|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มิถุนายน 2527
|
|
นักการตลาดผู้ช่ำชองในวงการคอมพิวเตอร์ประเมินว่า ขณะนี้บ้านเรามีคนซื้อไอบีเอ็ม พีซี ไปติดตั้งใช้งานแล้วราว 1,500 ราย
นับเป็นจำนวนที่ไม่ได้มากมายนักเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ใช้ในสหรัฐฯ หรือในหลายๆ ประเทศ แต่ถ้านำตัวเลขดังกล่าวนี้พิจารณาควบคู่ไปกับแนวโน้มการขยายตัวในอนาคต ก็เห็นจะต้องยอมรับว่าไม่ใช่จำนวนจิ๊บจ๊อย โดยเฉพาะถ้าผู้ใช้ไอบีเอ็ม พีซี เกิดการรวมตัวขึ้นเป็นกลุ่มก้อนเมื่อใดก็คงจะมีกิจกรรมที่วงการคอมพิวเตอร์บ้านเราหรือแม้แต่วงการอื่นๆ จะต้องจับตาอย่างสนใจทีเดียว
และบัดนี้การรวมตัวเป็นชมรมไอบีเอ็ม พีซี ก็ได้เกิดขึ้นเรียบร้อยด้วย !
ชมรมผู้ใช้ไอบีเอ็ม พีซี มีจุดกำเนิดจากถ้วยกาแฟของกลุ่มนักธุรกิจและคนในวงการ 19 คน มีโกศล นิติโภคทรัพย์ แห่งโรงแรมไฮแอทเซ็นทรัลพลาซา วินัย ดุลยวิทย์ บริษัทไฟเซอร์ฯ วิวัฒน์ ทองปุสสะ แห่งบริษัทอุตสาหกรรมพรมไทย ม.ร.ว.วีรเดช ชุมศรี แห่งบริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน เอกทวี บรรลุศิลป์ แห่งกองบัญชาการทหารสูงสุด และพิลาศพงษ์ ทรัพย์เสริมศรี บริษัทคอมพิวเตอร์ยูเนียน เป็นอาทิ
ทั้ง 19 คนนี้เป็นผู้ใช้ไอบีเอ็ม พีซี และก็เป็นผู้ก่อตั้งชมรมผู้ใช้ไอบีเอ็ม พีซี ขึ้นมาเป็นผู้ใช้ไมโครคอมพิวเตอร์แห่งแรกของประเทศ
“เรามีการพบปะเพื่อคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกันตั้งแต่ต้นปี 2527 จากไม่กี่คนก็ค่อยๆ ขยายวงเป็น 19 คนที่กลายเป็นผู้ก่อตั้งนั่นแหละ แรกทีเดียวก็คิดว่าจะพบกันเช่นนี้ไปเรื่อยๆ แต่วงมันใหญ่ขึ้นก็เลยคิดว่าจะจัดตั้งเป็นองค์กรที่แน่นอน มีการจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ใครสนใจอยากแลกเปลี่ยนประสบการณ์ก็สมัครเข้ามาเป็นสมาชิก เรื่องนี้ผู้ก่อตั้งทั้ง 19 คนมีการประชุมตัดสินใจเมื่อมีนาคมที่ผ่านมา...” หนึ่งในคณะผู้ก่อตั้งเผยความเป็นมาเกี่ยวกับชมรมฯ ให้ฟัง
“ก็ได้ไอเดียจากผู้ใช้ในสหรัฐฯ คือถ้าจะใช้เครื่องพีซีให้ได้ผล มีความก้าวหน้า เอาไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยก็จะต้องอาศัยการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างผู้ใช้ด้วยกัน จะอาศัยแต่เฉพาะคนขายเหมือนกับเครื่องใหญ่นั้นไม่ได้...” เขาเสริมต่อความเห็น
ชมรมผู้ใช้ไอบีเอ็ม พีซี มีการตกลงวางวัตถุประสงค์หลักไว้ 3 ข้อ และจะมีรูปของการดำเนินงานแบ่งออกเป็น 5 ทาง ในด้านวัตถุประสงค์ก็มุ่งที่จะให้ประโยชน์ระหว่างสมาชิกด้วยการ
- แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์การใช้ไมโครคอมพิวเตอร์ในกิจการต่างๆ
- เผยแพร่หรือฝึกอบรมความรู้ทางวิชาการที่ก้าวหน้าใหม่ๆ ในระบบการบริหารงานโดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือ
- ให้สมาชิกได้มีโอกาสร่วมกันสร้างสรรค์ประโยชน์เชิงวิชาการ และได้ประโยชน์ในวงการธุรกิจที่สมาชิกมีส่วนหรือมีหน้าที่รับผิดชอบอยู่ในปัจจุบัน
ส่วนการดำเนินงานใน 5 ทางของชมรมฯ นี้ประกอบด้วย
1. รับสมัครสมาชิกชมรมฯ จากผู้ที่มีเครื่องใช้หรือผู้มีความสนใจที่จะเรียนรู้การใช้ไมโครคอมพิวเตอร์ โดยไม่จำกัดจำนวน
2. ชมรมฯ จะจัดให้มีการสัมมนาแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ความรู้และประสบการณ์การใช้งานไมโครคอมพิวเตอร์ในกิจการต่างๆ เป็นครั้งคราว
3. จัดให้มีการบรรยายเชิงวิชาการ โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ตามหัวข้อที่สมาชิกสนใจ
4. สมาชิกจะได้รับวารสารหรือข่าวสารทางวิชาการที่ก้าวหน้าใหม่ๆ ในวงการไมโครคอมพิวเตอร์รวมทั้งข่าวสารระหว่างสมาชิก และ
5. สมาชิกต้องชำระค่าบำรุงชมรมฯ ในอัตรา 500 บาทต่อปี หรือ 300 บาทต่อครึ่งปี
“เราก่อตั้งขึ้นเป็นองค์กรเพื่อดำเนินการด้านการศึกษา ไม่มุ่งประโยชน์เชิงการค้า เพราะฉะนั้นค่าบำรุงที่สมาชิกจ่ายออกมานี้ สมาชิกจะได้ประโยชน์ตอบแทนคือ จะได้รับวารสารของชมรมฯ ทุกเดือน ได้เข้าสัมมนาทุกเดือนและสามารถซื้อสินค้าบางอย่างในราคาพิเศษ และยังมีประโยชน์อื่นๆ อีกมากมาย” คุณวิวัฒน์ ทองปุสสะ รักษาการรองประธานชมรมฯ กล่าว
ชมรมผู้ใช้ไอบีเอ็ม พีซี เปิดการประชุมครั้งแรกที่โรงแรมไฮแอทเซ็นทรัลพลาซา เมื่อราวเดือนมีนาคม ซึ่งครั้งนั้นคนสนใจเข้าร่วมประมาณ 200 คน และเพิ่มเป็น 500 คน ในการประชุมครั้งที่สองเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยสถานที่นั้นก็ยังเป็นห้องวิภาวดี โรงแรมไฮแอทเซ็นทรัลพลาซาเช่นเดิม
การประชุมครั้งล่าสุดที่เพิ่งผ่านพ้นไป นอกจากจะได้มีการตอกย้ำเจตนารมณ์ของชมรมฯ ที่จะกระทำกิจกรรมกันอย่างเอาจริงเอาจังแล้ว ก็ยังมีการสาธิตเครื่องไอบีเอ็ม พีซี ไปใช้งานด้านต่างๆ ของหลายๆ บริษัท พร้อมทั้งบรรยายอีก 4 หัวข้อ ทั้งนี้มีรองนายกฯ พิจิตต รัตตกุล ให้เกียรติมาเป็นประธานการประชุม
ในด้านการสาธิตซึ่งตั้งแสดงไว้รอบๆ ห้องประชุม ก็มีการใช้เครื่องไอบีเอ็ม พีซี ด้าน TREASURY MANAGEMENT SERVICES หรือ TMS ของธนาคารแห่งอเมริกา
