สิงคโปร์พร้อมแล้วสำหรับการรับมือกับศตวรรษใหม่ที่จะมาถึงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ยุทธศาสตร์เพื่ออนาคตถูกกำหนดขึ้นอย่างรอบด้าน รองรับด้วยแผนปฏิบัติการเพื่อให้ความฝันกลายเป็นความจริงศตวรรษที่ 21 อาจจะเป็นความน่าสะพรึงกลัวของประเทศเอเชียหลาย ๆ ชาติที่ยังจมปลักอยู่กับวงจรอุบาทว์ แต่สำหรับคนสิงคโปร์ มันคือความเปลี่ยนแปลงที่พวกเขาพร้อมจะรับมือแล้วในวันนี้
จากทิวทัศน์นอกหน้าต่างบนรัฟเฟิล ซิตี้ ทาวเวอร์ หนึ่งในตึกระฟ้าที่เนืองแน่นอยู่ทั่วสิงคโปร์นั้น ทอมมี่ โก๊ะได้เห็นอดีต, ปัจจุบัน และอนาคตของสิงคโปร์ที่หมุนเวียนผ่านไปในความคิดคำนึง และเมื่อมองลงมายังเบื้องล่าง นักการทูตผู้ช่ำชอง และเป็นทั้งนักวิชาการและผู้มีส่วนในการกำหนดนโยบายของประเทศผู้นี้ ก็ได้เห็นร่องรอยของเมืองอาณานิคมของอังกฤษในศตวรรษที่ 19 ที่ฝากไว้อยู่เต็มไปหมดทั่วพื้นหญ้าที่เขียวขจีบริเวณสี่แยก
มองตรงไปข้างหน้า ทิวทัศน์ที่ปรากฎนั้นเป็นนครแห่งตึกสูงระฟ้าในทศวรรษ 1990 ซึ่งสร้างตามรูปแบบของตะวันตก และท่าเรือที่รองรับเรือสินค้าได้แทบทุกขนาด และเคยเป็นท่าเรือที่มีการขนส่งสินค้าหนาแน่นที่สุดในโลกมาแล้ว
ภาพที่ใกล้เข้ามากว่านั้นซึ่งอยู่ห่างจากรัฟเฟิลทาวเวอร์ไปเพียงไม่กี่เมตร คือตึกเวสติน สแตมฟอร์ด ซึ่งมีความสูงถึง 73 ชั้น และแม้จะมีอายุยาวนานถึง 8 ปีแล้วก็ยังได้ชื่อว่าเป็นโรงแรมที่สูงที่สุดในโลกอยู่ ภัตตาคาร คอมเพสส์ โรส ซึ่งตั้งอยู่บนชั้นบนสุดของเวสตินนี้เป็นแหล่งอาหารมื้อกลางวันที่รวบรวมเอา นักธุรกิจมากหน้าหลายตา เพราะในวันที่อากาศปลอดโปร่งนั้น แขกที่อยู่บนชั้นสูงสุดนี้สามารถมองไปได้ไกลถึงอินโดนีเซียทีเดียว
เมืองแห่งธุรกิจแบบนี้ ซึ่งนิตยสาร ฮาร์วาร์ด บิสซิเนสส์ รีวิวเคยให้สมญาว่าเป็น “เมืองที่มีสภาพแวดล้อมด้านเทคโนโลยีเจริญที่สุดในโลก” อาจจะเป็นผลงานที่ควรแก่การเชิดหน้าชูตาของเมืองใด ๆ ก็ตามแต่ แต่ไม่ใช่สำหรับที่นี่
เมื่อมองไปทางซ้ายมือสุดของโก๊ะ ที่นั่นความเจริญในแบบศตวรรษที่ 21 กำลังก่อตัวขึ้นทักทายเขาอยู่ทางมารินา เบย์ ซึ่งแม้บัดนี้จะยังไม่ฉายแววเต็มที่ แต่ในอีก 2-3 ศตวรรษถัดไปนี้ ที่นี่จะเป็นศูนย์กลางแห่งใหม่ของเมือง และจะเป็นแหล่งชี้ให้เห็นความก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างดีด้วย
และเมื่อถึงวันนั้น ท่าเรือและสนามบินในอนาคต ก็จะต้องขยายตัวออกไปเพื่อให้รับกับความ ก้าวหน้าที่จะเพิ่มขึ้นไปอีกในช่วง 2-3 ทศวรรษถัดจากนี้เช่นกัน นอกจากนั้นยังจะมีการสร้างถนนข้ามช่องแคบยะโฮร์ไปสู่มาเลเซียสายที่สองขึ้นอีกและทางรถไฟใต้ดินของสิงคโปร์คือ MRT ก็อาจจะขยายเส้นทางเข้าไปถึงยะโฮร์ บาห์รูของมาเลเซียอีกด้วย
นอกเหนือจากนี้ยังมีการพูดถึงแผนการสร้างสะพานหรืออุโมงค์ที่ยาวถึง 32 กิโลเมตร ไปยังเกาะบาตัมของอินโดนีเซีย และอาจมีกระทั่งสนามบินลอยฟ้าขึ้นมาแทนที่สนามบินชางกี ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีราคาดี และเป็นเขตที่จะพัฒนาเป็นเมืองชายฝั่งที่เต็มไปด้วยชีวิตสมัยใหม่ของชาวสิงคโปร์ด้วย
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่ง เพราะสิงคโปร์ไม่ได้หวังถีบตัวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการค้าและการเงินแห่งศตวรรษที่ 21 เท่านั้น แต่ยังหวังเป็นศูนย์กลางด้านวัฒนธรรมด้วย
