Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กุมภาพันธ์ 2539








 
นิตยสารผู้จัดการ กุมภาพันธ์ 2539
ขายตรงไม่มีทาง...สำหรับหน้าใหม่             
โดย สมสมัย ศักดาวัฒนานนท์
 

 
Charts & Figures

รายชื่อบริษัทเครื่องสำอางขายตรงระดับแนวหน้าในไทย


   
www resources

โฮมเพจ แอมเวย์ (ประเทศไทย)
โฮมเพจ บริษัท เบทเตอร์เวย์ (มิสทิน) จำกัด

   
search resources

เบทเตอร์เวย์ (ประเทศไทย), บจก.
แอมเวย์ (ประเทศไทย), บจก.
เอวอน คอสเมติคส์ (ประเทศไทย)
Cosmetics




ความสำเร็จของเอวอน-เบทเตอร์เวย์-แอมเวย์ ทำให้ธุรกิจขายตรงเฟื่องแบบไม่หยุด เพียงชั่วไม่กี่ปี มีนักขายตรงนับแสนคน มูลค่าตลาดกว่า 6,000 ล้าน ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทหน้าใหม่ก็ทยอยเกิดขึ้นมาแบบรวดเร็วกว่า 200 ราย บริษัทแนวหน้ายังอาศัยความได้เปรียบรุกยอดขายไม่ยอมหยุด แต่คำเตือนจากยักษ์ใหญ่ คือ บทเรียนของผู้มาก่อน ไม่ใช่ความสำเร็จของหน้าใหม่เสมอไป..!


" ธุรกิจเครื่องสำอางขายตรงบ้านเรา ในตอนนี้ยังแข็งแรง หากเป็นคนก็ถือว่าสุขภาพดีมาก ยังไม่มีทางล้มป่วยง่าย ๆ" เป็นคำกล่าวของอมรเทพ ดีโรจนวงศ์ ประธานกรรมการบริษัท เบทเตอร์เวย์
( ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายนเครื่องสำอางในระบบขายตรงภายใต้ชื่อ "มีสทีน"

การเจรจาสงบศึกเมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมาของ 2 ค่าย ระดับแนวหน้า ในธุรกิจเครื่องสำอางขายตรง คือมีสทีน และเอวอน โดยยอมเปลี่ยนสภานภาพจากคู่ชกที่ต่อสู้กันจนถึงขั้นเป็นคดีความสู่การเป็นคู่แข่ง เหตุผลหลักที่ออกจากปากอมรเทพ ดีโรจนวงศ์ ก็คือเพื่อเตรียมรับมือกับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้น ในอนาคตอันใกล้นั่นเองและยังเป็นการรักษาภาพพจน์ของธุรกิจขายตรงได้ด้วย

"เกมการแข่งขันธุรกิจเครื่องสำอางขายตรง จะไม่ใช่ระหว่างเอวอนกับมีสทีนอีกต่อไป แต่จะเป็นยุคของการแข่งขันระหว่างรายเก่าด้วยกันเอง และกับผู้เล่นรายใหม่ที่จะเพิ่มเข้ามา ปีนี้ผมเชื่อว่า เกมการแข่งขันจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว"

จากการสำรวจของ "ผู้จัดการ" ถึงตัวเลขผู้ประกอบธุรกิจขายตรงในไทย พบว่า จากจำนวนผู้ประกอบการที่มีอยู่ ขณะนี้กว่า 200 ราย มีบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเครื่องสำอางขายตรงถึงเกือบ 100 ราย และในปีนี้ คาดการณ์กันว่าจำนวนผู้ประกอบการจะเพิ่มขึ้นอีกมาก

อีกทั้งบริษัทเครื่องสำอางตรงต่างชาติ ต่างเล็งประเทศไทยเป็นตลาดยุทธศาสตร์ จะกลายเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวเนื่องจากบริษัทเหล่านี้มีความพร้อมทั้งด้านเงินทุนและประสบการณ์

ในธุรกิจขายตรง โดยเฉพาะบริษัทเครื่องสำอางขายตรงจากญี่ปุ่น

กรณีการหยุดข้อพิพาทเกมการสาดโคลนใส่กันระหว่างเอวอนกับมีสทีน นับได้ว่าเป็นการตัดสินใจของผู้บริหารทั้ง 2 ค่าย ที่ถูกต้องและถูกเวลา เพราะหากทั้งคู่พุ่งประเด็นที่จะแข่งขันกันเอง อาจเกิดกรณี "ตาอยู่" ก็เป็นได้

