|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ สิงหาคม 2526
|
|
ว่ากันว่า นักบริหารฝีมือขนาดไหนก็ตาม ในที่สุดแล้วก็ต้องวัดกันที่ผลกำไรที่ปันให้กับผู้ถือหุ้น ถ้าเป็นบริษัททั่วไปที่ไม่ได้เป็นบริษัทมหาชน ก็คงจะต้องนั่งคุยกันในหมู่คนไม่กี่คน ถ้ามีเงินปันผลก็คงจะนั่งยิ่มกันแก้มปริ พยายามบอกข่าวเล่าให้เพื่อนฝูงฟัง บางรายอดรนทนไม่ไหวก็ถึงกับต้องส่งข่าวให้หนังสือพิมพ์ลง
แต่ถ้าขาดทุนย่อยยับก็นั่งทะเลาะกันอยู่ไม่กี่คนนั่นแหละ เพียงแต่คนข้างนอกไม่มีโอกาสรู้ สำหรับบริษัทที่เป็นบริษัทมหาชนแล้ว บทบาทนี้ก็เห็นจะต้องเปลี่ยนไป เพราะมีประชาชนเข้าไปซื้อหุ้น โดยหวังว่าจะมีผลกำไรเข้ามาสู่ตัวเอง อีกประการหนึ่ง บริษัทที่ได้เข้าตลาดหลักทรัพย์มักจะเป็นบริษัทที่ถูกคัดเลือกแล้วว่าดี และมีกำไรพอควรที่จะชักจูงให้ประชาชนเข้ามาลงทุน เพื่อเอากำไรที่ควรจะได้สูงกว่าการเอาเงินไปฝากไว้กับธนาคารกินดอกเบี้ยแพง
รามาทาวเวอร์ คืออีกบริษัทหนึ่งที่ทำให้ผู้ถือหุ้นต้องอกหักและช้ำใจซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะความตกต่ำของธุรกิจ ซึ่งเป็นผลมาจากการบริหารนั่นเอง
ตั้งแต่ปี 2518 ที่รามาทาวเวอร์ได้เริ่มเข้ามาในตลาดหลักทรัพย์ จนถึงปีนี้ เป็นเวลา 9 ปีแล้ว มีเพียงระยะเวลา 3 ปีเท่านั้น คือปี 2521/2522 และ 2523 ได้ 5 บาทต่อหุ้นต่อปี
ตั้งแต่ ปี 2524 และปี 2525 เป็นต้นมา เป็นช่วง 2 ปีกว่าที่รามาทาวเวอร์ประสบปัญหาจนต้องมีการขายทรัพย์สิน คือโรงแรมรามา ให้กับกลุ่มของสุระ จันทร์ศรีชวาลา เพื่อนำเงินมาชดใช้หนี้เงินกู้ และในที่สุดก็ต้องขายหุ้นส่วนหนึ่งให้กับกลุ่มสุระไป
อะไรคือสาเหตุ
การตัดสินใจที่ผิดพลาดของฝ่ายบริหารและประมาท ประเมินเหตุการณ์และสิ่งแวดล้อมรอบด้าน เป็นสาเหตุใหญ่ที่สุดของความล้มเหลวนี้
ในหลักของการบริหารงาน ไม่ว่าบริษัทหรือองค์กรจะยิ่งใหญ่เพียงใดก็ตาม การขยายงาน ให้กว้างขึ้นนั้นต้องมีองค์ประกอบดังนี้
มีความต้องการในตลาดก่อนจะเป็นระยะสั้นหรือระยะยาวก็ย่อมได้
มีทรัพยากรที่พอในกรณีนั้น ก็แบ่งออกเป็น
ก) ทรัพยากรด้านกำลังเงิน
ข) ทรัพยากรด้านคน
องค์ประกอบดังกล่าวนั้น ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมในสังคมและในโลก ที่นักบริหารที่ดีควรจะเข้าใจและมองการณ์ไกลได้พอสมควร
สิ่งแวดล้อมที่พูดถึงนี้ หมายถึงภาวะการทางเศรษฐกิจของโลก ตลาดการเงิน ค่าของเงิน ภาวะเศรษฐกิจชะงักงันในโลกอุตสาหกรรม ฯลฯ
ทั้งหมดนี้ ผู้บริหารของรามาทาวเวอร์มิได้คิดและวิเคราะห์ให้ดี จึงเป็นต้นเหตุของการตัดสินใจที่ผิดพลาดของฝ่ายบริหาร การเลิกสัญญาบริหารกับเครือไฮแอท
ไฮแอทได้เข้ามาบริหารโรงแรมมาตั้งแต่ ปี 2515 ต่อจากเครือฮิลตัน ในการบริหารช่วงต้นนั้นไฮแอทได้ผลประโยชน์จากเจ้าของโรงแรมมากเกินไป จนกระทั่งปี 2519-2520 กลุ่มพีเอสเอ โดยพร สิทธิอำนวย และนายอึ้งวาย ชอย ผู้ช่วยพร ได้ทำการแก้ไขสัญญาจนเป็นที่ยุติธรรมกับเจ้าของโรงแรม
เมื่อพีเอสเอแตกกลุ่มในปี 2522 สุธี นพคุณ ในฐานะเป็นประธานและกรรมการผู้จัดการ ของบริษัท รามาทาวเวอร์ ไม่ต่อสัญญากับไฮแอท ในปี 2524 ซึ่งเป็นปีที่ 10 ปีสุดท้ายของสัญญาบริหาร