ดังที่โก๊ะกล่าวว่า “ในราวต้นศตวรรษหน้าเราจะเป็นหนึ่งในเมืองใหญ่ของโลกอย่างลอนดอน, นิวยอร์คและปารีส
ศตวรรษใหม่ของสิงคโปร์นั้นเป็นเรื่องที่นักการเมืองไปจนกระทั่งถึงนักเขียนทั้งหลายต่างกระเหี้ยนกระหือรือที่จะทำนายความเป็นไปกันอย่างคึกคัก
แต่คำทำนายของผู้คนเหล่านี้ก็ใช่ว่าจะถูกต้องเสมอไป
ประวัติศาสตร์ของสิงคโปร์เป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงการคาดการณ์ที่ผิดพลาดของนักทำนายอนาคต เหมือนดั่งที่นักพยากรณ์แห่งโลกตะวันตกล้มเหลวในการประเมินผลกระทบของอุตสาห-กรรมรถยนต์ที่มีต่อโลกในศตวรรษที่ 20 มาแล้วนักธุรกิจสิงคโปร์จำนวนมากในศตวรรษ 1890 ก็มอง ไม่เห็นอนาคตของต้นยางพารา ที่พวกเขาควรจะได้ลงทุนปลูกไว้ เพื่อรองรับความต้องการในอุตสาห-กรรมยางรถยนต์ในเวลาต่อมา
ตลอดศตวรรษที่ 1890 เฮนรี่ นิโคลัส ริดเล่ย์ ผู้อำนวยการสำนักงานป่าไม้ของสิงคโปร์ได้พยายามชักจูงให้ชาวไร่กาแฟ ทั้งหลายหันมาปลูกยางพาราแทนซึ่งทำให้เขาถูกมองว่า “เพี้ยน” ในสมัยนั้น และศาสตราจารย์สาขาประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติของสิงคโปร์คือ ศจ.เอ็ดวิน ลีก็เปิดเผยหลังจากนั้นว่า “จนกระทั่งขึ้นศตวรรษใหม่ ซึ่งรถยนต์รุ่น ที ฟอร์ด เริ่มระบาดเข้ามาในสิงคโปร์แล้วนั่นแหละ สิงคโปร์จึงเริ่มหันมาปลูกและส่งออกยางพาราอย่างเป็นจริงเป็นจัง ทั้ง ๆ ที่ในศตวรรษ 1890 นั้นยังไม่มีใครมองเห็น”
แม้กระทั่ง ชาร์ล เบอร์ตัน เบิร์กลี่ย์ ผู้แนะนำรถยนต์เข้าสู่ตลาดสิงคโปร์ในปี 1896 ก็ยังประเมินความสำคัญของรถเบนซ์ในสมัยนั้นผิดไปว่า เป็นเพียง “ของเล่นที่ไม่มีประโยชน์” และเป็นกรณีเดียวกับการใช้ไฟฟ้าในสิงคโปร์เช่นกัน เพราะท่าเรือเทียนจงปาก้าเริ่มมีไฟใช้เมื่อปี 1897 ตามมาด้วยรัฟเฟิล โฮเต็ลในปี 1899 เพราะรัฐบาลสิงคโปร์ในสมัยนั้นเห็นว่ายังไม่ควรมีการใช้ไฟฟ้าทั้งเมือง จนกระทั่งปี 1906 สิงคโปร์จึงสว่างไสวขึ้นมาด้วยพลังไฟฟ้า
เรื่องในทำนองเดียวกันนี้ก็ยังมีอีกคือ ชาวจีนที่เกิดในสิงคโปร์ก็ไม่มีบทบาทในการกำหนดอนาคตของสิงคโปร์ตลอดเวลาที่สิงคโปร์อยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษในศตวรรษที่ 20 ดังที่นิตยสารสเตรทไชนีส แมกาซีน ซึ่งตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในปี 1897ได้ตีพิมพ์ข้อความว่า “ชาวจีนทั้งหลายที่เกิดในสิงคโปร์เป็นสมบัติของพระราชินี พวกเขาควรเป็นชาวอังกฤษด้วยเลือดเนื้อและหัวใจ และจักรวรรดินี้จะยังเป็นของอังกฤษไปอีกนาน”
แต่อีก 40 ปีถัดมา กองทัพอังกฤษในสิงคโปร์ก็ยอมแพ้ต่อทหารญี่ปุ่นในปี 1959 หลังจากนั้น รัฐบาลลี กวน ยิว ก็เป็นผู้กอบกู้สิงคโปร์ขึ้นมาใหม่ เพื่อจะได้รับอิสระภาพในอีก 6 ปีต่อมา กระนั้น ความสำเร็จของสิงคโปร์ที่ตามมาหลังจากนั้นก็แทบจะไม่มีใครคาดคิดมาก่อนเหมือนกัน
แม้กระทั่งหนังสือพิมพ์เดอะ ไทม์ ก็ยังล้มเหลวในการทำนายอนาคตของสิงคโปร์ในผลการสำรวจครั้งพิเศษในวาระครบรอบ 150 ปีของการก่อตั้งนิตยสารนี้ขึ้นมาโดยสแตมฟอร์ด รัฟเฟิล ผลการสำรวจครั้งนี้เขียนขึ้นหลังจากเกิดการกวาดล้างชาวจีนในอินโดนีเซียและมาเลเซีย และก่อนที่อังกฤษจะปิดฐานทัพไปไม่นาน ทำให้เกิดอัตราว่างงานขึ้นถึง 10% ของจำนวนประชากร และหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ก็ได้สรุปอนาคตของสิงคโปร์ไว้ในวันนั้นว่า “สิงคโปร์มีเป้าหมายที่จำกัด แต่มีเนื้อหาที่จับต้องได้”
