ซีพีเอ็นซุ่มศึกษาปรับโฉมศูนย์การค้าสาขาเดิมตามเทรนด์ค้าปลีกโลก 3-4 โครงการ หลังคลอดคอนเซ็ปต์ใหม่ "คอมมูนิตี้ มอลล์" แห่งแรกในเครือให้สาขารัตนาธิเบศร์ มูลค่าโครงการกว่า 2,000 ล้านบาท เผยพื้นที่เช่าเต็มแล้ว 80-85% ตั้งเป้าหลังแกรนด์ โอเพนนิ่งยอดลูกค้าทะลุ 20,000 คนต่อวัน แย้มหากแนวโน้มดี เล็งขยายเฟส 2
นายสุทธิภัค จิราธิวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายขาย บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา เปิดเผยว่า ขณะนี้ซีพีเอ็นอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ของการปรับปรุงรูปโฉมใหม่ให้กับศูนย์การค้าสาขาเดิมที่มีอยู่ประมาณ 3-4 โครงการ โดยเฉพาะสาขาที่เปิดให้บริการมาเป็นระยะเวลานานครบวาระที่จะต้องปรับปรุงแล้ว อาทิ รามอินทรา, ปิ่นเกล้า
แผนในการปรับปรุงนอกจากระยะเวลาของบางสาขาที่เปิดมานานแล้ว ยังมีเรื่องของสภาพตลาดหรือไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในย่านนั้นที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ศูนย์ฯ เริ่มเข้าไปเปิดบริการในตอนต้น เพื่อเพิ่มความทันสมัย และสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์รูปแบบใหม่ ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักในการพิจารณาปรับปรุงสาขา แต่บริษัทต้องรอบคอบในการเลือกปรับสาขาค่อนข้างมาก เพราะเม็ดเงินปรับปรุงต่อสาขาค่อนข้างสูงมาก ซึ่งผลของการศึกษาอาจจะปรับปรุงหรือไม่ปรับปรุงก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละทำเล
นอกจากนี้ ค้าปลีกในต่างประเทศยังมีรูปแบบที่หลากหลายมากกว่ารูปแบบค้าปลีกในไทย อย่างกลุ่มซีพีเอ็นเอง ก็มีแต่รูปแบบโคส มอลล์ (Close Mall) หรือค้าปลีกแบบปิด ส่วนแบบ โอเพน มอลล์ (Open Mall) หรือค้าปลีกแบบเปิด กลุ่มซีพีเอ็นยังไม่เคยทำ แต่ในเมืองไทยมีรูปแบบดังกล่าวแล้ว เป็นเนเบอร์ฮูด มอลล์ หรือ ค้าปลีกขนาดย่อมใกล้ชิดชุมชม
อีกทั้งโครงการศูนย์การค้าที่ผ่านมาของกลุ่มเซ็นทรัล ส่วนใหญ่เป็นลักษณะริจินัล มอลล์ หรือค้าปลีกขนาดใหญ่ประมาณ 2 แสนตร.ม. ขึ้นไป ซึ่งจะมีรูปแบบของโครงการเซ็นทรัล ทาวน์ เซ็นเตอร์ รัตนาธิเบศร์เพียงสาขาเดียว และเป็นสาขาแรกที่เป็นรูปแบบใหม่ คือ คอมมูนิตี้ มอลล์
สำหรับสาขาดังกล่าวซีพีเอ็นใช้งบลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท ในการปรับปรุงให้เป็นรูปแบบโฉมใหม่ทั้งหมด โดยมีพื้นที่รวมประมาณ 66,000 ตร.ม. บนพื้นที่ 50 ไร่ ซึ่งขณะนี้สามารถปรับปรุงเสร็จไปแล้ว 80% คาดว่าจะเสร็จครบประมาณเดือนก.ค.นี้ และพร้อมจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนต.ค. นี้
นายสุทธิภัค กล่าวต่อว่า ศูนย์การค้าแห่งนี้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายในรัศมี 5-10 กม. และถือเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่แห่งเดียวในนนทบุรี โดยบริษัทถือว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงมาก มีจำนวนโรงงานในย่านนี้ 524 โรงงาน ธนาคาร 60 แห่ง และมีบ้านเรือนที่อยู่ในย่านนี้ประมาณ 3 แสนครัวเรือน ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูง ซึ่งต่อไปจะเป็นทำเลที่ดีทำเลหนึ่ง เพราะรัฐบาลมีโครงการรถไฟฟ้าสาขาบางซื่อ-บางบัวทอง และมีสถานีรถไฟฟ้าอยู่ด้านหน้าทางเข้าศูนย์ฯ
หลังจากเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแล้ว เชื่อว่าจะมีจำนวนลูกค้าหมุนเวียนกว่า 15,000 -20,000 คนต่อวัน จากปัจจุบันที่มีผู้เข้ามาใช้บริการประมาณ 10,000 คนต่อวัน โดยทางศูนย์ฯ มีพื้นที่จอดรถประมาณ 1,000 คัน และรองรับปริมาณรถหมุนเวียนได้ถึงกว่า 5,000 คัน และปัจจุบันได้เช่าพื้นที่ด้านข้างศูนย์ฯ เพิ่มเติมอีก 16 ไร่ เพื่อทำลานจอดรถชั่วคราว รองรับได้ 700 คัน ซึ่งหากมีปริมาณของลูกค้ามากขึ้น ซีพีเอ็นเตรียมขยายเฟส 2 เพิ่มเติมในส่วนของอาคารจอดรถบนพื้นที่ว่าง 5 ไร่
ภาพรวมของเศรษฐกิจในปีนี้บริษัทมองว่ายังเติบโตได้ดีอยู่ จะมีผลกระทบเฉพาะในแง่ต้นทุนการก่อสร้างเพิ่มขึ้น 5-10% ซึ่งถือว่าไม่ใช่อุปสรรคที่มีต่อการลงทุนมากนัก แต่ในแง่การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคเชื่อยังดีอยู่เช่นเดิม
|