|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กุมภาพันธ์ 2527
|
|
เมื่อวัดดูความเข้มข้นของมาตรการต่างๆ ที่กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย จัดออกมารับมือสถานการณ์ระส่ำในแวดวงบริษัทการเงินประดามีตั้งแต่ขั้นเบาะๆ จนถึงขั้นเฉียบขาดที่สุด (ในขณะนี้) โดยออกเป็นพระราชกำหนดใหม่แล้ว คำว่า “ลงแส้” สถาบันการเงินย่อมก่อให้เกิดจินตภาพตรงตามความเป็นจริงไม่มีปัญหา
“ผมศึกษาอย่างละเอียดแล้ว คิดว่าหลายบริษัทคงทำตามยาก...” สุนทร อรุณานนท์ชัย แห่งสินเอเซียให้ความเห็น ส่วนสุพล วัฒนเวคิน กรรมการผู้จัดการคนหนุ่มของเกียรตินาคินก็ว่า “โหดไปหน่อย...”
แต่ในความเห็นของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยก็ย่อมต้องบอกว่า “เป็นมาตรการที่จำเป็น...” ตามฟอร์ม
“แน่นอน เราเลือกที่จะอยู่ในระบบแข่งขันเสรี แต่ภายในระบบแข่งขันเสรีนี้ต้องมีกฎระเบียบที่ชัดเจน โดยเฉพาะบรรดาบริษัทการเงินทั้งหลาย เราถือว่าเป็นกิจการที่กระทบกระเทือนถึงความปลอดภัยและความผาสุกของสาธารณชนย่อมจำเป็นอยู่เองที่เราจะต้องเข้มงวดกวดขันมากกว่ากิจการหรือธุรกิจประเภทอื่นๆ...” ไพศาล กุมาล์ยวิสัย ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายของธนาคารแห่งประเทศไทยย้ำด้วยน้ำเสียงหนักแน่น
และนั่นก็คงเป็นสภาพสะท้อนปฏิกิริยาทั้งเชิงบวกและลบที่เกิดขึ้นประปราย...ไม่หนักหน่วงรุนแรง...ภายหลังพระราชกำหนดถูกประกาศใช้ในวันที่ 16 ธันวาคม 2526 เป็นต้นมา ดูเหมือนไม่มีเวลาและเงื่อนไขให้ใครมานั่งร้องโอดโอยอีกต่อไป...มีแต่จะต้องปฏิบัติให้ได้ดีที่สุด มากที่สุด
พระราชกำหนดฉบับดังกล่าว จากคำแถลงของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าวว่า มีสาระสำคัญดังนี้คือ
- เพิ่มโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์หรือธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์โดยไม่ได้รับอนุญาต จากเดิมจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นจำคุกตั้งแต่ 2 ปีถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 2 แสนถึง 5 แสนบาท
- เพิ่มโทษสำหรับผู้บริหารสถาบันการเงินเพื่อให้มีบทกำหนดโทษที่ชัดเจน สำหรับกรณีผู้บริหารสถาบันการเงินที่กระทำความผิดที่ส่อในทางทุจริตหรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ที่พึงกระทำ โดยการบัญญัติองค์ความผิดขึ้นใหม่ เช่น ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ความผิดฐานยักยอก ความผิดฐานเอาไปหรือกระทำให้เสียหายแก่ทรัพย์สินของผู้อื่นที่บริษัทมีหน้าที่ดูแลรักษา ความผิดฐานฉ้อโกงเจ้าหนี้ ความผิดฐานอาศัยตำแหน่งหน้าที่ในสถาบันการเงินกระทำการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ความผิดฐานทำเอกสารหรือบัญชีเพื่อลวงบุคคลอื่น ตลอดจนความผิดสำหรับบุคคลใดๆ ที่มิใช่ผู้บริหารสถาบันการเงินแต่ใช้ให้ผู้บริหารสถาบันการเงินกระทำความผิดดังกล่าวมาข้างต้นทั้งหมด โทษสำหรับองค์ความผิดของผู้บริหารนี้กำหนดให้จำคุกตั้ง 5 ปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5 แสนบาทถึง 1 ล้านบาท
- เพิ่มมาตรการในการกำกับและตรวจสอบของทางการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินให้สูงขึ้น โดย :-
1. เพิ่มอำนาจในการกำหนดมาตรฐาน คุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้บริหารสถาบันการเงิน
2. กำหนดห้ามสถาบันการเงินอาวัลหรือรับรองตั๋วเงินที่กรรมการหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ออก
3. ให้อำนาจสั่งตัดหนี้สูญ หรือกันสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญให้ตรงตามฐานะเป็นจริง
4. กำหนดมาตรฐานทางบัญชี
5. กำหนดมาตรฐานการสอบบัญชี
6. ให้อำนาจที่จะสั่งให้สถาบันการเงินเปิดเผยข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน
7. กำหนดอัตราส่วนการให้กู้แก่ลูกหนี้กับเงินกองทุนของลูกหนี้
8. ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบกิจการของลูกหนี้ของสถาบันการเงินที่เป็นห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัดได้
- เพิ่มเติมมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสถาบันการเงิน เช่น ให้อำนาจทางการเปิดเผยข้อเท็จจริงที่แสดงถึงกิจการ ฐานะหรือการดำเนินงานของสถาบันการเงินที่ใกล้จะมีปัญหาหรือกำลังมีปัญหา สั่งถอนผู้บริหารผู้เป็นต้นเหตุทำให้สถาบันการเงินได้รับความเสียหาย กำหนดห้ามบริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ที่ขาดทุนจนเงินกองทุนลดลงเหลือ 3 ใน 4 ของทุนชำระแล้วรับเงินจากประชาชนอีกต่อไปและถ้าขาดทุนจนเงินกองทุนเหลือ 1 ใน 2 ของทุนชำระแล้ว ต้องระงับการดำเนินกิจการทันทีและต้องเสนอโครงการแก้ไขฐานะและการดำเนินงานเพื่อขอความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทยต่อไป
- และสุดท้ายกำหนดให้มีคณะกรรมการชุดหนึ่ง มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นรองประธาน เพื่อทำหน้าที่ให้คำแนะนำแก่ธนาคารแห่งประเทศไทยในการดำเนินมาตรการต่างๆ ที่เป็นอำนาจหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยตามกฎหมายการประกอบธุรกิจเงินทุนให้เป็นไปอย่างรัดกุมและทันต่อเหตุการณ์
|
|
|
|
|