อย่างไรก็ตาม เดอะ ไทม์ก็ประเมินความทะเยอทะยานของสิงคโปร์ต่ำไปเหมือนกัน เพราะ สิงคโปร์ในยุคหลังการได้รับเอกราชนั้นก้าวไปข้างหน้าอย่างมุ่งมั่นมาก
ในแต่ละปี นักการเมือง, นักธุรกิจ, นักวิทยาศาสตร์, ผู้กำหนดนโยบายของท้องถิ่น รวมทั้ง นักวิชาการอย่างโก๊ะ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งทูตของสหประชาชาติมาแล้ว และปัจจุบันคือผู้นำของสถาบันนโยบายศึกษา ( INSTITUTE OF POLICY STUDIES) จะประชุมร่วมกันในรูปคณะกรรมการหลากหลายคณะเพื่อแสวงหาเส้นทางเดินในศตวรรษที่ 21 ของสิงคโปร์
วิสัยทัศน์ของสิงคโปร์ยาวไกลกว่าประเด็นเรื่องภูมิทัศน์ของเมือง ( CITYSCAPES) และโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง เป็นวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลเสียจนกระทั่งไม่อาจกำหนดเวลาแน่นอนที่จะบรรลุเป้าหมายได้ แน่นอนว่าต้องเป็นหลังปี 2000 หรืออาจเนิ่นนานไปจนผ่านปี 2030 ไปแล้ว นักวางแผนของสิงคโปร์เองต้องยืมคำของจอร์จ ออร์เวลล์มาใช้ในการกำหนดปีที่แผนจะเสร็จสมบูรณ์ว่า เป็น “ปีที่X”
JOHN KEUNG ผู้อำนวยการองค์การพัฒนาเมืองแห่งสิงคโปร์ หรือ “ยูอาร์เอ” ( URA-URBAN REDEVELOPMENT AUTHORITY ) กล่าวว่า “เราเป็นพวกที่ติดนิสัยในการวางแผนระยะยาวมาก ๆ”
โครงการระยะยาวของสิงคโปร์เหล่านั้นก็คือ
พัฒนาให้ทัดเทียมโลกตะวันตก
ผู้นำของสิงคโปร์คาดหวังว่า เมื่อถึงปีที่ X เกาะที่ยาว 42 กิโลเมตร, กว้าง 23 กิโลเมตรแห่งนี้จะเป็นประเทศที่ผ่านระยะของการเป็นชาติพัฒนาไปได้ไกลแล้ว และคาดว่าในปี 2020 สิงคโปร์จะมั่งคั่งเท่ากับเนเธอร์แลนด์ และร่ำรวยพอ ๆ กับสหรัฐอเมริกาในปี 2030
หนึ่งในจุดมุ่งหมายที่ร่างไว้ในแผนยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจก็คือ ในราวปี 2050 ผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (จีเอ็นพี) ของสิงคโปร์จะสูงกว่าอัตราจีเอ็นพีของสหรัฐถึง 25% ปัจจุบันจีเอ็นพีของ สิงคโปร์คิดเป็นประมาณ 16,000 ดอลลาร์ต่อหัว มากกว่าประเทศพัฒนาบางประเทศอย่างออสเตรเลีย แต่ยังต่ำกว่าตัวเลขของอเมริกาอยู่เกือบ 8,000 ดอลลาร์ ปี 1993 เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น ถึง 9% สำหรับการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 จะอยู่บนพื้นฐานการประมาณการที่อนุรักษ์นิยมมากขึ้น นายกรัฐมนตรีของประเทศคือ โก๊ะ จก ตงกล่าวว่า “นี่เป็นเป้าหมายที่ทะเยอ-ทะยานไม่ใช่การคาดหมายที่เกินจริง”
สร้างเกาะอัจฉริยะ (INTELLIGENT ISLAND)
ในราวต้นศตวรรษหน้าสิงคโปร์มุ่งหวังจะเป็นสังคมที่เชื่อมโยงกันได้อย่างทั่วถึงทั้งประเทศ ด้วยเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ด้วยการเปิดโอกาสให้ธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ ทั้งในประเทศและต่างชาติเข้าไปดำเนินการในเขตที่เรียกว่า “สวนวิทยาศาสตร์แห่งอนาคต” ครัวเรือนทั้งหลายไม่เพียงแต่จะมีคอมพิวเตอร์ใช้กันอย่างถ้วนหน้าเท่านั้น แต่ยังสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานของรัฐบาล, องค์กรธุรกิจ และแม้กระทั่งกับโรงเรียนได้โดยผ่านทางด่วนข้อมูลด้วย
