|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ พฤษภาคม 2548
|
|
ภาพของหญิงสาวชาวไทยที่ออกมาส่งแขกชาวต่างชาติขึ้นรถสามล้อหน้าบ้านหลังหนึ่งในซอยต้นสน พร้อมก้มลงไหว้อย่างอ่อนช้อย สร้างความประทับใจจนต้องเข้าไปค้นหาเรื่องราวภายในบ้าน
เป็นบ้านหลังเล็กๆ 2 ชั้น ที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบทิวดอร์ ซึ่งอาจเห็นได้ทั่วไปในชนบทของยุโรป และน่าจะเป็นบ้านในฝันของใครหลายคนทีเดียว ที่สำคัญเป็นที่อยู่อาศัยในบรรยากาศที่ร่มรื่นแต่ห่างจากสถานีรถไฟฟ้าสถานีชิดลมเพียงไม่กี่เมตร
บ้านหลังนี้ถูกสร้างขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ.2473-2474 หรือประมาณ 75 ปีที่ผ่านมา เดิมทีเป็นพระตำหนักส่วนพระองค์ของหม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ อดีตคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นพระโอรสองค์หนึ่งของพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้า วรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ กับหม่อมบุญ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าจอมมารดาเขียน
หม่อมเจ้าโวฒยากรทรงสำเร็จการศึกษาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ต่อมาพระองค์ได้เข้ารับราชการในหน่วยการช่างที่กรมรถไฟ คุมงานก่อสร้างต่างๆ ของกรมรถไฟ หลังจากนั้นก็ได้รับเชิญไปสอนที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บ้านหลังนี้กลายเป็นเรือนหอที่น่ารัก เมื่อพระองค์ทรงสมรสกับหม่อมจิตรา บุตรพระปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน) และคุณหญิงปฤกษ์ ปันยารชุน
โครงสร้างหลักของบ้านเป็นไม้เต็งรังและไม้สัก ส่วนผนังใช้เทคนิคการหมักฟางในน้ำพร้อมด้วยส่วนผสมของขี้เถ้า หลังจากนั้นนำฟางไปคลุกกับดินเหนียว สำหรับฉาบบนผิวไม้ไผ่ แล้วปล่อยตากลมตากแดดจนแห้ง หลังจากนั้นนำน้ำปูนขาวทาเคลือบผิวผนัง
เป็นวิธีการก่อสร้างบ้าน ซึ่ง ม.จ.โวฒยากรทรงค้นคว้าเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านผู้ยากจนในชนบทสมัยนั้น
ตัวบ้านดูจากด้านนอกจะเห็นแค่ 2 ชั้น แต่เมื่อเข้าไปข้างใน จะพบว่ามีทางลงชั้นใต้ดินอีกชั้นหนึ่งด้วย และได้รับการยอมรับจากวงการสถาปัตยกรรมว่าเป็นเคหสถานแห่งแรกของประเทศไทย ที่มีห้องใต้ดินสมบูรณ์แบบ มีระบบการถ่ายเทอากาศที่เหมาะสม
ปี 2532 ม.ร.ว.ชาญวุฒิ วรวรรณ โอรสของ ม.จ.โวฒยากร วรวรรณ ได้ออกแบบบูรณะดัดแปลงบานหน้าต่างจากบานทึบเป็นกระจกใส ต่อเติมห้องน้ำชั้นบน และเปลี่ยนหลังคาเป็นกระเบื้องปูนซีเมนต์ลอนคู่
ปี 2537 บ้านหลังนี้ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปกรรมดีเด่นประจำปี 2537 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
ต่อมาท่านเจ้าของบ้านให้ชาวต่างชาติเช่า และปัจจุบันกลายเป็น "สปา 1930" สปากลางเมืองในบรรยากาศของบ้านเก่าอีกแห่งหนึ่ง ที่มีเรื่องเล่าผสมกลมกลืนไปกับโปรแกรมต่างๆ ในสปาที่ถ่ายทอดมาจากคนรุ่นโบราณ
|
|
|
|
|