Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มกราคม 2536








 
นิตยสารผู้จัดการ มกราคม 2536
"แพรนด้า...คิดอย่างไร!!จึงทุ่มซื้อมาร์เก็ตติ้งอาร์ม"             
 

 
Charts & Figures

การร่วมลงทุนของบริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด

   
related stories

SURVIVOR

   
www resources

โฮมเพจบริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน)

   
search resources

แพรนด้า จิวเวลรี่, บจก.
Jewelry and Gold




อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเป็นธุรกิจส่งออกระดับแนวหน้าของไทย ทำรายได้เข้าประเทศปีละหล่นหมื่นล้านบาทในปัจจุบัน และมีแนวโน้มว่าจะทำรายได้เข้าประเทศได้ถึง 1 แสนล้านในอีก 5 ปีข้างหน้า แต่ปัญหาใหญ่กำลังรุกคืบเข้ามาคือ อาจจะต้องสูญเสียตลาดให้กับคู่แข่งสำคัญอย่าง ญี่ปุ่น, อเมริกาในเร็ววันนี้ กลุ่มแพรนด้า จิวเวลรี่ หนึ่งในห้ายักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมอัญมณีเครื่องประดับไทย จึงจำเป็นต้องตัดสินใจกระโจนออกต่างประเทศวางฐานตลาดในอเมริกา และยุโรป"

การขยายตัวของการค้าแบบ GLOBALIZATION ในโลกปัจจุบัน อุตสาหกรรมใดก็ตาม ที่ไทยมีความได้เปรียบในเชิงการผลิต ถ้าไม่นำสิ่งที่ได้เปรียบนี้ ไปให้ถึงมือผู้ซื้อหรือถึงตลาด

วันหนึ่งอุตสาหกรรมเหล่านั้นอาจจะต้องสูญเสียตลาดให้กับคู่แข่งขันได้ง่ายๆ

เป็นคำกล่าวที่ไม่ผิดนัก กับอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกของไทย ในการค้าของโลกยุคปัจจุบัน…

เพราะนั่นคือ สิ่งที่กำลังจะกลายมาเป็นปัญหาใหญ่ ของอุตสาหกรรมส่งออกระดับแนวหน้าของไทย อย่างสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย

เพราะเมื่อขอบเขตการสื่อสารการคมนาคมระหว่างประเทศ มีพัฒนาที่ก้าวล้ำไปเป็นอย่างมาก การเชื่อมโยงของตลาดการค้าโลก ไม่ว่าจะเป็นทวีปอเมริกา ยุโรป หรือแม้กับประเทศในเอเซีย จึงไม่เป็นอุปสรรคอีกต่อไป

ทุกภูมิภาคของโลก…เสมือนประเทศที่ไร้พรมแดนระหว่างกัน

โดยพื้นฐานแล้วอุตสาหกรรมการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออก จำต้องพึ่งพาตลาดในต่างประเทศเป็นหลัก

ด้วยตัวเลขในปัจจุบันไทยมีการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในปี 2534 มีตัวเลขการส่งออกประมาณ 38,167 ล้านบาท ปี 2535 ประมาณ 40,600 ล้านบาท และในปี 2536 คาดว่าจะมีประมาณ 45,600 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 5,000 ล้านบาท

นอกจากนั้น เป้าหมายในอนาคตจะมีการส่งออกให้ถึง 1 แสนล้านบาท ในอีก 5 ปีข้างหน้านับตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นไป

แต่ความเป็นไปได้มากน้อยนั้น ก็ขึ้นอยู่กับพื้นฐานของอุตสาหกรรมนี้เป็นสำคัญ เพราะในปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับ กำลังเผชิญกับการแข่งขันทางด้านการผลิตและการตลาด จากประเทศผู้เป็นต้นตำหรับสมัยเริ่มแรก อย่างอมริกา และญี่ปุ่น

ซึ่งได้ย้ายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศ ที่มีแรงงานฝีมือ และมีอัตราค่าจ้างต่ำ อย่างประเทศในแถบเอเซีย เช่น ไต้หวัน จีน ศรีลังกา ฯลฯ

