Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2526








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2526
โครงการก๊าซธรรมชาติ ดูเหมือนรัฐบาลกำลังเล่นกับประชาชน             
 


   
search resources

ปตท., บมจ.
Oil and gas
ยูเนี่ยน ออยล์




รายงานล่าสุดจากบริษัทเดอโกลเยร์ แอนด์ แมคนอตัน เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมปีนี้ เกี่ยวกับปริมาณจำนวนก๊าซธรรมชาติของหลุมเอราวัณในอ่าวไทยนั้น ได้สร้างความตระหนกให้แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยเป็นอย่างยิ่ง ส่วนหนึ่งเท่ากับเป็นการแก้ลำกรณีพิพาทที่บริษัท ยูเนี่ยน ออยล์ มีอยู่กับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย อีกส่วนหนึ่งที่หนักหนากว่านั้น ก็คือ เท่ากับเป็นการทำลายความหวังและสร้างความสงสัยให้กับความรอบคอบของแผนการอุตสาหกรรมที่ได้วางไว้อย่างใหญ่โต

ในระยะแรกที่มีความตื่นเต้นกันเมื่อพบแหล่งก๊าซธรรมชาติใหม่ๆ นั้น รัฐบาลไทยมองเห็นช่องทางที่จะสร้างโครงการอุตสาหกรรมของประเทศขึ้นหลายโครงการ และได้เริ่มต้นกู้เงินมามากมายเพื่อเนรมิตโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกให้เป็นจริงขึ้นมา ซึ่งหากสำเร็จจะเป็นการส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวขึ้นไปเป็นหนึ่งในบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้วได้ทันที

ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่หวังจะได้นั้นจะนำไปขายต่างประเทศเสียส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งจะนำมาใช้ในโรงงานปิโตรเคมี และโรงงานอุตสาหกรรมหนักในประเทศ ซึ่งจะทำให้สินค้าออกของประเทศเพิ่มมากขึ้นพร้อมกับการลดการสั่งน้ำมันเข้ามาใช้ให้น้อยลงไปด้วย ต่อไปดุลการค้าของประเทศจะได้ไม่ต้องติดลบ เท่ากับเป็นการเปิดศักราชใหม่ของเศรษฐกิจของประเทศทีเดียว

ทุกสิ่งทุกอย่างดูจะราบรื่น อย่างน้อยในโครงการต่างๆ ที่วางไว้ เพียงแต่ยังมีสภาวการณ์อีกสองประการ นอกเหนือจากที่ฝ่ายไทยเราคาดไว้เกิดขึ้นมา นั่นคือน้ำมันดิบที่ล้นตลาดและราคาที่ถูกลง ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเป็นเช่นนี้ไปอีกหลายปี และการที่ก๊าซธรรมชาติไม่ได้เป็นสินค้าที่ทุกประเทศต้องการเหมือนดังที่เคยคาดไว้

สำหรับสถานการณ์สุดท้ายนั้น โดยแท้จริงแล้วประเทศไทยจะมีก๊าซธรรมชาติไว้ขายได้น้อยกว่าที่ประมาณไว้แต่ครั้งแรกมากมาย

จากการประมาณการของเดอโกลเยร์ แอนด์ แมคนอตัน พบว่าหลุมเอราวัณมีก๊าซธรรมชาติสำรองอยู่เพียง 628,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยกว่าการประมาณครั้งแรกก่อนหน้านั้นสี่ปี ถึง 40% ทั้งๆ ที่การประมาณจำนวนก๊าซเหล่านี้ โดยบริษัทแห่งเดียวกันนี้เอง ซึ่งทำไว้ก่อนที่บริษัท ยูเนี่ยน ออยล์ จะเริ่มดำเนินงานต่อที่หลุมก๊าซและเรื่องการผลิตก๊าซ

เมื่อประสบปัญหาจากการประมาณจำนวนก๊าซใหม่ ซึ่งไม่พอแก่การผลิต ยูเนี่ยน ออยล์ ยังรายงานต่อมาอีกว่าจำนวนก๊าซธรรมชาติจริงๆ จากหลุมดังกล่าว มีน้อยกว่าที่ประมาณไว้ครั้งหลังนี้เสียอีก และการนำเอาก๊าซนี้มาใช้ก็ยากลำบาก เพราะกระจัดกระจาย อยู่เป็นแหล่งเล็กๆไม่ใช่อยู่เป็นแหล่งเดียวอย่างที่อื่น