สำหรับธุรกิจทั้งหลายนั้น ธุรกิจประเภทไฮเทคและสินค้ามูลค่าเพิ่มทั้งหลายซึ่งใช้แรงงานที่มีความชำนาญแต่ค่าจ้างสูงของสิงคโปร์นั้น น่าจะเป็นธุรกิจที่เด่นในอนาคต ส่วนธุรกิจที่ใช้แรงงานราคาถูกประมาณมาก ๆ จะไปได้ไม่ดีนักในศตวรรษที่ 21 นอกเสียจากจะย้ายไปที่เกาะเรียวของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นศูนย์กลางแรงงานราคาถูกที่สุดในเขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจของ 3 ประเทศคือ สิงคโปร์-อินโดนีเซีย-มาเลเซีย
ปัจจุบัน แรงงานสิงคโปร์เป็นแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ในอัตราสูงกว่าทุกประเทศในโลก จากรายงานภาวะการแข่งขันของโลก ( WORLD COMPETITIVENESS REPORT ) ซึ่งรายงานในปี 1993 พบว่า จำนวนการใช้คอมพิวเตอร์ของประชากรคิดเป็นต่อหัวนั้นสูงกว่าอัตราในประเทศฝรั่งเศสด้วยซ้ำ สวนวิทยาศาสตร์แห่งอนาคตแห่งแรกของประเทศนั้นมีธุรกิจเข้าไปลงทุนจับจองพื้นที่เต็มหมดแล้ว และยังมีแผนจะตั้งขึ้นใหม่อีก 2 แห่ง ด้วย
ตัวอย่างของธุรกิจคอมพิวเตอร์ข้ามชาติที่เข้าไปลงทุนได้แก่ บริษัท แอปเปิล คอมพิวเตอร์และโมโตโรลา ซึ่งได้ทุ่มทุนในการวิจัยและพัฒนาอย่างเป็นล่ำเป็นสัน โดยเฉพาะรายหลังนั้นได้คิดประดิษฐ์เพจเจอร์ขนาดเครดิตการ์ดขึ้นมาในสิงคโปร์แล้วธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศก็ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐบาล จากรายงานของรัฐบาลแจ้งว่า ในราวปี 2005 สิงคโปร์จะเป็นประเทศแห่งความเจริญทางข้อมูลสารสนเทศอย่างแท้จริง ทุก ๆ บ้านจะเชื่อมโยงกันด้วยสายเคเบิลใยแก้ว
ขยายเนื้อที่
สิงคโปร์ตั้งใจจะพัฒนาประเทศตามแบบประเทศเล็ก ๆ ในทวีปยุโรปที่ประสบความสำเร็จทั้งหลายอย่างเช่นสวิสเซอร์แลนด์และเนเธอร์แลนด์ สำหรับขนาดพื้นที่ของชาติแล้ว ประเทศที่เป็นต้นแบบของสิงคโปร์ในการขยายพื้นที่ใช้สอยคือ เนเธอร์แลนด์
ในปี 1967 ทั้งเกาะนี้มีเนื้อที่ที่ใช้สอยได้ประมาณ 574 ตารางกิโลเมตร แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 626 ตารางกิโลเมตร และในปี X ที่ตั้งไว้นั้น ตัวเลขนี้ก็คาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 730 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นอัตราเพิ่ม 25%
ภายในพื้นที่ที่งอกเพิ่มขึ้นมานี้ เป็นที่ตั้งของย่านธุรกิจแห่งใหม่อีกคือ ดาวน์ทาวน์ คอร์ ( DOW-TOWN CORW ) ซึ่งใหญ่กว่าย่านธุรกิจที่มีอยู่ในปัจจุบันถึง 2 เท่า นอกจากนี้ ผู้มีหน้าที่วางผังเมืองชุมชน ก็ยังมีแผนจะตั้งศูนย์กลางด้านการพาณิชย์ระดับภูมิภาคขึ้นอีก 4 แห่งบริเวณที่เป็นจุดตัดของเส้นทางรถไฟใต้ดินสายปัจจุบัน และเส้นทางที่จะขยายใหม่ด้วย หนึ่งในจำนวนศูนย์กลางด้านการพาณิชย์นี้จะตั้งอยู่ใกล้กับสนามบิน, อีกแห่งอยู่ทางฝั่งตะวันตกใกล้กับถนนข้ามช่องแคบที่เชื่อมกับมาเลเซีย ซึ่งโครงการเหล่านี้บางส่วนก็จะแล้วเสร็จในปี 2000 บางส่วนก็แล้วเสร็จในปี 2010 และอีกบางส่วนในปี X หากโครงการ เหล่านี้แล้วเสร็จ ศูนย์กลางการพาณิชย์เหล่านี้จะทำให้พื้นที่เพื่อการพาณิชย์ของสิงคโปร์เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันเกือบ 4 เท่าตัว คือจาก 4 ล้านเป็น 15 ล้านตารางเมตร