โดยเฉพาะในประเทศไทย ที่ถือว่าเป็นฐานการผลิตที่สำคัญแห่งหนึ่งของภูมิภาคเอเซีย

บริษัทต่างประเทศเหล่านั้น ได้กลายมาเป็นคู่แข่งที่สำคัญของบริษัทไทย ทั้งทางด้านการผลิตและส่งออก เหมือนกับที่ไทยก็เคยได้ชื่อว่าเป็นคู่แข่งที่สำคัญมาก่อน ในเรื่องความได้เปรียบในด้านการผลิตในสมัยเริ่มแรก

ไม่ว่าจะเป็นบริษัท บีจูส์ ดามูร์ ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของญี่ปุ่น บริษัท เอสเซกอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัทของอเมริกา ซึ่งทั้ง 2 ย้ายฐานการผลิตมาอยู่ในประเทศไทย อาศัยฐานแรงงานฝีมือของไทย

บีจูส์ ดามูร์ ได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเมื่อปี 2528 ตั้งโรงงานผลิตและส่งออกเครื่องประดับอัญมณีที่ผลิตจากทองคำ แพลตตินั่มและอัญมณีแท้ไปยังต่างประเทศทั้งหมด โดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI

สินค้าที่ผลิตได้แก่ แหวน สร้อยคอ สร้อยข้อมือ จี้ เข็มกลัด ต่างหู ซึ่งมีราคาอยู่ระหว่าง 100-500 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทยในราว 2,600-13,000 บาท/ชิ้น (จัดว่าเป็นสินค้าในระดับราคาปานกลางถึงระดับสูง)

และได้จดทะเบียนเข้าเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อปี 2534 โดยมีบริษัท ยามานาชิคิมโปชา จำกัด จากญี่ปุ่นเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ด้วยสัดส่วน 35% ของทุนจดทะเบียน

ตลาดที่สำคัญ คือ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เยอรมัน สเปน สวิตเซอร์แลนด์ และเบลเยี่ยม ฯลฯ ญี่ปุ่นถือว่าเป็นตลาดหลัก และรองลงไปคือ สหรัฐอเมริกา ประเทศอื่น ในสัดส่วน 52:18:30 ซึ่งจัดว่าเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สำคัญรายหนึ่ง

เดือนมีนาคมปี 2535 ที่ผ่านมา บีจูส์ ดามูร์ มีแผนการที่จะเข้าร่วมลงทุนและการเข้าซื้อกิจการอัญมณีในต่างประเทศ ทั้งในอเมริกาและยุโรป ซึ่งก็อยู่ระหว่างการคัดเลือกพิจารณาบริษัทที่เหมาะสม

ส่วนบริษัทเอสเซก อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้ผลิตส่งออกอัญมณีรายใหญ่อีกรายหนึ่งเช่นกัน ย้ายฐานเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อ ปี 2527 และเข้าเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2534 เช่นเดียวกัน เอสเซกฯ มีบริษัทแม่อยู่ในอเมริกา คือบริษัท TOWN & COUNTRY CORPORATION (T & C) และถือหุ้นใหญ่ในเอสเซกฯ กว่า 60% ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด

เอสเซกฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุน BOI เพื่อผลิตส่งออกเครื่องประดับอัญมณีที่ทำด้วยทองประดับด้วยอัญมณีแท้ จำหน่ายไปยังต่างประเทศทั้งหมด

ตัวสินค้าที่ผลิตได้แก่ แหวน จี้ ต่างหู สร้อยคอ กำไล และสร้อยข้อมือ ภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัทคือ "ESX" และเครื่องหมายการค้าของลูกค้า

ตลาดที่สำคัญคือ อเมริกา โดยมีการจำหน่ายให้กับบริษัทแม่ ซึ่งคิดเป็น 70% ของการส่งออกทั้งหมดและอีก 30% จำหน่ายให้กับลูกค้าของบริษัทเอง

ทั้ง 2 บริษัทนั้น เคยประสบกับปัญหาขาดแคลนแรงงานฝีมือเจียระไน และการบริหารงานบุคคลในอดีตที่ผ่านมา ทั้งในญี่ปุ่นก็ดี สหรัฐอเมริกาก็ดีเพราะอุตสาหกรรมนี้ต้องพึ่งแรงงานฝีมือจำนวนมาก ในการเจียระไนและการขึ้นรูปเครื่องประดับ

