Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2537








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2537
มัลติมีเดียไทย รอวันโต             
โดย วรสิทธิ ใจงาม
 


   
search resources

Computer
เซ็สท์




มัลติมีเดีย กำลังเป็นคำฮิตในธุรกิจสื่อทั่วโลก ความแพร่หลายของการใช้คอมพิวเตอร์พีซีตามบ้าน การปรับเปลี่ยนตัวเองของซอฟต์แวร์เฮ้าส์ที่มุ่งไปสู่การพัฒนาโปรแกรมแบบมัลติมีเดียมากขึ้น การประสานกันระหว่างธุรกิจคอมพิวเตอร์กับกิจการขายข้อมูลและบันเทิง ล้วนเป็นหน่อแห่งการขยายตัวของระบบสื่อผสมนี้ แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว ยังคงต้องใช้เวลาอีกพักหนึ่ง ตลาดจึงจะขยายตัวออกไปมากกว่านี้

"มัลติมีเดีย" คือ สื่อผสมที่มีทั้งข้อความ รูปภาพทั้งที่เป็นภาพนิ่งและที่เคลื่อนไหวได้ รวมอยู่ด้วยกัน สื่อผสมนี้ถูกเก็บหรือบันทึกในหน่วยความจำหลาย ๆ รูปแบบ ทั้งหน่วยความจำในเครื่องคอมพิวเตอร์ แผ่นดิสเก็ต แต่ที่นิยมกันมากและเป็นที่คุ้นเคยกันคือ บันทึกลงบนแผ่นซีดี ซึ่งสามารถเก็บข้อมูลแบบดิจิตอลได้มาก โดยคงคุณภาพไว้ได้ดังเดิม ไม่เสื่อมไปตามระยะเวลา พกพาได้สะดวก ใช้งานง่าย

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ คำว่า "มัลติมีเดีย" เป็นที่กล่าวขวัญถึงบ่อยมาก ในฐานะสื่อที่จะเป็นที่นิยมและมีบทบาทในเรื่องการสื่อสาร การบันเทิง การศึกษา ซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของมนุษย์ในยุคข้อมูลข่าวสารอย่างแยกกันไม่ออก

ระบบมัลติมีเดีย เริ่มเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 แต่จำกัดอยู่ในเฉพาะแวดวงการผลิตสื่อโฆษณาเท่านั้น เนื่องจากเป็นระยะเริ่มต้นของการนำมาใช้งาน จึงมีต้นทุนที่สูง และวิธีการใช้ที่ยุ่งยาก ซับซ้อน

การขยายตัวของสื่อแบบมัลติมีเดีย เป็นผลจากการพัฒนาเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์โดยตรง ที่สามารถพัฒนาฮาร์ดแวร์ที่มีประสิทธิภาพในการจัดการกับข้อมูลหลาย ๆ รูปแบบได้พร้อมกัน ในเวลาอันรวดเร็ว และมีต้นทุนที่ลดลงมากเรื่อย ๆ ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ก็หันมาพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับมัลติมีเดียกันมากขึ้น เพราะถือได้ว่า เป็นธุรกิจใหม่ที่จะสร้างรายได้เพิ่ม เนื่องจากธุรกิจซอฟต์แวร์แบบธรรมดา ๆ ที่ไม่ใช่มัลติมีเดียนั้น เป็นตลาดที่มีแนวโน้มเข้าใกล้จุดอิ่มตัวแล้ว

ความแพร่หลายของการใช้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล หรือคอมพิวเตอร์พีซี, การมีซอฟต์แวร์ ออกสู่ท้องตลาดมากขึ้น การเคลื่อนตัวของธุรกิจบันเทิงและสิ่งพิมพ์เข้าสู่การผลิตสื่ออิเล็คโทรนิกส์มากขึ้นเรื่อย ๆ เหล่านี้คือปัจจัยหลักที่ทำให้มัลติมีเดียขยายตัวอย่างรวดเร็ว

