|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กรกฎาคม 2527
|
|
อีกภายในไม่กี่เดือน ซึ่งอาจจะเป็นเวลาก่อนสิ้นฤดูร้อนของปีนี้–อังกฤษและสาธารณรัฐประชาชนจีนจะบรรลุถึงข้อตกลงที่อังกฤษจะดำเนินการมอบโอนเกาะฮ่องกงให้กับจีน จะยังไม่มีการโอนอย่างถาวรให้กับจีนภายใน 13 ปี ข้างหน้านี้ ในเมื่อกรรมสิทธิ์ในการเช่าเกาะฮ่องกงยังไม่หมดสัญญา แต่เงื่อนไขในรายละเอียดถ้อยคำข้อสมมุติฐานที่ยังกล่าวไปได้ไม่สามารถชี้ลงไปได้ และตลอดจนท่าทีของจีนจะเป็นตัวกำหนดวิถีทางเศรษฐกิจของฮ่องกงใน 2-3 ปีข้างหน้านี้
แน่นอนถ้าหากว่าจีนดำเนินนโยบายพลาดพลั้งลงไปแล้ว นักลงทุนทั้งหลายในฮ่องกงคงจะค่อยๆ หายหน้าไปทีละน้อยจนไม่เหลือ ก่อนที่จะถึงปี 1977 “สถาบันการเงินในฮ่องกงบางทีจะย้ายออกไปเพียงชั่ววันด้วยการใช้ระบบการโอนสินทรัพย์ด้วยการสื่อสารด้วยเทเล็กซ์” นายธนาคารผู้หนึ่งกล่าว ทรัพย์สินประเภททุนจะต้องถูกโยกย้ายออกจากฮ่องกง และไม่มีกฎหมายห้ามการจ่ายโอนทรัพย์สินประเภททุนออกจากฮ่องกง บริษัทจาร์ดีนแมทธีสันแอนด์โก ซึ่งมีกลุ่มที่มีอิทธิพลทางการค้า ซึ่งถือกำเนิดมาพร้อมกับความเติบโตของฮ่องกง ในขณะนี้พร้อมที่จะโยกย้ายทรัพย์สินของบริษัทสู่เบอร์มิวด้า และชาวจีนฮ่องกงที่มีฐานะดีและมีการศึกษาสูงนับจำนวนหลายพันคนก็ได้ตระเตรียมเพื่อที่จะออกจากฮ่องกง
ได้มีสัญญาณส่อให้เห็นว่า ผู้นำทั้งหมดของจีนรวมทั้งเติ้งเสี่ยวผิงเข้าใจถึงความละเอียดอ่อนของปัญหานี้ และได้พิจารณาที่จะไม่สร้างความตื่นตระหนกให้กับกลุ่มบุคคลระดับสูงของฮ่องกง
ในการกล่าวสุนทรพจน์ทั้งในสาธารณชนและในการประชุมปรึกษาที่เป็นการส่วนบุคคลใดๆ ก็ตาม ทางปักกิ่งพยายามที่จะให้สัญญาว่า ระบบสังคมและเศรษฐกิจของฮ่องกงจะยังคงอยู่ในสภาพเดิมต่อไปอีกอย่างน้อย 50 ปี ภายหลังการมอบโอนเกาะฮ่องกงคืนกลับไปให้กับจีนในปี 1997 แล้ว ซึ่งหมายความว่าตามหลักการแล้วฮ่องกงจะมีสภาพโครงสร้างทางกฎหมายแบบอังกฤษ คือประชาชนและธุรกิจจะสามารถดำเนินไปได้ตามวิถีทางแบบเสรีนิยม มีเงินของตนเอง และมีการเก็บภาษีอย่างต่ำ
จุดขัดแย้งในการเจรจาลับในช่วงเวลา 21 เดือน คือจีนยืนยันว่าข้อตกลงระหว่างทั้ง 2 ประเทศควรจะเป็นไปในรูปของข้อตกลงกว้างๆ เพียง 2-3 ประโยคก็น่าจะเพียงพอ ในขณะที่อังกฤษต้องการให้จีนทำสัญญาในรูปสนธิสัญญาที่มีรายละเอียด
นักเศรษฐศาสตร์ชาวฮ่องกงคนหนึ่งกล่าวไว้ว่า “ฮ่องกงเปรียบเหมือนกับรถยนต์เมอร์ซิเดสที่ได้รับการตกแต่งไว้เป็นอย่างดี แต่จีนเปรียบเหมือนกับช่างที่รู้แค่ซ่อมจักรยานเท่านั้น”
อังกฤษต้องการให้มีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพพร้อมมูลสำหรับต่อต้านการแทรกแซงของรัฐบาลจีนในฮ่องกง
สิ่งที่ยังเป็นปัญหาอยู่ก็คือ อังกฤษพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะใช้กล่องวิเศษที่ว่าเพื่อที่จะคงให้ทุกคนเกิดความรู้สึกมั่นคงในการดำเนินธุรกิจในอนาคต หากแค่สิ่งหนึ่งซึ่งกล่องวิเศษจะไม่สามารถช่วยได้คือ การคงไว้ซึ่งสิทธิพิเศษของธุรกิจบริษัทอังกฤษเคยได้รับเมื่อครั้งอังกฤษเป็นเจ้าของอาณานิคมแห่งนี้
