กลับสู่มาตุภูมิ
ผมกลับมาประเทศไทยในกลางปี 2517 หลังจากใช้ชีวิตเกือบ 11 ปี อยู่ต่างประเทศ ปริญญาโททางประวัติศาสตร์ที่ได้มา ก็คงจะให้อะไรมากไปกว่าการเป็นครูบาอาจารย์ไม่ได้
ในวัยที่ยังไม่เต็ม 27 ดีนัก เมื่อ 9 ปีที่แล้ว พร้อมกับความคิดใหม่ๆ ที่ได้มาจากสหรัฐอเมริกา มันพอจะทำให้คนหนุ่มอย่างผมต้องร้อนในวิชาความรู้มาก
2517 ในขณะนั้นยังเป็นช่วงของระยะเวลาการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ในลักษณะที่คนหนุ่มอย่างผมมองว่าดีขึ้น เป็นครั้งแรกที่ผมมีความรู้สึกว่าสังคมไทยน่าจะมีช่องว่างและโอกาสที่จะให้คนหนุ่มนามสกุลที่ไม่มีใครรู้จัก และไม่มีฐานทางครอบครัวเข้ามาหนุน คงจะมีโอกาสสร้างชื่อเสียงขึ้นมาได้บ้าง
ผมกลับมาถึงบ้านยังไม่ครบอาทิตย์ดีก็ได้งานทำ คนที่ติดต่องานให้ผมคือพี่จุ๋ม บุตรสาวโตของคุณรัตน์ ศรีไกรวิน พี่จุ๋มเป็นพี่สาวของเพื่อนนักเรียนเก่าสมัยมัธยม ชื่อ วันนิวัติ ศรีไกรวิน คนที่ขึ้นปกหนังสือ Hi Class ฉบับปฐมฤกษ์ที่วางไปเมื่อเดือนที่แล้ว
พี่จุ๋มส่งผมไปหา Tasman Smith ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้จัดการของบริษัท ดีมาร์ ที่หาผู้บริหารให้บริษัทต่างๆ Tasman Smith ตอนนี้อยู่บริษัท ดีทแฮล์ม ในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง
Tasman ส่งผมไปให้วิทย์ ลอเรนซ์ ซึ่งเป็นบริษัทกรรมการผู้จัดการบริษัท แอซโซซิเอทเต็ด คอมมิวนิเคชั่น อยู่ชั้น 7 ตึกภาณุณี เป็นบริษัทโฆษณาคนไทยที่กำลังโตวันโตคืน ทำโฆษณาให้สายการบินแอร์สยามและสินค้าอื่นที่มีชื่อ เช่น เยลโล่ เพจเจส แอร์แคเรียร์ ฯลฯ
เพื่อนร่วมงานตอนนั้นก็มีสถิตพงษ์ ลีนาวัติ สถิต กุมาร ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท โฆษณา แคมแพน แบรี่ โอเวนส์ ปัจจุบันเป็นครีเอทีฟ ไดเร็กเตอร์ ของโอกิลวี่ แมทเธอร์
ด้วยเงินเดือนเริ่มต้นที่ 8,500 บาท ผมถูกส่งให้ไปช่วยแอ๊ค หรือสถิตพงษ์ ลีนาวัติ ในฐานะเป็น AE
บริษัท ACC เป็นบริษัทตัวอย่างแห่งหนึ่ง ซึ่งผมยังคงจำได้มาจนทุกวันนี้ของการสร้างบริษัทขึ้นมา โดยวิทย์ ลอเรนซ์
วิทย์เล่าให้ผมฟังว่า เขาเริ่มบริษัทนี้จากห้องเล็กๆ ห้องหนึ่งในตึกแถว แถวสีลม มีคนทำงานไม่กี่คน ตัวเขาเองทำทุกอย่าง ทั้งครีเอทีฟ ติดต่อลูกค้า วางบิล และเก็บเงิน “ผมไปหาลูกค้า ผมต้องนั่งรถเมล์ไปทุกที เพราะต้องประหยัดทุกอย่าง”
การต่อสู้ของวิทย์ได้ผล เมื่อความเอาใจใส่ต่องานมากขึ้น ลูกค้าก็แนะนำกันต่อๆ ไป ในที่สุดโชคของวิทย์ก็เข้ามาหาเมื่อสายการบินแอร์สยามได้ขยายงานอย่างใหญ่โตมโหฬาร ต้องใช้งบโฆษณาร่วม 10 ล้าน ซึ่งเมื่อ 9-10 ปี ที่แล้ว ต้องถือว่าเป็นเงินขนาด 20 ล้านในวันนี้
“ผมได้แอร์สยามมาเพราะเมื่อเขาเล็กๆ ผมบริการเขาเต็มที่ พอเขาเติบโตขึ้นมา คุณวีรชัยก็บอกผมว่า คุณลำบากกับผมมาตลอด ตอนนี้ผมกำลังเริ่มสบาย คุณก็ควรจะสบายด้วย” วิทย์เล่าให้ผมฟัง
นี่เป็นบทเรียนทางธุรกิจเหมือนกัน สำหรับคนที่อยากเจริญเติบโต การเริ่มธุรกิจขนาดเล็กนั้น นอกจากการค่อยๆ สร้างขึ้นมาแล้ว ผู้ประกอบการหรือเจ้าของก็ต้องมีไหวพริบ ปฏิภาณที่ดีพอสมควร ที่จะเก็งกำไรได้ว่า ในบรรดาลูกค้าที่ติดต่อด้วย มีใครบ้างที่มีโอกาสโตได้จะได้โตกับเขาไปด้วยกัน
บริษัท ACC เกิดขึ้นมาได้ในขณะนั้น เพราะวิทย์มีความอดทนและทำงานหนักให้กับลูกค้าทุกระดับ ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ จังหวะพอดีพอเหมาะก็เลยโตขึ้นมา บทเรียนอันนี้ก็น่าจะใช้กับบริษัทใหญ่ได้ว่า ถ้าสนใจแต่ลูกค้าใหญ่ และละเลยลูกค้าเล็กแล้ว การสูญเสียโอกาสที่ดีในอนาคตก็ย่อมมีมากเป็นของธรรมดา
ผมอยู่กับ ACC ได้แค่ 3 เดือนก็ลาออก เหตุของการลาออกก็เพราะวิทย์ ไม่สามารถจะหางานที่ท้าทายให้กับผมได้มากเกินไปกว่าการให้ผมเรียนรู้งานเฉยๆ ซึ่งวิทย์ก็บอกว่า เขามีโครงการหนึ่งที่จะให้ผมเข้าไปทำ ซึ่งต่อมาหลังจากที่ผมออกแล้ว วิทย์ก็เริ่มบริษัทสื่อสารหรรษา ออกหนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทย และหนังสือผู้หญิงรายปักษ์ชื่อ หญิง
ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ของผู้บริหาร ซึ่งจะต้องหาวิธีเก็บรักษาคนหนุ่มไฟแรงเอาไว้ เพราะคนหนุ่มมักจะร้อนวิชา การให้เขาชกลมไปเรื่อยๆ เป็นการเปิดโอกาสให้เขาได้สำรวจภายนอก ที่ดูเหมือนจะตื่นเต้นกว่าคนข้างใน และในที่สุดคนหนุ่มไม่มีความอดทนก็จะลาออกไป
