|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
"กฟผ." ยังคาดหวังที่จะจดทะเบียนเป็น บริษัทเพื่อแปรรูปได้ภายในพฤษภาคมนี้ เร่งดำเนินการทุกด้านหวังให้ระดมทุนไม่เกินปี 2548 หนีการถูกจัดเข้า ซูเปอร์โฮลดิ้ง ขณะที่ สร.กฟผ.ยันจะต่อต้านเต็มที่ แม้หนทางแทบจะเหลือริบหรี่หลังผู้บริหารสกัดทุกทางต่อความ เคลื่อนไหว "วิเศษ" ย้ำท่าทีไม่เร่งรีบต้องการให้ กฟผ. พร้อมจริงๆ ขณะที่วงในแย้มทุกอย่างอยู่ที่ "สมคิด" จะเป็น ผู้ชี้ขาด ด้านคลังเผยความคืบหน้าตั้งซูเปอร์โฮลดิ้งได้ 2 แนวทางศึกษาหาความเหมาะสม
นายไกรสีห์ กรรณสูต ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า การจดทะเบียนแปลงสภาพ กฟผ. เป็นบริษัทนั้นคาดว่าภายในเดือนพฤษภาคมนี้น่าจะดำเนินการได้ โดยขณะนี้รอให้กระทรวงการคลังเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายก-รัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน หลังจากนั้นจึงจะนำเสนอ ครม. ให้พิจารณาอนุมัติตามขั้นตอน และภายในไตรมาส 4 จะระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามแผนที่วางไว้
สำหรับกรณีที่มีกระแสข่าวว่า การแปรรูป กฟผ.อาจต้องเลื่อนไป เพราะ ครม.ให้สิทธิประโยชน์แก่พนักงาน กฟผ.ไม่เป็นไปตามข้อเรียกร้องนั้นคงไม่ใช่เป็นเรื่องจริงแต่อย่างใด เนื่องจาก กฟผ.จะต้อง เข้าเกณฑ์การแปรรูปเหมือนกับรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ที่กำหนดให้รัฐวิสาหกิจที่จะแปรรูปได้รับสิทธิประโยชน์เท่ากันทั้งหมดที่ 6+2 หรือได้รับผลประโยชน์ 8 เท่าของเงินเดือนเช่นเดิม นอกจากนี้ยัง จะมีการปรับขึ้นเงินเดือนให้ทั้งก่อน และหลังแปรรูปรวม 30% ซึ่งภาพรวมถือว่าได้มากกว่าเดิม
ทั้งนี้สิทธิประโยชน์ 6+2 นั้น ประกอบด้วย 1.พนักงานจะได้รับการจัดสรรหุ้นโดยซื้อในราคาตาม มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) จำนวน 6 เท่าของเงินเดือน ซึ่งพนักงานจ่ายเงินซื้อหุ้นในราคาพาร์ โดยกระทรวงการคลังจะหาแหล่งเงินกู้ซึ่งให้สินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน 2.หุ้นให้เปล่าจำนวน 2 เท่าของเงินเดือน ซึ่งพนักงานไม่ต้องจ่ายเงินซื้อหุ้น โดยรัฐวิสาหกิจจ่ายแทน ในราคาพาร์ ซึ่งพนักงานจะได้รับหุ้นในจำนวนที่น้อยกว่าทางเลือกที่ 1 ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งเป็นผู้พิจารณาจัดสรรหุ้นให้พนักงานตามหลักเกณฑ์ในข้อ 1 และ 2 โดยให้กำหนดระยะเวลาขั้นต่ำที่พนักงานต้องถือครองหุ้นไว้ด้วย
นายวิเศษ จูภิบาล รมว.พลังงานกล่าวว่า นโยบายกระทรวงพลังงานไม่ต้องการเร่งรีบในการแปลงสภาพกฟผ.โดยต้องการให้เป็นไปตามขั้นตอน และมีความพร้อมทุกด้าน ส่วนการจดทะเบียนที่กำหนดไว้ภายในเม.ย.หรือพ.ค.นั้นเป็นเรื่องที่กฟผ. ต้องการดำเนินการเอง
นายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจกฟผ. (สร.กฟผ.) กล่าวว่า ที่ประชุมสหภาพฯมีมติให้คัดค้านการแปรรูปกฟผ.ต่อไป โดยที่ผ่านมาได้ระบุชัดเจนว่า สร.กฟผ.มิได้เคยเรียกร้องสิทธิประโยชน์ใดๆ เป็นการตอบแทน โดยยังยึดการต่อต้านการแปรรูปกฟผ.ด้วยการระดมทุนเข้าตลาดหลักทรัพย์เช่นเดิมทุกอย่าง หากแต่เมื่อผู้บริหารไปรับปากพนักงานส่วนหนึ่งไว้แล้วเมื่อทำไม่ได้ควรจะต้องพิจารณาตนเองด้วย
"สร.กฟผ.ก็พยายามที่จะคัดค้านแปรรูป แต่ก็ยอมรับว่าบทบาทอาจจะไม่มากนัก เพราะตอนนี้เราถูกผู้บริหารสกัดทุกทาง" นายศิริชัยกล่าว