เงินตราของฮ่องกงเป็นตัวอย่างสำหรับกรณีนี้ ออกใช้โดยธนาคารของอังกฤษบางแห่งในฮ่องกงคือธนาคารชาเตอร์แบงก์ กับธนาคารฮ่องกงเซี่ยงไฮ้ และตามกฎหมายบริษัทเดินรถโดยสารประจำทางของฮ่องกงจะต้องใช้รถที่ผลิตจากประเทศในเครือจักรภพ ซึ่งทำให้รถยี่ห้อ BL สามารถขายได้ในฮ่องกงมากกว่าในตลาดประเทศอื่นๆ
ได้มีรายงานจากผลการศึกษาวิจัยโดยรัฐบาลอเมริกันว่า “ฮ่องกงเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่แห่งในเอเชียที่ชาวญี่ปุ่นเคยวิจารณ์ว่ามีกลุ่มอภิสิทธิ์กลุ่มหนึ่งซึ่งเคยได้รับผลประโยชน์โดยไม่ถูกต้องยุติธรรม” ซึ่งจีนตั้งใจที่จะถอนรากถอนโคนบรรดาอภิสิทธิ์เหล่านี้เพราะนี่คือร่องรอยแห่งลัทธิอาณานิคม บริษัทอังกฤษจะต้องดำเนินธุรกิจแข่งขันกับผู้อื่นภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน แน่นอนย่อมจะเป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทอเมริกันและญี่ปุ่นเข้ามาแข่งขันทางธุรกิจด้วย
อนาคตของฮ่องกงในระยะยาวภายใต้การปกครองของจีน ย่อมถือว่าเป็นอีกประเด็นหนึ่งซึ่งทางฝ่ายจีนจะต้องสร้างความมั่นใจให้กับชาวฮ่องกงว่าจีนจะรักษาคำพูดที่ให้ไว้
ในอดีตที่ผ่านมาชาวจีนแผ่นดินใหญ่ได้ลี้ภัยมาสู่ฮ่องกงจากเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเมื่อปี 1949 ระบบการปกครองคอมมิวนิสต์ในจีนก็เคยให้คำมั่นว่าจะยอมให้บุคคลมีสิทธิการดำเนินธุรกิจส่วนตัวแล้วก็ทำลายสัญญานั้นเสียเอง “เราเตือนให้ลูกหลานของเรามิให้เชื่อคำพูดของคอมมิวนิสต์ เพราะอาจจะต้องสูญเสียทุกอย่างไปอีก” ภรรยาของนักธุรกิจระดับสูงคนหนึ่งกล่าว ครอบครัวนี้ได้เตรียมตัวอพยพไปอยู่ที่ตรีนิแดด
คณะกรรมการฝ่ายจีนเองก็ทราบกรณีการยึดครองเซี่ยงไฮ้ที่ผ่านมาเป็นอย่างดี และก็ได้ตอบแก้ข้อกล่าวหาเหล่านี้ว่า “กาลเวลาได้เปลี่ยนไปแล้ว” ทั้งคณะกรรมการจีนและอังกฤษต่างรู้ดีว่าฝ่ายบริหารของจีนในอนาคตไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามพันธกรณีใดๆ ที่ได้มีการตกลงในปีนี้
อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงซึ่งจะนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองหรือความเสื่อมโทรมของฮ่องกงอีก 13 ปีข้างหน้านี้จะมีอิทธิพลต่อแนวนโยบายของการเมืองทุกกลุ่มที่ต้องการจะมีอำนาจในปักกิ่งอย่างแน่นอน
วิคเตอร์ แมนเนเซล อายุ 35 ปี เจ้าหน้าที่แห่งซิตี้แบงก์ในฮ่องกงกล่าวว่า “ถ้าหากการเปลี่ยนแปลงในฮ่องกงเป็นไปอย่างนุ่มนวลแล้ว ผมคิดว่าประชาชนชาวฮ่องกงจะอยู่ในสภาวะที่มีความมั่นคงทางการเมืองมากกว่าหลายต่อหลายแห่งในโลก”
บรรดาผู้มีความเห็นในแง่ดีต่างหวังว่าเพื่อผลประโยชน์ของจีนเอง จีนควรจะต้องยับยั้งชั่งใจพอสมควรก่อนที่จะดำเนินนโยบายใดๆ