สำหรับประเทศไทย ก็อยู่ภายใต้แรงผลักดันของปัจจัยที่ว่านี้เช่นเดียวกัน ถึงแม้ว่าอัตราการเป็นเจ้าของคอมพิวเตอร์ พีซี. ของคนไทยจะยังไม่สูงมากนัก แต่ก็มีฐานอยู่ในระดับหนึ่ง และบรรดาผู้ทำธุรกิจค้าคอมพิวเตอร์ ก็นำฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่มีเทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาสู่ตลาดอย่างสม่ำเสมอ

เรียกได้ว่า ในส่วนของผู้ค้าก็ไม่ล้าหลังจากกระแสความเคลื่อนไหวในต่างประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเจ้าเทคโนโลยี ในส่วนของผู้ใช้ก็คุ้นเคย มีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดี พร้อมที่จะรองรับพัฒนาการใหม่ ๆ อย่างเช่น มัลติมีเดียนี้ได้

ธุรกิจมัลติมีเดียในประเทศไทยอยู่ในฐานะผู้นำเข้าทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟแวร์สำหรับมัลติมีเดียจากต่างประเทศ

บริษัท อินโนเวทีฟ เทคโนโลยี นับว่าเป็นบริษัทรุ่นแรก ๆ ที่เริ่มจับตลาดมัลติมีเดียแบบ จริงจัง โดยเป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ระบบมัลติมีเดียของบริษัท ครีเอทีฟ ประเทศสิงคโปร์เป็นหลัก อุปกรณ์เหล่านี้สำหรับต่อพ่วงกับคอมพิวเตอร์ที่ไม่ได้ติดตั้งระบบซีดี-รอมมากับตัวเครื่องด้วยได้แก่ ลำโพง, ซาวด์การ์ด, วิดีโอ การ์ด, ซีดี-รอม กราฟฟิค การ์ด และมัลติมีเดีย อัพเกรทคิท เป็นต้น

หลังจากนั้นไม่นาน บริษัทต่าง ๆ ที่ขายเครื่องคอมพิวเตอร์ ก็หันมาจับตลาดระบบมัลติมีเดียบ้าง ทั้งรายเล็กถึงรายใหญ่ อาทิไทยซอฟต์, มัลติมีเดียครีเอชั่น, บิซิคอม, บายฟาร์ ฯลฯ

แต่ฮาร์ดแวร์หรืออุปกรณ์ต่อพ่วงเหล่านี้ ในแง่การขยายตัวของการขายแล้ว ก็ยังเป็นรองตัวซอฟต์แวร์ ซึ่งมาในรูปของแผ่นซีดี เพราะฮาร์ดแวร์เมื่อผู้ซื้อ ๆ ไปแล้วครั้งหนึ่ง ก็ใช้ไปได้ตลอด ส่วนตัวซอฟต์แวร์จะขายได้เรื่อย ๆ

"ต้องยอมรับว่า มัลติมีเดียสามารถประยุกต์ใช้กับงานได้หลายลักษณะ ตั้งแต่งานในสถานศึกษา, งานฝึกอบรม, การเปิดตัวหรือเสนอขายสินค้า, พิพิธภัณฑ์, ห้องสมุด, การแสดงข้อมูล, การสื่อสารหรือการเรียนการสอน เราจึงเพิ่มและวางแผนขยายตลาดผลิตภัณฑ์มัลติมีเดียจากเดิมที่เน้นด้านเกมบันเทิง ออกไปเป็น 5 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ ด้านบันเทิง, การศึกษา, การแพทย์, สารคดีเด็กและผู้ใหญ่" พหล เรืองปัญญาโรจน์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อินโนเวทีฟ เทคโนโลยี จำกัด เจ้าแรกที่ทำตลาดด้านมัลติมีเดียของเมืองไทยกล่าว

