เรื่องการบริหารค่าจ้างในระดับกิจการในประเทศไทยนี้เป็นโครงการประชุมนายจ้างซึ่งจัดโดยสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย ที่โรงแรมอินทรา เมื่อวันที่ 21-22 เดือนสิงหาคม 2527 เวลา 09.00-16.30 น.
แต่เดิมกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเป็นไปตามที่ตกลงกันเองตามอุปสงค์และอุปทาน มาในปี พ.ศ. 2516 จึงมีการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นในอัตราวันละ 12 บาทและจนกระทั่งปัจจุบัน ค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นสูงถึงวันละ 66, 63 และ 56 บาท ตามลำดับ
จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีผลกระทบต่อหน่วยงานภาคเอกชนมากเพราะค่าจ้างสูง ย่อมหมายถึงต้นทุนการผลิตและจำหน่ายสูงตามไปด้วย ดังนั้นบรรดานายจ้างจึงต้องเตรียมวางแผนและบริหารค่าจ้างของตนในระดับที่สามารถดึงดูดใจพนักงานและสามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้
โดยการจัดประชุมครั้งนี้เป็นการเปิดโอกาสให้นายจ้างได้มาร่วมกันพิจารณาปัญหาและเสนอแนวทางปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตและเมื่อได้ข้อสรุปก็จะนำเสนอต่อรัฐบาลและส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ในการวางแผนกำหนดนโยบาย, การบริหารนโยบายของรัฐเกี่ยวกับค่าจ้าง
ขั้นแรกของการประชุม ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศเป็นผู้บรรยายหัวข้อ “หลักการและกระบวนการบริหารค่าจ้างตามหลักสากล: บทบาทขององค์การนายจ้าง” เพื่อเป็นพื้นฐานให้ผู้เข้าประชุมรู้หลักเบื้องต้นในบทบาทและปัญหาการบริหารค่าจ้างรวมทั้งแนวโน้มในอนาคต
ขั้นที่สองมีการอภิปรายเป็นคณะโดยแบ่งเป็น 2 ชุดได้แก่
ชุดแรกเป็นเรื่อง “ปัญหาการบริหารค่าจ้างในประเทศไทยในอดีต ปัจจุบันและอนาคต” พูดถึงนโยบายค่าจ้างของรัฐบาลตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 และ 6, ผลกระทบของนโยบายค่าจ้างของรัฐที่มีต่อกิจการภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจและราชการ, ผลกระทบและความสัมพันธ์ของค่าจ้างในรัฐวิสาหกิจและเอกชน, ผลการปฏิบัติตามนโยบาย, ปัญหาในการปฏิบัติและทางเลือกในการดำเนินนโยบาย
ชุดที่สอง เรื่อง “ปัญหาการบริหารค่าจ้างในกิจการทั้งอดีต ปัจจุบันและอนาคต” พูดถึงปัญหาและข้อขัดข้องต่างๆ อันเป็นผลกระทบจากนโยบายค่าจ้างของรัฐต่อนโยบายการบริหารค่าจ้างของเอกชน, ปัญหาและข้อขัดข้องที่เกิดขึ้นในการกำหนดโครงสร้างค่าจ้างในภาคเอกชน, ปัญหาและข้อขัดข้องในการปรับค่าจ้างประจำปีและในโอกาสต่างๆ รวมทั้งอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ, ปัญหาการจัดทำงบประมาณค่าจ้างรวมทั้งปัญหาการวางแผน กำหนดรายการควบคุมค่าจ้างให้เหมาะสมที่สามารถจูงใจลูกค้าและสามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ โดยในแต่ละประเด็น มีการเสนอข้อคิดเห็นและแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วย
ขั้นที่สามเป็นการประชุมกลุ่ม โดยแบ่งผู้เข้าประชุมออกเป็น 4 กลุ่ม
