|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กุมภาพันธ์ 2539
|
|
หลังเวทีการเจรจาผลประโยชน์ด้านธุรกิจการค้าการลงทุนของเอกชน 3 ประเทศ ในโครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย ครั้งที่ 5 ที่อำเภอสุไหง-โกลก จังหวัดนราธิวาส งานนี้แม้ภาพแห่งความสำเร็จยังไม่ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดกี่มากน้อย ก็เป็นที่แน่นอนว่า จะต้องมีการพบปะพูดคุยกันต่อไปอีกหลายระลอก เรามารู้จักผู้อยู่เบื้องหลังการเจรจาทำหน้าที่ "นักล๊อบบี้" เพื่อฝ่ากฎเหล็กข้อสัญญาและกรอบที่รัฐบาลของแต่ละประเทศสร้างขึ้นเพื่อไม่ให้นักธุรกิจล้ำเส้นกันไป-มา
"ชีวิตผมเหมือนต้นข้าว ที่ยิ่งมีรวงมากเท่าใด ต้นก็จะยิ่งลู่ต่ำลงดินมากเท่านั้น"
"ดาอิม ไชนุดดิน" ชายร่างเล็ก อารมณ์ดี ชาวเมืองเกดะ เป็นที่รู้จักกันดี ในประเทศมาเลเซีย ในฐานะผู้มากมีด้วยทรัพย์ศฤงคาร ร่ำรวยที่สุดในประเทศและอยู่เบื้องหลังความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศมาเลเซีย แต่วันหนึ่งของช่วงสุดท้าย ที่ ฯพณฯ ท่านดาอิม ไซนุดดิน มาร่วมประชุม ในระดับรัฐมนตรี ฝ่ายมาเลเซีย และเป็นผู้บุกเบิกผลักดันให้เกิดโครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจให้จริงจังขึ้นมา หลายคนเห็นมหาเศรษฐีติดดิน ดาอิม ไซนุดดิน รัฐมนตรีที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของมาเลเซีย ใส่รองเท้าผ้าใบเสื้อปาเต๊ะมาเลย์เดินตลาดซื้อของแถมต่อราคาแม่ค้าเป็นไฟ
ว่ากันว่าทั้งประเทศมาเลเซีย นายไซนุดดิน นักกฎหมายจากอังกฤษ มีอดีตเป็นขุนคลัง และผู้ควบคุมการเงินของพรรคอัมโน (Umno) ที่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจและยอมรับในความสามารถเป็นอย่างมากจากนายกฯ มหาเธร์ โมฮัมหมัด ไม่ชอบทำตนเป็นข่าวและน้อยคนจะได้สัมผัสเขาอย่างใกล้ชิด
ระหว่างเป็นมือขวานายกรัฐมนตรี มหาเธร์ ในปี 1973 นายไซนุดดิน มีโอกาส จับจองเป็นเจ้าของที่ดินราคาแพงลิบลิ่วรอบนอกกรุงกัวลาลัมเปอร์ ทำให้ธุรกิจของเขาเฟื่องฟูขึ้นอย่างรวดเร็ว 6 ปีให้หลัง นายกรัฐมนตรีมหาเธร์แต่งตั้งนายไซนุดดิน เป็นประธานกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หรือ ยู ดี เอ และต่อมาก็ได้รับมอบหมายได้เป็นประธานดูแลงานด้านการลงทุน
ลาจากพรรคอัมโน ก็มุ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับพลาสติก ลงทุนลงแรงไปโข แต่ก็ประสบปัญหาขาดทุนทำให้อดีตคุณครูสอนหนังสือในปี 1950 รับรู้รสชาติความล้มเหลวเป็นครั้งแรก และสาบานที่จะถือเป็นวิชาครู