"มีสทีน" ต้องทิ้งห่าง

หลังการเปิดเกมรุกจนอมรเทพ ดีโรจนวงส์ กล้าประกาศชัยชนะอย่างเป็นทางการว่า สามารถนำมิสทีนแซงหน้าเอวอน ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำในตลาดเครื่องสำอางขายตรงได้สำเร็จแล้ว ปีนี้อมรเทพยังคงนโยบายเดินหน้าเพื่อทิ้งห่างคู่แข่งในตลาดอีกด้วย เป้าหมายตัวเลขยอดขาย 4,000 ล้านบาท จากมูลค่าตลาดเครื่องสำอางขายตรงรวมประมาณ 6,000 ล้านบาท

ปีนี้กลยุทธ์ที่ทางเบทเตอร์เวย์ฯ นำมาใช้คือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์เน้นการเพิ่มไลน์สินค้า
ที่ปัจจุบันการพัฒนาผลิตภัณฑ์เน้นการเพิ่มไลน์สินค้าที่ปัจจุบันมีอยู่ราว 3,000 รายการ แบ่งออก
เป็น 5 หมวด คือ เมกอัพ สกินแคร์ ประทินผิว ของใช้ประจำวัน และอื่น ๆ การเพิ่มสาวจำหน่าย และทุ่มงบโฆษณาให้เพิ่มขึ้นกว่าเดิม

รวมถึงการปรับปรุงบริการให้ดียิ่งขึ้น ด้วยการเตรียมเม็ดเงินประมาณ 400 ล้าน เพื่อสร้างศูนย์กระจายสินค้า 4 ภาค โดยในปีนี้ จะเริ่มจากภาคใต้และอิสานก่อน

การทุ่มเม็ดเงินสร้างศูนย์กระจายสินค้าไปยัง 4 ภาคนอกเหนือ จากเหตุผล คือการประหยัด
เวลา และค่าใช้จ่าย ยังเป็นสัญญานบอกถึงตลาดยุทธศาสตร์ของมีสทีน นับตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป ว่าจะเปิดเกมรุกขยายยอดขายในต่างจังหวัดอย่างจริงจัง เพราะอมรเทพเชื่อว่าเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อมหาศาล

สิ่งที่น่าจับตามองการเคลื่อนไหวของเบทเตอร์เวย์ฯ ในปีนี้ก็คือ อมรเทพ เริ่มให้ความำสคัญกับคาลล่า เครื่องสำอางที่เบทเตอร์เวย์ฯ เปิดตัวเข้าสู่ตลาดเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมามากขึ้น เขาเริ่มทุ่มเม็ดเงินในการเพิ่มสาวจำหน่ายด้วยการมอบสวัสดิการคุ้มครองทันที ที่สมัครเป็นสมาชิกด้วยวงเงินที่สูงถึง 2 แสนบาท

คาลล่า นับเป็นเครื่องสำอางที่อมรเทพวางตำแหน่งเป็นไฟท์ติ้ง แบรนด์ อีกยี่ห้อของเบทเตอร์เวย์ เป้าหมายเพื่อเปิดเกมรุก หลังจากมิสทีนก้าวถึงจุดที่ไม่สามารถเพิ่มยอดขายได้อีก

"เราจะยืนหยัดอยู่ในธุรกิจขายตรง เพราะเป็นช่องทางที่ชำนาญที่สุด อนาคตเราคงจะต้องมองหาธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง เข้ามาเสริมให้บริษัทมั่นคงและแข็งแกร่ง ถือว่าเป็นการพัฒนาระบบการขายตรงไม่หยุดอยู่ที่เครื่องสำอางเท่านั้น" อมรเทพ กล่าว

สำหรับธุรกิจใหม่ที่กล่าวมาข้างต้น อมรเทพใช้ระยะเวลาในการศึกษา 5-6 ปี โดยกลุ่มสินค้าที่เขาสนใจคือ เครื่องใช้ไฟฟ้า แฟชั่น ซึ่งขณะนี้ มีหลายโครงการที่กำลังเจรจาเพื่อชักชวนชาวต่างชาติมาลงทุนการผลิตและเบทเตอร์เวย์ฯ จะเป็นผู้นำมาจำหน่ายในระบบขายตรง

" โกบอลแบรนด์" หมากเด็ดเอวอน

ล่าสุดเบทเตอร์เวย์ฯ กำลังเริ่มศึกษาถึงช่องทางจำหน่ายใหม่ ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับขายตรง เช่นเดียวกับบริษัท เอวอน คอสเมติคส์ ( ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งปัจจุบันมีกุนซือใหญ่ คือ เดซี่ชินลอร์ เป็นประธานและกรรมการผู้จัดการ ก็เริ่มมองหาลู่ทางใหม่ ๆ เพื่อขยายตลาดผลิตภัณฑ์ของเอวอน เช่นกัน

