|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ พฤษภาคม 2548
|
|
หากรสชาติจัดจ้านของอาหารไทย ได้รับการปรุงแต่งขึ้นมาด้วยเครื่องเทศเครื่องแกงหลากหลายชนิด ความเป็นไปของ Siam Garden ก็กำลังดำเนินไป ท่ามกลางเรื่องราวที่ยึดโยงเข้ากับรากฐานทางประวัติศาสตร์ได้อย่างลงตัว
"ถ้าไม่ใช่เพราะตึกนี้มีความเกี่ยวพันกับประเทศไทย ผมคงไม่ทำ" Noritada Mitsubayashi ประธานบริษัท Yamamori เจ้าของร้านอาหารไทย Siam Garden สะท้อนความคิดรวบยอดในการขยายธุรกิจเข้าสู่กิจการร้านอาหาร
ภาพของอาคารสูง 3 ชั้น อายุกว่า 70 ปี ที่ตั้งตระหง่านอยู่ริมแม่น้ำ Horikawa ในเมือง Nagoya อาจมิได้สะท้อนความอลังการยิ่งใหญ่ แต่อาคารซึ่งสร้างขึ้นเมื่อปี 1931 แห่งนี้ได้กลายเป็นประหนึ่งประจักษ์พยาน ที่เคลื่อนผ่านความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่อุดมด้วยเรื่องราวมากมาย
อาคาร The Old Kato Trading Company Building แห่งนี้ เดิมเป็นสำนักงานใหญ่ของ Kato Trading Company ก่อนที่ในปี 1935 อาคารแห่งนี้จะเป็นที่ทำการของสถานกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ของไทย ณ เมือง Nagoya ยาวนานนับ 10 ปี กระทั่งเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1945
ความเปลี่ยนแปลงในความเป็นเจ้าของและการใช้ประโยชน์ในอาคารดังกล่าว เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อ Kato Trading Company ขายอาคารดังกล่าวให้กับ Nakano Industries ในปี 1967 ซึ่งพื้นที่ของอาคารแห่งนี้ได้รับการปรับเปลี่ยนไปสู่การเป็นคลังสินค้า รวมถึงการเป็นพื้นที่สำหรับสื่อโฆษณาขนาดใหญ่ เมื่ออาคารแห่งนี้ถูกคลุมด้วยป้ายโฆษณาเต็มหมดทั้งพื้นที่ด้านนอกของอาคาร
เมือง Nagoya ได้เข้าถือสิทธิเป็นเจ้าของอาคารแห่งนี้ ในปี 2000 ด้วยการบริจาคของ Nakano Industries ซึ่งเป็นเจ้าของอาคารรายสุดท้าย ก่อนที่เมือง Nagoya จะขึ้นทะเบียนให้เป็นอาคารอนุรักษ์ ในฐานะ National Tangible Cultural Asset ภายใต้แนวความคิดที่จะรักษาและใช้ประโยชน์อาคารดังกล่าว ให้เป็นประหนึ่งสัญลักษณ์ของการพัฒนาพื้นที่โดยรอบของแม่น้ำ Horikawa และแหล่งข้อมูลที่บอกกล่าวความสำคัญของแม่น้ำสายนี้ ควบคู่กับการกระตุ้นบรรยากาศของย่านธุรกิจให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
พื้นที่โดยรอบของริมฝั่งแม่น้ำ Horikawa ช่วงเชิงสะพาน Nayabashi จึงประกอบด้วยร้านอาหารนานาชาติ ซึ่งต่างตั้งประจันรสชาติความอร่อยให้ผู้คนได้ลิ้มลอง และกำลังเป็นแหล่งดื่มกิน intrend ของทั้งชาวเมือง Nagoya และนักเดินทางต่างถิ่น ควบคู่กับการเตรียมการเพื่อรองรับกับนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่คาดว่าจะเดินทางเข้ามาใน Nagoya เพื่อร่วมชมงาน World Expo 2005 ที่จังหวัด Aichi
