"กาแรนท์ โมเบล" ประกาศชัดเจนตลาดเฟอร์นิเจอร์ มีความสำคัญและเป็นฐานกำลังของบริษัท เบนเข็มบุกตลาดในประเทศ ตั้งเป้า 3-5 ปี ขยายแฟรนไชส์ครบ 500 แห่งทั่วประเทศ หวังดันยอดขาย 3,000-5,000 ล้านบาท พร้อมชะลอแผนบุกตลาดต่างประเทศ 2 ปี ระบุพิษน้ำมันแพงกระเทือนโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์พลาสติก เปลี่ยนไปใช้วัตถุดิบประเภทอื่นผลิตเฟอร์นิเจอร์แทน ซ้ำร้ายโรงงานสมาชิก เปลี่ยนวิธีนำชิ้นส่วนจากจีนมาเสริม และแปลงกายเป็นผู้ประกอบธุรกิจเฟอร์นิเจอร์แทน
นางสาวผาณิต ชวชัยชนานนท์ ผู้ช่วยประธานกรรมการบริหาร บริษัท กาแรนท์ โมเบล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานของบริษัทในปีนี้ว่า จะเน้นขยายเครือข่ายแฟรนไชส์ภายในประเทศมากขึ้น โดยเฟอร์นิเจอร์แบรนด์กาแรนท์ โมเบล จะจับตลาดระดับ B ถึง A- และเฟอร์นิเจอร์ เมอร์ ที่จับตลาดระดับ C+ ถึง B+
โดยในปีนี้ตั้งเป้าเปิดสาขาแฟรนไชส์ใหม่อีก 20 แห่ง แบ่งเป็น กาแรนท์ 6 สาขา และ เมอร์ 14 สาขา ซึ่งในไตรมาสสองนี้คาดว่าจะเปิดสาขาใหม่เพิ่มอีก 5 แห่ง คือ ที่ชลบุรี ภูเก็ต นครศรีธรรมราช สระบุรี และกระบี่ ปัจจุบันบริษัทมีสาขาแฟรนไชส์จำนวน 121 แห่ง พร้อมกันนี้บริษัทยังได้ชะลอแผนขยายสาขาแฟรนไชส์ในต่างประเทศออกไปอีก 2 ปี เนื่องจากหันมาเน้นตลาดในประเทศแทน เพราะต้องการให้ตลาดในประเทศแข็งแกร่งมากกว่านี้ นอกจากนี้ประเทศไทยยังถือเป็นประเทศต้นแบบในการขยายแฟรนไชส์ ไปทั่วโลก
"กาแรนท์ โมเบล มีฐานะเป็นผู้ให้บริการครบวงจรแก่สมาชิกภายใต้เครือข่าย บริษัทมีความพร้อมให้การสนับสนุนร้านค้าสมาชิก จึงเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค โดยในไตรมาสแรก บริษัทมียอดขายเติบโตถึง 12% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และปีนี้จะโตขึ้นไม่ต่ำกว่า 29% โดยในปีหน้าคาดว่าจะมียอดขายไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท และตั้งเป้าว่าภายใน 3-5 ปี จะมีร้านแฟรนไชส์รวมไม่ต่ำกว่า 500 แห่ง ที่จะดันยอดขายรวมให้สูงถึง 3,000-5,000 ล้านบาท"
นางสาวผาณิต กล่าวต่อไปว่าผลกระทบจากราคาน้ำมันขยับที่ปรับตัวสูงขึ้นได้ส่งผลให้โรงงานสมาชิกของกาแรนท์ โมเบล ที่มีอยู่ 42 ราย โดยมีผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์พลาสติกบางรายต้องเปลี่ยนประเภทการผลิตเนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น และหันไปผลิตเฟอร์นิเจอร์ประเภทอื่นที่หลีกเลี่ยงการใช้เม็ดพลาสติกเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต
นอกจากนี้ยังมีโรงงานสมาชิก 3-4 แห่ง ที่เป็นโรงงานเหล็กและกระจก ในย่านจังหวัดนนทบุรี, นครราชสีมา, สมุทรปราการ และสมุทรสาคร เปลี่ยนจากการเป็นผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ หันมาเป็นผู้นำเข้าชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์จากจีน และหันมาเป็นผู้ประกอบแทน จึงทำให้มีต้นทุนการผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่ต่ำกว่า
อย่างไรก็ตาม ในปีนี้บริษัทให้ความสำคัญกับระบบข้อมูลมากขึ้น โดยได้ใช้งบประมาณ 20 ล้านบาท ในการวางระบบฐานข้อมูลลูกค้า, แฟรนไชส์ และโรงงานสมาชิก ขณะนี้เริ่มไปแล้ว 10% และอยู่ระหว่างการทำโฮมเพจ ระบบดังกล่าวคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในต้นปี 2549 โดยในปีนี้บริษัทมุ่งความสำคัญกับกลุ่มลูกค้าประเภท Business to Business (B2B) และคาดว่าภายใน 2 ปี จะหันมาเน้น กลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้บริโภคมากขึ้น Business to Consumer( B2C) ก่อนนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า
|