วิลเลี่ยม บราวน์ อายุ 52 ปี ผู้จัดการทั่วไปของธนาคารชาเตอร์อันเป็นส่วนหนึ่งของธนาคารชาเตอร์แห่งประเทศอังกฤษกล่าวว่า “จีนจะได้รับผลประโยชน์อย่างมหาศาล ถ้ายอมปล่อยให้ฮ่องกงเติบโตต่อไป และตรงข้ามจีนจะเสียทุกอย่างถ้าไม่ทำเช่นนั้น”
ฮ่องกงเป็นเขตการลงทุนโดยเสรีนั้น ทำให้จีนได้เงินตราต่างประเทศถึง 1 ใน 3 ที่จีนได้รวมทั้งเป็นช่องทางที่สะดวกที่สุดที่จีนจะได้รับประสบการณ์ทางความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยี รวมทั้งวิธีการจัดการบริหารงานใหม่ๆ ในการที่จะหล่อหลอมฮ่องกงให้กลายเป็นคอมมิวนิสต์จะทำความพินาศให้ทั้งวิถีการดำเนินธุรกิจของฮ่องกงและแผนการทำให้ประเทศจีนทันสมัย
การลงทุนของจีนในฮ่องกง ซึ่งอย่างน้อยๆ ประมาณ 4 พันล้านเหรียญในหลายปีที่ผ่านมา ทำให้มีผู้คิดไปในทางที่ดี
ไมเคิล แซนด์เบิร์ก อายุ 57 ปี ประธานธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ ซึ่งควบคุมการดำเนินงานธนาคารมารีน มิดแลนด์ในสหรัฐฯ ด้วยกล่าวว่า “ทำไมจีนจึงไปลงทุนที่นั่นถ้าหากว่าจะไม่ได้ผลประโยชน์ นี่แหละช่วยให้เกิดความมั่นคงแต่อาจจะได้คืนมาน้อยสักหน่อย” สิ่งที่ช่วยให้เกิดความอุ่นใจในท่าทีของจีนก็คือการที่จีนได้จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ 4 เขตใกล้ๆ กับฮ่องกง โดยอาศัยแบบอย่างการลงทุนแบบเศรษฐกิจทุนนิยม และปักกิ่งได้วางแผนที่จะเพิ่มเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้อีก 14 เขต
ผู้ที่มองในแง่ดีต่างหวังว่าจีนคงจะไม่ใช้ความคิดเก่าๆ และสกัดกั้นความคิดอ่านของบรรดาผู้นำหัวก้าวหน้าที่มุ่งจะพัฒนาเศรษฐกิจของจีน
ผู้เชี่ยวชาญชาวอเมริกันเกี่ยวกับการค้าของจีนกล่าวว่า “ลองคิดดูว่านักลงทุนชาวต่างประเทศจะกล้ามาลงทุนในจีนได้อย่างไร ถ้าหากจีนไม่ยอมปล่อยให้ฮ่องกงดำเนินธุรกิจแบบเดิม” ในแง่การเมืองแล้วการปล่อยให้ฮ่องกงเป็นส่วนของจีนที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจจะช่วยให้ความฝันอันสูงสุดของจีนที่จะนำไต้หวันเข้ามาสู่การปกครองด้วยวิธีเดียวกัน
เมื่อมองดูอ่าวฮ่องกงซึ่งมีขนาดใหญ่และดีที่สุดในบริเวณชายฝั่งทะเลจีนตอนใต้จากชั้นบนสุดของตึกธนาคารซิตี้มูลค่า 90 ล้านดอลลาร์ ก็ดูเหมือนว่าจะทำให้ใครก็ตามฝันเห็นอนาคตอันสุกใสอยู่ข้างหน้า “ธนาคารซิตี้มาตั้งอยู่ที่ฮ่องกงเป็นเวลา 80 ปีมาแล้ว” เมนเนเนเจอร์กล่าว “และเราหวังว่าจะอยู่ต่อไปอีกสัก 80 ปีเป็นอย่างน้อย” ธนาคารซิตี้ได้ผลกำไรจากฮ่องกงอยู่ประมาณ 4% เมื่อเปรียบเทียบกับผลกำไรทั้งหมดของสถาบันการเงินแห่งนี้ที่มีกระจายอยู่ทั่วโลก อะไรก็ตามที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและยังรักษาไว้ซึ่งพื้นฐานแห่งการลงทุนโดยเสรี ก็จะสามารถคงอยู่ได้ “ทั้งนี้ก็เพราะโลกยังต้องการฮ่องกงอยู่” เมนเนเจอร์กล่าว
