สไตล์การทำงานแบบเจ้าบุญทุ่ม ที่ทุ่มบริจาคที่ดิน เพื่อดึงโครงการของภาครัฐเข้ามาในเมืองทองธานีแจ้งวัฒนะนั้น
เป็นกลยุทธ์ที่โดดเด่นของอนันต์ กาญจนพาสน์ มานาน ตัวอย่างที่มีให้เห็น เช่นการบริจาคที่ดินเพื่อสร้างมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
การบริจาคที่ดินสร้างสำนักงานที่ดินนนทบุรี การบริจาคที่ดินให้โรงเรียนเซนต์ฟรังซิซาเวีย
รวมทั้งยกที่ดินให้การไฟฟ้าฯ อีกหลายจุดเพื่อทำสถานีไฟฟ้าย่อย
ในขณะที่ราคาประเมินของที่ดินในเมืองทองธานี ปัจจุบันเฉลี่ยแล้วราคาประมาณตารางวาละ
1.8 หมื่น - 5 หมื่นบาท ดังนั้นถ้าคิดเป็นเงินก็จ่ายไปนับเป็นพันล้านบาทแล้ว
โดยเฉพาะในปี 2539 ที่ผ่านมา เขาได้บริจาคที่ดินเพื่อทำโครงการสปอร์ตคอมเพล็กซ์
30 ไร่ ให้กับการกีฬาแห่งประเทศไทย และบริจาคที่ดินให้กับการทางพิเศษฯ เพื่อใช้ก่อสร้างทางด่วนแจ้งวัฒนะ-บางไทร
90 ไร่ คิดเป็นมูลค่าถึง 2,610 ล้านบาท ถึงแม้ว่าที่ดินส่วนใหญ่ในเมืองทองธานีจะมีต้นทุนที่ดินถูก
เพราะเป็นที่ดินเก่าที่ซื้อมานานกว่า 20 ปี แต่อนันต์ก็ได้ทุ่มเทลงทุนในเรื่องระบบสาธารณูปโภคไปแล้วหลายร้อยล้านบาท
ในโครงการสปอร์ตคอมเพล็กซ์นั้น นอกจากต้องบริจาคที่ดินแล้ว ทางบีแลนด์ต้องมอบเงินสนับสนุนนักกีฬาไทยอีกจำนวน
100 ล้านบาท โดยแบ่งจ่ายเป็นงวดๆ ละ 25 ล้านบาทจนถึงการแข่งขัน และต้องลงทุนก่อสร้างด้วยงบประมาณของบริษัทเองเป็นมูลค่ากว่า
3,099 ล้านบาท
ส่วนโครงการทางด่วนแจ้งวัฒนะ-บางไทรนั้น ทางขึ้นลงในเมืองทองธานี บีแลนด์ต้องออกค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างเองประมาณ
200 ล้านบาท
สปอร์ตคอมเพล็กซ์ในโครงการเมืองทองธานีกำลังเร่งการก่อสร้าง โดยบริษัท
บวิคไทย (จำกัด) ซึ่งเป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่มีบริษัทแม่อยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส
เป็นบริษัทที่อนันต์ยืนยันว่าเป็นบริษัทรับเหมารายใหญ่รายหนึ่งของโลก ที่มีผลงานก่อสร้างมากมาย
ดังนั้นจึงไม่มีปัญหาเรื่องการก่อสร้างแน่นอน
ถึงแม้บริษัทรับเหมาก่อสร้างไม่มีปัญหา แต่บีแลนด์ก็จะถูกวิจารณ์อย่างหนักในเรื่องของการประสบปัญหาเรื่องการเงินนั้น
จะส่งผลกระทบต่อการก่อสร้างโครงการนี้หรือไม่ ซึ่งอนันต์ก็ยืนยันว่าสปอร์ตคอมเพล็กซ์นี้จะแล้วเสร็จ
