Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2526








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2526
เผยเบื้องหลังความสำเร็จของอำนวย วีรวรรณ             
 

   
related stories

อำนวยกับไนกี้

   
search resources

Nike
อำนวย วีรวรรณ
Apparel and Accessories




“ใครๆ ก็หาว่าผมเป็นเด็กของคุณพจน์ สารสิน แต่ที่จริงแล้วผมทำงานให้ท่านในฐานะผู้ที่ต้องดำเนินงานตามนโยบายเท่านั้น” อำนวย วีรวรรณ เคยพูดกับผู้เขียนแล้วครั้งหนึ่ง

จากวันนั้นถึงวันนี้ อำนวยได้ก้าวผ่านตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ผ่านขั้นตอนของความเจริญก้าวหน้าจากการเป็นปลัดกระทรวงที่อายุน้อยมาก เลยไปถึงความขมขื่นที่ถูกปลดออกจากตำแหน่งในสมัยธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกฯ กลับเข้ามาเป็นรัฐมนตรีคลังอีกครั้ง พร้อมทั้งการพิสูจน์จาก อกพ. ว่าเขาไม่ผิด มาจนทุกวันนี้ อำนวย วีรวรรณ เข้ามามีบทบาทในเศรษฐกิจของประเทศชาติในฐานะคนที่สองของธนาคารกรุงเทพ รองจากชาตรี โสภณพนิช

“ท่านเป็นคนที่ทำงานจริง และเป็นคนกล้าตัดสินใจ เป็นตัวของตัวเอง” มุกดา จันทรสมบูรณ์ ผู้อำนวยการกองกลาง กระทรวงการคลัง ที่เคยเป็นหน้าห้องของอำนวย เล่าให้ “ผู้จัดการ” ฟัง

อำนวยเป็นตัวของตัวเองขนาดที่บุญชู โรจนเสถียร เมื่อครั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีในสมัยเปรม 1 ก็ยังรู้สึก เพราะในขณะที่บุญชูเคยสั่งงานให้ตามใจ ขำภโต หรือวิสิษฐ์ ตันสัจจา ทำ แต่กับอำนวยแล้ว บุญชูกลับต้องขอความเห็นชอบของอำนวยก่อน

อาจจะเป็นเพราะความเป็นตัวของตัวเองนี่แหละ ที่ทำให้อำนวยได้รับการเชื้อเชิญในที่สุด เพื่อให้เข้ามาเป็นผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกรุงเทพ

สำหรับธนาคารกรุงเทพ การเชื้อเชิญคนภายนอกให้เข้ามาดำรงตำแหน่งในธนาคารในระดับบริหารนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เช่น ดร. สาธิต อุทัยศรี ถูกเชื้อเชิญในลักษณะซื้อตัวมาจากธรรมศาสตร์ แต่นั่นก็เป็นการเชื้อเชิญมาแค่ในระดับผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายหรือส่วนเท่านั้น

แต่กับอำนวย วีรวรรณ แล้ว บัตรเชิญใบนี้เป็นบัตรเชิญที่ได้เริ่มขึ้นมาหลายปีแล้ว และสายใยสายสัมพันธ์ที่เกี่ยวโยงกันอย่างสลับซับซ้อน ทำให้อำนวย วีรวรรณ กลายเป็นคนคนเดียวที่สามารถจะเข้ามาในตำแหน่งนี้ได้อย่างชนิดที่ผู้บริหารอื่นๆ ในธนาคารกรุงเทพ ที่เป็นลูกหม้อทั้งหลายต้องพากันสงบเสงี่ยมโดยดุษณีภาพ