ปีที่ผ่านมา เอวอน เริ่มมีการปรับประบบการขายเพื่อพัฒนาช่องทางใหม่ ๆ โดยเฉพาะในระบบการขายได้มีการลงทุนด้านคอมพิวเตอร์ เพื่อเตรียมพร้อมที่จะขยายช่องทางสู่การขายสินค้าผ่านเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ อาทิ เครื่องโทรสาร และโทรศัพท์ ด้วยการใช้ผู้เชี่ยวชาญในระบบ interactive voice3 mall system เข้ามาเสริม ซึ่งเธอเริ่มที่ส่วนกลางคือที่หัวหมากก่อน

จะเห็นได้ว่า การเคลื่อนไหวของเอวอน ในฐานะบริษัทเครื่องสำอางขายตรงที่ดำเนินธุรกิจไทยมานานถึง 27 ปี ในการมองหาโอกาสที่จะพัฒนาระบบการขายใหม่ ๆ แนวคิดนี้นอกเหนือจากจะเป็นกลยุทธ์ของบริษัทแม่ในอเมริกาแล้ว แดซียังเป็นผู้ประสบการค่อนข้างสูง เพราะเธอเคยนำการพัฒนาระบบการขายดังกล่าวเข้ามาใช้เป็นแต้มต่อในการผลักดันยอดขายให้เอวอน ในไต้หวันจนประสบความสำเร็จมาแล้ว

จุดที่น่าในใจอีกประเด็นก็คือการนำสินค้าระดับโลก ( Global brand) ซึ่งเป็นสินค้ายุทธศาสตร์ที่เอวอน อเมริกานำมาเป็นจุดแข็งในการขยายตลาดไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลกเข้ามาเป็นส่วนเสริมในไทย ซึ่งเดซี่ เริ่มเข้ามาในปี 2537 ซึ่งผลปรากฏว่าได้รับการยอมรับในตลาดเป็นอย่างดี

สินค้าระดับโลกหรือโกบอล แบรนด์ ประกอบไปด้วย สินค้า 5 กลุ่ม คือเอวอน คัลอลอร์ ฟาร์ เอวย์ เอนิว รีไวเวิล และเอวอน ฟาวน์เดชั่น พลัส ซึ่งสินค้าที่นำมาเปิดตลาดในไทยก็ คือ เอวอน คัลเลอร์ และเอนิว

เดซี่ กล่าวถึงสาเหตุของการนำสินค้าโกบอล แบรนด์ เข้ามาใช้ในไทย เพราะเธอเชื่อมั่นว่า นอกเหนือจากจะเป็นกลุ่มสินค้าที่สร้างความได้เปรียบด้านภาพพจน์ของเอวอนเมื่อเทียบกับคู่แข่งแล้ว การนำโกบอลแบรนด์ เข้ามาเสริมจะเป็นการเอื้อประโยชน์ได้มากกว่าที่ผ่านมา

เนื่องจากผลิตภัณฑ์ในกลุ่มโกบอล แบรนด์ สามารถลดต้นทุนได้ถึงประมาณ 20% เพราะเป็นสินค้านำเข้าที่มีข้อดี คือ ผลิตเป็นจำนวนมาก และยังมีการพัฒนาวิจัย สินค้าและบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนการโฆษณาและกิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกัน

เดซี่ สามารถลดต้นทุนส่วนที่ลดลงมาทุ่มให้กับการเปิดเกมรุกได้มากขึ้น และที่สำคัญคือทำให้เอวอนสามารถขยายตลาดไปแข่งขันกับบริษัทเครื่องสำอางชั้นนำจากต่างประเทสในระบบเคาน์เตอร์ เซลล์ ได้อีกด้วย

ปีนี้ ทางเอวอนมีแผนที่จะนำสินค้าในกลุ่มโกบอลแบรนด์ เปิดตัวในตลาดเมืองไทย เพิ่มขึ้นอีก 4 รายการ คือมาสคาร่า น้ำหอมฟาร์ อเวย์ แป้ง และชุดบำรุงผิวรีไวเวิล โดยวางแผนภายในระยะ 3 ปี จะมีกลุ่มสินค้าโกบอลแบรนด์ จำหน่าย 12-18 รายการ

แอมเวย์สู่ยุคเติบโตแบบมั่นคง

ด้านปรีชา ประกอบกิจ ผู้จัดการทั่วไป บริษัทแอมเวย์ (ประเทศไทย) หนึ่งในบริษัทดำเนินธุรกิจขายตรงระดับแนวหน้า กล่าวถึงภาพรวมของธุรกิจขายตรงว่า ปีนี้ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการยังพุ่งประด็นไปที่ตลาดเครื่องสำอางเป็นหลักซึ่งทางแอมเวย์ก็ให้ความสนใจเช่นกัน