แหล่งข่าวจากวงการพลังงานกล่าวว่า การแปรรูปกฟผ.นั้นท้ายสุดแล้วขณะนี้ไม่มีใครทราบนโยบายที่แท้จริงได้แม้แต่กระทรวงพลังงานเนื่องจาก อำนาจการตัดสินใจจะไปอยู่ที่กระทรวงการคลัง โดยเฉพาะนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่จะเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจ (กนร.) ที่จะต้องมองภาพรวมของการแปรรูปทั้งหมด และในขณะนี้คลังเองก็มีนโยบายที่จะจัดตั้งการบริหารรัฐวิสาหกิจด้วยรูปแบบซูเปอร์โฮลดิ้งซึ่งก็ทำให้กฟผ.เองเริ่มไม่มั่นใจว่าจะถูกไปสังกัดในนี้หรือไม่ จึงต้องพยายามเร่งตัวเองให้มีการแปรรูปเพราะอย่างน้อยการบริหารงานจะคล่องตัวกว่าการถูกจัดไปอยู่ในโฮลดิ้งที่อำนาจทุกอย่างจะหายไป
ทั้งนี้ กฟผ.เคยถูกจัดไว้ให้อยู่นอกโฮลดิ้งเพื่อให้เร่งระดมทุนเพื่อกระตุ้นตลาดหลักทรัพย์แต่ด้วยระบบบัญชีของกฟผ.มีปัญหาหลายด้านยังไม่พร้อมรองรับการเป็นบริษัทซึ่งทำให้ขณะนี้ฝ่ายบัญชีของกฟผ.ต้องทำงานหนักมากขึ้น ประกอบกับพนักงานกฟผ.ที่มีมากถึง 2.6 หมื่นคนยังคงเป็นปัญหาขององค์กรที่อุ้ยอ้ายรัฐบาลจึงมีนโยบายที่พยายามจะให้ลดคนก่อน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กฟผ.เองล่าสุดหลังจากมีความชักช้าเรื่องแปรรูป ก็มีโอกาสจะถูกจัดเข้าไปอยู่ในซูเปอร์โฮลดิ้ง เผยศึกษา 2 แนวทางทำซูเปอร์โฮลดิ้งส์
นายอารีพงษ์ ภู่ชะอุ่ม รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ล่าสุด สคร.ได้ร่างกฎหมายในการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ หรือซูเปอร์โฮลดิ้ง (Super Holding Company) แล้ว แต่อยู่ระหว่าง ทบทวนร่างดังกล่าวก่อนเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาต่อไป โดยร่างกฎหมายนี้จะมีลักษณะเป็น พระราชบัญญัติครอบคลุมถึงการตั้งคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแห่งชาติและบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ
โดยตัวกฎหมายจะระบุว่าเห็นควรให้มีคณะกรรมการดังกล่าวขึ้นมาเป็นเจ้าภาพหลักทำหน้าที่กำกับดูแลและกำหนดนโยบายในภาพรวมของรัฐวิสาหกิจทั้งหมด โดยมีบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติที่มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นเต็ม 100% ทำหน้าที่ครอบครองทรัพย์สินของรัฐผ่านการถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจโดยตรง หรือถือผ่านคลัสเตอร์ของรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นบริษัทลูกของบรรษัทได้
สำหรับรายละเอียดของการจัดกลุ่มรัฐวิสาหกิจ สคร.อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบที่เหมาะสม โดยก่อนหน้านี้ได้มีทีมของ สคร.เดินทางดูงาน การจัดกระบวนทัพรัฐวิสาหกิจเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของต่างประเทศประมาณ 3-4 แห่ง โดยมี 2 รูปแบบที่น่าสนใจ คือ กองทุนเทมาเส็ก (temasek) ของประเทศสิงคโปร์ และบริษัท ทรานส์เน็ต (Transnet Limited) ของสาธารณรัฐแอฟริกาใต้
เทมาเส็ก โฮลดิ้ง เป็นหน่วยงานด้านการลงทุน ของรัฐบาลสิงคโปร์ เริ่มต้นจากลงทุนในสิ่งที่เอกชนไม่สนใจ และบริหารเงินทุนด้วยตนเอง โดยใช้วิธีการ หาแหล่งทุนโดยการหาผู้ร่วมทุน และบริหารเงินทุนหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งก่อนหน้านี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ยกเทมาเซกเป็นตัวอย่างของแนวคิดในการดำเนินงานของบรรษัทนี้
