Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กุมภาพันธ์ 2527








 
นิตยสารผู้จัดการ กุมภาพันธ์ 2527
การประชุมอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้จัดการมีผลงานมากขึ้น             
โดย สุรเดช ไกรนวพันธุ์
 


   
search resources

Knowledge and Theory




การประชุมโดยทั่วไปแล้วเป็นเรื่องน่าเบื่อจนกระทั่งวิทยาลัยธุรกิจแห่งหนึ่งถือว่า เป็นความเลวร้ายของหน้าที่การเป็นผู้จัดการ

ปีเตอร์ ดรักเกอร์ ปรมาจารย์ด้านการบริหารถึงกับเคยกล่าวไว้ว่า ผู้จัดการที่ใช้เวลาเกินกว่า 25 %ให้หมดไปกับการประชุม ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของการจัดองค์กรที่เลว

ข้อเสนอแนะต่อไปนี้จะช่วยท่านจัดการประชุมได้อย่างถูกต้อง ใช้เวลาน้อย และได้ผลมากที่สุด!

การประชุมก็คือสื่อกลางในการปฏิบัติงานด้านการจัดการ

คุณลองคิดดูให้ดีๆ แล้วจะเห็นว่าหน้าที่ส่วนใหญ่ของผู้จัดการในการประชุมก็คือ การให้ข่าวสารข้อมูลและวิธีการดำเนินงานของบริษัทไปยังลูกน้อง ผู้จัดการจะตัดสินใจและช่วยคนอื่นๆ ในการลงมติ งานระดับบริหารที่กล่าวถึงทั้งสองอย่างนี้ พูดง่ายๆ ก็คือเป็นการพบปะกันระหว่างบุคคลหรือการประชุมนั่นเอง

หัวใจสำคัญที่สุดของการประชุมอยู่ที่การใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

มีการประมาณการกันว่าค่าจ้างและค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดอื่นๆ ของบุคคลระดับผู้จัดการ (ในสหรัฐฯ) ตกประมาณชั่วโมงละ 100 ดอลลาร์ หรือประมาณ 2,300 บาท

ดังนั้นการประชุมที่มีคนระดับผู้จัดการจำนวน 10 คน เข้าร่วมประชุมพร้อมกันสักสองชั่วโมง บริษัทก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายถึง 2,000 ดอลลาร์หรือ 46,000 บาท เท่ากับราคาเครื่องถ่ายเอกสารหนึ่งเครื่องหรือตั๋วเครื่องบินเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งต้องขออนุมัติล่วงหน้าจากเจ้าหน้าที่ระดับบริหารชั้นสูง!

แต่ผู้จัดการก็เรียกประชุมเพื่อใช้เงินของบริษัท 2,000 ดอลลาร์ในเพียงชั่วพริบตาเดียวและถ้าหากการประชุมนั้นไม่ใช่เรื่องจำเป็นหรือดำเนินไปอย่างไร้ความหมาย บริษัทก็จะเสียเงิน 2,000 ดอลลาร์ฟรีๆ

เราควรต้องมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของการประชุมเสียก่อน

งานหลักของผู้จัดการในการประชุมที่กล่าวมาข้างต้นมีสองอย่างคือ

หนึ่ง แจ้งข่าวสารข้อมูล และสอง การตัดสินใจ

เราสามารถแยกรายละเอียดของการประชุมออกได้เป็นสองประเภท:

ประเภทแรกเรียกง่ายๆ ว่า การประชุมเพื่อปฏิบัติงาน การประชุมแบบนี้จะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารจากการพบปะกันอย่างต่อเนื่องและมีหมายกำหนดการประชุมเป็นระยะๆ

ประเภทที่สองเรียกว่า การประชุมเพื่อมอบหมายงาน เป็นการประชุมเพื่อแก้ปัญหา จะมีการตั้งคณะกรรมการพิเศษศึกษาเรื่องหนึ่งเรื่องใดโดยเฉพาะและจะประชุมกันเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นเท่านั้น และจำเป็นต้องมีการตัดสินใจทำอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อแก้ปัญหานั้นๆ

