หรือเปลืองเวลาล้างบางจนดูไม่คุ้ม
(4) โอกาสที่จะซื้อกิจการให้ได้นั้นมีมากน้อยเพียงใดซึ่งคงต้องอาศัยยุทธวิธีและการสร้างสถานการณ์ขึ้นคละกันไป
การซื้อกิจการก็เหมือนกับการลงทุนอื่นๆ ในแง่ที่ต้องมีข้อมูลทางการเงินของกิจการนั้นเป็นลำดับแรกโดยประเมิณจากตัวเลขความจริง เช่น
(1) อัตราส่วนระหว่างสินทรัพย์คงที่กับสินทรัพย์หมุนเวียน ซึ่งจะทำให้ทราบว่าต้องใช้เงินในการดำเนินธุรกิจสักเท่าใด
(2) การเติบโตของกิจการเมื่อแล้วๆ มาเพื่อใช้เป็นแนวในการคาดคะเนอนาคต
(3) อัตราตอบแทนที่คำนวณจากสมมุติฐานทางการค้าหลายๆ แบบ และ
(4) การเปรียบเทียบตัวเลขสามกลุ่มคือ
ก. มูลค่าของกิจการที่ปรากฏในบัญชี ซึ่งได้จากสินทรัพย์ทั้งหมดลบด้วยหนี้ต่างๆ
ข. มูลค่าตามในตลาด
ค. Cash Flows หลังจากหักภาษี
การทราบความจริงทางการเงินทั้ง 4 ข้อนี้ ทำให้ประเมินได้ว่า มูลค่าของกิจการที่จะซื้อนี้สูงกว่าหรือต่ำกว่าที่ควรเป็นก็มีการเจรจาต่อรองจนกระทั่งเห็นว่าเมื่อซื้อเข้ามาอยู่ในเครือแล้วต้องให้ประโยชน์กับธุรกิจเป็นส่วนรวมมากกว่าผลบวกแบบธรรมดา คือหนึ่งบวกหนึ่งจะต้องมากกว่าสอง
การประเมินแบบนี้ดูทั้งฐานะการเงินของกิจการและผลพวงอื่นๆ ที่จะได้ เช่น ความสามารถของผู้บริหาร ประสบการณ์ความรู้ที่กิจการสั่งสมเอาไว้ และความริเริ่มใหม่ๆ ที่มีในตัวพนักงาน คือรวมเข้ามาแล้วควรทำให้อะไรหลายๆ อย่างดีขึ้นไปอีก มิฉะนั้นจะสร้างทั้งภาระและทำให้ยอดกำไรรวมลดลงเพราะบริษัทในเครือขาดทุน
เมื่อพิจารณามาถึงขั้นนี้แล้วเห็นว่ากิจการที่จะลงทุนซื้อ ยังติดอันดับเข้าข่ายที่วางไว้จึงเริ่มทำการคำนวณวิเคราะห์อย่างละเอียดเป็นอันดับต่อไป
บางครั้งการคำนวณหารายได้ที่เกิดจากกิจการใหม่ต้องมองให้ไกลออกไป 10-15 ปี เช่น ดูว่าใน15 ปี นับจากนี้โอกาสที่จะซื้อเข้ามานี้จะสามารถทำรายได้ให้ปีละเท่าไร? โดยสมมุติภาวะทางการค้าไว้หลายๆ แบบคือ มองทั้งในแง่ดีและร้ายตลอดจนเงื่อนไขทางเศรษฐกิจการเมืองที่จะมีผลกระทบซึ่งต้องการข้อมูลทั้งอดีตและปัจจุบัน รายได้หลังจากหักภาษี ที่คำนวณเผื่อไว้ถึง15 ปีนี้จะใช้เทียบกับอัตราตอบแทนระดับต่างๆ เช่น ร้อยละ 10, 15, 20 ฯลฯ โดยนำระดับเงินเฟ้อเข้ามาพิจารณาด้วย เพราะมีส่วนเชื่อมโยงกับอัตราตอบแทนอย่างมาก คือถ้าเห็นว่าเงินจะเฟ้อมากขึ้นเท่าใดก็ยิ่งจะต้องตั้งอัตราตอบแทนให้สูงขึ้นเป็นเงาตามตัวไปพร้อมๆ กัน
การมองรายได้ให้ไกลถึง 15 ปีนี้ ใช้กับกิจการที่ค่อนข้างราบเรียบและแปรปรวนไม่มากอันเป็นลักษณะของการค้าทั่วๆ ไป แต่ถ้าเป็นกิจการที่มีความอ่อนแอแปรปรวนสูง เช่น พวก hi-Tech ก็เผื่อไว้ 4-5 ปี เป็นอย่างมากเพราะตลาดเปลี่ยนได้เร็ว
กระแสเงินที่แสดงรายได้หลังจากหักภาษี ยังบอกอะไรไม่ได้หมดจนกว่าจะนำหนี้สินต่างๆ มาลบออกคือ ทำให้ดูเหมือนว่ากำลังจะซื้อกิจการที่ไม่มีหนี้สินติดค้างอยู่เลย ซึ่งคงไม่มีนักลงทุนคนไหน ภาคเอกชนที่มองข้ามเรื่องนี้
ต่อไปต้องคำนวณว่าถ้าจะขยายกิจการที่ซื้อมาจะได้ราคาสักเท่าใดในวันข้างหน้า (เช่น 15 ปี จากนี้) อันเป็นการดูความคุ้มหรือไม่คุ้มประการหนึ่ง
