Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ เมษายน 2527








 
นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2527
ถกกันเรื่องสารพันข้อคิดเห็นของไมโครคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์’84             
 


   
www resources

โฮมเพจ บริษัทหลักทรัพย์กรุงศรีอยุธยา
โอมเพจ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย
โอมเพจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

   
search resources

สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย - เอไอที
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
มนู อรดีดลเชษฐ์
สงบ พรรณรักษา
Computer
กรุงศรีอยุธยา, บล.
ครรชิต มาลัยวงศ์
อนุมงคล ศิริเวทิน
สมาคมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย




อันที่จริงหัวข้อการสัมมนาช่วงสุดท้ายเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2527 ซึ่งเป็นวันที่สองของงานนิทรรศการ “คอมพิวเตอร์ไทย’84” สมาคมคอมพิวเตอร์-ผู้จัดสัมมนา ไม่ได้ตั้งชื่อไว้อย่างหัวเรื่องนี้หรอก ชื่อหัวข้อจริงๆ ก็คือ “ผลกระทบของไมโครคอมพิวเตอร์ในประเทศไทย” หากแต่เนื้อหาและบรรยากาศวันนั้นไม่ว่าชื่อหัวเรื่องนี้หรือชื่อหัวข้อการสัมมนาจริงๆ ก็ดูเหมือนจะให้ภาพที่ไม่ต่างกัน เมื่อวัดจากความสั้นยาวของประโยคและความหวือหวาแล้ว จึงขออนุญาตใช้ชื่อแรกก็แล้วกัน

หัวข้อนี้กำหนดให้วิทยากร 4 ท่านพูดถึงผลกระทบหรือถกเรื่องไมโครคอมพิวเตอร์ที่เข้ามามีบทบาทอย่างกว้างขวางในบ้านเรา 4 ด้านด้วยกัน คือในเรื่องประโยชน์ทั่วๆ ไป จะเป็นหน้าที่ของ ดร.ครรชิต มาลัยวงศ์ หัวหน้าภาควิชาคอมพิวเตอร์ประยุกต์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) การศึกษาและการฝึกอบรมจะมีผลกระทบอย่างไรถกโดย ดร.อนุมงคล ศิริเวทิน รองอธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในด้านการตลาดโดย มนู อรดีดลเชษฐ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทดาต้าแมท ตัวแทนจำหน่ายคอมพิวเตอร์ยี่ห้อเอ็นอีซีของญี่ปุ่น และทัศนะเกี่ยวกับการจัดการโดย สงบ พรรณรักษา กรรมการผู้จัดการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ กรุงศรีอยุธยา (เอตโก้)

ทั้งนี้ผู้ดำเนินการสัมมนาในช่วงนี้ก็คือ อมร ถาวรเมศ กรรมการผู้จัดการบริษัทซัมมิทคอมพิวเตอร์ ในฐานะประชาสัมพันธ์สมาคมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย

1. ดร.ครรชิต มาลัยวงษ์

ดร.ครรชิต เปิดฉากด้วยการพูดออกตัวว่าตนนั้นเปรียบไปแล้วก็เป็นคนเลี้ยงช้าง (หมายถึงจับแต่เครื่องคอมพิวเตอร์เมนเฟรมเป็นหลัก) ซึ่งจะต้องมาพูดถึงเต่า (หมายถึงไมโครคอมพิวเตอร์) ซึ่งก็ถือเป็นการออกตัวที่กระแนะกระแหนไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ดร.ครรชิต ให้ความเห็นว่า ไมโครคอมพิวเตอร์นั้นมีประโยชน์มากมายกว้างขวาง ถ้าจะพูดอย่างละเอียดก็คงต้องใช้เวลาเป็นวันๆ แต่ถ้าจะสรุปออกมาเป็นด้านๆ แล้วอย่างน้อยก็คงจะมีอยู่ 6 ด้านด้วยกัน ได้แก่