"มันเป็นช่วงชีวิตที่เลวร้ายมากเมื่อธุรกิจผมสิ้นสลายพ่วงไปถึงธุรกิจอื่น ๆ ด้วย แต่ผมก็ทำใจที่จะสู้ใหม่ คิดเสียว่าไม่มีอะไรจะเลวร้ายไปกว่านี้อีกแล้ว ผมจะไม่ย้ำความผิดพลาดให้เกิดขึ้นอีก"
ทุกวันนี้นอกจากจะเป็นประธานบริหารศูนย์กลางการเงินที่เกาะลาบวนแล้ว ยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของประเทศ เป็นรัฐมนตรีประสานงานโครงการพัฒนาสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ-อินโดนีเซีย-มาเลเซีย ไทย และในธุรกิจส่วนตัว มีหุ้นใหญ่ในธนาคารในยุโรปและมหาสมุทรอินเดีย 4 แห่ง ลงทุนทำธุรกิจหลากหลายทั่วโลกโดยที่ไม่ต้องมีบริษัทของตัวเอง และในมาเลเซีย ไซนุดดิน ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เป็นกิจการหลัก ขณะนั่งเก้าอี้ประธานในบริษัทที่เขาบอกว่ามีเพียงเจ้าหน้าที่ 2- 3 คน ก็เพียงพอ ทำหน้าที่คอยติดตามรับฟังปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากธนาคารต่าง ๆ รวมทั้งผลพวงบัญชีที่ต้องส่งมาแสดงให้ดูเป็นระยะ ๆ เมื่อมีปัญหาก็จะให้คำแนะนำกลับไป โดยให้ธนาคารและธุรกิจต่าง ๆ เหล่านั้นมาดำเเนินงานไปอย่างเป็นอิสระตามซีกต่าง ๆ ของโลก
"วิธีการในการทำธุรกิจของผมไม่เหมือนใคร ผมไม่ชอบที่จะต้องมีที่ทำงานใหญ่โต แม้จะไปทำงานทุกวันเช้าจรดเย็น ผมก็ทำสบาย ๆ ใช้วิธีลงทุนในกิจการต่าง ๆ และรอรับผลประโยชน์ กับให้คำปรึกษาเชิงธุรกิจเมื่อพวกเขาประสบปัญหา"
สุขสบายโดยไม่ต้องหมกมุ่นกับธุรกิจเงินทองก็ไหลเข้าจากผลกำไร เดินทางไปไหนมาไหนก็ไปด้วยเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว ลูกเต้าเป็นหญิงคนโต ก็ดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เขาสร้างมากับมืออยู่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ หญิงคนรองก็ไปใช้ชีวิตที่ออสเตรเลียแต่เยาว์วัย ส่วนลูกชายสุดท้องเรียนมหาวิทยาลัยอยู่ในต่างประเทศ นายไซนุดดิน คงจะเป็นปลื้มกับเส้นชีวิตเส้นนี้
"เปล่าเลย สิ่งที่ทำให้ผมมีความสุขในชีวิตก็คือการมีครอบครัวที่ดี เห็นประเทศมาเลเซียเจริญรุ่งเรือง ผมมาจากครอบครัวยากจน พ่อผมกินเงินบำนาญ แม่เป็นแม่บ้าน เมื่อมีโอกาส ผมจะช่วยคนที่ด้อยกว่าและจนกว่า ให้มีโอกาสเท่าที่จะทำได้ ไม่รู้สึกตื่นเต้นยินดีกับความเป็นเศรษฐี ก็รู้สึกขอบคุณพระเจ้าที่ให้เงินทองมากมายแก่ผม เรารู้ไม่ได้ว่าวันใดจะถูกเรียกเอากลับไป"