แต่กระนั้นการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยก็ไม่ให้ความเชื่อถือรายงานดังกล่าวแต่อย่างใด

จากความเชื่อถือที่ให้ไว้กับการประมาณจำนวนก๊าซครั้งแรก ยูเนี่ยน ออยล์ ตกลงที่จะผลิตก๊าซออกมาวันละ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตในปีแรก และจะเพิ่มเป็นวันละ 250 ลูกบาศก์ฟุตในปีต่อไป และจะเริ่มการผลิตได้ตั้งแต่เดือนกันยายน ปี ค.ศ. 1981 แต่ปรากฏว่าโดยแท้จริงแล้วยูเนี่ยน ออยล์ ผลิตได้เพียงแค่วันละ 110 ลูกบาศก์ฟุต เท่านั้นเอง

ยูเนี่ยน ออยล์ พยายามแก้ไขปัญหาด้วยการออกค่าใช้จ่ายเจาะหลุมก๊าซใหม่ ซึ่งทำให้สามารถเพิ่มจำนวนการผลิตขึ้นมาได้ เป็นวันละ 150 ถึง 160 ล้านลูกบาศก์ฟุต ซึ่งถึงอย่างไรก็ตาม ก็ยังน้อยกว่าการตกลงที่ทำไว้ตั้งแต่แรกอยู่ดี แต่ก็ยังมากกว่าการประมาณจำนวนก๊าซล่าสุด ของเดอโกเยร์ แอนด์ แมคนอตัน ที่คาดว่าจะผลิตได้เพียงวันละ 103 ล้านลูกบาศก์ฟุต สำหรับปีแรก และ 129 ล้านลูกบาศก์ฟุตสำหรับปีต่อมาอยู่ดี

ยูเนี่ยน ออยล์ ยังได้สัญญาไว้อีกว่า อัตราการผลิตอัตราการผลิตก๊าซเช่าปัจจุบันจะไม่ลดต่ำลดไปอีก เพราะหวังว่าจะสามารถเอาทุนที่ทุ่มลงไปแล้วแปดพันกว่าล้านคืนมาได้ ในขณะที่การปิโตรเลียมของไทยต้องการก๊าซในอัตรามากกว่าที่ยูเนี่ยน ออยล์ สามารถผลิตได้

เนื่องจาก ยูเนี่ยน ออยล์ ไม่สามารถจะดำเนินงานได้ตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้แต่แรกได้ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยจึงจ่ายเงินให้เพียง 80% ของราคาที่ตกลงกันไว้แต่แรก ซึ่งในจำนวน 20% ของเงินที่หักไว้นั้น คาดว่าจะเป็นวงเงินถึง 1,000 ล้านบาทหรือกว่านั้นทีเดียว

ปัญหาในขั้นนี้จึงอยู่ที่การปิโตรเลียมจะต้องใช้เงินที่ยังจ่ายไม่ครบอีกด้วยหรือเปล่า ถ้าจะต้องจ่าย จะเริ่มเมื่อไร และการเจรจาเรื่องนี้ก็จะเริ่มในเดือนกันยายนนี้อีก

สำหรับการปิโตรเลียมไทย การจ่ายเงินก้อนโตเช่นนี้ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่ตกต่ำอย่างหนัก เพราะเมื่อปีกลายนี้มีกำไรเพียง 927 ล้านบาท หลังจากที่เคยขาดทุนมาหนึ่งปีก่อนหน้านี้ถึง 966 ล้านบาทมาก่อน

ปัญหาที่ยังคาราคาซังอยู่ทุกวันนี้ คือก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยนั้นมีจำนวนที่แท้จริงอยู่เท่าไหร่กันแน่ ซึ่งก็ไม่มีใครหาคำตอบที่แน่นอนได้ แต่อย่างน้อยที่สุดก็พอจะรู้กันตอนนี้แล้วว่าจำนวนที่น้อยกว่าที่ประมาณกันไว้ครั้งแรกมากพอสมควร

เหล่ารัฐมนตรีของไทยพากันคิดไปในทางที่ว่าหลุมก๊าซเอราวัณ เป็นเพียงหนึ่งในอีกมากหลุมในอ่าวไทย และการแก้ปัญหาเรื่องก๊าซที่หลุมเอราวัณมีน้อย จะทำได้ก็โดยการขุดหลุมอื่นต่อไปอีกมาทดแทน