การใช้ซอฟต์แวร์โลตัส 1–2–3 กับเครื่องไอบีเอ็ม พีซี ของบริษัทแองโกล–ไทย มอเตอร์ บริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และบริษัทอุตสาหกรรมไทย เพื่อช่วยด้านการวางแผนค่าใช้จ่าย การผลิต เป็นต้น
นอกจากนี้ บริษัทสุรามหาราษฎร ได้แสดงวิธีใช้ซอฟต์แวร์สำเร็จรูป SUPERCALC ในการทำ CASH FLOW และPROJECTED PROFIT AND LOSS ทั้งที่เป็นรายเดือนและตลอดปี โดยการป้อนตัวเลขที่ต้องการเข้าไป ยอดกำไรขาดทุนจะเปลี่ยนแปลงตาม ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นคำนวณใหม่ให้เสียเวลา เช่น ยอดขายปีนี้เท่ากับ 100 ปีหน้าจะเพิ่มขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์ก็จะเท่ากับ 120 ค่าใช้จ่ายเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ของยอดขาย จะเท่าไร ซึ่งจะคำนวณออกมา พร้อมกับแสดงให้ทราบว่ากำไรขาดทุนจะเป็นเช่นไร ครั้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น อย่างสมมุติว่า ยอดขายจะเพิ่ม 20 เปอร์เซ็นต์ หากแต่เพิ่มเพียง 15 เปอร์เซ็นต์ ซอฟต์แวร์ตัวนี้ก็จะช่วยได้ เพียงแต่เปลี่ยนตัวเลขการเพิ่มของยอดขาย ตัวเลขอันอื่นๆ ก็จะเปลี่ยนแปลงตามโดยอัตโนมัติ
อีกบริษัทหนึ่งคือ บริษัท ไฟเซอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ก็ได้แสดงการใช้ซอฟต์แวร์ WORDSTAR และ MAILMERGE ในการทำจดหมายถึงลูกค้า การเตรียมรายงานการประชุมซึ่งก็เป็นงานเวิร์ดโปรเซสซิ่งทั่วๆ ไป
และบริษัท ไทยโซลูบคอฟฟี่ แสดงการใช้ซอฟต์แวร์ดีเบสทูในการทำ PAYROLL คิดเงินเดือน คำนวณภาษีเงินได้ ออก PAY ADVICE SHIP, ภ.ง.ด. 1, ภ.ง.ด. 1ก, ใบรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ ตลอดจนการทำ LEAVE REPORT ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการคำนวณโบนัสตอนสิ้นปี
การสาธิตอีกรายการหนึ่งซึ่งคงไม่อาจมองข้ามได้ก็คือ การสาธิตระบบภาษาไทยของบริษัทคอมพิวเตอร์ยูเนียน-ผู้แทนจำหน่ายไอบีเอ็ม พีซี
ระบบภาษาไทยที่ว่านี้ ทางคอมพิวเตอร์ยูเนียนพัฒนาร่วมกันกับห้องแล็บไมโครคอมพิวเตอร์ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีอาจารย์ยืน ภู่วรวรรณ หัวหน้าห้องแล็บเป็นกัปตันทีม
ภาษาไทยที่พัฒนาเสร็จเรียบร้อยแล้ว สามารถใช้อักษรไทยร่วมกับโปรแกรมแพ็กเกจต่างๆ คือ
- SUPERCALC 1–2–3 ของSORCIM USA.
- LOTUS 1–2–3 ของ LOTUS DEVELOPMENT CORP. USA.
- THAI EASY WRITER ซึ่งเป็นโปรแกรมที่เขียนขึ้นโดยอาจารย์ ยืน ภู่วรวรรณ
- dBASE 2 VERSION 2–4 ของ ASHTON TATE USA.