การเลิกสัญญาครั้งนั้น สุธีอ้างกับสื่อมวลชนว่า ไฮแอทเสนอให้ใช้เงินเกือบๆ 70 ล้านบาท ในการปรับปรุงโรงแรม ซึ่งเขาเห็นว่ามากไป ในขณะที่ไฮแอทเองก็บอกว่าถ้าปรับปรุงไม่ถึงขั้นที่เขาต้องการให้เป็นโรงแรมระดับ 4 ดาว ไฮแอทไม่เอา
การเกี่ยงเรื่องการปรับปรุงสถานที่ก็จบด้วยสุธีปรับเอง โดยใช้เงินสามสิบกว่าล้านบาท และเอาเครือโรงแรมรามาเข้ามาบริหารแทน ส่วนไฮแอทก็เข้าสู่ภาคเหนือ บริหารเชียงใหม่ออร์คิด และสู่เซ็นทรัลพลาซ่า
การจากไปของไฮแอทนั้นเป็นการจากไปที่ทำความสูญเสียให้กับรามาทาวเวอร์เป็นอย่างมาก เพราะเท่ากับว่ารามาขาดมือการตลาดที่สำคัญไป
ระหว่างไฮแอทกับรามาดา ในวงการอุตสาหกรรมโรงแรมยอมรับกันว่า การตลาดของไฮแอทมีขอบข่ายทั่วโลกและแข็งมาก ในขณะที่รามาดาเป็นเพียงกลุ่มโรงเตี๊ยม (INN) ที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา และเพิ่งจะขยายตัวออกมาต่างประเทศ
ส่วนเรื่องราคาของการปรับปรุงโรงแรมนั้น ดูเหมือนว่าไฮแอทจะเป็นฝ่ายถูก เพราะสภาพรามาทาวเวอร์ในแง่อุปกรณ์เครื่องใช้ไม้สอย ตลอดจนลักษณะภายในของห้องอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรม จนระดับของโรงแรม ที่เคยเป็นจากชั้นหนึ่งในระดับเดียวกับดุสิตธานี ได้ตกลงไปอยู่ใกล้เคียงกับระดับนารายณ์ หรือต่ำกว่า ต้องใช้เงินมากที่จะปรับปรุง และในที่สุดแม้แต่สุระ จันทร์ศรีชวาลา เมื่อเข้ามาซื้อก็ยอมรับว่าต้องใช้เงินปรับปรุงอีกไม่น้อยกว่า 150 ล้านบาท ถึงจะพอเข้าไปแข่งขันในตลาดได้
จะเห็นได้ว่า ในขณะที่รามาทาวเอร์คิดจะขยายงาน โดยใช้โรงแรมรามาเป็นฐาน แต่ผู้บริหารเองแทนที่จะเสริมฐานนี้ให้แข็งกลับเป็นผู้ทำรากให้ร้าวไปเสียอีก
2. ไม่ได้หยุดคิดว่าตัวเองทำธุรกิจอะไรอยู่อย่างแท้จริง
ความจริงก็คงคิดแล้วว่าตัวเองอยู่ในธุรกิจบริการ ฉะนั้นผู้บริหารรามาเมื่อมองในแง่ของการบริการแล้ว เลยขอคลุมไปหมด เช่น บริการรถเช่าเอวิส เงินหมุนเวียนอยู่ข้างในไม่หนีไปไหน โดยลืมนึกไปว่า ความถี่ของบริการประกอบกับการจับพนักงานขับรถเข้ามาเป็นพนักงานบริษัท มีค่าล่วงเวลา มีค่ารักษาพยาบาลมันไม่คุ้ม ในขณะที่การบินไทยทำกิจการลีมูซีนได้เพราะ
ก) มีการผูกขาดที่สนามบิน
ข) จำนวนความถี่ของผู้ใช้มากพอ
ค) การบินไทยมีโรงแรมที่ตัวเองมีหุ้นอยู่ ที่สามารถจะกระจายบริการรถไปได้
แม้แต่กระนั้นเองเถอะ การบินไทยก็กำลังประสบปัญหาเช่นกัน
อีกสาขาหนึ่งของธุรกิจบริการที่ผู้บริหารรามาคิดว่าต้องทำคือ การซักรีดหรือรามาลอนดรี่ ซึ่งซื้อต่อมาจากกิจการเก่าที่เขาเคยรับงานโรงแรมอื่นๆ อยู่ โดยคิดในรูปที่ว่ารามาซักรีด ของรามาและรับงานโรงแรมอื่นด้วยมีกำไรก็เท่ากับว่า รามาลดค่าใช้จ่ายในการซักรีด
ข้าวแกงรามา ก็คือ อีกบริการหนึ่งที่ผู้บริหารรามาจะใช้ฐานโรงแรมรามากระจายออกไป เดิมที่เริ่มจากเป็นแผนกหนึ่งของโรงแรมรามา ต่อมาภายหลังก็แยกออกเป็นบริษัท ซึ่งข้าวแกงรามาในระยะแรกเป็นเหมือนลูกแก้วลูกขวัญของผู้บริหารรามาทีเดียว
หนังสือพิมพ์ถึงกับลงข่าวว่าประธานกรรมการบริษัทรามาทาวเวอร์ บริษัทจดทะเบียน 800 กว่าล้าน มาเสิร์ฟข้าวแกงจานละสิบกว่าบาทให้กับลูกค้า แต่นั่นก็เป็นเพียงข้าวใหม่ปลามันในระยะแรกๆ ส่วนบทสุดท้ายของข้าวแกงรามาก็คงจะเป็นที่รู้กันอยู่แล้ว
