|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ พฤษภาคม 2548
|
|
หากเปรียบเกษตรกรเป็นดัง กระดูกสันหลังของชาติ กระดูกสันหลังสัญชาติญี่ปุ่นคงเป็นกระดูกขนาดใหญ่ที่ได้รับสารอาหารบำรุงอย่างครบถ้วนเสริมสร้างให้กระดูกคงความแข็งแรงอยู่ตลอดเวลา
อย่างน้อยจากบันทึกเรื่องราวเมื่อ 400 กว่าปีก่อนในสมัยเอโดะที่ว่า ชาวนาในสมัยนั้นได้รับการยกย่องให้มีวรรณะทางสังคมสูงเป็นอันดับสองรองจากซามูไร ซึ่งเป็นหลักฐานที่ยืนยันความสำคัญของเกษตรกรญี่ปุ่นมาตั้งแต่ครั้งอดีต (อ้างอิง นิตยสารผู้จัดการฉบับเดือน มกราคม 2005 ในคอลัมน์เดียวกัน เรื่อง A Story from Nagoya Castle)
ด้วยกลไกการประกันราคาพืชผลการเกษตรของรัฐบาลในปัจจุบันส่งผลให้เกษตรกรสามารถจำหน่าย ผลผลิตได้ราคาดี พร้อมกันนี้คนญี่ปุ่นเองก็พึงใจที่จะเลือกซื้อพืชผักที่ปลูกในประเทศมากกว่า
พืชผักที่นำเข้าจากต่างประเทศถึงแม้ว่าจะมีราคาแพงกว่าก็ตาม ทั้งนี้เป็นเพราะความมั่นใจในคุณภาพของความสด ความอร่อย และความปลอดภัยจากยาฆ่าแมลง ซึ่งสร้างความพอใจในการบริโภคสินค้าคุณภาพสูง ซึ่งไม่ต่างอะไรไปจากการเลือกใช้สินค้าอุตสาหกรรมชั้นดี ที่ตีตรา MADE IN JAPAN
ยิ่งไปกว่านั้นเกษตรกรญี่ปุ่นโดยทั่วไปมีความรู้ ความเข้าใจในการเกษตรเป็นอย่างดีและมีความคุ้นเคยกับการประยุกต์เทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในการเกษตรซึ่งได้รับคำแนะนำจากนักวิชาการที่วิจัยปรับปรุงพันธุ์พืชและเทคนิคทางการเกษตรอย่างต่อเนื่อง
ในงานรับปริญญาของมหาวิทยาลัยจิบะ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาได้มีโอกาสพูดคุยกับ ดร.จตุรงค์ จันทร์สี่ทิศ นักเรียนไทย (ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น) ซึ่งทำวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาการปลูกมะเขือเทศโดยไม่ใช้ดิน
เนื้อหาใน thesis นั้นเป็นการพัฒนาการเกษตรไร้ดิน ระบบ hydroponic โดยเลือกใช้กากมะพร้าว ซึ่งเป็นวัสดุที่หาง่ายและมีราคาถูกในเมืองไทยใช้เป็นวัสดุปลูก ทดแทนการใช้ดินที่มีข้อดีเหนือการใช้ดินปลูกอยู่หลายอย่าง เช่น ช่วยลดอัตราการเกิดโรคพืชที่มาจากดิน ซึ่งตัดปัญหาเรื่องการใช้สารเคมีไปโดยปริยาย เทคนิคนี้สามารถควบคุมปริมาณน้ำและปุ๋ยได้ตรงตามความต้องการของพืชอันเป็นการประหยัดต้นทุนการผลิตไปในตัว นอกจากนี้ยังสามารถพัฒนาพื้นที่ดินเค็มให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวได้
มะเขือเทศเป็นพืชสวนที่เหมาะกับงานวิจัยนี้ เนื่องจากสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ภายในเวลาครึ่งปีและเป็นพืชที่ขายได้ราคาดี
