|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ พฤษภาคม 2548
|
 |

หากประเมินจากทุนจดทะเบียนบริษัทที่อยู่ในระดับ 435 ล้านเยน Yamamori อาจเป็นเพียงธุรกิจ SMEs แห่งหนึ่งของญี่ปุ่น แต่เมื่อพิจารณาจากยอดการจำหน่ายที่มีมากถึงกว่า 23,000 ล้านเยน ในแต่ละปี ธุรกิจของ Yamamori กลับให้ภาพที่น่าสนใจไม่น้อย
ความเป็นมาและเป็นไปของ Yamamori สามารถ สืบย้อนกลับไปได้ตั้งแต่เมื่อปี 1889 เมื่อ Sentaro Mitsubayashi เริ่มต้นธุรกิจการผลิตซอสถั่วเหลืองด้วยการหมัก (soy sauce fermenting) ที่เมือง Kuwana ในจังหวัด Mie ซึ่งนอกจากธุรกิจ soy sauce ดังกล่าวจะเป็นต้นรากที่สืบเนื่องมาถึงปัจจุบันแล้ว Yamamori ยังได้ขยายบริบททางธุรกิจออกไปสู่การผลิตเครื่องปรุงรสหลากหลายชนิด และก้าวเข้าสู่ธุรกิจอาหารแปรรูปด้วย
"Yamamori เติบโตขึ้นมาจาก soy sauce ซึ่งปัจจุบันเราเป็นผู้ผลิตที่ครองส่วนแบ่งมากเป็นลำดับที่ 7 ในตลาดญี่ปุ่น แต่สิ่งที่เรามุ่งหมายจากนี้คือการเป็นหมายเลข 1 ในฐานะผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปในซอง (retort pouch)" Noritada Mitsubayashi ประธานบริษัท Yamamori คนปัจจุบัน กล่าวถึงเป้าหมายในอนาคต
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจก็คือ แม้ Yamamori จะเป็นหนึ่งในกลุ่ม Top Ten ของผู้ผลิต soy sauce ที่มีมูลค่าการตลาดรวมมากกว่า 20,000 ล้านเยน แต่ท่ามกลางจำนวนผู้ผลิตและตราสินค้าที่มีมากกว่า 1,500 ราย ส่วนแบ่งที่ Yamamori ถือครองอยู่จึงมีเพียง 2-3% ของมูลค่าตลาดรวมเท่านั้น ขณะที่ Kikoman ซึ่งเป็นผู้นำตลาดอันดับหนึ่งครองส่วนแบ่งไว้มากถึง 30% โดยมี Yamaza ที่ครองส่วนแบ่งตลาดในระดับ 10% อยู่ในอันดับสอง
ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีการผลิตอาหารสำเร็จรูปในซอง (retort pouch) ไม่ใช่นวัตกรรมใหม่ที่ Yamamori ต้องดิ้นรนไขว่หา เพราะ Yamamori ได้พัฒนาเทคนิคและกระบวนการผลิตดังกล่าวมาตั้งแต่เมื่อปี 1969 โดยอาศัยข้อมูลการวิจัยพัฒนาอาหารสำหรับนักบินอวกาศ ของ NASA มาใช้เป็นฐานในการผลิต และขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดอาหารแปรรูป รวมถึงธุรกิจอาหารเหลวปลอดเชื้อสำหรับผู้ป่วยในโรงพยาบาล ซึ่ง Yamamori นับเป็นหนึ่งในผู้นำของธุรกิจด้วย
พัฒนาการของบรรจุภัณฑ์และเทคโนโลยีการผลิตดังกล่าว เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ยอดการจำหน่ายของ Yamamori เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากระดับ 200 ล้านเยน ในปี 1967 มาสู่ระดับ 5,000 ล้านเยน ในปี 1977 แต่การเพิ่มขึ้นของยอดจำหน่ายดังกล่าว ย่อมมิใช่หลักประกันในความสำเร็จของ Yamamori หากไม่มีวิสัยทัศน์ของผู้บริหารในการขับเคลื่อนองค์กรเป็นองค์ประกอบหลัก
Noritada Mitsubayashi เป็น Mitsubayashi รุ่นที่ 4 ที่เข้ามากุมบังเหียน Yamamori กิจการของครอบครัวที่มีอายุยืนยาวกว่า 116 ปีแห่งนี้
เขาสำเร็จการศึกษาจากคณะ Applied Bioscience สาขาวิชาเอก Fermentations Science มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แห่งกรุงโตเกียว (Tokyo University of Agriculture) ซึ่งดูจะเข้ากันได้ดีกับบริบททางธุรกิจที่ Yamamori กิจการของครอบครัวดำเนินอยู่ โดยภายหลังที่สำเร็จการศึกษา Noritada ยังไม่ได้เริ่มทำงานกับ Yamamori ในทันที หากแต่เริ่มงานครั้งแรกที่ Okazaki Marusan ในกรุงโตเกียวเป็นเวลาหนึ่งปี ก่อนที่ในปี 1976 จะเข้ามามีบทบาทในฐานะกรรมการบริษัทของ Yamamori อย่างเป็นทางการ