- จะใช้ภาษา BASIC ของ MICROSOFT เป็นงานระบบภาษาไทยก็ได้
- ระบบงานด้าน BILLING INVENTORY SALE ANALYSIS SYSTEM โดยใช้ภาษา dBASE 2 เขียนขึ้นใช้เองในบริษัท เพื่อออก PPROPOSE ให้ลูกค้า พร้อมทั้งตัด STOCK และให้ REPORT ทางด้านยอดขายประจำวันหรือสัปดาห์หรือเดือนก็ได้ เป็นระบบการทำธุรกิจแบบวันแมนโชว์หรือระบบเถ้าแก่ คนเดียวทำได้หมดทั้งบริษัท
- โปรแกรม SLIDE SHOW ด้าน COLOR GRAPHIC สามารถทำ PRESENTATION GRAPHIC ในรูปแบบต่างๆ โดยดึงภาพจาก LIBRARY เป็นร้อยๆ รูปมาตกแต่ง ขยายขนาดหรือซูมภาพ
ก็เป็นการสาธิตที่ดึงดูดความสนใจอย่างมากในการประชุมคืนนั้น
ส่วนด้านรายการบรรยาย ที่บอกว่ามีอยู่ 4 หัวข้อนั้นก็คือ เรื่องวิวัฒนาการของไมโครคอมพิวเตอร์ โดยศาสตราจารย์ ดร.ศรีศักดิ์ ท่านผู้นี้มีชื่อเสียงโด่งดังเพียงใดในวงการคอมพิวเตอร์คงไม่จำเป็นต้องแนะนำมาก
ดร.ศรีศักดิ์ กล่าวถึงประเด็นที่ถูกมอบหมายให้พูดว่า จุดกำเนิดของไมโครคอมพิวเตอร์นั้นจำเป็นที่จะต้องกล่าวถึงเครื่องไมโครยี่ห้อแอปเปิ้ลของนายสตีป จ๊อบ เนื่องจากเครื่องแอปเปิ้ลนี้เองทำให้แม้แต่ยักษ์ใหญ่ในวงการคอมพิวเตอร์อย่างไอบีเอ็ม จำเป็นต้องออกเครื่องเล็กบ้าง จนต่อมาถึงขณะนี้ ไอบีเอ็ม พีซี ก็กลายเป็นเปอร์เฟสชันนัลคอมพิวเตอร์ที่ขายดีที่สุด แซงหน้าแอปเปิ้ลและทุกๆ ยี่ห้อ
ดร.ศรีศักดิ์ เชื่อว่าเทคโนโลยีของไมโครคอมพิวเตอร์จะมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วไม่หยุดนิ่ง เพื่อให้ได้เครื่องที่เล็กลงประสิทธิภาพสูง ราคาถูก และสามารถใช้งานได้ง่ายมากขึ้นเรื่อยๆ
หัวข้อที่สองเป็นเรื่องภาษาไทยกับเครื่องไอบีเอ็ม พีซี โดยอาจารย์ยืน ภู่วรวรรณ หัวหน้าห้องไมโครแล็บ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
อาจารย์ยืนมีชื่อเสียงในวงการคอมพิวเตอร์ในแง่ที่เป็นผู้มีความสามารถสูงด้านการจัดทำภาษาไทยสำหรับใช้กับไมโครคอมพิวเตอร์
ในการบรรยายครั้งนี้ อาจารย์ยืนได้แสดงความไม่สบายใจออกมาว่า เท่าที่ผ่านมาการพัฒนาภาษาไทยสำหรับใช้กับไมโครฯ นั้นเป็นเรื่องต่างยี่ห้อต่างทำ จึงไม่มีมาตรฐานที่แน่นอนเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาอย่างมากในอนาคต เพราะภาษาไทยของใครก็จะใช้แต่ยี่ห้อของคนนั้น
อาจารย์ยืนได้เรียกร้องว่า บัดนี้ควรถึงเวลาเสียทีที่วงการคอมพิวเตอร์จะต้องหันหน้าเข้าหากันเพื่อจัดทำมาตรฐานภาษาไทยที่จะใช้กับเครื่องไมโครฯ ต่อไป
อีกหัวข้อหนึ่งของการบรรยายคือหัวข้อที่สาม เป็นเรื่องการนำไมโครฯ ไปใช้ในงานธุรกิจโดยคุณวินัย ดุลยวิทย์ แห่งบริษัท ไฟเซอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล
ว่าไปแล้ววิทยากรท่านนี้ก็คือตัวอย่างที่ดีของคนที่เริ่มต้นใช้ไมโครคอมพิวเตอร์ โดยไม่มีพื้นความรู้ความเข้าใจมาก่อน
คุณวินัยกล่าวว่า เพิ่งเริ่มต้นใช้ไอบีเอ็ม พีซี เป็นไมโครฯ เครื่องแรกในชีวิตเมื่อปลายปี ด้วยการศึกษาเองบ้าง ขอคำปรึกษาจากทางคอมพิวเตอร์ยูเนียนบ้าง ค่อยๆ เริ่มจากโปรแกรมสเปรดชีทชื่อซุปเปอร์แคล