"ฝรั่งไม่มีใครทำงานนี้เพราะปกครองยาก" ปรีดา เตียสุวรรณ์ แห่งแพรนด้าฯ ผู้ผลิตอัญมณีชั้นนำของไทย เล่าให้ฟัง

แม้แต่ค่าแรงงานก็เป็นเหตุหนึ่งเหมือนกันสำหรับในประเทศที่พัฒนาแล้ว แรงงานเหล่านี้พอเริ่มมีระดับความรู้ความชำนาญจากการอบรมที่ดีขึ้น ค่าแรงจึงต้องขยับขึ้นมาเป็นเงาตามตัว

การจะกดแรงงานฝีมือเหล่านี้ไว้ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ยากและไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นการที่ค่าแรงงานที่ถีบตัวสูงขึ้น ปัญหาที่ตามมาคือ สินค้าที่ผลิตได้มีราคาแพง แข่งขันสู้ราคาในตลาด กับประเทศที่ได้เปรียบทางด้านค่าแรงงานที่ถูกกว่าไม่ได้

ฐานการผลิตเลยตกมาอยู่กับประเทศที่กำลังพัฒนาในหลายประเทศของเอเซีย รวมถึงประเทศไทยจนปัจจุบันนี้ ประเทศไทยกลายเป็นผู้ผลิตส่งออกอัญมณีเครื่องประดับรายใหญ่ของโลก

โดยทั่วไปของอุตสาหกรรมผลิตอัญมณีและเครื่องประดับของไทย ปัจจุบันมีผู้ผลิตอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ประมาณ 900 โรงงาน ส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานขนาดเล็ก และยังมีการบริหารในระบบครอบครัว

จะมีเพียง 3% เท่านั้นที่เป็นโรงงานขนาดใหญ่และมีการนำการบริหารในรูปของมืออาชีพมาใช้

ซึ่งเห็นได้ชัดว่า อุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ในอนาคตอีก 5 ปี 10 ปี เจ้าของบริษัทในประเทศไทยก็คงต้องดิ้นรนแสวงหาแหล่งที่มีค่าแรงงานต่ำ เช่นเดียวกับในอดีตของญี่ปุ่นและอเมริกา

อย่างในอินโดจีน หรือแหล่งอื่นๆ ที่มีแรงงานราคาถูกรองรับ เพราะอัตราค่าจ้างแรงงานของไทยเรานับวันก็ขยับตัวสูงขึ้นไปทุกขณะ

แต่ทุกวันนี้ก็ยังคงถือว่าสินค้าไทยยังได้เปรียบในเชิงการผลิตกับอีกหลายๆ ประเทศถึงแม้ว่าอนาคต ค่าแรงงานอาจจะต้องเพิ่มขึ้นมาอีก 7-8% ก็ตาม

ปัญหาที่สำคัญ และเป็นที่หนักใจในขณะนี้เห็นจะเป็นเรื่องของ "ฐานการตลาด" ซึ่งหมายถึงช่องทางการกระจายสินค้า

เพราะความเป็นจริง นักธุรกิจในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ยังต้องพึ่งผู้นำเข้าต่างประเทศเป็นคนกระจายสินค้า สู่มือผู้บริโภคเป็นส่วนใหญ่

จะสังเกตเห็นว่าที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการจัดแสดงสินค้า เพื่อดึงดูดผู้นำเข้าจากต่างประเทศให้เข้ามาซื้อสินค้ากลับไปจำหน่ายยังประเทศตน ปีละหลายๆ ครั้ง มีน้อยรายที่นักธุรกิจไทยจะรุกไปจำหน่ายสินค้าเองโดยตรง เพราะยังยึดถือธรรมเนียมเก่าๆ ของการค้าสมัยเริ่มแรก

ดังนั้นความจำเป็นที่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย จะต้องวิ่งออกไปข้างนอกเพื่อแสวงหาตลาดใหม่ๆ หรือมีกิจกรรมที่เตรียมกระโดดข้ามกำแพง เพื่อดำเนินการค้ากับต่างประเทศในตลาดโลกให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในขณะนี้

