|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กุมภาพันธ์ 2527
|
|
การนำคอมพิวเตอร์มาวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจและการเมือง อันเนื่องมาจากการดำริจะทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง (เช่น การระดมทุนเพื่อพัฒนาก๊าซธรรมชาติ หรือน้ำมันดิบ การขึ้นหรือการลดราคาน้ำมัน ฯลฯ) นั้นมีผู้ให้ความสนใจและได้ลงมือวิเคราะห์ศึกษามานานพอสมควร
ในเมืองไทยก็มีศูนย์คอมพิวเตอร์ของภาคเอกชนและสถาบันบางแห่งที่มีเครื่องอำนวยความสะดวก ในเรื่องเช่นนี้คือ มีโปรแกรมไว้ให้ใช้ในเรื่องนี้โดยเฉพาะ เช่น โปรแกรมที่ชื่อว่า “DYNAMO” (Dynamic Modelling) ฯลฯ ซึ่งใช้ศึกษาความเป็นไปของทั้งระบบที่ประกอบด้วยปัจจัยต่างๆ (เช่น ผลตอบแทนการลงทุน ราคาสินค้า ค่าใช้จ่ายในการผลิต ความต้องการของผู้บริโภค ฯลฯ) อันประกอบด้วยส่วนที่เป็นตัวแปรค่าและส่วนที่เป็นข้อมูลของระบบนั้นๆ โดยสามารถให้ผลของการคำนวณออกมาว่า ในทุกๆ ขณะที่ผ่านไปนับจากจุดเริ่มต้น ปัจจัยต่างๆ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นระบบจะแปรเปลี่ยนไปในรูปใดบ้าง เพราะถือว่าปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวต่างก็มีโอกาสเปลี่ยนแปลงเกิดดับเมื่อเวลาผ่านไปทั้งสิ้น
การวิเคราะห์เตรียมการเช่นนี้ช่วยให้ผู้บริหารหรือผู้กำหนดนโยบายสามารถสร้างมโนภาพล่วงหน้าว่า ถ้าจะดำเนินนโยบายในลักษณะใดลักษณะหนึ่งแล้วจะมีผลอย่างไรตามมาบ้าง และมากน้อยเพียงใดในแต่ละช่วงเวลาที่ผ่านไป โดยจะมองให้ไกลออกไปสักกี่เดือนกี่ปีก็ได้ ทั้งนี้จะต้องยึดประโยชน์ของชาติบ้างไม่มากก็น้อย การเตรียมการชนิดที่มองคลุมไปทั้งระบบซึ่งสมบูรณ์ด้วยปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่างๆ เช่นนี้ น่าจะมีที่ใช้ในภาครัฐและเอกชนมากขึ้น เพื่อจะได้เผชิญกับสภาพการทางการค้าและการเมือง (ที่ไม่แน่ใจว่าจะมีเสถียรภาพ) ได้อย่างมั่นใจ
การนำ dynamic modeling มาใช้วิเคราะห์เพื่อเตรียมการลงทุนหรือการกระทำอันจะมีผลกระทบกับทรัพยากร (ธรรมชาติ เงินลงทุน การสร้างงาน ฯลฯ) หรือสิ่งเกี่ยวข้องในวงแคบ เรื่อยไปจนถึงการสร้างหนี้สินของประเทศและปากท้องของประชาชนนั้น เป็นการนำคอมพิวเตอร์มาใช้ร่วมกับหลักวิชาที่ให้คุณอย่างอนันต์ ในแง่ของการเพาะความสำนึกรับผิดชอบ จึงมีผู้ให้ความสนใจมากพอสมควร และมีหลักฐานการค้นคว้าครอบคลุมไปเกือบทุกสาขาแขนงของธุรกิจการค้า รวมไปถึงกิจกรรมอันใดที่สามารถนำหลักของวัฏจักรวงจร (loop) เข้ามาใช้ได้
การพบทรัพยากรธรรมชาติที่เข้าใจว่าจะมีคุณกับระบบเศรษฐกิจของประเทศ เป็นเพียงการเริ่มต้นที่ต้องมีพื้นฐานเตรียมการในการค้า การใช้ประโยชน์ การหามาตรการสงวนทรัพยากร เรื่อยไปจนถึงการเจรจาต่อรองต่างๆ ที่จะมีตามมานับไม่ถ้วน ให้พรักพร้อมไว้ในเวลาอันสั้น คือพยายามให้ทรัพยากรเป็นทาสของเราโดยไม่หลงพาตนให้เป็นทาสของทรัพยากร
เราอาจจะแสวงหาสัจธรรมในเรื่องดังกล่าวโดยอาศัย dynamic modeling เป็นจุดเริ่มต้น เพราะทรัพยากรเช่น ก๊าซธรรมชาตินั้นก็เหมือนวัตถุของเศรษฐกิจที่ต้องการความระมัดระวังในทุกขั้นตอนก่อนลงทุนดำเนินการ เพราะมีผลได้เสียแฝงอยู่ทุกอย่างก้าว
การนำ system dynamic เข้ามาใช้อรรถาธิบายสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการลงทุนค้นหาก๊าซธรรมชาติมักเริ่มจากคำถามใหญ่ๆ เช่น:-
1. เหตุจูงใจในด้านการตลาดที่มีผลให้เกิดการขวนขวายเสาะหาทรัพยากรพลังงานนั้นมีอะไรบ้าง?