Noritada ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของ Yamamori ในปี 1981 หรือเพียง 5 ปีหลังจากที่เข้ามาทำงานในบริษัท แต่ความท้าทายครั้งใหญ่ ซึ่งนับเป็นจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญอยู่ที่การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานบริษัทแทน Chuei Mitsubayasi ผู้เป็นพ่อ ซึ่งเสียชีวิตลงในปี 1982
ด้วยวัยเพียง 29 ปี Noritada กลายเป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทที่มีอายุน้อยที่สุดคนหนึ่งแห่งยุคสมัย ท่ามกลางบุคลากรระดับอาวุโสจำนวนมาก ซึ่งแม้จะไม่มีการท้าทายอำนาจโดยตรง แต่สายตาที่เฝ้ามองเหล่านี้ ได้ส่งผลให้ Noritada ต้องเร่งแสดงศักยภาพการนำ เพื่อให้เกิดการยอมรับอย่างเร่งด่วนด้วยเช่นกัน
Noritada เริ่มแผนการขยายธุรกิจด้วยการนำเทคโนโลยีการผลิต vinegar หรือสารละลายกรดน้ำส้มที่ Yamamori มีอยู่แล้ว มาประยุกต์สำหรับผลิตน้ำมะนาว น้ำบ๊วย น้ำแอปเปิล และ grapefruit เพื่อรุกเข้าสู่ธุรกิจเครื่องดื่ม ในฐานะที่เป็นส่วนผสมของ Chu-hai เครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ดีกรีต่ำ (low percentage alcoholic beverage) ซึ่งบริษัทผู้ผลิตสุราต่างเริ่มสายการผลิตและทำตลาดมาตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 1980 ก่อนที่จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ
"สิ่งสำคัญในฐานะผู้นำองค์กรที่ต้องรับผิดชอบ ความมั่นคงของบริษัทอยู่ที่ความคิดริเริ่มในการขยาย โอกาสทางธุรกิจ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดีมากที่คณะกรรมการ ของบริษัทให้การสนับสนุนความคิดดังกล่าว และทำให้ Yamamori เป็นหนึ่งในบริษัทแรกๆ ที่เข้าสู่ธุรกิจที่กำลัง เติบโตนี้"
ขณะที่ยอดการจำหน่ายของ Yamamori ในปี 1982 ก็บรรลุสู่ระดับ 10,000 ล้านเยน ซึ่งหลังจากประสบความสำเร็จในการขยายธุรกิจใหม่ๆ ควบคู่กับการยอมรับในศักยภาพและบทบาทการนำดังกล่าว Noritada เริ่มรุกไปสู่การแสวงหาลู่ทางธุรกิจในต่างแดนมากขึ้น
ในปี 1988 บริษัทร่วมทุนระหว่าง Yamamori และ Nisshin Seifun (Nisshin Flour Mill) ซึ่งนับเป็นการลงทุนในต่างประเทศครั้งแรกของ Yamamori ก็ได้จัดตั้งขึ้นในพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมบางปู ประเทศไทย เพื่อผลิตอาหารแปรรูป ทั้งในแบบกระป๋องและแช่แข็ง สำหรับส่งออกกลับมาจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นรูปแบบการขยายธุรกิจที่ไม่แตกต่างจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรายอื่นๆ ของญี่ปุ่นมากนัก
Yamamori เริ่มลงหลักปักฐานทางธุรกิจในประเทศไทยมากขึ้น เมื่อ Yamamori ร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับกลุ่มของ ปิยะ ภิรมย์ภักดี เพื่อผลิตเครื่องปรุงรส โดยเฉพาะ soy sauce ขึ้นที่จังหวัดเชียงรายในปี 1993 โดยมีผลผลิตจากเกษตรโครงการหลวง เป็นแหล่งวัตถุดิบในการผลิต