ส่วนทรานส์เน็ต มาจากแนวคิดในการดึงรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ต้องการให้มีการปรับปรุงหรือยกเลิกและให้เอกชนซื้อกิจการ ไปบริหารแทนให้หน่วยงานที่มีชื่อว่า Department of Public Enterprises (DPE) กำกับดูแล ซึ่งรัฐวิสาหกิจที่อยู่ภายใต้การบริหารของ DPE มีจำนวน 6 แห่ง ได้แก่
1. Alexkor บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลัก ทรัพย์ที่มีรัฐเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด ทำธุรกิจด้านการทำเหมืองแร่เพชรบริเวณฝั่งแม่น้ำ ชายหาด และในทะเลชายฝั่งด้านตะวันตกของประเทศ 2. Denel บริษัทที่มีรัฐถือหุ้นทั้งหมดทำธุรกิจอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง หลักๆ คือการผลิตอากาศยาน และอาวุธ 3. Eskom ธุรกิจด้านไฟฟ้าทั้งการผลิต สายส่ง จำหน่าย และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งรัฐบาลแอฟริกาใต้มีแผนที่จะแปรรูปกิจการในอนาคตอันใกล้
4. Telkom ธุรกิจด้านการสื่อสารโทรคมนาคม รายใหญ่ของประเทศ ซึ่งรัฐบาลขายหุ้นให้กลุ่มนักลงทุนต่างชาติ 30% และมีการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 2003 ถือเป็นผลงานสำคัญ ของ DPE 5.Aventuraธุรกิจด้านการป่าไม้ และ 6. Transnet ธุรกิจด้านการขนส่ง ทรานส์เน็ต แปลงสภาพจาก South Transport Services เป็นบริษัท ในปี 1990 ดำเนินธุรกิจในรูปแบบ Hoding Company ในธุรกิจขนส่งทั้ง ระบบ โดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วยการลดต้นทุนการขนส่ง และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับธุรกิจการขนส่งทั้งระบบและมีบริษัทลูกที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการขนส่ง 9 แห่ง ครอบคลุมถึงการขนส่งระบบราง ถนน ท่าเรือ และท่อส่งก๊าซ รวมทั้งธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันถือหุ้นโดยรัฐบาลทั้งหมด
รูปแบบของ ทรานส์เน็ต ใกล้เคียงกับแนวคิด การพัฒนา Logistic ของประเทศไทยที่ต้องการเชื่อมระบบการขนส่งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ เข้าด้วยกัน เพื่อลดต้นทุนค่าขนส่งและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศซึ่งก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เดินหน้าเรื่องนี้ไปล่วงหน้าบ้างแล้ว แต่เพราะการประสานงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังเป็นไปในลักษณะที่ไม่เป็นทางการ เนื่องจากยังไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลทำหน้าที่เชื่อมประสาน ประกอบกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) ของภาครัฐ จึงต้องมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป
อย่างไรก็ตาม สาขาขนส่ง น่าจะเป็นกลุ่มหนึ่ง ที่นำมาจัดเป็นคลัสเตอร์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ Logistic ของประเทศได้ ปัจจุบันสาขาขนส่งประกอบด้วย รัฐวิสาหกิจ 14 แห่ง ประกอบด้วย
- การขนส่งทางบก 6 แห่ง ได้แก่ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) องค์การรถไฟฟ้ามหานคร (รฟม.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.)
- การขนส่งอากาศ 5 แห่ง ได้แก่ การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด (บทม.) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท วิทยุการบิน จำกัด (บวท.) และสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.)