อินโนเวทีฟ เทคโนโลยีได้ร่วมทุนกับบริษัท เอเซียซีดี (ฮ่องกง) เปิดบริษัทใหม่ชื่อเอเซีย ซีดี (ประเทศไทย) จำกัด ขึ้นมารับผิดชอบตลาดระบบมัลติมีเดีย ยี่ห้อมัลติวิชั่นจากอเมริกา ทั้งซาวด์การ์ด วีดีโอการ์ด ซีดี-รอม

ทั้งนี้อินโนเวทีฟยังให้การสนับสนุนบริษัท ไอ.ที. ซัพพลายส์ จำกัด ที่ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัท แมคโครมีเดียจำกัด ประเทศสหรัฐอเมริกา เจ้าของลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์มัลติมีเดียชั้นนำในการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมระบบมัลติมีเดีย APW (AUTHORWARE PROFESSIONAL FOR WINDOWS) ขึ้นเพื่อรองรับผู้สนใจด้านนี้ ขณะเดียวกันก็เป็นการกระตุ้นตลาดทางอ้อม โดยเผยแพร่ความรู้และทักษะในการใช้ระบบมัลติมีเดียให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

ประมาณกันว่า ปัจจุบันนี้ ในประเทศไทยมีคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบมัลติมีเดียได้ราว ๆ 10,000 เครื่อง และคาดหมายว่าภายในปีนี้จะมีอัตราการเติบโตขึ้นมาอีกถึง 300% หรือ เพิ่มขึ้นมาอีก 30,000 เครื่อง

ไทยซอฟต์เป็นผู้ค้าอีกรายหนึ่งที่เป็นตัวแทนขายอุปกรณ์พ่วงต่อและแผ่นโปรแกรมการศึกษาให้กับบริษัท ครีเอทีฟ เทคโนโลยีของสิงคโปร์ และเป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ด้านการเรียนการสอนให้กับบริษัท แมคโครมีเดีย ซึ่งจุดแข็งตรงของไทยซอฟต์อยู่ที่มีช่องทางจัดจำหน่ายที่กว้างจากโอเอเซ็นเตอร์ และมินิโอเอเซ็นเตอร์ทั่วประเทศ และอีก 2 บริษัทในกรุงเทพฯ คือบายฟาร์ และเอแอนด์แอล คอมพิวเตอร์

ชูชาติ ใช้บุญเรือง ผู้จัดการทั่วไปของไทยซอฟต์ เปิดเผยยอดขายของบริษัทว่า มีจำนวนประมาณ 50 ล้านบาทในปีนี้ คิดเป็นสัดส่วนกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัด 90:10 โดยคาดการณ์ล่วงหน้าไว้ว่าตลาดมัลติมีเดียในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าก็คงอยู่ในลักษณะโฮมยูซคือ ใช้ตามบ้านเท่านั้นก่อน

เมื่อกลางปีที่ผ่านมา อินโนเวทีฟ ตัวแทนจำหน่ายสินค้าหลักของครีเอทีฟ เทคโนโลยีใน ยุคแรกเลิกการเป็นตัวแทนให้อีกต่อไป เพราะครีเอทีฟเทคโนโลยี แต่งตั้งไทยซอฟต์เพิ่มเป็นรายที่สอง

เรื่องนี้เบเนดิค เท็ด ผู้จัดการฝ่ายขายของครีเอทีฟ เทคโนโลยี อธิบายว่า สาเหตุที่แต่งตั้งไทยซอฟต์เป็นตัวแทนจำหน่ายอีกหนึ่งราย หลังจากให้อินโนเวทีฟไปแล้วก่อนหน้านี้ เพราะตลาดในประเทศไทยสามารถที่จะขยายออกไปได้มากขึ้น มีโอกาสเป็นแมสโปรดักส์เร็วขึ้น ไม่ได้เป็นการบีบอินโนเวทีฟ