สำหรับผู้ที่มองในแง่ลบยังคงมีความเกรงอยู่ว่าอังกฤษจะปล่อยมือจากฮ่องกงให้กับจีน คณะตัวแทน 10 คน ซึ่งนำโดยชาวจีนฮ่องกงเพิ่งได้ไปถึงลอนดอนเพื่อแสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อเหตุการณ์นี้ บรรดาผู้แทนเหล่านี้ต่างพากันเชื่อว่า ฝ่ายบริหารของจีนยังไม่เข้าใจถ่องแท้ถึงวัฏจักรทางเศรษฐกิจที่หมุนเวียนไปโดยเสรีของฮ่องกงและดำเนินนโยบายในฮ่องกงอย่างไม่มีประสิทธิภาพถึงแม้ว่าทางฝ่ายจีนจะให้คำมั่นสัญญาใดๆ ที่จะไม่ปฏิบัติกับฮ่องกงเหมือนกับที่ทำอยู่ในจีน ทั้งๆ ที่จีนกำลังอยู่ในระหว่างเริ่มเรียนรู้การดำเนินธุรกิจแบบทุนนิยม ก็ยังเปรียบไม่ได้กับฮ่องกง ซึ่งถือได้ว่าเป็นส่วนที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจอยู่นอกเหนืออำนาจการควบคุมจากที่ใด
นักลงทุนได้ทุ่มเทในตลาดหุ้นที่ฮ่องกงอย่างมากมายอีกครั้งหนึ่ง แต่มิใช่เพราะหวังว่าทุกอย่างจะสดใสภายหลังปี 1997 แต่หากหวังจะได้ผลกำไรกลับคืนในทันที “คุณจะได้เงินคืนเป็น 2 หรือ 3 เท่าก่อนครบกำหนดอีก 13 ปีข้างหน้า” นายธนาคารชาวฮ่องกงผู้หนึ่งกล่าว ได้มีเสียงขานรับอย่างเกรียวกราวเมื่อมีการเปิดโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 6 บริษัทเมื่อเร็วๆ นี้ ทิมออี เบียริคสัน กรรมการบริหารของบริษัทฮ่องกงเซเคียวริตี้ กล่าวว่า “บริษัทเหล่านี้ดำเนินงานโดยนักลงทุนที่ไม่สนใจที่จะไปลงทุนในเบอร์มิวดา ตอนนี้พวกเขากำลังวุ่นอยู่กับส่งสินค้าตามใบสั่งอย่างแทบไม่ขาดมือ” มีการออกหนังสือพิมพ์ฉบับใหม่ๆ และมีผู้ซื้อเพิ่มถึง 50 เท่า นักลงทุนรายอื่นๆ พบว่าราคาที่ดินในฮ่องกงยังราคาสูงจนต่อรองแทบไม่ได้
มีจำนวนบริษัทของครอบครัวชาวจีนฮ่องกงเพิ่มมากขึ้น ที่พยายามหาช่องทางที่จะติดต่อร่วมทำธุรกิจกับต่างประเทศโดยหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยเป็นเกราะป้องกันแรงกดดันใดๆ จากจีนในอนาคต
ตามธรรมดาแล้วจีนมักไม่ใคร่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการลงทุนของชาติตะวันตกและญี่ปุ่น ธนาคารแห่งอีสต์เอเชียซึ่งบริหารโดยชาวจีนฮ่องกง 4 ตระกูลได้จัดข่ายงานกิจกรรมลงทุนร่วมกับต่างชาติเมื่อ 2–3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งประกอบด้วยบริษัทค้ำประกันร่วมกับ FAETNA ของสหรัฐฯ และบริษัทเช่าหลักทรัพย์ร่วมกับ SOCIETE GENERALE ของฝรั่งเศสและธนาคารแห่งปักกิ่งของจีน
เดวิด เค พี ลี อายุ 44 ปี หัวหน้าฝ่ายจัดการของธนาคารอีสต์เอเชียพูดว่า “ด้วยเหตุผลส่วนตัวของผมเองแล้วผมคิดว่าอยากจะร่วมมือกับฮ่องกงในรูปของหุ้นส่วนกันมากกว่า แทนที่จะขยายอำนาจเข้าครอบงำ แต่ก็คงจะไม่ใช่เป็นแบบหุ้นส่วนที่มีสิทธิเท่าเทียมกันเท่าใดนัก เว้นไว้แต่ว่าเราจะสามารถบริหารให้มีความสัมพันธ์และมีความชำนาญในการดำเนินงานที่เหนือกว่า ด้วยสิ่งเหล่านี้และการร่วมลงทุนอย่างอื่นๆ เราก็คงจะมีผลประโยชน์อะไรให้กับจีนได้”