แต่ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเครื่องสำอางและทนุถนอมผิวพรรณของแอมเวย์ มีค่อนข้างครบไลน์ ดังนั้นในปีนี้ทางแอมเวย์ จึงหันมามุ่งเน้นการทำโปรโมชั่น ในส่วนของสินค้ามาการเพิ่มไลน์

"นโยบายของเราเน้นในเรื่องการสร้างธุรกิจให้มั่นคงและเติบโตอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ไม่เน้นการสร้างยอดขายแบบก้าวกระโดด เพราะปัจจุบันเรามีฐานยอดขายที่ค่อนข้างใหญ่อยู่แล้ว"

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าในปีนี้ แผนงานส่วนใหญ่ ของแอมเวย์จะให้น้ำหนักกับการพัฒนาคุณภาพนักขาย เน้นด้านการอบรมเป็นหลัก เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักขาย ที่มีอยู่ประมาณ 94,000 คน อยู่กับบริษัทนานที่สุด เพื่อบรรลุเป้าหมายคือเติบโตในระยะยาวด้วยกันโดยไม่สะดุด

หัวใจหลักของการก้าวสู่เป้าหมายที่วางไว้ ปรีชาเชื่อว่า จะต้องมีองค์ประกอบคือการสร้างบรรยากาศและแรงจูงใจคือต้องมีสินค้าดี มีคลังสินค้าพร้อมระบบที่สมบรูณ์เปลี่ยนทัศนคติว่าขายตรงเป็นวิชาชีพที่ดี

นอกเหนือจากการรุกเพิ่มไลน์สินค้าในกลุ่มเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ทนุถนอมความงาม ซึ่งสร้างยอดขาย 30% ของยอดขายรวมบริษัทแล้ว

ปีนี้ ทางแอมเวย์ก็มีแผนที่จะขยายยอดขายในส่วนของอาหารเสริม และแคตาล็อก โปรดักส์ ซึ่งเป็นสินค้าที่ทางแอมเวย์ร่วมมือกับซัปพลายเออร์ทั้งในและต่างประเทศ โดยมอบหมาย ให้ผลิตและนำมาจำหน่ายเช่นเสื้อผ้า สินค้าแฟชั่น ซึ่งคาดว่ากลางปีนี้ สินค้าในหมวดดังกล่าว จะมี เพิ่มขึ้นประมาณ 50-60 รายการ

ผู้ประกอบการเก่า-ใหม่ ตั้งรับ

นอกเหนือจากเอวอน มิสทีน และแอมเวย์ ที่มีการเคลื่อนไหวพยายามที่จะใช้จังหวะที่เร่งสร้างยอดขาย บริษัทเครื่องสำอางขายตรงหลายแห่งเริ่มมีการเตรียมพร้อมตั้งรับ ไม่ว่าจะเป็น ฮานาโกะ นูททรี บิวตี้ฟอนท์ โพลา เอ็มทีไอ เพอร์เฟคแคร์ เป็นต้น โดยหลักใหญ่แล้วจะเป็นการปรับโครงสร้างเพิ่มเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารการสรรหาสินค้าเครื่องสำอางประเภทสกินแคร์และเมกอัพที่มีคุณภาพเข้ามาเสริม

รวมถึงการเพิ่มประสทิธิภาพด้านการบริหารต้นทุนและบริการที่รวดเร็ว หลายค่ายเริ่มที่จะมีแผนขยายคลังสินค้าไปยังภาคต่าง ๆ พร้อมลงทุนด้านคอมพิวเตอร์ ออนไลน์เข้ามาใช้เก็บข้อมูล

ช่วงปลายปีที่ผ่านมา บริษัท ฮานาโกะ คอสเมติคส์ (ประเทศไทย) จำกัด น้องใหม่ในวงการขายสายตรงเลือดผสมไทยญี่ปุ่นซึ่งมองเห็นโอกาสในตลาดเครื่องสำอางขายตรงโดยเลือกไทยเป็นประเทศแรกเปิดตัวสินค้าฮานาโกะ ได้มีการปรับโครงสร้างภายในครั้งใหญ่ ปีนี้มีนโยบายที่จะขยายมาร์เกตแชร์ ในส่วนสกินแคร์เพิ่มมากขึ้น หลังจากประสบความสำเร็จในตลาดเม็กอัพ ด้วยส่วนแบ่งถึง 45% โดยตั้งเป้าเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 100%