แต่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องก๊าซธรรมชาติได้พยายามจะชี้ให้เห็นว่า หลุมก๊าซธรรมชาติ อื่นๆ อีกห้าหลุมในอ่าวไทย ที่อยู่ในเงื่อนไขของสัญญากับยูเนี่ยน ออยล์ ครั้งที่สอง ซึ่งจะเริ่มต้นตั้งแต่เดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2528 นี้มีลักษณะทางธรณีวิทยาแบบเดียวกับหลุมแรก แม้ว่ายูเนี่ยน ออยล์ จะได้รับประสบการณ์แล้วว่า จะต้องขุดหลุมให้มากกว่าปกติ เพื่อเพิ่มจำนวนการผลิตให้ได้ตามที่ต้องการ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม โอกาสที่จำนวนก๊าซในห้าหลุมจะมีมากเท่ากับที่ได้ประมาณไว้ครั้งแรกนั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากเหลือเกินอยู่ดี

อีกทั้งสำหรับสัญญาที่สองของยูเนี่ยน ออยล์ ยังระบุไว้ด้วยว่า อัตราการผลิตปีแรกจะต้องมีจำนวน 150 ล้าน ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จะเพิ่มเป็นถึง 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตในสองหรือสามปีหลังจากนั้น

แม้ว่าจะมีการซอยแบ่งเขตการเจาะค้นหาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยออกเป็นหลายแปลง แต่ดูเหมือนจะมีอยู่บริเวณเดียวที่น่าจะมีก๊าซธรรมชาติมาก คือ ในเนื้อที่การสำรวจของแท็กซัสแปซิฟิค ที่เรียกกันว่าบริเวณสตรัคเจอร์ ซึ่งเชื่อว่าจะมีก๊าซธรรมชาติอยู่ 1,859,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต ซึ่งหากทำการผลิตจะสามารถผลิตก๊าซออกมาได้วันละ 250 ล้านลูกบาศก์ฟุต ปัญหาอยู่ที่ว่าเมื่อไรจึงจะเริ่มดำเนินงานได้เท่านั้นเอง (นอกจากนี้ ยูเนี่ยน ออยล์ ยังอ้างว่าได้สำรวจพบแหล่งก๊าซธรรมชาติอีกสามแห่ง ที่น่าจะใช้ผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ แต่จำนวนการประมาณก๊าซที่มีอยู่ในหลุมดังกล่าว ยังไม่เป็นที่เปิดเผย ส่วนก๊าซธรรมชาติที่พบบนฝั่งเช่นที่หลุมประตูเต่า ในสุโขทัย ลานกระบือ ในกำแพงเพชร จำนวนการผลิตก็ยังอยู่ในระดับต่ำมากโขอยู่ดี

ขณะนี้จึงดูเหมือนยังหวังกันอยู่เพียงว่า อย่าให้มีการค้นพบหลุมก๊าซธรรมชาติที่มีจำนวนน้อยไปกว่าที่พบอยู่อีกเท่านั้นเอง

แต่ปัญหาไม่ได้หมดแค่ที่จำนวนก๊าซเท่านั้น เรื่องราคาก็เป็นปัญหาใหญ่เช่นกัน ราคาก๊าซธรรมชาติเหลวในตลาดโลกปัจจุบันตันละ 260 ดอลลาร์ ในขณะที่ก๊าซแบบเดียวกันของไทยได้รับการบอกเล่าว่าจะมีราคา ถึงตันละ 350 ดอลลาร์

นอกจากนี้ ราคาก๊าซในตลาดโลกกำลังจะลดลงอีก ในขณะที่ราคาก๊าซของไทยไม่สามารถจะแข่งขันกับของที่อื่นๆ ได้ เนื่องจากที่หลุมตั้งอยู่กลางทะเลต้องเสียค่าใช้จ่ายขนส่งมากกว่า

การปิโตรเลียมได้ลงทุนได้มากกว่า 500 ล้านดอลลาร์สำหรับก๊าซธรรมชาติของหลุมเอราวัณ ซึ่งเงินส่วนใหญ่หมดไปในการสร้างท่อก๊าซใต้ทะเล ซึ่งเชื่อว่ามีความยาวมากที่สุดในโลก เพื่อนำก๊าซจากหลุมมาขึ้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง และส่งต่อมายังแหล่งอุตสาหกรรมใหญ่ๆ นอกกรุงเทพฯ ต่อไปอีกทอดหนึ่ง

