ในขณะที่ค่ายเพลงคู่แข่งอย่างแกรมมี่ กระโดด
เข้าสู่สนาม e-business อย่างเต็มตัว แต่ค่ายเพลงอย่างอาร์เอสกลับไม่รีบร้อน
แม้ว่าการมาของเทคโนโลยีใหม่ๆ จะเปิดทางให้กับค่ายเพลงที่มีเนื้อหาอยู่ในมือ
ก้าวเข้าสู่โลกใบใหม่ของการทำธุรกิจ ที่ไม่จำกัดอยู่แค่สื่อวิทยุ หรือโทรทัศน์เพียงอย่างเดียว
แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะรีบร้อนกระโจนเข้าสู่กระแสใหม่ในทันที ขึ้นอยู่กับมุมมองทางธุรกิจแต่ละราย
เช่น ค่ายเพลงอาร์เอส
"ถึงแม้เทคโนโลยีมันพัฒนาไปแล้ว แต่เราต้องรอให้ตลาดพร้อมก่อน" วรพจน์
นิ่มวิจิตร ผู้อำนวยการสายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัทอาร์.เอส.โปรโมชั่น 1992
จำกัด กล่าว "เราไม่จำเป็นต้องรีบร้อน"
ถึงกระนั้นก็ตาม เสียงเพลงจากศิลปินของค่ายอาร์เอส ก็ได้เข้าไปมีส่วนร่วมอยู่ในบริการ
ring tone หรือเสียงเพลงเรียกเข้าโทรศัพท์มือถือ แต่เป็นเพียงแค่ผู้ป้อนเนื้อหา
content provider ที่ป้อนข้อมูลให้กับผู้ให้บริการหรือ Service Provider
ที่เป็นเจ้าของเว็บไซต์ อย่างชินนี่.คอม สยามทูยู เอ็มเว็บ และระคุ ระคุ
อีกครั้งหนึ่ง
ทุกวันนี้ อาร์เอสมีรายได้จากการเป็น content provider ที่ขายลิขสิทธิ์เพลงให้กับผู้ให้บริการเหล่านี้
เดือนละ 1 ล้านบาท แม้จะเป็นตัวเลขไม่มาก เมื่อเทียบกับรายได้จากการขายเทปเพลง
ภาพยนตร์ หรือละคร แต่เป็นแนวโน้มใหม่ที่อาร์เอสเองก็ไม่ได้ละเลย
วรพจน์มองว่าด้วยสภาพตลาดที่ยังไม่ขยายตัว อาร์เอสทำตัวเป็นแค่ผู้ให้บริการเนื้อหา
หรือ content provider ก็น่าจะเพียงพอแล้ว
"ในเมื่อ Service Provider เหล่านี้ เขาทำได้ดีอยู่แล้ว เราจะไปทำแข่งกับเขาทำไม"
วรพจน์บอก
ไม่เพียงแต่การไม่ไปแข่งขันกับผู้ให้บริการ สภาพตลาดที่ยังจำกัดวรพจน์เชื่อว่า
การดาวน์โหลดเพลงจากเว็บไซต์ ยังต้องใช้เวลา ไม่จำเป็น ต้องรีบร้อน
"ในอเมริกา ยังต้องใช้เวลา ผมมองว่า ตลาดกว่าจะพร้อม ก็ต้องอีก 5-6 ปี
เมื่อถึงเวลานั้นก็ไม่สายเกินไปที่เราจะเริ่มต้น"