ขณะที่นูทรี เครื่องสำอางจากแดนจิงโจ้ ก็ได้มีการเสริมประสิทธิภาพภายในทั้งในแง่การจัดการ และทิศทางในการรุก โดยมีนโยบายที่จะขยายมาร์เกตแชร์ผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องสำอางต่อไป เน้นการชูคุณภาพเป็นหลัก ตามนโยบายบริษัทแม่ซึ่งมีความเชื่อว่าในธุรกิจขายตรงเป็นเรื่องยากมาก ที่จะสร้างความน่าเชื่อถือในผลิตภัณฑ์หากสินค้ามีหลากหลายชนิด

แมนดอม คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) ผู้แทนจำหน่ายเครื่องสำอางร็อก ให้ความสนใจที่จะเข้าสู่ธุรกิจเครื่องสำอางขายตรงในปีนี้เช่นกัน โดยเตรียมจัดตั้งบริษํทใหม่เพื่อเปิดเกมรุกเช่นเดียวกับแพน คอสเมติค ที่พร้อมจะนำบริษัทใหม่เข้าสู่ธุรกิจขายตรงเช่นกัน ซึ่งคาดว่าสินค้าตัวแรกจะเป็นเครื่องสำอางจากออสเตรเลีย

ยังไม่หมอยุคทอง

เบื้องหลังของการเคลื่อนไหวทั้งในเชิงรุกและรับของรายใหม่-เก่า เป็นเพราะต่างเชื่อมั่นว่าปีนี้จะเป็นปีทองอีกศักราชหนึ่งของวงการเครื่องสำอางขายตรง ที่การแข่งขันจะเพิ่มความรุนแรงขึ้นอีกกว่าเท่าตัว

ปัจจุบันที่ผลักดันให้ธุรกิจเครื่องสำอางขายตรงยังอยู่ในช่วงยุคทอง ก็คือมูลค่าตลาดซึ่งในขณะนี้มีอยู่สูงถึงประมาณ เกือบ 6,000 ล้านบาท พร้อมอัตราการเติบโตโดยรวมปีละเกือบ 30% ขณะที่แนวโน้มของเครื่องสำอางในระบบคาร์เจตอร์เซลล์ เริ่มมีอัตราการเติบโตที่แผ่วลง

อีกทั้งยังต้องประสบปัญหาค่าเช่าพื้นที่ก็มีราคาสูงกว่าในอดีตที่ผ่านมาหลายเท่าตัว รวมถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านการเช่าพื้นที่ของบรรดาห้างสรรพสินค้า ซึ่งจะคัดเลือกเฉพาะเครื่องสำอางที่มีภาพลักษณ์และชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ และมียอดขายสูงเข้าไปจำหน่าย ทำให้ผู้ประกอบการเครื่องสำอางรายใหม่และรายเก่าในระดับกลางต่างประสบปัญหาค่อนข้างมาก

ขณะที่แนวโน้มการขยายตัวของตลาดเครื่องสำอางกลับเพิ่มสูงขึ้น ยิ่งเมื่อในปีที่ผ่านมา ภาครัฐมีนโยบายปรับลดภาษีนำเข้าเครื่องสำอางจากเดิม 60% เหลือ 40% และในปี 2540 จะลดลงมาเหลือเพียง 20% นั้น จะทำให้ปัญหาในเรื่องต้นทุนสินค้าลดลง ยิ่งเป็นแรงกระตุ้น เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ไม่ต้องลงทุนมาก อีกทั้งยังเป็นช่องทางจำหน่ายที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ดีที่สุด

"ยังไปได้อีกมหาศาล เพราะปัจจัยพื้นฐานด้านผู้บริโภคและสาวจำหน่ายมีมหาศาล ในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่จะก้าวขึ้นระดับรองจากญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมขายตรงที่ใหญ่ที่สุดโลก" ปรีชา ประกอบกิจ ในฐานะผู้จัดการทั่วไปของบริษัท แอมเวย์ ( ประเทศไทย) จำกัด และนายกสมาคมการขายตรง (ไทย) กล่าว

เพราะสภาพการตลาดที่เริ่มบ่งชัดถึงความแข็งแรงและมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าทวีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับความเจริญเติบโตของธุรกิจขายตรงในย่านเอเชียด้วยแล้ว ไทยจัดเป็นตลาดที่ยังบริสุทธิ์ แม้ล่าสุดภาพรวมของธุรกิจขายตรงไทยยังแพ้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย และไต้หวัน ทั้งที่ประชากรมีถึง 60 ล้านคน ขณะที่มาเลเซียมีประชากรเพียงประมาณกว่า 10 ล้านคน และไต้หวันมีประชากรเพียง 20 ล้านคนเท่านั้น