ขณะที่พื้นที่ที่จะสร้างดาวน์ทาวน์ คอร์ ยังคงเป็นหล่มโคลน และตัวอาคารศูนย์การพาณิชย์ ยังเป็นเพียงแบบจำลองอยู่ที่สำนักงานผังเมืองของสิงคโปร์ในพื้นที่ใกล้ ๆ กัน โครงการระยะแรกของแผนการพัฒนาเมืองขนาดใหญ่ก็กำลังจะเปิดตัวภายในเดือนนี้โครงการนี้คือ “ซันเทค ซิตี้” ซึ่งได้รับการขนานนามว่า “เมืองหลวงแห่งธุรกิจของเอเซีย” (THE BUSINESS CAPITAL OF ASIS) ซึ่งประกอบไปด้วยศูนย์ประชุมมูลค่า 600 ล้านเหรียญสหรัฐ สวนสนุก อาคารสำนักงาน 5 หลัง และชอปปิ้งมอลล์ที่มีห้องประชุมที่ออกแบบโดยไม่ให้มีเสาอยู่เลย ซึ่งใหญ่ขนาดสามารถบรรจุเครื่องบินจัมโบ เจ็ต ได้ถึง 3 ลำ
ห้องประชุมนี้จุคนได้ถึง 13,000 คน ซึ่งจะทำให้สิงคโปร์ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีศูนย์ประชุม ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ปัจจุบันสิงคโปร์ก็ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีศูนย์ประชุมใหญ่ที่สุด หากไม่นับศูนย์ประชุมในยุโรปด้วย แต่ศูนย์ประชุมของซันเทค ซิตี้ ซึ่งมีทางเดินเชื่อมไปถึงโรงแรมที่อยู่ในระแวกนั้น ถึง 5 แห่ง รวมทั้งรัฟเฟิลด้วย จะเป็นคู่แข่งที่ท้าทายความยิ่งใหญ่ในด้านการเป็นสถานที่จัดการประชุมของปารีสในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างสบาย ๆ เลยทีเดียว
ส่งเสริมวัฒนธรรม
ในช่วงที่ผ่านมานักวิจารณ์หลายคนต่างลงความเห็นว่า สิงคโปร์คือดินแดนที่ไร้วัฒนธรรมแต่ปัจจุบันสิงคโปร์กำลังนำประเทศเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมประจำภูมิภาค พอ ๆ กับการเน้น จุดประสงค์ด้านพาณิชย์ ตามนโยบายสิงคโปร์แห่งศตวรรษที่ 21
การที่สิงคโปร์มีปัญหาแรงงานขาดแคลนอย่างมากโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมไฮเทค รัฐบาลจึงมีนโยบายสร้างสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีสีสันทางวัฒนธรรม เพื่อเป็นแรงจูงใจในการดึงแรงงานระดับหัวกระทิของสิงคโปร์ให้อาศัยอยู่ในประเทศต่อไปรวมถึงการดึงดูดแรงงานฝีมือดีจากต่างชาติ เข้ามาทำงานด้วย
ปัจจุบันรัฐบาลสิงคโปร์เริ่มหันมาส่งเสริมศิลปะนานาประเภทอย่างจริงจัง อย่างเช่นการดึงเอาละครเวทีเรื่อง “Cats” หรือ “ The Phantom of the Opera” มาแสดงรวมทั้งการจัดคอนเสิร์ตไมเคิล แจ๊คสันในปีที่ผ่านมาอีกด้วย คอนเสิร์ตดังกล่าวสามารถดึงดูดคนดูจากหลายประทศทั้งในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทยและฮ่องกง จนกระทั่งมีชาวสิงคโปร์รายหนึ่งถึงกลับกล่าวทำนองเหน็บแนมว่า สิงคโปร์ไม่ได้ดึงเฉพาะศิลปินระดับโลกเท่านั้น แต่ดันดึงคนดูจากต่างประเทศมาด้วย
แต่จุดประสงค์สำคัญของรัฐบาลก็คือ การส่งเสริมชุมชนศิลปินท้องถิ่นในประเทศและการจัดตั้งศูนย์ศิลปะแห่งใหม่ที่ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลให้เป็นหน้าตาของประเทศในศตวรรษที่ 21 ผู้ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในทางธุรกิจ และภาคราชการยังได้รับการสนับสนุน หรืออย่างน้อยที่สุดก็ไม่ถูก ขัดขวาง หากจะหันเหความสนใจมาทุ่มเทให้กับงานศิลปะ ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนแปลงทัศนคติครั้งสำคัญของรัฐบาลสิงคโปร์ที่เดิมมุ่งเน้นแต่ผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ โดยไม่สนใจสิ่งอื่นใด