การวิเคราะห์จนถึงขั้นนี้เป็นการมองในด้านการเงินจริงๆ โดยเน้นความสำคัญของสินทรัพย์บางอย่าง (เช่น ตัวอาคาร โรงงาน หรือ เครื่องจักรกล อุปกรณ์ต่างๆ) ให้น้อยไว้ก่อน เพราะมูลค่าของกิจการไม่ได้ผูกพันกับสิ่งนี้เพียงสิ่งเดียวการมองกำไรเผื่อไปในอนาคต (15 ปี) ที่แสนจะไม่แน่นอนนั้นมีหลายวิธีแต่ที่สะดวกและเหมาะในที่นี้เป็นการกำหนดให้ทุกอย่างเพิ่มเป็นเส้นตรง เช่น กระแสเงินหลังหักภาษีใน พ.ศ. 2527 เป็น 100 ล้าน ในปี พ.ศ. 2528 และ 2529 ก็ควรเป็น 110 และ 121 ล้านตามลำดับ คือในตอนแรกมักกำหนดให้การเจริญเติบโตของรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ10 ต่อปีเป็นการทดลอง แล้วจึงเพิ่มเป็นร้อยละ15 ต่อปี หรือสูงกว่านี้ซึ่งขึ้นกับเป้าหมายของนักลงทุนเสร็จแล้วจึงวิเคราะห์ต่อไปว่า
ถ้าจะเข้าไปรั้งบังเหียนการดำเนินงานของกิจการแห่งใหม่นี้จะไม่มีผลให้กำไรที่เคยได้นั้นมากขึ้นหรือลดลงสักแค่ไหนในแต่ละปี อันนี้เริ่มให้เป็นเส้นตรงแล้ว คือต้องมองกำไรในอนาคตในแง่ของความเป็นจริง
สุดท้ายก็เป็นการหาของความเป็นจริง การตัดรายจ่ายต่างๆ ที่เป็นชนักติดมาพร้อมกับกิจการคือ
บางครั้งอาจต้องออกแบบระบบการควบคุมการดำเนินงานหลักๆ เสียใหม่ถ้าเห็นว่าจะทำให้ได้กำไรมากขึ้นรวมไปถึงการพิจารณาว่าจะสามารถให้ความเชี่ยวชาญที่มีอยู่ไปช่วยปรับปรุงสิ่งต่างๆ ในธุรกิจอันใหม่ได้แค่ไหนและทางใด
การสามารถเข้าไปปรับปรุงงานของกิจการและซื้อเข้ามาในเครือนั้นสำคัญไม่แพ้เรื่องการเงินเพราะผู้ลงทุนต้องเข้าใจกลไกของธุรกิจนั้นๆ พอสมควร โดยจะปล่อยให้กิจการนั้นอยู่อย่างอิสระไม่ได้แม้จะมีโอกาสและเห็นว่าเป็นกิจการที่ดำเนินอย่างได้ผลดีมาตลอด ความเข้าใจทำให้สามารถปรับปรุงสิ่งต่างๆ ได้ในเวลาที่เริ่มเห็นว่ากิจการชักไม่เป็นไปในทางที่ควร นักลงทุนจึงมักไม่ทิ้งสิ่งล้ำค่าเช่นนี้ไว้ไกลตัว
การลงทุนซื้อกิจการก็เหมือนกับการลงทุนอื่นที่ต้องมองทั้งระดับความจำเป็นอัตราตอบแทนและระยะเวลาคืนทุนซึ่งเป็นหัวใจของ CAPITAL INVESTMENTS งานวางแผนหรือลงทุนซื้อกิจการหรือลงทุนในแง่อื่นเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญจนมีผู้พัฒนา วิธีพิจารณาไว้มากมาย เช่น การพัฒนาในด้าน STRATEGIC FINANCIAL PLANNING MODEL จนถึงขั้นเป็นคอมพิวเตอร์โปรแกรมใช้กับมินิคอมพิวเตอร์ได้
ความดีของโปรแกรมอื่นนี้สามารถรับข้อมูลเกี่ยวแก่
(1) สภาพเศรษฐกิจ เช่น การเติบโตของเศรษฐกิจ การเติบโตของแต่ละอุตสาหกรรม อัตราการเฟ้อของเงิน ฯลฯ
(2) ส่วนแบ่งในตลาด วัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ฯลฯ และ
(3) ทรัพย์สินและหนี้สินต่างๆ ของกิจการรวมทั้งข้อมูลทางบัญชีอื่นๆ สภาพของสินค้าคงคลัง ฯลฯ แล้วคำนวณหาปริมาณที่ต้องการขายให้ได้สถานะทางการเงินในแต่ละตามเวลา
อัตราส่วนทางการเงินและการลงทุน ฯลฯ โดยพิมพ์คำตอบออกมาเป็นรายงานที่เข้าใจได้ง่ายคอมพิวเตอร์โปรแกรมวันนี้ใช้คำนวณวางแผนสำหรับกิจการที่ต้องการจะลงทุน และใช้ทดสอบการดำเนินงานของกิจการที่มีอยู่แล้ว
การพัฒนาโปรแกรมชนิดนี้ได้คำนึงถึง
(1) ปัญหาทางเศรษฐกิจและการค้า
(2) แนวปฏิบัติในเรื่องของบัญชีและอัตราส่วนทางการเงินแบบต่างๆ
(3) ความไม่แน่นอนที่อยู่ในรูปของการเสี่ยงต่างๆ ฯลฯ โดยใช้หลักทาง Simulation เข้าช่วยอันมีผลทำให้การวางแผนมีความเป็นจริงและสอดคล้องกับทางปฏิบัติที่สุด
จึงน่าจะมีการใช้คอมพิวเตอร์ในด้านการลงทุนในเมืองไทยโดยอาศัยโปรแกรมขนาดใหญ่และมีประสิทธิภาพสูงให้มากกว่าที่แล้วๆ มา
|
|
|
|
|