ถ้าผู้บริหารระดับสูงสามารถจะ balance ความต้องการที่ท้าทายของคนหนุ่มกับการฝึกอบรมที่จำเป็นให้อยู่ในสถานภาพที่กำลังพอดีแล้ว ก็จะเป็นประโยชน์กับบริษัทนั้นในแง่ทรัพยากรคน
ในปลาย 2517 แอ๊ค ลีนาวัติ ได้แนะนำให้ผมรู้จักคนหนุ่มที่มีความคิดดี และทันสมัยคนหนึ่ง ชื่อ ณรงค์ เกตุทัต ซึ่งเป็นบุตรชายคุณสนั่น เกตุทัต อดีตปลัดและรัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลัง
ณรงค์มีน้องสาวคนหนึ่งชื่อ สมศรี ลัทธพิพัฒน์ ซึ่งเป็นภรรยาของดำรง อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันเป็นนักการเมืองสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่ในวันนี้
ณรงค์เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ “ประชาธิปไตยรายวัน” หนังสือพิมพ์ที่เป็นขวัญใจของนิสิตและนักศึกษาในช่วงหลัง 14 ตุลาคม
ณรงค์พาผมไปพบคุณดำรง ลัทธพิพัฒน์ ซึ่งขณะนั้นก็เตรียมตัวจะลงสมัครรับเลือกตั้งในต้นปี 2518 คุยกันถูกคอ คุณดำรงก็เลยชวนมาเป็น campain manager ส่วนตัว ความร้อนวิชาที่เคยช่วยหาเสียงในสหรัฐฯ ถึง 2 ครั้งของประธานาธิบดี ประกอบกับเคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวในระดับการเลือกตั้งระดับรัฐ ซึ่งพ่อของเพื่อนสมัครแข่งขันเป็นวุฒิสมาชิก ทำให้ผมมีความกระสัน อยากจะเข้าไปลองวิชากับเขาบ้าง เพียงแต่เวทีเป็นเมืองไทย
ผมถูกคุณดำรงดึงเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพรรคประชาธิปัตย์มากขึ้น จนกลายเป็นว่าต้องช่วยพรรคประชาธิปัตย์ในเรื่องการเลือกตั้งของกรุงเทพมหานครในขณะนั้น
ประชาธิปัตย์ยุคนั้นเป็นยุคของการรวมหลายฝ่าย ซึ่งจะหาพรรคที่มีองค์ประกอบเมื่อปี 2518 นั้น หาได้ค่อนข้างยาก เพราะมีตั้งแต่ศักดินา เช่น ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้า พิสิษฐ์ สนิทวงศ์ มีนายทุน เช่น บุญยิ่ง นันทาภิวัฒน์, ประมุท บูรณศิริ, พิชัย รัตตกุล, เล็ก นานา, สมัคร เจียมบุรเศรษฐ, สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์, ฯลฯ มีนักวิชาการ ข้าราชการ เช่น สาวิตต์ โพธิวิหค, พิสิษฐ์ ภัคเกษม, ดำรง ลัทธพิพัฒน์, แม้แต่กฤษฎา อรุณวงษ์ฯ ก็ถูกดึงตัวเข้ามาช่วยชั่วคราว มีนักการเมืองอาชีพฝ่ายก้าวหน้า เช่น ชวน หลีกภัย และสมัคร สุนทรเวช ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีทีท่าว่าจะมีการแตกหักอันใด ธรรมนูญ เทียนเงิน, สมบุญ ศิริธร และอีกมากที่ผมยังไม่มีเวลานึกอีก
ปัญหาของพรรคประชาธิปัตย์ก็คงจะเป็นปัญหาที่ต่อมาภายหลังทำให้พรรคนี้ต้องแตกแยกออกมา ก็คือ ปัญหาการประนีประนอมจนเกินไปของ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เพียงแค่ผมเข้าไปสัมผัสไม่ถึง 2 เดือน ก็เริ่มเห็นชัดแล้วถึงการแยกกลุ่มออกเป็นกลุ่มเหนือ กลุ่มใต้ กลุ่มอีสาน แม้แต่กลุ่มกรุงเทพก็ยังแยกออกอีกอย่างน้อย 3 กลุ่ม
ผมทำหน้าที่ออกแบบโปสเตอร์หาเสียง ซึ่งครั้งนั้นจะต้องมีการแบ่งแขตโปสเตอร์ที่ออกมาเป็นโปสเตอร์ใหญ่ขนาดหน้าหนังสือพิมพ์ คนออกแบบคือ ธงชัย หรือโต ซึ่งปัจจุบันเป็นอาร์ตไดเร็กเตอร์อยู่บริษัท โอกิลวี่ คุณสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ให้ใช้สีต่างๆ กันแล้วแต่เขต
ปีนั้นโปสเตอร์พรรคประชาธิปัตย์จึงกลายบริษัทโปสเตอร์ที่เด่นที่สุดในบรรดาพรรคทั้งหลาย
นอกจากนั้นแล้ว ผมก็มีหน้าที่ brief คุณดำรงถึงปัญหาต่างๆ วิธีตอบคำถาม และการพูดถึงปัญหาในการหาเสียงทุกๆ ครั้ง
ผมสนุกกับการเตรียมการเลือกตั้งได้ไม่นานก็ต้องเบนเข็มเปลี่ยนอาชีพอีก เพราะณรงค์ เกตุทัต พอทราบว่าผมเคยเป็นบรรณาธิการบริษัทหนังสือพิมพ์ในมหาวิทยาลัยตอนผมเรียนต่างประเทศก็ชวน และขอร้องให้เข้าไปเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “ประชาธิปไตย”
ด้วยความร้อนวิชาเช่นเคย ผมคิดเอาเองง่ายๆ ว่างานนี้เราเคยทำมาก่อน คงจะไม่ยาก การคิดง่ายๆ นี้ ทำเอาผมเลือดตาแทบกระเด็นทีเดียว
หนังสือพิมพ์ “ประชาธิปไตย” เป็นองค์กรขนาดใหญ่แห่งแรกในชีวิตการทำงานของผม ที่ได้กระโดดเข้าไปจับ และงานชิ้นนี้ให้บทเรียนแก่ผมหลายประการ