โก๊ะซึ่งเป็นประธานของสภาศิลปะแห่งสิงคโปร์(SINGPORE’S ART COUNCIL) ด้วย ไล่รายชื่อทนายความระดับคุณภาพที่ปฏิเสธการทำงานกับสำนักงานทนายความชื่อดังในเชนตัน เวย์ เพื่อมาทำงานด้านละคร เขากล่าวว่า “รายได้ของพวกเขาก็ไม่มากมายอะไรหรอก แต่ผมภูมใจในพวกเขามากการเป็นศูนย์กลางทางการเงินเพียงอย่างเดียว ไม่พอต่อการที่จะทำให้คุณเป็นมหานครชั้นนำของโลกได้”
อย่างไรก็ตาม หลายคนออกมาแสดงความเห็นแย้งว่า สิงคโปร์ไม่มีทางเป็นเมืองหลวงทางวัฒนธรรมได้ หากรัฐบาลยังคงมาตรการเซ็นเซอร์การเผยแพร่ข่าวสาร สรี คูมาร์ นักวิจัยแห่งสถาบันเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษากล่าวว่า “มันอาจจะเกิดขึ้นจริง แต่ผมคิดว่าต้องใช้เวลาอีกนาน”
นโยบายเซ็นเซอร์ของรัฐบาลสิงคโปร์ยังสวนทางกับเป้าหมายของประเทศ ในการก้าวขึ้นเป็น ผู้นำด้านเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งภูมิภาคอีกด้วย ทั้งนี้ครึ่งหนึ่งของสิ่งตีพิมพ์ในสิงคโปร์ไล่ตั้งแต่นิตยสารคอสโมโปลิแตนท์ไปจนถึงหนังสือพิมพ์ดิเอเซียน วอลล์สตรีท เจอร์นัลเคยถูกคำสั่งห้ามวางจำหน่ายจากรัฐบาลมาหลายครั้งแล้ว นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังเป็น 1 ในประเทศพัฒนาแล้วไม่กี่ประเทศ ที่ประชาชนไม่มีสิทธิ์เป็นเจ้าของจานดาวเทียม รวมทั้งไม่มีสิทธิ์ชมรายการของบริษัทผลิตรายการ โทรทัศน์ชื่อดังอย่าง บีบีซี ซีเอ็นเอ็น อีเอสพีเอ็น เอชบีโอหรือเอ็มทีวีอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสิงคโปร์พยายามแสดงให้เห็นว่า ได้มีการผ่อนคลายการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน นับตั้งแต่นายกรัฐมนตรี โก๊ะ จ๊ก ตงขึ้นสู่อำนาจแทนลี กวน ยู นักการทูตตะวันตกรายหนึ่งกล่าวว่า “ดูเหมือนว่าคนสิงคโปร์ปัจจุบันอพยพออกจากประเทศน้อยลงกว่าเมื่อก่อน ส่วนหนึ่ง มาจากสภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้นและอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะสิงคโปร์เป็นที่ที่น่าอยู่กว่าแต่ก่อน”
เชื่อมสามเหลี่ยมแห่งความเติบโต
หนึ่งในนโยบายสำคัญของสิงคโปร์ในศตวรรษที่ 21 คือการเชื่อมการคมนาคมระหว่างพื้นที่สามเหลี่ยมแห่งการเติบโตที่ประกอบด้วยสิงคโปร์-ยะโฮร์-อินโดนีเซีย ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีการกำหนดเวลาที่แน่นอน แต่แผนการนี้ก็คืบหน้าไปมากแล้วในมาเลเซียและสิงคโปร์ โดยมีการสร้างถนนผ่านแดนสายที่ 2 ซึ่งช่วยให้ปัญหาการจราจรบนถนนสายหลักแห่งแรกซึ่งมีอายุถึง 70 ปีแล้วบรรเทาไปได้มากทั้งยังเป็นเส้นทางที่เชื่อมเข้ากับไฮเวย์เหนือ-ใต้ของมาเลเซียด้วย โครงการต่อไปคือ การขยายเส้นทางรถไฟใต้ดินจากเมืองวูดแลนด์ทางตอนเหนือไปถึงยะโฮร์ บาห์รูด้วย
แผนการหนึ่งในการเชื่อมเขตสามเหลี่ยมแห่งความเติบโต ซึ่งไม่ได้อยู่ในโครงการอย่างเป็นทางการแต่เป็นความใฝ่ฝันก็คือการสร้างสะพานหรืออุโมงค์ความยาว 32 กิโลเมตรเชื่อมต่อกับเกาะบาตัมของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นแหล่งที่บริษัทข้ามชาติและบริษัทสิงคโปร์เองไปลงทุนอยู่ เพื่อหาประโยชน์ จากแรงงานราคาถูกของอินโด ฯ และเทคโนโลยีชั้นสูงของสิงคโปร์
หลายคนสงสัยว่า แผนการนี้จะเป็นจริงได้มากแค่ไหน แต่แพตทริค ลี เว็ง คี ผู้บริหารของบาตามินโด อินดัสเตรียล เมเนจเมนต์ บริษัทร่วมทุนระหว่างสิงคโปร์-อินโดฯ ที่บริหารนิคมอุตสาหกรรมบาตัม อินดัสเตรียลอยู่ในขณะนี้กล่าวว่า ระยะทางดังกล่าวสั้นกว่าอุโมงค์ข้ามช่องแคบอังกฤษเสียด้วยซ้ำ
