การเข้ามาลงทุนในประเทศไทยของบริษัทไครสเลอร์หนึ่งในสามยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตรถยนต์แห่งเมืองดีทรอยต์ สหรัฐอเมริกา โดยสินค้าตัวแรกที่นำออกสู่ตลาดคือ รถจี๊ปเชโรกี เริ่มเป็นข่าวมาตลอด โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนหลังจากที่บริษัท ไทยไครสเลอร์ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนเมษายน ที่ผ่านมา
ไทยไครสเลอร์เป็นการร่วมทุนระหว่างไครสเลอร์กับบริษัทสวีเดนมอเตอร์ ตัวแทนจำหน่ายและผู้ประกอบรถวอลโว่ในสัดส่วน 30 และ 70 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ บริษัทใหม่นี้มีโครงการลงทุนขั้นแรกมูลค่า 100 ล้านบาท ซึ่งผู้บริหารในบริษัทหลายตำแหน่ง ได้ถูกเลือกเฟ้นมาจากมือดีในอุตสาหกรรมรถยนต์ทั้งในและต่างประเทศ
การร่วมลงทุนกันครั้งนี้ มีนัยสำคัญมากไปกว่าการตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่บริษัทหนึ่งเท่านั้น สำหรับไครสเลอร์แล้วมันคือก้าวแรกในการลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อเป็นฐานการผลิตป้อนสู่ตลาดโลก
สำหรับสวีเดน มอเตอร์นี่คือก้าวสำคัญก้าวแรกที่จะไปสู่การมีรถยนต์จำหน่ายครบทุกตลาด
ย้อนไปในปี 2522 รัฐบาลให้การสนับสนุนผู้ผลิตชิ้นส่วนและการประกอบรถยนต์ในประเทศ ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ การส่งเสริมด้วยนโยบายนี้ทำให้ตลาดเป็นของผู้ผลิต จะมีไม่กี่แห่งที่ประกอบรถกันได้ และส่วนใหญ่ที่ประกอบก็คือรถเก๋งเพราะขายได้ดีกว่า ไม่มีใครกล้าจะผลิตรถ ประเภทอื่น
จนกระทั่งถึงรัฐบาลไทยในยุคนายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุน ก็ได้มีการประกาศนโยบาย ให้นำเข้ารถยนต์เสรีเมื่อกลางปี 2534
ผลกระทบที่เห็นได้ชัดก็คือ ปริมาณการนำเข้ารถยนต์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสถิติในปี 2522-2523 มีจำนวน 20,000-30,000 คัน ปี 2531-2532 ประมาณ 65,000 คัน แต่หลังจากมีนโยบายนำเข้ารถยนต์เสรี ปี 2535 ยอดขายรถเพิ่มขึ้นทันทีเป็น 120,000 คัน
จากการวิจัยของไครสเลอร์พบว่า สิ้นปี คศ.2000 ตลาดรถยนต์เมืองไทย น่าจะมีปริมาณการใช้รถประมาณปีละ 1 ล้านคัน
แม้ว่าบางกระแสจะกล่าวว่าเป็นการไม่สนับสนุนผู้ประกอบรถยนต์ในประเทศ แต่ท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขึ้นทำให้ราคารถลดลง ตลาดรถยนตร์เป็นของผู้บริโภคอีกครั้ง
"ตลาดส่วนใหญ่ยังคงเป็นตลาดรถเก๋งอยู่ รถประเภทรถตรวจการณ์ หรือที่เรียกว่า OFF ROAD PASSENGER VEHICLE ยังไม่มีการนำเข้ามากนักเพราะรถขนาดใหญ่อย่างนั้นอัตราภาษีนำเข้าสูงมาก" อภิเชต สีตกะลิน รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายการตลาดและฝ่ายขายของไทยไครสเลอร์กล่าวถึงข้อจำกัด การเติบโตของตลาดรถยนต์ออฟโรด
ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาประตูการนำเข้ารถออฟโรดก็เปิดกว้างขึ้น เมื่อรัฐบาลประกาศเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาษีจาก 38-45 เปอร์เซ็นต์ เป็น 27 เปอร์เซ็นต์ ทำให้รถยนต์ที่มีขนาดใหญ่ ที่เป็นการ นำเข้าเป็นส่วนใหญ่มีราคาที่ถูกลง
การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นผลมาจากแรงกดดันของสหรัฐอเมริกา ที่ต้องการขจัดอุปสรรค กีดขวางการขยายตลาดของผู้ผลิตอเมริกัน
"ตลาดรถออฟโรดเริ่มเติบโตจากยอดขายทั้งตลาดประมาณ 50 คันต่อเดือน เพิ่มเป็น 200 คันต่อเดือน จากสถิติเดือนมิถุนายน คาดว่าในสิ้นปีนี้ยอดขายจะไปถึงประมาณ 300-400 คันต่อเดือน" อภิเชต กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
การเติบโตของตลาดรถประเภทนี้อาจเนื่องมาจากการแข่งขันที่สูงขึ้นจากบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่น อย่างมิตซูบิชิที่นำรถรุ่นปาเจโรเข้ามาขาย และอีซูซุเจ้าของรถรุ่นทรูปเปอร์ รวมทั้งรถจากประเทศอังกฤษอย่างโรเวอร์ ที่มีรุ่นเรนจ์ โรเวอร์และจิ๊ปเชโรกีของไทยไครสเลอร์เอง
หลังจากที่ไครสเลอร์ในอเมริกา ได้ซื้อกิจการบริษัทอเมริกัน มอเตอร์ เจ้าของรถจี๊ป ซึ่งเป็นต้นตำรับรถยนต์ตรวจการ หรือเรียกว่ารถประเภทออฟโรด เมื่อปี 1987 ไครสเลอร์ก็ได้ปรับปรุงคุณภาพของรถ เพิ่มความหรูหราสะดวกสบายมากขึ้น จนทำให้กลายเป็นรถยนต์ที่ทำรายได้ติดอันดับ จนเรียกได้ว่าเป็นสินค้าที่เป็นธงนำของบริษัท
ผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปีนี้ ไครสเลอร์มียอดขายรถทุกประเภทรวมกัน 95,172 คัน เพิ่มขึ้นจากระยะเวลาเดียวกันจากปีที่แล้วคิดเป็น 19 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่รถจี๊ปเชโรกีขายได้ 24,772 คัน เพิ่มขึ้นจากระยะเวลาเดียวกันจากปีที่แล้ว 36 เปอร์เซ็นต์ และรุ่นแกรนด์ เชโรกี ขายได้ 10,807 คันเพิ่มขึ้น 26 เปอร์เซ็นต์
ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นก็คือการผลิตที่ไม่ทันต่อความต้องการของตลาด ซึ่งปีที่แล้วผู้ที่จองรถเชโรกีจำนวน 17,000 ราย ไม่ได้รับรถ ไครสเลอร์จึงเริ่มที่จะต้องมองหามาตรฐานการผลิตรถแห่งใหม่เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด
ผลของการศึกษาสรุปลงที่ประเทศไทย ที่สำคัญก็คือการผลิตรถออฟโรดอย่างเชโรกี ใช้เวลาการประกอบสูง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการใช้คนมากกว่าระบบอัตโนมัติ เพราะชิ้นส่วนมาก ค่าแรงคนงานเป็นส่วนสำคัญที่ต้องพิจารณา แรงงานไทยก็ยังคงเป็นแรงงานที่ถูกอีกทั้งยังมีคุณภาพ โดยมีการพัฒนามาเป็นลำดับในยุคที่รัฐบาลมีนโยบายให้มีการผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ และประกอบรถในประเทศ เป็นเวลาร่วม 10 ปี
