สี่ปีที่แล้ว อนันต์ กาญจนพาสน์แห่งบางกอกแลนด์ สร้างความสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ให้กับวงการเรียลเอสเตท
เมืองไทย ด้วยการประกาศพัฒนาโครงการขนาดยักษ์ระดับเมืองใหม่ ในโครงการเมืองทองธานีที่ถนนแจ้งวัฒนะ
อาศัยความได้เปรียบที่มีที่ดินราคาถูกตุนเอาไว้เยอะตั้งแต่ครั้งรุ่นพ่อ ผนวกกับภาวะตลาดเรียลเอสเตทที่กำลังร้อนแรงในช่วงนั้น
ทำให้โครงการขนาดยักษ์ใหญ่ได้รับการตอบสนองจากผู้ซื้อ ที่ส่วนใหญ่เป็นนักเก็งกำไร
โดยไม่ต้องอาศัยลูกเล่นการตลาดมากมายเหมือนปัจจุบัน
วันนี้ บนถนนแจ้งวัฒนะ คอนโดมีเนียมสูงเสียดฟ้าตระหง่านเรียงรายขึ้นมาประดับขอบฟ้า
เมืองใหม่ที่ถอดแบบมาจากฮ่องกงกำลังเป็นรูปเป็นร่างขึ้นในเมืองทองธานี
เริ่มจากโครงการทั้งหมดที่ประกาศขายในแผ่นกระดาษเมื่อปี 2533 ก็คือ คอนโดมีเนียมอุตสาหกรรม
จำนวน 8 ตึกๆ ละ 10 ชั้น ขณะนี้ทั้ง 8 ตึกสร้างเสร็จหมดแล้วกำลังเตรียมการส่งมอบให้กับผู้ซื้อ
ส่วนที่ 2 เลควิวคอนโดมีเนียมประกาศขายเมื่อประมาณกลางปี 2533 มีทั้งหมด
24 ตึกสูงประมาณ 27 ชั้นนั้นประมาณ 6 ตึกเสร็จเรียบร้อยแล้วอีก 21 ตึกที่เหลือ
แต่ละตึกการก่อสร้างคืบหน้าไปกว่า 90% พร้อมๆ กับการก่อสร้างโครงการวิลล่าออฟฟิศ
ซึ่งเป็นตึกสูงประมาณ 5-6 ชั้นเกือบ 100 ตึกในทำเลตรงข้ามกับเลควิว การก่อสร้างของทุกตึกแล้วเสร็จไปแล้วประมาณกว่า
70%
ป๊อปปูล่า คอนโดมีเนียมเป็นคอนโดฯ สำหรับคนชั้นกลางที่สร้างความฮือฮาให้กับวงการที่อยู่อาศัยมากเมื่อต้นปี
2534 เมื่ออนันต์ได้กวาดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เป็นครู และบรรดาข้าราชการรายได้ปานกลาง
ให้เข้ามาซื้อโครงการได้เป็นจำนวนมาก รวมทั้งสิ้นประมาณ 27,000 ยูนิต จำนวน
27 ตึกนั้น ขณะนี้การก่อสร้างของทุกอาคารที่เปรียบเสมือนรวงผึ้งนี้ โดยเฉลี่ยแล้วคืบหน้าไปประมาณ
80 เปอร์เซ็นต์
สำหรับโครงการพาร์คเลนพลาซ่า ศูนย์การค้าแห่งแรกในโครงการที่เข็นออกมาขาย
เพื่อจะรองรับชุมชนที่จะเกิดขึ้นในเมืองทองเมื่อประมาณกลางปี 2535 นั้น การก่อสร้างขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าใดนัก
ซึ่งทางสำนักงานโยธา อำเภอปากเกร็ดเคยเล่าว่าเป็นเพราะมีการเปลี่ยนแบบหลายครั้ง
ส่วนโครงการเมืองทองวิลล่า ซึ่งเพิ่งประกาศขายเมื่อต้นปีนี้ กำลังเตรียมงานทางด้านการปรับพื้นที่วางแผนก่อสร้างไว้ประมาณปลายปี
2536 นี้
มาถึงวันนี้ถือได้ว่าบางกอกแลนด์สอบผ่านบทพิสูจน์ภาคแรก สำหรับโครงการเมืองทองธานีที่แจ้งวัฒนะ
ทั้งในแง่ของการขายและการก่อสร้างที่เป็นไปตามแผนการ
ภาคต่อไปที่ใหญ่หลวงนักก็คือ การเตรียมพร้อมเรื่องระบบสาธารณูปโภคต่างๆ รวมทั้งการบริการหลังการขาย ซึ่งอนันต์ก็เคยออกมาให้สัมภาษณ์ในเรื่องนี้บ่อยครั้งว่า
เขาได้เตรียมระบบสาธารณูปโภคใต้ดินหมดเงินไปเกือบ 10,000 ล้านบาทแล้ว ระบบ
น้ำ ไฟ โทรศัพท์ก็ได้มีการประสานกับหน่วยงานของรัฐตลอดเวลา และยอมที่จะเสียค่าใช้จ่ายช่วยเหลือทางภาครัฐทุกอย่าง
โดยเฉพาะปัญหาในเรื่องน้ำประปาซึ่งเป็นปัญหาร่วมสมัยของผู้อยู่อาศัยในทุกหมู่บ้าน
ทางเมืองทองได้ติดต่อการประปานครหลวงให้เข้ามาวางท่อ ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ
800 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นขนาดใหญ่มากเข้ามาในโครงการ โดยเสียเงินซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ให้กับ กปน. หมดเงินไปประมาณ 14 ล้านบาท
สำหรับการบริหารโครงการหลังการขายในโครงการเมืองทองธานี ในความรับผิดชอบของบริษัท
MSM หรือ เมืองทอง เซอร์วิส เมเนจเม้นท์นั้น เป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องที่ต้องเตรียมงานอย่างยิ่งใหญ่เช่นกัน
เพราะหมายถึงว่าหากโครงการสร้างเสร็จ ปัญหาของการกำจัดขยะวันละมหาศาลที่จะเกิดขึ้น
ปัญหาของการอยู่ร่วมกันของคนอีกนับหมื่นนับแสน ที่จะทะยอยเข้ามาอยู่ในโครงการจะจัดการกันอย่างไร
แน่นอนว่าอนันต์ จำเป็นต้องดับเครื่องชนเพื่อแก้ปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้น
ไม่เช่นนั้นแล้วสภาพของเมืองร้างในเมืองใหญ่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ที่นี่ และนั่นหมายถึงว่ายอดขายในโครงการอื่นๆ นอกเหนือจากเมืองทองธานีก็มีสิทธิ์ลุ้นไม่ขึ้นเหมือนกัน ไม่ว่าจะใช้เกมการตลาดที่เหนือชั้นเพียงไร!!!