บ้านริมใต้ ในโครงการริมใต้สายธาร อำเภอแม่ริม เชียงใหม่
ของภูมิชาย ล่ำซำ ได้รับรางวัลผลงานสถาปัตยกรรมดีเด่น
จากการประกวดผลงานสถาปัตยกรรม ปี 2545 ของสมาคมสถาปนิกสยามฯ ประเภทบ้านพักอาศัย
บ้านริมใต้ ออกแบบโดยบริษัทสถาปนิก 49 เป็นอาคารพักอาศัยชั้นเดียว ประกอบด้วยห้องนั่งเล่น
ห้องรับแขก ห้องอาหาร ห้องเตรียมอาหาร 1 ห้องนอนใหญ่ 2 ห้องนอนเล็ก 3 ห้องนอนเล็ก
พร้อมทั้งศาลาพักผ่อน ในเนื้อที่ทั้งหมด 300 ตารางเมตร ราคาค่าก่อสร้าง 4,300,000
บาท
แนวความคิดหลักในการออกแบบที่อยู่อาศัยในโครงการริมใต้สายธารแต่ละหลัง
ถูกออกแบบให้มีเอกลักษณ์เฉพาะ และคำนึงถึงสถาปัตยกรรมของท้องถิ่น รวมทั้งการนำเอาวัสดุพื้นเมืองต่างๆ
มาใช้
สำหรับบ้านที่ได้รับรางวัล ผู้ออกแบบ ได้ออกแบบบ้านหลังนี้ให้เป็นอาคารชั้นเดียว
พื้นบ้านสูงจากระดับดินประมาณ 1.20 เมตร ใต้ถุนได้ออกแบบให้มีความโปร่งโล่ง
อากาศถ่ายเทได้ดี ลักษณะภายนอกโดยทั่วไป เป็นแบบสถาปัตยกรรมพื้นบ้านทางภาคเหนือ
คือ ให้ความสำคัญกับส่วนของหลังคาที่มีการออก แบบลดหลั่นหลายระดับ และใช้วัสดุในท้องถิ่นนั้นๆ
เช่น กระเบื้องไม้สัก (ปั้นเกล็ด) ทั้งยังได้สอดแทรกการใช้รายละเอียดในส่วนประกอบของบ้าน
เพื่อให้ได้สปิริตของความเป็นพื้นถิ่นมากขึ้น
ความตั้งใจอย่างมากของผู้ออกแบบบ้านหลังนี้ก็คือ การออกแบบบนพื้นฐานของความเป็น
Tropical Architecture คือการระบายอากาศแบบธรรมชาติ กันแดด กันฝน วัสดุที่ใช้กับอาคารเป็นวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น
ที่เหมาะสมกับภูมิอากาศ รวมทั้งการคำนึงถึงช่างไม้ ช่างปูน ช่างแกะสลัก ทั้งนี้เพื่อให้ผสมผสานศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นเข้าด้วยกัน
อย่างกลมกลืนกันกับภูมิปัญญาของชาวบ้านในท้องถิ่นนั้น ช่วยให้บ้านหลังนี้เป็นส่วนหนึ่งของท้องถิ่นง่ายเข้า
บ้านริมใต้ หลังนี้ผู้ออกแบบ ได้ใช้สีเหลืองอ่อนเป็นสีหลักของบ้าน เพื่อให้ดูสดใส
มีชีวิต ชีวา สีเหลืองของผนังกับสีของเฟอร์นิเจอร์ในส่วนต่างๆ ของบ้านทำให้บ้านหลังนี้กลมกลืนกับทางเหนือมากขึ้น
การตกแต่งบันไดหน้าบ้าน ทำให้ดูเชื้อเชิญและเป็นมิตรต่อผู้มาเยือน
เจ้าของบ้านได้ให้ข้อมูลทางผู้ออกแบบว่าต้องการบ้านชั้นเดียวเพื่อสะดวกในการเข้าถึง
อาคาร และส่วนต่างๆ เพราะเจ้าของบ้านอายุค่อนข้างมาก ในส่วนสถาปนิกเองก็ได้ออกแบบให้กลมกลืน
กับบ้านหลังอื่นๆ ในโครงการ แต่ในขณะเดียวกันต้อง มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเช่นกัน
มีการศึกษาเพิ่มเติมหลายส่วนทั้งสเกลเล็กสเกลใหญ่เพื่อให้ชัดเจนในรายละเอียด
องค์ประกอบบางอย่างของอาคารเป็นการนำของเก่ามาผสมผสานกัน เช่น ประตูทางเข้าเป็นประตูเก่า
หรือการนำเอาประติมากรรมไม้แกะสลักเช่น ช้างมาประกอบอาคารให้น่าสนใจ
ส่วนความต้องการของเจ้าของบ้าน ซึ่งเป็นสุภาพสตรีนั้น ต้องการบ้านพักผ่อนชั้นเดียวเชิงเขา
ไม่ต้องเล่นระดับ แต่ต้องการยกระดับจากพื้นดินพอประมาณ เพื่อความเป็นส่วนตัว
และจะได้ปลอดภัยจากสัตว์เลื้อยคลานต่างๆ ภายในบ้านต้องการให้มีความโปร่งโล่ง
มีการระบายอากาศที่ดี ลักษณะบ้านก็ต้องกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมในย่านนั้น
นอก จากนั้นต้องการให้บ้านดูน่ารัก โรแมนติก อ่อนหวาน แบบผู้หญิงๆ เพราะต้องการพักผ่อนไปนานๆ
สำหรับความเห็นของคณะกรรมการพิจารณา คัดเลือกผลงานนั้นก็คือ บ้านริมใต้เป็นการประยุกต์สถาปัตยกรรมลักษณะศิลปะล้านนาได้ดีมากและแสดง
การผสมผสานวัฒนธรรมพื้นถิ่นให้เกิดแก่เรือนสมัยใหม่ได้ดี เป็นบ้านที่น่าอยู่ให้ความรู้สึกกันเอง
มีสภาพ เหมาะสมกับผู้อยู่อาศัยซึ่งเป็นผู้สูงอายุ ที่ทันสมัยและ เหตุผลสุดท้ายที่ทำให้บ้านหลังนี้ได้รับรางวัลก็คือ
การ ออกแบบรายละเอียดทำได้ดีทั้งด้านความหมาย และ สัญลักษณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับเจ้าของบ้าน