Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2537








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2537
เอ็มเอสเอ็ม. ผู้ว่าเมืองทองธานี             
โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
 


   
search resources

บางกอกแลนด์, บมจ.
อนันต์ กาญจนพาสน์
Real Estate




เอ็มเอสเอ็ม. กำลังเตรียมความพร้อมในการบริหารชุมชนขนาดใหญ่ในเมืองทองธานี เพื่อทำให้ลูกค้าได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดี แต่หากการโอนและการเข้าอยู่อาศัยไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ปัญหาการบริหารเมืองก็ต้องเกิดขึ้นตามมาแน่นอน อนันต์ กาญจนพาสน์ กำลังถูกท้าทายความสามารถครั้งใหญ่อีกครั้ง สินค้าดี ทำเลดี ราคาถูก จ่ายดาวน์ไปหมด แล้ว เตรียมระบบสาธารณูปโภคไว้พร้อม ทำไมไม่มาโอนเป็นคำถาม ที่เขาเองยังหาคำตอบให้ไม่ได้

โครงการเมืองทองธานี บนถนนแจ้งวัฒนะ นนทบุรี เป็นโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัยในเมืองไทย

อนันต์ กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริหารบริษัทบางกอกแลนด์ เจ้าของโครงการ ได้ประมาณการไว้ว่าในปี 2545 จะมีประชากรเข้ามาอยู่อาศัยในโครงการทั้งหมดที่ประมาณ 374,000 คน

อนันต์ จะสามารถดึงคนให้เข้ามาอยู่ในโครงการในจำนวนและระยะเวลาที่เขาคาดการณ์ไว้ได้หรือไม่เป็นเรื่องที่กำลังท้าทายความสามารถของเขาอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม ณ. วันนี้เขาก็จำเป็นต้องเตรียมการสำหรับการบริหารชุมชนขนาดใหญ่นี้ไว้ด้วยเช่นกัน เขาจะจัดการอย่างไรให้เมืองที่คนจะทยอยกันเข้ามาอยู่หลายแสนคนนี้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุข เพราะมันคือจุดที่จะเร่งเร้าให้คนอีกส่วนหนึ่ง ที่ยังไม่มาโอนรีบตัดสินใจที่จะเข้ามาอยู่อาศัยเช่นกัน

เป็นการบริหารเมืองที่ใหญ่ที่สุดโดยภาคเอกชนซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นเช่นกันในเมืองไทย

บริษัทเมืองทอง ซอร์ แมเน็จเม้นท์ จำกัด (เอ็มเอสเอ็ม) เป็นบริษัทที่จะเข้ามาบริหารเมืองและชุมชนขนาดใหญ่แห่งนี้ เอ็มเอสเอ็มเป็นบริษัทที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่างบริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) 51% และบริษัท ซอร์ (ไทย) จำกัด 49% เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2535 ด้วยทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาทซอร์ (ไทย) เป็นบริษัทในเครือของบวิคกรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านการก่อสร้างในประเทศฝรั่งเศส และเป็นบริษัทที่รับผิดชอบในการก่อสร้างโครงการต่าง ๆ ในเมืองทองธานี

เมื่อซอร์เป็นบริษัทในเครือของบวิค ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่บวิคได้ทำการก่อสร้างไว้ ซอร์ก็สามารถเรียนรู้และจัดการดูแลและแก้ไข ได้ด้วยประสบการณ์ที่ทำมาด้วยกันช้านาน นี่คือจุดสำคัญที่ทำให้อนันต์เลือกที่จะร่วมงานกับซอร์ โดยไม่มองบริษัทบริหารอาคารชุดอื่น ๆ ในเมืองไทยเลย