ไม่ว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ ชาวสิงคโปร์ก็ต้องพบกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 อย่างแน่นอน ความคาดหวังกับชีวิตที่จะเปลี่ยนแปลงไป ยิ่งมีมากขึ้นเท่าไร คนสิงคโปร์ส่วนใหญ่ก็จะยิ่งอึดอัดกับการอาศัยอยู่ในอพาร์ทเม้นท์สูงระฟ้าของการเคหะสิงคโปร์ ซึ่งมีอยู่อย่างเหลือเฟือ เพียงพอต่อความต้องการ แต่เป็นที่อยู่ที่หาความสวยงามไม่ได้เอาเสียเลย
เจ้าหน้าที่ยูอาร์เอคาดว่า เมื่อถึงปีที่ X สัดส่วนของบ้านส่วนตัวที่ชาวสิงคโปร์สร้างขึ้นเองจะเพิ่มจาก 17% ในปัจจุบัน เป็น 30% ประชากรจะเพิ่ม จาก 2.7ล้านคนเป็น 4 ล้านคน และอัตราส่วนพื้นที่อยู่อาศัยต่อคนก็จะเพิ่มจาก 20 ตารางเมตรเป็น 30 ตารางเมตร ยูอาร์เอเตรียมรองรับสถานการณ์นี้ด้วยการวางแผนสร้างเมืองใหม่เป็นวงแหวนรอบ ๆ เกาะ
เมื่อเร็ว ๆ นี้ วี ชวี เฮง สถาปนิกของบริษัทกัมปูลาน อากิเทค เสนอแผนพัฒนาชางกี พอยต์ ซึ่งเป็นพื้นที่ริมทะเลที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ใกล้กับสนามบินนานาชาติสิงคโปร์ให้กลายเป็นเมืองชายฝั่งทะเล ปัจจุบันบริเวณนี่มีบังกาโลตากอากาศสำหรับข้าราชการ เพียงไม่กี่แห่ง วีกับทีมงานจากสถาบันสถาปนิกแห่งสิงคโปร์มีแผนที่จะสร้างที่พักเพิ่มขึ้นเป็น 15,000 ยูนิต เพื่อตอบสนองความต้องการของบรรดาเศรษฐีมีเงินที่ประสงค์จะมาลงหลักปักฐานที่นั่นตลอดชีวิต หรือแค่ใช้เป็นที่พักผ่อนยามสุดสัปดาห์ก็ได้
สิงคโปร์ในศตวรรษที่ 21 จะพลิกโฉมหน้าแตกต่างไปจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างสิ้นเชิงแต่ เป้าหมายเดิมของการดำรงคงอยู่ของสิงคโปร์ยุคใหม่ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม นั่นคือการเป็น ศูนย์กลางการบริการและการค้าประจำภูมิภาค เป็นที่ตั้งของสำนักงานประจำทวีปเอเซียของบริษัท ข้ามชาติ ปัจจุบันมูลค่าการค้าของสิงคโปร์ใหญ่เป็นอันดับที่ 14 ของโลก จนแม้แต่กลุ่มประเทศสแกน- ดิเนเวียรวมกันก็ไม่อาจเทียบได้
ราฟิค จูมับฮอย กรรมการผู้จัดการของ สก็อต โฮลดิ้งที่หลี่ เซียน หลุง รองนายกรัฐมนตรี จ้างมาวางเค้าโครงยุทธศาสตร์ของสิงคโปร์ในศตวรรษหน้ากล่าวว่า “ในประวัติศาสตร์ สิงคโปร์เหมือนกับประเทศที่เป็นทางแพร่ง มีสถานะทั้งศูนย์การค้าและแหล่งกระจายข่าวของภูมิภาค ทั้งยังเป็นศูนย์รวมภูมิปัญญาของเจ้าอาณานิคมในอดีต สิงคโปร์ไม่ใช่แค่ศูนย์กลางของอังกฤษ แต่ยังเป็นฝรั่งเศสของ อินโดจีนและเนเธอร์แลนด์ของหมู่เกาะอินดี้ ตะวันออก”
กูมาร์แห่งสถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษากล่าวว่าในอนาคต สิงคโปร์จะเป็นแหล่งเทคโนโลยีของตะวันตกและแม่แบบทางอุดมคติของประเทศเอเชียอื่น ๆ โดยเฉพาะจีน ดังนั้น สิงคโปร์จะกลายเป็น กลไกอำนวยความสะดวกให้ทั้งระหว่างทุนจากตะวันตกและการพัฒนาของตะวันออก
อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนเลยสำหรับสิงคโปร์คือ ภายในช่วงเปลี่ยนของศตวรรษที่ผ่านมา นักกฎหมายของสิงคโปร์ต่างวุ่นวายอยู่กับการออกกฎหมายควบคุมการจราจรให้กับบรรดารถลากจำนวน 8,000 คันที่แออัดยัดเยียดกีดขวางการจราจรบนท้องถนนและพอมาในปัจจุบัน สิงคโปร์ก็ยังหมกมุ่นอยู่กับการทำให้การจราจรบนท้องถนนรื่นไหล จนกลายเป็นประเทศที่เป็นผู้นำในด้านระบบการจราจรของโลก