และส่งมอบให้กับการกีฬาแห่งประเทศไทยในเดือนกรกฎาคม 2541 แน่นอน ซึ่งเป็นเวลาก่อนแข่งขัน
6 เดือน
สปอร์ตคอมเพล็กซ์ในโครงการเมืองทองธานี จะประกอบไปด้วย
1. อาคารเพื่อการแข่งขันมวยสมัครเล่น 1,000 ที่นั่ง
2. อาคารเพื่อแข่งขันยิมนาสติก 5,000 ที่นั่ง
3. อาคารเพื่อการแข่งขันยกน้ำหนัก 5,000 ที่นั่ง
4. อาคารเพื่อการแข่งขันวอลเลย์บอลชาย - หญิง 3,000 ที่นั่ง
5. อาคารเพื่อการแข่งขันสนุกเกอร์ และบิลเลียด
6. สนามฟุตบอล และสนามฝึกซ้อมกรีฑาขนาด 8 ลู่วิ่งพร้อมที่นั่ง 5,000 ที่นั่ง
7. สนามเทนนิส 12 สนาม พร้อมเซ็นเตอร์คอร์ท
8. สระว่ายน้ำ 2 สระ
อาคารหลังนี้ถูกออกแบบสถาปัตย์ทางอาคารโดย บริษัท ดีไซน์ดีเวลลอปของมติ
ตั้งพานิช มีบริษัทสินธุ พูรศิริวงศ์คอนซัลแตนท์ส จำกัด ออกแบบวิศวกรรมและควบคุมการก่อสร้าง
ส่วนโครงการทางด่วนแจ้งวัฒนะ-บางไทรนั้น ตัวเส้นทางจะตัดผ่านเข้าไปในโครงการเมืองทองธานีโดยใช้เป็นเขตทางหลัก
45 เมตรตลอดระยะทางยาว 2.8 กิโลเมตรโดยมีจุดขึ้นลงในเมืองทองธานี ซึ่งจุดขึ้นลงนี้ทางบีแลนด์พร้อมที่จะออกค่าใช้จ่ายเป็นเงินประมาณ
200 ล้านบาท แต่เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณามูลค่าการก่อสร้างส่วนขยายขึ้น-ลงดังกล่าว
ปรากฏว่าเป็นเงินเพิ่มขึ้น 280-300 ล้านบาท
ซึ่งในวงเงินที่เพิ่มขึ้นนี้ทางอนันต์ยืนยันว่าโครงการฯ คงไม่จ่ายเพิ่มอีกแล้ว
เพราะจุดขึ้นลงในเมืองทองธานีนั้น ผลประโยชน์ไม่ใช่คนในโครงการใช้ประโยชน์อย่างเดียว
แต่หมายถึงคนส่วนใหญ่รอบๆ ในย่านนั้นด้วย โดยไม่ต้องไปขึ้นที่จุดบนถนนแจ้งวัฒนะอย่างเดียว
แหล่งข่าวจากทางการพิเศษฯ ได้ให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการรายเดือน"
ว่า หากทางบีแลนด์ไม่ยอมจ่ายเพิ่ม ก็ต้องมาพิจารณากันอีกครั้งว่าจะหาเงินจากส่วนไหนมา
รวมทั้งพิจารณาว่ามีความจำเป็นที่จะต้องสร้างทางขึ้น-ลงในเมืองทองธานีอีกจุดหรือเปล่า
อย่างไรก็ตามโครงการนี้จะต้องสร้างให้เสร็จก่อนแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ในปลายปี
2541
ผลของการบริจาคที่ดินแต่ละครั้งนั้น ก็หมายถึงว่าความสะดวกในเรื่องต่างๆ จะเข้ามาในโครงการ อนันต์คงหวังว่าถ้าผลบุญมีจริงก็คงจะดลใจให้ลูกค้าเข้ามาโอนโครงการที่ซื้อไว้
และซื้อโครงการที่เหลือให้หมดเร็วๆ กระมัง?