ถ้าจะวัดว่ารายการซื้อหรือเช่าคอมพิวเตอร์ของใครยิ่งใหญ่และน่าสนใจที่สุดในรอบปี 2526 ที่ผ่านมานี้แล้ว การประกวดเช่าราคาเช่าเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมเครื่องเตรียมข้อมูลอีกจำนวน 300 ยูนิตของกรมการปกครอง ซึ่งจะนำไปใช้ในโครงการจัดทำเลขบัตรประจำตัวประชาชน ก็คงต้องติดอันดับหนึ่งไม่มีปัญหา ทั้งนี้โดยอาจจะวัดได้จากมูลค่าการเช่าที่รวมทั้งหมดแล้วตกกว่า 100 ล้านบาท และวิธีการตัดสินที่แปลกแหวกแนวกว่าหน่วยราชการอื่นๆ เคยถือปฏิบัติมานั่นเอง
การประกวดราคารายนี้เริ่มต้นโดยเปิดขายซองและระเบียบการพร้อมทั้งยื่นซองเมื่อราวปลายเดือนตุลาคม 2526 มีบริษัทขายคอมพิวเตอร์สนใจเข้าแข่ง 10 บริษัทด้วยกันคือ
1. บริษัทไซเบอร์เนติคส์ ยื่นเสนอเครื่องเตรียมข้อมูล (DATA ENTRY) ยี่ห้อ PERTEC โดดๆ
2. บริษัทซัมมิทคอมพิวเตอร์ ยื่นเสนอระบบเครื่องคอมพิวเตอร์ยี่ห้อ SPERRY (UNIVAC)
3. บริษัทดาต้าแมท ยื่นเสนอทั้งระบบเครื่องคอมพิวเตอร์และเครื่องเตรียมข้อมูลยี่ห้อ NEC
4. บริษัทดิจิตัล อินฟอร์เมชั่น เอสโซซิเอดส์ ยื่นเสนอเครื่องเตรียมข้อมูลยี่ห้อ PRIME
5. บริษัทคอนโทรลเดต้า (ประเทศไทย) ยื่นเสนอระบบเครื่องคอมพิวเตอร์ยี่ห้อ CDC และเครื่องเตรียมข้อมูลยี่ห้อ ELBIT
6. บริษัทบางกอกเดต้าเซ็นเตอร์ ยื่นเสนอระบบเครื่องคอมพิวเตอร์ยี่ห้อ VAX
7. บริษัทชินวัตร คอมพิวเตอร์ ยื่นเสนอระบบเครื่องคอมพิวเตอร์และเครื่องเตรียมข้อมูลยี่ห้อ IBM
8. บริษัทไอบีเอ็มประเทศไทย ยื่นเสนอระบบเครื่องคอมพิวเตอร์และเครื่องเตรียมข้อมูลยี่ห้อ IBM
9. บริษัทยิบอินซอย ยื่นเสนอระบบเครื่องคอมพิวเตอร์ยี่ห้อ BURROUGHS
10. บริษัทล็อกซเล่ย์ ยื่นเสนอระบบเครื่องคอมพิวเตอร์และเครื่องเตรียมข้อมูลยี่ห้อ PERKIN ELMER
รายงานข่าวกล่าวว่า เนื่องจากตามสเป็กที่กรมการปกครองระบุไว้นั้น ระบบเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ต้องการจะเป็นเครื่อง “เมนเฟรม” ขนาดใหญ่โตมโหฬาร ดังนั้นแทบทุกบริษัทจึงเสนอผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ที่ใหญ่กว่าทุกเครื่องที่มีติดตั้งอยู่แล้วในเมืองไทยทั้งนั้น แต่ถ้าจะถามว่าในระหว่างที่ผลการตัดสินยังไม่ปรากฏออกมาบริษัทใดดูน่าเกรงขามสำหรับคู่แข่งมากที่สุดแล้ว คำตอบก็คงจะเป็น ไอบีเอ็มกับชินวัตรคอมพิวเตอร์ ซึ่งเสนอเครื่องไอบีเอ็มรุ่นเดียวกัน ตัว PROPOSAL ที่ยื่นไปพร้อมซองราคาก็มีความหนาระดับเดียวกันพอดิบพอดี