ในระยะแรกนี้เอ็มเอสเอ็ม. จะเข้าไปดูแลในส่วนของโครงการที่เป็นคอนโดมิเนียมทั้งหมด คือคอนโดอุตสาหกรรม 8 ตึก 576 ยูนิต เลควิว 3,061 ยูนิต และป๊อปปูล่าคอนโดมิเนียม ซึ่งประกอบไปด้วยอาคารครูเมืองทอง อาคารเมืองทองธานีเพื่อข้าราชการ อาคารไพลินสแควร์ทั้งหมด 27 ตึก 26,650 ยูนิต เฉพาะโครงการป๊อปปูล่าคอนโดมิเนียมโครงการเดียวนี้ แต่ละตึกจะมีจำนวนยูนิตตั้งแต่ 917-1,027 ยูนิต หรือประมาณ 1,000 ครอบครัวทั้งหมด 27 ตึก ซึ่งก็จะเท่ากับ 27 หมู่บ้าน ต่อครอบครัวคาดว่ามีพ่อ แม่ และลูก 1 คน รวมกัน 3 คน ก็เท่ากับว่าจะมีคนอยู่อาศัยเฉพาะโครงการนี้ประมาณ 100,000 คน

หน้าที่หลักของเอ็มเอสเอ็ม. ในขณะนี้ประกอบด้วยงานหลัก 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ

1. งานบริการทางด้านการจัดการเช่น การจัดเก็บค่าใช้จ่ายส่วนกลางและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ จากเจ้าของร่วม ควบคุมดูแลให้เจ้าของร่วมปฏิบัติตามข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุด จัดวางระบบงานบริหารสำนักงานด้านบัญชีและการเงินของนิติบุคคลอาคารชุด

2. งานทางด้านบริการและดูแลทรัพย์ส่วนกลางของนิติบุคคลอาคารชุด เช่นบริการในเรื่องความปลอดภัย รักษาความสะอาดการจัดเก็บขยะและบริการ ดูแลระบบ สาธารณูปการ ในพื้นที่ส่วนกลางทั้งหมดเช่น ลิฟท์ ระบบไฟฟ้า ระบบน้ำประปา

สำหรับผู้ที่จะเข้ามารับผิดชอบในเอ็มเอสเอ็ม. นั้น อนันต์ได้ส่งชัยสิทธิ์ กาญจนพาสน์ น้องชายคนหนึ่ง เข้ามาเป็นประธานกรรมการบริษัท และทางบริษัทซอร์ได้ส่ง โรเบิร์ต จีฮองมาเป็นกรรมการผู้จัดการ โดยมีกำลังฝ่ายไทยที่สำคัญอีกคนคือ ไพลิน บูรณะมิตรานนท์ มาดูงานทางด้านการบริหาร และประชาสัมพันธ์

ทั้ง 3 คนนี้จะเป็นบุคคลสำคัญในการทำหน้าที่บริหารเมือง โรเบิร์ต จีฮอง หนุ่มใหญ่วัย 47 ปี ชาวฝรั่งเศสคนนี้ได้เริ่มงานกับบวิคกรุ๊ป จำกัด ในตำแหน่งวิศวกรโครงการตั้งแต่ปี 2513 ก่อนที่จะถูกส่งมาทำงานในเมืองไทย ได้เป็นผู้จัดการฝ่ายรับผิดชอบงานบริหารสาธารณูปโภค เช่นงานดูแลระบบระบายน้ำและบำบัดน้ำเสีย งานจัดเก็บขยะและสิ่งปฏิกูล งานระบบไฟฟ้าของบริษัทในกลุ่ม และเมื่อปี 2530-2532 เคยทำงานในบริษัท H.D.R. ในกลุ่มบวิค ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่าย ปฏิบัติการบริหารงานก่อสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ บริหารงานขายและบริหารอาคารบริษัทในเครือในสหรัฐอเมริกา

ดังนั้นโรเบิร์ต จึงมีความชำนาญเป็นพิเศษในเรื่องของงานระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ของอาคารไม่ว่าระบบระบายน้ำ ระบบกำจัดขยะ และงานทางด้านนิติกรรม งานทางด้านสัญญา เช่นสัญญาทางด้านการประกันภัย สัญญาซ่อมบำรุง สัญญาจ้างผู้รับเหมาต่าง ๆ

