|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ ธันวาคม 2527
|
|
จากการติดตามความขัดแย้งทางแรงงานระหว่างทัศนียา ปริวุฒิพงศ์ กับบริษัทข้ามชาติเช่น SAS นั้นพอจะทำให้ “ผู้จัดการ” มีข้อคิดมาให้วิพากษ์วิจารณ์กันต่อไปได้พอสมควร
ธรรมดาแล้ว LABOUR CONFLICT ในระดับ WHITE COLLAER อย่างกรณีเช่นนี้มักจะไม่ค่อยเกิดขึ้นและก็มีน้อยมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างลูกจ้างระดับบริหารคนไทยกับนายจ้างที่เป็นบริษัทฝรั่งข้ามชาติเช่น SAS
กรณีของ SAS จากคำพิพากษาทำให้เราพอจะวิเคราะห์ได้ว่า:-
1. ความมีมิจฉาฐิติและใช้อารมณ์โมโหและโทสะ
การที่ผู้จัดการต่างชาติคนหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นผู้จัดการมืออาชีพ แต่ตัดสินใจโดยไม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง หากแต่ตั้งมั่นในความมีอคติ ย่อมจะไม่เกิดผลดีกับองค์กรและพนักงานผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคนเป็นผู้จัดการตัดสินใจอย่างมีโมหะจริตและโทสะจริต และการตัดสินใจนั้นไปกระทบกระเทือนชีวิตความเป็นอยู่และสภาพจิตใจของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาอย่างไม่เป็นธรรมแล้ว นอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เป็นมืออาชีพแล้ว ยังเป็นการสร้างบาปขึ้นมาให้กับคนคนนั้นอย่างไม่จำเป็น
ผู้จัดการต่างชาติเป็นตัวแทนของบริษัทต่างชาติที่มาทำมาหากินในประเทศไทย ผิดถูกเช่นไรก็ต้องระลึกเสมอว่าบริษัทตัวเองเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร และจะต้องปฏิบัติตนอย่างยุติธรรมที่สุดกับผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชา หากไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว ภาพลักษณ์ขององค์กรนั้นก็จะถูกสะท้อนออกมาในรูปแบบที่ผู้จัดการคนนั้นได้กระทำ
2. บทบาทของคนไทยที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของต่างชาติ
อาจจะเป็นเพราะโดยธรรมชาติแล้วคนไทยบางส่วนเมื่อเป็นขี้ข้าคนต่างชาติและถึงเวลาทำงานด้วยก็พยายามทุกวิถีทางที่จะรักษาเก้าอี้ตัวเองไว้มากกว่าการทำงานด้วยเหตุผลและบนพื้นฐานความถูกต้อง
ในกรณีของ SAS กับทัศนียานั้น เราพอจะมองเห็นสัจธรรมที่พูดไว้ในประโยคข้างต้นอย่างชัดเจน
จากคำพิพากษาของศาลก็สามารถจะเห็นได้ชัดว่า ผู้จัดการใหญ่ SAS สงสัยว่าทัศนียา ปริวุฒิพงศ์ จะเป็นคนเขียนใบปลิวโจมตีว่า ผู้จัดการใหญ่กับเลขามีความสัมพันธ์ที่พิสดาร
ตัวผู้จัดการคงจะไม่ต้องการเห็นหน้าทัศนียาในสำนักงาน SAS อีก แต่การจะไล่เธอออกนั้น จำเป็นต้องมีคำกล่าวหาถึงความไม่มีประสิทธิภาพของเธอจากเจ้านายโดยตรงของเธอซึ่งเป็นคนไทยคือ เปาวโรจน์ เปาวโรจน์กิจ ผู้จัดการฝ่ายตลาด
เอกสารที่นำสืบในศาลก็บ่งชัดเจนว่า เพียงเพื่อต้องการเอาใจนายฝรั่งเปาวโรจน์ก็ตกลงใจเขียนบันทึกในลักษณะที่กล่าวหาว่าทัศนียาเป็นคนไม่มีประสิทธิภาพเพื่อเป็นสาเหตุให้ผู้จัดการฝรั่งสามารถให้ซองขาวเธอได้
ตรงนี้แหละที่บทบาทของเปาวโรจน์ไม่ถูกต้อง!