การประชุมเพื่อปฏิบัติงานยังแบ่งออกเป็น 3 แบบ คือ

หนึ่ง แบบเดี่ยวต่อเดี่ยว

สอง การประชุมพนักงาน

และสาม การทบทวนการปฏิบัติงาน

การประชุมแบบเดี่ยวต่อเดี่ยวนั้นเป็นการประชุมระหว่างหัวหน้างานกับลูกน้องโดยการเจรจาพูดคุยกันถึงปัญหาหนึ่งปัญหาใดโดยเฉพาะ รวมทั้งสถานการณ์ในการปฏิบัติงาน ฝ่ายหัวหน้างานจะต้องสอนงานให้กับลูกน้อง

ในขณะเดียวกันลูกน้องก็ต้องบอกหัวหน้าให้ทราบถึงรายละเอียดของงานที่ตนเองกำลังปฏิบัติอยู่และปัญหาต่างๆ ที่เขาวิตกกังวลว่าจะเกิด

ถ้าจะถามว่าควรจะมีการประชุมแบบเดี่ยวต่อเดี่ยวบ่อยครั้งแค่ไหน

คำตอบที่ได้ก็คือว่าขึ้นอยู่กับลูกน้องของคุณมีความคุ้นเคยในงานที่เขาทำแค่ไหน? มีประสบการณ์เฉพาะอย่างนานเพียงไร? (โดยไม่ต้องคำนึงถึงประสบการณ์อื่นๆ) ถ้าลูกน้องของคุณเป็นพนักงานใหม่ มีประสบการณ์น้อย การพบปะแบบเดี่ยวต่อเดี่ยวก็ควรกระทำบ่อยๆ อาจจะสัปดาห์ละครั้ง แต่ถ้าเขาปฏิบัติงานมานานก็อาจจะพบปะกันห่างออกไปเป็นสองหรือสามสัปดาห์ต่อครั้ง

เมื่อพูดถึงระยะเวลาที่การประชุมแบบเดียวต่อเดี่ยวว่าควรใช้เวลาสักเท่าใด?

คุณก็ต้องถามตัวเองว่าปัญหานั้นร้ายแรงเพียงไร? ถ้าเป็นปัญหาใหญ่ แน่ละ คุณก็ต้องใช้เวลาเกินกว่า 15 นาทีแน่ๆ โดยทั่วไปแล้วการประชุมแบบนี้ไม่ควรต่ำกว่าหนึ่งชั่วโมง

การประชุมแบบนี้ควรจะมีขึ้นที่ไหน? ถ้าเป็นไปได้ที่ที่ เหมาะที่สุดก็คือ ในบริเวณที่ทำงานของลูกน้อง เพราะหัวหน้าจะรู้ว่าลูกน้องทำงานเป็นอย่างไรได้อย่างง่ายๆ ด้วยการไปดูที่ทำงานของเขาว่ามีความเป็นระเบียบเรียบร้อยแค่ไหน? ใช้เวลาในการหาเอกสารช้าหรือเร็วเพียงใด? ถูกขัดจังหวะในการทำงานบ่อยครั้งแค่ไหน?

