ถ้าจะสรุปการเปลี่ยนแปลงในด้านรายละเอียดของพระราชกำหนดหลายๆ มาตราที่สำคัญซึ่งจะมีผลกระทบโดยตรงต่อบริษัทเงินทุน, บริษัทหลักทรัพย์และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์แล้ว ก็จะมีดังนี้ :-
• มาตรา 4 ในเรื่อง “คำนิยาม” การเปลี่ยนแปลงก็คือ (1) เปลี่ยนนิยามคำว่า “หลักทรัพย์” โดยยกเลิกข้อความ “ตั๋วเงินหรือตราสารพาณิชย์อื่นๆ” และเพิ่มเติมข้อความใน (6) ตราสารอื่นใดตามที่กำหนดในกฎกระทรวงข้อนี้จะมีผลทำให้การดำเนินธุรกิจของบริษัทหลักทรัพย์เกี่ยวกับตั๋วเงินหรือตราสารพาณิชย์อื่นๆ กระทำต่อไปไม่ได้ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2526 เป็นต้นไป ต่อมาใน (2) เพิ่มคำนิยามว่า “ผู้จัดการ” และ “สถาบันการเงิน” เข้าไป ผลที่เกิดขึ้นหมายถึง ต่อไปนี้คำว่า “ผู้จัดการ” ให้หมายรวมถึงรองผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการ และผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าและ “สถาบันการเงิน” หมายถึงสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน
• มาตรา 6 ทวิ เรื่องตั้งคณะกรรมการ การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญก็คือ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งทำหน้าที่ให้คำเสนอแนะต่อธนาคารแห่งประเทศไทยในการออกข้อกำหนดและดำเนินมาตรการที่เป็นอำนาจหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ผลจากมาตรานี้บ้างก็ว่าเพื่อให้มีการประสานงานที่ดียิ่งขึ้นระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยกับกระทรวงการคลัง บ้างก็ว่ากระทรวงการคลังเข้ามาก้าวก่ายหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยโดยตรงมากขึ้น...ก็ว่ากันไป
• มาตรา 13 เรื่องการใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจ มีการเปลี่ยนแปลงคือ ห้ามบุคคลใดนอกจากบริษัทเงินทุน (รวมทั้งบริษัทหลักทรัพย์และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ด้วย) ใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อธุรกิจว่า “การลงทุน” หรือ “เครดิต” หรือคำอื่นใดที่มีความหมายเช่นเดียวกัน เว้นแต่ธนาคารพาณิชย์หรือสำนักงานที่ทำการแทนธนาคารต่างประเทศ ผลที่ติดตามมา บุคคลใดนอกจากบริษัทเงินทุน (บริษัทหลักทรัพย์และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์) ที่ใช้ชื่อในธุรกิจว่า “การลงทุน” หรือ “เครดิต” หรือคำอื่นที่มีความหมายเช่นเดียวกันทั้งในคำภาษาไทยและภาษาต่างประเทศจะต้องแก้ไขให้ถูกต้องตามบทเฉพาะกาลในพระราชกำหนดมาตรา 37 คือภายใน 180 วันนับแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2526 (สำหรับบุคคลใดใช้ชื่อในธุรกิจว่า “เงินทุน” หรือ “การเงิน” หรือ “ทรัสต์” “ไฟแนนซ์” เป็นความผิดมาตรา 13 อยู่แล้ว)
• มาตรา 14, 53 และบทเฉพาะกาล มาตรา 38, 39, 40 เรื่องทุนจดทะเบียนและทุนชำระแล้วของบริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญดังนี้ (1) บริษัทเงินทุนต้องมีทุนจดทะเบียนและทุนซึ่งชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 60 ล้านบาท (2) บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ต้องมีทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท ผลก็คือ บริษัทที่มีทุนจดทะเบียนและทุนซึ่งชำระแล้วไม่ถูกต้อง จะต้องเพิ่มทุนหรือทำให้มีเงินกองทุนไม่ต่ำกว่าจำนวนที่กำหนด นัยหนึ่ง...บริษัทเงินทุน ไม่น้อยกว่า 30, 40, 50 และ 60 ล้านบาทภายใน 1 ปี 2 ปี 3 ปี และ 4 ปีตามลำดับ...ส่วนบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ต้องไม่น้อยกว่า 10, 20 และ 30 ล้านบาทภายใน 1 ปี 2 ปี และ 3 ปีตามลำดับ ถ้ามีเหตุจำเป็นและสมควร รัฐมนตรีคลังจะขยายระยะเวลาโดยมีเงื่อนไขใดๆ ก็ได้
• มาตรา 14 วรรคสองและมาตรา 56 เรื่องบุคคลใดได้รับการยกเว้นให้ถือหุ้นเกินร้อยละ 10 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ การเปลี่ยนแปลงได้ให้ข้อยกเว้นสำหรับหุ้นที่เป็นส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ นิติบุคคลที่มีกฎหมายจัดตั้งเฉพาะหรือผู้ที่ได้รับการผ่อนผันจากธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีคลัง
