แบงก์แข่งเดือดเปิดสงคราม เพิ่มตู้เอทีเอ็มล่อใจลูกค้า หวังเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียม ซึ่งปีที่ผ่านมาสูงถึง 1.54 หมื่นล้านบาท เหตุลูกค้ารายย่อยมีแนวโน้มทำธุรกรรมผ่านตู้มากขึ้น เผย "กรุงไทย" เพิ่มอีก 2,500 เครื่องภายในกลางปี เน้นเซเว่นฯ-โลตัส-รถไฟฟ้าใต้ดิน ด้านกรุงศรีฯไม่น้อยหน้าเพิ่มกว่า 100% ขออีก 1,800 เครื่องก่อนสิ้นปี มั่นใจคุ้มการลงทุน เหตุค่าเครื่องลด-ช่องทางการใช้เพิ่มสารพัดบัตร แถมโอนเงินได้รับความนิยมสูง
ปีที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ให้บริการทางการเงินแบบครบวงจร (Universal Banking) มากขึ้น โดยเฉพาะการขยายฐานลูกค้ารายย่อย ส่งผลให้การให้บริการและเสนอผลิตภัณฑ์การเงินมีความหลากหลาย แต่ละแห่งต้องเพิ่มช่องทางการนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้แก่ลูกค้า เพื่อรายได้จากค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) ซึ่งขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณการให้และใช้บริการผ่านตู้เบิก-ถอนเงินสดอัตโนมัติ (เอทีเอ็ม) มากขึ้น
ผู้บริหารธนาคารพาณิชย์มีความเห็นตรงกันว่า ตู้เอทีเอ็มมีความสะดวก สามารถปรับปรุงเทคโนโลยีให้สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์ของธนาคารแต่ละแห่งได้ โดยขณะนี้มีการพัฒนาโปรแกรมต่อเนื่อง สามารถทำหน้าที่ได้มากกว่าการเบิกถอนเงินสด เช่น การรับเติมเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม รับชำระค่าสินค้า ชำระบัตรเครดิต รับโอนเงิน การจองตั๋วเครื่องบิน หรือแม้กระทั่งการจองรถทัวร์ไปต่างจังหวัด ซึ่งล่าสุดธนาคารกรุงไทยได้เปิดตัวไปก่อนหน้า
"ก่อนหน้านี้ตู้เอทีเอ็มแต่ละเครื่องต้นทุนเฉลี่ยจะอยู่ที่ 1 ล้านกว่าบาท แต่หลังจากที่ธนาคารแต่ละแห่งหันมาใช้มากขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนต่อหน่วยลดลง โดยปัจจุบันตู้เอทีเอ็มราคาได้ปรับตัวลดลงมาเหลือเพียง 4 แสนกว่าบาทต่อเครื่อง จึงทำให้ธนาคารแต่ละแห่งหันมาเพิ่มจำนวนตู้เอทีเอ็มมากกว่าการขยายสาขา ที่มีทั้งต้นทุนพนักงาน ค่าเช่าพื้นที่ ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับการเพิ่มจำนวนตู้เอทีเอ็ม"
นายสหัส ตรีทิพยบุตร รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบหันมาให้บริการตู้เอทีเอ็มมากขึ้น เนื่องจากต้นทุนตู้เอทีเอ็มปรับตัวลดลง จากเดิมอยู่ในระดับ 1.2 ล้านบาทต่อเครื่อง ลดลงเหลือประมาณ 4 แสนบาทเท่านั้น ขณะที่รายได้ที่ได้รับจากการให้บริการผ่านตู้เอทีเอ็ม โดยเฉพาะการใช้บัตรประเภทวีซ่า มาสเตอร์การ์ด รูดผ่านตู้เอทีเอ็มทำให้ธนาคารพาณิชย์มีรายได้จากส่วนนี้มาก
นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ยังมองว่าในอนาคตตู้เอทีเอ็มจะพัฒนาเป็นตู้ payment ซึ่งเป็นตู้ที่รับชำระค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ซื้อตั๋วรถไฟ รวมทั้งท้ายที่สุดจะทำให้ลูกค้าสะดวกสบาย และประหยัดเวลาในการใช้บริการเคาน์เตอร์ของธนาคาร
สำหรับในส่วนของธนาคารกรุงไทย คาดว่าจะเพิ่มจำนวนตู้เอทีเอ็มในการให้บริการลูกค้าอีก 2,500 เครื่อง ภายในกลางปีนี้ จากปัจจุบันมีตู้เอทีเอ็มประมาณ 1,500 เครื่อง โดยธนาคารเตรียมนำเข้าไปติดตั้งในห้างโลตัส ร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น ปั๊มน้ำมัน สนามบิน รถไฟฟ้าใต้ดิน และตึกใหญ่ๆ