จุดประสงค์ที่สำคัญของการประชุมแบบเดี่ยวต่อเดี่ยวก็คือ ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาเป็นผู้กำหนดหัวข้อการประชุมทั้งหมด

เหตุผลก็คือ ต้องมีใครสักคนเป็นคนเตรียมการประชุมครั้งนี้ และถ้าหากว่าหัวหน้ามีลูกน้อง 8 คน ก็ต้องเตรียมการประชุมด้วยตนเองถึง 8 ครั้ง แต่ถ้าให้ลุกน้องแต่ละคนเป็นผู้เตรียมเองแต่ละคนก็จะใช้เวลาเตรียมเพียงครั้งเดียว

หัวหน้าต้องสั่งให้ลูกน้องเตรียมหัวข้ออย่างคร่าวๆ เพื่อเป็นการบังคับให้เขาคิดล่วงหน้าว่าจะมาปรึกษาหารือเรื่องอะไรบ้าง? และการเตรียมหัวข้อยังทำให้หัวหน้ารู้แต่แรกว่ามีเรื่องอะไรบ้างที่จะต้องพูดคุยกัน? จะต้องใช้เวลาสักเท่าไร? ถึงจะได้เนื้อหาครบถ้วนในแต่ละจุด

หัวข้อที่จะนำมาพูดคุยกันแบบเดี่ยวต่อเดี่ยว ควรจะมีอะไรบ้าง? ก็มีตัวเลขในการประกอบการรวมทั้งเครื่องชี้ต่างๆ ที่จะแสดงให้รู้ว่าธุรกิจดำเนินการไปด้วยดีมากน้อยแค่ไหน? รวมทั้งอัตราที่มีใบสั่งซื้อเข้ามา ปริมาณการผลิตโครงการต่างๆ และควรจะเน้นหนักถึงปัญหาที่มีเค้าว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต

การประชุมแบบนี้ ควรจะรวมหัวข้อเกี่ยวกับความสำคัญของการบริหาร ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่การประชุมคราวก่อน เช่นปัญหาการจ้างงาน ปัญหาการจัดองค์กร การวางแผนล่วงหน้า

สิ่งสำคัญที่สุดที่ควรพูดถึงในการประชุมก็คือ ปัญหาต่างๆ ที่ลูกน้องมีความกังวลใจหรือสงสัยซึ่งมักจะมองกันไม่ค่อยเห็นเพราะปัญหาต่างๆ เหล่านี้ต้องใช้เวลาในการค้นหา พิจารณาและแก้ไข

ในการประชุมแบบเดี่ยวต่อเดี่ยวหัวหน้าต้องพยายามทุกวิถีทางที่จะกระตุ้นให้ลูกน้องพูดถึงการทำงานของเขา และปัญหาต่างๆ ที่ทำให้เขากังวลใจ เพื่อที่จะได้ให้คำแนะนำที่ถูกต้อง ถ้าหากว่าลูกน้องของคุณคิดว่าได้พูดหมดทุกปัญหาแล้ว คุณก็ต้องตั้งคำถามเขาขึ้นมาสักคำถามหนึ่ง เพื่อให้ความคิดของเขาไหลออกมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งทั้งสองฝ่ายรู้สึกเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง

มีข้อแนะนำบางประการเพื่อให้การประชุมแบบเดี่ยวต่อเดี่ยวดำเนินไปอย่างได้ผลก็คือประการแรกทั้งหัวหน้าและลูกน้องควรจะมีสำเนาหัวข้อการประชุมที่จะมาพูดคุยกันและทั้งสองฝ่ายต้องมีการจดบันทึกเพื่อไม่ให้จิตใจเลื่อนลอยไปสู่สิ่งอื่น ถึงแม้ว่าหลังการประชุมแล้ว คุณจะไม่อ่านมันอีกเลยก็ตาม นอกจากนี้ยังช่วยย่อข้อมูล ข่าวสารต่างๆ เพราะขณะที่เราจดบันทึกนั้น เราจะจดอย่างย่อๆ ตามเหตุและผล หัวข้อที่นำมาประชุมนั้นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาต้องนำไปปฏิบัติ ดังนั้นการจดบันทึกคำแนะนำของหัวหน้าก็เหมือนกับเป็นข้อผูกมัดว่าเขาต้องเอาไปปฏิบัติจริงๆ และตัวหัวหน้าเองก็สามารถใช้บันทึกนั้นเป็นเครื่องช่วยจำในการติดตามงานในการประชุมครั้งต่อไป