“ผมศึกษาแล้วก็ลองจิ้มๆ ดูครับ ลองจากของจริง พอได้ผลลัพธ์ออกมา ผมก็ทำงานอื่นๆ ต่อไป” เขาเล่า
ขณะนี้คุณวินัยสามารถใช้แพคเก็จสิบตัวด้วยความคล่องแคล่ว และจัดเป็นผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งของผู้ใช้เครื่องไอบีเอ็ม พีซี
คุณวินัยเน้นว่า การใช้ไมโครฯ ให้ประสบความสำเร็จนั้น ไม่ใช่เรื่องยาก ขอให้ศึกษาหมั่นแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกันก็เป็นใช้ได้
การบรรยายหัวข้อสุดท้าย คือเรื่อง ไอเดียในการเลือกซื้อไมโครคอมพิวเตอร์ โดยคุณนงลักษณ์ หวังศิริรุ่งเรือง แห่งบริษัท แองโกลคอมพิวเตอร์
คุณนงลักษณ์อยู่ในวงการคอมพิวเตอร์หลายสิบปี แต่ส่วนใหญ่จะจับเครื่องใหญ่ใช้เมื่อไม่นานมานี้ ก็คงทราบว่าเป็นเครื่องไอบีเอ็ม พีซี แต่ถึงจะใช้เครื่องยี่ห้อนี้คุณนงลักษณ์ก็เกิดไอเดียสำหรับการัดสินใจซื้อเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ว่า จะต้องเริ่มต้นด้วยการสำรวจความต้องการของผู้ซื้อก่อนว่าจะซื้อเพื่อนำไปใช้งานใดบ้าง
หลังจากทราบความต้องการแน่นอนแล้ว ก็จะต้องนำเรื่องพิสัยสามารถของเครื่องไมโครฯ แต่ละยี่ห้อมาเปรียบเทียบ คือเครื่องยี่ห้อไหนเก่งทางด้านไหน มีแพ็กเกจพร้อมหรือไม่พร้อม นอกจากนี้ชื่อเสียงของเครื่องและคนขายก็เป็นเรื่องที่จะต้องไตร่ตรองด้วย
“บางยี่ห้อมีชื่อเสียงว่าทำงานได้ดีเยี่ยมมาก แต่เข้าตลาดพักเดียวก็ต้องจากไป เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ก็ต้องคำนึงเหมือนกัน เพราะเครื่องที่ไม่มีแล้วในตลาดจะมีปัญหามากในเรื่องการซัปพอร์ต” คุณนงลักษณ์กล่าวในตอนหนึ่ง
ส่วนข้อพิจารณาประการสุดท้ายก็คือเรื่องงบประมาณ
ใครที่ฟังการบรรยายจนใกล้จะเคลิบเคลิ้มพอถึงจุดนี้ก็คงสะดุ้งตื่นกันบ้างเป็นแน่
คู่มือการใช้บริการ “ออฟฟิศ แบงกิ้ง”
“ออฟฟิศ แบงกิ้ง” เป็นบริการใหม่ล่าสุดอันหนึ่งของธนาคารกรุงเทพ บริการดังกล่าวนี้ลูกค้าสามารถสอบถามข้อมูลด้านการเงินที่เกี่ยวพันกับธนาคารหรือข้อมูลอื่นๆ ที่ธนาคารสามารถจัดหาให้ได้ในทันที่ต้องการทราบ โดยลูกค้าไม่ต้องมาติดต่อด้วยตนเองที่สำนักงานของธนาคารให้เหนื่อยและเสียเวลา
จะมีข้อจำกัดก็ตรงที่ลูกค้ารายนั้นๆ ต้องมีเปอร์ซอนนัลคอมพิวเตอร์ไว้ที่สำนักงานและเปอร์ซอนนัลคอมพิวเตอร์นี้ได้เชื่อมโยงกับเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของธนาคาร โดยอาศัยคู่สายโทรศัพท์เป็นสื่อกลางเท่านั้น
ขณะนี้เครื่องเปอร์ซอนนัลคอมพิวเตอร์สามารถต่อพ่วงได้กับระบบคอมพิวเตอร์ของธนาคารได้แล้วก็คือเครื่องไอบีเอ็ม พีซี และเครื่องประเภทที่มีระบบ COMPATIBLE กับไอบีเอ็ม พีซี
ส่วนบริการที่ลูกค้าจะได้รับจาก “ออฟฟิศ แบงกิ้ง” ก็ได้แก่ การขอดูข้อมูลที่เกี่ยวกับ
- OUTSTANDING BALANCE ในบัญชีสะสมทรัพย์และบัญชีกระแสรายวัน