การปิโตรเลียมไทยซื้อก๊าซยูเนี่ยน ออยล์ และขายต่อไปให้การไฟฟ้าอีกต่อหนึ่ง และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตดัดแปลงเครื่องยนต์ ผลิตไฟฟ้าของตน จากใช้น้ำมันเตามาเป็นก๊าซ แล้วแต่ปรากฏว่าได้รับก๊าซเพียงครึ่งหนึ่งจากที่ตกลงกัน ส่วนปูนซิเมนต์ก็เช่นกัน ซึ่งเป็นลูกค้าของการปิโตรเลียมด้วย และยังได้ลงทุนไปอีกก้อนหนึ่งสำหรับดัดแปลงเครื่องยนต์ผลิตซีเมนต์ ให้ใช้ก๊าซเป็นพลังงานได้สำหรับโรงงานที่สระบุรี และกำลังต่อสู้เพื่อให้ได้ก๊าซมาตามจำนวนที่ต้องการอยู่ในขณะนี้เช่นกัน

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตทำสัญญาซื้อก๊าซจากหลุมเอราวัณ วันละ 250 ล้านลูกบาศก์ฟุต ปูนซิเมนต์ไทยอีกวันละ 40 ล้านลูกบาศก์ฟุต

การไม่สามารถจะส่งก๊าซให้ได้ตามจำนวน แปลว่าประเทศจะไม่สามารถสงวนเงินตราต่างประเทศสำหรับการซื้อน้ำมันดิบได้ตามที่ต้องการอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติคิดเป็นปริมาณพียง 8% ของความต้องการด้านพลังงานของประเทศ เมื่อปีที่แล้ว

ในแผนพัฒนา เศรษฐกิจห้าปีที่แล้ว เริ่มตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึง ปี พ.ศ. 2529 รัฐบาลหวังจะลดการพึ่งน้ำมันจากต่างชาติ โดยการสั่งเข้ามาจากร้อยละ 73 ให้เหลือร้อยละ 45 ให้ได้ เมื่อสิ้นสมัยแผนพัฒนาเศรษฐกิจครั้งนี้ ก็จะเป็นปัญหาที่น่าสงสัยอยู่มากว่า จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ยิ่งราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลง ปัญหาใหม่จึงเกิดขึ้นซับซ้อนมากกว่าแผนการลดการพึ่งน้ำมันจากต่างชาติจะใช้ ได้หรือเปล่า และรัฐบาลจะทุ่มเงินอีกหลายหมื่นล้านบาทลงไปเพื่อผลิตพลังงาน ซึ่งนับวันจะมีแต่ราคาถูกลงในระยะยาว

ส่วนก๊าซธรรมชาติที่มีอยู่นั้น มีหนทางใช้สอยอยู่สองทางคือ เป็นเชื้อเพลิงสำหรับโครงการปิโตรเคมี อุตสาหกรรมในประเทศไทย ที่เหลือจึงเอาออกขาย แต่เท่าที่เห็นและในอนาคตอีกสองสามปีต่อจากนี้ไป ทุกสิ่งทุกอย่างจะได้มากน้อยกว่าที่คาดไว้สิ้น แม้แต่ก๊าซสำหรับจะใช้ประเทศก็ตาม ซึ่งจะหมายความไปถึงการล่าช้าของโครงการอุตสาหกรรมเหล่านั้นทั้งหมดด้วย ทั้งนี้ไม่จำเป็นจะต้องพูดไปถึงก๊าซที่จะเหลือสำหรับการส่งออกเลย

ไม่จำเป็นจะต้องนึกไปถึงก๊าซเหล่านี้ จะมีราคาพอจะแข่งขันในตลาดโลกได้หรือจะมีตลาดให้หรือไม่หรอก

ปัญหาเรื่องการตลาดของก๊าซเหลวธรรมชาติของไทยนั้น แม้จะมีราคาพอจะแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ก็ตาม แต่ใครเล่าจะซื้อ ทั้งนี้เป็นเพราะในเอเชียปัจจุบันนั้นมีก๊าซธรรมชาติเหลวล้นตลาดแบบเดียวกับน้ำมันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลีย หรือนิวซีแลนด์ ที่ผลิตก๊าซชนิดนี้ได้มากกว่าที่จะต้องใช้ในประเทศ เช่นเดียวกับอินโดนีเซีย ส่วนมาเลเซียก็กำลังจะประสบปัญหาเดียวกันในเร็วๆ นี้