บริษัท บายฟาร์คอมพิวเตอร์ จำกัด เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของไทยซอฟต์, ไมโครซอฟต์โฮม และชุดมัลติมีเดียยี่ห้อรีลแมจิก และมีโครงการร่วมกับบริษัท ซีวีดี ประเทศไทย และฮ่องกงเพื่อนำ วิดีโอเข้ามาทำในรูปซีดี

ส่วนในเรื่องคอมจะมีตัวใหม่ที่มัลติมีเดียครีเอชั่น ผลิตขึ้นมาเป็นบายฟาร์โอม เป็นลักษณะเกมสอนเด็กเกี่ยวกับการบวกลบเลข เป็นโปรแกรมทั้งภาษาไทยและอังกฤษ

สำหรับไมโครซอฟต์โฮมมัลติมีเดียนั้น บายฟาร์ได้เป็นดิส ทริบิวเตอร์ของไมโครซอฟต์ อยู่ มีประมาณ 200 รายการ และจะเพิ่มเติมเข้ามาเรื่อย ๆ ที่เกี่ยวกับเอ็นไซโคพีเดีย เกี่ยวกับเกม เรียกว่า ไมโครซอฟโฮมคอนซูมเมอร์ก็มี

"ล่าสุดเราตั้งบริษัทใหม่ชื่อ "เซ็สท์" (ZEST) เพื่อเข้ามารับผิดชอบตลาดมัลติมีเดีย โดยจะเปิดทั้งในกรุงเทพ และสาขาต่างจังหวัดทั่วประเทศ จากเซ็สท์กรุงเทพฯ ก็จะเพิ่มอีกที่เชียงใหม่ เซ็สท์จะเน้นทางด้านความบันเทิงต่าง ๆ เป็นหลัก โดยจะนำภาพยนตร์ชั้นนำจากอเมริกาเข้ามาพร้อมซอฟต์แวร์เกม, ผลิตภัณฑ์เสริมที่จะนำเข้ามาอีกเช่น อุปกรณ์และ ซอฟต์แวร์ของ "รีลเมจิก" ราคา 9,000-19,900 บาท, ซอฟต์แวร์คอเรลดรอว์ของบริษัท คอเรลราคาตั้งแต่ 100-10,000 บาท ส่วนรายการในรูปของแผ่นซีดี-รอมจะมีกว่า 400 รายการ กลุ่มเป้าหมายตั้งแต่เด็กจนถึงนักศึกษา นอกจากนี้ยังอยู่ในขั้นเจรจากับบริษัทซอฟต์แวร์หลายสื่อในประเทศ เพื่อขอซื้อลิขสิทธิ์ซอฟท์แวร์อีก 2-3 รายการ โดยทำตลาดให้ใน รูปแบบซีดี และปีนี้ตั้งเป้าไว้ประมาณ 120 ล้านบาท แบ่งฮาร์ดแวร์ประมาณ 80% ซอฟต์แวร์และอุปกรณ์ต่อพ่วงอีกอย่างละ 10%" กรรมการผู้จัดการหนุ่มแห่งบายฟาร์กล่าว

บริษัทไทยอิเมจิค ซึ่งมีทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท เป็นตัวแทนสินค้ามัลติมีเดียยี่ห้อเอเวอร์วิชั่น อาทิ เอเวอร์โปร ซึ่งเป็นการ์ดที่สามารถทำภาพซ้อนได้, เอเวอร์ 2000 โปร, เอเวอร์คีย์ 2 และเอเวอร์คีย์ 3 และอุปกรณ์ต่อพ่วงอื่น ๆ นอกจานี้ยังมีผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสำหรับการทำพรีเซนเทชั่นที่ใช้กับคอมพิวเตอร์ด้วย