อายุล่วงวัยเกษียณแล้วยังดูสดใสทรงเสน่ห์ แข็งแรงปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ นายไซนุดดิน ใช้เวลาว่างเล่นเทนนิสและสคอซ กับการทำใจให้นิ่ง มั่นคง ใจเย็น และตัดสินใจอะไรอย่างสงบ ซึ่งเป็นนิสัยส่วนตัวของเขา ที่สำคัญผู้คนรอบข้างจะรู้ว่าเขาเป็นคนตรงเวลาอย่างที่สุด
"ถ้าคุณไม่รู้จักบริหารเวลาให้ตรงตามกำหนดได้ คุณจะไปมีปัญญาบริหารธุรกิจและเงินทองของคุณอย่างไร"
นี่แหละ นายดาอิม ไซนุดดิน เป็นมหาเศรษฐีของประเทศได้ด้วยเหตุฉะนี้
ศิริพงษ์ จันทรัศมี แพทย์ที่ไม่ได้เป็นแพทย์
นายแพทย์ศิริพงษ์ จันทรัศมี ลุกขึ้นแถลงรายงานการประชุมในฐานะประธานสภานักธุรกิจเอกชนไทย 5 จังหวัดภาคใต้ ด้วยใบหน้าอันอ่อนใส ใต้กรอบแว่นเลนซ์หนาเตอะของคุณหมอวัย 42 ไม่มีเค้าความเป็นนักธุรกิจมากกว่าความเป็นแพทย์ สวนทางกับคำวิพากษ์วิจารณ์ของบรรดาอาจารย์ครั้งเรียนหนังสือว่า "หน้าอย่างเธอหรือจะเป็นแพทย์ได้"
และคำประโยคนั้นก็ทำให้อาจารย์หลายท่านม้วนต้วน ถึงทุกวันนี้
"จริงแล้วไม่ได้อยากเป็นหมอเล้ย ผมผิดหวังนะ ตอนไปดูบอร์ดเอ็นทรานซ์ แล้วมีชื่อติดคณะแพทยศาสตร์ แทนวิศวะ แต่ก็ทนอยู่จนเป็นแพทย์ฝึกหัด และเป็นอาจารย์เวชศาสตร์เขตร้อน โรงพยาบาลตำรวจ ก็ตั้งใจจะรักษาคนจนที่เป็นโรคเขตร้อน"
ไม่เคยประกอบอาชีพแพทย์ที่ร่ำเรียนมาตั้งแต่จบการศึกษา เพราะเป็นลูกชายคนโตของครอบครัวชาวจีนพี่น้อง 7 คน ตั้งรกรากที่เมืองใต้แต่อ้อนแต่ออกภายใต้ร่มเงาธุรกิจการค้าที่ร่ำรวยของบิดาเชื้อสายขุนนางแมนจู มีปู่ทวดอาชีพเดินเรือสำเภาค้าขาย อิมปอร์ต-เอ็กซ์ปอร์ต ระหว่างสิงคโปร์-ปัตตานี
เมื่อพูดถึงบริษัทเอเยนต์ ขายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ บริษัทพิธาน ที่มีสาขาทั่วประเทศกว่า 10 สาขา มีอายุมาถึงทุกวันนี้ กว่า 60 ปี จากน้ำพักน้ำแรงของบิดาผู้มีอันจะกินของชาวใต้ ขยับขยายไปสู่ธุรกิจมากมายหลายสิบชนิด ตั้งแต่รถเมล์ สวนยางพารา กว่า 3,000 ไร่ โรงน้ำแข็ง ปั๊มน้ำมันเชลล์ 10 แห่ง ใน 3 จังหวัดภาคใต้ ยังเป็นเอเยนต์บุหรี่ เบียร์แต่เพียงผู้เดียวในตอนใต้ของประเทศ ไม่พอแค่นั้น คุณหมอยังมีบริษัทรถยนต์ในเครือที่ครอบครัวจันทรัศมี ถือหุ้นไว้เกือบ 100 เปอร์เซนต์ โดยรับจำหน่ายรถหลายยี่ห้อ เช่น อีซูซุ ฮอนด้า จักรยาน จิ๊ป วอลโว นอกเหนือจากการเป็นเอเยนต์ใหญ่รถยนต์โตโยต้า ที่เป็นหนึ่งไม่มีสองของปักษ์ใต้ ถาโถมด้วยหน้าที่การด้วยตัวเลข 9 หลัก ของผลประกอบการแต่ละปี จนลืมคนไข้ นายแพทย์ศิริพงษ์ บอกว่า