ผมเข้าไปในหนังสือพิมพ์ “ประชาธิปไตย” อย่างชนิดหัวเดียวกระเทียมลีบ ผมเข้าไปพร้อมตั้งเป้าหมายที่ต่างกัน 3 ประการ
เป้าหมายแรก คือเป้าหมายของเจ้าของหนังสือพิมพ์ ซึ่งต้องการให้ผมเข้าไปกำจัดคนทำหนังสือที่เจ้าของคิดว่า มีหัวเอียงซ้าย เพราะคุณสนั่นเป็นอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ มีเพื่อนฝูงในวงการทหารและพลเรือนมาก และขณะนั้น หนังสือพิมพ์ “ประชาธิปไตย” เป็นสื่อมวลชนที่เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงในทุกๆ ด้าน อย่างมากที่สุดคุณสนั่น ในฐานะเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ เพราะเป็นผู้ออกเงินก็ไม่ต้องการอะไรที่มันจะเปลี่ยนแปลงรวดเร็วนัก แต่ก็ไม่สามารถจะไปสั่งลูกชายได้ เพราะคุณณรงค์จะไม่ฟัง
เป้าหมายที่ 2 คือเป้าหมายของคุณณรงค์ ซึ่งต้องการจะใช้เวลาของตัวเองกับการจัดการเพื่อขยายหนังสือพิมพ์ และต้องการจะปรับปรุงโครงสร้างให้ดีขึ้นกว่าเก่า ที่สำคัญที่สุด คุณณรงค์ได้พบคนที่คิดว่าจะเป็นกันชนระหว่างตัวเขากับกองบรรณาธิการและกับครอบครัวเขาแล้ว
เป้าหมายสุดท้าย คือเป้าหมายของผมเอง ที่เข้าไปเพราะเห็นว่ามันเป็นงานที่ท้าทาย
ผมทำผิดมาก ที่ไม่ศึกษาปัญหาของหนังสือพิมพ์นี้ก่อนที่จะกระโดดเข้าไป นอกจากผมจะใหม่กับหนังสือพิมพ์ภาษาไทยแล้ว แม้แต่กับประเทศไทยเองผมยังเพิ่งเริ่มจะเรียนรู้ หลังจากที่จากไปถึง 10 ปี
และนี่เป็นข้อเตือนใจของคนหนุ่มที่ต้องการความท้าทายทั้งหลาย ว่าควรดูตาม้าตาเรือเสียก่อนที่จะเข้ามาจับงานที่ท้าทาย
จริงอยู่งานท้าทายจะมีแรงดึงดูดข้างในให้เราเข้าไปทำโดยไม่เกรงกลัวอะไร แต่การศึกษาจะให้ประโยชน์กับเราในด้านรู้ซึ้งถึงปัญหาที่แท้จริง และเราก็สามารถจะตั้งเงื่อนไขเพิ่มเติมกับเจ้าของแรงงานได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับเราโดยตรง
ในที่สุดปัญหาของหนังสือพิมพ์ “ประชาธิปไตย” ขณะนั้น แบ่งออก เป็น 3 ปัญหาหลักๆ
ปัญหาแรก คือปัญหาของเนื้อหา ซึ่งมีความรุนแรง ก้าวร้าว และโยงไปถึงปัญหาของกองบรรณาธิการ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนหนุ่มที่เพิ่งจบมาจากมหาวิทยาลัย จากการที่ขาดแกนนำของกองบรรณาธิการทำให้ลักษณะข่าวจะออกไปในอารมณ์ของผู้ทำข่าว การพาดหัวข่าว หรือเนื้อข่าว จะเป็นเรื่องการบรรยายความรู้สึก มากกว่าการนำเหตุการณ์มาเสนอ ว่ากำลังมีอะไรเกิดขึ้น จึงทำให้หนังสือพิมพ์ “ประชาธิปไตย” ยุคนั้นดูเหมือนเป็นหนังสือซ้ายจัด ประกอบกับบทบรรณาธิการในขณะนั้นไม่ได้มีแนวทางของหนังสือ นอกจากเป็นแนวทางส่วนตัวของผู้เขียนเอง ทำให้บางครั้งบทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์กับบทบรรณาธิการของวิทยุเสียงประชาชนของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมีลักษณะคล้ายกัน
ปัญหาที่สอง คือปัญหาการตลาดและโฆษณา หนังสือพิมพ์ “ประชาธิปไตย” เริ่มต้นด้วยการเป็นบริษัทผลิตหนังสือพิมพ์ตัวอย่างที่ปฏิวัติหนังสือพิมพ์เมืองไทย ในยุคแรกนั้นการตลาดและการโฆษณาไม่มีระบบ บุคลากรในแผนกการตลาดและโฆษณาจึงเป็นบุคลากรที่พื้นฐานการศึกษาและประสบการณ์ขายอย่างมืออาชีพจริงๆ ต่ำอยู่มาก เมื่อถึงจุดจะต้องขยายตัว ไม่สามารถจะพึ่งพาอาศัยบุคลากรเดิมได้
ปัญหาสุดท้าย คือปัญหาของเจ้าของ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ ระบบการเงิน และเงินทุนหมุนเวียนไม่ได้ถูกจัดให้มีระบบ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการทำงานแบบวันต่อวัน ตลอดจนนโยบายของเจ้าของซึ่งมีสองฝ่าย ฝ่ายแรกก็คือ คุณสนั่น เกตุทัต และอีกฝ่ายหนึ่งคือ คุณณรงค์ เกตุทัต มักจะขัดแย้งและไม่มีความคงเส้นคงวา
ปัญหากองบรรณาธิการ
ผมเข้าไปในฐานะหน้าใหม่ที่สุดในวงการ ไม่มีการยอมรับกันทันที มีการคุมเชิงกันไปคุมเชิงกันมา พนักงานในกองบรรณาธิการเข้าใจว่าผมเป็นตัวแทนนายทุน และเมื่อทำงานไปได้สักพัก ถ้าผมเริ่มจะเรียกร้องบางสิ่งบางอย่างให้กับเจ้าหน้าที่ กอง บ.ก เจ้าของจะพูดกันเองว่า ทำไมผมไม่เข้าข้างนายทุน
ผมไม่สามารถจะทำงานในกองบรรณาธิการให้บรรลุเป้าหมายได้เต็มที่ตามที่ได้ตั้งไว้ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น
ผมอารมณ์อ่อนไหวไปกับเหตุการณ์และความเคลื่อนไหวของเหตุการณ์ ก็เลยทำให้เป้าหมายที่วางไว้เฉไป
