|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ สิงหาคม 2527
|
 |
มากกว่างบประมาณประเทศไทย 6 เท่า
การค้ายาเสพติดในขณะนี้ มิได้ดำเนินการอย่างตามบุญตามกรรมอีกต่อไปแล้ว และก็มิได้เป็นการดำเนินไปอย่างปิดบังซ่อนเร้น
ภายใน 10 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจค้ายาเสพติดกลายเป็นกิจการที่สร้างความร่ำรวยละเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วด้วยรายได้จำนวนมหาศาลและเป็นกิจกรรมที่แผ่ขยายไปทั่วโลก ซึ่งไม่สามารถคาดจำนวนได้อย่างถูกต้อง เพียงแต่อาศัยการประมาณโดยหยาบๆ เท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทน้ำมัน EXXON ในสหรัฐฯ ที่เป็นเพียงบริษัทเดียวที่มียอดรายได้ต่อปีเกินกว่า 79,000 ล้านนั้น ทางองค์การบริหารเพื่อป้องกันยาเสพติด ประมาณว่าใกล้เคียงกับยอดขายของยาเสพติด
เช่นเดียวกับธุรกิจอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตอื่นๆ การผลิตและจำหน่ายยาเสพติดดำเนินการต่อเนื่องโดยกลุ่มบุคคลที่โลภความมั่งคั่งในทรัพย์สมบัติ โดยนักบริหารและนักลงทุนซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลางและได้รับการสนับสนุนจากนายธนาคาร, นักกฎหมายและนักการเงิน เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์อันมหาศาลซ้ำยังไม่ต้องเสียภาษีแต่อย่างใด และตลอดเวลาบุคคลเหล่านี้จะพิจารณาเพื่อขยายกิจการออกไปทั้งในด้านการผลิต, ตลาด และผลประโยชน์
ในประเทศด้อยพัฒนาในโลกที่สาม การดำเนินธุรกิจค้ายาเสพติด จะช่วยให้ประเทศมีเงินตราสกุลแข็งเข้าประเทศ และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจของประเทศ
ยกตัวอย่างประเทศโคลัมเบียตามถ้อยแถลงของสมาคมสถาบันการเงินแห่งชาติ กัญชาและโคเคนเป็นผลผลิตที่นำเงินตราต่างประเทศได้มากกว่ากาแฟและไม้ดอกซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ (ถูกต้องตามกฎหมาย)
ผลก็คือโคลัมเบียเป็นประเทศที่ไม่เคยมีปัญหาเรื่องดุลการชำระเงิน
หรือประเทศจาไมกา องค์การบริหารเพื่อป้องกันยาเสพติดกล่าวว่า รายได้จากการขายกัญชาปีละ 12,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีนั้นทำให้ประเทศมีรายได้มากกว่ามูลค่าสินค้าส่งออกทุกชนิดรวมกัน
อุปสงค์และอุปทานของยาเสพติด
แรงผลักดันที่อยู่เบื้องหลังการเพิ่มจำนวนจำหน่ายยาเสพติดก็คือ มีการใช้ยาเสพติดเพิ่มขึ้น
สถาบันยาเสพติดของสหรัฐฯ ประมาณไว้ว่า ชาวอเมริกัน 54 ล้านคน เสพกัญชา 22 ล้านคน ติดโคเคน และเป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษนี้ที่อัตราการเสพเฮโรอีน มีปริมาณสูงขึ้นในเมืองใหญ่ๆ
ในประเทศอื่นๆ การจำหน่ายยาเสพติดมีผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพราะมีส่วนบ่อนทำลายความมั่นคงสถาบันการเมืองและสังคม ตั้งแต่สถาบันทางการเงินไปจนถึงศาลยุติธรรม และจนที่สุดถึงรัฐบาลในหลายต่อหลายประเทศ
การผลิตและจำหน่ายยาเสพติดจำเป็นจะต้องดำเนินไปเพราะแรงผลักดันทางเศรษฐกิจ อาทิ ประเทศโบลิเวีย และเปรู ผู้ค้ายาเสพติดอาจจะต้องใช้เงิน...อาจจะต้องใช้ความรุนแรงอย่างเปิดเผย...เพื่อบีบบังคับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการท้าทายต่อความอยู่รอดของการปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง
ยาเสพติด-เงิน-และความตาย
