|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
หม่อมอุ๋ยเมินผลการประชุมเฟด ลั่นการปรับดอกเบี้ยอาร์/พีของแบงก์ชาติ ยึดปัจจัยเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก ไม่หวั่นเงินทุนไหลออกแม้ส่วนต่างดอกเบี้ยสูงขึ้น เหตุยังมีเงินไหลเข้ามาในตลาดหุ้นต่อเนื่อง นายแบงก์มองต่างมุม ชี้เริ่มมีเงินทุนไหลออกบ้าง แม้ยังไม่ถึงจุดอันตรายแต่อาจกดดันให้ ธปท.ต้องขึ้นอาร์/พีในการประชุมครั้งต่อไป
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การดำเนินนโยบายการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงพิจารณาตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก ไม่ว่าการประชุมคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในวันที่ 3 พฤษภาคมนี้จะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นหรือไม่ และมั่นใจว่าการขึ้นดอกเบี้ยเฟด จะไม่ส่งผลกระทบทำให้เงินทุนไหลออกนอกประเทศแต่อย่างใด
"การพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด เป็นเรื่องของสหรัฐฯ ไม่เกี่ยวกับประเทศไทย ซึ่งตอนนี้ยังมีเงินทุนไหลเข้ามาอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งเงินที่เข้ามาลงทุนโดยตรง และเงินที่ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไหลเข้ามาลงทุนภายในประเทศ ฉะนั้นจึงสบายใจได้"
ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2548 ปริมาณการซื้อหลักทรัพย์สุทธิของนักลงทุนต่างชาติมีมูลค่า 6.6 หมื่นล้านบาท และยอดธุรกรรม Buy Sell Swap ในสกุลดอลลาร์สหรัฐของนักลงทุนต่างชาติยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงต้นปี 2548 เป็นต้นมา
สำหรับกรณีที่ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงวานนี้ (3 พ.ค.) มีผลจากค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น เนื่องจากนักลงทุนคาดว่าเฟดมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้มีการถือครองเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐมากขึ้น และเทขายเงินสกุลท้องถิ่น รวมถึงเงินบาทจึงทำให้ค่าบาทอ่อนค่าลง ซึ่งนับเป็นเรื่องปกติ
คาดสิ้นปีนี้เฟดอาจขยับถึง 4%
นางสาวอุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาเตอร์ด สาขาประเทศไทย กล่าวว่า การประชุมเฟดครั้งนี้ คาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ทำให้ดอกเบี้ยเฟดมาอยู่ที่ระดับ 3.00% เนื่องจากต้องการที่จะเห็นอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยปัจจุบันยังคงต่ำอยู่ ดังนั้นเชื่อว่าเฟดคงจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง จึงสิ้นปีนี้น่าจะอยู่ที่ระดับ 3.50-4.00% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสม
ขณะที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย ในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ ธปท. คงจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยซื้อขายพันธบัตรระยะเวลา 14 วัน (อาร์/พี) อีก 0.25% หรือมาอยู่ที่ 2.50% หลังจากที่การประชุมครั้งก่อนหน้าได้ตรึงดอกเบี้ยไว้ เพื่อดูแลอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ
"หากธปท.ไม่ตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ จะทำให้ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยไทยกับดอกเบี้ยเฟดเพิ่มมากขึ้น บวกกับอัตราเงินเฟ้อของไทยได้ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 3.6 % จึงต้องเข้ามาดูแลเรื่องเงินเฟ้อให้อยู่ระดับเป้าหมาย"
นางสาวอุสรา กล่าวว่า ขณะนี้เริ่มมีแนวโน้มเงินไหลออกนอกประเทศบ้างแล้ว พิจารณาจากพอร์ตการลงทุนในตลาดหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศที่มีแรงเทขายออกมา ซึ่งเป็นการสะท้อนเห็นว่าเม็ดเงินเริ่มซึมออกบ้างแล้ว ทำให้สภาพคล่องในระบบหายไปพอสมควร จากในช่างปลายปีที่ผ่านมาสภาพคล่องในระบบยังเหลืออยู่ประมาณ 6 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การที่ธปท.ได้ออกพันธบัตรจำนวน 3 หมื่นล้านบาท เพื่อเข้ามาดูดซับสภาพคล่อง ถือว่าเป็นสัญญาณอย่างหนึ่งที่ต้องการให้ดอกเบี้ยปรับสูงขึ้น รวมทั้งสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์มีอัตราการเติบโตที่ช้า เกิดจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศเริ่มชะลอตัวลง ทำให้นักลงทุนยังคงรอดูสถานการณ์ระยะหนึ่งด้วย คาดว่าอัตราการขยายตัวของสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ไทยปีนี้เติบโตประมาณ 6-7% ซึ่งใกล้เคียงกับการเติบโตในปีที่ผ่านมา
นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายผู้บริหารฝ่ายการตลาดผลิตภัณฑ์บริหารเงิน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เฟดคงจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของสหรัฐฯที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง
"ขณะนี้วงการการเงิน 60-70% มีการคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ซึ่งทำให้ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของไทยกับต่างประเทศเพิ่มเป็น 0.75% แต่ผลกระทบต่อเงินไหลออกก็ไม่น่ารุนแรง เพราะตลาดมีการคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้ว ทั้งนี้ ในการประชุมของธปท.เดือนมิ.ย.ก็น่าจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย 0.25%" นายทรงพลกล่าว
ด้านนักบริหารเงินจากธนาคารพาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นักลงทุนต่างรอผลการประชุมเฟด จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง นอกเหนือจากปัจจัยอื่นๆ อาทิ ความรุนแรงในภาคใต้ และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด โดยค่าเงินบาทเปิดการซื้อขายวานนี้ ที่ 39.57-39.59 บาทต่อดอลลาร์ ปิดตลาดที่ 39.53-39.55 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่เป็นเพียงการเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ
|
|
|
|
|