ส่วนไพลินนั้นเป็นสาวสวยวัย 40 ปี จบการศึกษาขั้นปริญญาตรี คณะศิลปศาสตร์ บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับ 1 แล้ว มีประสบการณ์ทางด้านประชาสัมพันธ์ในบริษัทใหญ่มากมายเช่น งานด้านประชาสัมพันธ์ที่บริษัท เพรสโก้ พับบลิค รีเรชั่น จำกัด ในตำแหน่งล่าสุดที่นี่ คือ ACCOUNT GROUP DIRECTOR ผู้จัดการฝ่ายโฆษณา ประชาสัมพันธ์ บริษัท ไทยแลนด์ เอ็กซิบิชั่น แอนด์ แมเนจเม้นท์ จำกัด และเมื่อปี 2535 รับตำแหน่งผู้จัดการอาวุโสแผนกประชาสัมพันธ์ บริษัท โซนี่ไทย

จุดเด่นของโรเบิร์ตอยู่ที่มีความชำนาญเกี่ยวกับเรื่องงานระบบต่าง ๆ ของระบบสาธารณูปโภค ไพลินมีความสามารถและประสบการณ์ในแง่ของงานประชาสัมพันธ์ เพื่อประสานความเข้าใจร่วมกันกับลูกบ้าน ต้องผนึกกันอย่างเหนียวแน่น ในการดูงานชุมชนในเมืองทองธานี

โรเบิร์ตนั้นยอมรับกับ "ผู้จัดการรายเดือน" ว่า เมืองทองธานี เป็นเมืองที่มีจำนวนยูนิตมาก ที่สุดเท่าที่ตนเคยรับงานบริหารอาคารชุดมา แต่เขามั่นใจว่าเขาจะบริหารเมืองนี้ได้

"งานบริหารนิติบุคคลอาคารชุดแต่ละประเทศจะไม่มีทางเหมือนกันขึ้นอยู่กับ ธรรมเนียมและประเพณีของแต่ละประเทศ เมื่อผมทำที่อื่นได้ทำไมจะทำที่นี่ไม่ได้" โรเบิร์ตยืนยัน

ส่วนไพลินนั้นกล่าวว่า งานบริหารอาคารชุดเป็นงานใหม่สำหรับตัวเอง แต่เชื่อว่าการ อยู่อาศัยในคอนโด ก็ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับบ้านเราเช่นกัน ดังนั้น ไม่แปลกถ้าตนจะพยายามศึกษา และ เรียนรู้

การศึกษาค้นคว้าข้อมูลด้วยตัวเอง โครงการตระเวณไปดูงานในหมู่บ้านจัดสรร และคอนโดต่าง ๆ เป็นเรื่องที่เธอต้องทำเป็นการบ้านอย่างหนักในช่วงแรกของการรับงาน เมื่อประมาณต้นปี 2536 ในขณะเดียวกันหากมีการสัมมนาเกี่ยวกับเรื่องนิติบุคคลอาคารชุดที่ไหน ไพลินไม่พลาดเลยที่จะเข้าร่วมสัมมนา ในวงการที่อยู่อาศัยเริ่มรู้จักเธอมากขึ้นพร้อมกับให้ความสนใจเป็นอย่างมากว่า ผู้หญิงตัวเล็ก ๆ เช่นเธอจะรับมือกับงานหนักในเมืองใหญ่ในขนาดนั้นได้อย่างไรกัน

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของไพลินจะประกอบไปด้วยงานประชาสัมพันธ์ และลูกค้าสัมพันธ์ ซึ่งจะครอบคลุมถึงการเผยแพร่ภาพพจน์ของบริษัทไปยังสาธารณชน งานเผยแพร่บริการความรู้เกี่ยวกับการจัดการนิติบุคคลอาคารชุด ไปยังลูกค้าโดยการจัดทำคู่มือเอกสารเผยแพร่ รวมถึงการจัดบอร์ดข่าวสารประจำอาคาร ประกาศจดหมายเวียน และจุลสารไปยังลูกค้า เพื่อให้เกิดการสื่อสารกับลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะผู้ที่เข้าไปอยู่ในอาคารแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีการจัดเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์บริการลูกค้าของบางกอกแลนด์ เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับเอ็มเอสเอ็ม. และการจัดการนิติบุคคลอาคารชุดแก่ลูกค้าที่เข้ามาติดต่อสอบถาม

