Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2527








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2527
คณะกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ พวกเขามีบทบาทอย่างไรในบริษัท?             
 


   
www resources

โฮมเพจ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
โฮมเพจ กระทรวงพาณิชย์

   
search resources

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ไอทีเอฟ, บงล
กระทรวงพาณิชย์
สงบ พรรณรักษา
สิริลักษณ์ รัตนากร




ตำราธุรกิจได้จำแนกบทบาทของคณะกรรมการไว้ 3 บทบาทที่สำคัญคือ:-

1. เป็นผู้เลือกกรรมการผู้จัดการใหญ่

2. ตั้งเป้าหมายเบื้องต้น กำหนดกลยุทธ์และนโยบายของบริษัท

3. ถามคำถามลึกๆ เกี่ยวกับการประกอบการของบริษัท

ส่วนบทบาทของกรรมการผู้จัดการใหญ่นั้น ตำราบอกว่า:-

1. เป็นนักบริหารที่มีสายตากว้างไกล สามารถคาดหมายสถานการณ์ข้างหน้าได้แม่นยำ

2. เป็น “กุนซือ” ของบริษัท

3. เป็น “สถาปนิก” ผู้วางโครงสร้างและระบบให้กับบริษัท

4. เป็นนักจัดสรรและควบคุมทรัพยากรทั้งมวลของบริษัท

5. เป็น “ผู้นำ” ของผู้ใต้บังคับบัญชา

6. เป็นผู้สร้างแรงจูงใจให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพ

7. เป็นตัวเปิดในการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับภายนอกบริษัท

8. เป็นผู้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางสร้างสรรค์และยับยั้งการเปลี่ยนแปลงในทางลบ

กล่าวตามหลักการโดยทั่วไปแล้ว บริษัทจะต้องดำเนินธุรกิจตาม “วัตถุประสงค์” ที่กำหนดไว้ในบริคณห์สนธิและข้อบังคับของบริษัท

คณะกรรมการซึ่งเลือกตั้งเข้ามาโดยกลุ่มผู้ถือหุ้นเป็นผู้กำหนดกลยุทธ์และนโยบายให้กรรมการผู้จัดการใหญ่รับไปดำเนินการ (กรรมการผู้จัดการใหญ่เลือกขึ้นมาโดยคณะกรรมการ) ซึ่งนโยบายที่กำหนดขึ้นจะอยู่ภายในขอบเขตของ “วัตถุประสงค์” ที่ปรากฏในบริคณห์สนธิ ด้านกรรมการผู้จัดการใหญ่ก็จะต้องบริหารธุรกิจให้เป็นไปตามนโยบายของคณะกรรมการโดยการเสนอเป้าหมายและแผนงานให้คณะกรรมการอนุมัติก่อนลงมือปฏิบัติ

พิจารณาตามหลักการดังกล่าวนี้ก็คงต้องยอมรับว่า ได้กำหนดให้มีการถ่ายเทอำนาจและคานอำนาจจากกลุ่มผู้ถือหุ้นผ่านคณะกรรมการไปยังตัวกรรมการผู้จัดการใหญ่อย่างสมเหตุสมผลทีเดียว

แต่เรื่องของหลักการทางทฤษฎีก็คงเป็นเรื่องที่ต้องวาดกันไว้ให้สวยหรูดูสมเหตุสมผลมิใช่หรือ ส่วนเรื่องของจริงที่ดำรงอยู่ก็คงไม่ตาย ใช่ว่าจะต้องเป็นดังเช่นทฤษฎีเสมอไป

ฉันใดก็ฉันนั้น ในเรื่องของระบบการถ่ายเทอำนาจและการคานอำนาจระหว่างผู้ถือหุ้น, คณะกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ตลอดจนบทบาทของแต่ละส่วนในการบริหารธุรกิจแบบไทยๆ ก็มักจะมีคำถามเกิดขึ้นอยู่เสมอมาว่า “มีความสมบูรณ์และเหมาะสมมากน้อยแค่ไหนกัน”

เริ่มกันตั้งแต่จุดแรกสุดก่อน คือการแต่งตั้งคณะกรรมการ

อาจกล่าวได้ว่า บทบาทของคณะกรรมการจะมีมากหรือน้อยแค่ไหนนั้น ขึ้นกับว่าคณะกรรมการได้รับการแต่งตั้งเข้ามาอย่างไร?