ที่ถูกแล้ว เปาวโรจน์สมควรจะเป็นผู้เตือนสติผู้จัดการฝรั่งให้เห็นว่าสิ่งที่เขากำลังจะทำไปนั้นผิด
และเปาวโรจน์ในฐานะที่เป็นเจ้านายโดยตรงของทัศนียาก็สมควรที่จะเป็นผู้ปกป้องทัศนียา เพราะทัศนียาเพียงถูกสงสัยว่าเป็นผู้เขียนใบปลิวเท่านั้น หาได้มีหลักฐานอื่นมายืนยันไม่
แต่เปาวโรจน์กลับทำในสิ่งที่สวนทางกับความถูกต้องและมโนธรรม
ที่แน่ๆ เปาวโรจน์ก็ยังคงรักษาเก้าอี้ตัวเองเอาไว้ได้!
บทเรียนข้อนี้เป็นบทเรียนให้บรรดาลูกจ้างคนไทยที่ทำงานกับฝรั่งน่าจะสังวรไว้ว่า ไม่ว่าจะทำงานกับฝรั่ง เจ๊ก หรือแขกก็ตาม การทำงานนั้นถ้าทำงานโดยไม่ต้องหลบและอับอายใคร
ถ้าเปาวโรจน์ปกป้องทัศนียาและตัวเองต้องถูกไล่ออกด้วย อย่างน้อยเปาวโรจน์ก็จะมีเพื่อนและลูกน้องเช่นทัศนียาที่จะจงรักภักดีต่อเขาตลอดไป
มันก็ยังดีกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้มิใช่หรือ?
3. เราน่าจะมีคนอย่างทัศนียามากขึ้น
ในสังคมของเลขานุการระดับสูง บางครั้งการได้ทำงานกับคนที่มีตำแหน่งใหญ่ หรือทำในองค์กรที่มหึมา กลับเป็นม่านบังตาให้คนพวกนี้ละเลยสิทธิขั้นพื้นฐานและความถูกต้อง
มีอยู่มากที่กำลังกินน้ำใต้ศอกอยู่!
ไม่ว่าตัวเองจะได้รับความไม่ยุติธรรมอะไรก็จะเก็บกดเอาไว้ และคิดถึงศักดิ์ศรีและความเห็นแก่ได้ในระยะสั้น แทนที่จะนึกถึงและยึดถือหลักการที่ควรจะเป็น
ทัศนียาอาจจะโชคดีที่มีจิตใจกล้าต่อสู้โดยไม่เกรงในศักดิ์ศรีขององค์กรที่ตัวเองกำลังหาญเข้าไปห้ำหั่นด้วย
สมมุติถ้าเธอแพ้ขึ้นมา เราเชื่อว่าต้องมีคนอีกมากที่จะสมน้ำหน้าเธอ แล้วพูดว่า “หาเรื่องไปเอง”
แต่เผอิญเธอชนะ และก็ชนะอย่างขาวสะอาดด้วย!
ชัยชนะของเธอมันไม่สำคัญที่จำนวนเงินซึ่งเธอได้รับหรอก และมันสำคัญตรงที่องค์กรไม่ว่าจะใหญ่แค่ไหน แต่ถ้าขาดซึ่งความยุติธรรมแล้ว การที่คนตัวเล็กๆ จะทรงความยุติธรรมนั้น
ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้
แต่นั่นแหละ เหมือนกับที่เขาว่า “DON’T ROCK THE BOAT”
เพราะถึงทัศนียาจะชนะ แต่ก็เชื่อขนมกินได้เลยว่าบริษัทใหญ่ๆ โดยเฉพาะบรรดาบริษัทสายการบินทั้งหลายคงจะรู้จักชื่อเธอเป็นอย่างดี และคงจะจำเธอได้แม่นยำ
แปลไทยเป็นไทยว่า “เธอคงจะไปหางานทำอีกไม่ได้แล้ว เพราะเธอดันไป ROCK THE BOAT เข้า”
และนี่แหละคือความชั่วร้ายของวงการธุรกิจบ้านเรา!
|
|
|
|
|