สาเหตุเป็นเพราะปัจจุบันเศรษฐกิจไทยยังเติบโตต่ำกว่า แต่ในอนาคตเชื่อว่าสภาพเศรษฐกิจไทยน่าจะมีแนวโน้มขยับสูงขึ้นมาได้อีก ขณะที่พฤติกรรมผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนไป ดังนั้นธุรกิจขายตรงของไทยก็มีโอกาสที่จะเติบโตขึ้นได้ไม่ยาก

อย่างไรก็ตาม ไกรฤทธิ์ บุณยเกียรติ ประธานกรรมการบริหารบริษัท ไบโอไฟล์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด แสดงทัศนะถึงแนวโน้มธุรกิจเครื่องสำอางขายตรงว่า ในปีนี้จะมีรายเล็กเข้ามาอีกจำนวนมาก ซึ่งค่ายที่จะประสบความสำเร็จในธุรกิจนี้จะต้องมีพื้นฐานความเข้าใจระบบขายตรงอย่างถูกต้อง ไม่เช่นนั้นแล้วอาจจะมีลักษณะแมงเม่าบินเข้ากองไฟที่พอเข้ามาไม่นานก็ต้องปิดกิจการไปในที่สุด


"สาวจำหน่าย" ชวนประทุศึก

สำคัญที่สุดคือสาวจำหน่ายซึ่งเป็นหัวใจของธุรกิจขายตรง ซึ่งในปีนี้ทุกฝ่ายเชื่อมั่นว่า เม็ดเงินมหาศาลจะถูกใช้เพื่อสร้างขุมกำลังจนเป็นเหตุให้การแข่งขันปะทุขึ้นอย่างรุนแรง

กรณีของเบทเตอร์เวย์ฯ สามารถผลักดันผู้นำเครื่องสำอางมิสทีน ก้าวขึ้นมาในฐานะผู้นำตลาดเครื่องสำอางขายตรง และกลายเป็นคู่ชกของแชมป์เก่าอย่างเอวอน ด้วยระยะเวลาเพียงไม่ถึง 7 ปี เบื้องหลังคือเครือข่ายสาวมิสทีนที่มีอยู่ในมือจำนวนมากมายนั่นเอง ที่เป็นตัวผลักดันยอดขายให้มิสทีนมีการเติบโตโดยเฉลี่ยถึงปีละ 100%

จากศึกชิงสาวจำหน่ายของเอวอนและมิสทีน ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ได้กลายเป็นชนวนทำให้เกมการแข่งขันมีดีกรีเข้มข้นขึ้น และมีส่วนทำให้ธุรกิจเครื่องสำอางขายตรง ยิ่งได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น

อมรเทพใช้วิธีทุ่มเงินมหาศาล ในเรื่องผลตอบแทนที่เทียบชั้นรุ่นพี่อย่างเอวอน ตามด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินสวัสดิการคุ้มครองชีวิตวงเงิน 100,000 บาทให้กับสาวมิสทีนทันทีที่สมัคร และผลจากการขับเคี่ยวทำให้ปีที่ผ่านมาจำนวนสาวมิสทีนเพิ่มขึ้นเป็น 150,000 คน ขณะที่เอวอนมีสาวจำหน่ายประมาณ 80,000 - 90,000 คน เท่านั้น

ปีนี้มิสทีนยังไม่หยุดนโยบายล่าสาวมิสทีน โดยตัวเลขเป้าหมายเพิ่มขึ้นเป็น 180,000 คน ซึ่งตัวเลขที่กำหนดมาจากยอดขายที่ตั้งเป้าไว้คือ 4,000 ล้าน จากเมื่อปีที่ผ่านมามียอดขาย 3,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 50% จึงเป็นที่แน่นอนว่า ในปีที่แผนการอัดฉีดเงินเพื่อเป็นแรงจูงใจ ยังคงเป็นกลยุทธ์หลักที่ทางอมรเทพนำมาใช้ ซึ่งต้องยอมรับการเปิดศึกชนิดตาต่อตา ฟันต่อฟัน ของเอวอน และมิสทีน ตลอดระยะดวลาที่ผ่านมา ได้กลายเป็นแม่บทที่ทำให้รายใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่ธุรกิจต่างยึดเป็นแม่บท อาทิ สุพรีเดอร์ม น้องใหม่เมื่อปีที่ผ่านมา เปิดตัวด้วยการมอบสวัสดิการคุ้มครองชีวิตด้วยวงเงิน ถึง 300,000 บาท

หรือแม้แต่แอมเวย์ ซึ่งขณะนี้มียอดขายรวม 2,640 ล้านบาท ก็มีแผนที่จะขยายฐานสาวจำหน่ายเพิ่มขึ้นอีก 25% จากปีที่ผ่านมา 9,400 คน เพิ่มขึ้นเป็น 120,000 คน ขณะที่นูทรีจากเดิมมีสาวจำหน่ายอยู่ประมาณ 50,000-60,000 คน ปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 70,000 ยังไม่นับรวมบริษัททั้งขนาดเล็กและกลางที่อยู่ในธุรกิจเครื่องสำอางขายตรงอีกเกือบ 100 แห่ง ที่ต่างพุ่งประเด็นที่สาวจำหน่ายเป็นหลักทั้งสิ้น