รามาโอคอนเนอร์ หรือบริษัทที่ทำทางด้านกิจการก่อสร้างและวิศวกรรม ที่ปรึกษาที่รามาทาวเวอร์ตั้งขึ้นมาเพื่อรับการขยายงานก่อสร้างของกลุ่มรามา เพื่อไม่ให้บริษัทก่อสร้างหรือที่ปรึกษาอื่นจะมาได้งานเลย
นอกจากนั้นแล้วรามายังได้เข้าร่วมถือหุ้นอยู่ในกิจการประกันชีวิตอินเตอร์ไลฟ์และประกันภัยอินเตอร์ไลฟ์ และกิจการเงินทุนหลักทรัพย์ดำเนินการโดยบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พัฒนาเงินทุน จำกัด
สำหรับสองสามบริษัทหลังนี้ ก็เป็นบริษัทที่ประธานกรรมการบริษัท รามาทาวเวอร์ นายสุธี นพคุณ เป็นผู้บริการอยู่แล้ว ก็ยังมีกิจการส่งสินค้าทางอากาศ โดยบริษัท ทัวร์ รอแยล แอร์คาร์โก้ จำกัด
สรุปได้ว่า ผู้บริหารรามาได้หยุดคิดมากจนเกินไปว่าตนเองอยู่ในธุรกิจบริการ ฉะนั้นอะไรที่เป็นบริการก็จะต้องทำให้หมด
นี่กลับเป็นเส้นผมบังภูเขา เพราะถ้าผู้บริหารฝุ่นไม่เข้าตา ก็พอจะมองเห็นว่าตัวเองมีโรงแรมรามาอยู่ ถ้าจะขยายก็น่าจะขยายรามาเองดีกว่าที่จะไปทำสิ่งละอันพันละน้อย ที่เป็นเบี้ยหัวแตก ซึ่งถ้ารวมเบี้ยหัวแตกเข้าด้วยกัน ก็จะเป็นเงินถุงก้อนหนึ่ง ที่สามารถใช้กับโรงแรมรามาได้อย่างเต็มที่ และเห็นผลตอบแทนที่ชัดกว่า ถึงจะได้ผลนานสักหน่อย
โครงการพันล้านของรามาคอมเพล็กซ์ ก็น่าจะทำได้ตั้งแต่แรกถ้าไม่มาเล่นขายข้าวแกง ทำแท็กซี่ รับซักรีด ฯลฯ และถ้าทำไปตั้งแต่ปี 2524 ป่านนี้ก็คงจะใกล้เสร็จและจะได้ลูกค้าก่อนพวกคอมเพล็กซ์และบรรดาออฟฟิศคอนโดมิเนียมทั้งหลาย และก็จะได้เปรียบกว่าทุกๆ เจ้า เพราะในคอมเพล็กซ์ก็มีโรงแรมชั้นหนึ่งที่ปรับปรุงใหม่อยู่เรียบร้อยแล้ว
3. การใช้แหล่งเงินทุนที่ต้องพึ่งพาอำนาจบารมีคนใดคนหนึ่ง
ถึงแม้ว่าการทำธุรกิจในเมืองไทยจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยบารมีกันบ้าง แต่ถ้าจะใช้บารมีโดยไม่มีฝีมือก็เห็นจะลำบาก
รามาทาวเวอร์ ตั้งแต่สมัยอยู่ในเครือพีเอสเอ ก็มีฐานการเงินของธนาคารกรุงเทพมาตลอด ช่วงที่บุญชู โรจนเสถียร เข้าธนาคารกรุงเทพในครั้งที่สองนั้น เป็นช่วงจุดสุดยอดของรามาจริงๆ เพราะปี 2520-2521 เป็นปีที่ตลาดหุ้นขยายตัวมาก และมีการเก็งกำไรหุ้นตลอดจนลงทุนเพื่อกำไรของบรรดาผู้บริหารบางบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์
กำไรจากหุ้นรามาซึ่งเคยขึ้นสูงสุดถึง 391 บาท ในปลายปี 2521 ช่วงนั้น ทำให้ผู้บริหารรามามีความคล่องตัวในเรื่องการเงินมาก
ถึงแม้กลุ่มพีเอสเอจะแยกกันในปี 2522 แต่รามาทาวเวอร์ ก็ยังอยู่ในสภาวะของฐานการเงินที่แน่นหนาพอสมควร ในขณะที่หนี้สินปี 2522 ยังคงมีเพียง 287,509,000 บาท เปรียบเทียบกับสินทรัพย์ 969,407,000 ล้านบาท ซึ่งในอัตราส่วนเช่นนี้ รามาทาวเวอร์สามารถจะทำคอมเพล็กซ์ได้โดยไม่ยากเย็นอะไรนัก
อาจจะเป็นเพราะว่า บุญชู โรจนเสถียรในขณะนั้น ปี 2521-2522 ยังคงอยู่ธนาคารกรุงเทพ และถึงแม้ว่าต่อมาจะออกแล้ว แต่ก็ยังมีตำแหน่งการเมืองเป็นถึงรองนายกรัฐมนตรีอยู่ บารมีนั้นก็คงจะพอช่วยให้ผู้บริหารรามาคิดสะเปะสะปะ ไปทำโน่นทำนี่แตกแขนงออกหน่อไป