สงบ พรรณรักษา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ไอทีเอฟ ให้ความเห็นว่า สำหรับการตั้งคณะกรรมการของบ้านเรามีบ้างที่เป็นไปตามหลักการที่ตั้งไว้ แต่อีกมากเหมือนกันที่มีที่มาต่างกันออกไป โดยเฉพาะในกิจการที่เริ่มต้นจากระบบการบริหารแบบ “ข้ามาคนเดียว” หรือระบบ “เถ้าแก่จัดการ” ที่รู้จักกัน

“กิจการพวกนี้ส่วนมากที่ต้องตั้งคณะกรรมการก็เพราะประการแรก เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย สองก็อาจจะเป็นตัวเจ้าของต้องการอาศัยอำนาจบารมีของบางคนบางคณะเพื่อประโยชน์ทางการค้า ก็ตั้งเข้าไปเป็นกรรมการเพิ่ม อีกสาเหตุหนึ่งอาจจะเป็นเพราะญาติพี่น้องของเจ้าของกิจการหรือผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 50 เปอร์เซ็นต์กับอีก 1หุ้นขึ้นไปมีเยอะ ก็อยากจะแบ่งๆ กันไปดูแลงานที่โน่นบ้าง ที่นี่บ้าง กินเบี้ยประชุมไป และสี่ เจ้าของอาจจะมีกิจการมากมายหลายแห่งดูแลคนเดียวไม่ทั่วถึงก็เลยต้องเอาเพื่อนฝูงญาติพี่น้องช่วยเป็นหูเป็นตาแทน”

เมื่อที่มาของคณะกรรมการเป็นเช่นนี้ สงบ พรรณรักษา สรุปว่า “ก็คงต้องทำทุกอย่างภายใต้อาณัติของเจ้าของ ซึ่งถ้าเจ้าของเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ คณะกรรมการชุดที่มีมาเช่นนี้ก็จะอยู่ภายใต้อาณัติของกรรมการผู้จัดการใหญ่ไปในที่สุด”

“เรื่องที่จะเข้ามาควบคุมการบริหารงานของกรรมการผู้จัดการใหญ่หรือดูแลผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นทั้งมวลคงเป็นไปไม่ได้ นอกจากจะดูแลผลประโยชน์ให้กับเจ้าของซึ่งตั้งเขาเข้ามา” นักวิชาการคนหนึ่งแสดงความเห็น

กรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สิริลักษณ์ รัตนากร แสดงความเห็นคล้อยตามว่า “ในประเทศไทยผู้ถือหุ้นมีบทบาทในการควบคุมการบริหารงานของกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่น้อยมาก” พร้อมกันนั้นก็ได้ยกปรากฏการณ์จริงที่เกิดขึ้นมาประกอบเช่น

- กรรมการและกรรมการผู้จัดการสามารถกำหนดวัตถุประสงค์ในบริคณห์สนธิในลักษณะครอบจักรวาล กระทรวงพาณิชย์เองก็มิได้แสดงบทบาทในการควบคุมและจำกัด เพราะถือว่าให้สิทธิผู้ถือหุ้นควบคุมแล้ว

- กรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่สามารถจดทะเบียนเพิ่มทุนที่กระทรวงพาณิชย์ได้อย่างไม่มีขอบเขต เมื่อต้องการใช้เงินก็ขายหุ้นเรียกเงินได้ทันทีโดยไม่ต้องเรียกประชุมผู้ถือหุ้น กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น ถ้ามีมติพิเศษไปแสดงแล้วกระทรวงพาณิชย์ก็จะยินยอมให้มีการจดทะเบียนเพิ่มทุนทันที

- เมื่อกรรมการหรือกรรมการผู้จัดการใหญ่ดำเนินการใดๆ ก็ตาม ก็สามารถขอสัตยาบันจากที่ประชุมถือหุ้นได้เสมอ

สิ่งเหล่านี้ กรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แสดงความวิตกว่า “จะเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการพัฒนาตลาดทุนในประเทศ เพราะไม่มีผู้ถือหุ้นคนไหนที่รู้สึกไว้วางใจต่อคณะกรรมการหรือกรรมการผู้จัดการใหญ่”