การได้ร่วมทุนกับสวีเดนมอเตอร์ เรียกได้ว่า ไครสเลอร์นั้นได้ผู้ร่วมทุนที่มีประสบการณ์การผลิตรถยนต์มานานกว่า 2 ทศวรรษ ซึ่งโรงงานนั้นพอที่จะขยายการผลิตเพื่อการส่งออกได้ดีกว่าการเริ่มต้นที่ศูนย์
ในขณะที่สวีเดนมอเตอร์ได้มีการทำวิจัยถึงความต้องการของตลาด ผลวิจัยนพบว่าความต้องการที่มีต่อรถออฟโรดนั้นมีสูงมากขึ้น ในขณะที่ยังไม่มีใครทำการตลาดอย่างจริงจังการร่วมมือครั้งนี้ คนในวงการเชื่อว่าเป็นฝีมือการสานประโยชน์ของทัศเดช อรุณสมิทธิ กรรมการบริษัท สวีเดนมอเตอร์และปัจจุบันยังมาเป็นประธานกรรมการของบริษัทไทยไครสเลอร์ด้วย
"ล่าสุดจากผลการดำเนินงานของไทยไครสเลอร์ที่วางเป้ายอดขายไว้ 300 คันในปีนี้ ปรากฏว่า ณ สิ้นเดือนกันยายนบริษัทได้ส่งมอบรถจี๊ป เชโรกีให้กับลูกค้าไปทั้งสิ้น 300 คันแล้ว และกำลังจะนำเข้าเพิ่มอีก 200 คัน สำหรับลูกค้าที่จะมีไปจนถึงสิ้นปีนี้" อภิเชตกล่าว
ไครสเลอร์ได้แสดงความเอาจริงเอาจังกับการผลิต เริ่มต้นด้วยการจัดสัมมนาผู้ผลิตชิ้นส่วนเพื่อบอกค่ามาตรฐาน ของชิ้นส่วนที่จะต้องเทียบเท่ากับมาตรฐานของไครสเลอร์อีกทั้งร่วมลงทุนขยายโรงงานไทยสวีดิช แอสเซมบลี้ อีก 100 ล้านบาท เพื่อประกอบเชโรกีโดยเฉพาะ สำหรับจำหน่ายในประเทศและส่งออกด้วย เริ่มที่ 5,000 คัน ในกลางปีหน้าซึ่งเดิมทีในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ก็มีโรงงานประกอบไครสเลอร์ เชโรกีอยู่แล้ว แต่เป็นโรงงานของผู้นำเข้าตั้งขึ้นเพื่อประกอบและจำหน่ายเพียงในมาเลเซียและอินโดนีเซียเท่านั้น
การร่วมมือกับไครสเลอร์ทำให้สวีเดนมอเตอร์มีสินค้าที่เป็นเจ้าตำรับรถออฟโรดเข้ามาจำหน่ายสนองความต้องการของตลาด โดยมีความโดดเด่นและภาพพจน์ของสินค้าที่มีตราจี๊ป เป็นประกัน นอกจากนี้ยังจะมีรถในเครืออย่างเช่นรุ่นนีออน ซึ่งเป็นรถเก๋ง ที่จะมีราคาไม่ถึงล้าน แต่กำลังทำยอดขายได้สูงในตลาดรถเก๋งในสหรัฐ ฯ
สวีเดน มอเตอร์ เดิมทีมีการประกอบรถยนต์โดยใช้สวีดิช แอสเซมบลี้ ประกอบรถยนต์วอลโว่ และเรโนลต์การจำหน่ายโดยผ่านทางสวีเดน มอเตอร์ จำหน่ายวอลโว่และมาเซราติ
เมื่อการร่วมมือกับไครสเลอร์เกิดขึ้น แม้จะเป็นคนละบริษัท แต่สวีเดน มอเตอร์ก็คือผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ได้เพิ่มสินค้าในบริษัท จนครบในทุกระดับราคาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นรถสปอร์ตหรูหรา อย่างมาเซราติ รถเก๋งราคาล้านกว่าบาทขึ้นไปอย่างวอลโว่ รถออฟโรดอย่างจี๊ป และในอนาคต คือรถราคาที่ต่ำกว่าล้าน อย่าง นีออนก็กำลังจะตามมา
สำหรับงานชิ้นแรกของไทยไครสเลอร์ก็คือ การปั้นจี๊ปเชโรกี ให้เป็นดาวในตลาดรถออฟโรด