ถึงแม้บุญชูจะไม่มีหุ้นส่วนอยู่ตามที่เคยพูด และได้ปฏิเสธเป็นจดหมายไปถึงสื่อมวลชนก็ตาม แต่เป็นที่น่าสังเกตว่ารามาทาวเวอร์ที่สุธี นพคุณ เป็นประธานกรรมการ พอบุญชูออกจากธนาคารกรุงเทพ และเมื่อฐานะทางการเมืองของบุญชูตกต่ำ โดยไม่มีตำแหน่งอะไรในทางการเมืองเลย รามาทาวเวอร์ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารกรุงเทพอีกต่อไป อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า รามาทาวเวอร์ต้องใช้ธนาคารกรุงไทยมาค้ำประกันเงินกู้จากต่างประเทศ ที่เอามาสร้างโรงแรมรามาการ์เด้นส์ ประมาณ 4-5 ร้อยล้านบาท แทนที่จะใช้ธนาคารกรุงเทพ และตามใจ ขำภโต กรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย ก็เป็นคนที่บุญชูแต่งตั้งในสมัยที่เป็นรัฐมนตรีคลังปี 2518
พอจะสรุปได้ว่าการบริหารทางการเงินของกลุ่มรามาในอดีต ไม่ได้พิจารณาโดยใช้สมรรถภาพของตัวเอง และความเป็นไปได้ของโครงการมาเป็นหลัก
ซึ่งในวงการสถาบันการเงินก็ยอมรับว่าผู้บริหารรามาทาวเวอร์ มักจะทอดสะพานเข้ามาหาแล้วชอบอ้างว่า สะพานนี้เป็นของบุญชู โรจนเสถียร อยู่เป็นประจำ
เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่วงการภายนอกย่อมเข้าใจว่าบุญชู โรจนเสถียร เป็นเจ้าของรามาการ์เด้นส์ และดูเหมือนผู้บริหารรามาทาวเวอร์ ก็ภูมิใจที่ได้ใช้ชื่อเสียงคนอื่นแทนที่จะใช้ความสามารถของตน
ในที่สุดแล้วบุญวาสนาบารมีไม่เคยจีรังยั่งยืน ในระยะที่รามาทาวเวอร์มีปัญหามากที่สุด คือในระหว่างปลายปี 2525 กับ 2526 ซึ่งเป็นช่วงที่บุญชู โรจนเสถียร ไม่ได้มีตำแหน่งอะไรอยู่ที่ใดทั้งสิ้น (ก่อนจะเข้ามาเป็นประธานกรรมการธนาคารนครหลวงไทย เมื่อเดือนกรกฎาคม 2526 นี้) และช่วงนี้ก็เป็นช่วงที่ธนาคารกรุงเทพตัดเยื่อใยกับกลุ่มรามาทาวเวอร์อย่างสิ้นเชิง
จะเห็นได้ว่าจากความเหิมเกริมในเรื่องเงินทุน เพราะคิดว่าเมื่อมีปัญหาจริงๆ บุญชูช่วยสางได้ ทำให้เกิดความคิดขการขยายงานโดยไม่มีขอบเขตและไม่พิจารณาความสำคัญของแต่ละงาน ต่อเมื่อเสาหลักไม่มีแล้ว ก็เป็นปัญหาที่ต่อเนื่องกันมาแบบลูกโซ่
4. บุคคลที่ไม่มีคุณภาพและการขาดความเข้าใจในลักษณะงาน
เมื่อรามาทาวเวอร์ขยายงานขนานใหญ่ในปี 2522 นั้น ผู้บริหารไม่ได้เตรียมตัวในเรื่องของบุคลากรไว้ล่วงหน้า การจัดหาคนในระยะนั้นเป็นการดำเนินการในลักษณะการรับคนเข้ามาทันที หรือไม่ก็เป็นการไปดึงตัวคนมาจากที่อื่น
ขาดการฝึกอบรมและการทำงานอย่างกะทันหันในลักษณะนั้น เป็นการกระทำที่ค่อนข้างจะหุนหันและขาดการวางแผนที่ดี ซึ่งในลักษณะของบริษัทที่มีหลักทรัพย์ร่วมพันล้านบาท ก็นับว่าเป็นความผิดพลาดของผู้บริหารอย่างเต็มที่
แม้แต่ผู้บริหารระดับกลางที่เข้ามาก็ยังไม่ทราบอย่างแน่ชัดว่าลักษณะงานของตัวเองเป็นเช่นไร
ภาพพจน์ของงานในขณะนั้น เป็นภาพพจน์ที่รามาทาวเวอร์สร้างไว้ว่า เป็นบริษัทที่มีเงินมากมาย มีการโยกย้ายจากตึกเก่าๆ ที่โรงแรมรามา มายังตึกดำ ที่โอ่โถง สง่า ภูมิฐาน ผู้จัดการในระดับกลางส่วนใหญ่จะมีรถประจำตำแหน่งใช้กันทุกคน แม้แต่ผู้จัดการฝ่ายการเงินยังมีรถคันยาวพร้อมคนขับให้ด้วย
ลักษณะสภาพบรรยากาศเช่นนั้น เอื้ออำนวยให้ผู้บริหารระดับกลางเกิดความต้องการจะได้เลื่อนตำแหน่งเพื่ออภิสิทธิ์มากขึ้น แทนที่จะสร้างให้มีบรรยากาศการทำงานที่ท้าทายและมีความพอใจในงานที่ทำอยู่ (job satisaction) และใช้ผลงานที่ทำสำเร็จเป็นรางวัล
จะสังเกตได้ว่า การเข้าออกของผู้บริหารบางระดับ ในช่วง 2522-2524 มีความถี่มากเป็นพิเศษ ทั้งนี้เพราะเหตุผลที่ได้กล่าวมาข้างต้น