คนในสังคม นอกจากความสามารถแล้วยังต้องมีคนเกื้อหนุนและช่วยเหลืออีกด้วย จากการเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจให้กับรัฐบาลชุดถนอม-ประภาส ในช่วงที่เพิ่งจะอายุสามสิบกว่าๆ ก็พอจะทำให้เแววของอำนวยฉายแสงออกมาให้เห็นได้ชัดเจน และจุดนี้เป็นจุดเริ่มต้นของอำนวย วีรวรรณ ที่ถูกบุญชู โรจนเสถียร ค้นพบเพชรเม็ดนี้ ทั้งนี้เพราะในช่วงยุคถนอม-ประภาส เป็นยุคที่บุญชูเป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการแนะแนวนโยบายการเศรษฐกิจและการคลังอยู่อย่างใกล้ชิด ถึงแม้บุญชูจะไม่มีอิทธิพลที่จะดลบันดาลให้ถนอมหรือประภาสทำตามคำแนะนำของตน แต่น้ำหนักคำแนะนำของบุญชูก็พอจะมีอยู่บ้าง

และในที่สุด ตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเป็นตำแหน่งที่ปูพื้นให้อำนวยได้กระโดดเข้าพบปะบรรดาพ่อค้า นักธุรกิจ นักการธนาคาร ทั้งระดับในประเทศและต่างประเทศ

“ผมเริ่มทำงานกับอำนวยมาตั้งแต่สมัยผมยังเป็นผู้จัดการธนาคารกรุงเทพ ที่นิวยอร์ก และอำนวยอยู่บีโอไอ เราต้องติดต่อประสานงานกันตลอด” พร สิทธิอำนวย พูดถึงสายสัมพันธ์ที่เขามีกับอำนวย วีรวรรณ ให้ผู้ใกล้ชิดฟัง “อำนวยเป็นคนเก่ง และเป็นคนที่ถ้าวงการราชการไทยมีคนคุณภาพแบบเขาสักเพียง 25% ประเทศชาติจะเจริญกว่านี้” พรสรุปให้ฟัง

และก็เป็นที่บีโอไอนี่แหละ จากการกล้าตัดสินใจของเขา เป็นเหตุให้เรื่องที่เขาตัดสินใจเรื่องหนึ่งสมัยอยู่บีโอไอ มาเป็นหอกที่ศัตรูทางการเมืองเอามาแอบแทงเขาข้างหลัง จนกระทั่งรัฐบาลชุดธานินทร์ กรัยวิเชียร มีคำสั่งปลดเขาออกจากตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง และผู้ที่แอบแทงเขาข้างหลังก็คือผู้ใต้บังคับบัญชาในกรมศุลกากรนั่นเอง ซึ่งในตอนหลังเมื่ออำนวยได้รับการเชื้อเชิญจากพรรคกิจสังคมให้เข้าไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกรมศุลกากรผู้นั้นถึงกับขอลาป่วยเป็นเวลา 1 เดือน ทันทีที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งเขาเป็นรัฐมนตรี และเมื่อครบกำหนดวันลาก็ยื่นใบลาออกจากราชการไป

ความจริงแล้ว ถ้าไม่ใช่เพราะจอมพลสฤษดิ์ เป็นผู้ปรารภกับบุญชนะ อัตถากร ว่า ต้องการคนหนุ่มมาเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ และถ้าไม่ใช่เพราะบุญชนะเป็นคนเสนออำนวย ซึ่งตอนนั้นเป็นหัวหน้ากองอยู่กรมบัญชีกลางแล้ว ป่านนี้วิถีชีวิตของอำนวยคงจะหันเหไปอีกแนวทางหนึ่งแน่

อำนวยใช้เวลาอยู่ที่บีโอไอประมาณ 5 ปี ก็ออกไปอยู่องค์การภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และภายหลังกลับมาเป็นที่ปรึกษากระทรวงการคลังอีกประมาณ 2 ปี ถึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอธิบดีกรมศุลกากร ใน พ.ศ. 2516 ปีที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วยเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