จีนและอินเดียก็มีก๊าซแบบเดียวกันนี้อยู่เหลือเฟือ จะพอมองเห็นลู่ทางตลาดที่ต้องการก็เป็นที่เกาหลีใต้และญี่ปุ่นเท่านั้น และอินโดนีเซียก็แย่งตลาดของเกาหลีใต้ไปแล้วส่วนใหญ่ เมื่อได้ลงนามในสัญญาขายก๊าซธรรมชาติเหลวให้แก่เกาหลีใต้ปีละ 2 ล้านตัน โดยจะเริ่มส่งให้ปี พ.ศ.2529 และ เป็นระยะยาวถึงยี่สิบปี

สำหรับตลาดในญี่ปุ่น นายกฯ นากาโวเน เมื่อครั้งเดินทางมาเยือนไทยนั้น ก็ได้บอกว่า สำหรับความต้องการของญี่ปุ่นในเรื่องก๊าซมีพอแล้วไปจนถึงปี 2533 และก่อนถึงปีนั้น หากญี่ปุ่นต้องการก๊าซมากขึ้นก็จะหันมาพิจารณาก๊าซจากไทย

คำพูดของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นแปลได้ว่าให้ไทยลืมเสีย ซึ่งตลาดก๊าซธรรมชาติเหลวในญี่ปุ่น จนกว่าจะถึงปี พ.ศ. 2533 เป็นอย่างน้อย และเมื่อถึงเวลานั้นก็เชื่อเถอะว่า ไม่มีอะไรมาประกันได้ว่าญี่ปุ่นจะซื้อก๊าซจากไทย

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของญี่ปุ่นจะมีความต้องการก็จะเป็นความต้องการที่น้อยลง ไม่ใช่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งเรายังมีข้อเสนอจากไนจีเรีย และพม่าแล้ว...”

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่นายนากาโซเนไม่ได้ปริปากเปิดเผยในระหว่างการเยือนกรุงเทพฯ คือเมื่อถึง ปี พ.ศ. 2533 ความต้องการก๊าซธรรมชาติเหลวของญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันอยู่ในอัตราปีละ 17 ล้านตัน จะเพิ่มขึ้นไปถึงปีล ะ 47 ล้านตัน ซึ่งในจำนวนนี้ 3 ล้านตันจะมาจากโซเวียต ซึ่งมีบริษัทญี่ปุ่นร่วมลงทุนในการวางท่อก๊าซมูลค่า 160 ล้าน ดอลลาร์อยู่ด้วย เพื่อจุดประสงค์นี้มาตั้งแต่เมื่อทศวรรษที่แล้ว

และนี่ก็เป็นตัวอย่างการร่วมมือของโลกเสรี และลักษณะการค้าขายของญี่ปุ่น

ในเมื่อสถานการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับก๊าซดังกล่าว เท่าที่ประมวลมามีลักษณะเช่นนี้ ก็จะมีคนในภาครัฐบาลยังคงจะพยายามผลักดันโครงการก๊าซธรรมชาติของไทยที่ราคาแสนแพง เพื่อส่งไปขายต่างประเทศให้ได้

โครงการส่งออกก๊าซธรรมชาติของไทยจะมีค่าใช้จ่ายถึง 3,000 ล้านดอลลาร์หรือเกือบเจ็ดหมื่นล้านบาท ซึ่งทางการจะจัดตั้งบริษัท ก๊าซธรรมชาติเหลว จำกัด ขึ้นมา โดยมีรัฐบาลหนุนหลัง และมีหุ้นส่วนเป็นของคนไทย 60% อีก 40% ที่เหลือครึ่งหนึ่งจะเป็นของกลุ่ม บริษัท ในเครือมิตซูบิชิและมิตซุย

มิตซุยแสดงความต้องการจะมีหุ้นอยู่มากกว่า 10% ที่ได้ไว้แล้ว จะมีการตกลง กันในเรื่องนี้ที่โตเกียวในต้นเดือนตุลาคมปีหน้า