• มาตรา 20(7) (10) และ (12) เรื่องข้อห้ามมิให้บริษัทเงินทุนกระทำ สิ่งที่เปลี่ยนแปลงและเพิ่มเติมก็คือ
1. เพิ่ม การให้กู้ยืมแก่บุคคลที่ถือเป็นการให้กู้ยืมแก่กรรมการ
2. ห้ามบริษัทเงินทุนรับรอง อาวัลหรือสอดเข้าแก้หน้าที่ในตั๋วเงินที่กรรมการหรือบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง เป็นผู้สั่งจ่ายหรือผู้ออกตั๋วหรือเป็นผู้สลักหลัง
3. การขายหรือให้อสังหาริมทรัพย์ใดๆ หรือสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่ารวมกันสูงกว่า 50,000 บาท หรือซื้อทรัพย์สินจากกรรมการ ต้องได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย
4. บริษัทจะให้บุคคลอื่นมีอำนาจทั้งหมดหรือบางส่วนในการบริหารงานของบริษัทเงินทุนไม่ได้ เว้นแต่ได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย
• ต่อมาใน มาตรา 22, 49 และ 56 เรื่องคุณสมบัติของผู้บริหารบริษัทเงินทุน, บริษัทหลักทรัพย์และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ การเปลี่ยนแปลงก็คือ ประการแรกสุด ธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีอำนาจกำหนดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้บริหารได้ ประการต่อมาข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำหรือพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทยจะเป็นผู้บริหารไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับการแต่งตั้งด้วยความเห็นชอบจากรัฐมนตรีหรือกรณีที่ได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา 57 ทวิ ผล..บริษัทซึ่งดำเนินการอยู่แล้วในวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ จะต้องขอความเห็นชอบในการแต่งตั้งกรรมการ ผู้จัดการหรือพนักงานหรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการหรือที่ปรึกษาบริษัทภายใน 60 วัน โดยคุณสมบัตินี้ประกอบด้วย คุณวุฒิการศึกษาขั้นต่ำ ประสบการณ์ขั้นต่ำ และคุณสมบัติอื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนดซึ่งคาดกันว่าจะมีพนักงานและผู้บริหารให้พิจารณารวมแล้วไม่ต่ำกว่า 3,000 ราย
• มาตรา 22 ทวิ 49 และ 56 เรื่องมาตรฐานการทำบัญชี การเปลี่ยนแปลงคือ บริษัทต้องจัดทำบัญชีแสดงสินทรัพย์และหนี้สินให้ครบถ้วนถูกต้องเป็นปัจจุบันตรงตามความเป็นจริงและบัญชีนั้นให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
• มาตรา 22 ตรี 49 และ 56 เรื่องการรับจ่ายเงิน การทำนิติกรรม การตรวจสอบและการควบคุมภายใน การเปลี่ยนแปลงกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจกำหนดให้บริษัทถือปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องที่กล่าว
• มาตรา 23 วรรคหนึ่งวรรคสองและวรรคสาม มาตรา 49 และมาตรา 56 เรื่องการเปิดเผยข้อมูล หรือประกาศรายการของบริษัทเงินทุนบริษัทหลักทรัพย์และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ การเปลี่ยนแปลงคือ
1. ให้บริษัทส่งงบดุลและบัญชีกำไรขาดทุน ณ วันสิ้นปีธุรกิจที่ผ่านการรับรองของผู้ตรวจสอบบัญชีและได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่แล้วให้แก่รัฐมนตรีและธนาคารแห่งประเทศไทย
บริษัทต้องประกาศรายการหรือเปิดเผยข้อมูลตามหลักเกณฑ์และระยะเวลาที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดพร้อมกับส่งสำเนารายงานให้รัฐมนตรีและธนาคารแห่งประเทศไทยทราบด้วย
• มาตรา 23 วรรคสามวรรคสี่และมาตรา 49 มาตรา 56 เรื่องผู้สอบบัญชีของบริษัทเงินทุนบริษัทหลักทรัพย์และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ 2 ประการคือ
1. ผู้สอบบัญชีต้องรักษามรรยาทและรับรองบัญชีให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยผู้สอบบัญชี รวมทั้งมาตรฐานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดขึ้นเพิ่ม กับเปิดเผยข้อเท็จจริงและแจ้งพฤติการณ์ไว้ในรายการการสอบบัญชีพร้อมกับรายงานธนาคารแห่งประเทศไทยทราบด้วย
2. ผู้สอบบัญชีต้องได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทยทุกรอบปีบัญชี...หมายถึงบริษัทจะต้องขอความเห็นชอบเรื่องตัวผู้สอบบัญชีทุกปีจากธนาคารแห่งประเทศไทยนั่นเอง
