|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ พฤษภาคม 2548
|
|
นอกจากปิโตรเคมีจะเป็นธุรกิจใหม่ที่เครือซิเมนต์ไทยเพิ่งเข้าไปจับได้เพียง 20 ปีเศษแล้ว บุคลากรของกลุ่มนี้ถือว่าเป็นคนรุ่นใหม่ มีวัฒนธรรมและบุคลิกที่แตกต่างไปจากคนปูนซิเมนต์ไทยในอดีต
"อายุเฉลี่ยพนักงานของปิโตรเคมี ตอนนี้แค่ 27 ปี น้อยที่สุดในเครือ" อภิพรยืนยัน
นอกจากอภิพรจะเป็นผู้บุกเบิกสร้างธุรกิจนี้ให้กับเครือซิเมนต์ไทยตั้งแต่ยุคเริ่มต้น เขายังเป็นผู้บริหารเบอร์ 1 ของกลุ่มยาวนานต่อเนื่องถึง 22 ปี ซึ่งเป็นธรรมเนียมใหม่ที่เครือซิเมนต์ไทยไม่เคยใช้กับธุรกิจหลักกลุ่มอื่นมาก่อน
เวลาอันยาวนาน มีผลทำให้บุคลิกส่วนตัวบางอย่างของอภิพร ซึมซับลงไปยังพนักงานบางคนในกลุ่มโดยไม่รู้ตัว
เขาเป็นคนพูดจาตรงไปตรงมาจนดูเหมือนโผงผาง ฝึกสอนพนักงานด้วยวิธีดุดัน แต่ก็เปิดโอกาสให้พนักงานมีความคิดสร้างสรรค์ ที่สำคัญคือในอีกมุมหนึ่งนั้น เขาเป็นคนที่มีใจรักทางด้านศิลป์อยู่ในตัว
เขามองว่าวัฒนธรรมและความคิดบางอย่างที่เคยปลูกฝังในความเป็นพนักงานเครือซิเมนต์ไทย อาจไม่สอดคล้องกับแนวทางการขยายงานของธุรกิจปิโตรเคมี
"คุณอภิพรเป็นคนที่สั่งไม่ให้มีระบบชั้นวรรณะ วิศวกรในกลุ่มนี้ห้ามเรียกว่านายช่าง ไปเรียกให้แกได้ยินไม่ได้เด็ดขาด ความสัมพันธ์ในหมู่พนักงานจึงเป็นแบบเพื่อน เป็นพี่ เป็นน้องมีอะไรก็สามารถพูดหรือปรึกษาหารือกันได้โดยตรง" ชลณัฐเสริม
การพยายามกระตุ้นให้พนักงานเกิดความคิดสร้างสรรค์ กล้าที่จะนำเสนอแนวคิดใหม่ๆ ในการทำงาน โดยมีอภิพรคอยเป็นผู้กำกับแนวทางอยู่ห่างๆ ทำให้ผลงานของกลุ่มนี้ปรากฏตัวเลขออกมาอย่างเป็นรูปธรรม
"คนกลุ่มนี้ได้โอกาสจากผู้ใหญ่มาก มีโอกาสคิดทำเรื่องใหม่ๆ ออกมา แล้วผู้ใหญ่ก็ delegate โปรเจ็กต์ 100 ล้าน 200 ล้าน เด็กใหม่ๆ ได้ทำทั้งนั้น"
ดังนั้นถ้าถามว่าจากนี้ไปธุรกิจหลักกลุ่มใดของเครือซิเมนต์ไทยกำลังจะมีอัตราการขยายตัวสูงที่สุด แน่นอน คำตอบคือปิโตรเคมี" ปีที่แล้ว เฉพาะกลุ่มเรามีการรับพนักงานใหม่เพิ่มขึ้นถึง 150 คน"
และแน่นอนอีกเช่นกันว่าการขยายงานของกลุ่มปิโตรเคมี มีความจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนมากที่สุดในเครือ "construction ถ้าทำ ใช้ก็แค่โปรเจ็กต์ละ 100-200 ล้าน ของเราจะลงทีหนึ่งก็ 4-5 หมื่นล้าน ไปแล้ว" อภิพรบอก