ในช่วงระยะปีที่สองนั้นเป็นระยะที่ปลัดกระทรวงการคลัง สนั่น เกตุทัต กำลังถูกโจมตีหนัก และโดนตั้งกรรมการสวบสวนในเรื่องซุงสมัยเมื่อนายสนั่นเป็นอธิบดีกรมศุลกากรอยู่

อำนวย วีรวรรณ ในขณะนั้นอายุเพิ่งจะ 42 ปี และอาวุโสในกระทรวงการคลังก็ยังน้อยกว่าข้าราชการอีกหลายคน โอกาสที่จะได้เป็นปลัดกระทรวงดูเหมือนว่าจะมีแต่ขวากหนามและเป็นไปไม่ได้

แต่วิถีทางราชการของอำนวยดูเหมือนจะเปลี่ยนไปกะทันหัน ในต้นปี 2518 เมื่อรัฐบาลชุด 18 เสียงของกิจสังคม ที่มีบุญชู โรจนเสถียรเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้ามาบริหารประเทศ

สนั่น เกตุทัต ในขณะนั้นชะตาของการรับราชการต่อด้วยเกียรติและศักดิ์ศรี หรือการหมดสิ้นกันเพียงแค่ในปี 2518 ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของบุญชู ในฐานะรัฐมนตรีคลังแต่เพียงผู้เดียว

บุญชูเองก็อึดอัดใจที่การมารับตำแหน่งทางการเมืองเป็นครั้งแรกในชีวิต ต้องตัดสินใจเรื่องที่ใหญ่พอสมควร นั่นคือจะให้ปลัดกระทรวงการคลังคนนี้อยู่ต่อหรือจะให้ลาออกไป

แต่บุญชูก็ไม่ใช้เวลานานในการตัดสินใจเพราะมีเวลาไม่มากนัก เขาต้องการปลัดที่ทันสมัย เข้าใจความคิดเขาได้ และสามารถดำเนินนโยบายที่เขาต้องการได้อย่างรวดเร็วฉับไว ที่สำคัญที่สุดปลัดคนนี้ต้องเป็นคนที่มีความคิดใหม่ๆ พร้อมจะรับงานที่ท้าทายจากบุญชูได้

และในกระทรวงการคลัง ระดับอธิบดีก็มีแค่จำนวนเดียว อีกประการหนึ่ง ฝีไม้ลายมือของอำนวย บุญชูก็รับรู้มาแล้ว

ในที่สุด อำนวยก็ได้เป็นปลัดกระทรวงการคลังในเดือนเมษายน พ.ศ. 2518 เมื่ออายุเพียง 43 ปีเท่านั้นเอง

การแต่งตั้งครั้งนั้นเป็นการพลิกโฉมหน้าของกระทรวงการคลังตั้งแต่นั้นมา เพราะอำนวยเองเมื่อมาเป็นปลัดก็เป็นผู้ใช้ปรัชญาการใช้คนหนุ่มที่มีความสามารถมาทำงานแทนการใช้ระบบอาวุโส

ระดับอธิบดีในกระทรวงการคลังในทุกวันนี้จะมีอายุกันไม่มากนัก และผลพวงอันนี้ก็มาจากความคิดและแนวปรัชญาการใช้คนของอำนวย

ในช่วงการทำงานกับบุญชูนั้น อำนวยได้แสดงความสามารถอย่างเต็มที่ และบุญชูโชคดีที่ได้อำนวยมาเป็นตัวประสานแนวความคิดและแนวปฏิบัติระหว่างรัฐมนตรีที่ต้องการทำงานให้สะดวกและรวดเร็วเหมือนสมัยบุญชู อย่างธนาคารกรุงเทพ กับข้าราชการที่มีระบบและความอืดอาดล่าช้าบวกกับการตามไม่ทันความคิดของผู้ร่างนโยบาย

พอจะพูดได้ว่า ในช่วงนั้นกระทรวงการคลังเป็นกระทรวงที่มีการเคลื่อนไหวและปรับปรุงภายในอย่างมากที่สุด