คนเก่าในกองบรรณาธิการพยายามจะจ้องจับผิดว่า ผมจะเข้าข้างนายทุนหรือไม่ ก็เลยทำให้การรื้อโครงสร้างบางประการที่ตั้งไว้ต้องระงับไป แทนที่จะเดินหน้าและทำงานตามโครงการที่วางเอาไว้ เนื่องจากปัญหาของกองบรรณาธิการในขณะนั้น เป็นปัญหาของการตั้งป้อมกับนายทุนอยู่แล้ว สาเหตุเพราะกองบรรณาธิการเรียกร้องสวัสดิการต่างๆ แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง ฉะนั้นทุกคนก็จะยอมรับผมได้ ถ้าผมสามารถจัดการนำสิ่งที่เขาเรียกร้องมาให้เขาได้ เช่น การจ่ายเงินเดือนให้ตรงเวลา ค่าล่วงเวลาเบิกได้ไม่ช้า ค่ารถไปทำข่าวสามารถเบิกได้ทันที รวมทั้งสวัสดิการและอุปกรณ์บางประการสำหรับเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ในขณะเดียวกันบทบาทที่ผมเข้าไปนั้น เดิมทีก็ตั้งใจจะเป็นบทบาทการนำทางของแนวหนังสือพิมพ์ ตลอดจนการปรับปรุงรูปเล่ม ผมก็เลยต้องมาวนอยู่ในวังวนของปัญหาที่เจ้าของควรจะแก้ไขด้วยตัวเอง มากกว่าที่จะใช้ผมเป็นกันชน นี่คือข้อผิดพลาดประการสำคัญข้อหนึ่งที่ไม่สามารถจะทำงาน ให้บรรลุเป้าหมายได้เต็มที่
เป้าหมายของการตลาดและโฆษณา
ในการปรับปรุงการตลาดและโฆษณา คุณณรงค์ได้รับคุณเชสเตอร์ จอมิน คนจีนสัญชาติพม่า ที่มาทำมาหากินอยู่เมืองไทยกับหนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขาย ที่หนังสือพิมพ์ ประชาธิปไตย
การรับคุณเชสเตอร์มาคือการจุดไฟขึ้นมาอีกกองหนึ่ง ซึ่งต่อมาภายหลังก็จะปะทุ และเผาร่วมกับไฟกองอื่น ทำให้ทุกอย่างต้องพังพินาศไป
แนวทางการทำงานของคุณเชสเตอร์ เป็นแนวการทำงานที่ได้รับการฝึกจากฝรั่ง มีระบบอย่างดีมาก จะเปรียบก็เหมือนกับเอาผู้จัดการบริษัท เชลล์ มาเป็นอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี
คุณเชสเตอร์ พอเริ่มงานก็ใช้ระบบฝรั่งที่ต้องมีการทำรายการขายทุกวัน มีการจี้แบบติดตัว มีการติดตามผลงาน ตลอดจนการตั้งเป้าหมายรายได้ รวมไปถึงการบีบบังคับทางจิตวิทยา เพื่อให้ขายตามเป้า
เมื่อมีระบบการทำอะไรหลายอย่างที่ง่ายก็เริ่มหมดไป ประกอบกับคนที่คุณเชสเตอร์เอาเข้ามาใหม่ก็ได้รับเงิ นเดือนแบบฝรั่ง ซึ่งต่างกับเซลส์เก่า ซึ่งได้รับค่อนข้างต่ำ ก็เลยมีความขัดแย้งกันมาก ถึงกับมีเซลส์ที่ไม่พอใจคนหนึ่งเอาเก้าอี้ตีคุณเชสเตอร์เมื่อมีความขัดแย้งกัน
ในช่วงนั้นถ้าคุณณรงค์กล้าพอที่จะโละฝ่ายขายเก่าออกให้หมด และให้เชสเตอร์ตั้งทีมขึ้นมาใหม่ บางทีปัญหาอาจจะไม่ลุกลามทีหลังก็ได้
คุณเชสเตอร์ก็เป็นอีกคนหนึ่งซึ่งอยู่ในภาวะคล้ายๆ กับผม จะต่างก็ตรงที่คุณเชสเตอร์มีปัญหาเฉพาะการขายเท่านั้น แต่ผมจะต้องรับเละไปหมด ตั้งแต่เรื่องเนื้อหา คนในกองบรรณาธิการ เจ้าของ ตลอดจนถึงโฆษณาขายไม่ได้ ก็จะตกมาที่เนื้อหา เพราะเนื้อหาซ้ายจัด ทำให้คนไม่ลงโฆษณา
ปัญหาเจ้าของและนายทุน
ปัญหาที่เป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกคนในวงการธุรกิจต้องเจอและจำเป็นต้องเรียนรู้วิธีแก้ปัญหาให้ดี
หนังสือพิมพ์ ประชาธิปไตย ยุคหลัง 14 ตุลาคม เป็นหนังสือพิมพ์ยุคที่ความจริงแล้วมีจุดยืน 2 จุดยืน
จุดยืนแรก คือ จุดยืนของคุณสนั่น เกตุทัต ซึ่งได้แรงหนุนมาจากคุณดำรง ลัทธิพิพัฒน์ และคุณสมศรี บุตรสาว ที่เห็นว่า เมื่อเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์แล้วหนังสือพิมพ์ ก็ควรจะ serve เจ้าของ เช่น ควรจะตีคุณสมัคร สุนทรเวช ทั้งนี้เพราะคุณสมัคร เป็นผู้ขุดคุ้ยเรื่องซุงเถื่อน ทำให้คุณสนั่นโดนตั้งกรรมการสวบสวน และคุณสมัครก็เป็นคู่แข่งคุณดำรงในพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้น นอกจากนั้นแล้ว หนังสือพิมพ์ ประชาธิปไตย ก็ควรจะออกมาต่อสู้แทนคุนสนั่นที่ถูกกล่าวหาในขณะนั้นอย่างเต็มที่ และต้องเป็นฐานทางการเมืองให้คุณดำรงด้วย
จุดยืนที่สองคือ คือ ของคุณณรงค์ เกตุทัต เป็นลูกชายคนเดียวของเจ้าของ และก็เป็นผู้สร้างหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย ขึ้นมา คุณณรงค์มีความคิดทางหนังสือพิมพ์ดีมาก แต่คุณณรงค์เป็นคนที่เอาแต่ใจตัวเองมากไปหน่อย และโลเล คุณณรงค์จะไม่ค่อยถูกกับคุณพ่อและคุณแม่ ฉะนั้นทุกอย่างที่เจ้าของแนะนำให้ผมทำ คุณณรงค์ ก็จะมาสั่งว่าไม่ให้ทำตาม
