|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ พฤษภาคม 2548
|
|
การเปลี่ยนชื่อองค์กรและผลิตภัณฑ์จาก TA มาเป็น TRUE มิใช่เพียงแค่การ rebranding ธรรมดา แต่กลับหมายถึงการเปลี่ยนวิสัยทัศน์และเป้าหมายของธุรกิจที่ต้องการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ให้ต้องมี TRUE เข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตประจำวัน
ศุภชัย เจียรวนนท์ เป็นผู้บริหารหนุ่มที่เดินทางไปร่วมงานแถลงข่าวบ่อยที่สุดคนหนึ่งในรอบปีที่ผ่านมา หลังจากเขาต้องใช้เวลากว่า 4 ปี นับจากขึ้นรับตำแหน่งสำคัญของบริษัทในปี 2542 ไปกับการเจรจากับเจ้าหนี้ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อชะลอการชำระหนี้อันเป็นผลมาจากพิษเศรษฐกิจ ปี 2540 รวมถึงการเดินทางไปพบปะกับนักลงทุน เพื่อหาพันธมิตรเข้ามาร่วมทุนใหม่ๆ กับทรู คอร์ปอเรชั่น เพื่อให้บริษัทนั้นอยู่รอดได้ในธุรกิจสื่อสาร
ปี 2547 ถือเป็นปีแรกที่ศุภชัยยอมรับว่าเป็นปีที่บริษัทอยู่ในระยะของ "Surviving Stage" และยังเป็นปีที่เขาสามารถทำงานได้โดยไม่มีภาวะกดดัน มีโอกาสได้ใช้สมองในการคิดสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้มากที่สุด เมื่อเทียบกับหลายปีก่อนหน้านี้ที่แทบจะไม่มีโอกาสได้ทำมากนัก เพราะสมาธิส่วนใหญ่มุ่งไปในเรื่องของการแก้ไขปัญหาหนี้สิน และการเจรจากับพันธมิตรเป็นหลัก ซึ่งทั้ง 2 เรื่องดังกล่าว ถูกจัดการได้อย่างลงตัวไปแล้วตั้งแต่ปลายปี 2546
ที่สำคัญปี 2547 เป็นปีที่ศุภชัยตัดสินใจเปลี่ยนแปลงทั้งวิสัยทัศน์ และภาพลักษณ์ของบริษัทใหม่ทั้งองค์กร เริ่มจากการนำแบรนด์ TRUE เข้ามาใช้กับทุกผลิตภัณฑ์แทนแบรนด์เดิมที่เคยใช้ว่าเทเลคอมเอเซีย (TA)
ผลการดำเนินงานในปี 2547 ของ TRUE มีรายได้รวม 34,096.47 ล้านบาท อยู่ในอันดับที่ 23 ของตาราง "ผู้จัดการ 100" แต่นั่นยังไม่เท่ากับปีนี้เป็นปีแรกที่ผลประกอบการของบริษัทกลับมามีกำไร 604.91 ล้านบาท หลังจากประสบกับการขาดทุนอย่างต่อเนื่องมาเกือบ 10 ปีเต็ม
ศุภชัยตัดสินใจใช้งบประมาณกว่า 100 ล้านบาท เปลี่ยนชื่อแบรนด์มาเป็น TRUE ตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่แล้ว เริ่มตั้งแต่การติดแผ่นโปสเตอร์โฆษณาขนาดยักษ์ระบุชื่อใหม่ของบริษัท ที่มีรูปหน้าของพนักงานทั้ง 4,000 คน ประกอบเป็นตัวอักษรบนตึก 30 ชั้นของ TRUE ไปจนถึงการเปลี่ยนชุดพนักงานทั้งหมดในเครือ โดยเน้นสีแดงขาวอันเป็นสัญลักษณ์ใหม่ของบริษัท การเปลี่ยนรูปแบบตู้โทรศัพท์สาธารณะทั่วกรุงเทพฯ โดยเน้นความเป็น TRUE ด้วยสีแดงและขาวเป็นหลัก และนามบัตรที่มีตัวหนังสือสีเทาและแดงบนพื้นกระดาษสีขาว ที่จะได้รับการเปลี่ยนอีกครั้ง โดยมีศุภชัยเป็นผู้ทดลองใช้เป็นคนแรก
พร้อมๆ กับตัดสินใจเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจทั้งหมด จากเดิมที่ TA เป็นผู้ประกอบการสื่อสาร หรือ Infrastructure players มาสู่ TRUE ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ solution และ lifestyle enabler โดยวางเป้าหมายอยู่ที่ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารและเทคโนโลยี ทุกอย่างที่สามารถตอบสนองและครอบคลุมความต้องการของชีวิตของผู้บริโภคได้มากขึ้น เนื่องจากศุภชัยมองว่าท้ายที่สุดแล้วการให้บริการของ TRUE ควรจะมากกว่าการหาลูกค้า มาใช้บริการเท่านั้น การแสวงหารายได้แบบยั่งยืน คือการให้บริการลูกค้าได้แทบทุกส่วนของการใช้ชีวิตประจำวันเป็นสิ่งสำคัญสำหรับ TRUE ในยุคที่การแข่งขันเริ่มเข้าถึงชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้นอย่างในปัจจุบัน