- STATEMENTS ของบัญชีกระแสรายงัน
- อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ราคาซื้อขายพันธบัตรและอื่นๆ ที่ธนาคารจะโปรแกรมไว้ในคอมพิวเตอร์
- บริการอื่นๆ ที่ธนาคารจะจัดเสริมขึ้นภายหน้า เช่น การถอนเงินระหว่างบัญชีที่ลูกค้ามีอยู่เพื่อการนำเข้าบัญชีบุคคลอื่น เป็นต้น
- ข้อมูลพิเศษอื่นๆ ซึ่งจะเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างลูกค้าแต่ละรายกับธนาคาร
ข้อควรปฏิบัติในการใช้บริการ
เมื่อลูกค้าได้แสดงความจำนงขอใช้บริการ “ออฟฟิศ แบงกิ้ง” กับธนาคาร และธนาคารได้ส่งเจ้าหน้าที่มาทดสอบระบบการเชื่อมโยงระหว่างคอมพิวเตอร์ของลูกค้ากับคอมพิวเตอร์ของธนาคารเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ธนาคารก็จะมอบโปรแกรมดิสเก็ตต์ไว้ให้ ขั้นต่อไปลูกค้าควรต้องถือปฏิบัติในการใช้บริการดังนี้
1. ต้องเก็บรักษาโปรแกรมดิสเก็ตต์ไว้ในที่ปลอดภัย
2. จะต้องไม่นำรหัสประจำบริษัท (COMPANY CODE) และรหัสประจำตัวผู้ใช้บริการ (PASSWORD) ไปเปิดเผยต่อบุคคลอื่น
3. การใช้บริการในแต่ละครั้ง ควรให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 5 นาที ซึ่งธนาคารสามารถเปิดให้ใช้บริการได้ระหว่างเวลา 08.30–17.00 น. ในวันทำการ
4. ข้อมูลที่ได้จากบริการนี้ให้ถือเป็นข้อมูลเบื้องต้น ไม่ควรถือเป็นเอกสารสำคัญ จนกว่าธนาคารจะได้ยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษร และมีผู้รับมอบอำนาจของธนาคารลงนามรับรอง ซึ่งจะขอได้จากสำนักงานสาขาของธนาคาร
5. ถ้าดิสเก็ตต์ชำรุดหรือเสียหาย ให้ผู้ที่ลงนามในสัญญาหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายโดยมีหนังสือมอบหมายเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ลงนามในสัญญา มาติดต่อแจ้งที่ฝ่ายพัฒนาธุรกิจของธนาคาร
6. ถ้าต้องการเพิ่มบัญชีที่สามารถสอบถามได้หรือต้องการเปลี่ยนรหัสประจำบริษัทหรือรหัสประจำตัวผู้ใช้บริการ ให้มาติดต่อกับธนาคารด้วยตนเองหรือผู้ได้รับมอบอำนาจแทน
7. ถ้าต้องการปรึกษาเกี่ยวกับการเลือกซื้อหรือจัดหาอุปกรณ์ที่จะใช้เป็นเครื่องเปอร์ซอนัลคอมพิวเตอร์ โปรดติดต่อสำนักงานพัฒนาระบบงาน หมายเลขโทรศัพท์ 234–3333 ต่อ 1452
ลูกค้าที่ขอใช้บริการ “ออฟฟิศ แบงกิ้ง” จะต้องระลึกอยู่เสมอว่า โปรแกรมดิสเก็ตต์ที่ธนาคารได้มอบไว้ให้นั้น ไม่ได้ใช้ได้เฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ของลูกค้าเครื่องเดียว ใช้กับเครื่องอื่นๆ ของคนอื่นได้ด้วย ดังนั้นจึงควรเก็บรักษาไว้ให้ปลอดภัย
ลูกค้าคนใดก็ตามที่ถูกผู้อื่นนำดิสเก็ตต์และรู้รหัสทั้ง COMPANY CODE และ PASSWORD ก็จะสามารถเรียกข้อมูลฐานะการเงินของลูกค้านั้นๆ มาดูได้ กรณีนี้ธนาคารจะไม่สามารถทราบได้เลยว่าลูกค้าอนุญาตหรือไม่ ธนาคารจึงไม่รับผิดชอบถ้าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้
ขอใช้บริการทำอย่างไร?