กลุ่มบริษัทแพรนด้า จิวเวลรี่ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกเครื่องประดับอัญมณีรายใหญ่ของไทย และเป็นผู้นำที่กำลังก้าวสู่ยุคของการค้าในระบบ GLOBALIZATION ด้วยออกไปวางรากฐานการตลาดในต่างประเทศ

โดยเข้าไปร่วมลงทุนกับบริษัทค้าอัญมณีและเครื่องประดับในต่างประเทศ และได้เข้าไปเทคโอเวอร์กิจการเหล่านั้นเพื่อเป็น "มาร์เก็ตติ้งอาร์ม" ใช้เป็นฐานกระจายสินค้าในเครือบริษัทฯ

แพรนด้า จิวเวลรี่ได้เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2527 ด้วยทุนจดทะเบียนแรกเริ่ม 25 ล้านบาท โดยปรีดา เตียสุวรรณ์ ในตำแหน่งประธานกรรมการ

ปรีดา เล่าว่า แพรนด้าไม่ใช่ธุรกิจที่เพิ่งเริ่มแต่ได้เริ่มมาเมื่อ 19 ปีที่แล้ว โดยช่วงนั้นไม่ได้จับงานด้านเครื่องประดับหรืออัญมณีเพียงอย่างเดียว ส่วนใหญ่จะจับงานด้านธุรกิจส่งออกเป็นหลัก แม้แต่อุตสาหกรรมเสื้อผ้าส่งออกก็เคยจับมาก่อน

แต่สำหรับอุตสาหกรรมเสื้อผ้า พอเริ่มต้นก็เห็นปัญหาเสียแล้ว เพราะมีระบบโควต้า ทำให้เกิดความไม่แน่นอน จึงเริ่มวางมือ หันมาจับธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับอย่างจริงจัง เพราะมองเห็นอนาคตที่แจ่มใสกว่า

โดยระยะเริ่มต้นเป็นการรับซื้อจากคนอื่นมาก่อน เพราะอยู่ในช่วงหาประสบการณ์ ทำไปได้ระยะหนึ่งเริ่มมองเห็นว่า การจ้างให้คนอื่นเจียระไนหรือทำเครื่องประดับให้ แม้จะซื้อเป็นจำนวนมากเท่าไรก็ตาม เมื่อมาถึงช่วงหนึ่งก็มีโอกาสที่ของจะไม่พอขาย

ปรีดา จึงผลักดันให้เกิดโรงงานขึ้นมา การผลิตด้วยตัวเองจึงทำให้บริษัทสามารถผลิตสินค้าได้ครบวงจรมากขึ้น จนในปัจจุบันโรงงานแพรนด้าฯ มีกำลังผลิตอัญมณีและเครื่องประดับ ถึง 1.2 ล้านชิ้น/ปี

สินค้าที่ผลิต คือ แหวน ต่างหู เข็มกลัด จี้ สร้อยคอ และสร้อยข้อมือ ภายใต้เครื่องหมายการค้า "PRANDA" ทำด้วย เงิน ทองคำ หรือทองเหลือง ซึ่งประดับตัวเรือนด้วยเพชรและพลอยต่างๆ 97% จะเป็นการผลิตเครื่องประดับ และอีก 3% เป็นอัญมณี

การผลิตสินค้ามีลักษณะที่เป็นแบบ MASS PRODUCTION ซึ่งเป็นสินค้าในเกรดระดับกลาง โดยมีตลาดในต่างประเทศที่สำคัญ คือสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และแคนาดา

โดยมีตลาดสหรัฐอเมริกา และยุโรปเป็นตลาดหลัก ซึ่งในยุโรปประเทศที่มีการนำเข้าที่สำคัญคือ เยอรมัน ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี และอังกฤษ ซึ่งถือว่า 5 ประเทศ นี่คือตลาดหลักของการสั่งซื้อของยุโรปทั้งหมด (หรือคิดเป็น 95%)

ในปี 2534 มีการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอมริกาคิดเป็น 32% และ 55% ในยุโรป จากการส่งออกทั้งหมดของบริษัทฯ และที่เหลือก็เป็นตลาดญี่ปุ่นบ้าง แคนาดาบ้าง ฯลฯ

มาในปี 2535 ตลาดสหรัฐอเมริกาได้มีการขยายตัวขึ้นมาเป็น 45% แต่ยุโรปตัวเลขได้ตกลงไปเหลือแค่ 40%