ทั้งหัวหน้าและลูกน้องอาจจะประหยัดเวลาโดยการจัดแฟ้มไว้เก็บเรื่องราวที่สำคัญและรีบด่วนบางเรื่องไว้เพื่อนำมาพิจารณากันอีกครั้งหนึ่งในการประชุมคราวหน้าเพื่อประหยัดเวลาในการติดต่อสื่อสาร

หัวหน้าควรจะคอยกระตุ้นให้มีการพูดคุยกันตลอดเวลาเหมือนกับว่าเป็นการพูดคุยกันเป็นการส่วนตัว การประชุมแบบนี้ถือว่าเหมาะสมที่สุดสำหรับปัญหาที่ละเอียดอ่อนและลึกซึ้งที่เกิดขึ้นกับผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อจะได้รู้ว่าเขาพอใจการทำงานของตนเองหรือไม่ มีปัญหาอะไรกังวลใจเขาอยู่

ในการประชุมแบบที่สองคือ การประชุมพนักงาน จะเป็นการประชุมระหว่างหัวหน้างานหนึ่งคนกับลูกน้องหรือผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาทั้งหมด เพื่อเปิดโอกาสให้มีการปรึกษาหารือและไต่ถามกันในหมู่พนักงานระดับเดียวกัน แต่การที่จะให้กลุ่มพนักงานทั้งกลุ่มตัดสินใจในปัญหาใดปัญหาหนึ่งนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่อย่างไรก็ตาม วิธีการแบบนี้ ก็เป็นหัวใจสำคัญในการบริหารงานชั้นยอด

การได้เรียนรู้ที่จะทำงานด้วยกันในระหว่างประชุม ผู้จัดการจะเข้าใจได้ดีขึ้นว่าจะทำงานกับลูกน้องในระดับต่างๆ ในสถานการณ์อื่นๆ ได้อย่างไร? การประชุมพนักงานยังสร้างโอกาสให้ผู้บังคับบัญชาได้เรียนรู้จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการถกเถียงต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพราะการได้ฟังเหตุผลของทั้งสองฝ่ายที่มีความคิดขัดแย้งกันย่อมดีกว่าฟังเหตุผลของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดโดยเฉพาะ

คราวนี้มาถึงปัญหาที่ว่าจะจัดลักษณะการประชุมในรูปใด

การประชุมพนักงานนั้นควรจะจัดแบบที่มีหัวหน้าคนใดคนหนึ่งควบคุม หรือกำกับให้การประชุมดำเนินไปอย่างมีระเบียบ และอยู่ในขอบเขตของหัวข้อการประชุมที่จะมาอภิปรายกันดีกว่าที่จะให้ทุกคนพูดถึงเรื่องอะไรก็ได้

ควรจะมีการแจกจ่ายหัวข้อการประชุมออกไปล่วงหน้า เพื่อให้ลูกน้องแต่ละคนมีเวลาเตรียมเรื่องและความคิดที่จะมาพูดในที่ประชุม อย่างไรก็ตาม การประชุมพนักงานควรจะมีช่วงเวลาให้ทุกคน “เปิดอกพูด” ถึงปัญหาต่างๆ ที่อยู่ในใจทั้งในแผนกของตนและปัญหาของบริษัท

ในการประชุมพนักงานแต่ละครั้ง หัวหน้าควรทำตัวเป็นทั้งผู้นำ ผู้สังเกตการณ์ ผู้คอยกระตุ้น ผู้ตั้งคำถาม และผู้ตัดสินใจ ขอให้โปรดสังเกตด้วยว่า บทบาทของการเป็นผู้บรรยายไม่ได้นำมากล่าวไว้ เพราะหัวหน้าไม่ควรจะมาพูดแสดงความคิดเห็นเพียงคนเดียวให้คนอื่นฟัง จะทำให้จุดประสงค์เบื้องต้นของการประชุมพนักงานที่เปิดโอกาสให้ทุกคนแสดงความคิดเห็นต้องถูกทำลายไป