การเกิดขึ้นของร้านอาหารไทย Siam Garden ซึ่งได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา อาจเป็นเพียงรูปแบบการขยายโอกาสทางธุรกิจของกลุ่มทุนผู้ประกอบการ แต่อีกด้านหนึ่งกรณีดังกล่าว กำลังสะท้อนทัศนะและแนวคิดการดำเนินธุรกิจที่น่าสนใจ ยิ่ง ขณะที่ความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์ในบางช่วงเวลาดังกล่าว อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ Siam Garden ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้มีสิทธิใช้ประโยชน์อาคารแห่งนี้
"มีบริษัทห้างร้าน 11 ราย จากธุรกิจหลากหลายแขนง ยื่นข้อเสนอขอเข้ามาใช้ประโยชน์ในอาคารแห่งนี้ แต่ผู้บริหารของเมือง Nagoya เลือกให้เราเข้ามาเปิดร้านอาหารไทย Siam Garden" Noritada Mitsubayashi กล่าวด้วยท่วงทีภาคภูมิใจ
นอกเหนือจากแม่ครัวชาวไทย ซึ่งล้วนผ่านประสบการณ์จากห้องอาหารไทยของโรงแรมระดับนำในกรุงเทพฯ แล้ว Noritada Mitsubayashi ได้เชิญ ศรีสมร คงพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารไทย ที่มีชื่อเสียงในวงกว้างมาเป็นที่ปรึกษาด้านโภชนาการและการจัดสำรับอาหารใน Siam Garden เพื่อเชื่อมโยงความเป็น Authentic Thai Cuisine มาปรับแต่งให้เข้ากับรสนิยมการบริโภคของชาวญี่ปุ่นด้วย
Noritada Mitsubayashi ไม่ได้มุ่งหมายที่จะขยายธุรกิจร้านอาหารให้กว้างขวางออกไปในลักษณะของเครือข่ายที่กระจายอยู่ทั่วเขตหัวเมืองใหญ่อย่างที่ผู้ประกอบการจำนวนมากมักวางเป้าหมายไว้ หากสิ่งที่เขาต้องการจากการเปิดร้านอาหารไทยครั้งนี้อยู่ที่การสร้างภาพลักษณ์ของอาหารไทย ผ่านการบริการและรสชาติให้เป็นที่ยอมรับสำหรับกลุ่มลูกค้าตลาดบน
"ปัจจุบันเรามีอาหารไทยปรุงสำเร็จ Yamamori ที่กำลังสร้างตลาดในวงกว้าง แต่ในอนาคตเรามีแผนที่จะออกอาหารไทยปรุงสำเร็จภายใต้แบรนด์ Siam Garden เพิ่มขึ้นอีก เพื่อเจาะตลาดและจำหน่ายใน supermarket และห้างสรรพสินค้าระดับบน ในฐานะที่เป็นสินค้า exclusive"
Siam Garden ในทัศนะของ Noritada จึงมิได้มีสถานะเป็นเพียงร้านอาหารไทยที่ต้องดำเนินงานให้ได้ผลกำไรเท่านั้น หาก Siam Garden กำลังทำหน้าที่เป็นประหนึ่ง showroom ที่มีชีวิตในการสื่อสารกับสาธารณะ และเป็นประหนึ่งช่องทางในการเก็บรับข้อมูลเพื่อปรับแต่งคุณภาพและรสชาติอาหารไทยสำเร็จรูปของ Yamamori ในอนาคต
มิติความคิดของ Noritada Mitsubayashi นอกจากจะบ่งบอกให้เห็นความจัดเจนทางธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีการสร้างให้เกิดแบรนด์และตลาดรองรับสินค้าใหม่ๆ แล้ว กรณีดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นการรังสรรค์ประโยชน์จากการผนวกผสานมิติทางวัฒนธรรม ให้เข้ามาส่งเสริมผลิตภัณฑ์ในทางธุรกิจด้วย
ประเด็นที่น่าสนใจติดตามก็คือ ขณะที่ผู้ประกอบการชาวญี่ปุ่นประเมินคุณค่าของอาหารไทย ในลักษณะที่ครอบคลุมทั้งในมิติของภาพลักษณ์ บริการและสินค้า (image-service-goods) เช่นนี้ หน่วยงานและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องของไทยจะประเมินและวางยุทธศาสตร์ในเชิงรุกกับประเด็นเหล่านี้เช่นไร
|
|
|
|
|