โดยมียอดขายรวมในปัจจุบันปี 2535 ประมาณ 1,349 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากในปี 2534 มาประมาณ 300 ล้านบาท

ในปัจจุบันแพรนด้า จิวเวลรี่ ได้เข้าไปร่วมลงทุนในบริษัทต่างๆ มากมาย (ดูจากตาราง) โดยเข้าถือหุ้นในบริษัทต่างๆ เหล่านั้นตั้งแต่ 10-80% ทั้งที่เป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับการผลิตอัญมณีเครื่องประดับ และธุรกิจอื่นๆ เช่นการผลิตของขวัญ ผลิตตุ๊กตา สำหรับการส่งออกไปต่างประเทศ

แต่ธุรกิจหลัก ยังคงเป็นการค้าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไปต่างประเทศ

สำหรับการค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ในโลกปัจจุบัน ปรีดา กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่าจำเป็นต้องมองแบบ GLOBALIZATION มากขึ้น ซึ่งการค้าในแบบ GLOBALIZATION นั้น มีการปฏิบัติที่เกิดขึ้นคือ 1 เป็นการเชื่อมโยงฐานทางด้านการผลิต และ 2 เป็นการเชื่อมโยงฐานทางด้านการตลาด

นั้นก็หมายความว่า การค้าจะเป็นการเชื่อมโยงการผลิตและการตลาดทุกภูมิภาคในโลกเข้าด้วยกัน คำว่า "ตลาด" ก็จะต้องเป็นตลาดโลกไม่ใช่การค้าเพียงประเทศภายในกลุ่ม

แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วแต่ละประเทศพยายามที่จะจัดตั้งกลุ่มการค้าออกมาเป็นกลุ่ม แต่แรงกดดันของยุคสมัยการค้าเสรี จะเป็นตัวผลักดันให้พรมแดนเหล่านั้นทะลุถึงกันโดยกลไกในตัวมันเอง

ในอดีตการเชื่อมโยงฐานการตลาดมีการทำกันมานานแล้ว ที่เห็นได้ชัดอย่างประเทศญี่ปุ่น ในช่วงแรกๆ ได้ส่งออกสินค้ามาจำหน่ายในต่างประเทศ ด้วยการจ้างให้เอเย่นต์ เป็นผู้จำหน่ายสินค้าที่ผลิตในญี่ปุ่นให้ก่อน

แล้วในที่สุดเมื่อเห็นช่องทางว่ามีโอกาสดี นักธุรกิจญี่ปุ่นก็เข้าไปเปิดกิจการเอง ซึ่งทำกันอย่างนี้มานานกว่า 30 ปี จะเห็นว่ามีบริษัทญี่ปุ่นอยู่ทั่วทุกหนทุกแห่งในโลก

แต่สำหรับการเชื่อมโยงฐานการผลิต เพิ่งจะมีการปฏิบัติเกิดขึ้นกันมา ในระยะ 5-6 ปีที่ผ่านมานี่เอง

เพราะฉะนั้นประเทศไทย หากต้องการจะรักษาตำแหน่งในแง่การผลิต ที่ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมหลักที่พึ่งพาตลากโลกแล้ว ต้องพยายามออกไปสู่ระดับอินเตอร์เป็นแบบ "GLOBALIZATION" ให้มากขึ้น

"หากว่าเราผลิตสินค้าแล้วต้องขายผ่านคนอื่น ในอนาคตเราจะไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะนำไปต่อรองทั้งสิ้น แม้แต่ข้อมูลเราก็ไม่มี" ปรีดา กล่าวถึงประสบการณ์ที่ตนได้ประสบมา

ด้วยเหตุนี้ปรีดา ประธานกรรมการกลุ่มแพรนด้า จิวเวลรี่จึงตัดสินใจนำธุรกิจของตนออกไปวางฐานการตลาด โดยเข้าไปซื้อบริษัทอัญมณีทั้งในสหรัฐอเมริกา และยุโรป ด้วยการเล็งการณ์ไกลของการกระจายสินค้าในอนาคต ที่จะมีบทบาทต่ออุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย ที่ถือว่าได้เปรียบที่ไทยมีฐานการตลาดที่แข็งแกร่งในปัจจุบัน