ต้นกล้าที่โตได้ขนาดจะถูกย้ายไปปลูกในกรีนเฮาส์ ที่ใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมการให้น้ำและปุ๋ยอัตโนมัติ โปรแกรมดังกล่าวจะแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ระบบแยกจากกัน กล่าวคือ (1) เมื่อปริมาณความชื้นในกรีนเฮาส์ลดลงจนถึงระดับที่ตั้งโปรแกรมเอาไว้ น้ำจากท่อที่ต่อทั่วกรีนเฮาส์ จะไหลรดลงมาในปริมาณที่พอเหมาะกับความต้องการของมะเขือเทศ (2) เมื่อความเข้มข้นของส่วนผสมปุ๋ยลดลงจากการที่พืชดูดขึ้นไปใช้ในการสังเคราะห์แสงคอมพิวเตอร์จะสั่งให้มีการเติมปุ๋ย ทดแทนให้เท่ากับส่วนที่หายไป
เมื่อเทียบกับการปลูกมะเขือเทศแบบธรรมดาแล้ว การปลูกมะเขือเทศโดยไม่ใช้ดินสามารถลดระยะความห่างระหว่างต้นได้ 2 เท่า นั่นหมายความถึงความสามารถในการเพิ่มปริมาณของจำนวนต้นมะเขือเทศ ได้มากกว่า 2 เท่า ภายใต้พื้นที่เท่าเดิมโดยไม่ทำให้คุณภาพของผลผลิตลดลงไป
โดยธรรมชาติของมะเขือเทศจะให้ผลผลิตที่มี คุณภาพและมีความอร่อยสูงสุดในช่วงการเก็บเกี่ยว 3-4 ช่วงแรกจากทั้งหมดประมาณ 16 ช่วง ดังนั้นงานวิจัยนี้ จึงได้รับการคำนวณและออกแบบการเก็บเกี่ยวเพียงแค่ 3-4 ช่วงแรกของช่วงการเก็บเกี่ยวซึ่งได้ปริมาณมะเขือเทศเทียบเท่ากับการปลูกด้วยระยะห่างปกติแต่ได้มะเขือเทศคุณภาพสูงที่จำหน่ายได้ราคาดีและเมื่อคิดสรตะรวมกับต้นทุนที่ได้รับการควบคุมอย่างชาญฉลาด ทำให้สามารถจำหน่ายมะเขือเทศได้กำไรกว่าการปลูกแบบใช้ดินถึง 2 เท่าหรือมากกว่า
นอกจากจะเพิ่มประสิทธิภาพการเกษตรได้ในระยะเวลาอันสั้นแล้วระยะเวลาที่เหลือยังสามารถเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นที่มีราคาดีด้วยเทคนิคเดียวกัน อย่างเช่นสตรอเบอรี่ได้อีกด้วย
หากมองในระยะยาวจะพบว่าการปลูกพืชในลักษณะเช่นนี้สามารถถึงจุดคุ้มทุนได้ภายในระยะเวลาอันสั้น เลือกชนิดของพืชปลูกได้ตามฤดูกาลและความนิยมของตลาด ควบคุมต้นทุนได้แม่นยำ ลดปัญหามลภาวะและการใช้สารเคมีรวมถึงยาฆ่าแมลงที่ตกค้าง สามารถสร้างแบรนด์พืชผักที่ช่วยให้ผู้บริโภคอุ่นใจในการเลือกซื้อ
อีกไม่ช้าไม่นาน เกษตรกรญี่ปุ่นโดยเฉพาะสวนที่มีการปลูกพืชไร้ดินระบบ hydroponic อยู่แล้ว คงจะได้รับคำแนะนำเพิ่มเติมจากนักวิชาการเกษตร ที่สอดคล้องกับผลงานวิจัยของ ดร.จตุรงค์ จันทร์สี่ทิศ เพื่อประยุกต์ใช้ในการปลูกพืชต่อไป
ในอนาคตนั้นเชื่อว่าหากประเทศไทยมีการพัฒนาการเกษตรอย่างจริงจัง โดยได้รับคำแนะนำจากนักวิชาการเกษตรในลักษณะคล้ายกันนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กระดูกสันหลังสัญชาติไทยคงเป็นกระดูกชิ้นใหญ่ที่แข็งแรงไม่แพ้ชาติใดในโลก
ขอขอบคุณ ดร.จตุรงค์ จันทร์สี่ทิศ เอื้อเฟื้อข้อมูล และภาพประกอบ
|
|
|
|
|