2. ถ้าหากทรัพยากรเช่นว่ามีจำกัดและไม่สามารถแปรสภาพให้เกิดขึ้นมาทดแทนส่วนที่ใช้หมดไปได้แล้ว ต้องตัดสินใจให้ได้ว่าจะยึดเป้าหมายระยะสั้นหรือระยะยาว จึงจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด กล่าวคือจะยึดอัตราการใช้สอย (usage rate) ที่ฮวบฮาบรวดเร็วแล้วให้ก๊าซหมดไปในเวลาอันสั้น หรือจะค่อยๆ ใช้ให้สอดคล้องกับกิจกรรมพลังงานด้านอื่นๆ ให้พอสำหรับระยะยาวและ
3. นโยบายของรัฐในด้านการกำหนดเพดานราคา (price ceiling) และการเรียกเก็บภาษีที่ชักจูงการลงทุนนั้นจะมีผลกับการมีก๊าซให้ประชาชนใช้ในระยะสั้นและระยะยาวได้สักแค่ไหน? และเกิดผลดีหรือร้ายอย่างไรบ้าง?
ในแต่ละกรณีการตอบคำถามทั้งสามข้อดังกล่าว ให้ได้แน่นแฟ้นมีน้ำหนักและปราศจากความกำกวมเลื่อนลอย ต้องอาศัยข้อมูลพอสมควรมาผสมผสานกับ system dynamic ข้อมูลหรือปัจจัยที่ต้องพิจารณาก็มี :-
1.การหาปริมาณธรรมชาติอย่างคร่าวๆในขั้นต้น
2.ค่าใช้จ่ายในการสำรวจ
3.ค่าลงทุนเพื่อผลิต
4.ราคาขายและรายได้ทั้งหมด
5.ปริมาณที่มั่นใจว่ามีอยู่แน่ (proven reserves) และ
6.ความต้องการของตลาดกับอัตราการใช้ การเก็บรวบรวม และแยกแยะข้อมูลดังกล่าว ให้อยู่ในรูปที่จะเป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์วางแผนขั้นต่อๆ ไปนั้น เป็นที่ทราบกันว่าจำเป็นมากตราบเท่าที่คิดจะทำกิจการระดับพันหรือหมื่นล้านให้เกิดมรรคผลสมกับเป็นมรดกที่ได้สั่งสมไว้นับล้านปี
การนำ system dynamic มาสร้างแบบจำลองของทั้งระบบการลงทุนเพื่อผลิตก๊าซธรรมชาติทำให้เราสามารถทำการทดสอบผลอันอาจเกิดจากการกำหนดนโยบายในรูปต่างๆ ได้ โดยอาศัยคอมพิวเตอร์มาคำนวณ จำลองความเป็นไปทางธุรกิจและธรณีวิทยา แล้วให้คำตอบออกมาเป็นตัวเลขหรือเส้นกราฟต่างๆ ในแต่ละจุดของเวลาที่ผ่านไปจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง และด้วยความรุนแรงรวดเร็วแค่ไหน?