ท่ามกลางกระแสลมแห่งการผันผวนโรเบิร์ต ซีลิน อายุ 43 ปี ผู้จบปริญญาเอกจากฮาร์วาร์ดและสามารถพูดภาษาจีนได้ เพิ่งย้ายจากธนาคารแห่งอเมริกาในฮ่องกง เข้าทำงานกับกลุ่มธุรกิจแกลดโฮเวอร์ซึ่งประกอบกิจการการก่อสร้างและการลงทุน ซึ่งมีชาวจีนโพ้นทะเลเป็นเจ้าของ “มีวิธีเดียวที่จะทำรายได้จำนวนมหาศาลก็คือเข้าร่วมกิจการกับชาวพื้นเมือง” เขากล่าว “ยังมีผู้คนอีกมากมายที่จะอยู่ในฮ่องกง และกลุ่มแกลดโฮเวอร์ก็ยังมีธุรกิจและผลประโยชน์มากมายในฮ่องกง” จะอย่างไรก็ตาม ซีลินได้จัดการวิ่งเต้นกู้เงินจำนวน 70 ล้านดอลลาร์ให้กับแกลดโฮเวอร์ เพื่อดำเนินการสร้างท่าเรือและสถานีสำรวจน้ำมันในซูไฮ ซึ่งเป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีน
ซีลินมีความมั่นใจว่าปักกิ่งจะปฏิบัติต่อฮ่องกงอย่างนิ่มนวล “ฝ่ายบริหารซึ่งปกครองจีนในขณะนี้เป็นคนจากรุ่นก่อน และแนวความคิดทางการเมืองของพวกเขาก็มีแนวโน้มที่จะต้องการให้จีนอยู่ในสภาพบางประการ แม้แต่ในฮ่องกงเอง” เขากล่าว “เมื่อคณะผู้บริหารรุ่นเก่าได้จากไปแล้วและจีนได้พัฒนาตัวเองออกไปฝ่ายบริหารรุ่นต่อมาก็คงจะต้องปรับปรุงการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง แน่นอนสิ่งที่ผมกระทำอยู่นี้นับว่าเสี่ยงเอาการอยู่ แต่ก็นับว่าคุ้มที่จะเสีย”
บริษัท ELEC & ELTEC ซึ่งเป็นบริษัทผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่งก่อตั้งในฮ่องกงได้ดำเนินการขยายกิจการออกไปด้วยการลงทุนเพิ่มอีก 29 ล้านดอลลาร์ บริษัทได้ผลิตแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับบริษัทลูกค้าต่างๆ เช่น IBM และ DIGITAL EQUIPMENT และผลิตโทรศัพท์ชนิดไร้สาย ประธานบริษัทคือ เดวิด โซ อายุ 42 ปี กล่าวยืนยันว่า “หากจะอยู่ที่นี่ ผมเป็นคนจีนซึ่งยากที่จะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น และไปอยู่ที่อื่น”
ในฐานะผู้ลี้ภัยจากภาคใต้ของประเทศจีน โซได้อพยพถึงฮ่องกงเมื่ออายุ 22 ปีที่ผ่านมาด้วยความรู้ระดับเตรียมอุดมศึกษา พร้อมด้วยความชำนาญจากโรงงานเคมีภัณฑ์ในกวางตุ้ง
โซทำงานในร้านซ่อมวิทยุในขณะที่เรียนเพิ่มเติมในเวลากลางคืน ในที่สุดเขาก็เข้าทำงานกับสาขาของบริษัท AMPEX ซึ่งเป็นบริษัทผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในฮ่องกง และทำงานอยู่จนกระทั่งได้เป็นผู้จัดการด้านเทคนิค “ผมเห็นว่ามีหลายอย่างที่ AMPEX สั่งซื้อจากญี่ปุ่นและที่อื่นนั้นอาจผลิตได้เองที่นี่” เขากล่าว
ในปี 1972 โซและเพื่อนอีก 2 คนได้กู้ยืมเงิน 40,000 เหรียญจากญาติเพื่อดำเนินธุรกิจเอง เริ่มต้นด้วยการผลิตแป้นกดของเครื่องคิดเลขและชิ้นส่วนของนาฬิกาอิเล็กทรอนิกส์ บริษัทค่อยๆ ขยายสายงานเพิ่มขึ้น โซคาดว่าจะมีกำไรสูงขึ้น 162% ในปีนี้เป็น 13.5 ล้านดอลลาร์จากยอดขาย 80 ล้านดอลลาร์ “ผมตื่นขึ้นในตอนเช้าคิดถึงแต่ว่าบริษัทจะผลิตอะไรในปีต่อไปเท่านั้น โดยไม่พะวงถึงปี 1997 ซึ่งจีนจะเข้าปกครองฮ่องกง”