ตรงกันข้ามกับการประชุมพนักงาน การประชุมเพื่อทบทวนการปฏิบัติงานซึ่งผู้บริหารระดับสูงตรวจตราการทำงานของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาที่อยู่ต่ำกว่าลงไปหลายระดับเป็นสื่อกลางสำหรับคนที่ไม่ค่อยมีโอกาสจะได้พบปะกันมากนัก รูปแบบการประชุมจะรวมทั้งการเสนอผลงานของบรรดาผู้จัดการแผนกต่างๆ ให้กับผู้บริหารมี่มิใช่ผู้บังคับบัญชาโดยตรง และให้กับผู้ร่วมงานในแผนกอื่นๆ

จุดประสงค์หลักของการประชุมเพื่อทบทวนการปฏิบัติงานก็คือ ก่อให้เกิดการเรียนรู้ในหมู่พนักงานระดับต่างๆ ในองค์กร ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้จัดการทั้งชั้นผู้น้อยและผู้จัดการอาวุโส เพราะผู้จัดการชั้นผู้น้อยจะได้รับประโยชน์จากคำแนะนำ การวิพากษ์วิจารณ์ของผู้จัดการอาวุโสในขณะเดียวกัน ผู้จัดการอาวุโสก็จะได้รู้ทัศนคติและข้อคิดเห็นของผู้ที่เข้าใจรายละเอียดของปัญหาอย่างแท้จริง

ผู้จะเข้ามามีส่วนร่วมในการประชุมแบบทบทวนการปฏิบัติงานก็คือ ผู้จัดการฝ่ายจัดการ ผู้จัดการฝ่ายที่ทบทวนและผู้เสนอ รวมทั้งคนฟังผู้บังคับบัญชาของผู้จัดการที่เสนอควรแสดงบทบาทของผู้จัดการฝ่ายการจัดการช่วยเหลือผู้เสนอตัดสินใจว่าเรื่องไหนควรนำมาอภิปราย เรื่องไหนไม่ควรนำมาพูดถึง และควรจะทำหน้าที่แม่บ้านด้วย คือจัดสถานที่ประชุม เครื่องไม้เครื่องมือที่จะใช้รวมทั้งโสตทัศนูปกรณ์ต่างๆ การเชิญประชุม และท้ายที่สุดควรเป็นผู้รักษาเวลา จัดตารางการประชุม และให้การประชุมดำเนินไปด้วยดี

ผู้จัดการฝ่ายที่ทบทวน ซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายระดับอาวุโส ควรจะตั้งคำถามให้ข้อคิดเห็นและคอยกระตุ้นให้การประชุมดำเนินไปด้วยดีตามวัตถุประสงค์ โดยเปิดโอกาสให้ทุกคนมีโอกาสแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ

ส่วนผู้เสนอนั้นควรใช้โสตทัศนูปกรณ์เป็นเครื่องช่วย เช่นเครื่องฉายสไลด์ ในขณะเดียวกันต้องระมัดระวังว่าไม่ปล่อยให้ผู้ฟังมัวหลง แต่ดูตามเครื่องมือที่ใช้จนกระทั่งไม่มีใครสนใจคำพูดของเขา

ส่วนกลุ่มที่ฟังนั้นก็มีบทบาทสำคัญด้วยเช่นกัน การประชุมที่ดีนั้น ผู้ฟังต้องตั้งคำถามมากๆ และแสดงความคิดเห็น การแสดงความคิดเห็น การแสดงความไม่เอาใจใส่ต่อเนื้อหาในการประชุมจะทำให้ผู้สนใจลดความเชื่อมั่นในตัวเองลงไป แต่ถ้าเกิดผู้เสนอกล่าวผิดไปจากข้อเท็จจริง เป็นความรับผิดชอบของผู้ฟังที่จะแก้ไขให้ถูกต้อง

