ตลท.ลงดาบแรกห้ามซื้อขายหุ้น US ด้วยมาร์จิ้นและห้ามหักกลบชำระแค่ส่วนต่าง
หากใครอยากเล่นต้องเตรียมเงินสด "กิตติรัตน" ไม่หวั่นข้อกล่าวหาทำลายบรรยากาศลงทุน
แต่ไม่ปล่อยให้มีการเก็งกำไรหุ้นในลักษณะกระจุกตัว ไม่ยืนยันว่าไม่มีการสร้างราคาหุ้นตัวนี้
แม้ว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์จะปรับลดลงจากแรงขายทำกำไร
หลังจากที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อวันที่
28 พฤษภาคม ที่ผ่านมา วานนี้(30 พ.ค.)ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดที่ระดับ 407.41
จุด ลดลง 1.70 จุดหรือ 0.42%
มูลค่าการซื้อขาย 18,524.63 ล้านบาท จากแรงขายทำกำไรในกลุ่ม มีแรงเทขายในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์
กลุ่มไฟแนนซ์และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง จึงทำให้ดัชนีปรับลง แต่หุ้นของบริษัทหลักทรัพย์
(บล.)
ยูไนเต็ด จำกัด (มหาชน) หรือ US กลับปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรง โดยปิดตลาดที่
25 บาท เพิ่มขึ้น 1.50 บาท คิดเป็น 6.38% มูลค่าการซื้อขาย 771.27 ล้านบาท
ความโดดเด่นของหุ้น US
ได้รับการกล่าวขานมาตลอด นับตั้งแต่การแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ว่าจะทำการควบรวมบริษัทกับบล.ทรีนีตี้
แล้วก็ประกาศยกเลิกในวันประชุมผู้ถือหุ้น(18 เม.ย.)
จากนั้นราคาก็ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง จนมาอยู่แถว 11-12 บาท และในวันที่
10 พฤษภาคม ทางบริษัทก็ประกาศรายชื่อนักลงทุนที่บริษัทจัดสรรหุ้นให้ในวงจำกัด
จำนวน15,313,215 หุ้น
ให้แก่ผู้เสนอซื้อรวม 5 ราย ในราคา 9.78 บาท โดยกำหนดวันชำระค่าหุ้น ในวันที่
24 พฤษภาคม และในวันดังกล่าวราคา หุ้น US จึงปรับตัวลดลงเพียงแค่ 30
สตางค์และปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงวานนี้ เพียงระยะเวลาแค่ 14
วันนับตั้งแต่วันเปิดตัวผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ที่มีทั้งผู้บริหารจากบริษัทซีฮอร์ส
ในจังหวัดสงขลาและตัวแทนของนักลงทุนรายใหญ่ที่ถือหุ้นแทนนายยรรงยง พันธุ์วงศ์กล่อม
นายสมพงษ์ คดีดำรงกุล ทำให้ราคาหุ้นพุ่งขึ้นไปถึง 82.48%
แม้ฝ่ายตรวจสอบจากตลาดหลักทรัพย์ได้ประกาศอย่างชัดแจ้งว่ากำลังตรวจสอบราคาหุ้นของ
US แต่จากการที่ยังไม่สามารถหาความผิดปกติของราคาหุ้นได้ ทำให้นักลงทุนเข้ามาไล่ราคาหุ้นตัวนี้ต่อ
จนกระทั่งโบรกเกอร์บางแห่งเริ่มที่จะจำกัดความเสี่ยงของลูกค้าที่เล่นหุ้นในลักษณะใช้สินเชื่อโดยบริษัทหลักทรัพย์
เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้ลดสัดส่วนการให้สินเชื่อเพื่อการซื้อขาย
หลักทรัพย์หรือมาร์จิ้นลงเหลือแค่ 50% จากเดิมที่ 75% ทำให้ผู้ที่ต้องการจะเล่นหุ้นตัวนี้จะต้องหาเงินสด
มาวางอีก 50% เช่นเดียวกันบริษัทหลักทรัพย์ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย)
ได้งดบริการมาร์จิ้นสำหรับหุ้นตัวนี้ โดยที่ไม่รอให้ตลาดหลักทรัพย์ประกาศใช้มาตรการ