การนำคอมพิวเตอร์มาคำนวณเพื่อทราบความเป็นไปในการลงทุนเพื่อผลิตก๊าซธรรมชาตินั้น เริ่มต้นด้วยการเขียนรูปเพื่อแสดงว่าระบบการลงทุนและการผลิตมีปัจจัยอะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง
รูปที่ 1 แสดงปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนเพื่อพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติ ปัจจัยส่งอิทธิพลผลดีผลร้ายต่อกันและกัน ดังแสดงไว้ในรูปที่ 1 อันถือได้ว่าเป็นแบบจำลองขั้นต้น ก่อนที่จะนำไปใช้เป็นแนวทางในการเขียนเป็นคำสั่งให้คอมพิวเตอร์ประมวลผลโดยใช้ “DYNAMO”
วงจรที่ 1 ของรูปที่ 1 เชื่อมโยงปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ยังไม่แน่ใจเข้ากับค่าใช้จ่ายในการสำรวจและอัตราการพบก๊าซเข้าเป็นวงจรเล็กๆ ที่มีความหมายว่า เมื่อปริมาณที่ยังไม่แน่ใจค่อยๆ ลดลง ก็จะไปทำให้ค่าใช้จ่ายในการสำรวจสูงขึ้น เพราะโอกาสที่จะพบทรัพยากรในแต่ละครั้งของการเจาะสำรวจจะมีน้อยลงกว่าแต่ก่อน ตลอดจนผู้สำรวจต้องใช้ความพยายามมากขึ้นกว่าจะมีโอกาสเข้าถึงแหล่งก๊าซใหม่ๆ เมื่อค่าใช้จ่ายในการสำรวจสูงขึ้น อัตราการพบก๊าซก็ลดลง มีผลหน่วงเหนี่ยวทำให้การลดลงของปริมาณก๊าซที่ยังไม่แน่ใจพลอยช้าตามไปด้วย ค่าใช้จ่ายในการสำรวจที่สูงขึ้นทำให้ค่าใช้จ่ายทั้งหมด (ต่อหน่วย) เพิ่มขึ้น ซึ่งจะไปทำให้ผลตอบแทนการลงทุนลดลง อันจะมีผลทำให้การลงทุนเจาะสำรวจลดลงไป ทั้งหมดนี้เป็นความสัมพันธ์ของปัจจัยต่างๆ ในวงจรที่ 1 ซึ่งอยู่ทางซีกซ้ายของรูปที่ 1
ส่วนวงจรที่ 2 ซึ่งอยู่ทางซีกขวาของรูปที่ 1 นั้นแสดงความสัมพันธ์ของปัจจัยต่างๆ ที่เน้นในด้านความต้องการของตลาดโดยเชื่อมโยงเอาปริมาณก๊าซธรรมชาติที่แน่ใจเข้ากับราคาในตลาด ความต้องการใช้ก๊าซ และอัตราการใช้ ความสามารถเพิ่มปริมาณที่แน่ใจได้จะเท่ากับความสามารถเพิ่มอัตราส่วนของปริมาณสำรองต่อการผลิต อันจะทำให้ราคาลดลง ราคาที่ลดลงจะทำให้ปริมาณการใช้ก๊าซสูงขึ้น ซึ่งไปทำให้อัตราการใช้สอยสูงขึ้น และในที่สุดก็จะไปทำให้ปริมาณที่แน่ใจ (proven reserves) ลดลงเร็วขึ้น การที่อัตราการใช้เพิ่มขึ้นนั้นมีผลดีในการเพิ่มรายได้จากการขาย ซึ่งจะไปชักจูงให้มีการลงทุนเจาะสำรวจเพิ่มขึ้น ตราบเท่าที่ยังถือว่าธุรกิจส่วนใหญ่มักจัดสรรการลงทุนให้สัมพันธ์กับรายได้ที่สุด
เมื่อบั้นปลายของวัฏจักรของการค้นหาก๊าซธรรมชาติมาถึงการระดมทุนในรูปต่างๆ จำเป็นต้องลดลงเพราะอัตราส่วนของปริมาณสำรองต่อการผลิตลดลงอย่างรวดเร็ว และความหวังที่จะแสวงหาแหล่งใหม่ๆ ก็จะมีประกายให้เห็นได้ริบหรี่มาก
สัจธรรมเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่การมีก๊าซมากหรือน้อย แต่อยู่ที่การยอมรับความจริง เพื่อจะได้เตรียมการในสิ่งที่จะตามมาได้โดยมีความประมาทน้อยที่สุด