นักธุรกิจชาวอังกฤษหลายคนแสดงความคิดเห็นอย่างจริงใจถึงความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจในฮ่องกงแต่ก็มิได้ชักจูงผู้ใดให้เชื่อตาม บิล วิลลี่ อายุ 51 ปี ชาวออสเตรเลียผู้อาศัยอยู่ในฮ่องกงกว่า 20 ปีมาแล้ว เขาได้กลายเป็นมหาเศรษฐีด้วยการลงทุนในบริษัทที่จวนจะล้มมิล้มแหล่หลายบริษัทแล้วก็ช่วยให้สถานการณ์บริษัทเหล่านั้นดีขึ้น เขากล่าวถึงบริษัทส่วนตัวของเขาคือ ASIA SECURITIES ว่า “คือบริษัทที่รวมทุกสิ่งทุกอย่างมีน้อย” บริษัทนี้มีทรัพย์สินอย่างน้อยที่สุดครึ่งหนึ่งอยู่ในฮ่องกง เขากล่าวยืนยันว่าเขาไม่ใช่กำลังวัดดวงอยู่กับฮ่องกงแต่เขากำลังดำเนินการประเมินผลได้เสียอยู่โดยอาศัยหลักการของเขากล่าวว่า “ผมน่ะไม่วิตกอะไรหรอก และมีความมั่นใจต่อสนธิสัญญาสำหรับปี 1997 ผมรู้ว่ามีปัญหาอยู่มากมายที่จะต้องหาคำตอบ แต่ผมมองไม่เห็นว่าจีนจะให้เลิกทุกอย่างในฮ่องกง การได้เอกราชของฮ่องกงคืนจากอังกฤษเป็นเรื่องการรักษาหน้าของจีนมากกว่า เพราะจีนมีความรู้สึกเสียหน้ามาเป็นเวลานานแล้ว แต่ผมมองไม่เห็นเหตุผลที่จีนจะเลิกเขตเศรษฐกิจเสรีอย่างฮ่องกงไปเสีย ซึ่งภายใน 50 ปีก็อาจจะขยายไปถึงกวางตุ้ง”
แม้ว่าจะทำตัวลอยอยู่ท่ามกลางกลุ่มผู้ดีชาวอังกฤษหรือที่เรียกกันว่าพวกเจ้านาย วิลลี่ ก็ได้รับความนับถือจากทั้งชาวอังกฤษและฮ่องกง ความสำเร็จที่เด่นๆ ของเขาก็คือช่วยกู้ฐานะของบริษัท WHAMPOA HUTCHINSON ซึ่งทำธุรกิจในการซื้อขายสินค้าจากความหายนะในตอนปลายปี 1985 จนกระทั่งตั้งตัวติดได้ในปี 1981 เทคนิคของเขาก็คือจัดการขายสินทรัพย์ไม่มีประโยชน์ออกไปและเสริมสร้างประสิทธิภาพในฝ่ายบริหาร
ปัจจุบันงานหลักของเขาอยู่ที่บริษัท BRS ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า วิลลี่ได้งานของบริษัทนี้ตั้งแต่ปี 1982 หลังจากที่ธนาคารที่ให้การสนับสนุนเกิดความกังวลในฐานะการดำเนินงานของบริษัทที่ขาดทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เขาจัดการหาทุนมาดำเนินงานต่อด้วยเงิน 33.6 ล้านดอลลาร์ บวกกับเงินส่วนตัวอีก 2 ล้านดอลลาร์ วิลลี่กล่าวว่า “BRS มีปัญหาหลายอย่างที่จะต้องดำเนินการแก้ไข ไม่มีการควบคุมด้านการเงินอย่างใดเลย ไม่มีการติดต่อกันระหว่างฝ่ายบริหารระดับอาวุโส และยังมีจุดอ่อนด้านการตลาด” งานชิ้นแรกก็คือย้ายสำนักงานใหญ่จากอังกฤษมายังฮ่องกง “เพื่อที่จะสามารถสั่งการได้ทันที” ขณะนี้ BRS ยังมีรายชื่ออยู่ในตลาดหลักทรัพย์ในลอนดอน แต่เนื่องจากสำนักงานใหญ่ย้ายมาอยู่ที่ฮ่องกง ทำให้แทบไม่ต้องเสียภาษีในประเทศอังกฤษ และยิ่งกว่านั้นวิลลี่เน้นการทำงานสาขาของบริษัทในภูมิภาคเอเชียซึ่งสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ BRS ทำกำไรได้ 18.3 ล้านดอลลาร์จากยอดขาย 395 ล้านดอลลาร์ในปี 1983 หลังจากที่ขาดทุนถึง 44.3 ล้านดอลลาร์ในปี 1982