ไพลินหวังว่าหน่วยงานต่าง ๆ ที่วางไว้นี้จะสร้างความเข้าใจ และความสัมพันธ์กับลูกบ้าน ได้ในระดับหนึ่ง

ในแต่ละตึกของป๊อปปูล่า คอนโดมิเนียมเอ็มเอสเอ็ม. จะจัดเจ้าหน้าที่ประจำตึกไว้ 3 คน คือผู้จัดการอาคารชุด ผู้ช่วยผู้จัดการอาคารชุด และแคชเชียร์ ส่วนของช่างที่จะดูแลแก้ไขในเรื่องต่าง ๆ จะมีประจำ 24 ชั่วโมง

"เท่าที่ผ่านมา ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก็ไม่มีเรื่องอะไรร้ายแรง แต่จะเป็นปัญหาหนักในเรื่อง ที่ว่า การทำความเข้าใจกับผู้ที่เข้ามาอยู่อาศัย ให้ปฏิบัติตัวตามกฎระเบียบข้อบังคับของการอยู่ร่วมกันของนิติบุคคลอาคารชุด ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่เข้าใจ" ไพลินเล่าให้ผู้จัดการฟัง เธอบอกว่างานสนุกมาก แต่เหนื่อยตรงอธิบายให้คนเข้าใจในบางเรื่องเช่นการติดคอมเพรสเซอร์แอร์ การติดให้สวยงาม และถูกหลักควรติดตรงไหน หรือการอธิบายให้เข้าใจถึงการใช้พื้นที่ในทรัพย์สินส่วนกลาง เช่นการวางรองเท้า หรือถังขยะตรงหน้าทางเดิน ยังเป็นเรื่องยากที่จะให้เข้าใจ

ปัญหาดังกล่าวนั้น เป็นปัญหาเดียวกับที่ผู้จัดการอาคารชุดรายอื่น ๆ กำลังประสบ ผู้บริหารต้องอาศัยเวลาและความใจเย็นมาก ๆ ที่จะต้องคอยชี้แจงไม่เช่นนั้นแล้วคอนโดมิเนียมอาจจะกลายเป็นสลัมแห่งใหญ่ไปเลยก็ได้

ทางด้านโรเบิร์ตเองเขามองว่า ปัญหาต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องทำความเข้าใจกับคน หรือปัญหาเรื่องสาธารณูปโภค เช่นน้ำไม่ไหล หรือไฟดับบ้างนั้นเป็นเพียงเรื่องเทคนิคที่สามารถแก้ไขและจัดการได้

แต่สิ่งที่โรเบิร์ตกำลังหนักใจอย่างมากก็คือ ปัญหาที่จะเกิดขึ้นมาจากอัตราการเข้าอยู่อาศัยจะมีผลกระทบต่อแผนงานที่วางไว้ต่างหาก

เพราะนั่นมันหมายถึงว่า ถ้าไม่มีคนเข้ามาโอนหรือโอน แล้วมีคนเข้ามาอยู่อาศัยน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก ปัญหาการจัดเก็บเงินค่าบำรุงรักษาทรัพย์สินส่วนกลางต่าง ๆ รวมทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ก็จะเป็นปัญหาต่อเนื่องมาทันที เอ็มเอสเอ็ม. จะเอาเงินจำนวนมหาศาลเพื่อบริหารเมืองนี้ได้จากที่ไหน

ปัจจุบันลูกบ้านจะต้องเสียค่าใช้จ่ายกับเอ็มเอสเอ็ม. เพื่อใช้ในการบริหารงานนิติบุคคลอาคารชุด และการดูแลทรัพย์ส่วนกลาง 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือเงินกองทุนส่วนกลางและค่าใช้จ่ายรายเดือน