หนึ่ง-ด้านการศึกษาและประเทืองปัญญา

สอง-ด้านนันทนาการ (ดร.ครรชิต ใช้คำนี้...หมายถึงการพักผ่อนหย่อนใจ)

สาม-ประโยชน์ภายในบ้านหรือด้านส่วนตัว

สี่-ประโยชน์ด้านธุรกิจ

ห้า-ประโยชน์ด้านวิชาชีพ และ

หก-ประโยชน์ด้านข่าวสาร

ด้านแรก ดร.ครรชิต ไม่กล่าวมาก เนื่องจากรายละเอียดคงเป็นเรื่องที่วิทยากรอีกท่านคือ ดร.อนุมงคล จะต้องพูดอยู่แล้ว ดร.ครรชิต เพียงสรุปว่า ขณะนี้บ้านเราได้มีการนำไมโครคอมพิวเตอร์มาใช้ด้านการศึกษากันกว้างขวางไม่ว่าจะเป็นวิชาการด้านต่างๆ หรือแม้กระทั่งวิชาการด้านคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะตัวซอฟต์แวร์ ด้านนี้ก็หาได้ไม่ยาก หากไม่ต้องการเสียเงินซื้อก็ยัง “ก๊อบ” จากเพื่อนๆ หรือคนรู้จักที่เขามีได้อีกด้วย (“ก๊อบ” หมายถึงก๊อบปี้ตัวโปรแกรมสำเร็จรูป บ้านเรายังไม่มีเรื่องลิขสิทธิ์เข้ามาวุ่นวายมากจึงทำกันแพร่หลาย)

ด้านที่สองคือนันทนาการหรือการพักผ่อนหย่อนใจ ก็แพร่หลายมากเหมือนกัน ดังจะเห็นได้จากความเฟื่องฟูของคอมพิวเตอร์ เกมส์ นอกจากนี้ ดร.ครรชิต ยังได้รวมประเภทที่นำไมโครมาสร้างกราฟฟิก เป็นโครงสร้างด้านศิลปะหรือภาพวิว และการนำไมโครฯ มาให้ความบันเทิงด้านดนตรี เช่นให้มันแต่งเพลง ก็ควรจัดเป็นประโยชน์ด้านนันทนาการนี้ด้วย

ส่วนด้านที่สามคือประโยชน์ภายในบ้านหรือส่วนตัว โดยทั่วๆ ไปแล้วก็หมายถึงการนำไมโครฯ มาช่วยจัดทำบัญชีค่าใช้จ่ายส่วนตัว หรือค่าใช้จ่ายในบ้าน หรือพิมพ์จดหมายโต้ตอบ บันทึกข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญๆ แต่ประโยชน์ด้านนี้สำหรับบ้านเราไม่ได้ใช้กันกว้างขวางมากมายอะไรเมื่อเทียบกับต่างประเทศอย่างเช่นในสหรัฐฯ ซึ่งการใช้จ่ายเป็นระบบเงินผ่อนโดยส่วนมาก

ด้านที่สี่ประโยชน์ในทางธุรกิจ เรื่องนี้ก็แล้วแต่ว่าจะเป็นธุรกิจประเภทใด ดร.ครรชิตให้ความเห็นว่า ถ้าจะแบ่งก็ควรจะแบ่งเป็น 2 แบบ คือ หนึ่ง หมายถึงเป็นธุรกิจจริงๆ อย่างเช่นที่ธนาคารออมสินหรือธนาคารกรุงไทยกำลังดำเนินการติดตั้งไมโครคอมพิวเตอร์อยู่ โดยเครื่องไมโครฯ พวกนี้จะต่อเข้ากับเครื่องใหญ่ สามารถดึงข้อมูลจากเครื่องใหญ่มาใช้ได้ ส่วนอีกแบบหนึ่งก็คือการที่บริษัทห้างร้านเล็กๆ ซื้อมาใช้กัน ดร.ครรชิต เตือนว่าสำหรับการใช้ในแบบหลังนี้มักจะมีปัญหาเรื่องบุคลากรที่ใช้เสมอ กล่าวคือถ้าจะใช้อย่างได้ประโยชน์จริงๆ ก็จะต้องว่าจ้างผู้รู้ด้านคอมพิวเตอร์มารับผิดชอบ ในขณะที่ตลาดยังขาดแคลนบุคลากรจึงเป็นปัญหามาก