ชาญยุทธ์ เจนธัญญารักษ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไทยเทเลโทรล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของไทยอิมเมจิค พูดถึงนโยบายของไทยอิมเมจิคที่จะมารับผิดชอบนำผลิตภัณฑ์ประเภทแผ่นซีดีจากเยอรมัน เข้ามาทำตลาดเกี่ยวกับภาพที่สามารถใช้งานกับชีวิตประจำวันได้ กลยุทธ์ในการขาย 80% เป็นขายตรง อีก 20% ผ่านตัวแทนจำหน่าย ซึ่งผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมาสามารถทำได้ประมาณ 49.5 ล้านบาท มาจากสินค้ามัลติมีเดียประมาณ 10 ล้านบาท ส่วนปีนี้คาดจะได้ประมาณ 80-100 ล้านบาทหรือประมาณ 20-30% ของตลาดรวมมัลติมีเดีย แบ่งเป็นตลาดราชการ 70% ตลาดเอกชน 30% ขณะนี้กำลังร่วมเจรจากับบริษัท แดงสค์ ดาต้า อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศเดนมาร์ก) หรือดีดีอี เพื่อร่วมทุนตั้งบริษัทในเมืองไทย โดยใช้ทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท ในสัดส่วนไทยเทเลโทรล 51% และดีดีอี 49% คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ปีหน้า นอกจากนี้ไทยเทเลโทรลยังมีนโยบายจะตั้งอีก 1 บริษัท เพื่อมารับผิดชอบตลาดในลักษณะซอฟแวร์เฮ้าส์ภายในปีหน้าด้วย

จะเห็นได้ว่า ทุกบริษัทในตลาดมัลติมีเดียทำธุรกิจในลักษณะตัวแทนจำหน่ายจากผู้ผลิตในต่างประเทศ แต่มีอยู่บริษัทหนึ่งและอาจกล่าวได้ว่า เป็นรายเดียวของเมืองไทยในขณะนี้ ก็ได้ ที่เป็นผู้ผลิตสื่อแบบมัลติมีเดียเองคือ บริษัท มัลติมีเดีย ครีเอชั่น จำกัด ซึ่งมีสุรเชษฐ์ เวชชพิทักษ์เป็นกรรมการผู้จัดการ โดยพัฒนาโปรแกรมขึ้นเองแล้วส่งไปขายต่างประเทศ ไตเติ้ลเพื่อการศึกษา "หนูน้อยช่างคิด" บุกตลาดซอฟต์แวร์ด้านนี้มาแล้วทั้งในยุโรปและอเมริกา โดยเริ่มจำหน่ายในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค และใน ยุโรปก่อนเป็นลำดับแรก สำหรับยุโรปจะมีบริษัท ครีเอทีฟ มัลติมีเดีย ตั้งอยู่ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นผู้ดูแลตลาดทั่วภาคพื้นยุโรป ส่วนช่องทางจัดจำหน่ายภายในประเทศ ได้แต่งตั้งให้ไทยซอฟท์เป็น ผู้จัดจำหน่ายผ่านสหวิริยาโอเอ และสหวิริยามินิโอเอ ทั้ง 46 แห่งทั่วประเทศ และยังผ่านตัวแทนจำหน่ายรายย่อยอีกส่วนหนึ่ง

ส่วนแนวโน้มของเทคโนโลยีมัลติมีเดียในการเข้าสู่ความเป็น MASS PRODUCT สำหรับประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านในแวดวงคอมพิวเตอร์มีความเห็นพ้องกันว่าสำหรับกรุงเทพฯ คาดว่าต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 10 ปี ส่วนต่างจังหวัดคงนานถึง 20 ปี