ผลิตภัณฑ์ของ Yamamori ที่ผลิตได้จากโรงงานแห่งนี้ไม่ได้เป็นไปเพื่อการส่งออกมายังตลาดญี่ปุ่น หากแต่กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารญี่ปุ่นในไทย รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการภัตตาคาร และร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เครือข่ายร้านอาหารญี่ปุ่น Fuji กลายเป็นกลุ่มลูกค้าสำคัญ ซึ่งฐานธุรกิจในลักษณะ business to business ดังกล่าวส่งผลให้ Yamamori อยู่ในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายซอสถั่วเหลืองญี่ปุ่นรายใหญ่สำหรับตลาดประเทศไทยเลยทีเดียว
อย่างไรก็ดี ผลพวงของวิกฤติเศรษฐกิจในปี 1997 ได้ส่งผลให้พันธมิตรทางธุรกิจระหว่าง Yamamori กับกลุ่มของ ปิยะ ภิรมย์ภักดี มีเหตุให้ต้องสิ้นสุดลง ก่อนที่ในช่วงปลายปี 2004 ที่ผ่านมา Yamamori จะเข้าร่วมกับ Ajinomoto และ Hi-Q ผลิตภัณฑ์อาหาร จัดตั้งบริษัท AQY Sauce เพื่อผลิตซอสถั่วเหลือง และซอสปรุงรส ด้วยกำลังการผลิตรวมมากถึง 6,000 กิโลลิตรต่อปี
การขยายธุรกิจที่น่าจับตามองมากที่สุดของ Yamamori อยู่ที่การรุกเข้ามาเป็นผู้ผลิตแกงไทยหลากหลายชนิดในรูปของผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปในซอง (retort pouch) เพื่อจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งนับเป็นการนำจุดแข็งจากเทคโนโลยีการผลิตมาผสมผสานเข้ากับแนวคิดในเชิงการตลาดได้อย่างลงตัว
"อนาคตของธุรกิจ soy sauce มีแนวโน้มที่จะถดถอยลงเป็นลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เน้นความสะดวกมากขึ้น ซึ่ง Yamamori ต้องตอบสนองความต้องการในส่วนนี้ให้มากขึ้น และแกงไทยในซองสำเร็จรูปน่าจะเป็นการเปิดศักราชใหม่ให้กับผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นได้"
Yamamori เริ่มเปิดตลาดแกงไทยในซองสำเร็จรูปในตลาดญี่ปุ่นตั้งแต่เมื่อปี 2000 ซึ่งนอกจากจะเป็นห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สหัสวรรษใหม่แล้ว กรณีดังกล่าวยังสอดรับกับนโยบายของรัฐไทยว่าด้วย ครัวไทยสู่โลก (kitchen of the world) ที่กำลังเริ่มและเร่งโหมนำเสนออย่างต่อเนื่องในเวลาต่อมาด้วย
การแสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐทั้งไทยและญี่ปุ่น ดูจะเป็นกรณีที่ Yamamori ให้ความสำคัญและสนใจเป็นพิเศษ ควบคู่กับการสร้างเครือข่ายสายสัมพันธ์ทางธุรกิจ ซึ่งกิจกรรมของ Yamamori ในห้วงที่ผ่านมา ได้สะท้อนความเข้าใจและสามารถรังสรรค์ประโยชน์จากทิศทางของนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การเปิดตลาดสินค้าแกงไทยสำเร็จรูปในซองของ Yamamori ในระยะเริ่มแรก ดำเนินไปอย่างระมัดระวัง และด้วยกลยุทธ์การตลาดที่ลุ่มลึก โดย Yamamori ได้อาศัยฐานการผลิตของ Thai Nisshin Seifun (Nisshin Flour Mill) พันธมิตรทางธุรกิจที่ยาวนานในประเทศไทย เป็นผู้ผลิตสินค้าเหล่านี้ ขณะเดียวกัน Yamamori ได้เริ่มกิจกรรมทางการตลาดด้วยการเข้าร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว จัดงาน Thai Food Reception ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2002 ก่อนที่กิจกรรมดังกล่าวจะพัฒนาไปสู่ An Evening of Thai Curry and Rice ในเวลาต่อมา