" ถ้ารู้อย่างนี้ไม่เสียเวลาเรียนแพทย์ อุตส่าห์ส่งกระดาษเปล่าวิชาชีววิทยาแล้วเชียว แต่เมื่อก้าวเข้ามาเป็นนักธุรกิจเต็มตัวพยายามทำงานสบาย ๆ โดยยึดหลักให้ความไว้วางใจในความสามารถ ความตั้งอกตั้งใจดีของลูกน้องนับเสมือนญาติ และที่สำคัญทำดีจะต้องได้รับการโปรโมต ไม่มีการเห็นแก่ญาติพี่น้องนัก และการทำงานนั้นต้องมีศีลธรรม และถูกกฎหมาย"
แม้ตนเองไม่ได้เป็นหมอ แต่นายแพทย์ศิริพงษ์ก็มีหมอไว้ประจำบ้าน โดยสมรสกับนักเรียนร่วมรุ่น แพทย์หญิงพรจิตร ที่หมอศิริพงษ์ชมนักชมหนาว่าฉลาดและแสนดี แถมพ่อตาเป็นเจ้าของร้านเฟอร์นิเจอร์ดัง สีลมเซี่ยงไฮ้ อีกด้วย
รู้ประวัติประธานหอการค้าจังหวัดปัตตานี ประธานสภานักธุรกิจชายแดนภาคใต้ กับธุรกิจร้อยล้านอย่างนายแพทย์ศิริพงษ์ จันทรัศมี แล้วนักธุรกิจไทยหลายฝ่ายบอกไม่กลัว โครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจล่มแน่ เพราะมีเสาหลักอย่างบริษัทและห้างร้านของคุณหมอศิริพงษ์เป็นปัจจัยที่สำคัญ
อับดุล ราห์มาน ไมดิน จอมล็อบบี้สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ
การพบปะของผู้แทนภาคเอกชน เพื่อผลักดันให้การประชุมสามเหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย เป็นรูปธรรมมากขึ้น แม้ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5 แล้ว แต่ก็ดูเหมือนว่าหลายสิ่งหลายอย่างไม่ปรากฏว่าจะบรรลุเป้าหมายของภาคเอกชน ทั้ง ๆ ในบางรายการที่ได้มีการเซ็นบันทึกความเข้าใจ (MOU) กันไว้ตั้งแต่คราวก่อน อย่างกรณีการสร้างสะพานเชื่อมระหว่างสงขลากับปีนัง ที่เรียกว่า "LANDBRIDGE" มูลค่านับหมื่นล้านซึ่งที่จริงก็มีปัญหาที่รัฐบาลไทยไม่อนุญาตให้สร้างท่อแก๊สท่อน้ำมันควบคู่กับสะพานในขณะที่ยังมีอีสเทิร์น ซีบอร์ด ของไทยอยู่ทนโท่ แต่ก็ไม่มีการแย้ง เมื่อร่วมเซ็นบันทึกความเข้าใจกันครั้งนั้น
จู่ ๆ ในการประชุมที่สุไหง-โกลก ปีนี้ ก็มีเอกชนไทยเสนอคู่แข่งขอสร้างแลนด์บริดจ์ ขึ้นมาอีกราย คราวนี้ก็เดือดร้อนไปถึงภาคเอกชนมาเลเซียที่ลงนามไปก่อนหมายมั่นปั้นมือว่าทุกอย่างคงเรียบร้อย เมื่อเป็นเช่นนี้แน่นอนบรรยากาศที่โรงแรมแกนติ้งตลอด 6 วัน จึงค่อนข้างตึงเครียด หลังการประชุมแทบทุกช่วงเหล่าหัวหอกของมาเลเซียก็สุมหัวผู้แทนนักธุรกิจเอกชนทั้งมาเลย์ อินโดนีเซีย ก่อเกิดการ "ล็อบบี้" กันขนานใหญ่