จากการที่ต้องทำงานใกล้ชิดกับบุญชูมากเป็นพิเศษ และจากการที่ได้รู้จักและสนิทสนมกับพรรคพวกในกลุ่มของบุญชูมาก่อนตั้งแต่สมัยอยู่ที่บีโอไอ อำนวยเลยกลายเป็นคนของบุญชูไปโดยปริยาย และนี่คือดาบอีกคมที่ฟันใส่ อำนวยเมื่อธานินทร์ กรัยวิเชียรได้มาเป็นนายกฯ ในปี 2519-2520

ในขณะที่ธานินทร์ กรัยวิเชียร ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ขณะนั้นมีการต่อต้านภัยคอมมิวนิสต์อย่างไม่ลืมหูลืมตา ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช และพวกโดนเพ่งเล็งอย่างหนัก ด้วยความสงสัยว่าจะเป็นพวกที่หาทางล้มล้างรัฐบาลชุดธานินทร์ และการเพ่งเล็งมากเช่นนี้ก็มีส่วนผลักดันให้บุญชูกลับเข้ามาทำงานที่ธนาคารกรุงเทพอีกครั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกสงสัยว่าอยู่เฉยๆ จะทำอะไรกัน

ส่วนอำนวยนั้นก็พลอยโดยหางเลขด้วย ในฐานะที่สนิทกับบุญชู โดนขุดเรื่องภาษีของบริษัท สยามคราฟท์ ซึ่งตัวเองเป็นคนตัดสินใจสมัยที่อยู่บีโอไอ

เป็นครั้งแรกที่ดูเหมือนอนาคตของอำนวยแทบจะดับวูบ เมื่อคำสั่งให้พักราชการออกมา แต่อำนวยก็สู้ต่อไป เพื่อหาความยุติธรรม หนึ่งในวิธีการ คือเขียนหนังสือ ชื่อ “พ้นพงหนาม” ซึ่ง ม.ร.ว. คึกฤทธิ์เป็นผู้ตั้งชื่อให้ และเขาจำหน่ายโดยยกรายได้ทุกบาททุกสตางค์จากการขายหนังสือให้กับเด็กกำพร้าบ้านราชวิถี

วินาทีแรกที่อำนวยว่างงาน มีบริษัทหลายแห่งพยายามติดต่ออำนวยให้ไปทำงานด้วย หนึ่งในหลายแห่งนั้นคือ พีเอสเอ

พร สิทธิอำนวย พยายามดึงอำนวย วีรวรรณ และอานันท์ ปันยารชุน อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งถูกหางไต้ฝุ่นของธานินทร์ กรัยวิเชียร เช่นกัน ให้ไปทำงานด้วย แต่อำนวยตัดสินใจที่จะไปสหยูเนี่ยนของดำริห์ ดารกานนท์

“อำนวยเป็นคนเก่ง ดำริห์เขาเป็นเพื่อนกับอำนวยมานานแล้ว เขาเข้ามาเอาวิธีการใหม่ๆ มาทำให้บริษัทไปได้ดี” เทียม โชควัฒนา เคยพูดถึงอำนวยให้ฟัง

ยุคนั้นอำนวยหันหลังให้กับอดีตราชการอย่างเด็ดขาด ยุ่งเกี่ยวก็เฉพาะโอกาสที่จะทำให้ตัวเองบริสุทธิ์จากข้อกล่าวหาเท่านั้น

และช่วงนั้นก็เป็นอีกช่วงหนึ่งที่อำนวยเริ่มกลับเข้ามาใกล้ชิดกับธนาคารกรุงเทพอย่างเป็นกิจจะลักษณะ นอกเหนือจากการที่รู้จักกันดีพอสมควรแล้ว แต่มาครั้งนี้อำนวยไม่มีตำแหน่งทางราชการเป็นเครื่องกีดขวาง