5. ความแตกแยกภายในของผู้บริหาร
ดูเหมือนว่าสุภาษิตโบราณที่พูดถึงเรื่องความสามัคคี จะเอามาใช้ได้ในสถานการณ์ตั้งแต่เรื่องของความมั่นคงแห่งชาติ ไปจนถึงเรื่องของครอบครัว
ความจริงแล้ว ความขัดแย้ง (conflict) ในการบริหารเป็นสิ่งที่จะทำให้ผู้บริหารขั้นสูงสามารถจะมองเป้าหมายได้ชัดขึ้น
แต่ผู้บริหารชั้นสูงที่ชอบให้มีความขัดแย้งเกิดขึ้น ต้องไม่มีอคติต่อผู้หนึ่งผู้ใด หรือกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ทั้งนี้และทั้งนั้น ผู้บริหารจะต้องยึดถือเป้าหมายของบริษัทหรือนโยบายเป็นหลัก
ข้อความนี้อาจจะพูดง่ายแต่ทำยาก แต่ทว่าถ้าหากทำไม่ได้ ความขัดแย้งก็จะเกิดเป็นความแตกแยก และบนพื้นฐานของความแตกแยกก็จะเป็นการจ้องที่จะทำลายซึ่งกันและกัน
ในลักษณะดังกล่าวผู้บริหารของรามาทางเวอร์ได้สร้างขึ้นมาโดยไม่ตั้งใจ ทั้งนี้เพราะการโยงสายงานบริหารระหว่างบริษัทรามาทาวเวอร์ ซึ่งเป็นบริษัทมหาชนเข้าไปพัวพันและเกี่ยวกับบริษัทในเครือตัวเอง
อาจจะเป็นเพราะผู้บริหารรามาทาวเวอร์จงใจจะให้รามาฯ มาถือหุ้นอยู่ในบริษัทในเครือตัวเอง เช่น อินเตอร์ไลฟ์ เงินทุนหลักทรัพย์พัฒนาเงินทุน ซึ่งเป็นสถาบันการเงินทั้งคู่ เพื่อจะได้ใช้ Facility ของแหล่งเงินได้โดยไม่ขัดต่อขั้นตอนหรือกฎระเบียบ
แต่การเข้ามาพัวพันเช่นนี้ ทำให้เกิดมีปัญหาบางประการเช่น
ในฐานะที่สุธี นพคุณ เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในรามาทาวเวอร์ อินเตอร์ไลฟ์ พัฒนาเงินทุน บ้านและที่ดินไทย สายงานทุกสายงานต้องพุ่งตรงไปหาสุธี นพคุณ ในกรณีเช่นนี้ การตัดสินใจในการบริหารแต่ละครั้งมักจะเกิดจากความเชื่อมั่นในตัวเอง ตลอดจนการใช้สัญชาตญาณเข้าช่วยมากกว่าการรวบรวมข้อมูล และผ่านขั้นตอนบางประการในการกลั่นกรองการบริหาร
เนื่องจากรามาทาวเวอร์ในระยะหลังต้องพึ่งพาอาศัยเงินทองจากอินเตอร์ไลฟ์ บ้านและที่ดินไทย และพัฒนาเงินทุน บรรดาบริษัทในเครือที่อยู่ภายใต้รามาทาวเวอร์ก็ต้องใช้แหล่งเงินเดียวกัน เพราะรามาทาวเวอร์เองเงินหมดแล้ว ก็เลยทำให้ผู้บริหารของพัฒนาเงินทุน อินเตอร์ไลฟ์ และบ้านและที่ดินไทย เกิดความรู้สึกว่ากลุ่มบริษัทรามาทาวเวอร์ กำลังทำงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงแล้ว ธุรกิจที่ตั้งขึ้นใหม่ๆ ต้องใช้เงินทุนและเงินหมุนเวียนที่มีจำนวนมากพอเพื่อให้อยู่ได้ แต่ภาวะเศรษฐกิจในช่วง 2524-2525 เป็นช่วงที่ตกต่ำมากจึงทำให้ทุกอย่างไม่เข้าเป้า
แท้ที่จริงแล้ว ข้อผิดพลาดนี้ถือเป็นข้อผิดพลาดตั้งแต่แรกของผู้บริหารรามาทาวเวอร์ ที่กระจายการลงทุนออกมาจากรามาทาวเวอร์ โดยไม่เตรียมแหล่งเงินไว้ให้พร้อมในแต่ละโครงการ
เมื่ออะไรก็ไปได้ไม่ดี ความขัดแย้งก็ย่อมสูงขึ้นเป็นธรรมดา ฝ่ายหนึ่งก็ต่อว่าอีกฝ่ายหนึ่งว่าทำงานไม่เป็น มีแต่ขอเงินมาๆ ฝ่ายทำงานก็ตำหนิกลับว่าขอเงินมายากเย็น ได้เงินมาไม่พอปฏิบัติการที่ให้ผล รวมทั้งการเลื่อยขาเก้าอี้ก็เกิดขึ้น
เป็นธรรมดาของทุกบริษัท เมื่อมีการขัดแข้งขัดขากันทีไร 9 ใน 10 ส่วน ฝ่ายที่คุมเงินก็ชนะ
แทนที่จะมานั่งวิเคราะห์ให้ละเอียดว่า อีกนานไหมกว่าจะกำไร และถ้าจะให้ได้กำไรจะต้องมีอะไรมาสนับสนุนบ้าง แล้วหาหนทางกัน
