Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2537








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2537
สมพงษ์ ฝึกการค้า นักบริหารสายสัมพันธ์             
 


   
search resources

สมพงษ์ ฝึกการค้า




สมพงษ์ ฝึกการค้าเกิดเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2478 บุตรของนายประถมและนางกิมเฮง เป็นชาวอำเภอสามชุก จ. สุพรรณบุรี เขาไม่ใช่นักอุตสาหกรรมมาตั้งแต่ต้น เคยเป็นตำรวจชั้นผู้น้อยเพียงยศสิบตำรวจโทในกองทะเบียนกรมตำรวจ

ในช่วงปี 2497 เขาได้เริ่มทำธุรกิจส่วนตัวด้านรถเมล์หรือรถให้เช่าต่างจังหวัด ครั้งหนึ่งได้เคยไปทำสัญญากับกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา ตั้งเป็นบริษัท สหสยาม ทรานสปอร์ตขึ้นมา จัดบริการรถขนส่งทหารจากหน่วยทหารไปยังดอนเมือง

ต่อมาจึงได้เริ่มมาเรียนรู้งานบริษัท ธนบุรี จำกัด โดยเป็นผู้จัดการขายรถเบนซ์ ระหว่างนั้นก็ไปช่วยงานเพื่อหาประสบการณ์เกี่ยวกับรถประจำทางกับงานผู้จัดการรถขนส่งที่วิ่งสายบางลำพู-ซังฮี้ด้วย หลังจากนั้นจึงได้ไปเป็นผู้จัดการของบริษัท บางแคขนส่ง จำกัด แต่ด้วยพรหมลิขิตหักเหอยู่ช่วงหนึ่งเขาได้เริ่มหันมาจับงานรับเหมาก่อสร้าง จนกระทั่งตั้งเป็นบริษัทบางกอกมอเตอร์อิควิปเมนท์ขึ้นมา แล้วจึงเปิดบริษัทลูกคือบางกอกไมโครบัสในวันนี้

ประสบการณ์ที่น่าประทับใจของสมพงษ์นอกจาก โครงการไมโครบัสที่จะเขาหวังจะให้เป็นอันดับหนึ่งของโลกแล้ว "บางกอก วอเตอร์ รีซอร์ส" ก็ดูจะเป็นอีกโครงการหนึ่งที่สมพงษ์ต้องจดจำไปจนตาย

ด้วยการที่สมพงษ์รู้จักบริหารสายสัมพันธ์กับทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มการเมืองเป็นอย่างดีกับ ส.ส. พรรคชาติไทยที่ชื่อบุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ ซึ่งเป็นส.ส. ผูกขาดของสุพรรณบุรีเกือบทุกสมัย คราใดที่บุญเอื้อ ลงเลือกตั้ง จะมีสมพงษ์อยู่ขนาบข้างคอยเป็นหัวคะแนนให้ จนกระทั่งเมื่อบุญเอื้อได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในปี 2526 สมพงษ์ ก็เคยไปช่วยงานในฐานะหน้าห้องของบุญเอื้อด้วย

จากความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้เอง ทำให้สมพงษ์ต้องมาเกี่ยวข้องกับโครงการ "บางกอกวอเตอร์ รีซอร์ส" ในขณะนั้น เนื่องด้วยในปี 2526 ได้เกิดความหวาดวิตกในขณะนั้นว่าจังหวัดสมุทรปราการจะต้องประสบกับปัญหาพื้นดินทรุดต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ทำให้มีการออกมาตรการป้องกันการขุดน้ำบาดาลในพื้นที่แถบนั้น จึงเป็นที่มาของการเชื้อเชิญให้เอกชนมาลงทุนใน โครงการสร้างระบบจ่ายน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม

แต่แล้วเมื่อมีการเชื้อเชิญให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนอยู่ถึง 4 ปี ก็ไม่สามารถค้นหาบริษัทที่มีความเหมาะสมสำหรับโครงการนี้

จนกระทั่งเมื่อพรรคชาติไทยเข้าไปมีบทบาทจัดตั้งรัฐบาลในปี 2530 และประมวล สภาวสุได้ขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ก็ได้มีการเปิดประมูลโครงการนี้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง มีผู้เสนอเข้าร่วมลงทุน 4 รายด้วยกัน หนึ่งในจำนวนนั้นคือ บริษัท บางกอกมอเตอร์ อิควิปเมนท์ จำกัด ของสมพงษ์นั่นเอง ซึ่งในที่สุดทางบางกอกมอเตอร์ฯ ก็สามารถคว้าประมูลงานนี้มาได้ในที่สุด