แน่นอนปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดให้โทษ เกี่ยวพันกับผลประโยชน์ทางการเงินอย่างแยกไม่ออก
ในขณะที่ประเทศโบลิเวียมีสินค้าขาออกถูกต้องตามกฎหมาย เช่นดีบุก ซึ่งทำเงินเข้าประเทศถึงปีละ 800 ล้านดอลลาร์ต่อปี
แต่โคเคนสามารถทำรายได้เข้าประเทศถึง 10 เท่า
ผลก็คือ ผู้ค้ายาเสพติดในประเทศโบลิเวียมีอำนาจพอๆ กับรัฐบาลกลางและที่ยิ่งกว่าก็คือมีเงินมากกว่ารัฐบาลรวมทั้งมีอาวุธยุทโธปกรณ์พอๆ กับตำรวจและกองทัพของชาติ
มีหลายประเทศที่ไม่จำเป็นต้องทำการปลูกหรือผลิตยาเสพติดเอง แต่ก็สามารถหาเงินได้จากการเป็นผู้ขนส่ง หรือจำหน่ายยาเสพติดหรืออาจใช้เงินจากยาเสพติด เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง
ประเทศบัลแกเรียขณะนี้ไม่อนุญาตให้มีการปลูกฝิ่นหรือการผลิตมอร์ฟีน หรือโคดีอินเพื่อนำไปใช้ในทางการแพทย์
แต่บัลแกเรียมีจุดมุ่งหมายในการดำเนินการค้ายาเสพติดด้วยเหตุ 2 ประการ
ประการแรก ต้องการบั่นทอนความมั่นคงของโลกตะวันตกด้วยยาเสพติด
ประการที่สอง ก็คือต้องการเงินตราต่างประเทศสกุลแข็งเข้าประเทศ
ดังนั้นบัลแกเรียจึงยินยอมให้มีการขนย้ายเฮโรอีนข้ามแดนอย่างเปิดเผย ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวปีละ 5 ล้านคน บัลแกเรียจึงจัดให้บัตรซื้อ-ขายยาเสพติดตลอดทาง ตั้งแต่บริเวณที่ราบลุ่มทองคำพระจันทร์เสี้ยว ของอาฟกานิสถาน, อิหร่านและปากีสถานสู่ยุโรปตะวันตกและสหรัฐอเมริกา
เงินจำนวนมหาศาลซึ่งได้มาจากการค้ายาเสพติด สร้างผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศผู้ผลิตยาเสพติด ในประเทศโคลัมเบีย โบลิเวีย และเปรู
เกษตรกรจำนวนมากเลิกปลูกพืชผลอย่างอื่นแล้วหันมาปลูกกัญชาและโคเคนแทน ซึ่งสามารถทำรายได้สูงกว่าเดิม 3-4 เท่าต่อปี
แต่ประเทศผู้ผลิตยาเสพติดเหล่านี้ ดูเหมือนว่าจะได้รับผลประโยชน์อย่างแท้จริงจากการค้ายาเสพติดเพียงน้อยนิด เพราะรายได้ส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้จ่ายเพื่อซื้อหาของฟุ่มเฟือยมาใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเหล่านั้นต้องสั่งมาจากต่างประเทศ แทนที่จะใช้เงินที่ได้นำไปลงทุนในระยะยาวทางด้านอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม
ตัวอย่างเช่นในประเทศโบลิเวียมีเงินตราต่างประเทศเพียง 300 ล้านดอลลาร์เท่านั้นที่หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้จากการขายโคเคนและโคคานับพันล้านดอลลาร์
สำหรับประเทศโคลัมเบียมีเงินเหลืออยู่เพียง 1/3 ของเงิน 3 พันล้านดอลลาร์จากการส่งออกโคเคนและกัญชา
ยิ่งในเวลาเดียวกันสถาบันทางการเงินของอเมริกันบางแห่งได้รับผลประโยชน์อย่างมากมายในการเกี่ยวข้องกับธุรกิจค้ายาเสพติด โดยทำหน้าที่จ่ายโอนเงินจำนวนมหาศาลจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง และโดยการนำเงินจากการค้ายาเสพติดไปลงทุนทำกิจกรรมที่ถูกต้องตามกฎหมาย (เช่นให้กู้ยืม)
จากการสอบสวนร่วมระหว่างกระทรวงการคลังและกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ ที่เริ่มตั้งแต่ปี 1980 และจากการดำเนินงานตามแผนกรีนแบ็ค (OPERATION GREEN BACK) พบว่ามีธนาคารหลายแห่งในฟลอริดาจำนวนหนึ่งในธนาคารหลายๆ แห่ง ที่ติดต่อธุรกิจกับผู้ค้ายาเสพติด โดยให้บริการด้านการเงินร่วมกับธนาคารในต่างประเทศที่ดำเนินการเพื่อการนี้ มีการเปิด LC ( LETTER OF CREDIT) เพื่อนำเงินไปดำเนินธุรกิจตามปกติ (ที่ถูกกฎหมาย) ระหว่างธนาคารต่างๆ เหล่านี้ จากการดำเนินการตามแผนกรีนแบ็คทำให้สามารถจับกุมนักค้ายาเสพติดได้ 61 ราย และยึดยาเสพติดได้เป็นมูลค่า 20 ล้านดอลลาร์