แต่จากตัวเลขของเนคเทคระบุว่า หน่วยงานราชการปัจจุบันมีการใช้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลมากที่สุดร้อยละ 95 ซึ่งครอบคลุมถึงการใช้งานในภาคเอกชนทั่วไปด้วย คิดเป็นหน่วยงานราชการประมาณ 10,000 เครื่อง ส่วนความต้องการใช้คอมพิวเตอร์ในอนาคตค่อนข้างสูงประมาณร้อยละ 62 ในหน่วยงานราชการร้อยละ 88 ในรัฐวิสาหกิจ และเอกชนร้อยละ 58 ความประสงค์ของความต้องการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลยังสูงต่อไปในส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจคืออยู่ประมาณ 6,000 เครื่อง ครึ่งหนึ่งเป็นความต้องการจากทบวงมหาวิทยาลัย, หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และกระทรวงมหาดไทยตามลำดับ โดยงานที่นำมาใช้มากส่วนใหญ่เป็นพวกงานพิมพ์เอกสาร และงานฐานข้อมูล โดยประมาณ 3 ใน 4 ของรัฐวิสาหกิจใช้ทำงานด้านบัญชี ส่วนในการบริหารบุคคลทั้งราชการ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน มีสัดส่วนของการใช้คอมพิวเตอร์เท่ากับร้อยละ 57, 63 และ 58 ตามลำดับ ในอนาคตกว่าครึ่งหนึ่งของหน่วยงานราชการต้องการใช้คอมพิวเตอร์ ในการพัฒนาการคำนวณ/ประมวลผล ตามมาด้วยการบริหารงานบุคคล พิมพ์เอกสาร และงานด้านบัญชี ส่วนรัฐวิสาหกิจนั้น จะใช้ทุกรูปแบบอยู่แล้ว โดยเฉพาะงาน ด้านบัญชี การบริหารบุคคล และฐานข้อมูล

ตัวเลขดังกล่าวพอมองแนวทางการเติบโตของตลาดมัลติมีเดียในอนาคตได้พอสมควร แนวทางการปรับปรุงของภาคเอกชนจะปรับปรุงไปในเรื่องการคำนวณ ประมวลผลข้อมูล และการทำบัญชีเป็นหลัก ในขณะที่งานด้านบุคคลและงานพิมพ์เอกสารจะได้รับความนิยมรองลงมาต่างก็น่าจะนำมัลติมีเดียเข้าไปช่วยเหลือในส่วนการงานได้แทบทุกขั้นตอน ฉะนั้นเมื่อภาคราชการซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่ยังมีเหตุผลน้อยนิดสำหรับการนำมัลติมีเดียขณะนี้ก็สามารถสรุปได้ว่าอนาคตของมัลติมีเดียก็คงจะอยู่แค่ตลาดเกมมากที่สุดเท่านั้นก่อน

นั่นเป็นเพราะปัญหาส่วนหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อตลาดมัลติมีเดียนั้น เป็นอุปสรรคจากตัว มันเองคืออุปสรรคด้านภาษา เพราะส่วนใหญ่ซอฟต์แวร์ที่เป็นต้นฉบับต่าง ๆ ล้วนเป็นภาษาอังกฤษทั้ง สิ้น วิธีการสอนของโปรแกรมยังมีวัฒนธรรมของตะวันตกเข้ามาเกี่ยวข้องมาก เรื่องของเสียงและภาพ ที่ยังไม่เข้ากันกับคนไทย ซึ่งหากคิดผลิตเองก็มีปัญหาในเรื่องคนเข้ามาสมทบ เพราะไม่กล้าลงทุนด้านการผลิตซอฟต์แวร์ เนื่องจากขาดบุคลากรที่เป็นผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นคนที่สามารถเรียนด้านศิลปแล้วนำมาประยุกต์สร้างบนคอมพิวเตอร์ตรง สามารถสร้างภาพซอฟต์แวร์ มีความสามารถในการตัดต่อและนำมาผสมกันได้อย่างกลมกลืน

สำหรับปัญหาการนำเอาเทคโนโลยีมัลติมีเดียมาใช้เพื่อการศึกษาในประเทศไทยยังอยู่ใน ขั้นที่ต้องใช้งบประมาณที่สูงมาก เนื่องจากยังขาดเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการพัฒนา นั้นเอง