สาเหตุที่ได้โครงการนี้มาอย่างง่ายดายนั้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเนื่องด้วยความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับพรรคชาติไทยในขณะนั้น

โดยข้อเสนอของบางกอกมอเตอร์ฯ ที่เสนอให้คือ จะใช้เงินประมาณ 1,050 ล้านบาท เพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาด 15 ล้านลูกบาศก์เมตร 2 อ่างบนเนื้อที่ 2,000 ไร่ พร้อมระบบท่อส่งน้ำ โดยแบ่งการลงทุนในระยะ 5 ปีแรกเป็นเงิน 550 ล้านบาท และพร้อมจะลงทุนเพิ่มอีก 500 ล้านบาท หากการผลิตในช่วงแรกไม่พอเพียง

เมื่อชนะการประมูลแล้ว สมพงษ์ก็ได้เริ่มระดมทุนจากนักธุรกิจหลายรายที่เขาบริหาร "สายสัมพันธ์" ไว้ได้ดีตั้งบริษัท บางกอกวอเตอร์ รีซอร์ส ขึ้นด้วยทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ซึ่งต่อมาได้เพิ่มทุนเป็น 250 ล้านบาท โดยมีกรรมการบริษัท 15 คน คือ สมพงษ์ ฝึกการค้า, ชาลี โสภณพนิช, บูรพา อัตถากร (ซึ่งปัจจุบันก็ยังเป็นหนึ่งในกรรมการของบางกอกไมโครบัส) ม.ล. กุทัณฑ์ สนิทวงศ์, สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ แห่งแบงก์แหลมทอง, อารักษ์ สุนทรสแห่งสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ทั้ง 2 คนต่างยังคงเป็นกรรมการหลักของบางกอกไมโครบัส) ไพบูลย์ อิงคะวัติ, ธารินทร์ นิมมานเหมินทร์, ชาญชัย ลี้ถาวร, กรพจน์ อัศวินวิจิตร, เพิ่มพูน ไกรฤกษ์, พีรศิลป์ ศุภผลศิริ จากบริษัท ชาตรีโสภณ, โสมนัส ชุติมาจากแบงก์กรุงไทย และวีระ รมยะรูป

สาเหตุสำคัญที่สมพงษ์โดดเข้าไปโครงการน้ำดิบนี้ เพราะเขามองว่า จะสามารถใช้เครื่องจักรที่บางกอกมอเตอร์อิควิปเมนท์นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศได้ โดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าเพราะได้ รับการส่งเสริมจาก บีโอไอ.

หลังจากสมพงษ์ได้เริ่มตระเวนทยอยซื้อที่ดินผืนใหญ่นับ 5,000 ไร่ ซึ่งภาวะราคาซื้อขายรอบนอกกรุงเทพฯ ในขณะนั้นยังต่ำมาก โดยที่ดินบริเวณบางนา-ตราด กิโลเมตรที่ 29.5 ที่เรียกว่าถนน รัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นที่ดินแปลงใหญ่นั้น มีการตีราคาเฉลี่ยแล้วไร่ละเพียง 350,000 บาทเท่านั้น นอกจากนี้ทางบางกอกวอเตอร์ รีซอร์สยังได้ซื้อในนามของบริษัท บางเสาธง เพื่อการเกษตรในที่ดินบริเวณบางพลี จำนวนประมาณ 144 ไร่ คิดเป็นราคาซื้อขายขณะนั้นเพียง 18 ล้านกว่าบาทเท่านั้น

ในช่วงนั้นทางบางกอกวอเตอร์ รีซอร์สก็ได้เริ่มมีกำไรจากการขายน้ำ บวกกับขายดินที่ขุดขึ้นมาในช่วง 2 ปีแรกเป็นรายได้มหาศาล โดยประมาณการว่าในช่วงแรกของการเริ่มโครงการนั้น จะได้ดินประมาณ 8.8 ล้านคิว ซึ่งโครงการจะใช้เองครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งขายได้เป็นเงินมากถึง 459 ล้านบาท ในขณะที่ช่วงที่สองของโครงการ หากดินขุดได้ 4.58 ล้านคิว จะมีดินที่เหลือพอไปขายได้ถึง 2.5 ล้านคิว จะคิดเป็นเงินได้ถึง 289 ล้านบาท