โครงการที่ได้ประกาศความชัดเจนออกมาแล้ว คือการสร้างโรงงานอะโรเมติกส์ที่ประเทศอินโดนีเซีย จะเสร็จประมาณกลางปีหน้า กำลังการผลิต 5 แสนตันต่อปี วงเงินลงทุน 4 หมื่นล้านบาท แต่เครือซิเมนต์ไทยในฐานะผู้ร่วมทุนใช้เงินลงทุนส่วนนี้ 2,700 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีโครงการร่วมทุนกับรัฐบาลอิหร่านตั้งโรงงานผลิตโพลิเอทิลีนในประเทศอิหร่าน ซึ่งทั้งโครงการใช้เงินลงทุน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เครือซิเมนต์ไทยถือหุ้น 40% อีก 40% ถือโดยรัฐบาลอิหร่าน ที่เหลือเป็นกลุ่มอิโตชูจากญี่ปุ่น และบริษัทปิโตรเคมีแห่งชาติ ที่เครือซิเมนต์ไทยชักชวนไปร่วมทุนอีกรายละ 10%
การขยายการลงทุนที่อิหร่านถือเป็นความจำเป็น เพราะปิโตรเคมีเป็นอุตสาหกรรมที่มีความต้องการใช้อยู่ทั่วโลก และเครือซิเมนต์ไทยเอง ก็มีฐานลูกค้าอยู่แล้วอยู่ในทุกภูมิภาค แม้แต่ประเทศในทวีปแอฟริกา
การที่มีฐานการผลิตในแหล่งที่มีต้นทุนต่ำ จึงเป็นข้อได้เปรียบ "โครงการนี้เราได้การันตีจากรัฐบาลอิหร่านว่าจะขายเอทิลีนให้เราในราคาถูก"
โครงการดังกล่าวจะมีการเซ็นสัญญากับรัฐบาลอิหร่านได้ภายใน 1 เดือนนี้ หลังจากนั้นจึงเริ่มสร้างโรงงาน โดยใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 2 ปีครึ่ง
แต่โครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สุดของกลุ่มนี้ที่ได้วางแผนเอาไว้แล้ว คือการสร้างโรงงานโอเลฟินส์ขึ้นอีก 1 แห่ง โดยใช้วัตถุดิบที่มาจากแนปทา โดยเครือซิเมนต์ไทยอาจลงทุนเอง 100% บนที่ดินที่ได้จัดเตรียมไว้แล้วที่จังหวัดระยอง ใช้เงินลงทุนสูงถึง 1,000 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นเงินไทยในขณะนี้ตกประมาณเกือบ 4 หมื่นล้านบาท
โครงการนี้คาดว่าจะเริ่มอีกประมาณ 2 ปีข้างหน้า เนื่องจากต้นทุนขณะนี้เพิ่มสูงขึ้นตามราคาวัสดุก่อสร้าง ประกอบกับราคาผลิตภัณฑ์ที่ยังคงอยู่ในระดับสูงตามราคาน้ำมัน ดังนั้นเครือซิเมนต์ไทยจึงรอให้วงจรของปิโตรเคมีเข้าสู่ช่วงขาลงก่อนค่อยเริ่มสร้างโรงงาน เพื่อให้เปิดทันรับกับวงจรขาขึ้นรอบใหม่
การสร้างโรงงานโอเลฟินส์เพิ่มขึ้นอีก 1 แห่ง เพื่อให้เครือซิเมนต์ไทยได้บรรลุเป้าหมายในการเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของภูมิภาคนี้ โดยมีกลุ่มของ ปตท. เป็นผู้ผลิตปิโตรเคมีรายใหญ่อีก 1 ราย "ถึงที่สุดแล้ว ของไทยก็คงจะเหลือรายใหญ่แค่ 2 รายคือเรากับ ปตท.ซึ่งก็น่าจะกำลังพอดี"
ตลาดที่เครือซิเมนต์ไทยมองไว้คือ ประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกันรวมถึงในจีนตอนใต้ ซึ่งปัจจุบันยังมีอัตราการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีอยู่ในระดับต่ำ แต่มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอีกมาก
"เฉพาะ 3-4 ประเทศนี้ จำนวนประชากรก็ 400-500 ล้านคนเข้าไปแล้ว"
จึงไม่น่าแปลกใจ หากมีบางคนกล่าวถึงกลุ่มปิโตรเคมีว่ากำลังจะกลายเป็นธุรกิจหลักที่สำคัญที่สุดของเครือซิเมนต์ไทยในอนาคต
|
|
|
|
|