ในด้านที่ห้า อันได้แก่ประโยชน์ที่เกี่ยวกับวิชาชีพ ดร.ครรชิต หมายถึงการที่แพทย์หรือวิศวกรซื้อไมโครคอมพิวเตอร์ไปทำไฟล์คนไข้ในคลินิกหรือบันทึกประเภทของยาที่ใช้หรือคำนวณโครงสร้างของตึก เป็นต้น

และด้านสุดท้าย คือด้านข่าวสาร อันนี้ก็เป็นวิวัฒนาการที่ผันแปรไป คอมพิวเตอร์นั้นเริ่มต้นใช้งานด้านการคำนวณ เช่นให้คำนวณสูตรทางเคมี คำนวณสูตรทางวิศวกรรมศาสตร์ที่ยุ่งยาก ต่อมาจึงวิวัฒนาการมาใช้ทางธุรกิจเรียกว่าการประมวลผลหรือ DATA PROCESSING จากนั้นก็วิวัฒนาการมาเป็นการให้ประโยชน์ด้านข่าวสารหรือสารสนเทศ (INFORMATION SYSTEM) และถัดจากนี้ไปก็จะเป็นเรื่องของความรู้ (KNOWLAGE) นั่นหมายถึงการนำ INFORMATION หรือ FACT เข้าเก็บไว้เป็นความรู้ ซึ่งในที่สุดก็จะต้องไปถึงยุคของการใช้ประโยชน์ด้านการกรองข่าวสารและวิเคราะห์ (INTELIGNCE) คือคอมพิวเตอร์จะเริ่มสอนคนบ้าง

ดร.ครรชิตกล่าวว่า ขณะนี้ประเทศตะวันตกกำลังอยู่ในขั้นตอนการนำข่าวสารและเข้าเก็บในคอมพิวเตอร์ ส่วนบ้านเรายังอยู่ในขั้น DATA PROCESSING ที่กำลังเขยิบขึ้นไปสู่ระบบข่าวสารเท่านั้น

2. ดร.อนุมงคล ศิริเวทิน

ดร.อนุมงคล ขึ้นต้นก็แซวกลับ “คนเลี้ยงช้างที่จะต้องมาพูดเรื่องเต่า” ทันทีเลยว่า ถ้าพิจารณาในด้านการทำงานแล้ว ไมโครฯ มินิฯ หรือเมนเฟรมไม่ได้มีข้อแตกต่างกันมากมาย และยิ่งเมื่อต้องพิจารณาว่า เครื่องไมโครฯ นั้นมีราคาถูกกว่า หาซื้อได้ง่ายกว่าและก็ใช้ได้ง่ายกว่าแล้ว มันจึงเป็นที่สนใจของผู้คน ในยุคนี้ไม่มีปัญหา

โดยทั่วๆ ไปการศึกษาคอมพิวเตอร์ด้านซอฟต์แวร์นั้น นอกจากจะเรียนรู้วิทยาการที่เป็นพื้นฐานแล้วก็จะเป็นการสอนภาษาคอมพิวเตอร์ อย่างเช่นภาษาที่ซับซ้อนน้อยที่สุดอย่างภาษาเบสิก ซึ่งเครื่องไมโครตัวจิ๋วราคาไม่ถึงหมื่นบาทก็ใช้กับภาษานี้ได้

ต่อมาก็เป็นพวกภาษาฟอร์แทรนกับโคบอล ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้กันมากที่สุดในโลก ไมโคร 8 บิต ระดับมาตรฐานราคาซักหมื่นๆ บาทก็ใช้กับภาษาพวกนี้ได้ นอกจากนี้ก็เป็นภาษาที่ซับซ้อนขึ้นไป เช่น พวกภาษาอาร์พีจีและพีแอล-1 เป็นต้น