ซึ่งเพียงแค่นี้ สมพงษ์กับบางกอกวอเตอร์รีซอร์สก็รับทรัพย์กันอานแล้ว ถ้าหากโครงการนี้ไม่มาเจอทางตันเสียก่อน

เพราะทางบางกอกวอเตอร์ รีซอร์สต้องเจอกับเกมการเมืองของกลุ่มสหภาพการประปานครหลวง ซึ่งต่อต้านเอกชนที่รุกล้ำเข้ามาในอุตสาหกรรมน้ำซึ่งโรงงานอุตสาหกรรมเหล่านั้น เคยเป็นลูกค้าของเขา จากการประท้วงของกลุ่มสหภาพนี้เองทำให้การเซ็นสัญญาเพื่อให้บางกอกวอเตอร์ รีซอร์สได้รับสัมปทานนั้นต้องล่าช้าออกไปอีก

การที่ต้องไปเสียเวลากับการประท้วงนี้เอง เมื่อต้องมาเซ็นสัญญากันวันที่ 5 เมษายน 2532 ก็ปรากฏว่าราคาที่ดินแถวบางนาตราด ซึ่งเคยซื้อได้ไร่ละไม่กี่หมื่นบาท ไม่เป็นอย่างที่คิดแล้ว เพราะราคาที่ดินได้ถีบตัวสูงขึ้นเป็นหลักล้านในเวลาไม่นาน

ทำให้แผนการที่จะกว้านซื้อที่ดินให้ครบ 5,000 ไร่ มาได้แค่ครึ่งทาง ผู้บริหารของบางกอกวอเตอร์ รีซอร์สจำเป็นต้องเลิกล้มโครงการไป โดยอ้างถึงต้นทุนที่ดินที่แพงเกินกว่าจะดำเนินการได้ ทำให้กระทรวงอุตสาหกรรมต้องริบเงินประกันตามสัญญา 10.5 ล้านบาท

แต่สิ่งที่ล้มเลิกไปนั้นคือโครงการ แต่อสังหาริมทรัพย์ที่คงอยู่นั่นเองที่ยังเปิดช่องให้สมพงษ์กับผู้บริหารบางกอกวอเตอร์รีซอร์ส โกยเงินได้อีกบานตะไท

เพราะบางกอกวอเตอร์ รีซอร์สได้ซื้อที่แถบนั้นได้ถึง 2,800 ไร่ ซึ่งถ้าตรีมูลค่าปัจจุบันจะได้ไม่ต่ำกว่า 2 พันกว่าล้านบาท แผนการขายหลักทรัพย์ที่ดินจำนวน 2 พันกว่าไร่จึงเกิดขึ้นราวปลายปี 2532 หลังจากล้มเลิกโครงการแล้ว เงินนับพันล้านเหล่านี้ก็ได้นำไปแบ่งจ่ายคืนแก่ผู้ถือหุ้น 200 ล้านบาท จ่ายหนี้คืนแบงก์ไทยพาณิชย์ 700 ล้านบาท แบงก์กรุงเทพ 160 ล้านบาท และแบงก์กรุงไทย 10 ล้านบาท

เรียกได้ว่าแจ็คพอทหล่นใส่สมพงษ์ เพราะแทนที่จะรับเคราะห์ กลับกลายเป็นว่าคิดถูก เพราะขายที่ดินออกไปยังดีกว่าทำน้ำขายเสียอีก เพราะการขายน้ำนั้นกว่าจะถึงจุดคุ้มทุนต้องใช้เวลาถึง 11 ปี

ข้อสำคัญคือ ทุกคนยังมีสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และสามารถโยงใยช่วยเหลือกันได้เสมอ เมื่ออีกฝ่ายหนึ่งตกอยู่ในภาวะอับปาง

วันนี้ของบางกอกไมโครบัส จึงไม่ได้เกิดขึ้น เพราะแนวคิดที่แปลกใหม่ การทุ่มเททางด้านงบประมาณรถยนต์ หรือส่งเสริมการขายเพียงเท่านั้น

บุญเก่าที่สมพงษ์สร้างสมไว้ให้สายสัมพันธ์ทั้งหลายในอดีตก็มีส่วนทำให้เขามีวันนี้   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us