Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2537








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2537
การประชุมเอเปค             
โดย สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์
 


   
search resources

International




ในปัจจุบันความร่วมมือระหว่างประเทศในทางเศรษฐกิจ มีให้เห็นเป็นโครงข่ายที่ครอบคลุม และเชื่อมโยงภูมิภาคต่าง ๆเข้าไว้ด้วยกันทั้งในแนวลึกและในแนวกว้าง จนในบางครั้งความร่วมมือต่าง ๆ มีความซับซ้อนหรือมีความขัดแย้งกัน กลายเป็นสงครามการค้าระหว่างเขตไป หรือมีความเป็นกลุ่มของการกีดกันทางการค้า (DISCRIMINATORY TRADING BLOCS ) แต่อย่างไรก็ดีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่มีอยู่มักจะเป็นผลพวงของการผลักดันเพื่อก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกันในหมู่สมาชิก

เช่นเดียวกันกับกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกหรือเอเปก (APEC: ASIA PACIFIC ECONOMIC COOPERATION ) ที่ก่อตั้งขึ้นจากข้อเสนอของนายบ๊อบ ฮอว์ค นายก รัฐมนตรีออสเตรเลีย โดยมีสมาชิกทั้งสิ้น 17 ประเทศ คือ ประเทศในกลุ่มอาเซี่ยน 6 ประเทศ สหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี จีน ฮ่องกง ไต้หวัน เม็กซิโก และปาปัวนิวกินี ในขณะที่ชิลี จะเข้ามาเป็นสมาชิกในเดือนพฤศจิกายน 2537 โดยในการก่อตั้งเริ่มแรกนั้น เอเปกมีความหมายของการเป็นเวทีเพื่อการปรึกษาหารือ ( CONSULTATIVE FORUM) แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในด้านแนวทางการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ภาวะทางเศรษฐกิจทั่วไปของประเทศสมาชิก รวมทั้งเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าการลงทุน การถ่ายทอดเทคโนโลยีต่าง ๆ การพัฒนาทางด้านทรัพยากรบุคคล และลดอุปสรรคทางด้านการค้าระหว่างประเทศสมาชิก โดยมีกลุ่ม อีพีจี (EPG: EMINENT PERSON GROUP) ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่จะคอยให้คำแนะนำถึงทิศทางและบทบาทของเอเปก

กลุ่มเอเปกนี้จะครอบคลุม ประชากรจำนวน 40 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก ในขณะที่มีการ ปฏิสัมพันธ์ทางการค้าสูงเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ของโลก เป็นความร่วมมือที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ร้อนแรงที่สุดในยุคนี้และมีการขยายตัวของประชากรที่สูงเช่นกัน

ในวันที่ 15 พฤศจิกายน นี้จะมีการประชุมผู้นำเอเปก ที่เกาะ BOGOR ประเทศอินโดนีเซียโดยเป็นการประชุมหารือในระดับของเจ้าหน้าที่อาวุโสในระหว่างวันที่ 6-10 พ.ย. และการประชุมในระดับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในระหว่างวันที่ 11-12 พ.ย. ก่อนหน้าที่จะมีการประชุมผู้นำเอเปก โดยจะมีการพิจารณาเพื่อหาข้อสรุปในการที่จะผลักดันให้ความร่วมมือนี้ก้าวไปสู่การเป็นเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างเสรี ตามข้อเสนอของกลุ่มอีพีจีโดยตั้งเป้าหมายที่จะบรรลุความสำเร็จดังกล่าวได้ที่ปีค.ศ. 2020 อันเป็นแนวทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับเนื้อหาข้อตกลงของแกตต์

กลุ่มอีพีจีได้เสนอให้ใช้นโยบาย "ภูมิภาคเปิด" ( FREE AND OPEN TRADE AND INVESTMENT IN THE REGION ) โดยเปิดให้สมาชิกมีการค้าขายในภูมิภาคอย่างเสรี ในขณะเดียวกันก็เปิดเสรีให้สมาชิกนอกกลุ่มที่ต้องการทำตามเงื่อนไขของเอเปกด้วย และให้ประเทศสมาชิกเอเปกได้เริ่มปรับลดอุปสรรคทางด้านการค้าและการลงทุนตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการเป็นเขตการค้าเสรีอย่างสมบูรณ์ให้ได้ในปี ค.ศ. 2020 โดยระบุแยกหมวดประเทศในการปรับลดภาษีตามสถานภาพทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ ให้เวลากับประเทศที่พัฒนาแล้วในการเปิดเสรีอย่าง สหรัฐฯ แคนาดา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ภายในระยะเวลา 10 ปี ให้เวลา 15 ปีสำหรับประเทศอุตสาหกรรมใหม่อย่าง เกาหลีใต้ และไต้หวันในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาจะต้องเปิดเสรีภายในระยะเวลา 20 ปี ได้แก่ประเทศ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย เป็นต้น และยังได้เสนอให้มีการส่งเสริมการลงทุน และการค้า ความร่วมมือทางด้านการเงิน การคลัง นโยบายทางด้านเศรษฐกิจ และการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ร่วมกัน เป็นต้น

