|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กรกฎาคม 2527
|
|
ที่จริงคำถามว่าอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ของประเทศไทยกำลังจะหมุนตัวไปทางไหน ระหว่าง HARDWARE INDUSTRY หรือการผลิตตัวเครื่องและอุปกรณ์ต่อพ่วงต่างๆ กับ SOFTWARE INDUSTRY หรือการผลิตโปรแกรมคำสั่งนั้น ก็คงไม่ต้องไปควานหาคำตอบกันให้ยุ่งยากอีกต่อไป
เพราะหลังจากที่กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงานได้รับไฟเขียวจากคณะรัฐมนตรีให้ตั้งคณะกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2527 นี้ ก็ย่อมบ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่า พลังการผลิตจะถูกทุ่มเทไปในทิศทางใด?
จะมีคำถามหลงเหลืออยู่ก็เพียงว่า ทำไมเราจึงเลือกที่จะส่งเสริมการผลิตซอฟต์แวร์ ส่วนการผลิตฮาร์ดแวร์ให้เป็นหน้าที่ของกลไกตลาดหรือปล่อยให้พัฒนาไปตามธรรมชาติของมัน
รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์-ดำรง ลัทธพิพัฒน์ และ ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ได้เคยชี้แจงแสดงเหตุผลในเรื่องนี้ว่า สาเหตุนั้นก็เนื่องจากอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์ต้องลงทุนมากและมีความเสี่ยงสูง การตั้งโรงงานผลิตคอมพิวเตอร์ทั้งเครื่องจะต้องลงทุนนับเป็นร้อยๆ ล้านบาท ส่วนถ้าจะทำเพียงแต่สั่งซื้อชิ้นส่วนมาประกอบเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์แม้จะไม่ต้องลงทุนมากแต่ก็อาจต้องเสี่ยงกับการขาดทุนโดยไม่รู้ตัวเพราะเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เปลี่ยนแปลงรวดเร็วจนโรงงานที่ตั้งขึ้นเปลี่ยนแปลงไม่ทัน
ตัวอย่างที่สามารถนำมาเปรียบเทียบได้ก็คือกรณีของบริษัทออสบอร์นคอมพิวเตอร์ซึ่งตั้งขึ้นในอเมริกาเพื่อประกอบไมโครคอมพิวเตอร์ยี่ห้อออสบอร์นขาย
ทุกชิ้นส่วนของเครื่องออสบอร์นใช้วิธีสั่งซื้อจากโรงงานอื่น เมื่อได้ชิ้นส่วนมาครบแล้วก็ใช้เวลาเพียง 45 นาทีก็ประกอบเสร็จหนึ่งเครื่อง แต่ออสบอร์นมีจุดเด่นตรงที่เล็กกะทัดรัดสามารถหิ้วติดตัวได้ในขณะที่ยี่ห้ออื่นๆ ต้องตั้งอยู่กับที่ ออสบอร์นจึงขายดิบขายดีมียอดขายเดือนละเป็นหมื่นๆ เครื่อง
ครั้นต่อมาเมื่อบริษัทไอบีเอ็มออกเครื่องไมโครชนิด 16 บิต ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่มีประสิทธิภาพสูงกว่าเครื่อง 8 บิตของออสบอร์น ยอดขายของออสบอร์นก็ตกพรวดพราดเหลือเพียงเดือนละไม่กี่ร้อยเครื่อง บริษัทออสบอร์นจึงต้องปิดกิจการไปในที่สุด
“เมื่อพิจารณารวมกับการที่ราคาฮาร์ดแวร์ของคอมพิวเตอร์ตกลงอย่างรวดเร็วและการแข่งขันก็เชือดเฉือนกันหนักหน่วงแล้ว อุตสาหกรรมผลิตฮาร์ดแวร์สำหรับบ้านเราจึงไม่ค่อยมีอนาคตมากนัก” ดร.ศรีศักดิ์สรุป
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะมืดมนไปเสียหมด อุตสาหกรรมผลิตฮาร์ดแวร์สำหรับประเทศไทยยังนับว่ามีโอกาสถ้าจะเริ่มต้นในฐานะการร่วมทุนระหว่างคนไทยกับบริษัทผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ของต่างประเทศ รับผลิตบางชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ต่างๆ ป้อนโรงงานแม่ ดังเช่นที่บริษัทดาต้าเจนเนอรัลหรือบริษัทไฟฟ้าฟิลิปส์กำลังดำเนินการอยู่
“ของดาต้าเจนเนอรัลโรงงานเขาผลิตตัวคีย์บอร์ดป้อนบริษัทแม่ที่อเมริกา ส่วนฟิลิปส์เขานำชิ้นส่วนเข้ามาประกอบเครื่องไมโครซีสเต็ม 25 ขายในนี้” แหล่งข่าวในวงการคอมพิวเตอร์คนหนึ่งเล่าให้ฟัง