สำหรับผู้ที่สนใจต้องการใช้บริการ “ออฟฟิศ แบงกิ้ง” ก็มีขั้นตอนในการดำเนินการติดต่อธนาคาร คือ
- ยื่นคำขอตามแบบฟอร์มของธนาคาร โดยมีรายละเอียดชื่อบริษัทและชื่อผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทในการยื่นคำขอใช้บริการ ที่ตั้งบริษัท หมายเลขบัญชีเงินฝากที่จะขอใช้บริการออฟฟิศ แบงกิ้ง
- ลูกค้าลงนามในข้อตกลงการใช้บริการ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ พร้อมกับกำหนด COMPANY CODE และ PASSWORD
- ธนาคารนัดหมายลูกค้ากำหนดวันไปตรวจสอบทำ TEST–RUN ที่สำนักงานของลูกค้า
- ฝ่ายพัฒนาธุรกิจทำการวิเคราะห์และตรวจสอบข้อมูลในใบคำขอและจัดทำทะเบียนผู้ใช้บริการและทะเบียนคุมรหัส
- ธนาคารดำเนินการพิธีการด้วยระบบคอมพิวเตอร์เพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้บริการได้
- ธนาคารจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปทำ TEST–RUN อีกครั้ง เมื่อเรียบร้อยแล้วก็จะมอบดิสเก็ตต์และให้ลูกค้าลงนามรับ
เมื่อผ่านทุกขั้นตอนนี้แล้ว ลูกค้าก็จะสามารถใช้บริการออฟฟิศ แบงกิ้ง สอบถามข้อมูลที่ต้องการได้ทันที
ค่าใช้จ่าย
นอกจากลูกค้าจะต้องลงทุนซื้อเครื่องเปอร์ซอนนัลคอมพิวเตอร์พร้อม MODEM อย่างละ 1 เครื่องแล้ว ก็จะไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรนอกเหนือจากนั้น
เปอร์ซอนนัลคอมพิวเตอร์เป็น ไอบีเอ็ม พีซี หรือ ไอบีเอ็ม พีซี COMPATIBLE 64 KB พร้อม DISKETTE DRIVE1 ตัว มี MONOCHROME MONITOR และ PRINTER ADAPTER
พร้อมกันนั้นก็จะต้องมี COMMUNICATION ASYNCHRONOUS CARD มี PRINTER ซึ่งจะเป็นของ EPSON หรือ CITOH หรือ PRINTER ที่เป็น CENTRONICS PARALLEL
ส่วน MODEM 1 เครื่อง จะเป็นยี่ห้อใดก็ได้ ที่เป็น CCITTV.22 COMPATIBLE
เครื่องเปอร์ซอนนัลคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ทั้งหลายเหล่านี้ ค่าใช้จ่ายโดยประมาณในขณะนี้ตกราว 2 แสนบาท
ใครคิดว่าค่าใช้จ่ายขนาดนี้คุ้มแก่การลงทุน โดยเฉพาะเครื่องเปอร์ซอนนัลคอมพิวเตอร์ยังสามารถนำไปใช้งานด้านอื่นได้อีกด้วยแล้ว ก็ลองติดต่อสอบถามกับธนาคารกรุงเทพดู
“ออฟฟิศ แบงกิ้ง” เป็นโครงการที่แบงก์กรุงเทพริเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนธันวาคม 2526 จากบัดนั้นมาจนบัดนี้ก็มีลูกค้าเสนอตัวใช้บริการไปแล้วราว 20 ราย จะเป็นบริษัทไหนบ้าง แบงก์กรุงเทพไม่เปิดเผย
สาเหตุประการหนึ่งที่จำนวนผู้ใช้บริการยังไม่มาก ก็เนื่องจากเครื่องเปอร์ซอนนัลคอมพิวเตอร์ ที่สามารถต่อพ่วงได้กับเครื่องเมนเฟรมของธนาคารยังมีอยู่จำกัดยี่ห้อ ขณะนี้จะมีก็เพียงยี่ห้อไอบีเอ็ม พีซี ฟิลิปส์ ซีสเต็ม เท็กซัส อินสตรูเมนท์ เท่านั้น
|
|
|
|
|