"เราเป็นบริษัททำตลาดจี๊ปเป็นสินค้าหลักของเราเลย จี๊ปเองก็มีภาพพจน์ที่ดีอยู่แล้วด้วยนอกจากนี้เรื่องความทนทานเราก็มีตามแบบฉบับรถอเมริกัน บริษัทไครสเลอร์เองก็ส่ง ผู้บริหารมาช่วยเป็นที่ปรึกษาทางด้านการบริการและการตลาดกับเราด้วย" อภิเชตกล่าว
ความจริงแผนการตลาดได้เริ่มมานานแล้ว ตามการบริหารสไตล์อเมริกันที่มักจะอิงการวิจัยเป็นสำคัญ ก่อนที่ไทยไครสเลอร์ จะนำเข้าเชโรกีเข้ามา ได้มีการวิจัยความต้องการของตลาดอยู่ก่อนแล้วและพบว่า ลูกค้าจะห่วงเรื่องความไม่คล่องตัวเพราะรถใหญ่ความไม่สะดวกเพราะมักจะเป็นระบบเกียร์ธรรมดา นอกจากนี้ยังต้องการความเป็นรถอเนกประสงค์ให้ทั้งความหรูหราและทนทานกับงานหนัก ใช้ทั้งในเมืองและในป่า ไทยไครสเลอร์จึงนำเข้ารถเชโรกี ที่แก้ปัญหาที่มีอยู่ของลูกค้า บนจุดยืน ที่ว่าคล่อง แรงและเร็ว แต่งภายในอย่างหรู เครื่องยนต์ 4 ลิตรที่แรง ไม่อืดอาด วงเลี้ยวที่แคบ เพิ่มความแคล่วคล่อง เกียร์อัตโนมัติ และเบรคเอบีเอส เพื่อความปลอดภัย และสะดวกในการใช้งาน รวมถึงความทนทานของรถยนต์สไตล์รถอเมริกันยี่ห้อ จี๊ป
"ถ้าเป็นรถที่มีลักษณะเดียวกับเรา ราคาจะสูงกว่า 2 ล้านบาท แต่เราสามารถสร้างและขายได้ในราคาล้านกว่าบาทเพราะ จี๊ปผลิตรถประเภทนี้มานาน ต้นทุนการวิจัยจะลดลงอีกทั้งอะไหล่ต่าง ๆ จะถูกกว่าบริษัทที่เริ่มผลิตรถรุ่นนี้ทีหลังเรามีการบริหารต้นทุนที่ดีกว่า" อภิเชตเปรียบเทียบความได้เปรียบ เสียเปรียบกับคู่แข่งในตลาดเดียวกัน
นอกจากการลงทุนในเรื่องโรงงานผลิตแล้ว ไทยไครสเลอร์ยังมีแผนการสร้างศูนย์บริการ อีก 5 แห่ง ในขณะนี้มีอยู่แล้วที่สุขุมวิท 59 ต้นปี หน้าจะเปิดที่เพชรบุรี ในเดือนเมษายนที่รามอินทรา สิ้นปีหน้าที่แจ้งวัฒนะ และบางแค
สำหรับในต่างจังหวัดตอนนี้ไครสเลอร์ใช้กลไกของสวีเดนมอเตอร์ ซึ่งมีอยู่ 14 แห่งเพื่อการจำหน่ายและบริการ
ตลาดรวมรถออฟโรดที่มีขนาดใหญ่และใช้งานได้จริงจะมีปริมาณรถประมาณ 2,000 คันในสิ้น ปีนี้ เชโรกีลงทุนงบประมาณ ทางด้านการส่งเสริมการขายไป 15 ล้านบาท เริ่มที่ส่วนแบ่ง 20 เปอร์เซ็นต์ปีหน้าการตลาดน่าจะมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากกว่านี้ เพราะฐานการผลิตอยู่ในไทย ที่จะสามารถผลิตอยู่ในไทย ที่จะสามารถผลิตรถได้ไม่ต่ำกว่า 5,000 คันในเดือนพฤษภาคมปีหน้าพร้อมกับงบประมาณการ ส่งเสริมการตลาด ที่จะเพิ่มเป็น 40 ล้านบาท
ส่วนประกอบทั้งทางด้านการผลิตและเงินทุน จากบริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมรถในสหรัฐฯ ผนวกกับประสบการณ์ทางด้านการตลาดของสวีเดนมอเตอร์ทำให้ ไทยไครสเลอร์เป็นที่น่าจับตามองว่า จะเป็นหัวหอกของยักษ์ใหญ่จากดีทรอยต์ และเป็นกลยุทธ์ในการขยายตลาดของสวีเดนมอเตอร์ได้ อย่างมีอนาคต
|