ความเห็นของกลุ่มอีพีจีนี้ ได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากสหรัฐ ฯ และออสเตรเลีย ในขณะที่ประเทศในแถบเอเชียอย่างมาเลเซีย ปฏิเสธการกระชับบทบาทของเอเปกดังกล่าว เนื่องจากความหวาดกลัวในการเข้าครอบงำทางเศรษฐกิจของประเทศตะวันตกที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯโดยให้การสนับสนุนต่อการร่วมมือกันในหมู่ประเทศในแถบเอเชีย ได้แก่ความร่วมมือทางเขตเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก (EAEC:EAST ASIA ECONOMIC CAUCUS) อันประกอบด้วยประเทศในกลุ่มเอเซียน ( 6 ประเทศ) เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง จีน และญี่ปุ่น ในขณะที่ประเทศเจ้าภาพในการประชุมในปีนี้อย่างอินโดนีเซียได้เริ่มที่จะให้ความสนับสนุนต่อคำแนะนำของอีพีจี ถึงแม้ว่า อินโดนีเซียจะเป็นประเทศที่มีการปกป้องเศรษฐกิจภายในอยู่มากก็ตาม ทว่าจีนกลับมีแนวโน้มที่จะไม่ให้ความร่วมมือในข้อเสนอดังกล่าว เนื่องจากเหตุผลของสภาพความไม่พร้อมทางเศรษฐกิจนั้นเอง

สภาพความแตกต่างทางเศรษฐกิจในหมู่ประเทศสมาชิกนี้เอง ที่ทำให้ความสอดประสานของความเต็มใจในการดำเนินตามแนวทาง ของกลุ่มอีพีจี เป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่น

แต่อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าจะเป็นไปได้ในการที่จะกระชับความร่วมมือในกรอบของเอเปก ก็คงไม่พ้นบทบาทของประเทศที่พัฒนาแล้วที่จะต้องทำหน้าที่เป็นเหมือนตัวจักร ในการที่จะส่งเสริมหรือฉุดรั้งให้ประเทศที่มีการพัฒนาที่น้อยกว่าทั้งหลาย ได้รับผลพวงจากการรวมกลุ่มดังกล่าวให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นในด้านของการถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาทางด้านบุคลากร การสนับสนุนทางด้านเงินทุน การส่งเสริมการลงทุน เป็นต้น เพื่อเป็นการลบเลือนภาพลักษณ์ของการมุ่งเข้ามากอบโกยของประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย เพราะหากความแตกต่างทางเศรษฐกิจระหว่างสมาชิกเอเปกเหล่านี้ มิได้รับความใส่ใจประสาน อาจก่อให้เกิดความแตกแยกระหว่างกันได้ในที่สุด

อย่างไรก็ดี ในกรอบของเอเปกนี้ถือได้ว่าเป็นแนวทางที่จะสนับสนุนมติของแกตต์ ในการขจัดอุปสรรคทางด้านการค้าต่าง ๆ การลดบทบาทของความตกลงใด ๆ ในระดับทวิภาคี ทั้งยังจะเป็นการลดแนวโน้มการรวมกลุ่มเพื่อการกีดกันทางการค้าที่เกิดขึ้นระหว่างภูมิภาคต่าง ๆทั้งอาฟต้า อียู หรืออาเซียน

สำหรับประเทศไทยเอง ได้แสดงท่าทีรับข้อเสนอในการเปิดเขตการค้าเสรี แต่ยังมีข้อติดขัดในบางประเด็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดตั้งกลไกไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างสมาชิกและในประเด็นของความร่วมมืออื่น ๆ และยังคงต้องการที่จะให้มีการปรึกษาหารือถึงท่าทีต่อข้อเสนอดังกล่าวก่อนในกรอบของอาเซียนด้วย

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยก็ยังคงยึดถือแนวทางในการสนับสนุนการค้าเสรีในด้านต่าง ๆ ทั้ง ภายใต้กรอบของแกตต์ และอาฟต้า แต่การเปิดเสรีถึงแม้ว่าจะให้ประโยชน์ในหลาย ๆ ด้านไม่ว่าจะ เป็นอำนาจต่อรองทางการค้า การถ่ายทอดทางด้านเทคโนโลยี การพัฒนาในด้านทรัพยากรมนุษย์ การ สื่อสารทางด้านข้อมูลต่าง ๆ หรือการใช้เวทีดังกล่าวเพื่อการลดแรงกดจากมาตรการที่ได้รับจากความสัมพันธ์ในระดับทวิภาคีการเปิดเสรีดังกล่าวย่อมต้องดำเนินการให้เป็นรูปธรรม ภายใต้ความพร้อมทางเศรษฐกิจภายในที่จะรองรับความเปลี่ยนแปลงในกรอบใหญ่อันประกอบด้วยสมาชิกเป็นจำนวนมากที่มีระดับของการพัฒนาประเทศที่แตกต่างกันอย่างมากเช่นนี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีของอุตสาหกรรมที่เคยได้รับการคุ้มครองมาโดยตลอด หรือสภาพศักยภาพทางการแข่งขันของภาค ต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจว่า มีความพร้อมและมีเครื่องมือในการต่อสู้ กับกระแสความเป็นเสรีทางเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us