แต่แม้ว่าการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์โดยใช้เครื่องไมโครเป็นตัวฝึกฝนจะทำได้ หากแต่ถ้าจะใช้เครื่องไมโครให้คุ้มแล้วการเขียนโปรแกรมให้มันทำงานกลับไม่เหมาะ สู้นำแพ็กเกจหรือโปรแกรมสำเร็จรูปมาใช้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นขณะนี้จึงมีการสอนอีกอย่างหนึ่งเกิดขึ้นมา คือการสอนวิธีใช้แพ็กเกจต่างๆ เป็นพวก BUSINESS PROGRAMMING

ไมโครคอมพิวเตอร์ มีผลกระทบในทางเป็นประโยชน์อย่างมากจริงๆ เห็นจะเป็นการศึกษาด้านฮาร์ดแวร์ เนื่องจากในสมัยก่อนขณะที่ยังไม่มีไมโครคอมพิวเตอร์ การสอนฮาร์ดแวร์นั้นจะต้องมีเครื่องมาให้ลองแกะแล้วประกอบแต่เครื่องคอมพิวเตอร์ราคา 20-30 ล้านก็จะดูแพงเกินไป ดังนั้นมีทางเดียวคือต้องรอรับบริจาคเครื่องเก่าจากหน่วยงานที่เขาเลิกใช้ ซึ่งศึกษาไปแล้วก็นำไปใช้ประโยชน์ไม่ได้มาก เพราะเทคโนโลยีได้ก้าวรุดหน้ากว่าเครื่องที่ใช้ฝึกสอนมากมายแล้ว

ครั้นถึงยุคไมโครคอมพิวเตอร์ ราคาที่ถูกลงเป็นสิ่งที่ช่วยได้มาก เพราะฉะนั้นจึงไม่เป็นเรื่องแปลก ถ้าจะทราบว่าเด็กจบประถม 4 แถวคลองถมหรือบ้านหม้อก็สามารถประกอบเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์กันได้สบายๆ

ดร.อนุมงคลได้กล่าวตบท้ายให้เป็นข้อคิดอีกนิดว่า สำหรับการสอนภาษาคอมพิวเตอร์ในบ้านเราซึ่งขณะนี้แม้แต่ตามโรงเรียนก็พยายามจะเปิดสอนกันนั้น ควรจะเริ่มต้นด้วยภาษาที่ไม่ใช่เบสิคหรือฟอร์แทรน ซึ่งสอนง่ายเข้าใจไม่ยาก แต่ถ้าคนเรียนจะเติบโตไปเป็นนักคอมพิวเตอร์แล้วจะติดนิสัยไม่ก้าวหน้าออกมา เพราะภาษาดังกล่าวไม่ใช่ STUCTURE PROGRAM ข้อแนะนำของ ดร.อนุมงคล คือควรเริ่มต้นศึกษาด้วยภาษาอื่นๆ ที่เป็น STUCTURE PROGRAM อย่างเช่น แอล-2

3. มนู อรดีดลเชษฐ์

ดูเหมือนหัวข้อเรื่องผลกระทบทด้านการตลาดจากไมโครคอมพิวเตอร์นี่ มนูเป็นผู้บรรยายที่เหมาะสมมากที่สุดคนหนึ่ง เพราะประวัติของกรรมการผู้จัดการบริษัทดาต้าแมทคนนี้ เคยขายมาแล้วทั้งเครื่องเมนเฟรม มินิคอมพิวเตอร์ จนกระทั่งไมโครฯ จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะสามารถถ่ายทอดสิ่งที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคได้อย่างเฉียบคม

มนู เล่าว่า ในยุคแรกของการขายคอมพิวเตอร์นั้นมีแต่ตลาดเมนเฟรม ตัวหนึ่งราคาไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท ผู้ซื้อมีไม่มาก ในขณะเดียวกันผู้ขายก็มีอยู่น้อยและก็เป็นผู้ขายที่รู้สึกภาคภูมิในศักดิ์ศรีว่า ตนเป็นผู้ขายโปรดักต์ประเภทมีเทคโนโลยีก้าวหน้าจริงๆ