“ความจริงแล้วตระกูลวีรวรรณเป็นตระกูลที่ค้าพืชผลมาตั้งแต่สมัยก่อนนานแล้ว และรู้จักใกล้ชิดกับคุณชิน โสภณพนิช อย่างดี” พันธ์ศักดิ์ วิญญรัตน์ ผู้อำนวยการนิตยสาร ข่าวจตุรัส เล่าให้ฟังเพิ่มเติม

อำนวยในปีนั้น เป็นช่วงต้องทำงานใกล้ชิดกับธนาคารกรุงเทพมาก เพราะสหยูเนี่ยนเป็นลูกค้าใหญ่มากของธนาคารกรุงเทพ

สายสัมพันธ์ของอำนวยนอกจากบุญชูแล้ว กับชาตรี โสภณพนิช ก็สนิทสนมกันมาก ถึงแม้ว่าข่าวคราวและภาพของอำนวยกับชาตรีไม่ค่อยได้ปรากฏให้สาธารณะเห็นเท่าใดนักในช่วงนั้น

“คุณชาตรีเคารพในฝีมือของคุณอำนวยมาก และการเกี่ยวพันของคนสองคนนี้มีผู้ประสานงานอยู่ตรงกลาง คือ คุณสุนทร อรุณานนท์ชัย ประธานกรรมการบริหารของสินเอเชีย ซึ่งเป็นบริษัทของคุณชาตรี” เจ้าหน้าที่ระดับสูงของเอเชียกล่าวกับ “ผู้จัดการ”

นิตยสารข่าว จตุรัส เคยรายงานว่า “อำนวยเป็นคนหนึ่งในไม่กี่คนที่สามารถจะดึงแฟ้มเรื่องอะไรก็ได้จากสินเอเชียมาดู”

“คุณชาตรีเคยชวนผมไปเป็นประธานของสินเอเชีย แต่ผมบอกว่า ร่วมกันทำดีกว่า เพราะจะอย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงก็มีอยู่ว่า สินเอเชียยังเป็นของคุณชาตรีอยู่ เขาก็คงจะต้องเป็นคนตัดสินใจ”อำนวยพูดให้ฟังเมื่อ 4 ปีที่แล้ว

สหยูเนี่ยนในช่วงของอำนวย วีรวรรณ เป็นสหยูเนี่ยนที่เริ่มหันออกไปค้าขายต่างประเทศมากขึ้น เท็กซ์ปอร์ตอินเตอร์เนชั่นแนล คือเทรดดิ้ง คัมปะนี ที่อำนวยตั้งขึ้นโดยมีนักธุรกิจที่มีชื่อเข้ามาร่วมหุ้นด้วย

ธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกฯ เพียงปีเดียว ก็ถูกพลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ปฏิวัติ และสงัด ชลออยู่ ก็ถูกพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ แย่งตำแหน่งนายกฯ ไป

ในช่วงนั้น พลเอก เกรียงศักดิ์พยายามดึงตัวบุญชูให้เข้ามาร่วมรัฐบาล โดยเก็บตำแหน่งรัฐมนตรีคลังไว้ให้

แต่คงจะเป็นเพราะ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ไม่ถูกชะตากับเกรียงศักดิ์ และในคำพูดของบุญชูที่ว่า “ผมอยากให้คุณเกรียงศักดิ์พิสูจน์อะไรลงไปสักสองสามอย่าง ก่อนผมจะเข้าไปร่วม”

ในที่สุด อำนวยได้รับการเคลียร์จาก ก.พ.ว่า ไม่ผิดซึ่งหลายฝ่ายก็คิดว่าอำนวยคงจะหันกลับเข้าไปรับราชการอีก แต่อำนวยได้ลั่นวาจาไว้แล้วว่า จะไม่กลับไปสู่ระบบที่เขาได้อุทิศทุกอย่างเพื่อประเทศชาติ แต่กลับได้การกลั่นแกล้งเป็นเครื่องตอบแทน