แต่ผู้บริหารพอเลือดเข้าตาแล้วจะโทษฝ่ายปฏิบัติการอยู่ตลอดเวลา โดยไม่พิจารณาย้อนหลังถึงโครงการนี้ ตั้งแต่เริ่มแรกว่าได้เริ่มโดยให้กำลังเขาพร้อมหรือเปล่า
และนี่คือปัญหาใหญ่ของรามาทาวเวอร์ ในช่วงปี 2525 ถึงต้นปี 2526 ความขัดแย้งระหว่างผู้บริหารตั้งแต่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พัฒนาเงินทุน บริษัทอินเตอร์ไลฟ์ บริษัทบ้านและที่ดินไทย จำกัด และบริษัทรามาทาวเวอร์กับเครือมีสูงมาก ถึงกับแบ่งกันเป็นฝ่ายๆ จนเป็นที่รู้กันในบรรดาหมู่พนักงานชั้นล่างว่าใครไม่ถูกกับใครบ้าง
ความขัดแย้งที่ควรจะมีเพื่อให้งานเดินก็กลายเป็นความแตกแยกที่ประสานรอยร้าวไม่ได้ รอแต่เพียงมีเข็มเข้ามาตอกเพิ่ม เพื่อไม่ให้หักเท่านั้นเอง
6. การไม่ใส่ใจในความรู้รอบตัว
สำหรับนักบริหารระดับต่ำหรือ ระดับกลางแล้ว การรอบรู้ในกิจการที่ทำเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมาก่อนตามลักษณะงาน
แต่สิ่งที่จำเป็นสำหรับนักบริหารระดับสูงคือ ความรอบรู้ทั่วๆ ไป ตั้งแต่บรรยากาศทางการเมือง สังคมวิทยา ภาวะการเมือง และเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ตลอดจนประวัติศาสตร์
เพราะผู้บริหารระดับสูงเป็นกัปตันเรือที่จะต้องมองไปไกล มองฝ่าหมอกออกไปเพื่อคาดการณ์ว่าเรือจะไปชนอะไรไหม? จะเจอพายุหรือเปล่า
ที่สหรัฐฯ ถึงกับมีการให้บรรดานักบริหารระดับสูงเข้าเรียนวิชาทางรัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์การเมืองและประวัติศาสตร์
ซึ่งถ้าผู้บริหารรามาทาวเวอร์สนใจในเรื่องราวพวกนี้อยู่ตลอดเวลา ก็น่าที่จะเห็นสัญญาณภัยได้ตั้งแต่ปลายปี 2522 แล้วว่าควรจะดำเนินธุรกิจไปในรูปใดบ้าง
ตัวอย่างเช่น
ในด้านโรงแรม
ตั้งแต่ปี 2522 มา เป็นที่ชัดจากบีโอไอแล้วว่า จะมีโรงแรมใหม่เกิดขึ้นอีกอย่างน้อย 4 โรงแรม ฉะนั้นผู้บริหารรามาควรจะ
...ปรับปรุงโรงแรมตัวเองในขณะนั้นให้อยู่ในสภาพที่พอจะสู้เขาได้ในปี 2526 การปรับปรุงก็ต้องปรับปรุงจากหัวจรดหาง
..ไม่ควรเลิกสัญญากับไฮแอท อย่างน้อยการทำงานกับคนที่เคยทำงานมาก่อนก็เป็นเรื่องที่พอจะกล้ำกลืนไปได้ ถึงจะไม่ชอบขี้หน้ากันนัก
...หยุดสร้างโรงแรมรามาการ์เด้นส์เสีย เพราะรามาการ์เด้นส์จะเสียเปรียบโรงแรมแอร์พอร์ทเป็นอย่างมากในเรื่องผู้ถือหุ้น ซึ่งการบินไทยถืออยู่ และอีกประการหนึ่งการลงทุนเป็นร้อยๆ ล้าน แล้วยังต้องรออีก 10 ปี ถึงจะคืนทุน เป็นการเพิ่มภาระกับตนเองแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์ในระยะที่ยากเกินไป สู้เอาเงินมาทุ่มให้กับรามาทาวเวอร์ที่ไม่มีหนี้สินระยะยาวอยู่จะดีมาก
ในด้านการเงิน
ผู้บริหารน่าจะวิเคราะห์ตัวเลขให้ดีๆ ซึ่งถ้าดูดีๆ แล้วจะเห็นว่ากำไรของรามาทาวเวอร์ในช่วง 2521-2522 นั้น ส่วนหนึ่งเป็นกำไรที่ได้มาจากราคาหุ้นที่สูงในตลาดหลักทรัพย์ กำไรจาก operation ยังไม่มากพอ แต่ปี 2523 กำไรจาก operation มากขึ้น ย่อมแสดงให้เห็นว่าถ้ามีการปรับปรุง property กำไรของโรงแรมนี้ก็พอจะคืนเงินกู้ได้ภายใน 3 ปี ซึ่งก็จะพอดี กับปี 26 ที่โรงแรมใหม่เกิด หากแต่รามาทาวเวอร์จะได้เปรียบเทียบตรงที่ไม่มีหนี้สินมาเกาะกวนใจ
ในปี 2523 ก็เป็นช่วงที่พอจะเห็นได้จากสิ่งแวดล้อมหลายประการอยู่แล้ว เศรษฐกิจจะฝืดและกำลังซื้อของคนตลอดจนการลงทุนจะตกต่ำมากทั้งนี้ เพราะ.-
...อัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ กำลังพุ่งพรวด
... อัตราส่วนการลงทุนเริ่มน้อยลง
...อุตสาหกรรมก่อสร้างกำลังอยู่ในภาวะใกล้พินาศเพราะต้นทุนของเงิน
....สภาวะทั่วไปของเศรษฐกิจอยู่ในลักษณะบีบรัดมาก เพราะภาครัฐตัดค่าใช้จ่ายและรัดเข็มขัด
ในด้านการเมือง
ถึงแม้ว่าหลังจากการลาออกจากการเป็นรัฐบาลแล้ว นายบุญชู โรจนเสถียร อาจจะมีโอกาสร่วมรัฐบาลอีก แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าการอิงบุญชูไว้เพื่อใช้ฐานการเมืองไปสู่ฐานการเงินจะเป็นวิธีการที่ดี
ความขัดแย้งภายในพรรคกิจสังคม ควรจะเป็นลางบอกเหตุให้เห็นว่า ถ้าพรรคกิจสังคมไม่สามารถจะรับ ส.ส. ที่ลาออก เพื่อให้บุญชูกลับเข้าไปตามที่บุญชูพร่ำขอร้อง ก็เป็นลางบอกเหตุได้เหมือนกันว่า บุญชูเองก็มีคนที่ไม่เห็นด้วยมากพอสมควร และนี่ก็พิสูจน์ได้จากการที่การจัดตั้งรัฐบาลเปรม 3 ที่บุญชูไม่มีหน้าที่อะไรเลย
นโยบายคลังของบุญชู โรจนเสถียร เป็นนโยบายคนละด้านกับสมหมาย ฮุนตระกูล ในขณะที่บุญชูเร่งจะให้รัฐบาลจับจ่ายใช้สอยเพื่อความหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ แต่กลุ่มสมหมายซึ่งเป็นบรรดานักวิชาการแบงก์ชาติ และอาจารย์มหาวิทยาลัย จะใช้นโยบายรัดเข็มขัด โดยจะยอมลำบากช่วงหนึ่งเพื่อให้สบายทีหลัง
ความจริงข้อแตกต่างของทั้งสองนโยบายนี้ ก็พอที่จะให้ผู้บริหารรามาทาวเวอร์ได้มองเห็นชัดเจนพอสมควรแล้วว่า เศรษฐกิจปี 23-24 และ 25 จะออกมาในรูปไหน?
ทั้งหมดนี้เป็นความรอบรู้ที่ต้องเรียนด้วยตนเอง ที่ต้องศึกษาโดยละเอียดไม่ใช่การพูดคุยกันอย่างฉาบฉวย หรือเพียงอ่านผ่านๆ และเป็นความรู้รอบตัวที่จำเป็นมากสำหรับนักบริหารระดับสูง
ความจริงเรื่องรามาทาวเวอร์ เป็นเรื่องตัวอย่างทางธุรกิจที่น่าเอาไปศึกษาเพื่อประโยชน์กับผู้บริหารอื่นๆ ในอนาคต
และรามาทาวเวอร์ ยังคงมีคำถามที่ต้องการคำตอบอีกมาก ในฐานะเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งประชาชนผู้ลงทุนควรจะรู้ เช่นว่า
1. บริษัทนานาวิศวกรรม ที่ตั้งขึ้นมารับผิดชอบในการสร้างโรงแรมรามาการ์เด้นส์ เป็นของใคร?
2. รามาการ์เด้นส์ ตั้งงบประมาณสร้างไว้ 420 ล้านบาท แต่ใช้เกิน (cost overrun) ไปเกือบๆ 520 ล้านบาท แตกต่าง 100 ล้านบาท มีใครควรจะรับผิดชอบ ทำไมถึงต่างไปเกือบ 20%
3. การขายหุ้นให้กับแคเรี่ยน น่าจะเอาขั้นตอนรายละเอียดออกมาชี้แจงให้ผู้ลงทุนทราบ เพราะมีคำถามเรื่องแคเรี่ยนอีกมากที่ประชาชนใคร่รู้
4. คำถามสุดท้ายที่ประชาชนผู้ลงทุนในรามาทาวเวอร์อยากถามมาก และคำตอบก็คงจะต้องมาจากผู้บริหารชุดเก่า คือคำถามที่ว่า
......บริษัทรามาทาวเวอร์ซึ่งมีทุนจดทะเบียน 800,560,000 บาท ในวันนี้ เวลานี้มีโรงแรมรามาการ์เด้นส์ที่เป็นทรัพย์สินหลักจริงๆ เหลืออยู่ และรามาการ์เด้นส์ยังเป็นหนี้ธนาคารร็อกเกอร์อีกร่วม 500 ล้านบาท
ถ้ามองในแง่ของการบริหารแล้ว บริหารงานกันอย่างไร? ได้พยายามรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นดีหรือเปล่า? การบริหารงานในอดีตเคยคำนึงหรือไม่ว่า บริษัทนี้เป็นบริษัทมหาชน ฉะนั้นการตัดสินใจทุกประการที่ตัดสินใจลงไป ได้ตัดสินใจโดยไม่เอาประโยชน์ของตัวเอง ของพวกพ้อง และของกลุ่มเข้ามาเกี่ยวข้องหรือเปล่า?
