การแก้ปัญหาความหนาแน่นแออัดของกรุงเทพด้วยการสร้างเมืองบริวารหรือเมืองใหม่พร้อมกันหลาย ๆ เมืองเพื่อรองรับความเติบโตของกทม.เป็นได้แค่เพียงความคิด แต่ยังไม่มีความเป็นไปได้ เพราะแม้แต่โครงการเมืองใหม่แห่งที่ 2 ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่รัฐบาลอนุมัติให้มีการจัดซื้อที่ดินได้เมื่อปี 2536 ขณะนี้ก็กำลังส่อเค้าถึงปัญหาแห่งความยุ่งยากในการจัดซื้อที่ดิน
ตั้งแต่ปี 2520 เป็นต้นมาถึงปัจจุบันประเทศไทยมีโครงการเมืองใหม่ ซึ่งดำเนินงานด้วยภาครัฐบาลเพียงแห่งเดียวคือ เมืองใหม่บางพลี ซึ่งตั้งอยู่บนถนนบางนา-ตราด กิโลเมตรที่ 23 โดยมีวัตถุประสงค์ให้เป็นเมืองบริวารรองรับการเติบโตของกรุงเทพมหานครที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดปัญหาอย่างรุนแรงในเรื่องการขาดแคลนที่อยู่อาศัยปัญหาการจราจร และระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการต่าง ๆ
17 ปีที่ผ่านไป การสร้างโครงการเมืองใหม่บางพลีในพื้นที่ 4,469 ไร่ ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ในขณะที่ตามแผนการเดิมนั้นระบุได้ว่า จะต้องใช้เวลาในการสร้างเมืองประมาณปี 2534 แต่ขณะนี้การสร้างเมือง ได้ล่าช้าไปมากจึงได้ขยายเวลาไปจนถึงปี 2545 ซึ่งเท่ากับว่ารัฐบาลต้องใช้เวลาถึง 25 ปีเพื่อพัฒนาเมืองใหม่ 1 เมือง
ปัจจุบันในชุมชนของเมืองใหม่บางพลีมีประชากรที่เข้ามาอยู่อาศัยประมาณ 135,000 คนส่วนใหญ่จะเป็นประชากรแฝง เพราะมีทะเบียนประมาณ 40,000 คนเท่านั้น ที่เหลืออีกประมาณ 95,000 คน จะเป็นผู้เช่าที่อยู่อาศัยในโครงการ ซึ่งคนที่มาเช่าเหล่านี้เป็นคนที่เข้ามาทำงานในส่วนของโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนตัวเลขประมาณการได้กำหนดไว้ว่าในปี 2545 จะมีคนเข้ามาอยู่อาศัยจริงประมาณ 120,000-150,000 คน
เจ้าหน้าที่จากธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งในชุมชนเมืองใหม่บางพลียืนยันกับผู้จัดการว่าขณะนี้ บางพลีเป็นชุมชนที่ใหญ่มาก นอกจากจะมีจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในนี้เพิ่มขึ้น ๆ เป็นจำนวนมากแล้ว อัตราเงินหมุนเวียนต่อเดือนยังสูงถึง 1,400-1,500 ล้านบาท
แต่กว่าจะถึงวันนี้ได้เมืองใหม่บางพลี ก็เคยเป็นเมืองร้างมาแล้วชั่วระยะเวลาหนึ่ง เพราะหลังจากก่อสร้างที่อยู่อาศัยในเฟสแรกเสร็จ จำนวนคนที่ไม่ยอมมาโอน หรือมาโอนแล้ว แต่ยังไม่เข้ามาอยู่อาศัยเป็นจำนวนมากเหมือนกัน
ย้อนหลังกลับไปเมื่อปี 2528 ประชาชนเริ่มทยอยเข้าไปอาศัยในเมืองใหม่บางพลีเพียง 5,500 คนเท่านั้น และในปี 2533 มีประชาชนเข้าอาศัยเพิ่มขึ้นเป็น 20,000 คนและเมืองเริ่มคึกคักขึ้นเมื่อประมาณปี 2530 นี้เอง ซึ่งเท่ากับใช้เวลาประมาณเกือบ 10 ปีหลังเริ่มโครงการ เมืองถึงจะเป็นเมือง