เป้าหมายของกิจกรรมการตลาดของ Yamamori ดังกล่าว มิได้อยู่ที่การสร้างให้เกิดความต้องการบริโภค ในลักษณะของการ generate demand ในหมู่ผู้บริโภคปลายทาง หากดำเนินไปท่ามกลางความพยายามที่จะแนะนำสินค้าอาหารไทยของ Yamamori ให้เป็นที่รู้จัก มากขึ้นในหมู่ supplier ด้านอาหารทุกระดับของญี่ปุ่น ทั้งในส่วนของผู้นำเข้า ห้างสรรพสินค้า และซูเปอร์มาร์เก็ต เพื่อขยายช่องทางการจำหน่ายให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
"คนญี่ปุ่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนรุ่นหนุ่มสาว พวกเขาต้องการบริโภคอาหารไทยและวัฒนธรรมไทยอยู่แล้ว ซึ่งหมายความว่าสินค้าของ Yamamori มีตลาดรองรับแน่นอน แต่ปัญหาอยู่ที่ร้านค้าต่างๆ ยังไม่ได้ให้ความสนใจกับสินค้าเหล่านี้มากพอ"
จำนวนผู้ได้รับเชิญเข้าร่วมงาน ยามเย็นกับแกงไทย ที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี อาจไม่ใช่ตัวเลขสำคัญ ที่สามารถบ่งบอกความสำเร็จในการขยายธุรกิจของ Yamamori แต่กรณีดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นเครือข่ายของผู้ประกอบการที่เป็นกลไกสำคัญสำหรับการส่งเสริมอาหารไทยในตลาดญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี
Noritada Mitsubayashi ประเมินว่าจำนวนผู้นำเข้า และผู้ผลิตอาหารไทยสำเร็จรูปที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน ไม่ได้ส่งผลให้เกิดการแข่งขันระหว่างกันมากนัก เพราะตลาดอาหารของญี่ปุ่นที่มูลค่ามากกว่าล้านล้านเยน มีช่องว่างให้อาหารไทยเติบโตอีกมาก ซึ่งจำนวนผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้นนี้ กลับเป็นส่วนช่วยขยายตลาดให้ผลิตภัณฑ์อาหารไทยเข้าสู่การรับรู้ของผู้บริโภค ท่ามกลางโอกาสและทางเลือกที่มีมากและดียิ่งขึ้น
การรุกคืบเพื่อครองความเป็นผู้นำในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารไทยสำเร็จรูปในตลาดญี่ปุ่นตามเป้าหมายของ Yamamori ปรากฏรูปธรรมเด่นชัดมากขึ้น นับตั้งแต่ต้นปี 2005 ที่ผ่านมา เมื่อ Noritada Mitsubayashi ขยายธุรกิจเข้าสู่การเปิดกิจการร้านอาหารไทย Siam Garden ในเมือง Nagoya เพื่อเป็นกลไกเสริมภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์อาหารไทยของบริษัท โดยมีพิธีเปิด อย่างเป็นทางการเมื่อช่วงปลายเดือนมกราคม
ขณะเดียวกันความสำเร็จที่ได้จากการขยายตลาดอาหารไทยในซองสำเร็จรูปในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ Yamamori ตัดสินใจขยายการลงทุนด้วยการสร้างโรงงานแห่งใหม่ขึ้นในนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด จังหวัดระยอง ภายใต้ชื่อ Siam Yamamori เพื่อผลิตสินค้าดังกล่าวเอง ตั้งแต่เมื่อช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
แม้อาหารไทยสำเร็จรูปในซอง (retort pouch) ของ Yamamori จะมีจุดเน้นอยู่ที่การระบุว่าเป็นผลิตภัณฑ์ Made in Thailand ไม่แตกต่างจากสินค้าของผู้ประกอบการไทย แต่กรณีดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นทัศนะทางธุรกิจ ที่สอดประสานกับศักยภาพและความก้าวหน้าในกระบวนการผลิตที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่าการผลิตเครื่องแกงพร้อมปรุง (curry paste) ในรูปแบบดั้งเดิม ไปไกลมากทีเดียว
จังหวะก้าวของ Yamamori นับจากนี้ จึงเป็นประหนึ่งสัญญาณเตือนที่ดังไปสู่ผู้ประกอบการอาหารไทยสำเร็จรูปรายอื่นๆ ที่น่าสนใจไม่น้อย
|
|
 |
|
|