"Convergence" หรือการรวมกันระหว่างมาตรฐานทางเทคโนโลยีฝั่ง Internet Platform และ Digital Technology ทำให้เกิดรูปแบบในการใช้ชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนไป เช่น โทรศัพท์มือถือต่อเชื่อมอินเทอร์เน็ตได้, ผู้คนสามารถใช้กล้องดิจิตอลบนโทรศัพท์มือถือได้ ฟังเพลงจากโทรศัพท์มือถือและกล้องดิจิตอล หรือแม้แต่สามารถสื่อสารทางเสียงผ่านคอมพิวเตอร์ได้ มูลค่าอันเกิดจากการ Convergence เหล่านี้ ถือเป็นกลไกสำคัญที่เข้ามามีส่วนผลักดันให้ TRUE ต้องปรับตัว และเปลี่ยนแนวทางในการดำเนินธุรกิจไปจากเดิมในท้ายที่สุด
การเปลี่ยนชื่อบริษัทและเปลี่ยนวิสัยทัศน์การทำธุรกิจของบริษัท TRUE เพิ่งจะครบรอบหนึ่งปีเต็มเมื่อเดือนที่แล้ว ศุภชัยยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่าปีแรกถือเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวขึ้นบันไดขั้นที่หนึ่งจากบันได 10 ขั้นของเขาเท่านั้น
"หากถามว่าเราเปลี่ยนไปแค่ไหน ทุกอย่างก็ต้องใช้เวลา คิดว่าจากเดิมที่เราเป็น Infrastructure players เราพูดว่าเราไปถึงสิบแล้วตอนนั้น ทีนี้พอเราบอกว่าเราเป็น lifestyle enabler เหมือนกับเราเพิ่งเริ่มศูนย์ใหม่ ของเก่าทางด้าน operation หรือคุณภาพยังคงต้อง maintain อยู่ แต่คำว่า lifestyle enabler เรามาเริ่มศูนย์ใหม่เหมือนกับเพิ่งขึ้นบันไดขั้น 1 หรือ 2" ศุภชัยบอก
ปีแรกหลังจากเปลี่ยนชื่อบริษัทนั้น รูปแบบการทำธุรกิจของ TRUE เน้นการให้ความสำคัญในรูปแบบ networking organization หรือการเริ่มเข้าสู่ลักษณะของการนำเสนอสินค้าแบบ bundle ให้เป็นโซลูชั่นครบทั้ง fixline และ wireless และรวมเอาความสามารถทุกอย่าง ความได้เปรียบทุกสิ่งที่บริษัททั้งเครือมีเข้ามาอยู่ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือผ่านค่ายออเร้นจ์ เป็นผู้นำในตลาดเคเบิลทีวีผ่านค่าย UBC และการเป็นผู้นำในตลาดให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อให้บริการเป็นโซลูชั่นแก่ลูกค้าภายใต้แคมเปญ "All Together"
แคมเปญ "All Together" เป็นวิสัยทัศน์การทำธุรกิจแบบใหม่ของศุภชัย ที่ไม่ได้มองลูกค้าว่าของสินค้าอะไร แต่กลับพยายามมองลูกค้าเป็นคนคนเดียวกัน และมีโอกาสเลือกใช้หลายสินค้า การมองแบบนี้ทำให้บริษัทสามารถนำเสนอสินค้าให้กับลูกค้าได้ครบถ้วนตามวิถีชีวิตของแต่ละคน
ในการนำเสนอให้ลูกค้าเห็นว่ายิ่งใช้สินค้าของ TRUE ครบวงจรมากขึ้นก็ยิ่งได้ประโยชน์มากขึ้น เพราะในหลักการแล้วหากลูกค้าใช้บริการของ TRUE มากขึ้น ก็เท่ากับเป็นการลดต้นทุนการดำเนินการของบริษัทในเครือที่เข้าร่วมโครงการและ TRUE ทั้งต้นทุนด้านโลจิสติกส์ การตลาด การเรียกจัดเก็บเงิน โครงข่าย โดยเฉพาะโครงข่ายที่ศุภชัยพยายามทำให้เป็น common facility ที่สามารถแบ่งปันร่วมกันระหว่างบริษัทในเครือได้ นั่นหมายถึงการลดต้นทุนในการสร้างเครือข่ายด้วยตนเองของบริษัทต่างๆ นั่นเอง
เช่นเดียวกันกับการให้ความสำคัญกับการรวมหน่วยธุรกิจสำคัญๆ ที่เป็นดาวเด่นเอาไว้ด้วยกัน โดยมีผู้บริหารไฟแรงเป็นกำลังสำคัญในหน่วยธุรกิจนั้น โดยเฉพาะการรวมทุกธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการออนไลน์ผ่านโลกอินเทอร์เน็ตเอาไว้ด้วยกันในชื่อ "True online" ภายใต้คอนเซ็ปต์ "Life is yours" โดยยกฐานะให้เป็น sub brand ใหม่ ซึ่งศุภชัยบอกว่า การรวมหน่วยธุรกิจนี้ถือว่าเป็นการเปลี่ยนครั้งสำคัญที่สุดอีกครั้งนับตั้งแต่ที่มีการเปลี่ยนชื่อบริษัทในปีที่ผ่านมา
|
|
|
|
|