แพรนด้า จิวเวลรี่ ได้เข้าไปซื้อกิจการ บริษัท เกรเวย์ เทรดดิ้ง ซึ่งบริษัทนี้เป็นเทรดดิ้ง คัมปานีอยู่ในมลรัฐ โรด ไอแลนด์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นของนายคริสโตเฟอร์ คาเทนซาโร เมื่อประมาณต้นปี 2535

ปรีดา ได้เล่าถึงเบื้องหลังว่า เดิมทางแพรนด้ามีหุ้นอยู่ในเกรเวย์อยู่แล้ว สาเหตุที่เขาขายให้นั้นไม่ใช่ว่าเขามีปัญหา เพียงแต่ว่าซัพพลายไลน์ อื่นๆ ของเขาลดลง จนแพรนด้ากลายมาเป็นเมเจอร์ซัพพลาย และอีกประการหนึ่งตัวเจ้าของเองอายุก็มากแล้วและลูกหลานก็ไม่สนใจ

จากการทำธุรกิจร่วมกันมานาน แพรนด้าเองก็เป็นผู้สนับสนุนทางด้านการเงินให้ด้วย โดยการหาเงินมาให้กู้ พอมาถึงจุดหนึ่ง เกรเวย์จึงเสนอขายให้กับแพรนด้า

ปรีดาจึงตัดสินใจซื้อกิจการทันที ซึ่งปรีดาถือว่าเป็นการรวม 2 บริษัทเข้าด้วยกัน ในลักษณะของการสวอปหุ้นมากกว่า โดยนำหุ้นของทั้ง 2 มาตีราคาเป็นตัวเงิน

"เขาขายเกรเวย์ให้เราประมาณ 1 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ 25 ล้านบาทแล้วเขาก็เข้ามาซื้อหุ้นในแพรนด้า 1 ล้านเหรียญสหรัฐเช่นกัน รู้สึกว่าเราตีราคาหุ้นของแพรนด้าในขณะนั้นประมาณ 150 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาตลาดเล็กน้อย" ปรีดา กล่าว

และหลังจากนั้น ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น บริษัท แพรนด้านอร์ทส อเมริกา (PRANDA NORTH INC.) เพราะไม่จำเป็นต้องอาศัยชื่อแบรนด์หรือที่เรียกกันว่า "กู๊ดวิลล์"

ซึ่งการเข้าไปซื้อกิจการในครั้งนี้ ทำให้การขยายตลาดทั้ง 2 ประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะการจะตัดสินใจดำเนินการอะไรทำได้สะดวกและรวดเร็วกว่าในอดีตที่ผ่านมา

จะมีผลทำให้แพรนด้า เข้าไปมีส่วนร่วมในด้านการตลาดและการขายสินค้าในตลาดสหรัฐอเมริกาโดยตรง ซึ่งตลาดอเมริกาถือว่าเป็นตลาดที่สำคัญตลาดหนึ่ง ที่จะมารองรับสินค้าประเภทอัญมณีและเครื่องประดับ

และยังเป็นการปูฐานการตลาด เพื่อเข้าควบคุมช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าได้ดีขึ้น เพราะเกรเวย์มีเซลส์อยู่ทั่วทั้งอเมริกา ซึ่งเหมือนกับการ "ซื้อมือซื้อแขน"

นอกจากนั้น แพรนด้า จิวเวลรี่ยังได้เข้าไปซื้อกิจการในประเทศฝรั่งเศสอีกด้วย คือซื้อ HOURDEQUIN GRINGOIRE SARL. ซึ่งเป็นบริษัทค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่มีชื่อเสียงของฝรั่งเศส

"ที่ฝรั่งเศส ก็เช่นเดียวกันกับสหรัฐอเมริกา เพราะอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของเขามันฝ่อลง เราจึงขอซื้อกิจการของเขามาเลย 100% ในราคา 30 ล้านบาท ไม่ได้สวอปหุ้นเหมือนในอเมริกา" ปรีดา กล่าว

ซึ่งเดิม GRINGOIRE นั้นถือเป็นเหมือนยี่ปั้ว ทำการค้าโดยรับซื้อสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่ผลิตขึ้นในฝรั่งเศสเอง เป็นการทำธุรกิจภายในประเทศ ขายสินค้าที่วางตำแหน่งในระดับบนมีราคาค่อนข้างสูง