นอกจากจะช่วยกู้สถานการณ์ของ BRS แล้ววิลลี่ยังจ่ายเงินถึง 11.6 ล้านดอลลาร์เพื่อช่วยการดำเนินกิจการของโรงแรมรีกัล ซึ่งเป็นบริษัทที่ขาดทุนมาตลอด เพราะมีแค่ “ทรัพย์สินที่หาประโยชน์มิได้” วิลลี่กล่าว รวมทั้งโรงแรม 2 แห่งที่อยู่ภายใต้การดำเนินงานของชาวฝรั่งเศส วิลลี่จัดการตรวจสอบทรัพย์สินของโรงแรมและจัดการชำระหนี้ด้วยเงินที่กู้มาจากธนาคารฮ่องกงจำนวน 97.4 ล้านดอลลาร์ มีกำหนดใช้คืนไม่เกินปี 1982 “ผมเห็นว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่นี่ยังได้สวย” เขากล่าว และการซื้อโรงแรมในราคาต่ำขนาดนี้ย่อมราคาถูกกว่าสร้างใหม่ การลงทุนทางธุรกิจโรงแรมเป็นการลงทุนค่อนข้างจะระยะยาว เมื่อเปรียบเทียบกับภาวะอันไม่แน่นอนของฮ่องกงของสถานการณ์ทางการเมือง แต่ก็คาดหมายกันว่าจะดำเนินงานได้ผลกำไรเป็นอย่างดีจนถึงปี 1997 วิลลี่กล่าวว่า “ผมก็จะจัดการสะสางทุกอย่างให้เรียบร้อย ลงทุนเพิ่มในบางอย่าง ทีนี้ผมก็จะมีโรงแรมหรูๆ ถึง 2 แห่ง” เขาหวังว่าอย่างน้อยก็จะได้รับผลกำไรปีละ 20-25% ทุกปี
นักธุรกิจที่โด่งดังกว่าวิลลี่ก็เห็นจะได้แก่หวาง กวง ยิง อายุ 64 ปี ซึ่งเป็นชาวจีนจากแผ่นดินใหญ่ ในปีที่แล้วหวางได้ตั้งบริษัท EVERBRIGHT INDUSTRY ซึ่งตามนิตินัยแล้วถือว่าเป็นธุรกิจภาคเอกชน และได้จ่ายเงิน 2.5 ล้านดอลลาร์สร้างสำนักงานหรูหรา
ในธุรกิจการเงินของฮ่องกง หวางจัดการลงทุนกับนักธุรกิจทุกชนิด บริษัท EVERBRIGHT ได้เคยทำธุรกิจเกี่ยวกับซื้อขายที่ดินมีมูลค่าถึง 500 ล้านดอลลาร์มาแล้ว และขณะนี้กำลังติดต่อสั่งซื้อเครื่องจักรกลและเทคโนโลยีใหม่ๆ ในมูลค่าถึง 200 ล้านดอลลาร์ให้กับจีน ในเวลาเดียวกันก็พร้อมที่จะตกลงร่วมธุรกิจกับบรรษัทระดับชาติอื่นๆ
หวางเคยเป็นนักอุตสาหกรรมเคมีผู้ร่ำรวยและมีโรงงานดำเนินธุรกิจของตนเองก่อนที่จีนคอมมิวนิสต์จะยึดครองประเทศจีน เขากล่าวว่า “ผมมีแนวคิดในการดำเนินธุรกิจทุนนิยมแบบอเมริกันและญี่ปุ่น”
สำหรับชาวฮ่องกงทั่วๆ ไปแล้ว นักลงทุนจากจีนแผ่นดินใหญ่ผู้นี้ดูเหมือนจะเก่งเกินไปอยู่สักหน่อย
หวางเป็นพี่เขยของประธานาธิบดีหลิวเชาชี ในยุคของเหมาเจ๋อตุง และปัจจุบันหวางก็ยังติดต่อสัมพันธ์กับกลุ่มผู้นำของจีนอยู่
นายกรัฐมนตรีจ้าว จื่อ หยาง ของจีนได้อนุญาตให้หวางเข้ามาดำเนินธุรกิจในฮ่องกง
สำหรับหวางแล้วบริษัท EVERBRIGHT ก็คือบริษัทที่ดำเนินธุรกิจประเภทและทุกระดับแบบเดียวกับกลุ่มบริษัทของญี่ปุ่น
และที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ดูเหมือนว่า EVERBRIGHT จะมีเงินลงทุนชนิดไม่จำกัด แม้ว่าจะไม่เป็นที่เปิดเผยถึงจำนวนที่แท้จริง
หวางผู้ชอบแต่งกายพิถีพิถันแบบนักธุรกิจชั้นสูง ใช้นาฬิกาโรเล็กซ์เรือนทอง และไปไหนต่อไหนทั่วฮ่องกงด้วยเมอร์ซิเดสเบนซ์พร้อมคนขับ ได้กล่าวไว้ว่า “เมื่อคุณพบผู้หญิงโปรดอย่าถามเธอเรื่องอายุ และเมื่อพบผู้ชายอย่าถามถึงเงินในกระเป๋าของเขา “บริษัท EVERBRIGHT ทำธุรกิจร่วมกับกลุ่มนักลงทุนชาวจีนรุ่นเก่าในจีนแต่ก็ยังลงทุนร่วมกับธนาคารแห่งประเทศจีน ซึ่งเป็นของรัฐบาลจีนอีกด้วย