สาเหตุที่บรรดาคู่แข่งซึ่งเข้าร่วมมหกรรมใหญ่ระดับ “งานช้าง” ครั้งนี้กลัวไอบีเอ็มกับชินวัตรคอมพิวเตอร์ ก็ไม่ใช่อะไร เป็นเพราะคู่แข่งเหล่านี้เคยเจอทีเด็ดจากคราวการรถไฟเปิดประกวดราคาเช่าคอมพิวเตอร์มาก่อนหน้านั้นสดๆ ร้อนๆ นั่นแหละ
ที่การรถไฟก็เหมือนกันๆ กับกรมการปกครอง กล่าวคือไอบีเอ็มเสนอเครื่องของไอบีเอ็มแล้วก็มีชินวัตรคอมพิวเตอร์เสนอเครื่องไอบีเอ็มรุ่นเดียวกัน และผลการตัดสินก็ออกมาโดยชินวัตรเป็นฝ่ายชนะไปด้วยราคาเช่าที่เสนอต่ำกว่าไอบีเอ็มครึ่งหนึ่ง ทั้งๆ ที่เป็นเครื่องรุ่นเดียวกันแท้ๆ
เมื่อผลออกมาเช่นนั้น คู่แข่งก็เริ่มจับทางและเข้าใจได้ไม่ยากว่า การมีบริษัท “นายหน้า” ของไอบีเอ็มก่อให้เกิดสถานการณ์เยี่ยงใดติดตามมา เพราะฉะนั้น เมื่อไอบีเอ็มยังเดินแผนเดิมอีกครั้งโดยเอาบริษัท “นายหน้า” อย่างชินวัตรคอมพิวเตอร์เสนอประกบพร้อมไปกับไอบีเอ็ม คู่แข่งก็ต้องใจหายใจคว่ำเป็นธรรมดา
แต่ดูเหมือนคู่แข่งหลายรายของไอบีเอ็มยังโชคดี การตัดสินรอบแรกโดยพิจารณาเฉพาะว่าสเป็กตรงกับที่กำหนดหรือไม่ และเงื่อนไขตรงไหม ทั้งไอบีเอ็มและชินวัตรพร้อมกับอีก 2 บริษัทไม่ผ่าน ต้องตกในรอบแรกไปอย่างน่าเสียดาย ที่เหลืออีก 6 บริษัท มี ซัมมิทคอมพิวเตอร์, ดิจิตัล อินฟอร์เมชั่นฯ, คอนโทรลเดต้า (ประเทศไทย), บางกอกเดต้าเซ็นเตอร์, ยิบอินซอย และล็อกซเล่ย์ คงลุ้นกันต่อไป
หากจะแบ่งกันจริงๆ แล้วจาก 6 บริษัทที่เหลือเนื่องจากบางบริษัทก็เสนอทั้งระบบเครื่องคอมพิวเตอร์อย่างเดียวหรือเครื่องเตรียมข้อมูลโดดๆ และมี 2 บริษัทที่เสนอไปควบ ก็คงจับแยกออกมาให้เห็นชัดเจนขึ้นได้คือ ระบบเครื่องคอมพิวเตอร์นั้นจะต้องแข่งกัน 5 ยี่ห้อ ได้แก่ยี่ห้อ SPERRY ของซัมมิทคอมพิวเตอร์ ยี่ห้อ CDC ของคอนโทรลเดต้าประเทศไทย ยี่ห้อ BURROUGHS ของยิบอินซอย ยี่ห้อ VAX ของบางกอกเดต้าเซ็นเตอร์ และยี่ห้อ PERKIN ELMER ของล็อกซเล่ย์ ส่วนเครื่องเตรียมข้อมูลแข่งกันระหว่าง 3 ยี่ห้อ คือ ยี่ห้อ PRIME ของดิจิตัล อินฟอร์เมชั่นฯ ยี่ห้อ ELBIT ของคอนโทรลเดต้า และยี่ห้อ PERKIN ELMER ของล็อกซเล่ย์ เท่านั้น