การตกลงร่วมโครงการดังกล่าวขึ้นมาแสดงว่ารัฐบาลไทยมีความมั่นใจว่าจะมีก๊าซธรรมชาติไว้ขายเป็นสินค้าออกในระยะยาว และด้วยราคาที่สูงในตลาดที่หาได้ไม่ยาก หรือจะเป็นเพียงการโฆษณาประชาสัมพันธ์ เพื่อรักษาความหวังของโชติช่วงชัชวาลเอาไว้ แบบเดียวกับเจ้าหน้าที่การปิโตรเลียมที่ชอบอ้างอย่างเปิดเผยว่าหลุมก๊าซเอราวัณนั้น แท้จริงแล้วจะมีก๊าซอยู่แค่ไหนก็ยังไม่รู้แน่ชัด

บางคนให้เหตุผลว่า การตั้งบริษัทก๊าซเหลวธรรมชาติไทยขึ้นมานั้น เป็นการทำเพื่อตัดหน้าไม่ให้ เท็กซัส แปซิพิก ซึ่งร่วมทุนกับยูพีเอสเอ เพื่อส่งก๊าซในหลุมเทกซัส แปซิฟิก ออกขายต่างประเทศ ซึ่งการส่งก๊าซออกไปภายนอก ต้องได้รับอนุมัติจาก ครม. ซึ่ง ครม. ก็ไม่เคยและไม่มีทางที่จะอนุมัติให้เทกซัส แปซิฟิก ได้ทำตามที่ต้องการ

นอกจากนั้นแล้ว เทกซัสเองก็มีแต่ปัญหากับรัฐบาลไทยมาตลอดตั้งแต่เริ่มต้นการเจรจาราคาก๊าซปากหลุมกันแล้ว

หลุมของเทกซัส แปซิฟิก เป็นหลุมที่มีปริมาณก๊าซมาก ราคาที่เทกซัส แปซิฟิก เสนอมา รัฐบาลไทยตอบกลับว่าแพงหูฉี่ การเจรจายืดเยื้อมาหลายยก แม้แต่ประธานเทกซัส แปซิฟิก เองก็ยังอุตส่าห์บินมาไทย เพื่อขอพบนายกฯ แต่ยังไร้ผล เทกซัส แปซิฟิก ก็เลยหยุดการขุดเจาะทั้งหมด และมีข่าวในวงการหลุดออกมาว่าเทกซัส แปซิฟิก พร้อมที่จะขายสิทธิ์ในหลุมมูลค่า 120 ล้านเหรียญ

นอกเสียจากว่า การที่เทกซัส แปซิฟิก ทำเช่นนั้น อาจจะเป็นเพราะว่าเทกซัส แปซิฟิก เองก็เชื่อว่า ตลาดส่งออกกำลังแย่ และก็คงไม่ดีขึ้นในอนาคตด้วย ซึ่งความเห็นนี้ก็เป็นความเห็นของผู้เชี่ยวชาญหลายๆ คนในเรื่องก๊าซธรรมชาตินี้

สำหรับการใช้ก๊าซดังกล่าวในประเทศไทย ก็เช่นกัน ที่รัฐบาลได้วางแผนการไว้อย่างสวยหรู เป็นโครงการมูลค่าถึง 4,300 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบหมื่นล้านบาททีเดียว และยังมีโครงการจะใช้ผลผลิตที่เหลือจากก๊าซดังกล่าว สำหรับโครงการอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก

โครงการอันดับแรกจะเป็นการสร้างโรงงานแยกก๊าซมูลค่า 320 ล้านดอลลาร์ ประมาณเจ็ดพันกว่าล้านบาท ได้เริ่มขึ้นบ้างแล้ว และคาดว่าจะเสร็จในปี 2528 โรงงานดังกล่าวแยกก๊าซได้วันละ35 ล้านลูกบาศก์ฟุต ออกมาเป็นอีเทน โปรเปน และก๊าซปิโตรเลียมเหลว ซึ่งทั้งหมดยังเป็นเพียงความฝัน เมื่อถึงปี พ.ศ. 2528 และจะเอาก๊าซวันละ 350 ล้านลูกบาศก์ฟุตที่ไหนมาแยก ในเมื่อโครงการปิโตรเคมีทั้งหลายที่จะใช้ส่วนที่เหลือของก๊าซซึ่งผ่านการแยกออกมาเป็นวัตถุดิบ ซึ่งโรงงานต่างๆ ที่แรกคิดกันไว้ยังไม่ได้สร้างขึ้นเลย