หลบฉากยักษ์ใหญ่

ยิ่งเป็นภาพตอกย้ำถึงภาพการแข่งขัน ในเรื่องการแย่งชิงสาวจำหน่ายได้ดี อย่างไรก็ตามจากการปะทะกันของเอวอนและมิสทีน ในระบบขายตรงแบบชั้นเดียว (single level) ทำให้ปัจจุบันพบว่า แนวโน้มของค่ายผู้ประกอบการหลายรายในตลาดเริ่มที่จะนำระบบขายตรงแบบหลายชั้น ( multi level) เข้ามาใช้แทนเป้าหมายคือ เพื่อเป็นวิธีการเลี่ยงการปะทะกับ 2 ค่ายยักษ์ใหญ่ อีกทั้งเชื่อว่าระบบขายตรงแบบหลายชั้นจะเอื้อต่อการขยายสาวจำหน่ายได้เป็นอย่างดี

ข้อแตกต่างของทั้ง 2 ระบบ คือระบบการขายตรงแบบชั้นเดียวและเป็นระบบที่ไม่ซับซ้อน ในแต่ละเขต จะมีผู้จัดการเขตซึ่งเป็นพนักงานของบริษัททำหน้าที่สาวจำหน่าย เพื่อให้มาขายสินค้าให้กับบริษัท ซึ่งสาวจำหน่ายจะเป็นผู้รับรายได้จากคอมมิชชั่น อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ขณะที่ระบบขายตรงแบบหลายชั้น ซึ่งเป็นระบบที่เพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่ถึง 40 ปี เป็นระบบที่มีการควบคุมกันหลายชั้น ทำงานกันเป็นทีม รายได้ของทีมจะมีการจัดสรรกัน ตามยอดขายแต่ละคน บวกกับยอดขายของทีม ลักษณะการทำงานแบบลูกโซ่ ข้อดี คือเพราะแนวการบริหารจะฝึกให้ผู้จำหน่ายเป็นมืออาชีพ มีรายได้มั่นคง และทำงานกันเป็นทีม คนหนึ่งคนใดออกไปทีมก็ยังอยู่ ขณะที่แบบชั้นเดียวพอสาวจำหน่ายออกยอดขายตรงนั้นก็หายไป

โพลา เครื่องสำอางขายตรงที่ยืนหยัดมานาน 30 ปีกว่า ได้มีการนำระบบขายตรงแบบหลายชั้นมาใช้ แทนระบบขายตรงแบบชั้นเดียวได้เป็นเวลา 2 ปีเศษ ขณะที่ แพอร์เฟ็ค แคร์ ปีที่ผ่านมา ก็เปลี่ยนมาใช้ระบบขายตรงแบบชั้นเดียว ไม่เว้นกระทั่งเอวอน เจ้าตำรับระบบขายตรงแบบชั้นเดียว

เวทีนี้ต้องมีผู้กำกับ

จุดที่น่าเป็นห่วงท่ามกลางการเติบโตของระบบขายตรง กับพบว่าเริ่มมีบุคคลบางกลุ่มได้เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์โดยใช้ระบบขายตรงหลอกลวง จนทำให้ผู้บริโภคเริ่มมีเสียงสะท้อนในทางลบ ซึ่งอาจก่อให้เกิดภาพพจน์ที่ไม่ดีกับธุรกิจขายตรง โดยรวมในอนาคต

"น่าจะถึงจุดที่ภาครัฐจะต้องเข้ามามีบทบาท อาจจะไม่ต้องตราเป็นกฎหมาย เพียงแต่คอยกำกับโดยให้เอกชนดูแลกันเอง" นายกสมาคมขายตรง (ไทย) แสดงทัศนะกับ "ผู้จัดการ" พร้อมเหตุผลสนับสนุน คือหวังจะเป็นการช่วยสกรีนผู้ประกอบการที่หวังทำธุรกิจแบบตีหัวเข้าบ้านออกไปจากวงการอีกด้วย

สมาคมขายตรง (ไทย ) เริ่มมีการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้เมื่อ 3 ปีก่อน โดยพยายามผลักดันกฎหมายขายตรงขึ้นมาใช้บังคับ แต่จนปัจจุบันยังไม่มีวี่แววใด ๆ เกิดขึ้น แม้แต่ปรีชา ประกอบกิจ ยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ยังไปไม่ถึงไหน เสียงเรายังไม่ดังพอที่ภาครัฐจะหันมาให้ความสนใจอย่างจริงจัง"