ในขณะเดียวกัน ถ้าฝ่ายโฆษณาบอกว่า โฆษณาขายไม่ได้ คุณณรงค์ก็จะมาบอกว่าหนังสือพิมพ์จะเป็นหนังสือพิมพ์คอมมิวนิสต์ไปแล้ว เพราะไม่มีใครกล้าลงโฆษณา พอผมเริ่มปรับให้ลดข่าวนิสิตนักศึกษาลงไป ฝ่ายการตลาดบอกว่ายอดขายนักศึกษาแถวธรรมศาสตร์ จุฬา ตกเป็นพันๆ เล่ม คุณณรงค์ก็จะสั่งให้เอาข่าวนิสิตนักศึกษาขึ้นตามเดิม และให้มีมากกว่าเก่า เพื่อดึงเอาที่สูญเสียไปคืนมาด้วย
เมื่อเกิดปัญหาขัดแย้งเช่นนี้เกิดขึ้น การวางแผนระยะสั้นและยาวก็ขาดการสนับสนุนด้านการเงิน และการให้อำนาจทำงาน
เพราะในขณะนั้น ถ้าผมจะปรับปรุงหนังสือพิมพ์ ประชาธิปไตย ให้เป็น บางกอกโพสต์ ภาษาไทย สำหรับคนชั้นปัญญาชน ตลอดจนมีหน้าธุรกิจสัก 2 หน้า ก็ย่อมหมายถึงการที่เจ้าของต้องสูญเสียตลาดส่วนนิสิตนักศึกษาไปอีกอย่างน้อย 1 ปี ถึงจะสามารถดึงกลุ่มใหม่เข้ามาแทนที่
ซึ่งก็เป็นไปไม่ได้ เพราะหนังสือพิมพ์ ประชาธิปไตย ขณะนั้นอาศัยการขายวันต่อวัน เพื่อเอาเงินเอาทองมาใช้จ่าย
การจะลงทุน เพื่อ reposition หนังสือพิมพ์ใหม่ การสนับสนุนทางการเงินก็ต้องดีพอสมควร
คุณสนั่นสามารถจะให้การสนับสนุนทางการเงินได้ แต่ก็ไม่ให้ ซึ่งผมเข้าใจ เพราะเมื่อเขาเห็นว่าพนักงาน ไม่สามารถจะทำหนังสือให้ออกมาในแบบที่เขาต้องการ แล้วทำไมเขาจะต้องไปหนุน ซึ่งก็เป็นสัจธรรมทั่วๆ ไป ไม่เฉพาะนายทุนเจ้าของหนังสือพิมพ์เท่านั้น แต่รวมไปถึงธุรกิจทุกอย่างด้วย
คุณณรงค์เองก็ไม่ได้สนใจที่จะหา financing ด้านอื่น เพราะเขามีเหตุผลว่า เขาเกลียดธนาคาร ฉะนั้นเขาจะดิ้นรน ของเขาอยู่เช่นนี้ตลอดไป จนกระทั่งซึ่งผมรู้เรื่อง ทาง finance เลยตัดสินใจไปหาธนาคารแหลมทอง ที่ซอยอโศก จากการแนะนำของคุณบุญยิ่ง นันทาภิวัฒน์ แต่ผมก็ทำอะไรมากไม่ได้ เมื่อธนาคารต้องการหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ทราบกันว่าทั้งคุณณรงค์และคุณสนั่นไม่มีความปราถนาที่จะทำเช่นนั้น
ผมอยู่หนังสือพิมพ์ ประชาธิปไตย ได้หนึ่งปี เสียเวลามากกับความขัดแย้งภายในครอบครัว เพราะต้องมัวมาเป็นกันชนกับคนที่ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่
หนึ่งปีที่ผมอยู่หนังสือพิมพ์ ประชาธิปไตย สอนผมหลายอย่างจนทุกวันนี้ เช่นว่าอิทธิพลหนังสือพิมพ์รายวันเป็นของจริง เมื่อตอนผมทำหนังสือพิมพ์อยู่ต่างประเทศ ผมไม่เคยคิดว่าบทบาทของนักหนังสือพิมพ์จะมีเกินไปกว่าผู้เข้าไปหาเหตุการณ์ แล้วรายงานเหตุการณ์กับผู้อ่านให้เที่ยงธรรมที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผลประโยชน์สำหรับนักหนังสือพิมพ์ในสายตาผมแล้ว นอกจากเงินเดือนที่ได้รับก็ไม่น่าจะมีอะไรมากไปกว่านี้
แต่ผมก็ผิดถนัด ผมยังจำได้ว่า ผมไม่เข้าใจเป็นอย่างมากที่สุดเมื่อนักข่าวบอกผมว่า ไปอาบอบนวดที่ชวาลา ก็จะได้ลด 50% เพียงแต่แสดงบัตรนักข่าว และผมยังทำอะไรที่หลายคนเขาหัวเราะในความโง่ของผม ด้วยการส่งจดหมายไปให้ผู้จัดการชวาลา บอกว่าถ้านักข่าว ประชาธิปไตย ไปก็ขอให้คิดเต็มราคา
ในช่วงต้น ปี 2518 หนังสือพิมพ์ ประชาธิปไตย กำลังต่อสู้เรื่องเท็มโก้ ซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติที่มาได้สัมปทานผูกขาดการขุดดีบุกที่พังงาอย่างไม่ชอบธรรม ผมยังจำได้ว่าวันแต่งงานของผม มีตัวแทนของบริษัท บิงลิงตัน จำกัด ซึ่งอยู่ในเครือบริษัทเชลล์มาในงาน แล้วเสนอให้ผมไปเที่ยวภูเก็ต และต่อไปสิงคโปร์ โดยจะออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด ผมประหลาดใจว่าทำไมเขาต้องทำเช่นนั้น ผมยอมรับว่าโง่อย่างบริสุทธิ์ จริง ๆ ในเรื่องนี้ แต่นั่นมันก็เก้าปีที่แล้ว
ผมจำได้ว่า ถูกล็อบบี้หลายๆ เรื่องทีเดียว แม้กระทั่งเรื่องการบินไทยทะเลาะกับแอร์สยาม คุณปีย์ มาลากุล ได้นัดให้ผมพบกับกัปตันพร้อม ณ ถลาง ทานข้าวเที่ยงด้วยกัน ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจว่า คุณปีย์ซึ่งเคยได้รับการสนับสนุนจากคุณวีรชัย วรรณีกกุล แห่งแอร์สยาม และได้เงินทองมาทำหนังสือรายสัปดาห์ชื่อ ชีวิตมหาชน จู่ๆ ทำไมถึงกลายมาเป็นที่ปรึกษาของการบินไทย และผมเพิ่งมารู้เรื่องตอนหลังว่าเป็นเพราะคุณวีรชัยเขาเลิกสนับสนุนหนังสือ ชีวิต มหาชน คุณปีย์ มาลากุล ก็มาเป็นกุนซือให้กับการบินไทย ป้อนข้อมูลแอร์สยาม ที่ตัวเองรู้เรื่องจากการที่อยู่กับคุณวีรชัยมาก่อน เพื่อให้การบินไทยสู้กับแอร์สยามในแง่ของการประชาสัมพันธ์ ซึ่งขณะนั้นต้องห้ำหั่นซึ่งกันและกัน