ต่อมาเมื่อคอมพิวเตอร์เล็กลงเป็นมินิคอมพิวเตอร์ หรือบ้างเรียกว่าออฟฟิศคอมพิวเตอร์ การเปลี่ยนแปลงด้านการตลาดก็เกิดขึ้น

จากราคา 20ล้าน มินิคอมพิวเตอร์มีราคาที่ลดลง เหลือเป็นเงินแสน อย่างสูงก็ 2-3 ล้านบาท ทำให้ตลาดขยายตัวออกไปทันที 3 เท่า กล่าวคือในจำนวนบริษัทของภาคเอกชนทั่วประเทศประมาณ 30,000 บริษัทนั้น ความสามารถที่จะซื้อเครื่องเมนเฟรมมาใช้จำนวนไม่เกิน 0.7 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อมีมินิคอมพิวเตอร์เข้าตลาด จำนวนบริษัทที่คาดว่ามีความสามารถจะซื้อไปใช้ก็เพิ่มขึ้นเป็น 1,000 กว่าราย เป็นต้น

พร้อมๆ กันกับการขยายตัวของตลาดคอมพิวเตอร์หรือพูดได้ว่าปริมาณลูกค้าพุ่งสูงขึ้นนั้น ก็ดูเหมือนคุณภาพของลูกค้ากลับลดลง หลายๆ บริษัทไม่ได้รู้อย่างลึกซึ้งว่าซื้อคอมพิวเตอร์มาแล้วจะให้มันทำอะไร คงรู้เพียงว่าจะเอามาทำบัญชีบ้าง เอามาพิมพ์หนังสือบ้างเท่านั้น

ในปี 1981 ไมโครคอมพิวเตอร์ก็เริ่มบูมในตลาด มนูกล่าวว่าจากตลาดที่ขยายไป 3 เท่าเพราะมินิคอมพิวเตอร์นั้น ได้ขยายออกไปอีกเป็น 40 เท่าทันที นี่เฉพาะด้านภาคธุรกิจไม่นับรวมตลาดส่วนตัวเพื่อนันทนาการหรือตลาดด้านการศึกษา

มนูเล่าตัวอย่างให้เป็นข้อคิดว่า คนซื้อไมโครฯ ในยุคนี้เขามีคำถามเดียวที่คนขายจะต้องตอบให้ได้ และถ้าใครตอบได้รับรองว่าต้องทำยอดขายระเบิด คำถามนี้มีว่า “คุณบอกผมได้ไหม ทำอย่างไรเครื่องที่ผมซื้อมาจะทำให้ยอดขายบริษัทเพิ่มขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์และมีกำไรเท่าตัว”

ก็คงไม่มีคนขายคนไหนตอบได้ บางคนพยายามจะตอบก็เป็นเรื่องโกหกและสร้างความเสียหายในภายหลัง จนกลายเป็นว่า ถ้าใครจะซื้อไมโครฯ สักเครื่องก็จะต้องไปถามเพื่อนสนิทที่ใช้ก่อนว่าเขาควรจะใช้ยี่ห้อไหนดี ซึ่งเพื่อนก็จะตอบว่า

“ยี่ห้อไหนก็ใช้ไปเถอะ อย่าเอายี่ห้อที่อั๊วใช้อยู่นี่ก็แล้วกัน...”

