|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มิถุนายน 2527
|
|
คนไทยทั่วๆ ไปเมื่อนึกถึงน้ำอัดลม “โค้ก” ก็มักจะนึกไปถึงบริษัทไทยน้ำทิพย์ของตระกูลสารสิน ด้วยเข้าใจว่าบริษัทนี้เป็นผู้ได้ลิขสิทธิ์ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของโคคา-โคลาแต่ผู้เดียวในประเทศไทย
ชื่อบริษัทหาดทิพย์กลับไม่ค่อยได้ยิน ทั้งๆ ที่ลิขสิทธิ์ใน 14 จังหวัดภาคใต้คือตั้งแต่ชุมพรลงไปจรดชายแดนไทย-มาเลเซียนั้นเป็นของหาดทิพย์ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับไทยน้ำทิพย์แต่ประการใด
หาดทิพย์เป็นบริษัทของตระกูลรัตตกุลเจ้าของหมากหอมเยาวราช ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2521 แต่ถ้าจะกล่าวถึงที่มาแล้ว ก็จะต้องเริ่มกันตั้งแต่ปี 2511 เมื่อคหบดีภาคใต้กลุ่มหนึ่ง มีพลตำรวจเอกหลวงชาติตระการโกศลเป็นหัวหน้า ได้ติดต่อขอลิขสิทธิ์การผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มโคคา-โคลาและเครื่องดื่มชนิดอื่นๆ ในเครือโคคา-โคลาไปดำเนินการสำหรับตลาด 14 จังหวัดภาคใต้ เพราะการขนส่งเครื่องดื่มที่ผลิตจากบริษัทไทยน้ำทิพย์ที่ส่วนกลางลงไปภาคใต้นั้น ไม่สะดวก ทำให้เกิดการขาดแคลนอยู่บ่อยๆ
การผลิตและจำหน่ายจึงได้เริ่มขึ้นในอีกหนึ่งปีถัดมา ภายใต้ชื่อบริษัทนครทิพย์
ครั้นดำเนินการไปได้ 4-5 ปี นครทิพย์ก็ถูกเทกโอเวอร์ โดยบริษัทไทยธนาของกลุ่มพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา ร่วมกับกลุ่มรัตตกุล เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย ความนิยมเครื่องดื่มจำพวกน้ำอัดลมของคนใต้ก็ยังไม่แพร่หลายและการติดต่อประสานงานกับบริษัทโคคา-โคลาก็ติดๆ ขัดๆ ไม่ราบรื่น นครทิพย์จึงประสบปัญหาขาดทุนเรื้อรัง กลุ่มหลวงชาติฯ จึงต้องขายกิจการออกไปให้บริษัทไทยธนา
ภายหลังที่บริษัทไทยธนาเข้ามาบริหารพร้อมกับทุนก้อนใหม่ ก็สามารถชำระหนี้สินที่นครทิพย์ก่อไว้ได้หมดในปี 2521 บริษัทไทยธนาก็ถูกยุบ แล้วก่อตั้งขึ้นเป็นบริษัทหาดทิพย์มีวิไล รัตตกุล เป็นกรรมการผู้จัดการ ซึ่งปัจจุบันทั้งสองคนนี้ก็ยังดำรงตำแหน่งอยู่
หาดทิพย์ออกจะโชคดีหน่อยเพราะเส้นทางเดินนั้นเป็นคนละด้านกับนครทิพย์ จากจำนวนพนักงานที่เริ่มต้น 100 กว่าคนก็เพิ่มเป็น 400 กว่าคน จากรถขาย 5 คันก็เพิ่มเป็น 60 คัน พร้อมกับมีการติดตั้งเครื่องจักรใหม่ทันสมัยของเยอรมันซึ่งเพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้นกว่าเดิม 3 เท่าตัว เฉพาะจ่ายค่าภาษีฝาจีบก็ก้าวหน้าจากปีละ 5 ล้านบาท เป็น 50 ล้านบาทหรือตกอาทิตย์ละ 1 ล้านบาทในขณะนี้ ใครเก่งคำนวณก็ลองบวกลบคูณหารดูเองก็แล้วกันว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าไหร่
และทุกอย่างภายในหาดทิพย์ก็คงจะดำเนินต่อไปตามวิถีทาง ถ้าปีที่แล้วสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจะไม่ส่งเจ้าหน้าที่ของตนเข้าไปตรวจโรงงานและทำรายงานออกมาว่า โรงงานผลิตที่หาดใหญ่ของหาดทิพย์ปล่อยน้ำเสียออกมาทำลายสภาพแวดล้อม
ต่อมาเมื่อไม่นานนี้ก็มีข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้มีคำสั่งปิดโรงงานของหาดทิพย์ เนื่องจากไม่ติดตั้งระบบกำจัดน้ำเสียตามหนังสือท้วงติงของสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ
“ได้มีการเตือนไปแล้วหลายครั้ง แต่บริษัทเพิกเฉยจึงต้องดำเนินการตามกฎหมายสั่งปิดโรงงานจนกว่าจะแก้ไขปัญหาน้ำเสียแล้วเสร็จ” แหล่งข่าวในกรมโรงงานอุตสาหกรรมชี้แจง
“เป็นเรื่องไม่เข้าใจกันครับ ระบบกำจัดน้ำเสียนั้นเรามีอยู่พร้อมตั้งแต่มีการนำเครื่องจักรทันสมัยจากเยอรมันเข้ามาแล้ว” ข้างฝ่ายร้อยตรีไพโรจน์ รัตตกุล ก็กล่าวแย้งเช่นนี้กับ “ผู้จัดการ” และเมื่อถูกถามว่าจะต้องปิดโรงงานไหม เขาตอบว่า “เมื่อไม่มีปัญหาแล้วเราจะต้องไปปิดทำไม ทันทีที่ทราบเรื่องเราก็ทำหนังสืออุทธรณ์ไปที่กรมโรงงาน และเรามีผลการศึกษาระบบกำจัดน้ำเสียของหาดทิพย์ซึ่งคณะอาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ทำไว้แนบไปพร้อม”
“เป็นเรื่องที่ไม่เข้าใจกัน โรงงานเราไม่มีปัญหาจริงๆ” กรรมการผู้จัดการหาดทิพย์เน้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่มีปัญหาอะไร แต่ทำไมเรื่องเช่นจึงเกิดขึ้นได้ ก็คงต้องหาคำตอบกันต่อ
“ผู้จัดการ” ได้พยายามสอบถามไปที่สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ แต่ก็ไม่มีใครพร้อมที่จะชี้แจงเรื่องนี้
ส่วนร้อยตรีไพโรจน์ อึ้งนิดหนึ่งก่อนจะบอกเหตุผลว่า “ผมมันคนหน้าไม่รับแขกครับ เจอใครก็ยิ้มให้ไม่ค่อยสวย...”
กล่าวจบก็ยิ้มกว้าง 180 องศา โดยเจ้าตัวบอกว่า กว่าจะยิ้มได้ขนาดนี้ต้องฝึกแล้วฝึกอีกหลังจากเจอศึกกับสำนักงาน คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมนั่นแล้ว
|
|
|
|
|