เหตุที่วงการศึกษาของไทยไม่สามารถนำเทคโนโลยีมัลติมีเดียเข้ามาใช้ได้อย่างเต็มที่ เพระสถาบันยังขาดแคลนบุคลากร โดยวิธีการแก้ไขที่ดีที่สุดง่ายที่สุดคือ รัฐบาลควรสนับสนุนให้มีการนำมัลติมีเดียมาใช้ภายในสถานศึกษาอย่างจริงจัง พร้อมให้การอบรมด้านมัลติมีเดียและไอทีแก่หน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างค่อยเป็นค่อยไป และสม่ำเสมอ

ขณะนี้มัลติมีเดียถือว่าใช้ในด้านบันเทิงเป็นส่วนมาก อนาคตเชื่อว่าคงเข้ามามีบทบาทต่อ วงการศึกษามากขึ้น เนื่องจากเป็นสื่อที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของผู้เรียนได้มากกว่าการ ใช้สื่อทั่วไป

เทคโนโลยีมัลติมีเดียขณะนี้ก็ยังเป็นเรื่องที่ยุ่งยากพอควร นอกจากความบันเทิงแล้วก็เห็น แต่เป็นระบบ ที่เหมาะสมกับการศึกษาเท่านั้น ในอนาคตถึงจะเข้าข่ายธุรกิจ เพราะหากมีการนำมัลติมีเดียมาใช้งานที่เกี่ยวกับอุปกรณ์อื่น ๆ เช่น ระบบเน็ทเวิร์ค มัลติมีเดียจะกลายเป็นธุรกิจเต็มรูปแบบทันที

พอล สะหรับ กรรมการผู้จัดการบายฟาร์กล่าวเสริมว่า ปัญหาใหญ่ของตลาดยังอยู่ที่คนไม่ค่อยเข้าใจเรื่องมัลติมีเดีย ไม่เข้าใจว่าจะช่วยอะไรเขาได้บ้าง กับความที่คิดว่ายังไม่จำเป็นตอนนี้ แต่ถ้า พูดถึงฐานะบริษัทค้าขายเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนหนึ่งจะกลัวมัลติมีเดีย กลัวว่าจะติดตั้งให้ลูกค้าเป็นหรือเปล่า ดีลเลอร์คอมพิวเตอร์จึงไม่ค่อยกล้าจับตลาดมัลติมีเดียกันมากนัก เพราะเมื่อติดตั้งให้แล้ว พอลูกค้าซื้อไป ก็กลัวว่าหากลูกค้ามีปัญหามาให้ช่วยแก้ไข จะไม่สามารถบริการได้

แม้ว่าพอลจะให้ภาพเสริมในตัวของมัลติมีเดีย แต่ประเด็นของการเป็นแมสโปรดักส์ มัลติมีเดีย สำหรับตลาดเมืองไทยจะเป็นได้หรือไม่ และคาดกันว่าคงหลัง ค.ศ. 2000 กระมังที่น่าจะนำมาถกกันอีกครั้ง เพราะเพียงแค่จำนวนปริมาณ 30,000 ชุด ที่มีอยู่ในท้องตลาดกับการคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นอีกกว่า 70% ในส่วนมัลติมีเดีย ก็ยังเป็นตัวเลขที่ยังไม่ถือว่าเป็นแมสเท่าใด เมื่อคำนวณจากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ขายไปแล้วนับแสนเครื่อง

ภาพอีกภาพหนึ่งที่จะค่อย ๆ เข้ามาสู่สังคมธุรกิจคอมพิวเตอร์นั่นคือ ต่อไปตลาดพีซีจะเป็นลักษณะติดตั้งระบบมัลติมีเดียไปพร้อมเสร็จ และบางพีซีก็จะเป็นการซื้อไประยะหนึ่งแล้วก็ต้องมาติดตั้งมัลติมีเดียก็มี และคงเป็นอย่างที่ชูชาติแห่งไทยซอฟต์ว่าคือคงเป็นช่วงที่ต้องพยายามทำให้ตลาดโตเสียก่อน   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us