มนูกล่าวต่อไปว่า การขายคอมพิวเตอร์นั้นทำได้ 4 วิธี คือ หนึ่ง-ประมูล สอง-ทำเป็นโครงการ สาม-ทำไดเร็กต์เซลล์หรือบุกขายถึงตัว และสี่-เปิดห้องแถวหรือโชว์รูมขายอย่างที่สหรัฐฯ หรือญี่ปุ่นเขาทำกัน

เครื่องเมนเฟรมและมินินั้นก็ใช้ทั้งวิธีที่หนึ่งที่สองและที่สาม ส่วนไมโครฯ กำลังจะต้องใช้วิธีที่สี่ ซึ่งบทเรียนจากต่างประเทศพบว่า มันมีข้อเสียตรงคนขายอาจจะไม่มีความรู้ถึงขั้นสามารถให้คำปรึกษาแก่คนซื้อได้

อย่างไรก็ตาม วิธีขายประเภทที่สี่ก็คงต้องเกิดขึ้นในบ้านเราอย่างแน่นอน และอาจจะไปได้ดี ถ้าปัจจัยอย่างน้อย 2 ประการคือ หนึ่ง-ราคา และสองซอฟต์แวร์แก้กันตก

ราคานั้นหมายถึงต้องไม่แพงเกินไป ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เชื่อมโยงไปถึงการจัดเก็บภาษีในปัจจุบันว่ารัฐควรจะลดหย่อนลงมาได้หรือไม่ ส่วนด้านซอฟต์แวร์แบบไทยๆ หายาก ไม่มีใครพัฒนาออกมา เนื่องจากลงทุนพัฒนาไปเป็นหมื่นเป็นแสนบาทต่อชุดก็โดน “ก๊อบ” ต้องขาดทุนป่นปี้เสียเปล่าๆ

4. สงบ พรรณรักษา

วิทยากรปิดท้ายรายการสัมมนาหัวข้อนี้ กล่าวไม่ยาวนักเกี่ยวกับผลกระทบด้านการจัดการ โดยยกรูปธรรมชาติของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่ท่านเป็นกรรมการผู้จัดการอยู่มาเล่าประกอบ

เอตโก้ เป็นสถาบันการเงินแห่งหนึ่งซึ่งจะต้องแข่งขันกับสถาบันการเงินอื่นๆ อีกนับร้อย การจัดการอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นปัญหาที่ผู้บริหารจะต้องใส่ใจมาก

สงบกล่าวว่า อย่างเช่นเรื่องการกำหนดราคาสินค้า (หมายถึงอัตราดอกเบี้ยเพราะเอตโก้เขาค้าเงิน) จะกำหนดเท่าไรเพื่อให้บริษัทอยู่ได้ ในขณะเดียวกันก็สู้กับคู่แข่งได้ เห็นได้ชัดว่าคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในเรื่องเหล่านี้สบายๆ

เอตโก้เริ่มต้นใช้คอมพิวเตอร์อย่างมีแผนระยะยาว คือเริ่มต้นด้วยการสั่งซื้อไมโครฯ ราคาไม่กี่แสนบาทมาสร้างความคุ้นเคยกับพนักงานก่อน

สงบ เล่าว่า เป็นเรื่องที่ตัดใจไปเลยว่าบริษัทจะยอมเสียเงินสักปีละ 4 หมื่นบาทให้ใช้กัน 5 ปี จะทดลองทำงานจนมันพังก็ช่างมัน ขอให้พนักงานคุ้นเคยและใช้เป็น รู้จักคุณค่าประโยชน์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น

ขณะนี้เอตโก้เพิ่งสั่งไมโครคอมพิวเตอร์เข้ามาอีก 8 เครื่อง และเมนเฟรม 1 เครื่องโดยมีแผนจะต่อทั้งไมโครฯ และเมนเฟรมนี้เข้าด้วยกัน ซึ่งก็หมายความว่าวิธีที่เอตโก้เริ่มต้นนั้นได้ผล

แต่กระนั้น สงบยังช่วยเน้นเป็นการตบท้ายว่า ในหน่วยงานใดการใช้คอมพิวเตอร์จะเกิดประโยชน์อย่างแท้จริงคุ้มค่าการลงทุนหรือไม่นั้น ตัวผู้บริหารมีส่วนสำคัญมาก คือถ้าผู้บริหารเห็นดีเห็นงามก็ไม่มีปัญหามาก แต่ถ้าผู้บริหารไม่รู้คุณค่าหรือไม่เข้าใจก็จะเป็นเรื่องยุ่งยากอย่างมากทีเดียว   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us