นางสาวอังคณา สวัสดิ์พูน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปีนี้จะติดตั้งตู้เอทีเอ็มเพิ่มอีก 500 เครื่อง โดยเน้นติดตั้งในแหล่งชุมชน และห้างสรรพสินค้า จากปัจจุบันที่มีประมาณ 1,000 เครื่อง เพื่อเพิ่มรายได้จากค่าธรรมเนียม และรองรับนโยบายธนาคารที่ต้องการยกระดับเป็นธนาคารที่ให้บริการการเงินครบวงจร
ขณะที่นางชาลอต โทณวณิก ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารมีจำนวนตู้เอทีเอ็มประมาณ 1,500 เครื่อง และในปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มอีก 1,800 เครื่อง โดยเน้นทำเลในแหล่งชุมชม แหล่งท่องเที่ยว หรือแหล่งต่างๆ ที่มีจำนวนลูกค้ามาก
ทั้งนี้ การขยายตู้เอทีเอ็มไปยังแหล่งท่องเที่ยว ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ คาดหวังรายได้จากการใช้ บัตรของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งบัตรต่างประเทศคิดค่าธรรมเนียม 2 เหรียญสหรัฐต่อหนึ่งครั้ง ทำให้ธนาคารมีรายได้เป็นเงินบาทต่อครั้งถึง 80 บาท
"ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ต้องการสร้างรายได้ จากการให้บริการลูกค้าผ่านตู้เอทีเอ็มให้มากที่สุด โดยบางแห่งพยายามเพิ่มจำนวนตู้เอทีเอ็ม แต่เราไม่เน้นปริมาณ แต่ดูว่ามีการสร้างรายได้ที่เกิดจากการทำธุรกรรมของลูกค้าเพียงพอไหม และทำเลที่ติดตั้งตู้เอทีเอ็มมากกว่า" นางชาลอตกล่าว
นอกจากนี้ การเลือกธุรกรรมที่จะมาใช้กับตู้เอทีเอ็ม ธนาคารจะพิจารณาให้ครอบคลุมความต้อง การของฐานลูกค้าผู้ถือบัตรให้มากที่สุด และจะไม่เน้น ธุรกรรมที่ใช้เวลาเกินกว่า 1 นาที เพราะอาจจะทำให้ลูกค้ารายอื่นที่รอใช้บริการเสียเวลาไปด้วย
ด้านนายธงชัย เจริญสิทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ขณะนี้ธนาคารมีจำนวนตู้เอทีเอ็มที่ให้บริการลูกค้าประมาณ 1,200 เครื่อง และปีนี้จะเพิ่มอีก 400 เครื่อง โดยในอนาคต ธนาคารจะพัฒนาบริการต่างๆ ที่ใช้กับตู้เอทีเอ็มแบบครบวงจรมากขึ้น เพื่อความสะดวกสบายในการใช้บริการของลูกค้า
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันตู้เอทีเอ็มยังมีปัญหาเรื่องความเสี่ยง จึงมีความจำเป็นที่ธนาคารพาณิชย์ต้องมีการพัฒนาโปรแกรมต่างๆ เพื่อให้สอดรับความต้องการลูกค้า และรองรับการแข่งขันในอนาคต เพราะรูปแบบการทำธุรกรรมของลูกค้าจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งระบบ 12 แห่ง ในปี 2547 มีกำไรสุทธิกว่า 7.7 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นรายได้ที่เกิดขึ้นจากสินเชื่อประมาณ 80% และรายได้จากค่าธรรมเนียมประมาณ 20% หรือ 1.54 หมื่นล้านบาท
สำหรับอัตราค่าธรรมเนียมการทำรายการผ่านเครื่องเอทีเอ็มในปัจจุบัน กรณีที่ลูกค้าของแต่ละธนาคารสมาชิกไปใช้บริการจากเครื่องเอทีเอ็มของธนาคารสมาชิกอื่น กรณีการถอนเงินในเขตพื้นที่กรุงเทพฯค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 5-6 บาท นอกเขตกทม.อยู่ที่ 7.50-8.50 บาทต่อรายการ
ค่าธรรมเนียมการโอนเงินระหว่างบัญชีเขตกรุงเทพฯรายการละ 4 บาท นอกเขตกรุงเทพฯ 6.50 บาท ค่าธรรมเนียมการสอบถามยอดเงินในบัญชี 3 บาทต่อรายการ สำหรับในเขตกรุงเทพฯ และ 5.50 บาทต่อรายการ สำหรับนอกเขตกรุงเทพฯ และค่าธรรมเนียมการใช้บัตรเครดิตในเขตกรุงเทพฯ 30 บาทต่อรายการ และ 35 บาทต่อรายการสำหรับนอกเขตกรุงเทพฯ
ที่มารายได้จากค่าธรรมเนียมจากตู้เอทีเอ็ม หากมีการวางระบบการบริหารจัดการให้ดี เชื่อว่าแนวโน้มจะเป็นรายได้ที่สำคัญส่วนหนึ่งของธนาคารพาณิชย์ ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบหันมาให้สำคัญกับการขยายตู้เอทีเอ็มมากขึ้น โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่
|