แน่นอนรัฐบาลจีนให้การสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของหวางก็เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามที่จะโฆษณาชวนเชื่อให้เกิดความมั่นใจในการดำเนินธุรกิจของหวางจนเป็นผลดีนั้นเกิดขึ้นจากสัญชาตญาณส่วนตัวของเขาเองมากกว่า
ฝ่ายบริหารของจีนได้เคยส่งหวางเข้าคุกอยู่ 8 ปี ในช่วงที่มีการปฏิวัติวัฒนธรรมของจีนโดยฝ่ายซ้ายตกขอบ และภายหลังรัฐบาลจีนมีความประสงค์ที่จะได้นักลงทุนสัก 2–3 คน จึงได้จัดการส่งหวางไปยังเทียนสินในฐานะรองนายกเทศมนตรีเพื่อจัดการสะสางปัญหาทางเศรษฐกิจของเมืองนั้น และเขาก็ทำได้สำเร็จ
หวางดำเนินธุรกิจในฮ่องกงอย่างมากมาย แต่ไม่ค่อยจะได้เงินมากนัก เช่น ซื้ออาคารชุดไว้ 8 หลังด้วยเงินจำนวน 128 ล้านดอลลาร์ แต่เขาก็ไม่สามารถหาผลประโยชน์ให้กับการลงทุนนี้เป็นเวลาหลายปีเมื่อตอนที่เขาคิดที่จะขายตึกนี้ต่อ
“ผมเคยบอกกับจอห์น คอนแนลี่ อดีต รมต. การคลังสหรัฐฯ ว่าทุกอย่างที่นี่ถึงจุดต่ำสุดแล้ว เป็นเวลาเหมาะที่สุดที่จะลงทุนซื้อเอาไว้” และโดยอาศัยฮ่องกงซึ่งเป็นจุดรวมของธุรกิจทุกสาขาในโลก หวางจึงสามารถทำหน้าที่เป็นนายหน้าซื้อขายให้กับจีน บริษัทของเขาได้จัดการรื้อรถทรัคขนาดหนักใช้แล้วของเมอร์ซิเดสจำนวน 1,500 คันจากบริษัทที่ล้มละลายแห่งหนึ่งในชิลี “ช่วยประหยัดเงินให้กับจีนได้จำนวนมหาศาล” เขากล่าว และบริษัทของเขาก็ได้ค่านายหน้าสำหรับการติดต่อซื้อขายครั้งนี้
ขณะนี้หวางกำลังเตรียมเจรจาทุนกัน บริษัทเบอร์โรห์ เพื่อผลิตไมโครคอมพิวเตอร์ทั้งในฮ่องกงและจีน เขาได้ติดต่อบริษัทอเมริกันให้ซื้อขายสินค้ากับลูกค้าในประเทศจีน ซึ่งในที่สุดก็ได้ซื้อคอมพิวเตอร์เป็นจำนวน 300 กว่าเครื่อง ขั้นต่อไปก็คือการผลิตคอมพิวเตอร์รุ่น BURROUGHS - 20 ในจีน และรุ่น B – 25 ซึ่งมีการลงทุนร่วมกันครั้งที่ใหญ่ที่สุดระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในอุตสาหกรรมผลิตคอมพิวเตอร์”
นักประชาสัมพันธ์ตนเองผู้สามารถนี้ได้กล่าวว่า “ทุกธนาคารให้ความเชื่อถือผม” เท่าที่ผ่านมาเขาไม่เคยกู้ยืมเงินจากธนาคารใดเลยในการดำเนินธุรกิจตามโครงการต่างๆ ของเขา แต่นายธนาคารหลายต่อหลายคนต้องการรู้จักและติดต่อธุรกิจกับเขา “ความเชื่อถือคือเงินชนิดหนึ่ง” หวางกล่าว
หวางยอมรับว่านักธุรกิจชาวฮ่องกงหลายคนยังสงสัยในคำมั่นสัญญาของจีนที่จะปล่อยให้ฮ่องกงเลือกวิถีทางดำเนินธุรกิจโดยไม่เข้าเกี่ยวข้อง “เพื่อนผมคนหนึ่งบอกว่าทุกวันนี้ทรัพย์สินของฝ่ายที่ไม่เชื่อในคำมั่นสัญญาของคอมมิวนิสต์ได้ถูกเปลี่ยนมือไปอยู่กับฝ่ายที่ยอมรับนับถือในคำมั่นสัญญาของคอมมิวนิสต์” หวางกล่าว “และเขาก็พูดถูกเสียด้วย”
ฮ่องกงจะมีความลำบากน้อยลงกว่านี้ในการเชื่อถือในคำมั่นสัญญาของคอมมิวนิสต์ถ้าคนส่วนใหญ่พูดเช่นเดียวกับหวาง
อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้แม้แต่ผู้ที่ไม่มีความเชื่อมั่น ก็ยังหวังที่จะเห็นปีทองแห่งความรุ่งโรจน์ของฮ่องกงหลังการให้สัตยาบันในสนธิสัญญามอบโอนฮ่องกงระหว่างอังกฤษและจีน ซึ่งจะได้เห็นในไม่ช้านี้
|
|
|
|
|