โครงการดังกล่าวที่กำหนดกันไว้แต่แรก มีดังนี้

- โรงงานโพลีนโพรพิลีน จำนวน 70,000 ตัน ต่อปีหนึ่งโรง


- โรงงานผลิตโพลีนโพรพีลีน ชนิดความเข้มสูง จำนวน 100,000 ตัน ต่อหนึ่งโรง

- โรงงานผลิตโพลีนโพรพีลีน อย่างชนิดมีความหนาแน่นต่ำ ผลิตได้ 100,000 ตัน ต่อปี หนึ่งโรง

- โรงงานผลิตไวนีล คลอไรด์ จำนวน 80,000 ตันหนึ่งโรง

- และโรงงานผลิตเอทิลีน กลีคอน ปีละ 50,000 ตันหนึ่งโรง

โรงงานชนิดหลังสุดนี้เลื่อนกำหนดออกไป และเมื่อเดือนกรกฎาคมปีนี้เอง รัฐบาลได้คัดเลือกเอาธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่สี่รายที่ยินดีจะลงทุนในโรงงานเหล่านี้ คือกลุ่มเมโทร ซึ่งเป็นการลงทุน ร่วมกับศรีเทพไทย อินเวสเมนท์ และบีเอเอสเอฟ ของเยอรมันตะวันตก โรงงานโพลีโพรพีลิน ปูนซิเมนต์ไทยกับยูเอ็มซี อินเตอร์ เนชั่นแนล คอร์ป และไทยเปโตรเคมีคัล อุตสาหกรรม จำกัด สำหรับโรงงาน โพลีโพรพีลีนความเข้มสูง โรงงานพลาสติกและผลิตภัณฑ์เคมี กับมิตซุย โอสุเคมีคัล สำหรับโรงงานไวนิล คลอไรด์ และบริษัท เปโตรเคมี อุตสาหกรรม สำหรับสร้างโรงงาน โพลีโพรพิลีนความเข้มต่ำ

โครงการย่อยหรือโครงการรองเหล่านี้มีไว้เพื่อเสริมโครงการใหญ่อยู่แล้ว คือโรงงานเอทิลัน และโรงงานศูนย์กลางใหญ่ ซึ่งทั้งหมดนี้องค์การปิโตรเลียมมีหุ้นอยู่ในโครงการใหญ่ 49% อีก 9% ของบรรษัท เงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และอีก 2% เป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ อีก 40% ที่เหลือจะแบ่งกันถือหุ้นในส่วนเอกชน ทั้งนี้โดยรัฐบาลยืนยันว่าเอกชนผู้เข้าร่วมหุ้นในโครงการย่อยจะต้องลงทุนในโครงการใหญ่ด้วย ซึ่งจะเป็นภาระทางการเงินที่ ผู้เข้าร่วมหุ้นเหล่านี้ไม่เต็มใจจะร่วมมือเท่าไรนัก

นอกจากกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โครงการทั้งหมดของการพัฒนาอุตสาหกรรมฝั่งทะเลตะวันออก ซึ่งนอกเหนือจากโครงสร้างพื้นฐานแล้วยังรวมท่าเรือน้ำลึกอีกสองท่า ที่มาบตาพุดและแหลมฉบัง มูลค่า 4,600 ล้านบาท ศูนย์การคมนาคมหลายชนิด ซึ่งรายหลังมีอยู่สองโครงการที่ถูกระงับไปคือ โรงงานปุ๋ยเคมี และโรงงานโซดาแอซ

โรงงานปุ๋ย ซึ่งใช้เงินลงทุน 777 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณหนึ่งหมื่นแปดพันล้านบาท จะเริ่มดำเนินการได้ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าเป็นต้นไป ซึ่งก็เป็นเพียงตัวอักษรในโครงการเท่านั้น โรงงานดังกล่าวประกอบด้วยโรงงานย่อยเจ็ดแห่ง ครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับก๊าซธรรมชาติทั้งหมด รวมทั้งฟอสเฟตและโพแทสเซียม เพื่อนำมาทำเป็นปุ๋ยเม็ด จะใช้ก๊าซธรรมชาติวันละ 27 ล้านลูกบาศก์ฟุต รวมกระแสไฟฟ้าอีก 100 ล้านกิโลวัตต์ต่อปี