รามาทาวเวอร์ เป็นบริษัทมหาชนบริษัทแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ประสบปัญหาใหญ่เช่นนี้
การเป็นบริษัทมหาชนเป็นเงื่อนไขให้ผู้บริหารยิ่งจะต้องทำงานอย่างมีหลักการ มีหลักเกณฑ์ของการบริหารงานที่ถูกต้องรัดกุม มีไหวพริบและปฏิภาณที่ทันควัน และต้องมีจรรยาบรรณของนักบริหาร ต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการบริษัท แล้วผู้บริหารยังจะต้องรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นรายย่อย ซึ่งเป็นผู้ทำมาหากินโดยสุจริตด้วยความยากลำบากมานะอดทน เก็บหอมออมทรัพย์ไว้ก้อนหนึ่ง เพื่อนำมาลงทุนในกิจการที่ตนคิดว่าจะสามารถให้ผลกำไรตอบแทนต่อการลงทุนได้ดีพอสมควร
ผู้ลงทุนบางคนก็อาจจะเป็นข้าราชการหรือพนักงานที่เกษียณแล้ว และนำเงินบำเหน็จที่ไม่มากนักมาลงทุนซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อเก็บผลกำไรเอาไว้ใช้สอยในยามจำเป็น
บ่อยครั้งที่เรามักได้ยินคำกล่าวเสมอว่า บริษัทล้ม แต่ผู้บริหารรวย เราหวังว่าในกรณีรามาทาวเวอร์ คงจะไม่เป็นเช่นนั้น หากแต่คงจะเป็นเพราะการตัดสินใจที่ผิดพลาดบางประการมากกว่า
วงการธุรกิจเมืองไทยในขณะนี้กำลังมีอัตราการเจริญเติบโตที่สูงมาก บุคลากรในวงการธุรกิจเริ่มมีบทบาทที่เปลี่ยนแปลงไปจากรุ่นเก่าๆ ไปในทางที่ดีขึ้น การทำงานที่ใช้เหตุใช้ผลในการบริหารที่ใช้หลักทางวิทยาศาสตร์ การวิเคราะห์ การวางแผน ได้เข้ามาแทนที่ การเสี่ยง การเดา และการใช้อคติ ใช้อำนาจเป็นใหญ่
ฉะนั้น บทบาทของผู้บริหารระดับสูง ก็ต้องเป็นตุ๊กตาตัวอย่าง ที่จะให้นักบริหารระดับกลางได้ศึกษาเรียนรู้
การกระทำของผู้บริหารระดับสูง คือการบอกแนวทางได้ว่า จรรยาบรรณของนักบริหารไทยในอนาคตจะออกมาในรูปไหน?
โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นตลาดระดมทุนของประชาชน ยิ่งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะการทำงานที่ออกมาให้ประชาชนเห็นของนักบริหารต่างๆ ของบริษัททั้งหลายที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์นั้น เป็นเรื่องที่จะส่อเจตนาและพิสูจน์ให้สังคมไทยเห็นว่า “สันดานนักธุรกิจและนักบริหารไทย” นั้นแท้จริงจะรักษาผลประโยชน์ของผู้ลงทุนด้วยความเที่ยงธรรม และสามารถจะเป็นส่วนในการสร้างสรรค์สังคมไทยให้ดีขึ้นกว่าเดิมหรือไม่?
หวังว่านักบริหารมืออาชีพ คงจะไม่ทรยศต่อวิชาชีพ และจรรยาบรรณของตัวเอง อาจจะมีผู้ฉวยโอกาสและคดโกงอยู่บ้าง ก็เป็นของธรรมดา แต่นักบริหารที่ดีทั้งหลายรวมทั้งผู้ถือหุ้นสามารถจะเปิดโปง หรือขอพึ่งอำนาจทางนิติบัญญัติเรียกร้องสิทธิของผู้ถือหุ้นที่กฎหมายบริษัทมหาชน ได้มอบไว้เพื่อเป็นการตรวจสอบการทำงานของผู้บริหารที่ไม่รับผิดชอบ ก็จะเป็นการจรรโลงและสร้างสรรค์ให้ในวงการธุรกิจ และบุคลากรที่เกี่ยวข้องได้รับผลดี และเป็นการยกระดับคุณภาพคนให้สูงขึ้น แทนที่จะมานั่งปลงแล้วทำตาปริบๆ ให้เขามาปู้ยี่ปู้ยำตามใจชอบ
แนวทางแก้ไขที่น่าจะเป็น
1. ไม่ควรเลิกสัญญากับไฮแอท ควรจะปรับปรุงโรงแรมตามที่ไฮแอทเสนอมาเพื่อแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์ที่ไฮแอทจะมอบให้
2. หยุดยั้งการขยายงานทุกประเภท จนกว่าโรงแรมจะปรับปรุงเสร็จ
3. ควรจะทุ่มเททรัพยากรที่มีอยู่เพื่อพัฒนาเนื้อที่ว่างเปล่า เพื่อให้เกิดประโยชน์ โดยถือว่าเป็นการลงทุนระยะยาวแต่เป็นการจำกัดการลงทุนเพื่อให้ได้ผลประโยชน์มากที่สุด
4. ไม่ควรเอาบริษัทรามาทาวเวอร์เข้าไปเกี่ยวพันกับบริษัทในเครือของผู้บริหาร เพื่อจะให้เห็นการแบ่งสายงาน และความรับผิดชอบได้อย่างเด่นชัด จะทำให้ไม่มีการก้าวก่ายในหน้าที่ซึ่งกันและกัน
|
|
|
|
|