3 ด้านคือการงดซื้อขายด้วยมาร์จิ้น การห้ามซื้อขายด้วยระบบเน็ตแซทเทิ้ลเม้นท์และการยืมหุ้น
ห้ามมาร์จิ้น-เน็ทฯ
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและ ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
กล่าวว่า เนื่องจากในช่วงระหว่างวันที่ 13-30 พฤษภาคม 2545 การซื้อขายหลักทรัพย์บริษัทหลักทรัพย์
ยูไนเต็ด จำกัด
(มหาชน) หรือ US มีแนวโน้มที่อาจจะส่งผลกระทบต่อสภาพการซื้อขายโดยรวม ดังนั้น
เพื่อเป็นการป้องกันและระงับการซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีแนวโน้มที่อาจส่งผลกระทบเสียหายต่อสภาพการซื้อขายโดยรวม
อันเนื่องมาจาก
มีการเปลี่ยนแปลงของราคาหรือปริมาณการซื้อขายในหลักทรัพย์นั้นอย่างรุนแรง
หรือมีการซื้อขายกระจุกตัวในหลักทรัพย์นั้นเป็นจำนวนมาก ตลาด หลักทรัพย์จึงห้ามสมาชิก(โบรกเกอร์)
ให้ลูกค้าทำการ
ซื้อขายหลักทรัพย์บริษัทหลักทรัพย์ ยูไนเต็ด จำกัด (มหาชน) หรือ US โดยหักกลบราคาค่าซื้อกับราคาค่าขายหลักทรัพย์นี้ในวันเดียวกัน(Net
Settlement)
และห้ามสมาชิกให้ลูกค้ากู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์นี้(Margin Trading)
เป็นเวลา 10 วันทำการ ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคมจนถึงวันที่ 13 มิถุนายน
2545 กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์
กล่าวต่อไปว่า การซื้อขายหุ้น US เป็นไปในลักษณะกระจุกตัว โดยวานนี้มีจำนวนหุ้นที่ซื้อขายสูงถึง
31.4 ล้านหุ้น อีกทั้งในช่วง 10 วันทำการราคา หุ้น US ปรับเพิ่มขึ้นไปถึง
60.3% ดังนั้น
เพื่อป้องกันการเก็งกำไรจากการที่ราคาหุ้น US เปลี่ยน แปลงในระดับสูง หากผู้ลงทุนต้องการจะลงทุนคงจะต้องเตรียมเงินสดไว้
"ระยะเวลาที่ให้นักลงทุนซื้อขายหุ้นตัวนี้ด้วยเงินสด
อาจจะขยายต่อไปอีกได้ หากลักษณะการซื้อขายหุ้นตัวนี้ยังไม่อยู่ในภาวะปกติ
ซึ่งไม่ได้หมายถึงราคาหุ้นจะต้องปรับตัวลดลง หรือปริมาณการซื้อขายลดลงเท่านั้น"
ในส่วนของเรื่องราคาหุ้นที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาไม่กี่วันนั้น
นายกิตติรัตน์กล่าวว่า "ขณะนี้ยังยืนยันไม่ได้ว่าไม่มีการสร้างราคา
ซึ่งทางเรากำลังตรวจสอบอยู่ ผมรู้ว่าการให้หุ้น US
ซื้อขายด้วยเงินสด อาจจะเป็นการทำลายบรรยากาศ ของตลาดหุ้นที่กำลังร้อนแรงในเวลานี้
แต่เราคงไม่ปล่อยให้มีการซื้อขายหุ้นในลักษณะเก็งกำไร" สำหรับความเคลื่อนไหวในด้านอื่นที่เกี่ยว
หุ้น US
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้รายงานการจำหน่ายหุ้น
US เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2545 ของผู้ถือหุ้นใหญ่คือ บริษัท ทาวน์ โฮลดิ้ง
จำกัด
โดยได้จำหน่ายหลักทรัพย์คิดเป็น 5.26% ของจำนวนหลักทรัพย์ที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด
และจำนวนหลักทรัพย์ภายหลังการจำหน่ายคิดเป็น 19.78% ของจำนวนหลักทรัพย์ที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด
โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2545 บริษัททาวน์ โฮลดิ้ง จำกัดได้ขายในจำนวน