และจะเป็นเพราะเกรียงศักดิ์ยังไม่ได้แสดงความจริงใจออกมาให้บุญชูเห็นอีกสองอย่าง บุญชูเลยไม่ได้เข้าไปร่วมหรือคงจะเป็นเพราะบุญชูเริ่มเห็นแววของทหารม้าจากโคราช ว่าท่าทางจะมาแทนเกรียงศักดิ์ได้ก็เลยตัดสินใจรอ

ซึ่งก็สมใจบุญชู เมื่อได้รับเชื้อเชิญให้เป็นรองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ ส่วนตำแหน่งรัฐมนตรีคลังนั้นไม่ต้องไปหา เพราะบุญชูมองไม่เห็นใครนอกจากอำนวย และก็ไม่มีใครคัดค้านแม้กระทั่งคนกิจสังคมเองถึงไม่ชอบให้คนนอกเข้ามา แต่กับตำแหน่งนี้ของอำนวยแล้วไม่มีใครส่งเสียง

การกลับเข้ามากระทรวงการคลังอีกครั้งเหมือนกลับบ้านเก่า การกลับมาครั้งนี้ทำให้ ข้าราชการกระทรวงการคลัง ถึงกับพูดกันไม่หยุด อย่างน้อยก็มีข้าราชการระดับสูงของกรมศุลกากรคนหนึ่ง ที่เป็นผู้กล่าวหาอำนวยในสมัยธานินทร์ ถึงกลับตัดสินใจลาออกจากราชการทันที หลังจากลาป่วยเมื่อทราบข่าวว่าอำนวยจะกลับมาอีก

“ท่านไม่ได้คิดถึงคนคนนั้นเลย และท่านก็ไม่เคยพูดถึง ท่านเป็นรัฐมนตรีไม่ใช่อธิบดี หรือปลัดที่จะไปล้างแค้นแกล้งคนระดับกรม” ผู้ใกล้ชิดอำนวยพูดให้ฟัง

รัฐบาลชุดเปรม 1 เป็นรัฐบาลชุดที่ต้องหาเงินเข้าประเทศเป็นอย่างมาก เพราะบุญชูต้องการใช้เงินและใช้เงินเพื่อกระตุ้นการลงทุนและทำให้การค้าคึกคัก เมื่อบุญชูต้องการใช้เงินอำนวยก็ต้องเป็นคนหาเงิน

การหาเงินของอำนวยให้เข้ารัฐเป็นการหาเงินที่ไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม ไม่เกรงคนใกล้ชิดบุญชู ไม่เกรงคนใกล้ชิดคึกฤทธิ์

อำนวยเป็นคนให้ขึ้นภาษีเบียร์และน้ำอัดลม รวมทั้งภาษีโรงแรม เหตุผลของอำนวยดูจะผิดในปีสองปีแรก ที่บริษัทน้ำอัดลมเริ่มจะขาดทุนแต่เป็นการขาดทุนกำไรสะสม แต่เริ่มปีที่สามพวกเครื่องดื่มต่างๆ ก็มีกำไรกลับไปเหมือนเดิม และก็เริ่มดีขึ้นกว่าเดิม

การขึ้นภาษีน้ำอัดลมคราวนั้น เป็นการตีแสกหน้า ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งมีหุ้นอยู่ในเป๊ปซี่ และพงษ์ สารสิน ซึ่งเป็นเจ้าของโคล่า และเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินของกิจสังคมอย่างแรง

อำนวยเป็นคนที่มีจิตวิทยาสูง และเป็นนักบริหารเต็มตัว เมื่อสมัยรัฐบาลเปรม 1 มีเพียงอำนวยเพียงคนเดียวในกลุ่มบุญชู ที่ไม่ได้โดนสื่อมวลชนแตะต้องเลยแม้แต่น้อย ทั้งๆ ที่ ทั้งตามใจ ขำภโต วิสิษฐ์ ตันสัจจา และบุญชู โรจนเสถียร โดนโจมตีเสียน่วมไปหมด