แต่ช่วงหลังสินค้าที่ผลิตขึ้นมาฝรั่งเศส เกิดมีราคาที่สูงขึ้นมาก GRINGOIRE จึงหันมาทำการค้ากับซัพพลายเออร์ใหม่จากต่างประเทศ โดยเฉพาะแพรนด้า จิวเวลรี่

ความจริงแล้วสินค้าของฝรั่งเศสไม่ได้แพงขึ้นมากมายอะไร แต่เพราะมีสินค้าอย่างของไทยเข้าไปตีตลาด เขาก็เลยหันมาค้ากับลูกค้าไทยดีกว่า

จนมาในระยะหลังยอดขายของบริษัทนี้ได้ตกลงไปมาก เพราะสาเหตุที่เจ้าของกิจการเริ่มแก่ลง จึงไม่มีความกระตือรือร้นที่จะทำ เพราะว่าการค้าอัญมณีและเครื่องประดับจำเป็นต้องวิ่งตามแฟชั่นอยู่ตลอดเวลา

เลยทำให้มีรายได้ไม่คุ้มกับค่าใช้จ่าย จนในที่สุด จึงต้องตัดสินใจขายบริษัทให้กับแพรนด้า ซึ่งเป็นเมเจอร์ซัพพลาย

การเข้าไปของแพรนด้า ในบริษัทนี้ ได้มีการจัดตลาดใหม่ เพราะว่าสินค้าที่ขายอยู่เดิมเป็นสินค้าระดับสูง ซึ่งต้องวางในตำแหน่งที่สูง แต่เมื่อแพรนด้า มีสินค้าอยู่หลายระดับ จึงได้ขยายบริษัทออกมาตั้งเป็นอีกบริษัทหนึ่ง เพื่อตอบสนองลูกค้าในระดับล่างลงมาอีก

นอกจากนี้แพรนด้า จิวเวลรี่ยังได้เข้าไปร่วมลงทุนในอีกหลายบริษัท อย่างในอิตาลี เข้าร่วมทุนกับ SIGNORIA มีสัดส่วนถือหุ้นอยู่ 50% และขณะนี้ได้ไปร่วมลงทุนตั้งบริษัทในประเทศเยอรมันอีก โดยร่วมทุนกับบริษัท VHP DESIGN SCHMUCK VERTRIEBS GMBH มีสัดส่วนการถือหุ้น 55%

และยังมีในสเปน สวิตเซอร์แลนด์ อีกด้วย…

"ที่ผ่านมาเราเห็นว่า บริษัทญี่ปุ่นเข้ามาเจาะตลาดในยุโรป หรือในประเทศต่างๆ มานาน เมื่อเขามีความสามารถที่จะเจาะไปในตลาดได้… จึงทำให้เกิดอำนาจต่อรองกับรัฐบาลในประเทศนั้นๆ มากขึ้นซึ่งต่างกับบริษัทเรามาก" ปรีดา ยกตัวอย่างแนวคิดของบริษัทญี่ปุ่นถึงการวางแผนเจาะตลาด

ดังนั้นเป้าหมายคือ แพรนด้าต้องการเดินอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่กับบริษัทของญี่ปุ่นให้จงได้

การเข้าไปซื้อกิจการที่ดำเนินงานอยู่แล้ว จะเป็นทางลัดเลาะ ที่ได้ผลมากที่สุดด้วยการอาศัยความได้เปรียบของช่องทางการจัดจำหน่าย เพราะพนักงานก็คือคนในท้องถิ่น

ความหลากหลายของภาษา ก็คือ อุปสรรคสำคัญ เมื่อมีตัวแทนที่เป็นของบริษัทฯ เอง แต่เข้าใจในวัฒนธรรมเพราะฉะนั้นการไปร่วมลงทุนกับคนในท้องถิ่น ที่มีความรู้ความชำนาญตลาดของตนเป็นอย่างดี จึงเท่ากับว่าเป็นการปูพื้นตลาดได้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ผู้ซื้อสินค้ามีความเชื่อมั่นในสินค้า เชื่อถือในการบริการ เพราะสามารถดูแลลูกค้าได้ใกล้ชิดกว่าและยังช่วยขยายตลาดได้ดียิ่งขึ้น

