ที่ปรึกษาสมาคมค้าปลีกไทย ฟันธง ค่านิยมผู้บริโภคคนไทย "เห่อของนอก"
มีส่วนปลุกกระแสธุรกิจค้าปลีกข้ามชาติกลืนร้านค้าโชห่วยไทย ชูกรณีศึกษากิจการค้าปลีกรายย่อยในญี่ปุ่น
ออสเตรเลีย
"หนีตาย" ด้วยการปรับกลยุทธ์ไปรวมกิจการกับธุรกิจค้าปลีกที่มีเครือข่ายในลักษณะแฟรนไชส์
ระบุถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐจะต้องปัดฝุ่นแก้ไขกฎหมายผังเมือง กทม. จัดโซนนิ่งค้าปลีกข้ามชาติ
ให้กระจายอยู่นอกเมือง นายสุวิทย์ กิ่งแก้ว ที่ปรึกษาสมาคมค้าปลีก ไทย กล่าวถึง
ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกไทยเวลานี้ว่า
มีผู้ค้าปลีกจำนวนมากทั้งรายเล็กและรายใหญ่ซึ่งมีการขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงพาณิชย์กว่า
3 แสนราย โดยในจำนวนนี้คาดว่ามีผู้ค้าปลีกรายเล็กอีกจำนวนมากที่ดำเนินกิจการตามหมู่บ้าน
หรือในแหล่ง ชุมชนตามชนบททั่วประเทศ ขณะที่ผู้ประกอบการค้าปลีกขนาดใหญ่จะดำเนินธุรกิจในเขตเมือง
ซึ่งมีการแข่งขันและวางกลยุทธ์เพื่อแย่งชิงลูกค้ากันรุนแรงมาก ทั้งนี้
การดำเนินธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทยช่วงที่ผ่านมามีทั้งธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิม
และ ค้าปลีกแบบใหม่ โดยเฉพาะผู้ประกอบการค้าปลีกต่างชาติได้เข้ามามีอิทธิพลต่อธุรกิจค้าปลีกดั้งเดิม
หรือร้านค้าโชห่วยเป็นอย่างมาก มีการเพิ่มจำนวนสาขาอย่างรวดเร็วขณะที่จำนวนผู้ซื้ออยู่ในปริมาณเท่าเดิมหรือลดน้อยลง
ซึ่งเป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่า
ผู้ค้าปลีกรายเดิมจะต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของ ธุรกิจอยู่ตลอดเวลา
ซึ่งพัฒนาการของธุรกิจค้าปลีกที่จะเกิดขึ้น ในอนาคตนั้น หลายฝ่ายเห็นว่า
กำลังจะก้าวไปสู่ระบบการค้าโดยตรงมากขึ้น
หรือรูปแบบจากธุรกิจบิสซิเนสไปสู่ผู้บริโภคโดยตรง หรือธุรกิจกับธุรกิจ ที่จะมีการซื้อขายโดยตรง
โดยธุรกิจค้าปลีกต่างชาติที่ดำเนินกิจการอยู่ในประเทศไทยเวลานี้ประกอบด้วย
เทสโก้โลตัส
จากประเทศอังกฤษ คาร์ฟูร์ จากประเทศฝรั่งเศส บิ๊กซี จากประเทศฝรั่งเศส,
แม็คโคร จากประเทศเนเธอร์แลนด์, แฟมิลี่มาร์ท จากประเทศญี่ปุ่น, ปั๊มน้ำมัน
เจ็ต จิฟฟี่ จากประเทศสหรัฐอเมริกา,
ท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต จากประเทศ เนเธอร์แลนด์ และฟู้ดไลออนส์ จากประเทศ
เบลเยียม "ลักษณะเช่นนี้ผมคิดว่า ธุรกิจค้าปลีกในยุคกระแสโลกาภิวัตน์
จะมีการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าไปเพราะการดำเนินการทั้งหมดขึ้นอยู่กับ เทคโนโลยี
และความรู้ความสามารถของแต่ละประเทศ และยอมรับว่า ผู้บริโภคคนไทยอยู่ในประเภท
นิยมของใหม่ที่มาในรูปแบบแปลกแหวกแนว จึงถือเป็นโอกาสของธุรกิจค้าปลีกต่างชาติที่จะรุกคืบเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมากขึ้น"
นายสุวิทย์ กล่าว ที่ปรึกษาสมาคมค้าปลีกไทย กล่าวด้วยว่า
ทางสมาคมฯ เคยหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อจัดระบบ โซนนิ่ง ให้ธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ออกไปอยู่นอกเมือง
แต่โดยข้อเท็จจริงหากพิจารณาตามบทกำหนดในกฎหมาย ผังเมือง กทม. จะเห็นว่า
กฎหมายผังเมือง มีข้อบัญญัติชัดเจนว่า ธุรกิจการค้าขนาดใหญ่ต้องตั้งอยู่ในเขตเมือง
จะตั้งอยู่ในพื้นที่สีเขียวย่านชานเมืองไม่ได้ ซึ่งเป็นหลักการ ที่สวนทางกับระบบผังเมืองในระดับสากล
ซึ่งประเด็นดังกล่าวตนทราบว่า เวลานี้หลายฝ่ายกำลังอยู่ระหว่างเสนอเรื่องให้มีการพิจารณาทบทวนกฎหมายผังเมืองใหม่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ผลต่อเนื่องจากการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีก
ส่วนหนึ่งได้สร้างผลกระทบให้ผู้ค้าปลีกตั้งแต่รายเล็ก รายกลาง หรือรายใหญ่
มีรายได้ลดลง ในช่วงปีที่ผ่านมา ทางสมาคมฯ ได้ร่วมมือกับกรมการค้าภายใน จัดอบรมผู้ค้าปลีกรายย่อย
ซึ่งทำให้รับทราบข้อมูลว่า ผู้ค้าปลีกรายย่อยส่วนใหญ่ล้วนมีปัญหาด้านแหล่งเงินลงทุน