• มาตรา 23 ทวิ มาตรา 49 และมาตรา 56 เรื่องการปิดบัญชีกับการตัดสินทรัพย์สูญการกันเงินสำรอง พระราชกำหนดฯ ใหม่ระบุว่า บริษัทต้องปิดบัญชีทุกงวดการบัญชีในรอบระยะเวลา 6 เดือน และต้องตัดสินทรัพย์ที่ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ออกจากบัญชี (หมายถึงหนี้สูญ) พร้อมทั้งกันเงินสำรองสำหรับสินทรัพย์ที่สงสัยจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ (หนี้สงสัยจะสูญ) เว้นแต่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะอนุญาตให้เป็นอย่างอื่น
• มาตรา 26 ทวิ มาตรา 56 และมาตรา 65 ทวิ เรื่องกำหนดให้บริษัทที่มีผลขาดทุนมาก แก้ไขฐานะและการดำเนินงาน ผลจากการเปลี่ยนแปลงตามพระราชกำหนดฯ คือ
1. บริษัทที่ขาดทุนจนเงินกองทุนลดลงเหลือ 3 ใน 4 ของทุนชำระแล้ว ห้ามรับเงินจากประชาชนอีกต่อไป เว้นแต่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะให้ความเห็นชอบภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด
2. บริษัทที่ขาดทุนจนเงินกองทุนลดลงเหลือไม่เกินกึ่งหนึ่งของทุนชำระแล้ว ต้องระงับการดำเนินกิจการกับให้เสนอโครงการแก้ไขฐานะการเงินให้ธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาเห็นชอบภายใน 14 วัน หากธนาคารไม่ให้ความเห็นชอบ บริษัทสามารถอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายใน 14 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งการวินิจฉัยโครงการ
ผล...หากบริษัทมิได้เสนอโครงการแก้ไขฐานะภายในกำหนดหรือไม่ปฏิบัติตามโครงการหรือไม่ได้รับความเห็นชอบในโครงการจากธนาคารแห่งประเทศไทยให้บริษัทเป็นอันเลิกบริษัทจำกัดและถือว่าใบอนุญาตของบริษัทถูกเพิกถอน
• มาตรา 26 ตรีและมาตรา 56 เรื่องการหยุดทำการจ่ายของบริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น...หากบริษัทที่หยุดจ่ายเงินที่ต้องชำระคืนต้องแจ้งให้รัฐมนตรีและธนาคารแห่งประเทศไทยทราบทันที และห้ามดำเนินการใดๆ เว้นแต่รัฐมนตรีอนุญาต อีกทั้งให้ส่งรายงานแสดงผลภายใน 7 วัน ผลจากมาตราเหล่านี้ รัฐมนตรี (คลัง) มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานไปสอบสวนและมีอำนาจสั่งการตามที่เห็นสมควร รวมทั้งสั่งควบคุมบริษัทหรือเพิกถอนในอนุญาต
• มาตรา 29 และมาตรา 56 เรื่องการดำรงเงินกองทุนจดทะเบียนและเงินทุนซึ่งชำระแล้วเป็นสินทรัพย์ที่กำหนด การเปลี่ยนแปลงระบุให้ธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรี อาจกำหนดให้บริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ดำรงเงินทุนจดทะเบียนและเงินทุนซึ่งชำระแล้วเป็นสินทรัพย์ตามชนิดวิธีการ และเงื่อนไขได้ กล่าวคือ...ทุนที่มีอยู่ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถกำหนดว่าจะต้องดำรงอยู่ในสินทรัพย์ประเภทใดบ้าง…
• มาตรา 35 วรรคสองและมาตรา 56 เรื่องการให้กู้ยืมแก่ลูกหนี้รายใหญ่ของบริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์…และ มาตรา 35 วรรคสี่ เรื่องจำนวนเงินสูงสุดที่ให้กู้ได้ต้องไม่เกินอัตราส่วนกับทุนหรือเงินกองทุนของผู้กู้ มาตราเหล่านี้เป็นการปรับปรุงข้อความในมาตรา 35(4) ของพระราชบัญญัติเดิม กล่าวคือ ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจกำหนดอัตราส่วนให้กู้ยืมกับทุนหรือเงินกองทุนของผู้กู้ยืมที่เป็นห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัดได้
• มาตรา 57 ทวิ เรื่องการปฏิบัติฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด มีการระบุไว้เพิ่มเติมในพระราชกำหนดฯ คือ
1. ธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีคลัง มีอำนาจถอดถอนกรรมการหรือผู้จัดการเมื่อบริษัทไม่ถอดถอนตามคำสั่งภายใน 14 วันและแต่งตั้งผู้อื่นเข้าบริหารแทนชั่วคราว...หรือให้ถือว่าคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นมติของผู้ถือหุ้น...
2. ห้ามไม่ให้บุคคลที่ถูกถอดถอนเข้าไปเกี่ยวข้องหรือดำเนินการในบริษัท
• มาตรา 68(2) (5) เรื่องอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าตรวจสอบสถานที่อันมีเหตุควรสงสัยว่า มีเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับกิจการของบริษัทและเข้าไปตรวจสอบกิจการของลูกหนี้ของบริษัทได้
|