ในความสัมพันธ์ระหว่างบุญชูกับอำนวยนั้น ถึงแม้จะรู้จักและใกล้ชิดสนิทสนมกัน แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า อำนวยเป็นเด็กของบุญชู เพราะอำนวยได้เกิดขึ้นมาในวงการเพราะสฤษดิ์ ธนะรัชต์ บุญชนะ อัตถากร และพงษ์ สารสิน บุญชูเพียงแต่เห็นความสามารถและต้องการใช้อำนวยเท่านั้น

ในขณะที่ ทุกๆ เสาร์-อาทิตย์ บ้านพักที่หัวหินของบุญชู มีแต่คนของบุญชูไปห้อมล้อมและสังสรรค์กัน แต่ในที่นั้นมักจะไม่มีอำนวยอยู่ด้วย

“ท่านเป็นคนทำงานตรง มีอยู่ครั้งหนึ่ง ท่านเคยถามบุญชูว่า เรื่องค้าของเถื่อนของเสียจิวนี้จะเอายังไง เพราะท่านเตรียมตัวจะให้กรมศุลกากรกวาดล้าง แต่บุญชูบอกว่าปล่อยเรื่องเสียจิวให้คุณบุญชูจัดการเองก็แล้วกัน” ผู้ใกล้ชิดอำนวยในกรมศุลกากรเผยกับ “ผู้จัดการ”

เมื่อกิจสังคมลาออกจากเปรม 1 ช่วงนั้นก็เป็นช่วงที่อำนวยตัดสินใจเด็ดขาดแล้วว่าจะหวนกลับเข้ามาวงการธุรกิจอย่างเต็มตัว หลังจากโดนสหยูเนี่ยนแอบต่อว่าอย่างน้อยใจ

และในระยะที่อำนวยไปเป็นรัฐมนตรี บริษัทเท็กซ์ปอร์ต อินเตอร์เนชั่นแนล ภายใต้การดูแลของประกายเพชร อินทุโสภณ ประสบภาวะขาดทุนอย่างหนัก เพราะการดำเนินนโยบายผิดพลาด เมื่ออำนวยกลับเข้ามาก็ต้องมาสางปัญหาต่างๆ ยังผลให้ประกายเพชรต้องลาออกไป

ในช่วงที่สองที่อำนวยกลับเข้ามาสหยูเนี่ยน ก็เป็นช่วงของการทำงานอย่างใกล้ชิดกับธนาคารกรุงเทพ ซึ่งในขณะนั้นเองธนาคารกรุงเทพ กำลังหาทางให้บริษัท สหยูเนี่ยน รับภาระของไทยเกรียงอุตสาหกรรมทอผ้า ที่กำลังอยู่ในสภาวะล้มละลาย

การกลับเข้ามาครั้งนี้ อำนวยได้รับการทาบทามจากชาตรี และชิน โสภณพนิช ให้เข้ามาสู่ธนาคารกรุงเทพ แต่จะเป็นการเข้ามาทีละขั้นตอน เริ่มจากเข้ามาเป็นกรรมการก่อน และภายหลังถึงได้เพิ่มภาระหน้าที่ให้อำนวยดังที่ทราบกันอยู่

ก่อนหน้านั้น อำนวยเองได้รับการทาบทามจากบุญชู ให้เข้ามาทำงานที่ธนาคารนครหลวงไทย แต่อำนวยปฏิเสธ เขาให้เหตุผลในการปฏิเสธว่า เป็นเพราะเขาไม่สามารถทำงานทั้งสองแห่งได้ แต่แหล่งข่าวผู้ใกล้ชิดระบุว่า “คุณอำนวยไม่ไปนครหลวงฯ เป็นเพราะนครหลวงฯ ดูจริงๆ แล้วยังเล็กกว่าสหยูเนี่ยนกับบริษัทในเครือทั้งหมด อีกประการหนึ่งคุณอำนวยฯ ไม่คิดและไม่ต้องการจะไปเป็นลูกน้องของพวกมหาดำรงค์กุล ซึ่งสมัยคุณอำนวยอยู่กระทรวงการคลังก็เคยดำเนินการเข้าไปตรวจสอบเรื่องภาษีนาฬิกา”