กลุ่มที่หนึ่งพิจารณาเรื่อง “นโยบายค่าจ้างของรัฐกับนโยบายค่าจ้างของกิจการ: เราจะก้าวไปทางไหน?” ซึ่งมีแนวทางการประชุมดังนี้ นโยบายค่าจ้างของรัฐบาลในปัจจุบัน, นโยบายการบริหารค่าจ้างในกิจการภาคเอกชนส่วนใหญ่, ผลกระทบจากนโยบายค่าจ้างของรัฐต่อนโยบายการบริหารค่าจ้างของกิจการภาคเอกชน, วิธีการปรับตัวของเอกชนต่อผลกระทบของนโยบายค่าจ้างของรัฐบาล, ความสามารถในการนำนโยบายค่าจ้างของรัฐบาลไปใช้ในทางปฏิบัติ, ปัญหาและข้อขัดข้องต่างๆ ของฝ่ายนายจ้างในภาคเอกชนในการสนองนโยบายค่าจ้างของรัฐบาลและทิศทางการกำหนดนโยบายค่าจ้างของรัฐบาลและนโยบายการบริหารค่าจ้างของกิจการเอกชน รวมทั้งบทบาทขององค์การนายจ้างต่อประเด็นที่นำมาพิจารณา
กลุ่มที่สองพิจารณาเรื่อง “ การวางโครงสร้างค่าจ้างในกิจการ ความเป็นธรรมภายในและภายนอกกิจการจริงหรือ? มีแนวการประชุมดังนี้ วางโครงสร้างค่าจ้างในกิจการภาคเอกชนในปัจจุบัน ในทางปฏิบัติ มีการวิเคราะห์และประเมินค่าและการเลือกใช้ระบบใดมาประเมินและช่วยก่อให้เกิดความเป็นธรรมในกิจการจริงหรือไม่, ความถูกต้องของข้อมูลในการสำรวจค่าจ้าง, ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อโครงสร้างค่าจ้างของกิจการภาคเอกชน, ความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างคนงานที่เข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่ที่ยังไม่มีฝีมือกับคนงานที่มีฝีมือ, ความสัมพันธ์ระหว่างการจัดสวัสดิการกับการบริหารค่าจ้างและปัญหาข้อขัดข้อง, การแก้ไขปัญหารวมถึงบทบาทของประเด็นที่นำมาพิจารณา
กลุ่มที่สามพิจารณาเรื่อง “การปรับค่าจ้างประจำปีและการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ: จะเอาอย่างไรกันแน่?” มีแนวการประชุมคือหลักเกณฑ์และวิธีการปรับค่าจ้างประจำปี, ปัจจัยสำคัญที่ใช้เป็นพื้นฐานในการปรับค่าจ้างประจำปี, ในทางปฏิบัติปัจจุบันมีการปรับค่าจ้างประจำปีให้ลูกจ้างเป็นประจำทุกปีหรือไม่, นอกเหนือจากการปรับค่าจ้างประจำปีแล้ว นายจ้างในภาคเอกชนมีการปรับค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในโอกาสอื่นหรือไม่และปรับพร้อมกันครั้งเดียวหรือปีหนึ่งปรับหลายๆ ครั้ง, ผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำต่อหน่วยงานทั้งภาคเอกชนและรัฐบาลและแนวโน้มของการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในอนาคตรวมถึงหลักเกณฑ์การปรับค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบัน
กลุ่มที่สี่พิจารณาเรื่อง “การวางแผนและการควบคุมค่าจ้างในกิจการ: ความอยู่รอดของทุกฝ่ายจริงหรือ?” มีแนวการประชุมดังนี้ วิธีการวางแผนการจัดระบบควบคุมต้นทุนด้านค่าจ้างและสวัสดิการในภาคเอกชนในทางปฏิบัติ, วิธีการทำงบประมาณค่าจ้างและสวัสดิการ, ต้นทุนด้านค่าจ้างและสวัสดิการในปัจจุบัน, ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนด้านค่าจ้างและสวัสดิการ, ความเป็นไปได้มากหรือน้อยในกรณีนายจ้างและลูกจ้างภาคเอกชนร่วมมือกันควบคุมต้นทุนด้านค่าจ้างและสวัสดิการ, ปัญหาในการวางแผนการจัดระบบควบคุมต้นทุนด้านค่าจ้างและสวัสดิการในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต รวมถึงบทบาทขององค์การนายจ้างในประเด็นที่พิจารณา
เมื่อพิจารณาได้ข้อยุติ สรุปแนวทางแก้ไขปรับปรุงก็จะนำมาสู่ขั้นสุดท้ายคือการรายงานผลการประชุมกลุ่มประธานของที่ประชุมกลุ่มนำผลการประชุมของแต่ละกลุ่มเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ เพื่อพิจารณาให้การรับรองและนำการประชุมไปดำเนินการตามที่เห็นสมควร
|