การประชุมเพื่อปฏิบัติการจะมีขึ้นเมื่อเกิดปัญหาและจำเป็นที่จะต้องมีผลสรุปออกมาเป็นการตัดสินใจในการแก้ปัญหานั้น และเป็นหน้าที่ของประธานในที่ประชุมโดยพฤตินัย ที่จะตัดสินใจแก้ปัญหานั้นให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี แต่ถ้าประธานในที่ประชุมทำตนเป็นเพียงผู้เข้าร่วมประชุมคนหนึ่ง และได้แต่หวังว่าปัญหาต่างๆ จะคลี่คลายไปตามที่ตัวเองต้องการนั้นเป็นเรื่องแน่เลยว่าการประชุมจะไม่สัมฤทธิ์ผล

ประธานในที่ประชุมต้องมีความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง ถึงเป้าหมายในการประชุม อะไรที่จำเป็นต้องกระทำ อะไรบ้างที่ต้องตัดสินใจเพราะถ้าคุณไม่รู้ว่าคุณต้องการะไรแล้ว คุณก็ไม่สามารถได้สิ่งนั้น ดังนั้นก่อนที่จะมีการประชุมใดๆ ควรถามตัวเอง “ฉันต้องการอะไรจากการประชุมครั้งนี้” ต่อจากนั้นก็ถามตัวเองว่า “การประชุมนี้จำเป็นมากน้อยแค่ไหน”

แม้แต่ถ้าคุณเป็นผู้จัดการที่ได้รับเชิญ คุณก็ต้องถามตัวเองเช่นกันว่า การประชุมและตัวคุณเอง เป็นเรื่องจำเป็นไหม ถ้าเห็นว่าไม่ใช่เรื่องจำเป็นก็บอกคนที่เชิญคุณไปประชุมตรงๆ เพื่อไม่ให้บริษัทต้องเสียผลประโยชน์

การประชุมที่จำเป็นต้องมีการตัดสินใจเรื่องหนึ่งเรื่องใดโดยเฉพาะ ถ้าหากมีผู้เข้าร่วมประชุมเกินหกหรือเจ็ดคนแล้ว การประชุมนั้นก็จะดำเนินไปด้วยความลำบาก ประธานในที่ประชุมควรจะส่งหัวข้อการประชุมที่แจ้งถึงวัตถุประสงค์ของการประชุมอย่างชัดแจ้ง รวมทั้งบทบาทที่ทุกคนควรจะปฏิบัติเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์

ประธานในที่ประชุมยังจะต้องมีความรับผิดชอบที่จะให้การประชุมดำเนินไปอย่างมีระเบียบเช่น ไม่ควรมีการเข้าประชุมสาย ทำให้ผู้อื่นเสียเวลาไปด้วย การประชุมควรจะเริ่มตรงเวลาโดยไม่มีข้อยกเว้น และไม่ควรเกรงใจผู้เข้าประชุมช้า

เมื่อการประชุมสิ้นสุดลง ประธานในที่ประชุมต้องส่งรายงานการประชุม ซึ่งสรุปผลการอภิปรายการตัดสินใจและแนวทางในการปฏิบัติ การส่งรายงานการประชุมนั้นต้องดำเนินการอย่างฉับไว ก่อนที่ผู้เข้าร่วมประชุมจะลืม

ผลงานของผู้จัดการนั้นเป็นผลงานของแผนกต่างๆ ภายใต้การควบคุมของเขา การปฏิบัติงานของผู้จัดการควรจะทำให้บริษัทก้าวหน้าตามไปด้วย ดังนั้นการประชุมที่มีประสิทธิภาพและปฏิบัติอย่างถูกต้องก็ย่อมจะทำให้ผู้จัดการมีผลงานเพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อแต่ประการใด   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us