สาเหตุที่ทำให้คนเข้าอยู่อาศัยล่าช้านั้น ทางฝ่ายโครงการเมืองใหม่การเคหะแห่งชาติเคยสรุปไว้ว่า เป็นเพราะการปล่อยให้เมืองเดิมคือกรุงเทพมหานครขยายตัวออกไปถึงเมืองใหม่ มีผลให้เมืองใหม่ ไม่สามารถเติบโตไปอย่างที่วางแผนไว้ เพราะเอกชนที่อยู่ระหว่างเมืองเดิมและเมืองใหม่ได้พัฒนาพื้นที่จนประชาชนไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าไปอยู่ในเมืองใหม่ และอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญก็คือ การก่อสร้างที่อยู่อาศัยแบบสร้างบางส่วนที่เรียกกันว่า "บ้านคอกม้า" ไม่เหมาะสมกับความต้องการของประชาชน เพราะผู้อยู่อาศัยต้องหาเงินมาต่อเติมอาคารก่อนเข้าอยู่อาศัย รวมทั้งย่านพาณิชย์กรรมที่เกิดขึ้นช้ามาก ทำให้กิจกรรมต่าง ๆ ที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมีไม่มากพอจึงไม่สามารถดึงดูดคนเข้าไปอาศัยได้
เมืองใหม่บางพลีได้แบ่งการพัฒนาพื้นที่ออกเป็น 2 เฟส ๆ แรกในพื้นที่ 1,665 ไร่นั้นจะประกอบไปด้วยที่อยู่อาศัยจำนวน 2,505 หน่วย และย่านอุตสาหกรรม 500 ไร่ ใช้เวลาในการก่อสร้างทั้งหมด 8 ปีคือตั้งแต่ปี 2523 เสร็จสิ้นปี 2531
ส่วนในเฟสที่ 2 นี้กำลังก่อสร้างคอนโดมิเนียมที่อยู่อาศัย 1,700 หน่วย แฟลตให้เช่า 6,500 หน่วย บนพื้นที่ 2,804 ไร่ และการเคหะยังเหลือพื้นที่อีกประมาณ 200 ไร่ในเขต CBD (CENTRAL BUSINESS DISTRICT) ซึ่งเป็นศูนย์กลางธุรกิจการค้าของเมือง โดยวางแผนที่จะทำโครงการเอง และร่วมทุนกับ ภาคเอกชน
ในส่วนที่จะดำเนินการเองขณะนี้อยู่ในระหว่างการตอกเสาเข็ม ตัวโครงการจะเป็นคอมเพล็กซ์ ที่มีความสูงประมาณ 8-12 ชั้น ในอาคารเดียวกันจะประกอบไปด้วยร้านค้า 3-4 ชั้นพื้นที่ ๆ เหลือจะเป็น ที่อยู่อาศัย
ในการร่วมลงทุนกับภาคเอกชน ก็กำลังติดต่อให้เอกชนที่สนใจเสนอรูปแบบการลงทุนที่น่า สนใจเข้ามา
"การสร้างเมืองใหม่เป็นเรื่องที่ยากมาก ไม่ว่าจะเป็นการขอ น้ำ ไฟ ประปา หรือรถเมล์ โรงพยาบาล ทั้ง ๆ ที่เป็นหน่วยงานของรัฐด้วยกันแต่ทำได้ด้วยความล่าช้ามากในเมืองใหม่บางพลีเกือบ 10 ปีแล้วเราเพิ่งขอรถเมล์เพื่อออกมานอกชุมชนได้เพียง 3 สาย มีโรงพยาบาลของสุขาภิบาลซึ่งรับคนไข้ ได้เพียงไม่กี่เตียง" เจ้าหน้าที่รายหนึ่งในเมืองใหม่บางพลีกล่าว
"กรุงเทพฯ มีคนอพยพเข้ามาประมาณ 200,000 -400,000 คนต่อปี ถ้าเมืองใหม่ที่รัฐมีนโยบายว่าจะสร้างกำหนดตนไว้ประมาณ 2 แสนคนต่อ 1 เมืองต่อปี เราควรมีเมืองใหม่ 1-2 เมือง แต่ปัจจุบันนี้การอนุมัติเพื่อจัดซื้อที่ดินเพียงแห่งเดียวต้องใช้เวลากันตั้งหลายปี และจะไม่ให้ เกิดปัญหาได้อย่างไร" แหล่งข่าวอีกคนหนึ่งจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกล่าวอย่างอัดอั้นตันใจ
ในขณะเดียวกันถ้าเมืองใหม่แห่งหนึ่ง ๆ ต้องใช้เวลาในการสร้างเมืองถึง 25 ปี อย่างโครงการเมืองใหม่บางพลีก็เป็นเรื่องน่าคิดต่อไปว่า ถ้ารัฐบาลไม่เห็นความสำคัญในการสร้างเมืองบริวารของกรุงเทพฯ พร้อม ๆ กันทีเดียวหลาย ๆ เมือง มีหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบอย่างจริงจังมีรูปแบบการปกครองที่ดี เมืองหลวงของเมืองไทยจะตกอยู่ในสภาพอย่างไรกัน
|