กล่าวสำหรับเครื่องเตรียมข้อมูลแล้วยี่ห้อ PRIME กับ ELBIT ดูจะได้เปรียบกว่า PERKIN ELMER เพราะบริษัทคอนโทรลเดต้ากับบริษัทดิจิตัล อินฟอร์เมชั่นย่อมมิใช่อื่นไกล เป็นกลุ่มเดียวกันอยู่แล้ว
ต่อมาในช่วงต้นเดือนมกราคม 2527 การเปิดซองราคาก็เกิดขึ้น ต่อไปนี้คือราคาค่าเช่าระยะเวลา 4 ปีที่แต่ละบริษัทเสนอแยกตามระบบเครื่องคอมพิวเตอร์และเครื่องเตรียมข้อมูลเรียงลำดับจากราคาต่ำสุดมาถึงสูงสุด
อันดับหนึ่ง-ยี่ห้อ VAX รวมค่าเช่าและค่า “วันไทม์ชาร์จ” ซึ่งจะต้องจ่ายทันทีที่เครื่องเดินทางมาถึงเป็นเงิน 66,598,515 บาท
อันดับสอง-ยี่ห้อ BURROUGHS รวมค่าเช่าและค่า “วันไทม์ชาร์จ” 69,073,882 บาท
อันดับสาม-ยี่ห้อ SPERRY รวมค่าเช่าและค่า “วันไทม์ชาร์จ” 71,700,430 บาท
อันดับสี่-ยี่ห้อ CDC รวมค่าเช่าและค่า “วันไทม์ชาร์จ” 90,169,095 บาท
อันดับห้า-ยี่ห้อ SPERRY รวมค่าเช่าและค่า “วันไทม์ชาร์จ” 94,168,890 บาท
อันดับหก-ยี่ห้อ PERKIN ELMER รวมค่าเช่าและค่า “วันไทม์ชาร์จ” 124,191, 344 บาท
สำหรับยี่ห้อ SPERRY ของซัมมิทคอมพิวเตอร์ที่ติดอันดับสามและอันดับห้าด้วยนั้นก็เพราะเสนอเครื่องไปให้พิจารณา 2 รุ่น
ส่วนด้านเครื่องเตรียมข้อมูลราคาที่ออกมาก็คือ
อันดับหนึ่ง-ยี่ห้อ ELBIT รวมค่าเช่าและค่า “วันไทม์ชาร์จ” 53,072,775 บาท
อันดับสอง-ยี่ห้อ PRIME รวมค่าเช่าและค่า “วันไทม์ชาร์จ” 76,601,950 บาท
อันดับสาม-ยี่ห้อ PERKIN ELMER รวมค่าเช่าและค่า “วันไทม์ชาร์จ” 93,353,370 บาท
เมื่อหงายราคาของแต่ละยี่ห้อที่ทั้ง 6 บริษัทเสนอแล้ว ก็อย่าเพิ่งด่วนลงความเห็นว่ายี่ห้อที่อยู่ในอันดับหนึ่งในฐานะผู้เสนอราคาต่ำสุดจะต้องเป็นผู้ชนะ เนื่องจากได้บอกตั้งแต่ตอนต้นแล้วว่า วิธีการตัดสินของคณะกรรมการกรมการปกครองได้ดำเนินการนั้นแปลกแหวกแนวไปจากหน่วยราชการอื่นๆ และแม้แต่คนแพ้ก็ยอมรับว่ามีเหตุมีผล น่าจะเป็นแบบอย่างในการตัดสินการประกวดราคาของหน่วยราชการในครั้งต่อๆ ไปด้วยซ้ำ