เมื่อถึง พ.ศ. 2535 โรงงานแห่งนี้ ปุ๋ยได้พอเพียงถึง 80% ของความต้องการ นอกจากนี้โรงงานย่อยยังจะสามารถผลิตแอมโมเนียและยูเรีย รวมทั้งกรดกำมะถัน และฟอสฟอรัสได้อีกด้วย 90% ของวัตถุดิบในท้องถิ่น นอกจากกำมะถันเท่านั้นที่จะสั่งเข้ามา จากตะวันออกกลาง ซึ่งเมื่อพิจารณาดูอย่างกว้างๆ จะเห็นว่า เป็นโครงการที่ดีทั้งสิ้น จะยกเว้นก็แต่บริษัทผลิตปุ๋ยแห่งชาติเท่านั้น ที่ตั้งขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคมปีกลาย ด้วยทุน 50 ล้านบาท ซึ่งมาถึงวันนี้ได้เพิ่มขึ้นไปเป็น 3,000 ล้านบาทเท่านั้น ที่จะต้องชักชวนแหล่งลงทุนเอกชนให้มากกว่านี้

ที่น่าวิตกกว่านี้ก็คืออัตราการคืนทุนสำหรับโครงการหินเกลือโซดา ซึ่งกลาย เป็นโครงการร่วมของชาติอาเซียนไปเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2521 ที่ยังไม่ได้เริ่มลงมือจนกระทั่งเดี๋ยวนี้

ทุกสิ่งทุกอย่างอาจจะล้มเลิกไปหมด ถ้าหากสำรวจความเป็นไปได้ ของโครงการของบริษัท เยอรมันตะวันตก ซึ่งกำลังดำเนินงานอยู่ มีผลแสดงออกมาไม่คุ้มที่จะนำหินเกลือจากโครงการโปแตช ซึ่งธนาคารโลกสนับสนุนอยู่มาใช้เท่านั้นเอง

ขณะนี้การลงทุนตั้งไว้ 6,000 ล้านบาท และภาคเอกชนก็อยากจะให้รัฐบาลลงทุนถือหุ้นในโครงการเหล่านี้มากว่า 1ใน 3 ที่รัฐบาลถือเอาไว้

ความจริงแล้วรัฐบาลไม่น่าที่จะเอาการคืนทุนมาเป็นมาตรฐานในการวัดโครงการโปแตชนี้ เพราะผลทางการเมืองจะดีกับประเทศมาก ถ้าโครงการโปแตชนี้ได้เริ่มเดินไป เพราะจะเป็นประโยชน์กับชาวบ้าน กับชาวพื้นเมืองทางภาคอีสานมาก และข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งคือโอกาสของการส่งออกของเกลือแร่และโซดาแอชรู้สึกว่าจะเป็นไปไม่ค่อยได้

เรื่องที่น่ากลัวในขณะนี้คือ ปัญหาที่เจ้าหน้าที่ของไทย อาจจะยังยึดตัวเลขของก๊าซธรรมชาติแต่ดั้งเดิม โดยไม่ยอมปรับใหม่ ซึ่งก็เป็นสาเหตุของการตัดสินใจลงทุนอย่างมโหฬาร โดยยึดตัวเลขเดิม

เผอิญบ้านเราอาจจะโชคดีตรงที่ ระบบราชการยืดยาดอืดอาดและล่าช้าเป็นพิเศษ พลอยทำให้โครงการทั้งหมดต้องล่าช้าไปด้วย ไม่งั้นป่านนี้เราคงจะต้องนั่งกุมขมับกับโครงการที่มีแต่เครื่องจักรและโรงงานที่มีก๊าซมาป้อนไม่พอ

ความจริงขณะนี้ก็ยังไม่สายจนเกินไป ที่เราจะมานั่งคิดกันใหม่ถึงโครงการแต่ละโครงกา และเงินทองที่จะใช้จ่ายกัน

และเราก็ควรจะเผชิญหน้ากับความจริง และให้ประชาชนรู้ข้อเท็จจริงว่า โชติช่วงชัชวาล นั้นยังคงโชติช่วงอยู่ แต่อาจจะน้อยลงกว่าเก่า ซึ่งก็ไม่มีอะไรที่มันจะเสียหาย ถ้าเราจะสามารถปรับปรุงยุบโครงการบางโครงการ และคงบางโครงการไว้ให้หมาะเจาะพอดีกับปริมาณของความโชติช่วงทางก๊าซธรรมชาติ ซึ่งถ้ารัฐบาลทำเช่นนั้น เราเชื่อแน่ว่าก็คงจะชัชวาลเหมือนเดิม และไม่ต้องเอาประเทศ ชาติไปเสี่ยงเหมือนอย่างที่ทำอยู่ทุกวันนี้   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us