8.95% เทขายทำกำไร
สำหรับบรรยากาศการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์วานนี้ปริมาณการซื้อขายยังอยู่ในระดับสูงคือ
1.8 หมื่นล้านบาท โดยนักลงทุนจากต่างประเทศ ยังคงซื้อสุทธิ 346.62 ล้านบาท
สวนทางกับนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ขายสุทธิ 343.07 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนรายย่อยขายสุทธิเพียง
3.56 ล้านบาท กลุ่มที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุด กลุ่มบรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้น 7.63%
รองลงมาได้แก่กลุ่มพลังงาน 0.71% และกลุ่มธุรกิจเกษตรเพิ่มขึ้น 0.33% โดยกลุ่มที่ปรับตัวลดลง
ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ลดลง 2.99% รองลงมาได้แก่กลุ่มธนาคารพาณิชย์ลดลง
1.72%
โดยมีกลุ่มไฟแนนซ์เป็นกลุ่มที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุดคิดเป็น 27.72% ของมูลค่าการซื้อขายโดยรวม
ซึ่งดัชนีกลุ่มเพิ่มขึ้น 0.19% ภาพรวมการซื้อขายหลักทรัพย์มีหลักทรัพย์ที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น
145
หลักทรัพย์ราคาไม่เปลี่ยนแปลง 57 หลักทรัพย์และราคาปรับตัวลดลง 132 หลักทรัพย์
นายพิชัย เลิศสุพงษ์กิจ ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์เคจีไอ (ประเทศไทย)
กล่าวว่าภาวะตลาดหุ้นวันนี้
ดัชนีปรับตัวลดลงตามแรงขายทำกำไรที่มีออกมาในหุ้นหลายกลุ่ม หลังจากดัชนีปรับขึ้นแรงต่อเนื่อง
แต่จะเห็นได้ว่าเมื่อดัชนีปรับลงก็มีแรงซื้อเข้ามารับ ถือเป็นการปรับฐานของดัชนีในระยะสั้น
"แรงขายทำกำไรที่มีออกมาในวานนี้ถือเป็นเรื่องปกติ หลังจากดัชนีบวกกว่า
30 จุดก่อนหน้านี้ ประกอบกับดัชนีไม่สามารถผ่านแนวต้านที่ 412 จุดซึ่งเป็นระดับสูงสุดของเมื่อวานนี้ไปได้
จึงมีแรงขายออกมาในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์และ ไฟแนนซ์นำ แต่หุ้นบริษัทหลักทรัพย์มีแรงเก็งกำไรเข้ามาหนาแน่น
รับผลดีจากวอลุ่มตลาดที่เพิ่มขึ้นในช่วงนี้" อย่างไรก็ตาม แนวโน้มวันนี้(31
พ.ค.)คาดว่าตลาดยังมีทิศทางที่ดี โดยทดสอบแนวต้านที่ 412 จุด และแนวรับที่
403 จุด ขณะที่ความเคลื่อนไหวของเงินบาทปรากฏว่า เงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องจากวันก่อนหน้า
เปิดตลาดซื้อขายที่ประมาณ 42.45 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับราคาที่แข็งค่าที่สุดนับจากเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
จากนั้นเงินบาทก็ยังคงแข็งค่าต่อเนื่องไปอีก
หลังจากที่คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาระบุว่า ธปท.ไม่หนักใจกับทิศทางเงิน
บาทที่แข็งค่าขึ้น และไม่กังวลกับผลกระทบต่อการส่งออก ล่าสุดเงินบาทเคลื่อนไหวที่ระดับ
42.40
บาท ต่อดอลลาร์ จากแรงสนับสนุนของการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศส่วนเงินเยนญี่ปุ่น
แข็งค่าขึ้นมาเคลื่อนไหวที่ระดับ 124.05 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