วิธีตัดสินที่ว่านี้ก็คือ แทนที่จะใช้ราคาเป็นตัวตัดสินชี้ขาดซึ่งหลายหน่วยงานเคยเจอปัญหาเพราะคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ที่มีเทคโนโลยีซับซ้อน ดังนั้นเครื่องที่มีคุณภาพราคาก็มักจะสูงกว่าเครื่องที่คุณภาพต่ำกว่า การใช้ราคาเป็นเครื่องวัดจึงมักต้องปวดหัวในภายหลังอยู่ร่ำไป แต่ครั้นจะเอาพวกราคาสูงก็จะมีหลักประกันหรือมีเหตุมีผลที่จะแสดงออกมาอย่างชัดแจ้งเปิดเผยได้อย่างไร เพื่อป้องกันข้อครหา สำหรับสิ่งที่กรมการปกครองดำเนินการก็คือ การตัดสินด้วยวิธีการให้คะแนนโดยแบ่งเป็นหลักเกณฑ์ 4 ข้อ ยี่ห้อใดได้คะแนนสูงสุดก็เป็นผู้ชนะไป
คะแนนเต็มที่มีให้นั้นวางไว้ 100 แต้ม แบ่งเป็นหลักเกณฑ์ละ 25 แต้ม โดยแต่ละหลักเกณฑ์ที่ว่านี้ก็คือ
1. ประสิทธิภาพของเครื่องและคุณลักษณะของเครื่องตามที่กำหนด 25 แต้ม
2. ความเหมาะสมของระบบเครื่องและคุณลักษณะเฉพาะของเครื่องที่เสนอต่อระบบงานของโครงการและแผนดำเนินงาน ซึ่งแสดงความพร้อมของบริษัทผู้เสนอราคาที่จะเข้ามาดำเนินงานตามโครงการ 25 แต้ม
3. ความสามารถของบริษัทผู้เสนอราคาในการให้การสนับสนุนการใช้เครื่องและวิชาการเพื่อให้สามารถดำเนินงานตามโครงการจนบรรลุหลักการและวัตถุประสงค์บวกกับข้อเสนอพิเศษทางเทคนิคที่เพิ่มประสิทธิภาพความเหมาะสมและความสอดคล้องกับการดำเนินโครงการทั้งในปัจจุบันและการขยายงานในอนาคต 25 แต้ม
4. ราคาที่เสนอ 25 แต้ม
ปรากฏว่าวิธีการตัดสินเช่นนี้ สำหรับเครื่องเตรียมข้อมูลแล้วเครื่องยี่ห้อ ELBIT ของคอนโทรลเดต้าชนะไปอย่างขาดลอย ส่วนระบบเครื่องคอมพิวเตอร์คะแนนที่ออกมาคือ
- ยี่ห้อ PERKIN ELMER ของล็อกซเล่ย์ได้ 41 แต้ม
- ยี่ห้อ BURROUGHS ของยิบอินซอยได้ 61 แต้ม
- ยี่ห้อ VAX ของบางกอกเดต้าเซ็นเตอร์ได้ 64 แต้ม
- ยี่ห้อ SPERRY ของซัมมิทคอมพิวเตอร์ได้ 66 แต้ม (กรรมการเลือกพิจารณาเฉพาะระบบเครื่องที่เสนอราคาอยู่ในอันดับที่ห้าไม่พิจารณาราคาในอันดับที่สาม)
- ยี่ห้อ CDC ของคอนโทรลเดต้าได้ 76 คะแนน
เป็นอันว่า คอนโทรลเดต้า ชนะควบทั้ง 2 รายการ คว้าเงินรางวัลไปครองรวมแล้วเป็นเงินเท่าไรก็ลองเอาราคาระบบเครื่องคอมพิวเตอร์บวกกับเครื่องเตรียมข้อมูลดูเองก็แล้วกัน
|