มาตรฐานสินค้า เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ หากไม่มีบริษัทที่มาดำเนินการผ่านพิธีการอันนี้แล้ว จะเกิดการล่าช้าของการนำเข้ามาก

แต่ละประเทศจะมีการกำหนดมาตรฐานสินค้าของตนไว้ ตัวอย่างในประเทศฝรั่งเศส จะมีเจ้าหน้าที่เรียกว่า "เอสเสออฟฟิศ" มาคอยตรวจคุณภาพของการนำเข้าทอง หรือในอังกฤษ จะเรียกว่า "โกลด์สมิตฮอลล์"

พวกนี้จะจัดตั้งขึ้นมาในลักษณะของมูลนิธิ เป็นผู้ที่คอยตรวจมาตรฐานสินค้า โดยอาศัยรายได้จากค่าธรรมเนียมมาใช้ในการดำเนินการ

ยกเว้นบางอย่างในสหรัฐอเมริกา เยอรมัน สวิส ที่ถือว่าผู้ซื้อ หรือผู้นำเข้าต้องเป็นผู้พิจารณาเลือกซื้อสินค้าด้วยตัวเอง ไม่มีการกำหนดมาตรฐานใด เพราะฉะนั้นในบางประเทศการมีบริษัทเป็นของตนเอง จะสามารถอำนวยความสะดวกทำให้พิธีการตรวจทำได้รวดเร็วขึ้น

สำหรับการเข้าไปในสหรัฐอเมริกาของแพรนด้า จิวเวลรี่ พบว่าอุปสรรคสำคัญของการทำธุรกิจที่นั่นคือปัญหาเรื่องภาษีซ้อน

ซึ่งเป็นปัญหาที่แพรนด้ากำลังปวดหัวเป็นอย่างมาก อเมริกากับไทยไม่มีข้อตกลงร่วมกันในเรื่องภาษีซ้อน ทำให้เราต้องเสียภาษีที่เกิดขึ้นในอเมริกาหรือในประเทศไทยที่จะต้องส่งกลับไปซ้ำซ้อนกัน

"ตอนนี้เรามีกำไรอยู่ 10 ล้านบาทที่เกิดขึ้นในอเมริกา เราไม่สามารถส่งกลับมาประเทศไทยได้เพราะเมื่อไรที่ส่งกลับมา ก็ต้องเสียภาษีถึง 2 ที่" ปรีดากล่าวกับ "ผู้จัดการ"

ปัญหาเรื่องภาษีซ้อนนั้น จึงทำให้นักธุรกิจที่ทำการค้ากับสหรัฐอเมริกา จำต้องหาวิธีการ หลบเลี่ยง วิธีหนึ่งที่ผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับนำมาใช้กันคือ การเจตนาให้มีการถ่ายเทเงินในระบบบัญชี ด้วยการสั่งซื้อสินค้าไปจำหน่ายในราคาที่แพง หรือที่เรียกกันว่า TRANSFER PRICING ไม่ว่าจะถ่ายจากประเทศไทยสู่อเมริกา หรือจากอเมริกามาสู่ไทย

ในความเป็นจริงแล้ว นักธุรกิจคงไม่มีผู้ใดจะยอมเสียภาษีซ้ำซ้อนเป็นแน่

สำหรับปัญหาอื่นโดยภาพรวมแล้วการออกไปดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ คือปัญหาทางด้านวัฒนธรรม ปัญหาการควบคุมไม่ให้ระบบบัญชีรั่วไหลซึ่งต้องเข้าไปควบคุมอย่างใกล้ชิด

ทั้งหมดจึงเป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้ม และวิถีทางของอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาการส่งออก

ซึ่งนับวันการแข่งขันของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยก็จะรุนแรงขึ้น เป้าหมาย 1 แสนล้านในอนาคตจะมีความเป็นไปได้หรือไม่

ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องมีนโยบายและการกำหนดทิศทางที่ชัดเจน ในระดับประเทศเพื่อที่จะมารองรับกับอุตสาหกรรมหลักที่กำลังจะถูกแย่งชิงฐานการตลาด

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us