ภายหลัง คุณปีย์ มาลากุล ก็บอกกว่าจะส่งบทความแนวความคิดที่ว่าประเทศควรมีสายการบินสายเดียว นั่นก็คือการบินไทยมาเพื่อให้ลงเรื่อยๆ และผมก็รู้สึกว่าตำแหน่งที่ปรึกษาการบินไทยของคุณปีย์นี้มีสิทธิในการได้ตั๋วบิน โดยไม่ต้องเสียเงิน แต่ไม่ทราบว่าได้เงินเดือนด้วยหรือเปล่า
การบริหารกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รายวัน นักหนังสือพิมพ์เป็นชนกลุ่มหนึ่งที่ลักษณะของงานที่ทำให้ผู้ทำงานในสาขาวิชาชีพนี้เป็นผู้ที่ sensitive ต่อเรื่องราวต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในกองบรรณาธิการ ในขณะที่องค์กรอื่นอาจจะให้ซองขาวพนักงานคนใดคนหนึ่งออกได้ง่ายๆ โดยไม่มีปฏิกิริยาโต้ตอบ แต่สำหรับหน่วยงานหนังสือพิมพ์แล้ว เป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อน และต้องทำกันอย่างมีขั้นตอน ที่จะต้องแสดงความเป็นประชาธิปไตยพอสมควร ที่ผมพูดนี่หมายถึงหนังสือพิมพ์ที่ไม่ใช่หนังสือพิมพ์ตลาด การที่ต้องยุ่งเกี่ยวกับข่าวและต้องเก็งเหตุการณ์ได้ล่วงหน้า ทำให้นักหนังสือพิมพ์มักจะรู้ทันทีว่าฝ่ายบริหารต้องการอะไร
และนี่คือข้อผิดพลาดของฝ่ายบริหารของหนังสือพิมพ์ ประชาธิปไตย ที่ละเลยไม่ได้ ให้กองบรรณาธิการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจปัญหาหลักต่างๆ ส่วนใหญ่แล้วจะคุยกันเพียง 3-4 คน แล้วออกมาเป็นประกาศให้ทำตาม ซึ่งจะได้รับการต่อต้านอย่างเงียบๆ
การตั้งความคิดว่านักหนังสือพิมพ์กลัวตกงาน ในสมัยนั้นเป็นการตั้งสมมุติฐานที่ผิด เพราะอาชีพหนังสือพิมพ์เป็นอาชีพที่ต้องกัดก้อนเกลืออยู่แล้ว คนที่เข้ามาในวงการนี้มักจะเลือกเดินมาเองเพราะใจชอบ ฉะนั้นหากมีอะไรที่ตัวเองไม่พอใจแล้ว การลาออกจากบริษัทเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งถ้าเป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรมแล้ว การยกทีมออกทั้งทีมก็มักจะมีให้เห็นอยู่เสมอๆ
ไม่มีอะไรที่จะดีไปกว่าการใช้ความจริงในการบริหารงานหนังสือพิมพ์ และผู้บริหารเองก็ต้องมีคุณสมบัติที่รักความเป็นธรรมในสังคม และมีความยุติธรรมด้วย ถึงจะสามารถทำให้เพื่อนร่วมงานมีความเคารพในตัวผู้บริหาร
ในขณะเดียวกันเจ้าของหรือนายทุนหนังสือควรที่จะรู้ดีว่าว่าตัวเองต้องการให้หนังสือพิมพ์ของตัวออกมาในรูปแบบใดอย่างแจ่มชัด แทนที่จะพูดแบบกำกวมว่า “ผมต้องการให้เป็นหนังสือพิมพ์ที่ดี ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม” หรือ “ทำไปในแนวที่ตลาดต้องการ” หรือ “ผมเชื่อมือคุณ ทำไปตามสบาย” เจ้าของที่ชอบพูดแบบนี้ ร้อยทั้งร้อยมักจะมีข้อขัดแย้งอย่างหนักกับคนทำหนังสืออย่างแน่นอน
คนทำหนังสือรู้ดีว่าเจ้าของต้องการให้หนังสือออกมาในรูปแบบใดแล้ว คนทำหนังสือก็สามารถจะตัดสินใจว่าตัวเองต้องการนโยบายเช่นนี้หรือเปล่า
เจ้าของหนังสือพิมพ์โดยส่วนมากแล้วจะเป็นบริษัท กลุ่มคน ที่ต้องการความโด่งดังของบางคนที่ต้องการใช้หนังสือพิมพ์เป็นฐานอิทธิพลของตัวเอง บางคนเข้ามาหนุนหนังสือพิมพ์ เพราะตัวเองมีความชั่วร้ายมาก มีน้อยมากที่กระโดดเข้ามาทำหนังสือ เพราะมีความเชื่อมั่นว่ากิจการหนังสือพิมพ์เป็นธุรกิจที่ดี และมีโอกาสเจริญเติบโตขึ้นมาได้ แต่ธุรกิจหนังสือพิมพ์เป็นธุรกิจที่ต้องใช้ความอดทนมากเป็นพิเศษ
ในยุคหนังสือพิมพ์ “ประชาธิปไตย” ที่ผมเข้าไปบริหาร ก็มีเพื่อนเข้าร่วมงานหลายคน ที่ทุกวันนี้ก็ก้าวหน้าไปตามครรลองของตัวเอง เช่น จันทรา ชัยนาม เคยเขียนข่าวสังคม ใช้นามปากกาว่า “ขุนทอง” และทำข่าว กรุงเทพฯมหานคร หน้า 3 ปัจจุบันจันทราเป็นดาราภาพยนตร์ นักจัดรายการ ชื่อดัง สุวัฒน์ ทองธนากุล เป็นหัวหน้าข่าวในประเทศ ทำหน้าหนึ่ง สุวัฒน์ ทุกวันนี้เป็นบรรณาธิการนิตยสาร ธุรกิจการเงิน การธนาคาร ซึ่งสุวัฒน์ได้ความคิดมาจากหนังสือการเงิน ธุรกิจธนาคาร สมัยที่ผมเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทแอ๊ดวานซ์มีเดีย และได้เอาสุวัฒน์มาร่วมงานด้วย
นอกจากนั้น ก็มีเช่น เธียรชัย ลาภานันท์ ซึ่งเป็นนักเขียนคอลัมน์ “นอกนคร” ภายหลังเขียนคอลัมน์ “เทียนทอง กระทุ้งฟ้า” ที่สำนวนสวิงสวาย ปัจจุบันนอกจากเธียรชัยจะกำกับหนังแล้วก็ยังเป็นบรรณาธิการนิตยสาร กลางแจ้ง