ถ้าเป็นดังนี้ก็คงไม่จำเป็นที่จะต้องมีองค์กรพิเศษทำหน้าที่ส่งเสริมการผลิตฮาร์ดแวร์ขึ้นมาอีก เพราะหน่วยงานที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงอุตสาหกรรมหรือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนก็คงจะทำหน้าที่ได้
แต่ปัญหาที่รัฐบาลจะต้องขบคิดให้หนักก็คือภาษีการนำเข้าชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับใช้ในการผลิต ซึ่งปัจจุบันไม่มีพิกัดเรียกเก็บที่แน่นอน โดยถัวเฉลี่ยแล้วผู้นำเข้าจะต้องเสียราว 30-40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในสายตาผู้ประกอบการที่จะต้องลงสู่สนามแข่งขันระดับโลกแล้วมองว่าเป็นอัตราที่สูงกว่าเกินกว่าที่จะอวยประโยชน์ให้สามารถแข่งขันได้ในตลาด
บริษัทธานินทร์อุตสาหกรรมและกลุ่มสหยูเนี่ยนเมื่อประมาณปี 2525 นั้นเคยคิดๆ จะกระโจนเข้ามาเป็นผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ และมองเห็นว่ามีกำแพงภาษีเป็นตัวอุปสรรค ดังนั้นจึงได้ผลักดันให้สมาคมอุตสาหกรรมทำหนังสือเข้า กรอ. ขอให้รัฐบาลทบทวนภาษีคอมพิวเตอร์
แต่เรื่องก็เงียบไปพร้อมๆ กับแรงกระตือรือร้นของธานินทร์อุตสาหกรรมและสหยูเนี่ยน
เมื่ออุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์มีอุปสรรค การหันมาพิจารณาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ก็ปะทุขึ้นในฐานะที่เป็นอุตสาหกรรมซึ่งไม่ต้องลงทุนมากความเสี่ยงก็น้อย แต่ก็มีตลาดกว้างขวางน่าสนใจ
“ประเมินกันว่าประเทศไทยต้องใช้จ่ายเงินในการสั่งซื้อซอฟต์แวร์สำเร็จรูปจากต่างประเทศปีหนึ่งหลายร้อยล้านบาท ส่วนในระดับตลาดโลกนั้นเมื่อปี 2526 ตลาดซอฟต์แวร์มีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จะเป็นเงินบาทเท่าไหร่ก็คูณด้วย 23 ดูเองก็แล้วกัน”
ส่วนที่ว่าไม่ต้องลงทุนมากและมีความเสี่ยงน้อยก็เพราะการผลิตซอฟต์แวร์หรือการเขียนโปรแกรมนั้น เป็นงานทุ่มสมอง (BRAIN INTENSIVE) ไม่ต้องใช้แรงกายหรือทุนรอนมากมายผลิตออกมาแล้วขายไม่ได้ก็เพียงเปลืองสมองไปนิดหน่อยเท่านั้น นอกจากนี้ก็ยังเชื่อกันว่า คนไทยมีความพร้อมสำหรับอุตสาหกรรมประเภทนี้คือ มีกำลังคนที่มีคุณภาพพอเพียง ส่วนเครื่องมือคือเครื่องคอมพิวเตอร์นั้นปัจจุบันนี้ก็ประเมินกันว่า มีติดตั้งอยู่แล้วเป็นหมื่นเครื่องซึ่งนับว่าพอเพียงอยู่แล้ว
จะมีปัญหาสำคัญก็เพียงว่า ประการแรกที่ผ่านมาการผลิตซอฟต์แวร์เป็นเรื่องต่างคนต่างทำ หน่วยราชการก็ผลิต อาจารย์หรือนักศึกษาวิชาคอมพิวเตอร์ก็ผลิต บริษัทขายคอมพิวเตอร์และบรรดาซอฟต์แวร์เฮาส์ก็ผลิต ไม่มีการรวมศูนย์ ทำให้เกิดโปรแกรมงานที่ซ้ำซ้อนขึ้นมามากมาย นับว่าสูญเสียกำลังคนไปโดยเปล่าประโยชน์ ประการที่สอง ไม่มีใครอยากผลิตเพื่อป้อนตลาดในประเทศเพราะมีการก๊อบปี้ โปรแกรมหนึ่งๆ อาจจะต้องลงทุนเป็นแสนบาทว่าจ้างคนเขียน แต่เมื่อออกตลาดก็อาจจะขายได้ชุดเดียวที่เหลือใช้วิธีก๊อบปี้ซึ่งทำไม่ยาก และประการที่สาม ยังไม่มีการบุกเบิกตลาดต่างประเทศอย่างจริงจัง ปัจจุบันคงมีไม่กี่บริษัทที่สามารถผลิตซอฟต์แวร์ไปขายต่างประเทศ
ว่าไปแล้วคณะกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ตั้งขึ้นก็มุ่งที่จะแก้ปัญหาใหญ่ 3 ประการนั้น โดยพยายามที่จะตั้งหน่วยงานกลางขึ้นมาหน่วยหนึ่ง มีกำลังผลิตจากภาครัฐบาล ภาคเอกชนและมหาวิทยาลัยเข้าร่วม ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการผลิตและจำหน่ายซอฟต์แวร์ทั้งสำหรับตลาดในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งคาดกันว่าในราวปลายปีนี้ก็คงจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา
ส่วนจะได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายเข้มแข็งแค่ไหนก็คงต้องติดตามกันต่อไป
|
|
|
|
|