นอกจากนั้นในขั้นตอนการถ่ายเทอำนาจและคานอำนาจระหว่างกรรมการกับกรรมการผู้จัดการใหญ่ก็จะมีปัญหาคล้ายๆ กับขั้นตอนแรก ระหว่างผู้ถือหุ้นกับคณะกรรมการเช่นกัน

สิริลักษณ์ รัตนากร กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า

“กรรมการเองก็มีบทบาทในการควบคุมผู้บริหารหรือกรรมการผู้จัดการน้อยมาก เพราะผู้บริหารของบริษัทจำนวนมากคือผู้ถือหุ้นใหญ่หรืออาจจะเรียกง่ายๆ อย่างที่เรายังเรียกกันอยู่ว่า “เจ้าของ” บริษัท และเจ้าของเป็นคนเลือกและตั้งกรรมการแม้แต่ตัวประธานกรรมการหลายกรณีก็เพื่อเป็น ดัมมี่ (DUMMY) หลายๆ กรณีเพื่อเป็นเกียรติแก่กันและกัน หลายๆ กรณีก็เพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณกัน และหลายๆ กรณีเพื่อผลทางอภิสิทธิ์และอิทธิพลบางอย่าง เมื่อเป็นดังนี้ กรรมการจึงไม่เป็นอิสระจากผู้บริหาร ไม่สามารถควบคุมผู้บริหาร เพราะเกรงว่าจะไม่ได้รับการแต่งตั้งเข้ามาอีกหรือเกรงใจ ไม่อยากไปขัดเขาบ้าง และในไม่น้อยกรณีเมื่อกรรมการจะเป็นอิสระบ้าง แต่ประธานนั้นมีอิทธิพลเหลือเกินจนความเห็นของกรรมการคนอื่นๆ ไม่มีความหมาย เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่สามารถช่วยแก้ไขปรับปรุงสถานการณ์ใดๆ ของบริษัทได้”

จากความเห็นทั้งของสงบ พรรณรักษา และสิริลักษณ์ รัตนากร ที่กล่าวมานั้น คงพอสรุปได้ว่า สาเหตุที่บทบาทของคณะกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ไม่เป็นไปตามหลักการที่ควรเป็น เพราะกิจการธุรกิจในรูปหุ้นส่วนบริษัทของไทยยังสลัดอำนาจของ “เจ้าของ” ไปไม่หมด

หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือยังไม่มีการพัฒนาเป็นบริษัทมหาชนอย่างแท้จริง ดังนั้นแม้รูปแบบจะพัฒนาออกไป มีการตั้งคณะกรรมการ มีกรรมการผู้จัดการใหญ่ แต่เนื้อหาก็ยังมีบทบาทของ “เจ้าของ” ครอบงำอยู่เหมือนเดิม

สภาพการครอบงำโดย “เจ้าของ” นี้ สำราญ กัลยาณรุจ กรรมการและที่ปรึกษากฎหมายธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่เกี่ยวกับเรื่องหุ้นส่วนบริษัทน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่ง เพราะกฎหมายซึ่งเขียนไว้เพียงไม่กี่บรรทัด ก็ไม่มีการกล่าวถึงบทบาทของคณะกรรมการไว้อย่างแน่ชัดแต่ประการใด

ประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วนและบริษัท ระบุว่า “ผู้เข้ารับเป็นกรรมการของบริษัทย่อมถือว่ามีการตกลงโดยปริยายกับผู้ถือหุ้นว่าจะบริหารงานของบริษัทไปตามข้อบังคับและวัตถุประสงค์ของบริษัท นอกจากนั้นกรรมการต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วย ถ้ากรรมการละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบเกิดความเสียหายแก่ผู้หุ้น ผู้ถือหุ้นย่อมฟ้องกรรมการให้รับผิดได้”

และในมาตราอื่นๆ ก็ได้กล่าวกำหนดถึงความรับผิดชอบของคณะกรรมการไว้กว้างๆ เท่านั้นเช่น

มาตรา 1168 บัญญัติว่า “ในอันที่จะประกอบกิจการของบริษัทนั้น กรรมการต้องใช้ความเอื้อเฟื้อสอดส่องอย่างบุคคลค้าขายผู้ประกอบด้วยความระมัดระวัง”

“เมื่อกฎหมายไม่ได้กำหนดบทบาทและการควบคุมคณะกรรมการโดยผุ้ถือหุ้นไว้อย่างหนาแน่น การดำเนินธุรกิจจึงต้องขึ้นอยู่กับสำนึกในคุณธรรมและความรับผิดชอบของผู้จัดการ ผู้บริหารและคณะกรรมการของแต่ละบริษัทอย่างมาก…” สิริลักษณ์ รัตนากร กล่าว