เมื่อก้าวเข้าศตวรรษที่ 21 เจ้าของรถที่มีเงินพอจะจ่ายค่าจดทะเบียนรถที่สูงลิ่วอยู่แล้ว จะต้องยอมเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็นค่าธรรมเนียมสำหรับการใช้ท้องถนนในตัวเมืองทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ยานพาหนะต่าง ๆ มากระจุกตัวอยู่ที่ในเมืองมากเกินไป อันเป็นปัญหาหนึ่งที่ประเทศกำลังพัฒนารายอื่น ๆ ประสบอยู่
นอกจากนี้สิงคโปร์ยังมีปัญหาระบบการศึกษาจนถึงก่อนหน้านี้ไม่นาน ยังมีชาวสิงคโปร์บางคนมีโอกาสเรียนหนังสือเพียง 6 ปีเท่านั้น ปัจจุบันนักธุรกิจอย่างจูมับฮอยเริ่มตั้งคำถามว่า ระบบการศึกษาที่เข้มงวดเกินไปเป็นตัวกีดกันความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนหรือไม่และล้มเหลวในการผลิตผู้ประกอบการ
จูมับฮอย ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้นำสิงคโปร์รุ่นก่อน ๆ ถูกสภาพแวดล้อมบังคับให้ต้องเสี่ยงทำการเปลี่ยนแปลงประเทศ จากดินแดนที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์มาเลเรียมาเป็นประเทศกำลังพัฒนา “แต่คน สิงคโปร์รุ่นนี้ ไม่ต้องการเสี่ยงแบบนั้นอีกแล้ว” เขากล่าว
อย่างไรก็ตามคูมาร์ก็เชื่อว่า ระบบการศึกษาเป็นเพียงสิ่งหนึ่งที่ต้องถูกตำหนิเท่านั้น “สภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้นด้วยมาก ทำให้ประชาชนไม่จำเป็นต้องเสี่ยง นักศึกษาส่วนมากหลังจากจบจากมหาวิทยาลัยแล้วก็มีทางเลือกที่จะทำงานกับบริษัทข้ามชาติหรืองานราชการ แต่ถ้าการหางานทำมีความไม่แน่นอนอีกต่อไปแล้ว การเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้น”
ยุทธศาสตร์การรับมือกับศตวรรษใหม่ไม่ใช่งานยากเย็น และไม่ได้เป็นความลับของสิงคโปร์ ถึงแม้หลายคนจะมองว่าการเปิดเผยกลยุทธ์ดังกล่าวจะทำให้ประเทศคู่แข่งรู้ตื้นลึกหนาบางมากเกินไป เดวิด ชิน กรรมการคนหนึ่งของคณะกรรมการพัฒนาการค้าสิงคโปร์กลับเห็นว่า “สิงคโปร์เป็นประเทศที่ขายบริการเสนอสินค้าของเราให้ลูกค้าได้รับรู้คือข้อได้เปรียบ”
หากจะมีสิ่งที่จะทำให้แผนการที่วางเอาไว้อย่างพิถีพิถันของสิงคโปร์ไร้ความหมาย สิ่งนั้นก็คือความปั่นป่วนของเหตุการณ์ต่าง ๆ ในโลกนี้ที่ไม่อาจคาดเดาได้ เหมือนอย่างเมื่อตอนที่จูมับฮอยและคนอื่น ๆ กำลังร่างยุทธศาสตร์ ก็เกิดสงครามอ่าวเปอร์เซียและการล่มสลายของสหภาพโซเวียตอย่างคาดไม่ถึง
โก๊ะ จก ตง นายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์เคยเตือนว่า “เราไม่สามารถทำนายอนาคตได้ ประวัติศาสตร์เต็มไปด้วยเรื่องที่คิดไม่ถึง” กระนั้นก็ตามจากเพนท์เฮ้าส์บนอาคารสำนักงานที่สูงตระหง่านเหนืออ่าวมารีน่า นักอุตสาหกรรมและข้าราชการของสิงคโปร์ก็ยังมองเห็นสิงคโปร์ในศตวรรษที่ 21 อย่างชัดเจน ราวกับความจริงในชีวิตประจำวัน
ในขณะที่การแสวงหาเส้นทางเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ของประเทศเอเซียหลาย ๆ ประเทศเป็นเรื่อง ที่เจ็บปวดอย่างร้าวลึก เพราะประเทศเหล่านี้ถูกกัดกินด้วยปัญหาโครงสร้างพื้นฐานที่ขาดแคลน การจราจรที่ติดขัดบนท้องถนน และการคอร์รัปชั่นที่ทำลายหรือถ่วงรั้งโครงการพัฒนา ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง สำหรับสิงคโปร์ อย่างน้อยที่สุดจนถึงวันนี้ การเดินทางเข้าสู่ศตวรรษใหม่คือการผจญภัยที่น่า ตื่นตาตื่นใจมากกว่าที่จะเป็นการเผชิญกับวิบากกรรม
|