และผู้ที่เป็นหัวเรือใหญ่ครั้งนี้ไม่ใช่ใครอื่น ...นายอับดุล ราห์มาน ไมดิน (abdul rahman maidin) ประธานกลุ่มภาคเอกชน ดำรงตำแหน่งรองประธานหอการค้ามาเลเซีย ประธานหอการค้าปีนัง และประธานหอการค้าร่วมเมืองปีนัง แม้จะดูเข้มขรึมเป็นเสือยิ้มยาก แต่เขาเป็นที่ยอมรับในความสามารถและได้รับความไว้วางใจจากกลุ่มเพื่อนร่วมอาชีพที่เข้าประชุมให้ทำหน้าที่เป็นปากเสียงประสานงานกับฝ่ายรัฐบาลแทน
นายอับดุล ไมดิน เป็นหนึ่งในนักธุรกิจด้านให้คำปรึกษาด้านการลงทุน และพัฒนาอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศมาเลเซีย และเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มในโครงการสร้างเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่าง ๆ ตั้งแต่ปี 2536
ด้วยความเป็นบุรุษร่างใหญ่ผิวเข้มทำให้นายไมดิน ดูจะเป็นคนไม่เข้าใครออกใคร และจริงจังต่อการเป็นผู้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างชนิดเอาหัวเป็นประกัน
"ผมอยากเห็นความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน ได้รับการพัฒนามากกว่าที่เป็นอยู่ ผมคงจะเป็นสุขมากที่เดียวที่จะเป็นตัวเชื่อมให้ผู้คนในภูมิภาคนี้ที่มีความแตกต่างทางเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ร่วมมือกันได้อย่างรวดเร็ว และต้องมองในภาพกว้าง ต้องจริงใจ และซื่อสัตย์ซึ่งกันและกัน"
คนรู้จักนายไมดิน หลายคนบอกว่า เขาเป็นคนที่มีมันสมองลอนใหญ่กว่าคนอื่น คิดเร็ว ทำเร็ว และตั้งใจจริง ประสบความสำเร็จในธุรกิจขนาดย่อมที่มีลูกน้องในบริษัท 400-500 คน ที่สำคัญนายไมดินบอกว่า
"ธุรกิจให้คำแนะนำการลงทุนและอุตสาหกรรมของผมไม่ใหญ่โตนัก ผมเหมือนหยดหนึ่งของน้ำในมหาสมุทร แต่พอใจที่จะให้เล็กและสุขใจ สิ่งที่จะทำให้ชีวิตไม่มีความสุขก็เห็นจะเป็นความล้มเหลวในชีวิตการติดต่อการงาน นอกนั้นไม่มีอะไรจะทำให้ผมเศร้าโศกได้"
ด้วยวัย 49 ปี ไมดินทำแต่งาน แต่ไม่เคยล้มเหลว นายไมดินจึงรู้แน่แก่ใจว่า การทำงานสำหรับเขา ก็คือการพักผ่อนที่ดีที่สุด เวลาส่วนที่เหลือนายไมดินขยักไว้ให้การอ่านหนังสือ เขาไม่ชอบออกกำลังกาย เพราะคิดว่าการเล่นกีฬาเป็นการนำเอาเวลาทำธุรกิจไปใช้โดยเปล่าประโยชน์ ความคิดที่จะเกษียณอายุจึงมีขึ้นเมื่อร่างของเขาไร้วิญญาณแล้ว
งานนี้แม้ยังไม่ได้ผลสรุปเป็นรูปธรรม แต่ก็พอจะเห็นความชะงักงันจากฝีมือของนายอับดุล ราห์มาน ไมดิน ที่เดินเข้าออกห้องนั้นห้องนี้ "ล็อบบี้" สมัครพรรคพวก จนสว่างคาตาทุกวัน
|
|
|
|
|