แล้วความพิกลพิการเหล่านี้จะแก้ไขกันอย่างไร? นอกจากจะปล่อยให้กลไกของจิตสำนึกทางคุณธรรมได้ทำหน้าที่ของมันไป ซึ่งก็คงไม่ให้หลักประกันมากนัก

สิริลักษณ์ รัตนากร บอกว่า สำหรับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้วางมาตรการไว้คือ

1. กำหนดเงื่อนไขต่างๆ ในการรับบริษัทเข้าจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์และในการพิจารณารับบริษัทเป็นบริษัทจดทะเบียน คณะกรรมการมีหลักเกณฑ์อันเป็นเสมือนหนึ่งเงื่อนไขในการเป็นบริษัทจดทะเบียน คือ การพิจารณาให้มั่นใจว่า ผู้บริหารของบริษัทเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในธุรกิจนั้น สร้างความเจริญเติบโตให้แก่บริษัทเป็นลำดับ จนทำให้บริษัทมีฐานะการเงินที่มั่นคงและมีผลการดำเนินงานที่ดี มีความซื่อสัตย์สุจริต บริหารงานอย่างตรงไปตรงมาและรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นและสร้างผู้บริหารระดับรองไว้ทดแทนไม่เป็นระบบ “วัน แมน โชว์”

2. ตลาดหลักทรัพย์ได้กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนและบริษัทรับอนุญาตเปิดเผยข้อมูล โดยมีผู้ตรวจสอบบัญชีเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ ทั้งนี้เพื่อเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ผู้ถือหุ้นจะใช้ควบคุมการดำเนินงานของผู้บริหาร ข้อมูลสำคัญๆ ที่ผู้บริหารจะต้องรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์นอกเหนือจากงบการเงินประจำปีก็มีอาทิ เมื่อบริษัทประสบความเสียหายอย่างร้ายแรงเนื่องจากถูกไฟไหม้ หรือการหยุดงานของคนงาน ผลกระทบจากการลดค่าเงินบาท หรือกรณีอื่นใดที่บริษัทมีผลขาดทุนหรือกำไรลดลงอย่างผิดปกติ หรือจะมีการเพิ่มทุน ลดทุน หรือการเปลี่ยนธุรกิจหลักจากเดิมไปทำอย่างอื่น เป็นต้น

3. ตลาดหลักทรัพย์ได้กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติของผู้สอบบัญชี เพื่อให้ได้ผู้สอบบัญชีที่สามารถปฏิบัติงานไปตามมาตรฐานที่ยอมรับของสากล

นั่นก็เป็นมาตรการอีกชั้นหนึ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ตั้งความหวังว่าจะสามารถช่วยให้การบริหารโดยคณะกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัทจดทะเบียนและบริษัทรับอนุญาตมีบทบาทที่เอื้ออำนวยประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นอย่างแท้จริง

ส่วนบริษัทที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ในภาคธุรกิจของประเทศนั้น ก็คงไม่มีใครสามารถไปทำอะไรได้มากกว่าต้องปล่อยให้สภาพของการแข่งขันในธุรกิจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางคุณภาพเอง

ขณะนี้แนวโน้มก็เริ่มแสดงออกมาเด่นชัดมากขึ้นแล้วว่า กิจการใดก็ตามที่คณะกรรมการมีบทบาทสมกับเป็นคณะกรรมการอย่างแท้จริงและมีกรรมการผู้จัดการใหญ่หรือผู้บริหารระดับรองๆ ลงมาเป็น “มืออาชีพ” แล้ว กิจการนั้นจะประสบความสำเร็จ มีความก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ

ส่วนกิจการที่ “เจ้าของ” ยังมีบทบาทอยู่สูง ยึดหลัก “ข้ามาคนเดียว” ก็ค่อยๆ ทรุดโทรมและพังกันไปเรื่อยๆ

“ระยะข้างหน้าต่อไปนี้ จะเป็นระยะของการปรับตัวครั้งใหญ่ เกี่ยวกับด้านการบริหาร…” นักสังเกตการณ์หลายคนแสดงความเห็นส่งท้าย   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us