อนุพันธ์ สินาคม ตอนนี้เป็นผู้จัดการประชาสัมพันธ์ธนาคารทหารไทย
ประสพสุข ภุชงค์เจริญ ตอนนี้เป็นบรรณาธิการบริหารนิตยสาร อาหารภัตตาคารและโรงแรม เสถียร จันทิมาธร อยู่มติชน ไพบูลย์ สุขสุเมฆ อยู่เข็มทิศ และยังอีกหลายคนที่ไปศึกษาต่อต่างประเทศ
การทำงานหนังสือพิมพ์เป็นการทำงานเพื่ออุดมการณ์ ส่วนอุดมการณ์ของแต่ละคนจะเป็นซ้ายตกขอบ ขวาตกขอบ หรือหัวก้าวหน้าก็ตาม เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล การแก้ปัญหาของสังคมในยุคนั้น สำหรับพวกนักหนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะแนวทางหนังสือพิมพ์ ประชาธิปไตย เป็นการแก้ปัญหาที่ค่อนข้างจะใจร้อน และรีบด่วน
อาจจะเป็นเพราะความฟอนเฟะของสังคมมีมาก และพวกนี้จะรอไม่ได้ อีกประการหนึ่ง ความขัดแย้งในช่วงนั้น ได้แสดงให้เห็นถึงจิตใจของคนไทย ซึ่งจะถูกเปิดเผยมาพบเสรีภาพอย่างเต็มที่ พวกที่ถูกกดขี่มาตลอดก็เลยพุ่งพรวดขึ้นมาอย่างอดรนทนไม่ได้
ในขณะพวกที่เป็นอภิสิทธิ์ชนในระบบราชการหรือวงการธุรกิจ เมื่อเป็นการพุ่งขึ้นมาอย่างแรงสนับสนุนเสรีภาพ และประชาธิปไตยของสังคม แทนที่จะทำความเข้าใจว่าเป็นวิวัฒนาการส่วนหนึ่งของสังคม กลับไปเหมาว่าทุกคนที่เรียกร้องเสรีภาพเป็นตัวบ่อนทำลาย
ความขัดแย้งลักษณะนี้มีให้เห็นอยู่เสมอ แม้กระทั่งในหมู่สื่อสารมวลชนก็มีการแบ่งบริษัทหนังสือพิมพ์ฝ่ายซ้าย และหนังสือพิมพ์ฝ่ายขวา
การไปทำข่าวระหว่างนักข่าวก็จะมีการแบ่งแยกกัน แม้แต่การพาดหัวข่าวหน้าหนึ่ง ก็จะเห็นได้ชัดเจนถึงแนวความคิดที่แตกต่างกัน เช่น กรณีการสไตร์ค หนังสือพิมพ์เช่น ประชาธิปไตย ก็จะพาดข่าวว่า “นายทุน จ้างอันธพาล ถล่มคนงาน” ในขณะที่หนังสือพิมพ์ เช่น ดาวสยาม ก็จะพาดว่า “คนงานยื่นคำขาด จะเผาโรงงาน ถ้าไม่ตกลง”
ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาของการเป็นมืออาชีพในสาขางานหนังสือพิมพ์ที่สังคมไทยยังขาดอยู่มาก
ผมยังจำได้ว่า วันที่กระทิงแดงจะบุกเข้าไปเผาธรรมศาสตร์ เพราะมีการปล่อยข่าวว่าธรรมศาสตร์ซ่องสุมผู้คนและอาวุธไว้ จากการพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์ฝ่ายขวาและการเขียนแนะของคอลัมนิสต์ ผมได้เข้าไปเตร็ดเตร่ข้างในธรรมศาสตร์ เพื่อดูเหตุการณ์ มีนักข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศ 2-3 คนเข้าไปร่วมด้วย พอใกล้เวลาที่เราจะออก เพราะเป็นเวลาที่กระทิงแดงประกาศว่าจะบุกเข้ามา ทุกคนพากันหลบออก ยกเว้นผม
ที่อยู่ต่อไม่ใช่ พราะความกล้าหรอก แต่เป็นเพราะอยากจะรู้ว่าเขาจะค้นพบอาวุธจริงหรือเปล่า ความจริงก็กลัวมาก เพราะธรรมศาสตร์เวลานั้นว่างไปหมด มีแต่สุนัขวิ่งเล่นอยู่ 2-3 ตัว สนามฟุตบอลซึ่งเคยมีนักศึกษาซ้อมรักบี้ ฟุตบอล หรือนั่งเล่นข้างสนาม ว่างเปล่า ทางเข้าหอประชุมธรรมศาสตร์ ที่เคยคึกคักไปด้วยคนหนุ่มสาวอนาคตของชาติ ที่เข้ามาเรียนธรรมศาสตร์ มีแต่เสาหินที่ค้ำหอประชุม ทางรถขึ้นลาดซีเมนต์ไม่มีรองเท้าย่ำ มีแต่เวลาที่ผ่านไป
ผมยืนอยู่ข้างหอประชุมเล็ก กำลังจับตามองพวกกระทิงแดงที่ดาหน้าเข้ามา ผมยืนอยู่อย่างสงบได้ไม่นาน ก็ต้องกระโดดหลบเข้าข้างเสา เพราะกระทิงแดง 2-3 คน ยิงเข้าใส่ตรงที่ยืนอยู่ สักพักก็มีระเบิดพลาสติกขว้างตามเข้ามาเป็นพรวน ผมตกใจมาก เพราะเกิดมายังไม่เคยมีใครยิงใส่ รีบวิ่งไปทางด้านหลังตึกนิติศาสตร์ที่มีรั้วติดกับพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ก็พอดีฝูงกระทิงแดงที่ปีนรั้วธรรมศาสตร์เข้ามาแล้วกระจัดกระจายไปตามอาคารต่างๆ มีกระทิงแดงหลายคนเห็นผม เผอิญผมสะพายกล้องด้วย กระทิงหนุ่มคนหนึ่งถามผมว่ามาจากหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ซึ่งในช่วงนั้นเป็นฝ่ายเชียร์กระทิงแดงใช่ไหม? ผมก็บอกว่าใช่ กระทิงหนุ่มคนนั้นก็เลยบอกว่า “พี่คอยดูนะ เผามันได้ ผมจะเผามัน ไอ้มหาวิทยาลัยคอมมิวนิสต์” ผมจำได้ว่าผมสะอึกและเจ็บช้ำมากที่ได้ยินเด็กหนุ่มคนหนึ่ง ซึ่ง ก็เป็นอนาคตของชาติเหมือนกับเด็กหนุ่มที่เรียนอยู่ธรรมศาสตร์ แต่เด็กหนุ่มสองคนกำลังถูกเสี้ยมเขาให้ชนกัน