เงินกองทุนส่วนกลางจะจ่าย เมื่อมีการโอนเสร็จแล้ว และต้องไปรับกุญแจห้องชุดจากเจ้าหน้าที่ของเอ็มเอสเอ็ม. เงินส่วนนี้เป็นเงินเรียกเก็บล่วงหน้าในระยะเริ่มต้น เพื่อใช้เป็นทุนของนิติบุคคลอาคารชุด สำหรับค่าใช้จ่ายในระยะเริ่มต้นและในกรณีฉุกเฉิน หรือมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาซ่อมแซมอาคาร อุปกรณ์ และสิ่งปลูกสร้างรายการใหญ่ ๆ ที่นอกเหนือจากการบำรุงรักษาปกติ

อัตราเงินกองทุนที่เรียกเก็บจากแต่ละห้องชุด จะขึ้นอยู่กับอัตราส่วนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลาง สำหรับโครงการเลควิวคอนโดมิเนียม อัตราเงินกองทุนจะเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 6,000-20,000 บาทต่อห้องชุด และโครงการป๊อปปูล่าคอนโดมิเนียม จะเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 1,200-2,000 บาทต่อห้องชุด

ส่วนค่าใช้จ่ายรายเดือนเป็นเงินเรียกเก็บล่วงหน้าเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือน สำหรับการจัดการ และการดูแลทรัพย์ส่วนกลางของอาคาร ซึ่งค่าใช้จ่ายรายเดือนที่เจ้าของห้องชุดจะชำระประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ซึ่งคิดตามอัตราส่วนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลางของแต่ละห้องชุด และค่าบริการสาธารณูปโภค

ปัจจุบันนิติบุคคลอาคารชุด เรียกเก็บค่าใช้จ่ายรายเดือนเพียง 40% ของอัตราที่กำหนดไว้ในข้อบังคับเนื่องจากยังมีผู้อยู่อาศัยเพียงบางส่วน เอ็มเอสเอ็ม. จึงพยายามควบคุมค่าใช้จ่ายให้อยู่ในระดับต่ำที่สุด

โครงการเลควิวคอนโดมีเนียม จะเรียกเก็บประมาณ 500-1,000 บาทต่อห้องชุด ป๊อปปูล่าคอนโดมีเนียม ประมาณ 180-380 บาทต่อเดือนต่อห้องชุด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอัตราส่วนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลางแต่ละห้อง

สำหรับทรัพย์ส่วนกลางของอาคารนั้นเช่นบันไดขึ้นลง บันไดหนีไฟ ห้องหม้อแปลงไฟฟ้า ระบบน้ำมีแทงค์น้ำดื่มและดับเพลิง พื้นที่บริเวณทางเดิน สวนพักผ่อนและสวนหย่อมพื้นที่ประมาณ 1,200 ตรม. ต่อ 1 ตึก บริเวณที่จอดรถรอบอาคารดาดฟ้า ฯลฯ

ปัจจุบันค่าใช้จ่ายต่ออาคารที่เกิดขึ้นนั้นประมาณ 2-3 แสนบาทต่อเดือน และคาดว่าจะต้อง ใช้เต็มที่ถึง 5 แสนบาทต่อเดือนเมื่อคนเข้ามาอยู่เต็มที่

การเก็บเงินกองทุนนั้น ทางเอ็มเอสเอ็ม. ยังได้ระบุไว้ว่า ถ้าหมดก็มีสิทธิ์ที่จะเรียกเก็บ เพิ่มได้อีกเช่นเดียวกัน กับค่าใช้จ่ายรายเดือนซึ่งจะเรียกเก็บเพิ่มขึ้นอีกก็ได้ ขึ้นอยู่กับที่ประชุมใหญ่ และถึงแม้ว่าในมาตรา 43 และ 44 ของ พรบ. อาคารชุดปี 2522 จะระบุไว้ว่า การประชุมร่วมหรือการประชุมใหญ่นี้ ต้องมีผู้มาประชุม ซึ่งมีเสียงลงคะแนนรวมกันไม่น้อยกว่า หนึ่งในสามของจำนวนเสียงลงคะแนนทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม และมติของที่ประชุมใหญ่ ต้องได้รับคะแนนเสียงข้างมากของเจ้าของร่วมที่เข้าประชุมเอ็มเอสเอ็ม. ก็ไม่น่าจะมีปัญหาในเรื่องนี้เพราะหากคนที่มาโอนยังไม่มาก เจ้าของร่วมส่วนใหญ่ ที่จะลงคะแนนเสียงก็ยังเป็นบริษัทบางกอกแลนด์นั่นเอง