ในการปราบปรามยาเสพติด วิธีที่ประหยัดที่สุดก็คือการทำลายแหล่งผลิตโดยตรง และได้ผลดีกว่าการใช้วิธีการจับกุมตามจุดชายแดนที่ยาเสพติดเล็ดลอดเข้ามา และเป็นการลำบากยิ่งขึ้นถ้าหากยาเสพติดเหล่านี้หลุดลอดเข้าไปในประเทศแล้ว
นี่เองทำให้นโยบายต่อต้านยาเสพติดตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เน้นการทำงานร่วมกับรัฐบาลแต่ละประเทศ เพื่อเพิ่มความสามารถของรัฐบาลประเทศนั้นๆ ในการปราบปรามยาเสพติด แต่นโยบายนี้เป็นไปได้ทางทฤษฎีเท่านั้น เพราะในทางปฏิบัติได้ผลน้อยมาก
ในปี 1980 สหรัฐฯ เร่งเร้าให้ประเทศโคลัมเบียปราบปรามการลักลอบปลูกกัญชา ซึ่งมีแหล่งใหญ่อยู่ที่แหลมกัวชิรา เจ้าหน้าที่ในกรุงโบโกตากล่าวว่า ที่สหรัฐฯ เร่งดำเนินการปราบปรามนี้เพราะไม่ต้องการให้กัญชาของโคลัมเบียเข้าไปแข่งขันกับกัญชาของสหรัฐฯ ซึ่งกำลังขยายการผลิต ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อมีการปราบปรามการผลิตกัญชา นักค้ายาเสพติดจึงหันไปผลิตโคคาเป็นการชดเชย
ปัจจุบันประเทศโคลัมเบียได้สั่งซื้อใบโคคาและยางโคคาจากโบลิเวียและเปรูเพื่อสกัดเป็นโคเคนถึง 95% และรัฐต่างๆ ในโคลัมเบียยังมีโครงการขนาดใหญ่ที่จะผลิตโคคาซึ่งอยู่ในวินิจฉัยที่นักค้ายาเสพติดจะดำเนินการเองได้
โคคาล้นตลาด
เนื่องจากมีการผลิตโคคาในโบลิเวียและเปรูเป็นจำนวนมหาศาล รวมทั้งโคลัมเบียก็มีการผลิตโคคาเองด้วย ทำให้ราคาของโคคาลดต่ำลงจากกิโลกรัมละ 600 ดอลลาร์เป็น 300 ดอลลาร์ และถ้าหากทั้ง 3 ประเทศดังกล่าวเปิดการแข่งขันกันในตลาดโคเคนของสหรัฐฯ แล้ว ราคาจะลดลงต่ำกว่านี้ ซึ่งหมายความว่าปริมาณการเสพโคเคนจะต้องมีเพิ่มขึ้น
เป็นเรื่องยากมากในการที่สหรัฐฯ จะขอความร่วมมือจากรัฐบาลต่างประเทศในการที่จะปราบปรามยาเสพติด เพราะย่อมหมายถึงผลกระทบในทางลบต่อสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ เพราะความต้องการโคเคนยังมีอยู่อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งย่อมหมายถึงเงินดอลลาร์ที่จะเข้าประเทศ เท่าที่ผ่านมามีผลคืบหน้าเพียงเล็กน้อย ในการลดการเสพโคเคนและกัญชาในสหรัฐอเมริกา อันเนื่องจากการดำเนินการตามกฎหมาย แต่หากใช้วิธีการให้การศึกษาถึงผลร้ายของยาเสพติด และการช่วยฟื้นฟูสภาพของผู้เสพติด จะให้ผลได้มากกว่า
ปัญหายาเสพติดยังคงเป็นมะเร็งร้ายของโลกต่อไป และการค้ายาเสพติดโคเคนก็ทวีขึ้น ในขณะที่ราคาของโคเคนในตลาดก็จะลดลงไปเรื่อยๆ มีการประมาณว่า ปริมาณการเสพกัญชาจะคงที่ และปริมาณการเสพเฮโรอีนจะเพิ่มขึ้น
มีบุคคลหลายกลุ่มที่ได้รับประโยชน์ถ้าหากเอาหูไปนาเอาตาไปไร่กับการค้ายาเสพติด อาทิ เจ้าหน้าที่ของรัฐ และนักการเมืองผู้บริหารประเทศก็จะไม่ต้องรับผิดชอบต่อปัญหายาเสพติดซึ่งนับวันจะขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ นายธนาคารก็จะได้รับผลประโยชน์ทางอ้อมจากธุรกิจค้ายาเสพติด เพื่อสร้างเสริมฐานะความมั่นคงให้กับธนาคาร ผลร้ายต่างๆ ของยาเสพติดที่สะสมมานมนานก็เนื่องจากการปิดไม่ให้เห็นสภาพอันแท้จริงของปัญหาที่กำลังเกิดอยู่
|
|
 |
|
|