วันนั้น ด้วยตัวผมเอง ผมก็ได้เห็นการทำลายทรัพย์สินของชาติที่มาจากภาษีอากรของประชาชนกันอย่างมันมือ สรุปแล้วก็คือ การเข้าไปทุบกระจกทำลายสิ่งของ มิใช่การเข้าไปค้นว่ามีอาวุธซ่องสุมหรือเปล่า และวันรุ่งขึ้น หนังสือพิมพ์ ประชาธิปไตย ก็ได้ภาพเหตุการณ์การทำลายธรรมศาสตร์ลงหน้าหนึ่งอย่างไม่เกรงกลัว
บทเรียนนี้ สอนให้ผมระลึกอยู่เสมอแม้ถึงวันนี้ว่า ถ้าสังคมใดมีสื่อมวลชนที่รายงานเท็จให้กับสังคมแล้ว ในที่สุดเราจะมีชีวิตอยู่ในภาวะของการโกหกหลอกลวง การตัดสินใจของสังคมก็จะตัดสินใจที่ผิด และในที่สุดแล้ววันใดที่สมาชิกสังคมจับโกหกผู้ปกครองได้ ย่อมหมายถึงการล่มสลายของโครงสร้างสังคมนั้นอย่างย่อยยับ มันจะต้องเกิดขึ้นแน่ๆ เพียงแต่ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่เท่านั้นเอง
ความจริงแล้ว ในเวลาหนึ่งปีที่ผมบริหารหนังสือพิมพ์ ประชาธิปไตย ผมได้พบปะเหตุการณ์ที่พลิกคำสอนทางรัฐศาสตร์ ทางศีลธรรม ตลอดจนคำแถลงของรัฐบาล จากหน้ามือเป็นหลังมืออีกมาก
ผมเคยไปนั่งคุยกับท่านผู้ว่าฯ ธวัช มกรพงษ์ ในสมัยที่ท่านยังเป็นผู้ว่าฯ อยู่พังงา คุยกันบนโต๊ะกินข้าวในห้องเงียบๆ มีไฟหรี่ และมีปืนกลวางบนโต๊ะกินข้าวด้วย เพราะท่านผู้ว่าฯ บอกว่า กรณีเท็มโก้ในขณะนั้นมีคนพยายามฆ่าท่านผู้ว่าฯ และคนพวกนั้นก็เป็นพวกในเครื่องแบบ
ผมเคยถูกคุณสนั่น เกตุทัต พาไปพบพลตรี สุดสาย หัสดิน ที่บ้านพักแถวเกียกกาย เพราะคุณสนั่นเป็นห่วงว่าคุณสุดสายจะเอากระทิงแดงมาถล่มโรงพิมพ์ประชาธิปไตย ถ้าหนังสือพิมพ์ยังขืนต่อต้านกระทิงแดงอยู่ และในบ้านคุณสุดสายก็ได้เห็นทหารและตำรวจยศนายพันวิ่งเข้าวิ่งออกตลอดเวลา แสดงให้เห็นถึงขอบข่ายอำนาจของผู้ปกครองที่แท้จริงที่สามารถสร้างอิทธิพลมืดขึ้นมาเองได้
ผมเคยบอกให้นักเขียนของหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตยคนหนึ่งหยุดเขียน เพราะเจ้าของเขาไม่ต้องการให้คนคนนี้เขียน และนักเขียนคนนี้บอกผมว่า เขารักหนังสือพิมพ์ฉบับนี้มากและยินดีเขียนให้ฟรีโดยไม่คิดเงิน ผมเองยังขอบคุณน้ำใจเขา แต่ภายหลังผมมารู้ว่าตัวเขาเองเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ผมรู้จากปากของคนที่ออกมาจากป่า
และยังมีอีกมาก
หนึ่งปีในช่วงนั้น สอนให้ผมเข้าใจคำว่า “ความจริง”
“ความจริง” ที่ผมได้เรียนรู้นั้น คือสิ่งที่ไม่ได้หยุดนิ่ง มันเคลื่อนไหวอยู่เสมอ
“ความจริง” ในวันที่ 6 ตุลาคม 2518 ในการเสนอของรัฐบาล อาจจะเป็น “ความเท็จ” ใน 20 ปี ข้างหน้า เมื่อลูกผมโตเป็นหนุ่ม เพราะทุกๆ “ความจริง” ที่เกิดขึ้นทุกวันล้วนแล้วแต่มีกลไกอยู่ข้างหลังทั้งสิ้น ถ้ากลไกนั้นยังมีอำนาจอยู่ “ความจริง” อันนี้ก็จะเป็น “ความจริง” ตราบเท่าอายุของอำนาจกลไกนั้น
นอกจาก “ความจริง” ที่ผมได้เรียนรู้แล้ว ก็ยังมี “ความถูกต้อง” อีกประการหนึ่งที่ผมได้รู้ซึ้งถึงสัจธรรมของมัน
เพราะ “ความถูกต้อง” ของผู้มีอำนาจคือ “ความถูกต้อง” สุดท้าย ที่เกิดขึ้นมาจากพื้นฐานของ “ความจริง” ที่ถูกกลไกสร้างขึ้นมา และ “ความไม่ถูกต้อง” สำหรับคนบางคนพอมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง และตัวเองได้ผลประโยชน์นั้นก็จะกลายเป็น “ความถูกต้อง” ขึ้นมาทันที
ตัวอย่างพวกนี้เราจะเห็นกันอยู่ดาษดื่น ไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงชั่วลูกชั่วหลานหรอก เอาเพียงแค่ 10 ปี ที่ผ่านมานี้ก็พอจะเห็นได้มากมาย ตั้งแต่จอมพล ประภาส และถนอม ที่ถูกขับออกจากประเทศเมื่อสิบปีที่แล้ว กับสถานภาพทุกวันนี้ ไปจนถึงเจ้าของกิจการใหญ่โตมโหฬาร หรือนักการเมืองที่ทุกคนชื่นชม แต่บทบาทที่แท้จริงคือเจ้าของบ่อนการพนัน และการค้าของเถื่อน หรือนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ และบริจาคเพื่อสังคมสงเคราะห์ แต่เบื้องหลังแล้วจะโกงภาษีของชาติอย่างมหาศาล และยังมีอีกแม้แต่คนร่ำรวย สังคมนับหน้าถือตา มีความรู้ความสามารถ มีตำแหน่งทางการเมือง ที่มักจะพร่ำกับทุกคนว่า ตนเองต้องการทำงานทางการเมือง ต้องการทำงานเพื่อ ‘ชาติ’ เพื่อ ‘แผ่นดิน’ เพื่อเกียรติประวัติของวงศ์ตระกูล แต่ลับหลังก็จะมีลูกน้องบริวารคอยตักตวงผลประโยชน์ โดยใช้อำนาจบารมีของผู้นั้น
ผมลาออกจากหนังสือพิมพ์ ประชาธิปไตย เมื่อ 15 ธันวาคม 2518 ในขณะที่ลูกชายคนเดียวอายุเพียงเดือนกว่าๆ
และปี 2519 คือปีที่ผมต้องเริ่มชีวิตด้วยลำแข้งของผมเองกับมันสมองและความสามารถที่มีอยู่
|