ขาดความรู้ความเข้าใจด้านการบริหารการจัดการที่เป็นระบบ
และการทำธุรกิจในรูปแบบที่มีการรวมตัวเพื่อสร้างอำนาจพลังต่อรองและการปรับตัวให้ทันกระแส
การเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก "ผมเห็นว่า หากภาครัฐจะเข้าไปช่วยเหลือ
เรื่องเงินทุน ของผู้ประกอบกิจการรายย่อยจะเป็นเรื่องดีมาก ซึ่งต้องดำเนินการควบคู่กับการจัดหา
ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจค้าปลีกไปให้คำปรึกษาแนะนำด้วย
โดยในเบื้องต้นรูปแบบดังกล่าวกรมการค้าภายในจะสร้างต้นแบบให้สำเร็จก่อนประมาณ
4-5 สาขา เพื่อเป็นตัวอย่างให้ผู้ค้าปลีกรายอื่นนำไปเป็นแม่แบบปรับปรุงกิจการเสมือนเป็นร้านค้าตัวอย่าง"
นายสุวิทย์ กรณีศึกษาการปรับตัวของธุรกิจค้าปลีกรายย่อยในต่างประเทศจะเห็นว่า
ในประเทศออสเตรเลีย
ธุรกิจค้าปลีกขนาดเล็กมีการรวมตัวกันเพื่อเพิ่มอำนาจการซื้อและการกระจายสินค้าก็สามารถแก้ปัญหาได้
เช่นเดียวกับในประเทศไต้หวันและญี่ปุ่น
ที่กลุ่มผู้ค้าปลีกรายย่อยได้เข้าไปรวมกิจการเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจค้าปลีกในเครือข่ายของ
ร้าน เซเว่นอีเลฟเว่นในลักษณะแฟรนไชส์ และเห็นว่า
ถึงเวลาแล้วที่ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกรายย่อยจะร่วมมือกันหาโอกาส หาช่องทางในการปรับปรุงกิจการ
เพราะกิจการค้าปลีกรายย่อยในประเทศไทยเวลานี้ยังมีต้นทุนต่ำมาก
มีฐานลูกค้าและทำเลที่ตั้งเหมาะสมอยู่ ซึ่งถือว่ากิจการร้านค้าปลีกรายย่อยของคนไทยยังมีจุดแข็งที่พร้อมจะปรับกลยุทธ์เพื่อต่อสู้กับกิจการของต่างชาติได้แน่นอน
"เนวิน"ชี้องค์กรอิสระยังมีปัญหา
ด้านนายเนวิน ชิดชอบ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรี
(ครม.) มีมติให้กระทรวงพาณิชย์แก้ปัญหาผู้ประกอบการค้าปลีกขนาดเล็กของไทย
ที่ได้รับผลกระทบจากร้านค้าปลีกยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศ และเพิ่มความเข้มแข็งของค้าปลีกขนาดเล็กด้วยการจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของธุรกิจค้าปลีกรายย่อยนั้น
ขณะนี้การจัดตั้งเป็นองค์กรมหาชนจะมีปัญหาเรื่องการบริหารงาน จึงมี 2 แนวทางเลือกในการดำเนินการ
โดย 1.จำเป็นต้อง เปลี่ยนองค์กรอิสระเป็นบริษัทจำกัดแทน และ
2.จัดตั้งเป็นองค์กรอิสระเช่นเดิมแล้วให้องค์กรอิสระมาจัดตั้งบริษัทภายหลัง
"เบื้องต้นเราได้กำหนดไว้ว่าจะติดต่อให้นักธุรกิจที่มีความรู้ความสามารถจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ
สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมการตลาด เป็นต้นเข้ามาเป็นผู้บริหาร จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นบริษัทจำกัดแทน
หรือให้จัดตั้งองค์กรอิสระเช่นเดิมแล้วให้องค์กรอิสระมาจัดตั้งบริษัทเพื่อดำเนินการเองในภายหลัง
แต่แนวทางการดำเนินงานยังคงเดิม" นายเนวินกล่าว ทั้งนี้ ในการจัดตั้งองค์กรมหาชนดังกล่าว
สำนักงานคณะกรรมกฤษฎีกาแนะนำว่า หากจัดตั้งเป็นองค์กรอิสระดำเนินงานเลยจะมีปัญหาเรื่องการบริหารงาน
และขัดกับมาตรา 13 แห่งพ.ร.บ.องค์กรมหาชน
ที่ห้ามให้บุคคลที่มีส่วนได้ส่วนเสียในองค์กรเป็นกรรมการบริหาร นายเนวินกล่าวว่า
จะเสนอเรื่องดังกล่าวเพื่อขอ ความเห็นชอบต่อนายอดิศัย โพธารามิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในวันที่
3
มิถุนายน 2545 นี้ หลังจากที่นายอดิศัยกลับจากการประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
(เอเปก) ที่เม็กซิโก
ก่อนจะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาเพื่อขอความเห็นชอบและอนุมัติจากครม.ต่อไป
อย่างไรก็ตาม เมื่อจัดตั้งเป็นบริษัทเรียบร้อยแล้วจะให้กระทรวงการคลังถือหุ้น
49%
และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ถืออีก 51% โดยใน 3 ปีแรกจะเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหา
ผลกำไร และจะแปรรูปโดยขายหุ้นให้เอกชนรายอื่นๆ ได้ภายใน 5 ปี