ซึ่งการตัดสินใจของอำนวยก็ไม่ได้ผิดพลาดเลยแม้แต่นิดเดียว เพราะนับจากวันแรกที่บุญชูส่งทีมงานเข้าไปในนครหลวงก็ประสบแต่ปัญหามาตลอด ตั้งแต่การขัดแย้งในเรื่องการทำงานกัน จนกระทั่งการที่ดิเรก-ดิลก และชัยโรจน์ มหาดำรงค์กุล ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดแสดงทีท่าไม่ยอมให้นักบริหารมืออาชีพ ได้มาทำงานอย่างมีอำนาจเหมือนอย่างที่บุญชูเคยมีอำนาจในธนาคารกรุงเทพมาก่อน

จากวันแรกที่อำนวยเป็นรัฐมนตรี จนถึงวันนี้ในตำแหน่งใหม่ครอบคลุมวาณิชธนกิจ (Merchant Banking) และฝ่ายการธนาคารระหว่างประเทศ ก็เป็นระยะเวลา 24 ปี ที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถเข้าพิสูจน์

สิ่งหนึ่งที่พิสูจน์ให้เห็นถึงความเจริญก้าวหน้าของมนุษย์ที่จะเติบโตและมีคุณค่าทางสังคม และจากวงราชการ คือ การมีความรู้ความสามารถ

ถึงแม้ว่าช่วงชีวิตหนึ่งของอำนวยจะถูกมรสุมโหมหนัก แต่ด้วยความเชื่อมั่นในตัวเอง และความจริงใจที่มีต่องานทุกงาน ทุกสิ่งอย่างก็จะออกมาได้เรียบร้อย และยังดีกว่าเก่าเสียอีก

อำนวยได้พิสูจน์ให้วงการเห็นแล้วว่า การเป็นนักบริหารมืออาชีพนั้น นอกจากความรู้ความสามารถที่เป็นพื้นฐานหลักแล้ว ยังจะต้องมีความจริงใจกับงานที่ทำ และความรับผิดชอบที่มีต่องานจะส่งผลไปให้กับผู้ร่วมงาน รวมถึงหน่วยงานด้วย ทั้งหมดนี้จะเป็นภาพที่หน่วยงานจะสะท้อนออกไปให้ประชาชนเห็น

อำนวยจะเป็นกรรมการผู้จัดการแทนชาตรี หรือจะถูกเชิญไปเป็นรองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ หรือจะเป็นนายกฯ เอง หรือไม่นั้น ไม่สำคัญ

แต่ที่สำคัญก็คือ คุณภาพในคนเช่นอำนวย เป็นสิ่งที่สังคมไทยต้องการ และต้องเป็นคุณภาพที่ได้รับการพิสูจน์มายาวนานถึง 24 ปี ถึงจะเป็นคุณภาพแท้ ไม่ใช่คุณภาพจอมปลอมที่ต้องพึ่งพาอาศัยอำนาจบารมีของคนใดคนหนึ่งขึ้นมา แล้วหลอกให้สังคมโหมประโคมว่าตัวเองเก่ง ซึ่งคนประเภทนี้มีมากแต่จะอยู่ไม่ยืน ดังจะเห็นอยู่ทั่วไป

บทเรียนที่เราได้รับจากการทำงานของอำนวย พอจะบอกได้ว่าเป็นนิมิตอันดีที่เราเริ่มเห็นคุณค่าของคุณภาพคน อย่างน้อยที่สุดชาตรี โสภณพนิช ก็ควรจะภูมิใจที่ได้คนอย่างอำนวยร่วมงานด้วย   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us