แต่บริษัทบางกอกแลนด์จะรับภาระหนักตรงที่ว่า หากห้องใดยังไม่ทำการโอน ค่าใช้จ่ายส่วนกลางต่อเดือนเหล่านั้น เอ็มเอสเอ็ม. จะต้องเรียกเก็บจากบางกอกแลนด์ หากบางกอกแลนด์ยอมจ่าย ก็ไม่มีปัญหา และถ้ามีการลงมติให้เก็บเพิ่ม บางกอกแลนด์ก็ต้องยอมจ่ายเงินในส่วนที่เพิ่มเช่นกัน

ในขณะเดียวกัน ถ้าห้องใดทำการโอนแล้วแต่ยังไม่มาเข้าอยู่อาศัย เรียกเก็บค่าใช้จ่ายรายเดือนไม่ได้ เอ็มเอสเอ็ม. ก็สามารถที่จะดึงเงินกองทุนมาใช้ได้เช่นกัน เมื่อกองทุนหมดทางบางกอกแลนด์ ก็ต้องจ่ายส่วนนี้เพิ่มเช่นกัน

แม้คนเข้ามาอยู่น้อยก็ไม่มีปัญหาถ้าบางกอกแลนด์ จะยอมรับภาระในเรื่องนี้ต่อไป แต่บางกอกแลนด์จะแบกหนี้สินตัวนี้ไปได้นานแค่ไหน และถ้าบางกอกแลนด์ไม่ลงมติให้เก็บเพิ่มการบริหารของเอ็มเอสเอ็ม. ก็มีปัญหา เจ้าของร่วมคนอื่น ๆ ก็จะได้ผลพวงของความเดือดร้อนต่อเนื่องต่อทันที

เมื่อเอ็มเอสเอ็ม. บริหารเมืองไม่ได้ถึงแม้พรบ. อาคารชุดจะเปิดช่องไว้ว่า ในที่ประชุมใหญ่สามารถเปลี่ยนบริษัทที่จ้างเข้ามาบริหารนี้ได้ แต่เมื่อเจ้าของร่วมส่วนใหญ่ยังเป็นชื่อของบางกอกแลนด์ การเปลี่ยนบริษัทก็คงไม่เกิดขึ้น หรือถ้าแม้จะเกิดขึ้นบริษัทไหนจะกล้าแอ่นอกเข้ามารับงานใหญ่ขนาดนี้ ยิ่งปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐยิ่งเป็นปัญหาว่ารัฐบาลเองคงไม่มีความสามารถและประสบการณ์ในการจัดการเป็นแน่

นอกจากปัญหาดังกล่าวแล้วโรเบิร์ต จีฮอง ก็ยังกล่าวว่า เขาต้องการให้คนมาอยู่ในแต่ละตึกมากกว่า 50% โดยเร็ว เพราะมันจะสร้างให้เมืองมีชีวิตชีวามากขึ้นในการให้บริการ มีความเห็นมีข้อเสนอแนะเข้ามา มันจะทำให้เป็นเมืองที่เต็มรูปแบบขึ้น

และที่สำคัญผลประโยชน์ที่จะจัดเก็บให้กับบางกอกแลนด์ ก็ย่อมเป็นกอบเป็นกำและมีช่องทางทำเงินได้อีกมากมายในเมืองใหญ่นี้

แต่จะสำเร็จหรือไม่นั้น คงต้องฝากไว้ที่กลยุทธ์ต่าง ๆ ที่จะดึงคนให้เข้ามาโอนและเข้ามาอยู่อาศัยให้เร็วที่สุด จากมันสมองของอนันต์ กาญจนพาสน์   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us