สรุปแล้วรูปที่ 1 เป็นเสมือนแผนที่ในการลงทุนขุดเจาะก๊าซธรรมชาติที่คอยรั้งผู้ลงทุนให้พ้นจากหุบเหวของความหายนะ ด้วยการชี้แนะว่าจะต้องนำอะไรเข้ามาพิจารณาบ้าง โดยอาศัยประสบการณ์ทางธุรกิจกับความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์เป็นเครื่องกำหนดว่าควรเชื่อมโยงอะไรเข้าด้วยกัน และเมื่อเชื่อมโยงแล้วจะมีผลต่อกันในรูปใด กล่าวคือ ไปเสริมกันหรือหักล้างกัน การหาความสัมพันธ์เช่นนี้ ถือว่าเป็นประโยชน์ในการหักล้างปัญหามาก เพราะนำเหตุผลมาไล่เลียงจนพอใจ
รายละเอียดที่ปรากฏในรูปที่ 1 นั้นนำไปใช้เป็นแนวทางเพื่อเขียนแผนภาพให้รัดกุมขึ้นไปอีก ก่อนลงมือคำนวณด้วยคอมพิวเตอร์ โดยกำหนดส่วนที่เป็นตัวแปรค่า และส่วนที่เป็นข้อมูลไว้ให้แน่นอนและครบถ้วน นอกจากนี้ยังต้องนำปรากฏการณ์ด้านเศรษฐกิจและเรื่องอันเป็นปกติวิสัย (เช่น ความล่าช้า การเกิดวิกฤตการณ์ ฯลฯ) เข้ามาพิจารณาให้มีความสมบรูณ์แบบ กรรมวิธีในการจัดรูปข้อมูลจนสามารถใช้ร่วมกับ DYNAMO นั้นมีรายละเอียดปลีกย่อยจนไม่สะดวกที่จะนำมากล่าว จึงขอกล่าวแต่เฉพาะคำตอบที่ได้ ไว้เป็นหลักๆ เพื่อใช้เป็นข้อสังเกตอย่างกว้างๆ ต่อไป
สมมุติว่าเราสามารถมีก๊าซธรรมชาติใช้ได้นานราว 50 ปีและขอยืมประสบการณ์ที่ได้จากการคำนวณโดยอาศัยคอมพิวเตอร์โปรแกรมที่เรียกว่า “DYNAMO” มาใช้อธิบายความน่าจะเป็นไปของปัจจัยต่างๆ ในระบบการลงทุนก็จะได้แนวทางดังแสดงไว้ในรูปที่ 2 โดยแยกแสดงเป็น 2 รูปในการคำนวณครั้งเดียว ทั้งนี้เพื่อให้แลเห็นพฤติภาพตัวแปรค่า (ปัจจัย) ต่างๆ ทั้ง 8 ตัวได้ชัดเจน ถ้าจะพิจารณารูปที่ 2 อย่างคร่าวๆ ก็จะเห็นได้ว่าสิ่งต่างๆ ที่ผันแปรไปตามเวลานั้น สามารถใช้สามัญสำนึกหยั่งเอาได้ทั้งนั้น แต่ที่ต้องนำคอมพิวเตอร์มาคำนวณแล้วแสดงผลเป็นเส้นกราฟต่างๆ ก็เพื่อให้ทราบได้ค่อนข้างแน่นอนว่าในแต่ละปีที่ผ่านไปนั้น ปัจจัยแต่ละอันจะมีค่าตัวเลขประมาณเท่าใด เพื่อประโยชน์ในการคาดคะเนที่มีข้อมูลและเหตุผลที่อยู่บนฐานของความจริงเป็นเครื่องสนับสนุน
ประสบการณ์จากการคำนวณที่นำมาแสดงไว้ในรูปที่ 2 นั้นเพียบพร้อมด้วยสารัตถะอันจำเป็นแก่การลงทุน วางแผน หรือกำหนดเป้าหมาย เพื่อให้การใช้ทรัพยากรเป็นประโยชน์แก่ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศได้
System dynamics model จะให้ประโยชน์อย่างอนันต์ เมื่อนำไปใช้อธิบายพฤติภาพของระบบเศรษฐกิจ สังคม หรือการเมือง ในแง่ของการดูผลที่จะเกิดกับธุรกิจการค้าหรือกับคนส่วนใหญ่เมื่อใช้มาตรการหรือกำหนดนโยบายใหม่ๆ นอกจากนี้ยังสามารถจำลองปรากฏการณ์ต่างๆ เช่นสงคราม วิกฤตการณ์ภาวะเงินเฟ้อ ฯลฯ เข้าไว้ในการคำนวณได้หมด ส่วนสำคัญที่สุดของคำตอบที่ได้จาก system dynamics ก็คือ ทิศทาง หรือแนวทางของการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆ ว่าสัมพันธ์กันอย่างไร และการเปลี่ยนแปลงของแต่ละปัจจัยเป็นไปอย่างเชื่องช้าหรือรุนแรงรวดเร็วแค่ไหน?
|
|
|
|
|