- การขนส่งทางน้ำ 3 แห่ง ได้แก่ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) บริษัท ไทยเดินเรือทะเล จำกัด (บทด.) และ บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด (บอท.)
ส่วนสาขาอื่น อาทิ สาขาพลังงานเป็นกลุ่มที่รัฐบาลต้องการให้มีการแปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้สามารถระดมทุนสำหรับลงทุนในอนาคต ในสาขานี้ ประกอบด้วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่แปลงสภาพและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว ส่วน กฟผ. รัฐบาลพยายาม ผลักดันให้มีการแปลงสภาพเป็นบริษัทจำกัด ในปีนี้
สาขาการสื่อสาร เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มุ่งแปรรูป เพื่อให้โครงสร้างธุรกิจโทรคมนาคมมีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม โดยปัจจุบันได้แปลงสภาพเป็นบริษัททั้งหมด และมี บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ที่เข้าจดทะเบียนและกระจายหุ้นในตลาดแล้ว ขณะที่ บริษัท ทศท คอปอเรชั่น จำกัด และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด มีแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในไตรมาส 3-4 ปี 2548 นี้
อย่างไรก็ตาม การจัดกลุ่มรัฐวิสาหกิจยังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการ และแม้จะอยู่ในสาขาเดียวกัน แต่ก็ไม่จำเป็นต้องนำมามัดรวมในคลัสเตอร์เดียวกันทั้งหมด ซึ่งการศึกษารูปแบบการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจจากต่างประเทศ ประเด็นหลักคือ ดูว่า เขาทำทำไมและทำอย่างไร เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับแนวคิด และวัตถุประสงค์ในการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจของไทย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งที่จะลืมไม่ได้คือ การมองจุดด้อยหรืออุปสรรคปัญหาที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
ยกตัวอย่าง ผลดำเนินงานในช่วง 5 ปี (ค.ศ.2000-ค.ศ.2004) ของทรานส์เน็ตจะพบว่าในช่วง 2 ปีหลังประสบปัญหาขาดทุนเพิ่มขึ้น หลังจากมีผลกำไรต่อเนื่องติดต่อกันใน 3 ปีก่อนหน้า สาเหตุหลักมาจากธุรกิจด้านสายการบิน บริษัทลูกที่ทรานส์เน็ตถือหุ้นใหญ่อยู่ถึง 95% ซื้อเครื่องบินเพิ่ม ขณะที่ทรานส์เน็ตเองต้องการมุ่งธุรกิจขนส่งสินค้า ซึ่งเป็นงานที่เขาถนัดเพียงอย่างเดียว และต้องการขาย ธุรกิจนี้ทิ้ง แต่การพ่วงบริษัทลูกเหล่านี้สืบเนื่องจากรัฐบาลใส่ธุรกิจทุกประเภทที่เกี่ยวกับการขนส่ง ทั้งด้านการขนคน และขนสินค้า ไว้ให้ตั้งแต่ต้น
ทั้งนี้ ก็เพื่อให้การดูแลรัฐวิสาหกิจในแบบคลัสเตอร์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการวางแผนยุทธ-ศาสตร์ของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งไม่ซ้ำซ้อน แต่ให้วางยุทธศาสตร์ร่วมกันโดยใช้หลักการประหยัดของขนาด (Economy of scale) บรรลุผลอย่างแท้จริง และป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นเสียแต่ต้น
โดยสรุป หากย้อนดูถึงความพยายามในการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจไทยในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า ในปี 2543 รัฐบาลไทยมีแผนการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจรายสาขา โดยมีแผนแม่บทการพัฒนารัฐวิสาหกิจแต่ละสาขาเป็นกรอบทิศในการดำเนินงาน และหลังจากรัฐบาลทักษิณ 1 เข้ามาบริหารประเทศในปี 2544 ก็ได้กำหนดเรื่องการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเป็นนโยบายหลัก แต่ในทางปฏิบัติ มีรัฐวิสาหกิจเพียงบางแห่งที่สามารถเดินหน้าได้ตามแผน ขณะที่ ส่วนใหญ่ยังวนเวียนเข้าสู่กระบวนการจัดทัพใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องแปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์และกลุ่มที่ต้องฟื้นฟูให้พ้นสภาพขาดทุนและกลับมาสร้างกำไร
|
|
|
|
|