ตลอดระยะเวลา 13 ปี ของสมาคมการขายตรง (ไทย) จำนวนสมาชิกที่มีอยู่เพียง 13 บริษัท จากบริษัทที่ดำเนินธุรกิจขายตรงถึงกว่า 200 บริษัท เป็นจำนวนที่น้อยเกินไปในการที่จะรับบทบาทเช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้าน

หนึ่งในสมาชิกสมาคมขายตรง (ไทย) กล่าวว่า หากจะผลักดันให้สมาคมฯ เข้ามามีบทบาทในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่รักษาขายตรงให้กับธุรกิจที่เติบโตแบบมั่นคง ผู้บริโภคเชื่อมั่นในตัวระบบผู้ประกอบการจะต้องเข้ามาเป็นสมาชิกเพื่อกำหนดแนวทางที่ถูกต้องในการแข่งขัน

"ส่วนหนึ่งมันเป็นผลสะท้อนมาจากภาครัฐยังไม่เข้ามาสนับสนุนอย่างจริงจัง ทำให้ผู้ประกอบไม่ได้ให้ความสนใจ แต่หากรัฐเข้ามาแบ็กอัพเชื่อได้ว่าบริษัทต่าง ๆ จะต้องวิ่งเข้ามาเป็นสมาชิก"

ในทางกลับกันผู้ประกอบการหลายรายมองว่าที่ผ่านมา สมาคมการขายตรง (ไทย) ไม่สามารถสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการเห็นถึงประโยชน์ที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกแต่อย่างใด

ขณะที่การแข่งขันที่ทวีความเข้มข้นขึ้นทุกปี ทำให้ตอนนี้หลายฝ่ายเริ่มเห็นว่า ธุรกิจขายตรงบ้านเราน่าจะถึงจุดที่มีความจำเป็นจะต้องมีกฎ กติกา มารยาท เพื่อใช้ในการกำกับ เป็นการโชว์ภาพลักษณ์ว่าไทยได้ก้าวเข้าสู่ยุคบูมของธุรกิจขายตรง และมีการดำเนินธุรกิจแบบมืออาชีพ อย่างแท้จริง เป้าหมายก็คือ ผลการรักษาภาพรวมของธุรกิจขายตรงในระยะยาว ให้เติบโตแบบมีทิศทางที่ถูกต้อง

ภาพการโหมเข้าสู่ธุรกิจเครื่องสำอางขายตรงทั้งรายเล็ก รายใหญ่ ปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่องท่ามกลางรูปแบบการค้าที่ยังขาดผู้กำกับเส้น มีจำนวนไม่น้อยที่เข้ามาก็ต้องหายไปด้วยระยะเวลาเพียงไม่นาน

เพราะความเป็นจริง แม้จะเป็นธุรกิจที่ใช้เงินทุนไม่มากนัก เมื่อเทียบกับระบบเคาน์เตอร์เซลล์ แต่กลับมีโครงสร้างที่ซับซ้อนและยุ่งยากในการบริหาร แถมจะต้องเจอกับรายเก่าซึ่งใช้ระยะเวลาลงหลักปักฐานมานานไม่ว่าจะเป็นเอวอน มิสทีน แอมเวย์ นูทรี เป็นต้น ต่างมีแบ็กอัพด้านสินค้า และการเงินเป็นอย่างดี

ที่สำคัญต้องมีเงินหน้าตักเพียงพอที่จะต่อสู้กับคู่แข่งรายใหญ่ ๆ ที่มีความพร้อมในทุก ๆ ด้าน ซึ่งแต่ละด้านต่างใช้ระยะเวลาผ่านร้อนผ่านหนาวในเวทีแห่งนี้มานาน พร้อม ๆ กับรายใหม่ซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติที่จะเข้ามาในอนาคต

"ผู้ประกอบการที่จะเข้ามาในธุรกิจเครื่องสำอางขายตรง หมดยุคที่จะจับเสือมือเปล่า แต่ต้องมีเงินในกระเป๋าไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท" ไกรฤทธิ์ กล่าว

มาถึงตรงนี้ คงต้องมีคำถามสำหรับรายใหม่และรายเก่า ซึ่งเป็นบริษัทขนาดเล็กและกลางว่า "คุณพร้อมแล้วหรือยัง?" ในสนามแข่งขันที่ยังไม่มีผู้กำกับเส้น ไม่มีกรรมการตัดสิน ในยุคที่ใคร ๆ ก็เรียกว่าเป็นยุคบูมของเครื่องสำอางขายตรงบ้านเรา!   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us